Saturday, 10 May 2025
Central

อยุธยา - ผู้ว่าฯ เปิดรพ.สนาม เยี่ยมชมอาคารสถานที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากโควิด-19

วันนี้ (28 ก.ย.64) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ โดยมี นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เป็นผู้กล่าวรายงานฯ และนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช. การช่าง จำกัด(มหาชน) ผู้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ และผู้ร่วมสนับสนุนในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมพิธีเปิดฯ จากนั้น ผู้ว่าฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมอาคารสถานที่รองรับผู้ป่วยและอาคารของแพทย์พยาบาลภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว่า 100 แห่ง ได้ร่วมกันที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามขึ้นในสถานประกอบการด้วย

สระบุรี - “นิพนธ์” รุดดูเขื่อนป่าสักฯ-เขื่อนพระราม6 มั่นใจจัดการได้ แต่ไม่ประมาทการรักษาชีวิต และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเยี่ยมผู้อพยพภัยน้ำท่วม 3 จ. สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อาคารควบคุมและการประมวล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีรองผวจ.สระบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 

โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักฯ ยังสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ถึงแม้ว่าน้ำในเขื่อนขณะนี้จะอยู่เกินปริมาณที่เก็บกักได้ที่ 105 % ก็ตาม ซึ่งปริมาณกักเก็บสูงสุดของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เขื่อนมีน้ำอยู่ที่ 1,114 ลูกบาศก์เมตร และเขื่อนมีการระบายน้ำวินาทีละ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังมีน้ำเหนือ ไหลลงเขื่อนใกล้เคียงกับน้ำที่ระบายออก ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องเปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน โดยได้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนท้ายเขื่อนแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือจ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์เตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อีกด้วย สิ่งที่กังวลคือต้องติดตามจนถึงวันที่ 3 ต.ค.ว่าจะมีพายุก่อตัวหรือไม่ จากนั้นก็ต้องเฝ้าระวังวันที่ 7-10 ต.ค.อีกครั้งซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือลงมาประกอบกับน้ำทะเลหนุน แต่ยืนยันว่าน้ำเขื่อนป่าสักฯ ยังควบคุมสถานการณ์ได้ และปริมาณน้ำก็ยังน้อยกว่าตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ด้วย

จากนั้นนายนิพนธ์รมช.มหาดไทยและคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้การระบายน้ำลงท้ายเขื่อน 735 ลบ./วินาที และได้เปลี่ยนธงเป็นสีแดงเป็นสัญญาณ แจ้งว่าระดับน้ำวิกฤตแล้วแจ้งเตือนประชาชน ริมแม่น้ำป่าสัก ท้ายเขื่อนพระราม 6 ลงผ่านอำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้เฝ้าระวังทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ต้องเร่งเก็บของขึ้นที่สูงเพราะระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ตนได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเตือนภัยแล้วและให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมแผนให้พร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า  รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง จนกว่าน้ำจะลดแล้วเข้าสู่การเยียวยาและฟื้นฟูต่อไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเปิดทางน้ำให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

นครนายก - เทศบาลเมืองนครนายก จัดโครงการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มให้ประชาชน รอบที่ 3 (เข็มที่ 1) จำนวน 1500 คน

เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงพยาบาลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายศุภกฤษณ์ จัยสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองนครนายก พร้อมคณะเทศมนตรี  และสมาชิกเทศบาลเทศบาลเมืองนครนายก เข้าตรวจเยี่ยมให้คำปรึกษาประชาชนที่เข้ารับบริการซีดวัคซีนชิโนฟาร์ม รอบที่ 3 (เข็มที่1)จำนวน 1500 คน โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้แล้วได้เข้ามารับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ส่วนในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 จะเป็นรอบที่ 4 (เข็มที่ 1)รอบเก็บตกของประชาชนที่ยังคงตกค้างคงเหลืออีกประมาณกว่า 300 คน

ด้วยเทศบาลเมืองนครนายก มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกท่าน จึงได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนชิโนฟาร์มจำวนวน 7000 โดส มาบริการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มให้กับพี่น้องประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

สมุทรสาคร - Kick Off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน (Pfizer) ในเด็กนักเรียน ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน 145 ราย

เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) หรือโรงเรียนเทศบาล 8 ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการ Kick Off การสร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีนในเด็กนักเรียน โดยการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12 – 17 ปี มีนายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาครและคณะ ศึกษาธิการจังหวัด บุคลากรทางด้านสาธารณสุข  ผู้มีเกียรติ คณะครู และผู้ปกครองที่ได้นำเด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัยจำนวน 909 คน มาเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันแรก และเป็นโรงเรียนำร่องแห่งแรกของจังหวัดสมุทรสาครที่มีการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน

นายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานว่า เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ วัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นมาตรการในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ และที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 585,601 คน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 61.44  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้การได้รับวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี ลดความเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประเทศไทยจึงมีนโยบายให้วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12 - 17 ปี

ผ่านสถาบันการศึกษาในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) ซึ่งในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร จากการสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองผ่านสำนักศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ผู้ปกครองมีความประสงค์ให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จำนวนทั้งสิ้น 27,000 คน จากที่มีเด็กนักเรียนในกลุ่มอายุ 12 – 17 ปี อยู่ทั้งหมดประมาณ 33,000 คน ซึ่งภาพรวมหากฉีดได้ครบตามจำนวนที่แจ้งความประสงค์ไว้ ผนวกกับเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะมีเด็กนักเรียนอายุ 12 – 17 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Pfizer มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือก็จะรณรงค์ให้ผู้ปกครองสมัครใจนำบุตรหลานมาเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป

ด้านนายรณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้เป็นวันแรกเริ่มของกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งสมุทรสาครมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ประมาณ 33,000 คน สมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 27,000 คน สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนนี้จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครพร้อมที่จะกลับมาเปิดเทอมกันอีกครั้งในรูปแบบออนไซด์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ขณะที่ในภาพรวมของจังหวัดสมุทรสาครนั้น เรื่องของการให้บริการฉีดวัคซีน กับการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไม่ใช่ปัญหาหลัก ส่วนที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ เรื่องของจำนวนและระยะเวลาของวัคซีนที่จะจัดส่งมายังจังหวัดสมุทรสาคร หากมาได้ครบและเป็นไปตามวันเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครเดินแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า แผนเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนนั้น จะใช้รูปแบบวัคซีนนักเรียน หรือ School-based vaccination คือ การเข้าไปฉีดให้กับนักเรียนภายในรั้วโรงเรียนตามวันและเวลาที่ได้รับการนัดหมายไว้ โดยจะฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นเข็ม 2 จะเริ่มฉีดอีก 3 สัปดาห์ภายหลังจากนี้ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วคือ เรื่องของผลข้างเคียงมักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขอให้ยังเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่องอีกระยะหากมีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยได้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ก็ขอให้รีบแจ้งทางโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทันที และอีกส่วนหนึ่งคือการออกกำลังกายหนัก ในช่วง 1 สัปดาห์แรกนี้ขอให้ระงับไว้ก่อน

 

ปทุมธานี - ‘บิ๊กแจ๊ส’ เดินลุยน้ำพา นร.อาชีวะ ลงพื้นที่ตลาดเก่าแก่อิงน้ำ ช่วยปชช.ริมเจ้าพระยา เลื่อนปลั๊กไฟเตรียมป้องกันโบราณสถาน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่ท่าเรือหน้าวิทยาลัยเทคนิคปทุมานี ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ได้ขับเรือยนต์ พร้อม เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี เพื่อมารับนักเรียนอาชีวศึกษาสาขาช่างไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคปทุมานี เพื่อพาล่องเรือตรวจระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและช่วยย้ายสายไฟ ปลั๊กไฟและ มิเตอร์ไฟฟ้าให้กับบ้านริมน้ำตลอดเส้นทางจากนั้นได้ลงพื้นที่ตลาดอิงน้ำ ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำพร้อมช่วยย้ายปลั๊กไฟและสิ่งของขึ้นที่สูง

โดยมี นายสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นายกฤษดา พงษ์เสริม ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี พร้อมทีมงาน, นายระเด่น ดวงแก้ว อาจารย์สาขาช่างไฟฟ้ากำลังพร้อมอาจารย์อีก 5 คน และนักเรียนอาชีวศึกษาสาขาช่างไฟฟ้า จิตอาสาอีกจำนวน 6 คน ร่วมลงพื้นที่ย้ายปลั๊กไฟและหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่ใกล้ระดับน้ำ

ในส่วนของเทศบาลนครรังสิต ได้ระดมสูบน้ำจนสถานการณ์เป็นปกติ โดยสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตฯ เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 8 เครื่อง ระดับน้ำด้านเหนือน้ำ(คลองรังสิต) +1.65 ม.รทก. ระดับน้ำด้านท้ายน้ำ(แม่น้ำเจ้าพระยา) +2.05 ม.รทก. , สถานีสูบน้ำเปรมใต้ เดินเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง ระดับน้ำเปรมใต้(คลองเปรมประชากร) +0.60 ม.รทก. ระดับน้ำคลองรังสิต +1.80 ม.รทก. , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ1 เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ2 เดินเครื่องสูบน้ำ 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง , สถานีสูบน้ำจุฬาฯ3 เดินเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง ระดับน้ำด้านเหนือน้ำ(ด้านในคลองรังสิต) +1.08 ม. รทก. ระดับน้ำด้านท้ายน้ำ(ด้านซ่อมสร้าง) +1.82 ม. รทก. ซึ่งระดับภายในเขตรังสติอยู่ในระดับสภาวะปกติ

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า สิ่งที่เราห่วงคืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ต่ำแล้วกลัวว่าน้ำจะท่วมแล้วประชาชนจะได้รับอันตราย เมื่อเราลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีบางบ้านที่จำเป็นต้องปิดไฟหมด เพราะว่ากลัวกระแสไฟฟ้าดูด ต้องขอขอบคุณทางท่านผู้จัดการไฟฟ้าจังหวัดปทุมธานี และวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ได้จัดอาจารย์และนักศึกษไฟฟ้ากำลังมาร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้จริง ๆ ทางเราจะดำเนินการต่อไปและถ้าประชาชนต้องการความช่วยเหลือก็สามารถแจ้งมาที่ทางการไฟฟ้า เบอร์ด่วน 1129 เพื่อช่วยแก้ไขความเดือดร้อนเรื่องไฟฟ้า

นอกจากนี้ ตนเองยังจัดอุปกรณ์ตรวจสอบกระแสไฟรั่วในน้ำให้กับทางการไฟฟ้าและทางคณะของเทคนิคปทุมเพื่อให้ไปใช้ตรวจสอบกระแสไฟในน้ำ หากในน้ำมีกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์ตัวนี้จะสั่น เราจึงนำมามอบให้พี่น้องประชาชนบางส่วนก่อน เพื่อเอาไว้ใช้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย และเราได้ประเมินสถานการณ์น้ำวันต่อวันโดยให้ นายชัยวัฒน์ อินทร์เลิศ และนายสมร แตงอ่อน สมาชิกสภาองค์หารบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ไปเกาะติดที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมาจนมาที่ อ.บางไทร ปล่อยน้ำเท่าไร ซึ่งตอนนี้ปล่อยน้ำเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต พี่น้องประชาชนต้องเฝ้าระวัง และวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะมีพายุใหญ่เข้ามาอีก จึงต้องมาดูเตรียมความพร้อมเพื่อระมัดระวังกันต่อไป

 

นครนายก - องค์การบริหารส่วน จ.นครนายก จัดโครงการมอบเครื่องอุปโภค - บริโภคช่วยเหลือประชาชน ที่ลงทะเบียนจำนวน 20,575 ครัวเรือน จากผลกระทบโควิด-19

ที่อาคารอเนกประสงค์ วัดรังษีโสภณ ตำบลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายจักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก พร้อมคณะ เจ้าหน้าที่และพนักงาน จัดโครงการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชนจังหวัดนครนายก

และในวันนี้ได้ลงพื้นที่วัดรังสีโสภณ ตำบลนครนายก โดยมีประชาชนที่ผ่านการลงทะเบียนรับเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 197 ชุดโดยมอบให้ครัวเรือนละ 1ชุดเข้ารับมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการแบ่งเบาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

สระบุรี - แม่ทัพภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา14.00 น พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 และคณะกำหนดเดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำ และตรวจเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ อำเภอบ้านหมออำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

มีนายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีพลตรีคณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 พลตรีจิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศรสระบุรี พลตำรวจตรีชยานนท์ มีสติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรีนายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นายอำเภอบ้านหมอบรรยายสรุปเจ้าหน้าที่ หัวหน้าข้าราชการอำเภอบ้านหมอ ให้การต้อนรับ

 จากนั้นได้ดูคันกั้นน้ำของ 23 R ที่ชำรุดแตกที่เป็นสาเหตุให้น้ำท่วม 3 อำเภอได้แก่อำเภอบ้านหมอ  อำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด จึงได้ตรวจดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเอาหินมัดรวมใส่ตาข่าย เพื่อปิดทางน้ำตรงประตูน้ำเริงราง 

 

ปทุมธานี - บิ๊กแจ็ส จับมือท้องถิ่นลอกคลองหนองเสือ เตรียมรับมือ ‘พายุไลออนร็อค’

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่คลอง 10 บริเวณที่เขื่อนหน้าที่ว่าการอำเภอหนองเสือ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายเสวก ประเสริญสุข , นายสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , ร.ต.อ. ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นายวริศ เจริญกัลป์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองเสือ ร่วมลงพื้นที่ติดตามตรวจการทำงานขุดลอกคลองโดยใช้เรือโป๊ะในการขุดลอกภายในคลอง 10 ซึ่งเป็นหนึ่งคลองจากการดำเนินการทั้งหมด14 คลองเพื่อเป็นการปรับทัศนียภาพเเละกำจัดวัชพืชบริเวณผิวน้ำ รวมไปถึงรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงสองวันข้างหน้าหากมีผลกระทบจากน้ำฝนและเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับปริมาณน้ำรวมไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 30 - 50 เซนติเมตร และรับพายุหมายเลข 17  ไลออนร็อค จะทำให้ฝนตกหนักในภาคเหนือและอีสานตอนบนในวันที่ 11-12 ต.ค.64 นี้

สืบเนื่องกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศแจ้งว่าได้ประเมินสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก พบว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775 - 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนปาสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคาดว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากรวมกันผ่าน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุดที่ 3,050 - 3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 7-10 ตุลาคม 2564 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี จึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว

โดยแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก ทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ขอให้อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก กำชับผู้อำนวยการท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบแนวคันกันน้ำให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อม กำลังพล วัสดุ อุปกรณ์เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้พร้อมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทราบทันที ผ่านทางสายด่วน 1784

 

เพชรบูรณ์ - ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 รักษาแก่นแท้ของประเพณี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์

6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ แห่องค์พระล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก ไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานเพื่อ รักษาแก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น งดการจัดกิจกรรมที่รวมคนเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โดยพิธีเริ่มจากนายกฤษณ์  คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานบนเรือ จากวัดไตรภูมิมายังแม่น้ำป่าสัก และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องไปตามสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมกันอุ้มพระดำน้ำจำนวน 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองทำพิธีอุ้มในทิศใต้  ครั้งที่สามครั้งที่สี่ทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มในทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ  ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย

 

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือจัดกำลังพลจิตอาสา บูรณาการชุมชน วางกระสอบทราย 7,000 ถุงรับมืออุทกภัย

กองทัพเรือ โดยศูนย์ประสานงานและสนับสนุนโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริของกองทัพเรือ (ศปง.โครงการจิตอาสาฯ ทร.) จัดกำลังพลจิตอาสาจากฐานทัพเรือกรุงเทพ จำนวน 30 นาย ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร กองทัพบก ตำรวจ และประชาชนจิตอาสา ชุมชนต่าง ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ กองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนตรอกตาแทน กองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนวัดใหม่พิเรนทร์ กองทุนแม่ของแผ่นดิน  ชุมชนหลังเสสะเวช ชุมชนลานมะขามบ้านหม้อเขตบางกอกใหญ่ และชุมชนหลังเสสะเวชเขตบางกอกน้อย ดำเนินการจัดเรียงกระสอบทราย บริเวณท่านิเวศน์วรดิฐ จำนวน 7,000 ถุง ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top