Saturday, 10 May 2025
Central

กรุงเทพฯ - มูลนิธิมาดามแป้ง ร่วมกับ เมืองไทยประกันภัย ส่งกล่องน้ำใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 HI ในชุมชนคลองเตย และ20 จังหวัดทั่วประเทศ

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 มูลนิธิมาดามแป้ง ร่วมกับ บมจ. เมืองไทยประกันภัย ส่งมอบกล่องน้ำใจมูลนิธิมาดามแป้ง #ส่งต่อน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้แก่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 เพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่พักรักษาตัวแบบ HI : Home Isolation ในเขตคลองเตย 450 กล่อง โดยมีนางกอบกุล จันทร์ตระกูล หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลและบริหารทั่วไป เป็นตัวแทนผู้รับมอบ และอีก 50 กล่อง ได้มอบให้กับผู้ป่วยที่เดือดร้อนในต่างจังหวัดใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุพรรณบุรี สงขลา ฯลฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 200,000 บาท โดยกระจายไปอย่างทั่วถึงผ่านกลุ่มอาสากล้าใหม่มูลนิธิมาดามแป้ง

“มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง กล่าวว่า “ในสถานการณ์เช่นนี้ยอมรับได้ว่าทุกพื้นที่ต่างก็ได้รับผลกระทบ ในฐานะที่ทำงานกับคนในชุมชนคลองเตยใกล้ชิดตลอด 7 ปี ซึ่งได้ส่งความห่วงใยไปถึงทุกคนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงได้จัดทำกล่องน้ำใจ #ส่งต่อน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ขึ้น ซึ่งของใช้ด้านในนอกจากเป็นของจำเป็นที่เราคัดสรรอย่างดีแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนมาจากภาคเอกชน และเงินบริจาคของประชาชนที่กรุณาร่วมบุญกับเรามาตลอดด้วย นับเป็นการส่งต่อน้ำใจจากทุกโมเลกุลของสังคมอย่างแท้จริง”

“สำหรับของภายในกล่องน้ำใจนั้น ประกอบด้วย ยาสามัญประจำบ้าน อาหารแห้ง อย่างข้าวสาร ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอลล์ ฯลฯ ซึ่งเรายังได้วางแผนให้ความช่วยเหลือสังคมกระจายออกไปมากที่สุดและอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” มาดามแป้ง กล่าวเพิ่มเติม

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ สามารถบริจาคและสมทบทุนได้ที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย บัญชีเลขที่ 092-2-61340-0 ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้ หรือร่วมสมัครเป็นทีมอาสากล้าใหม่กับเราได้ที่ http://bitly.ws/dsfM

กรุงเทพฯ - ผบ.ทร.มอบเสื้อเบลเซอร์ให้ "น้องแต้ว" ส่งเรียนหลักสูตรนายทหารสัญาบัตร จ่อติดยศเรือตรี

พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ของกองทัพเรือ(เสื้อเบลเซอร์)ประจำปี 2564 พร้อม ส่งเข้าอบรมหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้วจึงจะสามารถเข้ารับการ ประดับยศเรือตรี และยังมอบเงินรางวัลพิเศษ ให้แก่ "น้องแต้ว"อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬาเหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 เป็นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.64 พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายความสามารถการกีฬาของกองทัพเรือ ประจำปี 2564 พร้อมเงินรางวัลพิเศษ ให้แก่ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากลหญิงทีมชาติไทย เป็นกรณีพิเศษ ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ/ประธานกรรมการบริหารสวัสดิการกีฬากองทัพเรือ พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

พลตำรวจโท ชัยวัฒน์ โชติมา เลขาธิการสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อุปนายกสมาคม/ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค/ผู้จัดการทีม พลเรือตรี ดุลยพัฒน์ ลอยรัตน์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ/ ประธานกรรมการกีฬามวยกองทัพเรือ และ พลเรือตรี ธวัชชัย ม่วงคำ หัวหน้าสำนักงานบริหารสวัสดิการกีฬากองทัพเรือ ร่วมพิธี เพื่อเป็นเกียรติและขวัญกำลังใจแก่น้องแต้ว ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง มวยสากลหญิง รุ่นน้ำหนัก 60 กิโลกรัม จากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬากีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 

โอกาสนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้สวมเสื้อเบลเซอร์  ให้แก่ น้องแต้ว ซึ่งตามระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ประเภทนักกีฬาชั้น 1 นั้น นักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะได้รับเครื่องหมายความสามารถการกีฬา ประเภทนักกีฬาชั้น 1 (เสื้อเบลเซอร์) ซึ่งเป็นเครื่องหมายความสามารถสูงสุดด้านกีฬาของกองทัพเรือ นับได้ว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งของนักกีฬา ในสังกัดกองทัพเรือ ในการที่ได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้แก่กองทัพเรือ และประเทศชาติ

นอกจากนั้นในส่วนของเงินรางวัลที่มอบให้แก่อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ ในครั้งนี้ประกอบด้วย เงินรางวัล 40,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขอเลื่อนยศและการให้รางวัลพิเศษแก่นักกีฬากองทัพเรือเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กองทัพเรืออนุมัติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550  ที่ระบุไว้ว่า " ในส่วนของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญทองแดงจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะได้รับเงินรางวัลจากสวัสดิการกองทัพเรือ จำนวน 40,000 บาท และเงินค่าตอบแทนรายเดือนจากกองทุนพัฒนากีฬากองทัพเรือ เดือน 5,000 บาท จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ บำเหน็จ 2 ขั้นและการเลื่อนยศ" ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวชื่นชมในความสำเร็จของแต้ว ซึ่งนับเป็นการสร้างชื่อเสียง รวมถึงเกียรติประวัติให้แก่ครอบครัว ประเทศชาติ และกองทัพเรือ เป็นอย่างมาก โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

"กีฬาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพัฒนาคนให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีสมรรถภาพทางกายและทางจิตใจที่เข้มแข็งสมบูรณ์ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 ที่ผ่านมานี้ นักกีฬาทีมชาติไทยได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม ในการแสดงออกถึงความเป็นนักสู้ ผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและมีความสำคัญยิ่งกว่าผลของการแข่งขัน ผมขอชื่นชมน้องแต้ว และนักกีฬาทุกท่าน ที่เสียสละเวลาและความสุขสบายส่วนตนตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจเหล่านั้น ทำให้ท่านทั้งหลายได้ก้าวสู่ความสำเร็จ ในการนำชื่อเสียงและเกียรติประวัติ มาสู่ประเทศชาติและราชนาวี  ทั้งจะเป็นแรงผลักดันให้ท่านตั้งใจฝึกซ้อมพัฒนาทักษะทางการกีฬาของตนเองต่อไป"

ขณะที่ความคืบหน้าการบรรจุ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ เพื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือตามข่าวที่เคยออกมาก่อนหน้านั้น พลเรือเอก วศินสรรพ์ฯ เผยว่า อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย และกำลังรออนุมัติการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จากคณะศึกษาศาสตร์ เอกสังคมศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาลัยทองสุข ซึ่งตามหลักเกณฑ์การขอเลื่อนยศและเลื่อนฐานะตามลำดับชั้นนั้น  ในส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ให้เสนอขอปรับวุฒิ และแต่งตั้งยศตามคุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะเสนอเข้ารับการบรรจุในระดับสัญญาบัตร ได้รับการแต่งตั้งยศเป็น “เรือตรี” โดยในขณะนี้กองทัพเรือ ได้บรรจุ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ ในตำแหน่ง “อาจารย์พละศึกษา แผนกปกครอง วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ” โดยในขณะนี้ อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ อยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้วจึงจะสามารถเข้ารับการ ประดับยศ เรือตรี ต่อไป

ด้าน อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพรฯ กล่าวว่า “ความสำเร็จของแต้วในวันนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งสมาคมมวยสากลฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพเรือ ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตการรับราชการ และได้เปิดโอกาสให้แต้วได้ทำตามความฝัน ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามความฝันในครั้งนี้ แต่อีกฝันหนึ่งของแต้ว ที่กำลังจะกลายเป็นความจริง ก็คือการได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ

สุดท้ายนี้ แต้วต้องขอขอบคุณ ท่านผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ให้การสนับสนุนและให้รางวัลด้วย การให้บรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารเรือเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยในขณะนี้แต้วกำลังเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร รุ่นที่ 34 ร่วมกับเพื่อน ๆ อีกเกือบ 50 คน โดยในช่วงแรกจะเป็นการเรียนออนไลน์ และช่วงหลังจะเป็นการฝึกที่โรงเรียนนายเรือ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีความเป็นทหารทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงได้รับความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ จากครูผู้สอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอสัญญาว่าพร้อมที่จะสู้ใหม่อีกครั้งในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส อย่างแน่นอน”

กรุงเทพฯ - พม. ดึงภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” ป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก

วันนี้ (30 ส.ค. 64) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย

1) นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน

2) พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

3) นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร

4) แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

5) ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ

6) นางวราภรณ์ สุวรรณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้นทุนและการกำหนดราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กทม.

นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมทั้งปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาความกดดันต่าง ๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ในการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวทั้งที่เด็กสมัครใจและถูกบังคับ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจน เป็นต้น อีกทั้งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาที่สูงมาก จากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ  และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 – 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัวในเดือนที่ผ่านมา เด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในแต่ละวัน หรือประมาณ 2 คนในหนึ่งชั่วโมง อีกทั้งจากสถิติผู้ใช้บริการสายด่วน 1300 กระทรวง พม. ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - เดือนกันยายน 2562 มีการรายงานเคสความรุนแรงต่อเด็กหรือเยาวชนเฉลี่ย 5 เคสต่อวัน โดยจำนวน 3 ใน 5 เคส เป็นกรณีการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน พบบ่อยที่สุดคือความรุนแรงจากพ่อหรือแม่ที่กระทำต่อเด็ก และจากข้อมูลของ National Working Children Survey of 2018 พบเด็กประมาณ 177,000 คน ที่ทำงานใช้แรงงานเด็ก ในจำนวนนี้ มี 133,000 คน อยู่ในงานที่เสี่ยงอันตราย สำหรับประเทศไทยรวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านถูกแสวงการประโยชน์จากการค้าประเวณีเชิงพาณิชย์ในร้านอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และในที่พักส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการล่อลวงออนไลน์ทางสื่อโซเชียลและห้องแชทต่าง ๆ เพื่อบังคับเด็กมาผลิตสื่อลามกหรือมีเพศสัมพันธ์

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ทำงานเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ เราต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง  ตนทราบถึงปัญหาและได้ผนึกกำลังกันกับหลายกระทรวง  เพื่อเปลี่ยนมิติจากการปราบปราม เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อสร้างอนาคต สร้างวิถีชีวิตใหม่ ที่สามารถให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทาง วิธีการที่จะสร้างอนาคต และเราจะมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ผู้ประกอบการสินค้าแปลก ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ทำเอง ขายเอง ในขณะเดียวกันเราใช้เมตตา โอกาส และความสร้างสรรค์ แต่เรามีกฎหมายตีกรอบว่า ถ้าเกิดมีการใช้ประโยชน์จากเด็กเยาวชนโดยไม่ชอบ ก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ครอบครัวไหนที่มีความจำเป็นอยากจะประกอบอาชีพ เรามีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงดีอีเอส กระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คอยช่วยเหลืออยู่ด้วยความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้เดินหน้าไปด้วยกัน

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เราพยายามเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และกระทรวง พม. ได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ เรายังได้ผนึกกำลังกับสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 โดยกระทรวง พม. จะมีเจ้าหน้าที่เพิ่มให้ครบทั้ง 50 เขต คอยดูแลปัญหาเหล่านี้และพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีความยั่งยืนได้พ้นจากปัญหาที่ประสบอยู่ ในขณะเดียวกันเราให้ทั้งโอกาสและใครก็ตามที่มาใช้โอกาสโดยไม่ชอบก็ต้องจัดการ หากประชาชนเกิดปัญหาสามารถติดต่อ สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะมีเยาวชนที่เข้าใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราได้รับการฝึกจิตวิทยา และเราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ โดยเราเชื่อว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ถูกหลอกใช้

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้และเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทุกปัญหา ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีภารกิจสำคัญในการดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง ภายใต้การดำเนินงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานสงเคราะห์สำหรับรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานช่วยเหลือเด็กในทุกมิติ ได้แก่

1) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 

2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเรื่องชี้แจงกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง กรณีปล่อยปละละเลยรู้เห็นเป็นใจหรือแสวงประโยชน์จากเด็ก ตามบทลงโทษตามกฎหมาย

3) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดำเนินกระบวนการช่วยเหลือเด็ก โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่และศูนย์สร้างโอกาส ทั้งหมด 7 แห่ง

4) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้ความรู้ การให้คำแนะนำแก่เด็ก พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ และการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในครอบครัว อีกทั้งติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย หากเกิดพฤติกรรมซ้ำ จะประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย

5) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการทุกวัย โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมสำหรับเด็กและครอบครัว และ

6) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการส่งเสริมกิจการด้านการตลาด สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่เด็กและครอบครัว จาก on ground to online

ปทุมธานี - มทร.ธัญบุรี จับมือ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด และ 3 วิสาหกิจชุมชน ร่วมกันวิจัย พัฒนา กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมมังคลอุบล ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และวิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์

โดยมี ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นายธนารัตน์ จิตต์พายัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด นางอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ นายพลวรรน์ พญาพิทักษ์สกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และนายณัฐวรรน์ วรพนิตกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์ เข้าร่วมงาน

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในลักษณะที่เป็นยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน และกิจการอื่น ๆ ให้ถูกต้องตาม หลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

1. ร่วมส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยด้านสายพันธุ์กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร รวมไป ถึงระบบการเพาะปลูก นวัตกรรมต้านการผลิต การพัฒนาและการจัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัด จากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม และกิจการอื่น ๆ

2. ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะต้านการวิจัย การผลิต(ปลูก) การแปรรูป(สกัด) การตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย

3. สนับสนุน ผลักดัน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการผลิตยาที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบและสารสกัดกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่มีสารตั้งต้นของสารสกัด CBD (Cannabidiol) / THC (Tetrahydrocannabinol จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ และเชิงอุตสาหกรรม การครอบครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิใดของผลงานวิจัย โดยให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายจะได้ตกลงกัน เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงนี้ และ

4. ร่วมสนับสนุนการใช้ครุภัณฑ์ เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ ในการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อผลักดัน พัฒนา พร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษาด้านวิซาการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา รายงาน

กรุงเทพฯ - สโมสรลูกเสือนาวี ร่วมบริจาคชุด PAPR ประสิทธิภาพสูง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตามที่สโมสร​ลูกเสือ​นาวี​ ได้เชิญชวนให้สมาชิกฯ ร่วมบริจาคเงินกับมูลนิธิ​ราชประชานุเคราะห์​ ใน​พระ​บรมราชูปถัมภ์​ เพื่อจัดทำโครงการจัดหาชุดป้องกันเชื้อโรค แบบคลุมศรีษะ​พร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพ​สูง (ชุด PAPR)​ โดย ได้รวบรวมเงินที่ได้ร่วมบริจาค มอบให้มูลนิธิฯ จำนวน 44 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 87,750 บาท และ ดร.แสวง - คุณนิตยา บุญ​ญา​สุวัฒน์​ ร่วมสมทบรวมเป็นเงิน 100,000 บาท

สโมสร​ลูกเสือ​นาวี​ พร้อมสมาชิก ได้แก่ พล.ร.อ.ศุภพง​ษ์​ ศิริ​สนธิ พล.ร.อ.ทักษิณ ฤกษ์​สังเกตุ ดร.แสวง บุญ​ญา​สุวัฒน์ อ.เสาวลักษณ์​ พากเพียร​ทรัพย์​ คุณส่วน ดวงจันทร์ และคุณฐิติมา หาญวิวัฒน์​กุล ร่วมเป็นตัวแทนผู้บริจาคเงิน ร่วมมอบให้กับ ท่านองคมนตรี​ พลเรือเอก​ พงษ์​เทพ​ หนู​เทพ​ ประธาน​กรรมการบริหารมูลนิธิ​ฯ และพลเรือเอก​ ปวิตร รุจิเทศ รองประธานมูลนิธิฯ ​ณ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์​ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สะพานขาว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 เวลา 11.00 น.


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

เพชรบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ดวงตา อวัยวะ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 89 พรรษา

ที่ มณฑลทหารบกที่ 36 จัดกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต ดวงตา อวัยวะ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ณ อาคารอเนกประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 36 ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์

โดยมีผู้ร่วมบริจาคโลหิต 104 ราย คิดเป็นปริมาณโลหิต 41600 cc , บริจาคดวงตา 4 ราย และบริจาคอวัยวะ 4 ราย

ในการนี้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พร้อมด้วยประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขามณฑลทหารบกที่ 36  และคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้มาร่วมบริจาค


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา คล้ายแก้ว

สระบุรี - รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินจำนวน 2 หมื่นโดส ให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม หยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในโคนมแบบยั่งยืนต่อไป

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งมอบวัคซีนป้องกันไวรัสลัมปีสกิน(Lumpy Skin Disease) ให้กับประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีและนายสุรักษ์ นามตะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตลอดจนเกษตรกรและผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วมงานและให้การต้อนรับ ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ว่าตามที่ประเทศไทยได้พบการระบาดของโรคลัมปีสกิน ในโค กระบือ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ผ่านมาได้มีการมอบเวชภัณฑ์ยาฆ่าแมลงพร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์คในเขตพื้นที่ภาคกลางจำนวน 16 สหกรณ์ ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันโรคที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเพื่อความยั่งยืนในการควบคุมโรค จึงได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ให้กับชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด เพื่อนำไปจัดสรรให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. อย่างทั่วถึงในครั้งนี้จำนวน 20,000 โดส ในการนำไปฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในโคนมแบบยั่งยืนต่อไป

รมช.มนัญญาฯ กล่าวด้วยว่า "ตนในฐานะผู้ดูแลกำกับ อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคล้มปีสกินในฟาร์มโคนมของเกษตรกรอย่างมาก ที่ผ่านมาได้กำชับให้ อ.ส.ค. และเกี่ยวข้องเข้มงวด กวดขันและจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่การเลี้ยงโคนมทั้งภายใต้การดูแลของ อ. ส. ค.และฟาร์มทั่วไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากสัตว์ที่ส้มตาย ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ วงเงินงบประมาณจำนวน684,218,000 บาท ทราบว่ากรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนลัมปีสกิน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 แล้ว รวม 360,000 โดส และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 อีกจำนวน 137,000 โดส จากแผนที่เตรียมจัดสรรทั้งหมด 5 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้รับการจัดสรรไปยังเกษตรกร และสหกรณ์ฯ อย่างทั่วถึงก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดค่อยๆ ลดลงอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) อยู่แล้ว กระทรวงเกษตรฯไม่อยากให้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนมเข้ามาซ้ำเติมความเดือดร้อนของเกษตรกรซ้ำเข้าไปอีก การส่งมอบวัคซีคจำนวน 2 หมื่นโดส ในวันนี้จึงถือเป็นการส่งมอบกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน ในโคนม

ปทุมธานี – บิ๊กแจ็ส ชูสมุนไพรไทย! ทางเลือกเสริมภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี พระมหาขวัญชัย เจ้าอาวาสวัดน้ำตกหรือวัดคีรีวงก์ จ.ชุมพร , นายชูศักดิ์ ศรีราชา รองประธานมูลนิธิตามรอยบาทพระศาสดา , แถลงข่าวเปิดตัวสมุนไทยเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในยุคไวรัสโควิด-19 ระบาดอยู่ในขณะนี้

โดยมี ดร.สิริภัทร ชมัฒพงษ์ คณบดีแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี , ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นางดารา นวลสุทธิ์ แพทย์แผนไทย และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการแถงข่าวสมุนไพรไทยทางเลือก ซึ่งมีส่วนผสมสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทลายโจร เหงือกปลาหมอ หนุมานประสานกาย พลูคาว และกระชาย ซึ่งเป็นสูตรรักษาไข้พิษไข้กาฬ ซึ่งยาสมุนไพรไทย 5 ชนิดเป็นตำรับยาวัดคีรีวงก์ เสริมภูมิต้านไข้พิษไข้กาฬ ใช้รับประทานในระหว่างที่มีโรคระบาด ใน 1 แคปซูล ประกอบด้วย ฟ้าทลายโจร 44 มิลลิกรัม , เหงือปลาหมอ 89 มิลลิกรัม , หนุมานประสานกาย 89 มิลลิกรัม , พลูคาว 89 มิลลิกลัม และกระชาย 89 มิลลิกรัม หากยังไม่ติดเชื้อให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูลต่อสัปดาห์ หลังอาหารหรือก่อนนอน ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้ว (โดสละ 28 แคปซูล) ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หลังอาหาร ต้องรับประทานต่อเนื่อง 7 วัน เพื่อเพิ่มฤทธิ์ยาให้ดื่มน้ำหอมแดงต้ม 1 แก้วต่อ1วัน

พระมหาขวัญชัย เจ้าอาวาสวัดน้ำตกหรือวัดคีรีวงก์ จ.ชุมพร กล่าวว่า อยากให้ญาติโยมทุกท่านเปิดใจรับฟังก่อน ว่าความเป็นมาในการใช้สมุนไพรไทยมีความเป็นมาตั้งแต่อดีต อาตมาได้ทำสมุนไพรแจกให้กับชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพื่อให้ทานเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ตามหลักที่คนโบราณได้ใช้สมุนไพรดูแลชาวบ้านมา ซึ่งการใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกวิธี เช่น นายก อบจ.ปทุมธานี ได้เอายาสมุนไพรทดลองใช้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายตำหรับ ซึ่งเป็นผลผลิตจาก แพทย์แผนไทยและพื้นบ้านทั่วประเทศ เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน แล้วสรุปเมื่อใช้แล้วเห็นผลว่าเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สูตรยานี้หลวงปู่พัน จันทสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดบรรพตวิสัย จังหวัดชุมพร ท่านเคยได้ใช้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านในสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยมีสูตรสมุนไพรดังนี้ พลูคาว หนุมานประสานกาย เหงือกปลาหมอ กระชาย และฟ้าทลายโจร ซึ่งสูตรยานี้เป็นของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนทั่วประเทศที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกับ เพื่อให้ประเทศไทยของเรากลับมาสงบสุข

ส่วน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตนเองได้ศึกษาเรื่องยาสมุนไพรมากว่า 30 ปี ที่ผ่านมาเราใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เราต้องนึกถึงการใช้สมุนไพร ซึ่งศาสตร์ของพระมหาขวัญชัย อัคคชโย วัดคีรีวงก์ จังหวัดชุมพร ตนจึงได้ศึกษาดู หากใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจรอย่างเดียวตามที่สาธารณสุขจ่ายให้คนไข้โควิด-19 เพียงแต่ชะลออาการ หากมีสมุนไพรตัวอื่นร่วมด้วย เช่น หนุมานประสานกายที่มีสรรพคุณฟอกปอด และสมุนไพรตัวอื่น ๆ ทั้งนี้ยาชุดนี้ไม่ได้คุยว่ารักษาโควิด-19 ได้ เพียงแต่ว่าเป็นการเสริมภูมิในร่างกาย เราได้ทดลองกับคนไข้จำนวน 100 คน ที่ผ่านมาตรวจคัดกรองด้วยแรปบิทแอนติเจนเทส เป็นผลบวกวันละ 40-50 คน เมื่อพบว่าติดเชื้อเราได้ทำประวัติและถ่ายภาพไว้ แล้วรับยาไป แล้วต้องทาน ผ่านไป 5 วันกลับมาตรวจใหม่ ผลออกมาเป็นลบ จะให้เราเข้าใจว่าอย่างไร ตนไม่ได้บอกว่าหายหรือไม่หาย แต่บอกว่าผลเป็นลบ นอกจากนี้ยังได้เอ็กซเรย์ปอดซ้ำพบว่าปอดปกติ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ซึ่งคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่า สาธารณสุขจะยอมรับหรือไม่ หากเปิดใจยอมรับแพทย์สมุนไพร ผู้ใหญ่ในสาธารณสุขก็โตมาจากสมุนไพร ลอกเปิดใจกัน เอาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มา รีบวิจัยตรงนี้ด่วน หากพบว่าสมุนไพรมีผลจริงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19 ได้จริง สมุนไพรไทยจะเป็นสินค้าส่งออกทำเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูขึ้นมาได้ เพราะว่าโควิ-19ได้ระบาดไปทั่วโลก ทั่วโลกก็ต้องคิดถึงสมุนไพรไทย จะเป็นสิ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดรายได้อย่างดี ที่ผ่านมาผมได้ทดลองภายในจังหวัดปทุมธานี ต่อจากนี้ผมจะแจกยาสมุนไพรตัวนี้ให้พี่น้องชาวปทุมธานีให้ไปทานเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายของพี่น้องชาวปทุมธานี ตนเองจะพาพี่น้องชาวปทุมธานีให้รอดจากสงครามไวรัสครั้งนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัย

ทางด้าน นายเอกภพ คงมีสุข อายุ 52 ปี ชาวปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมาพบว่าตนเองมีอาการไม่สบาย จึงได้เดินทางมาตรวจคัดกรองด้วยแรปบิทแอนติเจสเทสที่ อบจ.ปทุมธานี ผลตรวจออกมาเป็นบวก ทางอบจ.ให้ยาสมุนไพรมาทาน ผมก็ทานตามที่ฉลากแนะนำ ขณะที่ป่วยมีอาการลิ้นไม่รู้รส จมูกไม่ได้กลิ่นเลย จนอาการดีขึ้นก็คือกินข้าวแล้วรู้สึกถึงรสชาต ได้กลิ่มหมอของน้ำแกง จากนั้นวันที่ 19 ผมเข้ามาตรวจที่ อบจ.พบว่าผลออกมาเป็นลบ


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา รายงาน

ปทุมธานี - บิ๊กแจ๊ส อนุมัติงบ 25 ล้านให้กับพุทธศาสนา สร้างอาคารปฏิบัติธรรมและอุโบสถ ปลูกฝังเยาวชนประชาชนเป็นดี

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่วัดโบสถ์ ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานีพร้อมด้วยคณะบริหาร และเจ้าหน้าที่ อบจ.ปทุมธานี ร่วมมอบเงินอุดหนุนวัดโบสถ์เพื่อสมทบการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมจังหวัดปทุมธานี เป็นจำนวนเงิน 15,000,000 บาท โดยมี พระราชวรเมธาอาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (ฝ่ายธรรมยุต) รับถวายเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ส่วนวัดเทพสรธรรมาราม ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานีพร้อมด้วยคณะบริหาร และเจ้าหน้าที่ อบจ.ปทุมธานี ได้มอบเงินสมทบการก่อสร้างอุโบสถวัดเทพสรธรรมาราม เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท

โดยมี พระอาจารย์เทียนชัย ชัยทีโป เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพสรธรรมาราม รับถวาย ซึ่งขณะนี้ทางวัดอยู่ระหว่างการก่อสร้างอุโบสถเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และทำกิจกรรมของสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาต่อไป ทางด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากวัดโบสถ์เป็นวัดสายธรรมยุติมีการปฏิบัติธรรม แต่ยังขาดอาคารที่ใช้ปฏิบัติธรรม ทางวัดได้ของบประมาณส่วนหนึ่งมาทาง อบจ.จึงได้สนับสนุนเป็นงบประมาณ 15 ล้านบาท โดยทางวัดก็จะเดินหน้าก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ต่อไป ประชาชนและเยาวชนของเราจะได้เข้ามาร่วมกิจกรรมปฏิบัติธรรมภายในวัดแห่งนี้ ถือว่าโครงนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กเยาวชนของเราให้มีความเข้าใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รวมถึงเป็นการฟื้นฟูศาสนาของเราต่อไป

ในส่วนของการฉีดวัคซีนตนมีความมั่นใจว่าวัดทุกวัดในจังหวัดปทุมธานีทาง อบจ.ได้ดำเนินการฉีดพ่นฆ่าเชื้อทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร รวมถึงพระสงฆ์ทุกองค์ในจังหวัดปทุมธานี ทั้งธรรมยุติและมหานิกาย ได้ฉีดวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มให้พระสงฆ์ทุกรูปในจังหวัดปทุมธานี ทั้ง 2 เข็มเรียบร้อยแล้ว   ซึ่งทาง อบจ.ได้สร้างความมั่นใจให้กับพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญกับวัดทุกวัดในจังหวัดปทุมธานี อย่างปลอดภัย  ตนเองอยากจะทำกำไลริสแบนด์เป็นสัญลักษณ์ให้ทราบว่าฉีดครบ 2 เข็มแล้ว


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

ปทุมธานี - ผู้ว่าฯปทุมธานี ให้เกียรติเป็นประธาน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2564 ณ วัดสะแก ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก

วันที่ 9 กันยายน 2564 เมื่อเวลา 10.00 น นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2564 โดยมีพระอธิการเริงชัย ฐานุตตฺโร เจ้าอาวาสวัดสะแก พร้อมด้วย ประมงจังหวัดปทุมธานี นายอำเภอสามโคก / ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสามโคก หัวหน้าส่วนราชการ / ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะแก และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน

เนื่องในวันประมงแห่งชาติประจำปี 2564 ตามมติครมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 อนุมัติให้ในวันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันประมงแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อได้รำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2469 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและเป็นกรมประมงในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ในการจัดงานมีดังนี้

1.เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้พี่น้องประชาชนให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำธรรมชาติ

 2.เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและรณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและร่วมกันบริหารจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนและ

3.เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชาวประมงและประชาชนในการบูรณาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ในการจัดพิธีปล่อยพันธุ์ปลา

ในการจัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนพันธุ์น้ำจืดจากศูนย์วิจัยและพัฒนา เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานีจำนวน 500,000 ตัว ชนิดพันธุ์ ของปลาประกอบด้วย

1.ปลาตะเพียนทอง 100,000 ตัว

 2.ปลาตะเพียนขาว 300,000 ตัว

 3.ปลาสร้อยขาว 50,000 ตัว

และ 4.ปลาหมอ 50,000 ตัว


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top