Friday, 9 May 2025
Central

สุโขทัย - เทศบาลศรีสัชสุโขทัย สืบสานทำบุญในวันธรรมสวนะ วัดเชิงคีรี ตามโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา

วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 08.00 น. นายสมศักดิ์ พุ่มชื่น นายกเทศมนตรีเมืองศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย นายชยุต บัวมั่น ปลัดเทศบาล กองคลัง กองการศึกษา และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แก่วัดเชิงคีรี ตามโครงการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทำบุญในวันธรรมสวนะ ประจำปี 2564 ที่ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนสืบเนื่องคู่เมืองศรีสัชนาลัยต่อไป


สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย - ผู้ว่าฯสุโขทัย เร่งแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อน หลังฝนตกหนักทำน้ำท่วม ถนนสายสุโขทัย-กำแพงเพชร การสัญจรไม่สะดวก-เลี่ยงเดินทาง

ด้วยในพื้นที่สุโขทัยวันนี้ (21 ก.ย.) มีฝนตกฟ้าคะนองร้อยละ 80ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่นที่อำเภอคีรีมาศ มีปริมาณน้ำตกในพื้นที่ถึง 107.2มม.ประกอบกับมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและสิ่งสาธารณประโยชน์ ถนนหลายสาย โดยเฉพาะที่ถนนสาย 101 สุโขทัย-กำแพงเพชร ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างขยายถนน มีน้ำท่วมขังบริเวณ ม.3 ต.หนองจิก อ.คีรีมาศ ระยะทางประมาณ 500 ม. เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้สัญจรได้ใช้ทางเลี่ยงเข้าไปในหมู่บ้านเป็นการชั่วคราวและใช้รถแบ๊กโฮเปิดทางน้ำให้เพื่อให้น้ำไหลผ่านถนนได้

โดยนายวิรุฬ  พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายชูศักดิ์  คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัยเขต 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย

ซึ่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุโขทัยได้รายงานจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย ส่งผลให้เกิดมีน้ำฝนสะสมในพื้นที่มีปริมาณมาก ประกอบกับอ่างเก็บน้ำแม่รำพัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย และอ่างเก็บน้ำแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำเกินระบบเก็บกักไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำล้น ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมไหลเข้าสู่บ้านเรือนราษฎร

 

ปทุมธานี - ศธ.จับมือ สพฐ. มรภ.วไลยอลงกรณ์ ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน จาก Passive Learning สู่ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู๋นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต Covid -19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นผลสำเร็จของการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยจัดให้มีการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผ่านการ Coaching ของผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือจำนวน 10 จังหวัด รวม 30 โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เกิดผลงานจากการปฏิบัติเป็นนวัตกรรมครูสู๋นวัตกรรมของนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และหวังให้เกิดคลื่นการพัฒนาการจัดการศึกษาไทยในยุค New Normal อย่างกว้างขวางต่อไป

ในการนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมยินดีถึงผลสำเร็จของความพยายามในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติครั้งนี้ ที่มีความชัดเจนสะท้อนให้เห็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ตอบสนองเจตนารมณ์ของมรัฐธรรมนูญ มาตรา 54, มาตรา 258 จ.(4) และนโยบายของรัฐบาลตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียนรายบุคคลตามหลักการพหุปัญญา และเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนมากขึ้นกว่าเดิมโดยต้องเร่งดำเนินการให้เต็มกำลัง เพื่อให้เกิดผลจริงตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวว่า ในการที่เราจะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning นั้น ครูจะต้องปรับบทบาทของตนเอง ในยุคปัจจุบัน ครูจะต้องมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ครูต้องทำหน้าที่ Coaching ได้ ครูต้องเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่าง ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ให้มากขึ้นยิ่งในยุค New Normal เช่น ครูจะต้องทำสื่อต่าง ๆ ขึ้นเองได้ เช่น vdo clip สื่อการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น

อยุธยา - “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่กรุงเก่า ตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก มั่นใจไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 54 แน่นอน! พร้อมเร่ง 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (22 กันยายน 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น   ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ  คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่ง กอนช. ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง    

โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสํารองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ณ 20 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำรวม 10,475 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของปริมาณความจุ หากเปรียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่ามาก  ในครั้งนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง รวมกันมากกว่า 22,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผนวกกับการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ที่ได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมืออย่างเข้มงวด ตลอดจนการวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยารวมกับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ซึ่งในปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน

 

กรุงเทพฯ - “สิงห์” มอบเงินพิเศษทัพพาราไทย 15.4 ล้าน ให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ขอบคุณทุกความพยายาม สร้างความสุขให้คนไทย

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของทุกสมาคมกีฬาคนพิการ มอบเงินรางวัลพิเศษ อีก 15.4 ล้าน ให้ทัพนักกีฬาพาราไทยทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แทนคำขอบคุณหลังจากทำผลงานยอดเยี่ยมคว้า 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง จากการแข่งขัน "พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ณ ศูนย์กีฬาบอคเซีย การกีฬาแห่งประเทศไทย (หัวหมาก) เมื่อ 23 ก.ย.6 4

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า ความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักกีฬา โค้ช และเจ้าหน้าที่ทุกคน สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทย วันนี้การแข่งขันพาราลิมปิกเป็นที่รู้จัก นักกีฬาคนพิการเป็นที่ยอมรับของคนไทยมากขึ้น ทำให้คนไทยทั้งประเทศภูมิใจ นักกีฬาฯทุกคนเป็นตัวอย่างที่ดีของความไม่ยอมแพ้ ผมภูมิใจในตัวนักกีฬาทุกคน

"การมอบเงินพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณนักกีฬาพาราไทยทุก ๆ ท่าน ตลอดจนโค้ชและเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทย สร้างความสุขให้กับคนไทย โดยบริษัทฯจะมอบเงินพิเศษ ให้นักกีฬา โค้ช เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปแข่งขันพาราลิมปิกที่โตเกียว คนละ 40,000 บาท และเงินพิเศษสำหรับผู้ทำเหรียญทอง เหรียญละ 1 ล้านบาท เหรียญเงิน เหรียญละ 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง เหรียญละ 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 15,420,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการมา ตั้งแต่ปี 2548 และยังคงสนับสนุนต่อไป เพื่อสร้างนักกีฬาพาราไทยให้สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง"

นายจุตินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาคนพิการขึ้นมาสูงมาก ทำผลงานได้ดีทำให้จำนวนเหรียญรางวัลกระจายไปสู่หลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ถึงแม้จะยังเป็นอันดับ 1 แต่จำนวนเหรียญทองลดลง ส่วนสหราชอาณาจักรแม้จะคงเป็นอันดับ 2 เหมือนเดิม แต่จำนวนเหรียญทองลดลงถึง 24 เหรียญ ไทย ทำได้ 18 เหรียญ เท่ากับที่ริโอ เกมส์ 2016 ซึ่งเหรียญทอง เหรียญเงิน ลดลงอย่างละ 1 เหรียญ แต่มองในแง่ของอันดับไทยอยู่ที่อันดับ 25 ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา เป็นที่ 1 ของอาเซี่ยนอยู่ และยังเป็นแถวหน้าของเอเชีย ถือว่าทำได้ดี ซึ่งแน่นอนว่านักกีฬาพาราไทยจะไม่หยุดแค่นี้

“พาราลิมปิกครั้งหน้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คงไม่สามารถวัดความสำเร็จจากจำนวนเหรียญรางวัลได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ รายการแข่งขันของกีฬาคนพิการจะมีการปรับลด-เพิ่มตลอดเวลา ทำให้โอกาสในการทำเหรียญเปลี่ยนไปตามรายการแข่งขันที่ถูกตัดออกหรือเพิ่มเข้ามาตลอด อีกประการหนึ่งคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลเน้นที่การมีส่วนร่วม ไม่ใช่การสร้างหรือทำลายสถิติ จึงพยายามปรับเปลี่ยนทุกชนิดกีฬา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในเกมส์มากขึ้น แต่ก็ยังเชื่อว่านักกีฬาไทยจะยังทำผลงานได้ดีอันดับคงอยู่ใกล้เคียงเดิม ไทยน่าจะยังคงเป็นที่หนึ่งของอาเซี่ยน และยังคงเป็นแถวหน้าของเอเซีย แต่การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นมาก ส่วนอันดับในพาราลิมปิกน่าจะยังคงรักษาระดับเดิมไว้ได้ ไม่น่าจะต่ำกว่าอันดับที่ 30 การเตรียมทีมเพื่อเดินหน้าสู่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งหน้าที่ปารีส การสนับสนุนที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จะยังคงให้การสนับสนุนทุกสมาคมกีฬาคนพิการ ตลอดจน คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยต่อไป เพื่อยืนยันถึงการเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของกีฬาคนพิการไทย”

ด้าน “กร” พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของ 3 เหรียญทอง  พาราลิมปิกเกมส์ 2020 กล่าวว่า ในนามตัวแทนนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ขอบคุณ สิงห์ และ คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ที่ให้การสนับสนุนมานักกีฬาพาราไทย มาโดยตลอด พร้อมกับอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาในครั้งนี้ ตลอดจนรวมไปถึงในการแข่งขันหลายทุกรายการที่ผ่านมา และพวกเราหวังว่า สิงห์ จะอยู่เบื้องหลังและคอยให้การสนับสนุนพวกเราแบบนี้ตลอดไป

“ส่วนในอีก 3 ปี ข้างหน้าในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ ประเทศฝรั่งเศส และมีงานเลี้ยงและงานฉลองความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อีก ขอบคุณครับ”  พงศกร แปยอ กล่าว

 

 

สุโขทัย - โลกออนไลน์แห่แชร์คลิป! เจ้าอาวาสวัดหนองทอง ลุยน้ำเชี่ยวนำข้าวสารอาหารแห้งช่วยโยม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพและคลิปวิดีโอความยาวประมาณ 30 วินาที เฟซบุ๊กชื่อ “พระอาจารย์หมู วัดพระสมุทรเจดีย์” โดยมีสป. นายธนะโรจน์ วงศ์คณาพัฒน์ วัดหนองทอง สุโขทัย และหลวงพ่อเนรมิตรพระสิวลีใหญ่ ซึ่งมีการเข้าไปแชร์และคอมเมนต์สาธุ

เนื่องจากภาพและคลิปวีดีโอดังกล่าว ได้ลงภาพพระสงฆ์และลูกศิษย์ช่วยกันนำข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ใส่เรือก่อนที่จะช่วยกันดันเรือผ่ากระแสน้ำที่ไหลแรงและเฉียวออกจากทางประตูวัดกำแพงงาม ตำบลบ้านกล้วย เข้าไปในวัดกำแพงงามเพื่อที่จำนำข้าวสารอาหารแห้ง ไปให้โยมที่บ้านอยู่ด้านหลังวัดกำแพงงาม ที่ถูกน้ำท่วมไม่สามารถออกมาด้านนอกได้เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง

ปทุมธานี - บิ๊กแจ๊สไม่ยอม! ให้ปทุมธานีเป็นแก้มลิง เพื่อรับน้ำป้องกันน้ำท่วมเต็มที่!

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง และลงเรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเก็บของขึ้นที่สูง หลังผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานีเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและให้ทุกอำเภอ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ฝนตกหนักหรืออาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ. ปทุมธานี ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริษัทห้างร้าน ที่ประกอบกิจการ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น ร่วมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประกาศส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 30 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อวานฝนตกหนักจนถึงวันนี้ก็ยังตกอยู่ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ออกคำสั่งแล้วว่า ให้แจ้งเตือนพี่น้องชาวปทุมธานีที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ให้เตรียมยกของขึ้นที่สูง วันนี้ได้เอาเรือออกและเตือนพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งให้เตรียมขนของขึ้นที่สูง ซึ่งพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา เขาใช้ชีวิตปกติอยู่แล้ว ในฤดูน้ำหลากเขาจะมีการเตรียมตัวของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องแจ้งเตือน เพราะอาจจะมีหลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารทางโซเซียล อาจไม่ทราบข้อมูลข่าวสาร จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมการ

โดยให้นายชัยวัฒน์ อินทร์เลิศ ประธานสภาสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายสมร แตงอ่อนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ให้ไปดูเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อดูปริมาณน้ำที่แท้จริง ที่ได้ปล่อยน้ำลงมา เพื่อที่จะวางแผนให้พี่น้องประชาชนถูก เพราะจังหวัดปทุมธานีต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน 1.พี่น้องที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในช่วงคลองระบายน้ำ รังสิตเหนือและรังสิตใต้ ซึ่งจังหวัดปทุมธานีจะไม่ใช้แกมลิงอีกต่อไป หากคิดว่าจังหวัดปทุมธานีเป็นแกมลิง พี่น้องชาวปทุมธานีที่อยู่หมู่บ้านจัดสรรอีกหลายร้อยหลายพันหมู่บ้านจะต้องเดือดร้อนหากผันน้ำเข้ามาท่วมทุ่งรังสิต 

2 เดือนที่ผ่านมาเราได้เตรียมการไว้แล้ว

1.เอารถดูดโคลนเข้าไปตามหมู่บ้านจัดสรร เพื่อล้างท่อระบายน้ำ ทั้งหมด ซึ่งได้ทำไปเยอะแล้ว

2.ได้นำเรือโป๊ะแบคโฮขุดลอกคลองทุกคลอง คลองส่งน้ำต้องเป็นคลองส่งน้ำ จะมีแต่สิ่งปริกูลมีแต่ขยะเต็มคลองอย่างนั้นไม่ได้ เราไล่ดำเนินการตั้งแต่คลองระพีพัฒน์ไปจนถึงคลองรังสิตประยูศักดิ์ระยะทาง 22 กิโลเมตร ทุกคลองต้องไม่มีผักตบชวาและไม่มีหญ้าขึ้นอีกต่อไป

 

กรุงเทพฯ - ‘นิพนธ์’ ย้ำ 3 เรื่องหลัก! เร่งฉีดวัคซีนเมืองท่องเที่ยว - บริหารจัดการน้ำแก้อุทกภัย/ภัยแล้งพร้อมเร่งรัดฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ได้รับผลกระทบ - ลดสถิติการสูญเสียบนท้องถนน แก่ผู้บริหารก.มหาดไทย เตรียมพร้อมก่อนเริ่มปีงบ 65

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (vcs) โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญ พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว การผ่อนปรนมาตราการการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการวัคซีนอยากให้เน้นการฉีดในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ผู้ให้บริการโรงแรม ขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร เป็นต้น ให้สำรวจกลุ่มคนกลุ่มนี้ ถ้าสามารถดูแลป้องกันก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรค โดยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 จากนักท่องเที่ยวมาสู่ประชาชน ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องไม่ได้รับเชื้อจากประชาชนด้วย

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ช่วงนี้ประเทศไทย เราได้มีบทเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะอุทกภัยปีที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” อยากให้ทำความเข้าใจและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะรักษาชีวิตประชาชนไว้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขอให้ถอดบทเรียนจากครั้งที่แล้วที่เกิด “พายุโพดุล” ต้องมีการเตรียมแผนตามที่จะเผชิญเหตุไว้ การเตรียมการที่ดีตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุ การแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามเหตุข่าวสารข้อมูลให้ความร่วมมือกับทางราชการ เพื่อที่จะดูแลชีวิตและความปลอดภัยของประชาขนเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย การถอดบทเรียนจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ทำให้รู้ว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถรับมือสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสามารถทำได้ทันท่วงที ทำให้ภัยพิบัติครั้งนี้สูญเสียทรัพย์สินและชีวิตไม่มากเท่ากับครั้งก่อนๆ การให้ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานภาครัฐที่ทันสถานการณ์ ทำให้ลดการเกิดความเสียหายและสูญเสียได้

 

 

นครนายก - เทศบาลเมืองนครนายก จัดโครงการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มให้ประชาชน รอบที่ 2 (เข็มที่ 1) จำนวน 600 คน ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน

เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่โรงพยาบาลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายศุภกฤษณ์ จัยสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองนครนายก ได้มอบหมายให้คณะเทศมนตรี เข้าตรวจเยี่ยมให้คำปรึกษาประชาชนที่เข้ารับบริการซีดวัคซีนชิโนฟาร์ม รอบที่ 2 (เข็มที่1)จำนวน 600 คน โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้แล้วได้เข้ามารับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นครนายก - ชุมชนไทยพวน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี ร่วมแสดงความยินดี และแสดงมุทิตาจิต

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่วัดฝั่งคลอง ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชุมชนไทยพวน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง มิวเซียมปะพวนที่ปากพลี ร่วมแสดงความยินดี และแสดงมุทิตาจิต ดร.อนันต์ นาวิไล วัฒนธรรมจังหวัดนครนายก,จ.ส.ต.สกล ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครนายก,นางสาวณัฐกฤตา มีกล้า ครู กศน.ตำบลท่าเรือ(กศน.อำเภอปากพลี)

โดยมีพระครูวิริยานุโยค เจ้าคระอำเภอปากพลี เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง กล่าวสัมโมทนียกถางานมุทิตาจิต พร้อมมีอาจารย์สมชาย ธูปเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี, ว่าที่ รต.ชาติชาย ยอดมิ่ง ประธานชมรมส่งเสริการท่องเที่ยวชุมชนไทยพวน เป็นพิธีกร และแขกผู้มีเกียรติรวมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแบบพื้นบ้านไทยพวน พร้อมชมวีดีทัศน์นำเสนอผลงานความประทับใจและการเกษียณราชการทั้ง 3 ท่าน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top