Thursday, 22 May 2025
แพทองธารชินวัตร

‘นายกฯ อิ๊งค์’ พร้อมลงพื้นที่ อีสานตอนบน ริมแม่น้ำโขง จันทร์นี้ นำ!! คณะรัฐมนตรีสัญจร มั่นใจ!! แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทุกมิติ

(27 เม.ย. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในวันอังคารที่ 29 เมษายน ที่จังหวัดนครพนม ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีดำริให้รัฐมนตรี ทุกกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานในทุกมิติ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคอีสานในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน และวันจันทร์ที่ 28 เมษายน ก่อนการเข้าร่วมประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม เพื่อตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 และนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ในวันอังคารที่ 29 เมษายน 2568  ที่หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม

“นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก่อน 1 วัน โดยในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังสนามบินกองทัพบกค่ายกฤษณ์สีวะรา ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร และเดินทางต่อไปยังสวนสาธารณะดอนเกิน อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บึงหนองหารและการบริหารจัดการน้ำ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะไปศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม เพื่อเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ “นาหว้าโมเดล” ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” จากนั้นจะเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ ที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม อ.เมืองนครพนม และในช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและคณะจะร่วมสักการะพญาศรีสัตตนาคราช พร้อมจุดเรือไฟบก ที่ลานพนมนาคา   ริมแม่น้ำโขง ในอำเภอเมืองนครพนม

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ในวันอังคารที่ 29 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ที่หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม หลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปที่ด่านศุลกากรนครพนม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามประเทศลาว เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนในพื้นที่ เนื่องจากด่านศุลกากรนครพนม มีจุดผ่านแดนถาวรทั้งหมด 2 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน ลาว ) ท่าเทียบเรือการท่องเที่ยวเทศบาลนครพนมรวมทั้งจุดผ่อนปรนการค้าอีก 4 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนอำเภอท่าอุเทน จุดผ่อนปรนบ้านดอนแพง จุดผ่อนปรนอำเภอธาตุพนม และจุดผ่อนปรนบ้านหนาด

“การลงพื้นที่ภาคอีสานของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทุกมิติ ทั้งการค้าขายระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองเนื่องจากจังหวัด นครพนม และมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศลาวที่มีเส้นทางการคมนาคมหลักที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเวียดนามตอนกลางที่เมืองดานังได้ ทั้งนี้ การลงพื้นที่ ของคณะรัฐมนตรี จะทำให้รัฐบาลสามารถเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาต่อยอดทุกมิติ และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้จังหวัดสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ว่าเป็นการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน รวมถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้เมื่อปัญหายาเสพติดลดลงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็จะดีขึ้น” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ แพทองธาร ย้ำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่ใช่กาสิโน ชี้เป็นโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการปาฐกถาพิเศษเวที Mission Thailand เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 ย้ำชัด เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่เท่ากับกาสิโน ชี้ เป็นการสร้างโอกาสหาเงินเข้าประเทศ
 

‘รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา’ ชูบทบาทภาคเอกชนในเวทีประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เสนอแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ระยะ 2 ปี

เมื่อวานนี้ (1 พ.ค. 68) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ตัวแทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและเสนอแนวทางขับเคลื่อนแผนระยะถัดไป

ที่ประชุมได้สรุปความก้าวหน้าของแผนปี 2566-2567 ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่แผนระยะยาว โดยครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดทำกรอบจริยธรรมและศูนย์ธรรมาภิบาล AI การเปิดใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง การผลักดันหลักสูตร AI ในทุกระดับการศึกษา และความร่วมมือด้านวิจัย เช่น Medical AI ที่พัฒนาโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคหลัก

ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก 'UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025' ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านนโยบาย AI โดยคาดว่าจะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติในฐานะผู้นำด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศในเชิงบวก

จากพื้นฐานที่วางไว้ รัฐบาลจึงผลักดัน National AI Program ระยะ 2 ปี (2569–2570) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้าน AI ในอาเซียน ผ่านการเร่งสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ครบทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือ AI User, AI Professional และ AI Developer พร้อมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้นักพัฒนาใช้งานอย่างทั่วถึง

ภายใต้แผนนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว และการเกษตร ด้วยการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพบริการ และสร้างผลผลิตอย่างตรงเป้า โดยรัฐจะสนับสนุนโครงการผ่านมาตรการจูงใจและงบประมาณสนับสนุนอย่างชัดเจน

ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของแผน พร้อมมอบหมายให้กระทรวง อว. และกระทรวงดีอี จัดทำกรอบงบประมาณและรายละเอียดโครงการเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป พร้อมเน้นให้ National AI Program ระยะ 2 ปี เป็นวาระแห่งชาติ เร่งเดินหน้าทุกมิติ ทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน และการต่อยอด AI เชิงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

GIP ในเครือ BlackRock เตรียมลงทุนในไทยสูงสุด 175,000 ล้านบาท รองรับการใช้ Cloud และ AI จากทั่วโลก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง GigaData Hub

(7 พ.ค. 68) บริษัท Global Infrastructure Partners (GIP) ในเครือ BlackRock ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 105,000 ถึง 175,000 ล้านบาท ผ่าน True IDC เพื่อสร้าง GigaData Hub ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบขยายได้ รองรับการใช้งาน Cloud และ AI จากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยสามารถเพิ่มกำลังไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค. 68) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอาเดบาโย โอกุนเลซี ประธานและซีอีโอ GIP ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการลงทุนดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด และเตรียมยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนระดับโลก

ด้าน GIP ย้ำความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายภาครัฐ พร้อมร่วมมือกับไทยในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาคน และการสร้างระบบ AI & Cloud ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

นายศุภชัยระบุว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งรวมถึง Google, Microsoft และ ByteDance พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก

นายกฯ อิ๊งค์ เตรียมบินไป!! ‘ฮานอย’ ประชุมร่วม ‘ไทย – เวียดนาม’ แถลงการณ์ร่วม ยกระดับ!! ความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

(11 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่กรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในวันพุธและพฤหัสบดี ที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่ระดับ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์สูงสุดที่เวียดนามมีต่อประเทศคู่เจรจา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุม(JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ คณะเพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคและความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
ในการเยือนครั้งนี้ ไทย–เวียดนามจะลงนามเอกสารสำคัญ ประกอบด้วยแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเพิ่มพูนความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ 
1.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน 
1.1 ด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด 
1.2 ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายของโลก

2.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 
2.1 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ เพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 
2.2 การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก SMEs การเติบโตสีเขียว โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การผลิตและห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล 

3.การเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 
3.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพ การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน AI ดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์ 
3.2 ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ฉบับปรับปรุง) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า การขจัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร การค้าชายแดน และการลงทุนร่วมระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศความตกลงฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างยั่งยืนและสมดุล

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงยังครอบคลุมความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมส่งเสริมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Committee on Trade: JTC) และจัดตั้งคณะทำงานร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือเชิงรูปธรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อกังวลทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ขณะนี้ไทยและเวียดนามมีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการผนึกกำลังอาเซียน เพื่อร่วมกันเผชิญหน้ากับการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวจากมาตรการภาษีนำเข้าระดับสูงของสหรัฐฯ ด้วย

นายกฯ รับเสียดาย ‘ทักษิณ’ พลาดพบ ‘ทรัมป์’ ที่กาตาร์ ยันพ่อป่วยจริง-เตรียมไปศาลตามนัด 13 มิ.ย. นี้

(13 พ.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีศาลไม่อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปกาตาร์ ทำให้พลาดโอกาสพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจช่วยเปิดทางเจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯ ได้ โดยย้ำว่าทักษิณป่วยจริง มีประวัติการรักษามายาวนาน และจะขึ้นศาลตามนัดในวันที่ 13 มิ.ย.นี้

นายกฯ ยืนยันว่าแพทยสภายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ และไม่เคยมีใครระบุชัดว่าเป็น 'การป่วยทิพย์' พร้อมระบุว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้โดยตรง เพราะเหตุเกิดก่อนดำรงตำแหน่ง แต่ยอมรับว่ารู้สึกว่ากระทบมาตลอดตั้งแต่มีคำพิพากษาคดีของบิดา

สำหรับประเด็นการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นายกฯ เปิดเผยว่าได้ส่งรายงานไปยัง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)  แล้ว และรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อหารืออย่างเป็นทางการ ยืนยันว่าการที่จีนหรือชาติอื่นคืบหน้ากว่าไทยไม่ได้หมายถึงว่าไทยล่าช้า เพราะมีการพูดคุยกันในหลายระดับแล้ว

ส่วนกรณีข่าวสหรัฐฯ ระงับวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทยจากกรณีอุยกูร์ นายกฯ ระบุว่ายังไม่แน่ใจว่ามีการปลดล็อกหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง แต่ย้ำว่าตนไม่เคยถูกแบนวีซ่า และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในการเจรจาระหว่างประเทศในอนาคต

นายกฯ ยืนยันยังไม่ยกเลิก ‘เงินดิจิทัลเฟส 3’ ขอเวลาคิด พร้อมเปิดรับข้อเสนอเปลี่ยนรูปแบบแจกเงิน

(15 พ.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปียังไม่ถูกยกเลิก แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอาจต้องทบทวนเพื่อรับมือกับนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไว้สูงถึง 36% โดยระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และจะประกาศข้อสรุปเมื่อได้ข้อยุติ

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลยังคงมุ่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยังไม่ตัดสินใจยกเลิกโครงการใด พร้อมเปิดรับข้อเสนอ เช่น การปรับรูปแบบการแจกเงินให้คล้ายโครงการ 'คนละครึ่ง' เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อถูกถามว่าโครงการจะดำเนินต่อในรูปแบบใด และหากยกเลิกจะกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีไม่ตอบในประเด็นนี้ แต่ย้ำว่าทุกนโยบายต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และครอบคลุมทุกช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นายกฯ เตรียมไลฟ์ขายทุเรียน ส่งตรงจากจันทบุรี หวังดัน Soft Power เกษตรไทย-ช่วยชาวสวนในพื้นที่

(16 พ.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมร่วมไลฟ์สดขายทุเรียนกับกลุ่ม Young Smart Farmer ณ สวนรักตะวัน จ.จันทบุรี วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อส่งเสริมผลไม้ไทยและกระตุ้นการตลาดช่วงฤดูทุเรียน พร้อมรณรงค์การบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล และชมบูธร้านอาหารที่ได้รับเครื่องหมาย Thai SELECT

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะรับฟังปัญหาของเกษตรกรภาคตะวันออกทั้งเรื่องต้นทุน การผลิต และการส่งออก พร้อมให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมคณะลงพื้นที่ด้วย

โดยในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมขั้นตอนการส่งออกผลไม้ ณ บริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุท อ.มะขาม จ.จันทบุรี และชมการคัดแยก แพ็กกิ้งทุเรียนมังคุด รวมถึงโมเดลความร่วมมือกับสายการบินแอร์เอเชีย ในการนำเมนูผลไม้ขึ้นให้บริการบนเครื่องบิน

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันเดินหน้าสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฤดูทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร กระจายตลาดสู่เมืองหลัก-เมืองรอง และผลักดันให้ 'ผลไม้ไทย' เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่คนทั่วโลกต้องรู้จักและจดจำ

‘แพทองธาร – นายกฯ เวียดนาม’ ร่วมเปิดงานใหญ่ แสดงวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ในทุกระดับ

(17 พ.ค. 68) นายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้เข้าร่วมงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในทุกระดับ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย และประชาชน ณ โรงแรม Melia กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวานนี้ (16 พ.ค. 68) 

ทั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ SVP & General Manager ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียดนาม ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเสวนา ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูง ตัวแทนภาคเอกชนจากทั้งประเทศไทย และเวียดนาม อาทิ WHA Amata FPT และ Vietjet มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และแนวทางการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจไทย–เวียดนาม สู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน

‘แพทองธาร’ เตรียม!! เปิดทำเนียบฯ 19 พ.ค.นี้ ต้อนรับ ‘ปธน.อินโดนีเซีย’ ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

(18 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะให้การต้อนรับนายปราโบโว ซูบียันโต (H.E. Mr. Prabowo Subianto) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ในรอบ20ปี ในโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – อินโดนีเซีย

สำหรับ กำหนดการพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบรัฐบาล มีดังนี้

เวลา 10.05 น. นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

หลังจากนั้น เวลา 10.20 น. ผู้นำทั้งสองจะร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ ภายใต้กลไก Leaders’ Consultation ครั้งแรก ณ ตึกภักดีบดินทร์ และในเวลา 11.15 น. ผู้นำทั้งสองจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยกับอินโดนีเซีย พร้อมทั้งมีการแถลงข่าวร่วม ในเวลา 11.25 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

“ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสอง จะมีการหารือครอบคลุมทั้งความมั่นคง-การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ  ด้านเศรษฐกิจ การจัดตั้ง Halal Task Force เพื่อประสานมาตรฐานอาหารฮาลาลระหว่างสองประเทศ   การผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตร -ประมง รวมถึงการท่องเที่ยว และความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top