Saturday, 26 April 2025
CoolLife

8 เมษายน พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงกลาโหม

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือดูแลประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำลังพลของกระทรวงกลาโหมทุกนายต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงกลาโหม ได้มีการพัฒนาความพร้อมให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในภาพรวม คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”

7 เมษายน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันนี้ เมื่อ 128 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ เรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจาก ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้า ฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปและนอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ร่วมเดินทางไปด้วย

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัตพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย

๖ เมษายน วันจักรี วันที่ ร. 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขี้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี 

ความสำคัญของวันจักรี

วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี 

อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม 

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน์’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

9 เมษายน พ.ศ. 2528 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี 

โดยอัญเชิญพระบรมศพถวายพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานที่ราชการต่าง ๆ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันอีกด้วย

สำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ออกแบบโดย นายประเวศ ลิมปรังษี โดยใช้พระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่ง ฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”

พระเมรุมาศ เป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ ตามคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หลังจากนั้น จึงมีการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์ซ้าย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘เรือไททานิค’ ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก

ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ “ผู้หญิงและเด็กก่อน” ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ. 1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดเดินรถไฟสายปากน้ำ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์กสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์กจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

จากนั้น วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ

และในวันที่ 11  เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

รถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานก่อสร้างและดำเนินกิจการโดย บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ก มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2434 แล้วเสร็จในปี 2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำสมุทรปราการ สิ้นอายุสัมปทานเมื่อเวลาเที่ยงคืน วันที่ 12 กันยายน 2479 รัฐบาลได้รับซื้อทรัพย์สินไว้มอบให้กรมรถไฟจัดการเดินรถ  

ต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเลิกกิจการรถไฟสายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงสร้างอนุสรณ์แห่งทางรถไฟสายแรกของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ตกลงจัดทำหมุดหลักฐานเป็นแท่งคอนกรีต ติดแผ่นโลหะจารึกข้อความติดตั้งไว้ในบริเวณถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีกรุงเทพอันเป็นจุดปลายทางตันของสถานีหัวลำโพง-ปากน้ำ

12 เมษายน พ.ศ. 1839 'พญามังราย' พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนาเมือง ‘นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่’

วันนี้ เมื่อ 729  ปีก่อน ‘พญามังราย’ พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนากรุงเวียงเชียงใหม่ (เชียงใหม่ในปัจจุบัน) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

‘พญามังราย’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเริ่มต้นรวบรวมเมืองหรือแคว้นขนาดเล็กที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่อกัน ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนพัฒนาเป็นรัฐขนาดใหญ่ขึ้น โดยในระยะแรกพญามังรายทรงรวมแคว้นโยนกก่อน แล้วพยายามขยายอำนาจสู่หัวเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นบริเวณกว้าง จากนั้นเริ่มขยายอำนาจสู่แคว้นหริภุญไชยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

เมื่อพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยแล้วได้ผนวกเข้ากับแคว้นโยนก หลังจากนั้นได้เข้ายึดเมืองเขลางค์นคร พญามังรายจึงครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของภาคเหนือ และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา นอกจากนี้ ทรงได้ทำสัญญาระหว่างพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ใน พ.ศ. 1830 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในการขยายอำนาจสู่แม่น้ำปิงนั้นจะไม่ถูกพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงขัดขวาง

หลังจากยึดเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ทรงครองแคว้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาสร้างอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม โดยมีพระประสงค์ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร แต่ที่ตั้งของเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก พญามังรายจึงพยายามหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ จนพบพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นบริเวณที่มีชัยภูมิดีเหมาะแก่การสร้างราชธานีถาวรและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง มาร่วมพิจารณาการสร้างเมือง พญามังรายทรงสร้างเมืองแห่งใหม่นี้โดยให้ชื่อว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ โดยวันสร้างเมืองเชียงใหม่ได้กำหนดฤกษ์ยามดวงเมืองไว้ คำนวณตามปีสุริยคติ ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839

16 เมษายน พ.ศ. 2550 โศกนาฏกรรมกราดยิง ‘เวอร์จิเนียเทค’ คร่าผู้บริสุทธิ์ 32 ชีวิต กลายเป็นจุดเปลี่ยนระบบสุขภาพจิตและกฎหมายอาวุธปืนสหรัฐฯ

เหตุกราดยิงมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 32 ราย ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญและร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 ผู้ก่อเหตุคือ โช ซึงฮุย (Cho Seung-Hui) นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ อายุ 23 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเวลา 07.15 น. เมื่อโชยิงนักศึกษาและพนักงาน 2 รายเสียชีวิตภายในหอพัก จากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมา เขาย้ายไปยังอาคารเรียนนอร์ริส ฮอลล์ และเปิดฉากยิงแบบไม่เลือกเป้าหมาย โดยใช้อาวุธปืนพก 2 กระบอก ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่จะปลิดชีพตนเอง

แม้โชจะไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายอย่างเป็นทางการ แต่มีการพบเทปวิดีโอและเอกสารจำนวนมากที่เขาส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ NBC News ในระหว่างพักการก่อเหตุ ซึ่งแสดงถึงอาการจิตใจไม่มั่นคง ความเครียด ความโกรธแค้น และความรู้สึกว่าถูกสังคมทอดทิ้ง

โช ซึงฮุย ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนหน้านี้ และเคยถูกสั่งให้เข้ารับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังมีช่องโหว่ ทำให้เขาสามารถซื้อปืนได้ตามกฎหมาย

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศสหรัฐฯ และทั่วโลก จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับ การควบคุมอาวุธปืน, ระบบสุขภาพจิต, และความปลอดภัยในสถานศึกษา 

เริ่มที่ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคมีการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้หน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย ได้ดำเนินการปิดช่องว่างของกฎหมายเกี่ยวกับการขายอาวุธให้ผู้ที่มีประวัติด้านสุขภาพจิต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และในการกำหนดแผนฉุกเฉินของสถานศึกษาทั่วประเทศ

13 เมษายน ของทุกปี ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และ ‘วันสงกรานต์’ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คือวันมหาสงกรานต์ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดมายาวนาน ขณะเดียวกันในวันนี้ ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2525 ได้มีการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา พร้อมกำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

ดังนั้น ทางคณะรัฐมนตรีไทยจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมทั้งได้กำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือ หอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง เป็นพืชยืนต้นที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรม คุณงาม ความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top