Monday, 7 April 2025
แพทองธารชินวัตร

ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ กับ นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย การกระชับความสัมพันธ์ 'ไทย-สหรัฐฯ' ให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้งหนึ่ง

(8 ก.ย.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์' อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึงช่วงเวลา 2 เดือนที่เหลืออยู่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะเป็นตัวกำหนดผู้ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนเลยทีเดียว

ประการแรก ความวิตกกังวลว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่เคยมีการคาดการณ์กัน เริ่มหมดไป แม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะกระดกขึ้นมาบ้าง แต่ GDP ในไตรมาส 2 ยังเติบโตสูงกว่าคาด และไม่มีเครื่องชี้อื่นใดที่บ่งบอกสัญญาณ Recession ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับรองประธานาธิบดี Kamala Harris แห่งพรรค Democrats ในฐานะที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันกับโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งเหนือ Donald Trump กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ประการที่สอง ประธาน Federal Reserve Jerome Powell ได้ออกมากล่าวหลังการประชุมใหญ่ที่ Jackson Hole ว่าธนาคารกลางสามารถปราบเงินเฟ้อได้อยู่หมัด และถึงเวลาแล้วที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงิน จึงเป็นที่คาดหมายของตลาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยจะเริ่มลดครั้งแรกในการประชุม FOMC ปลายเดือนกันยายนนี้เลย

ประการที่สาม Presidential Debate ระหว่าง Harris กับ Trump ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้น 2 ครั้ง จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นความชัดเจนและความแตกต่างในนโยบายของสองตัวแทนพรรค โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาสังคมรู้จักนโยบายของ Harris น้อยมาก เพราะ Harris ไม่ผ่านการเลือกตั้งขั้นต้น (Primaries) จึงไม่มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์เลย อยู่ๆ ก็ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี Biden ให้เป็นตัวแทนพรรค Democrats แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ หาก Harris ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ... สหรัฐฯ และโลกจะมีความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินมาในช่วงเกือบ 4 ปีของรัฐบาล Biden

เชื่อมโยงกลับมาในบ้านเรา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทั้งประเทศไทยมีผู้นำเป็นสตรี และสหรัฐฯ ก็อาจจะได้ผู้นำประเทศเป็นสุภาพสตรีด้วยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหากพิจารณาโดยธรรมชาติแล้ว รัฐบาลเพื่อไทย และ รัฐบาล Democrats ต่างมีนโยบายคล้ายกัน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นสนับสนุนคนชั้นกลางและรากหญ้า ด้วยการอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่นโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policy) และมาตรการทางการคลังในการชี้นำเศรษฐกิจให้เติบโตในทิศทางที่เหมาะสม 

ดังนั้น หากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จบที่ Democrats ก็เชื่อมั่นว่าจะได้เห็น รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร และรัฐบาล Kamala Harris กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไทยหลุดจอเรดาร์ของสหรัฐฯ ไปเป็นเวลา 10 ปี

กลุ่มเปราะบางดีใจ ลุ้น 'เงินดิจิทัล' เข้าลอตแรกเร็วๆ นี้ ด้าน 'พ่อค้าแม่ค้า' หวังนำเงินไปใช้จ่ายลงทุนร้านค้าตัวเอง

(11 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชนถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล ‘อุ๊งอิ๊ง1’ เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากการแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรคนจน’ และกลุ่มผู้พิการ จำนวนกว่า 14.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะโอนเงินให้ได้หลังจากวันที่ 20 ก.ย. เป็นต้นไปท่ามกลางความสนใจของคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอรายละเอียดและความชัดเจนจาก ‘น.ส.แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่ตลาดสดเทศบาล 1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ซึ่งล้วนต่างถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่างรู้สึกดีใจในความชัดเจนดังกล่าว และส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายลงทุนร้านค้าตัวเอง

‘นางหนูกอ นาใต้’ อายุ 71 ปี แม่ค้าขายผักกล่าวว่า ดีใจที่รัฐบาลมีความชัดเจน เพราะตอนนี้การเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง บางวันต้องยืมใช้จากเงินนอกระบบมาลงทุนขายผัก ทั้ง ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าไปโรงเรียนหลาน ถ้าได้มาก็จะได้ใช้จ่ายลงทุนและนำไปปิดหนี้นอกระบบ ซึ่งที่ยืมเพราะไม่มีเงินมาลงทุนค้าขาย บางวันขายไม่ได้ทุนคืนก็มี ก็ต้องยืมรายวันมาลงทุนไปก่อน ถ้าได้เงินตัวนี้มาก็พอช่วยได้ในระดับหนึ่งเพื่อมาลงทุนค้าขาย โดยส่วนตัวเท่าที่ฟังข่าวสารมาไม่มั่นใจว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินแบบไหน แต่ถ้าได้เงินสดมาก็จะดี จะได้นำมาใช้ลงทุนต่อ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ค้าขายก็ได้กำไรน้อย ลูกค้าก็ไม่ค่อยมีเหมือนเดิม คนเคยมาซื้อก็น้อยลงบอกว่าหาเงินยาก ซื้อลดลง และการค้าขายที่ร้านต้องขายให้หมดถึงจะเห็นกำไร

ขณะที่ ‘นางตุ๊กตา ศรีอภัย’ อายุ 57 ปี แม่ค้าขายปลาสด-ปลาปล่อย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินสดจริงจะดีใจมาก เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวถ้าได้เงินมาก็จะมาซื้อข้าวสาร น้ำมันพืช ของใช้ครัวเรือน โดยที่ทุกวันนี้ครอบครัวติดตามข่าวสารมาตลอดก็ทราบว่าจะได้เงินมาเป็นรอบ ลอตแรก 5,000 บาท ซึ่งถ้าได้เงินสดมา เศรษฐกิจดีขึ้นแน่ คนออกมาใช้จ่ายซื้อของกันคึกคัก ทั้งยังคงนำไปจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าประปา และใช้จ่ายอื่นๆ จนนำมาสู่เงินหมุนเวียน ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง และในตลาดก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ‘นายพลวัฒน์ ดอนตระกูล’ อายุ 36 ปี พ่อค้าขายเครื่องเทศ พริก กระเทียม กล่าวว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ไม่มีบัตรประชารัฐ แต่ถ้าถามถึงความหวังนั้นไม่มีหวังอะไร และไม่รู้ว่าสิทธิ์ที่จะใช้เงินนี้จะใช้จ่ายอะไรได้บ้าง แต่ถ้าได้และเป็นเงินสดก็จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะสามารถนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ แต่โครงการนี้ก็ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนแต่ถ้าได้มาก็จะดี เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ย่ำแย่ อยากให้ทางรัฐบาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงิน

'รัฐบาลแพทองธาร' ชัดเจน!! ประกาศนโยบาย 'ลดราคาค่าพลังงาน' พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(12 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโนบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายที่ 3 จาก 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน 

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นอกจากนี้ สำหรับนโยบายระยะกลางและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนญ์กลางด้านการซื้อขาย Carbon Credit ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

สำหรับนโยบายเร่งด่วนทั้ง 10 นโยบาย ประกอบด้วย...

นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลส่งเสริมพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME

นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค

นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informat Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี

นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย  

นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว

นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรม อาชญกรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ

นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

'นายกฯ' เตรียมพร้อมงบกลางช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลั่น!! ให้เยียวยาได้ทันที ไม่ต้องรอหลังน้ำลด

(13 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงราย 

ก่อนออกเดินทาง พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ (ผบ.ทอ.) นำนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม อาทิ เรือท้องแบน เรือยาง ที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมด้วยกำลังพลที่ลงไปปฏิบัติงานเพิ่มเติม ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกองทัพและทุกหน่วยงานที่ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้  

พร้อมกันนี้ยังกล่าวยืนยันว่า ได้มีการจัดเตรียมงบกลาง ซึ่งสามารถนำมาช่วยประชาชนได้ทันที รวมทั้งการเยียวยา ขอให้ทำทันทีไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน 

สำหรับสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่สูงหรือพื้นที่บนดอย ที่ถูกตัดขาด ก็ขอให้กองทัพส่งกำลังเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และหากพื้นที่ใด ปริมาณน้ำเริ่มลดลงแล้ว ก็ขอให้ช่วยกันเร่งทำความสะอาด เพื่อคืนภาวะปกติให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว  

ขณะที่อยู่บนเครื่องบินนั้น นายกรัฐมนตรียังเชิญนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ช่วยราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ข้อมูลแผนการช่วยเหลือและภาพรวมสถานการณ์น้ำล่าสุดด้วย

นายกฯ อิ๊งค์ 'ผ่าน' แต่อนาคตน่าห่วง รุ่นใหม่ พท. ยกระดับเบียดขยี้พรรคส้ม

มีสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเหตุบ้าน 'การเมือง' มากมายหลายประเด็นที่อยากจะเขียนเป็นรายงานสัก 3-4 หน้ากระดาษ  แต่ด้วยพื้นที่เล็กๆ ของ 'เลียบการเมือง' ขอใช้วิธีสรุปไฮไลต์ที่อยากหมายเหตุเอาไว้โดยเฉพาะการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อ 12-13 ก.ย.ที่ผ่านมาให้เป็นที่ประจักษ์ ณ วันนี้ ดังนี้...

1) กรณีแถลงนโยบาย
- นโยบายเร่งด่วน 10 ประการของรัฐบาลไม่มีอะไร 'ว้าว' กลางสภาฯ เพราะทักษิณ ชินวัตร เปิดว้าวไปก่อนแล้วเมื่อ 22 ส.ค.67 แต่ที่น่าจับตานโยบายเร่งด่วนร้อนๆ อย่าง เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์, พลังงาน และพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา, แลนด์บริดจ์...จะเป็นองศาเดือดทางการเมือง ทำให้รัฐบาลเอียงกะเท่เร่หรือไม่? อย่างไร?

- กรณีนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต แจก 1 หมื่นบาท ได้บทสรุปว่าจะแจกเฟสแรก 14.2 ล้านคนกลุ่มเปราะบาง จากงบฯ 2567 จำนวน 1.45 แสนล้านบาทที่มีอยู่ภายในวันที่ 25 ก.ย.67 ส่วนเฟสสองคำตอบจากในสภาและนอกสภาพอจะอนุมานสรุปได้ว่า...ไม่น่าจะมี รัฐจะช่วยเหลือในรูปแบบอื่น กรณีนี้จะกลายเป็นการ 'เสียรังวัด' ครั้งสำคัญของรัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์

- ภาพรวมการแถลงนโยบาย นายกฯ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร สอบผ่านแบบหวุดหวิด ถ้าไม่มีเหตุต้องไปตรวจอุทกภัยภาคเหนือต้องอยู่ในสภาฯ สองวันอาจสอบตกก็เป็นได้...และน่าเสียดายที่ยังไม่ใช้เวลาสภาในวันแรกให้เป็น 'นาทีทอง' ในการโชว์กึ๋น โชว์วิสัยทัศน์แบบชัดๆ ให้ขาเชียร์ได้กรี๊ดซักกรี๊ด...การพูดถึง...วาทกรรมเกลียดชัง ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายแค้น...นั้น ถึงที่สุดมันก็คือ 'การเมืองเรื่องวาทกรรม' เหมือนกัน...

- ซีก สส.ฝ่ายค้าน พรรคประชาชน ที่นำโดยณัฐวุฒิ เรืองปัญหาวงษ์ หน.พรรค, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหน.พรรค อภิปรายได้ตามมาตรฐานของตัวเองและพยายามเชื้อเชิญนายกฯ อิ๊งค์ ออกมาทำยุทธหัตถี (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) ฝ่ายค้านอีกหลายคนก็ได้ยกระดับฝีมือของตัวเองได้อย่าง น่าจับตา เช่น ศุภโชติ ไชยสัจ (เรื่องพลังงาน), ภคมน หนุนอนันต์ (เรื่องแลนด์บริดจ์) ฯลฯ

- ขณะที่ซีกรัฐบาล ต้องยอมรับว่ารอบนี้ สส.คนรุ่นใหม่พรรค เพื่อไทย ได้ยกระดับ-ทำการบ้านมาอภิปรายได้น้ำได้เนื้อดีกว่าอภิปรายเรื่องงบประมาณฯหรือรอบอื่นๆ ไม่ว่า นิกร โสมกลาง  สส.โคราช, ขัตติยา สวัสดิผล (บัญชีรายชื่อ), รวี  เล็กอุทัย (อุตรดิตถ์), ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ (บัญชีรายชื่อ) ฯลฯ ... จากนี้ไปน่าจะได้เห็น 'รุ่นใหม่เพื่อไทย' ประชันขันแข่ง 'รุ่นใหม่พรรคส้ม' ได้แบบน่าดูชม เหลือแต่ 'รุ่นใหม่ภูมิใจไทย' ที่จะต้องรีบโชว์กึ๋นอีกหน่อย...

- ในขณะที่พรรคอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ บทบาทเด่น กลับไปโฟกัสอยู่ที่คนรุ่นใหม่อย่าง เอกนัฏ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรค ในฐานะรมว.อุตสาหกรรม และสส.บัญชีรายชื่อ...ที่ประกาศนโยบายและปณิธานการทำงาน...

2) สงครามสองบ้าน-อนาคตอิ๊งค์...
- สรุปสั้นๆ ได้เพียงว่า กรณี 'คลิปลุง' หลุดออกมานั้น เป้าหมายหลักก็เพื่อหยุดและบดขยี้แนวรบบ้านในป่าที่เป็นเสมือนเสี้ยนหนามในรองเท้ารัฐบาลให้สิ้นซาก...เป็นสงครามบ้านจันทร์ส่องหล้า-บ้านในป่า ภาคสุดท้าย...หมัดเด็ดของบ้านในป่าคือ การใช้กฎหมายที่เรียกว่า 'นิติสงคราม'...ล่าสุดไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พรรคพลังประชารัฐ ตอบโต้เรื่องคลิปด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน และให้ กสทช.ยุบรายการ 'เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์' ทางช่อง 9 อสมท.ของ 'หมาแก่'...

- แม้ขณะนี้จะมีเรื่องร้องเรียน กล่าวหารัฐบาล-ตัวนายกฯ และพรรคเพื่อไทยสารพัดสารพัน แต่กว่าเรื่องราวต่างๆ จะตั้งแฟ้มตั้งเรื่องว่าจะปัดตกหรือเดินหน้าต่อไป อย่างเร็วก็อีก 3-4 เดือนข้างหน้า...นายกฯ ไม่ต้องมาเสียสมาธิกับเรื่องราวเหล่านี้ เพราะมีทีมงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว...โจทย์ใหญ่ของนายกฯ อิ๊งค์คือ ใน 2-3 เดือนนี้ ต้องแสดงฝีมือการทำงาน-โชว์กึ๋นให้เป็นที่ประจักษ์สักเรื่องสองเรื่อง...แม้ว่ารอบนี้เข้ามาทำงานโดยไม่มีกติกา 'ทดลองงาน' หรือ Probation ก็ตาม...

- 'เล็ก เลียบด่วน' ทำโพลส่วนตัวมาแล้ว...พบว่านับจากวันถวายสัตย์ปฏิญาณตน จนถึงวันที่ 14 ก.ย.ที่เขียนต้นฉบับ...หากใช้ระบบทดลองงานโอกาสที่จะผ่านโปรฯ อยู่ที่ 50/50...ต้องฮึดและปรับกระบวนท่ามีสมาธิอีกพอประมาณ !!

'นายกฯ' เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับ ประธานใหญ่ ‘แอลฟาเบต อิงก์’ เยือนไทย ถก ‘กูเกิล’ ปักหมุดสร้าง Data Center ต่อยอด 12 ปีดำเนินธุรกิจในไทย

(30 ก.ย. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ เวลา 17.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเปิดห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ต้องรับ Mrs.Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) และบริษัทกูเกิล บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ในการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ของ Alphabet และ Google ในครั้งนี้จะมีการหารือกันเกี่ยวกับโครงการลงทุนของกูเกิลในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการและข้อมูลการลงทุนโครงการใหม่ และแผนงานการพัฒนาดิจิทัลของกูเกิลในไทย รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองแก่ Mrs. Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท Alphabet และ Google ด้วย

ก่อนหน้านี้กูเกิลได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อตั้งศูนย์ข้อมูล (Cloud Region) แห่งแรกพร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คาดการณ์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่ง ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยจะมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่...

1. ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล: Google พิจารณาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในไทย และก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกเพื่อรองรับบริการดิจิทัลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดการณ์ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล

2. ส่งเสริมการใช้ AI อย่างชาญฉลาด: รัฐบาลไทยและ Google ร่วมกันพัฒนาโครงการความร่วมมือด้าน AI โดยมุ่งเน้นการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในภาครัฐ พัฒนาโซลูชัน AI ขยายผล และสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง

3. สนับสนุนนโยบาย Go Cloud-First: Google Cloud หนุนนโยบายส่งเสริมการใช้คลาวด์ของภาครัฐไทย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ระบุประเภทของข้อมูลที่เหมาะกับการจัดเก็บบน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว และสนับสนุนนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies)

4. พัฒนาคนไทยสู่อาชีพดิจิทัล: Google มุ่งพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะด้านดิจิทัล ผ่านการฝึกอบรมและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรม เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

โดยแผนที่กูเกิลจะลงทุนในไทยในธุรกิจ Data Center ได้ประกาศว่าบริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติมในอาเซียน โดยพิจารณาไทยเป็น 1 ในสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพสำหรับการสร้าง Data Center ประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นการต่อยอดจากการลงทุนของ Google ตลอด 12 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

สำหรับบริษัทแอลฟาเบต อิงก์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นผ่านการปรับโครงสร้างของบริษัทกูเกิลในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2015 และกลายเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลกับอดีตบริษัทย่อยของกูเกิลบางส่วน แอลฟาเบตเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อแบ่งตามรายได้ และเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีค่ามากที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศเจ้าใหญ่ของสหรัฐ 5 แห่ง 

'นายกฯ แพทองธาร' ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ำ!! ทุกหน่วยงานดูแลประชาชน พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ทันท่วงที

(4 ต.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในโอกาสนี้ นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 2 ต.ค.67 สถานการณ์น้ำจากพื้นที่ตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม  และน่าน ยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณจากทางตอนบนทยอยไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,128 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลอง และสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฝ้าระวังปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที และยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ พร้อมเร่งสูบระบายน้ำส่วนเกินออกทางฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก และคลองชายทะเล ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทย ซึ่งมีศักยภาพการสูบระบายน้ำรวมกันได้ประมาณวันละ 164 ล้าน ลบ.ม. 

ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์     

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1 – 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน 

โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น  จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในระยะนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการในการแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำให้ทันท่วงที รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนได้โดยเร็วที่สุด

‘แพทองธาร’ ร่วมเวที ที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค!! ย้ำ!! สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

(16 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ ‘ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง’ (People. Business. Prosperity.)ว่า ยินดีที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APECของเปรูที่ว่า ‘เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน’ และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy)

โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก  

ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม

ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ

‘แพทองธาร - สีจิ้นผิง’ หารือ!! นอกรอบ พร้อมดัน!! สร้างทางรถไฟ ‘จีน – ไทย’

(16 พ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน พบปะหารือกับ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีไทย นอกรอบการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ในกรุงลิมาของเปรู กล่าวว่าจีนและไทยควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย และขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น พลังงานใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีมิตรภาพ แนวคิด ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ได้ยืนหยัดผ่านกาลเวลาและมีพลังชีวิตชีวาใหม่ โดยสีจิ้นผิงย้อนนึกถึงการเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน 2022 และได้บรรลุฉันทามติสำคัญกับคณะผู้นำของไทยเกี่ยวกับการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน พร้อมแสดงความยินดีที่มีการดำเนินการตามผลลัพธ์ของการเยือนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความร่วมมือทวิภาคีก้าวหน้าเชิงบวกหลายด้านและนำพาผลประโยชน์อันจับต้องได้มาสู่ประชาชน

สีจิ้นผิงกล่าวว่าเนื่องในปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย รวมถึงปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสานต่อมิตรภาพดั้งเดิม เสริมสร้างการจัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์บริหารปกครอง เดินหน้าความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ สนับสนุนการสร้างความทันสมัยของทั้งสองประเทศ และผลักดันการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน

จีนและไทยควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา และเยาวชน รวมถึงจัดงานอย่างการบูชาพระเขี้ยวแก้วในไทย ผูกโยงสายใยระหว่างประชาชนของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งต่อมิตรภาพจีน-ไทยจากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนั้นจีนยินดีจะเสริมสร้างการประสานงานและการสื่อสารกับไทยภายใต้กลไกพหุภาคีต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง อาเซียน กลุ่มประเทศบริกส์ และเอเปค เพื่อคุ้มครองความเป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมมือของอาเซียน นานาประเทศในภูมิภาค และมีส่วนส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ด้านแพทองธารกล่าวว่าปัจจุบันโลกและภูมิภาคกำลังประสบกับความสับสนอลหม่านเพิ่มขึ้น และแผนริเริ่มระดับโลกหลายรายการที่จีนนำเสนอนั้นมีการมองการณ์ไกลเชิงยุทธศาสตร์และเอื้อต่อการเสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ด้วยจีนเป็นเพื่อนที่ดีและหุ้นส่วนที่ดี ไทยนับถือชื่นชมความสำเร็จอันโดดเด่นของจีนในด้านต่าง ๆ เช่น การบรรเทาความยากจน และมุ่งหวังใช้วาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นโอกาสส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับสูงกับจีน โดยมีเป้าหมายร่วมกำหนดอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นของความสัมพันธ์ไทย-จีนตลอด 50 ปีข้างหน้า

ไทยคาดหวังจะเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จของจีน เดินหน้าความร่วมมือด้านทางรถไฟไทย-จีน และโครงการความร่วมมือตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อื่นๆ เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชน และส่งเสริมมิตรภาพดั้งเดิมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมเสริมสร้างการทำงานกับจีนภายใต้กรอบพหุภาคีต่างๆ เช่น เอเปค และร่วมคุ้มครองระบบการค้าเสรี

‘อุ๊งอิ๊ง’ พูดคุย!! นักเรียนไทยในเปรู ที่มาทำงาน อาสาสมัครเอเปค ยัน!! เตรียมพิจารณาให้ทุนการศึกษา เพื่อเรียนต่อต่างประเทศ

(17 พ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ในการประชุม APEC CEO Summit และจากการได้พบปะและพูดคุยกับน้องๆ เยาวชนคนไทยที่มาเป็นอาสาสมัครและมาช่วยงานในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ทราบว่ามีความต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งตรงกับนโยบาลรัฐบาลที่อยากให้เด็กไทยมีทุนการศึกษาที่มากขึ้นเพื่อมีโอกาสพัฒนาบุคคล และพัฒนาชาติไปพร้อมๆ กันด้วย 

จะสนับสนุนน้องๆที่อยากจะไปเรียนต่างประเทศ และจะกำหนดนโยบายให้เปลี่ยนไปศึกษาในสาขาวิชา ที่เกี่ยวข้องกับ พวกเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้มากขึ้น ซึ่งสาขาการบริหารธุรกิจและการตลาด ที่นิยมมาเรียน น่าจะลดลงเพราะที่ประเทศไทยก็มีดีอยู่แล้วแต่ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าหรือ AI เป็นตลาดธุรกิจที่ต้องการมาก รัฐบาลจะสนับสนุนตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาและประเทศไทยด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า "การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนกับรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ขอส่งกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน พร้อมยืนยันว่ากลับไปจะไปพิจารณาเรื่องการให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในต่างประเทศทันที" นายกรัฐมนตรีกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top