Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจไทย

4 โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ที่ตกถึงมือ 'นายกฯ หญิงคนใหม่' 'โรงงานปิด-อสังหาฯ ชะลอตัว-ทุนจีนบุกหนัก-เงินหมื่นรอทบทวน'

เมื่อวันที่ (14 ส.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลง รวมไปถึงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่นายกฯแต่งตั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด    

คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่เรียกว่ารักษาการ ยังคงสามารถบริหารราชการได้หมดทุกเรื่อง ทุกประการ จนกว่าจะแต่งตั้งใหม่

แต่...โครงการใหญ่ ยังไงก็คงต้องรอ มติ ครม. ชุดใหม่ โดยเฉพาะ 'โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท' ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 

การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจสะดุดเล็กน้อย ซึ่งการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ ก็น่าจะยังคงรูปเดิม เกือบทุกกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรค ต่อความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล

18 สิงหาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 38 ปี (เกิด 21 สิงหาคม 2529) แถลงข่าวภายหลังรับสนองพระราชโองการฯ เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผลักดันโครงการซอฟต์พาวเวอร์ แต่โครงการสำคัญ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' จะไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง...ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความกังวลในการเดินหน้าโครงการนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ ปีนี้ 'หนัก' ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ (REIC) ปรับลดคาดการณ์ปี 2567 โอนติดลบ 4.4% หวังมีปัจจัยบวกฉุดภาพทั้งปี ติดลบน้อยลง ระบุภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งแรกของปี 67 ชะลอตัวแรงกว่าช่วงโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างไตรมาส 2/67 มีจำนวนลดลง 19% ต่ำสุดในรอบ 26 ไตรมาส

การปิดกิจการของโรงงาน และผู้ประกอบการ SMEs ที่ปิดตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กับข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน จากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ทั้ง 8 แห่ง ที่ร่วมกันสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน 'Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ' หวังว่า ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ปิดกิจการ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้

อีกด้านประเด็นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การอุปโภคบริโภคของประชาชน ท่ามกลางทะเลเดือดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และจะไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน ที่ไม่สามารถขายสินค้าแข่งได้...จะล้มไปอีกเท่าไหร่ ถ้ายังไม่อุดช่องว่างที่เราจะเสียเปรียบในการนำรายได้เข้าประเทศ

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดินเครื่องไม่ได้เต็มสูบ และต้องรอดูกันต่อว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะถูกปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ กับความหวังจะให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คงลุ้นยิ่งกว่าลุ้นรางวัลที่ 1 สักงวดในปี 2567 นี้

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/share/p/g7A1x6aLiwUi2MfQ/)

THAI PUBLICA (https://thaipublica.org/2024/08/cabinet-holds-special-meeting-to-appoint-bhumtham-to-act-as-prime-minister/)

‘หยวนต้า’ วิเคราะห์!! ‘นักลงทุนต่างชาติ’ เริ่มกลับมาสนใจซื้อหุ้นไทย หลังได้นายกฯ คนใหม่-ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว มีโอกาสฟื้นตัวใน 1-2 เดือน

(20 ส.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘1,400 จุดแค่เอื้อม ฝรั่งเล็งเดินเครื่องช้อนหุ้นไทย ‘หยวนต้า’ ชี้เป็นจุดน่าซื้อที่สุดรอบ 2 ปี’ ระบุว่า…

คุณภาดล วรรณรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 กล่าวว่า…

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นจากปัจจัยการเมืองไทยคลายล็อกจุดเปลี่ยนสำคัญคือก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เบื้องต้นประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวของดัชนีฯ แตะ 1,400 จุดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดว่าเกิดจากกระบวนการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นโฉมหน้า ครม.ชุดใหม่ภายในสิ้นเดือน ส.ค. และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเริ่มทำงานในเดือน ก.ย.นี้ 

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะเห็นการเปลี่ยนรูปแบบในมิติลดความเสี่ยงภาระหนี้ของประเทศ หรืออาจปรับเปลี่ยนให้เกิดผลบวกต่อการบริโภคในประเทศโดยตรง เป็นลักษณะนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า

"ตอนนี้ต้องบอกว่าแนวโน้มหุ้นไทยโดยรวมอยู่ในช่วงที่มีนารีขี่ม้าขาวมาช่วย ไม่ใช่ม้าธรรมดาแต่เป็นม้าบินจะพาหุ้นไทยติดปีก ทำให้คาดหวังได้ว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสเห็น 1,400 จุด และในปีนี้ต้องบอกว่าหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าหุ้นไทยกำลังเป็นบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในรอบ 2 ปีทั้งจากปัจจัยต่างประเทศที่เอื้อและการเมืองไทยคลายกังวล" คุณภาดล กล่าว 

คุณภาดล ยังประเมินอีกว่า มีโอกาสสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง เนื่องจากค่าเงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่า ทำให้ต่างชาติรับส่วนต่างกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าเงิน ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ต่างชาติมีสถานะขายสุทธิเกือบ 1.05 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาพบเป็นผลกระทบจากรายการบิ๊กล็อตหุ้น SCCC มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นหากตัดรายการดังกล่าวจะพบต่างชาติกำลังเดินเครื่องซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 1.5 พันล้านบาท

ฟังสัมภาษณ์หุ้นไทยจะบินหรือจะตก ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นายกฯ คนใหม่ (ภาดล วรรณรัตน์)
https://www.youtube.com/watch?v=RhrjqiQk-g4

เปิดใจ ‘ร้านข้าวแกงในอุทัยฯ’ ขายแกงถุงละ 10 บาท มานานกว่า 9 ปี เน้นขายเยอะ-กำไรนิดหน่อย ช่วยคนหาเช้ากินค่ำในยุคต้องรัดเข็มขัด

(21 ส.ค. 67) ที่จังหวัดอุทัยธานี จากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา​ลงเรื่อย ๆ ​ประชาชนส่วนใหญ่ต้องรัดเข็มขัด​ประหยัดค่าใช้จ่าย​ ส่งผลให้การค้าขายซบเซา แต่ทว่ามีร้านแกงถุงของสองสามีภรรยาที่ขายแกงถุง เพียงถุงละ 10 บาท กลับขายดีเป็นพิเศษ

เนื่องจากราคาถูกและสามารถช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายได้ โดยมีลูกค้าทั้งชาวบ้านทั่วไปและคนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้น้อยแวะเวียนมาซื้ออย่างไม่ขาดสาย 

นายกิติรัตน์ พันธ์นุ่ม อายุ 38 ปี และนางสาวสุทธิราภรณ์ เชิดสูงเนิน อายุ 35 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของร้านแกงถุง 10 บาท กล่าวว่า ได้ร่วมกันเปิดร้านขายแกงถุงในราคา 10 บาทนี้มาแล้ว ถึง 9 ปีเต็ม โดยตั้งใจว่าเอากำไรแค่พออยู่ได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอากำไรแต่น้อย อาศัยขายได้จำนวนมากก็พอที่มีกำไรให้พออยู่ได้ก็ถือว่าดีแล้ว

ดีกว่าขายราคาสูงแต่ขายได้น้อยไม่มีกำไร โดยจะมาตั้งร้านขายแกงถุงตั้งแต่เวลา 05.00-10.00 น. ทุกวัน ลูกค้าที่มาซื้อก็หลากหลาย

โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย ด้วยราคาที่ถูกจึงทำให้สามารถเลือกซื้อได้มากกว่า 1 เมนู จะมาซื้อไปเป็นกับข้าว 3 - 4 อย่าง ก็กินกันได้ทั้งครอบครัวกันเป็นประจำดีกว่าซื้อกับข้าวไปปรุงอาหารเองมื้อหนึ่งจะแพงกว่านี้มาก ไม่ต่ำกว่ามื้อละ 100 บาท

แต่ละวันร้านแกงร้านนี้จะมีให้เลือกมากถึง 8 - 9 เมนูไม่ซ้ำหมุนเวียนไปในแต่ละวัน ซึ่งมีทั้ง ต้มยำ ต้มจืด แกงส้ม แกงเผ็ด ผัดกะเพรา ผัดวุ้นเส้น และยำต่าง ๆ รวมถึงข้าวสวยในราคาถุงละ 10 บาท เช่นกัน อีกด้วย

‘ภาคเอกชน’ ยก!! 3 เรื่องเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ‘นายกฯ’ ‘สร้างความเชื่อมั่น - สร้างขีดความสามารถ SME - วางยุทธศาสตร์’

(23 ส.ค.67) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเข้าพบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ว่าจะมีนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น กลาง ยาว โดยจากการระดมความคิดจากเครือข่ายทั้งภาคเอกชนทั่วประเทศ มีทั้งหมด 3 เรื่องเร่งด่วน คือ

- เรื่องที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นกลางและระยะยาว
- เรื่องที่ 2 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SME เพราะ 90% ของสมาชิกเป็น SME ในจังหวัดต่าง ๆ
- เรื่องที่ 3 การวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ ขอเสนอ 5 แนวทาง คือ

1.การกระจายงบประมาณด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จัดทำงบประมาณปี 2568 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งจ่ายงบประมาณที่อยู่ในแต่ละพื้นที่

2.กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม โดยมุ่งไปยังกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะคนละครึ่ง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยการออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยผ่านมาตรการภาษีอื่น ๆ

3.มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้วยการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน และตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแต่ละประเภทให้ชัดเจน และให้สถาบันการเงินผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้าเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน รวมถึงการจัดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้รวดเร็ว โดยทำเป็น Supply Chain Financing

4.การกระจายอำนาจโดยออกมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม สำหรับการลงทุนในเมืองรองส่งเสริมการใช้ local content และสานต่อโครงการยกระดับเมืองสู่เมืองหลัก โดยมีเป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศ

5.ปรับปรุงระเบียบที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการแข่งขัน

'ผลโพลฯ' ชี้!! กลุ่มผู้ถูกสำรวจ 'เห็นด้วย' แนวทางฟื้นฟูศก.ของ 'ทักษิณ' พบ!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต-รถไฟฟ้า 20 บาท' น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ

(27 ส.ค. 67) ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นอร์ทกรุงเทพโพล’ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2567 มีผู้สำรวจ 1,320 ราย จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยสอบถามเรื่อง ข้อเสนอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่า คนไทยเห็นด้วยกับแผนและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 66.5% และ ไม่เห็นด้วย 19.4% ขณะที่ไม่แสดงความคิดเห็นมี 14.1% 

ทั้งนี้แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของนายทักษิณ ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ Vision for Thailand 2024 ประกอบไปด้วย 14 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนะ โดยหากเรียงตามความชื่นชอบและให้ความสนใจมากสุด ของประชาชนชาวไทยที่ได้ทำการสำรวจทั้งหมดพบว่า 

1. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 15.3% 
2. จัดระเบียบโครงสร้างภาษี 11% 
3. ปราบยาเสพติดผ่านการลดจำนวนผู้เสพ 10.2%  
4. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 8.7%  

5. ผลักดันแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น 8.1%  
6. ยกเศรษฐกิจนอกระบบขึ้นมาบนดิน 7.6% 
7. การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน 6.9% 
8. ขยาย ‘กองทุนวายุภักษ์’ 6.1%  

9. แก้ปมเขตทับซ้อน 5.4% 
10. สร้างศูนย์กลางผลิตรถไฟฟ้า 5.4% 
11. ถมทะเลบางขุนเทียน สร้างแผ่นดินใหม่ 4.8% 
12. ผลักดันไทยเป็นหลุมหลบภัยนักลงทุน 4.5%  

13. ทำลีก ‘มวยไทย’ ดันซอฟต์พาวเวอร์จริงจัง 3.7%
14. ปลดล็อกต่างชาติซื้อที่ดิน 2.3%

'สถานทูตจีน' เผย!! บทสรุปการลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลัง ลงทุน 7 พันล้านเหรียญ-รายได้ท่องเที่ยวเข้าไทย 3.5 แสนล้านบาท

(4 ก.ย. 67) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยถ้อยแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ข้อ ระบุว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยทางสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้...

1.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน

จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร?

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่น ๆ

ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท

จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น

3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร?

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถมองอย่างง่าย ๆ ว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?

บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ หรือ ‘เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย’ ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่งที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

เรามั่นใจว่าการลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์  มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด

วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน

วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น / รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น และ รางวัลนายจ้างดีเด่น

จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย ‘ให้คนอื่นถือหุ้นแทน’ สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด

5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่าง ๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค 

ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ส โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต

'กรณ์' แนะ!! แนวทางบรรเทาหนี้ครัวเรือนไทย หลังพุ่งแตะอันดับ 9 ของโลก ชี้!! ส่วนใหญ่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่า

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด' ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศเข้าร่วม

โดยนายกรณ์ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลว่ายังถือเป็นเรื่องที่น่าจะแบกรับได้ เมื่อเทียบกับภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล ที่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาลคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554-2556 พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในระยะเพียง 5 ปี ถือว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก

ขณะที่ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจคือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

“แต่เหตุใดคนสวิสจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน นั่นก็เพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิสคือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของประเทศไทยยังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป”

นายกรณ์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยฝากความเห็นไปยังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เกี่ยวกับเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่าปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงินคือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือจึงเหมาะจะเป็นเจ้าภาพ ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราจะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้

“หาก GDP โตสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือทำให้ GDP โต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้โดยตรง”

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีก่อนคือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับอเมริกา ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไปจึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานที่เป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก

แต่ในวันนี้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเหลือแค่เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น EEC จึงมีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา

'ซีเค' แนะรัฐ ต้องกำชับให้ธุรกิจต่างชาติตั้งโรงงานในไทย เอื้อ!! จ้างคนไทย ใช้วัตถุดิบไทย ให้เงินไหลอยู่ในประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ จากช่องติ๊กต็อก ‘Ckfastwork’ ของ ‘ซีเค เจิง’ นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งไทย-จีน (มาเก๊า) ผู้เติบโตที่ประเทศอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ ‘Fastwork Technologies’ ได้โพสต์คลิปขณะเข้าพูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในเรื่องสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ซ้ำยังขายในราคาถูก

โดยภายในคลิปที่ปรากฏ เป็นช่วงที่ซีเค เจิ้ง กำลังกล่าวว่า “เงินทุกบาท ทุกสตางค์ มันไหลออกนอกประเทศหมดเลยนะครับ เพราะว่าสิ่งที่เขาขาย คือสินค้าจีน 100% ก็แปลว่าเงินออกนอกประเทศหมดเลย ถ้าเขาอยากจะขายราคานี้ ต้องบังคับให้เขาต้องเปิดโรงงานที่ไทย อย่างน้อยหากเขาเปิดโรงงานที่ไทย สร้างโรงงานที่ไทย จ้างงานคนไทย มันก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่ง และอย่างน้อยเงินก็ยังอยู่ในนี้ (ประเทศไทย) ครับ”

ต่อมา นายภูมิธรรมได้เอ่ยถามกลับมาว่า “แล้วต้องใช้ของ ๆ เราไหม? เช่น วัตถุดิบต่าง ๆ ภายในประเทศ”

ซีเค กล่าวตอบว่า “ก็ควรครับ ดีครับ แต่ผมแค่อยากให้โรงงานอยู่ในประเทศไทย เพราะว่าอย่างน้อยเงินเข้าที่ประเทศไทย เข้าธนาคารไทย เข้าที่คนไทย พนักงานได้เงินแล้วใช้จ่ายกับคนไทย ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศไทยครับ”

เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด!! 'เศรษฐกิจไทย' กำลังปรับตัวดี แต่เจอน้ำท่วมสกัด โจทย์สุดหินต้อนรับ 'นายกฯ หญิง' ที่ต้องพา ศก.-คนไทย รอดไปพร้อมๆ กัน

(8 ก.ย. 67) "ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง...

"ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน...

"ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น...

"สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน..."

นี่คือแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนกรกฎาคม 2567 จากธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนมีข่าวดีเล็ก ๆ จากการจ้างงานที่มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีแรงงานที่แจ้งขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน

แต่เหมือน ‘เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด’ ปลายเดือนสิงหาคม กับข่าวน้ำท่วมใหญ่ ไล่จากภาคเหนือ ตั้งแต่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลงมาเรื่อย สถานการณ์ปัจจุบันฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จังหวัดอ่างทอง อยุธยา แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มสูงขึ้น เขตปริมณฑล นนทบุรี แถบ บางบาล-ตลาดขวัญ ต้องเฝ้าระวัง 

ข้ามไปทาง พัทยา ก็เจอพายุฝนถล่มหนัก น้ำท่วมในบางพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่น้อยหน้า แถบร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ เจอพายุฝนกระหน่ำ ลำน้ำชี น้ำขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง

เหมือนพายุฝนเตรียมต้อนรับ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ของนายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 พร้อมงานใหญ่ ที่ต้องช่วยผู้ประสบอุทกภัย โดยอย่างยิ่งในพื้นที่ฐานเสียงหลัก ถึงแม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า น้ำคงไม่ท่วมหนักเหมือนช่วงปี 2554 แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ ที่สภาพเศรษฐกิจไทย 'ยังคงย่ำแย่' เจอน้ำท่วมในหลายจังหวัด การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ คงเป็นงานหินพอสมควร

มาตรการสินเชื่อโครงการ Financing the Transition มุ่งหน้าสู่การปรับตัวอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Soft Loan) ที่ออกมาช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหมือนจะยังไม่ตอบโจทย์ ตรงประเด็นเท่าใดนัก เพราะจำกัดประเภทของธุรกิจที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อนี้ ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจเอกชน ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อความยั่งยืน แต่ตอนนี้ SME หลาย ๆ ราย คงขอเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

ตอนนี้ คงต้องเอาใจช่วยไปก่อน เพราะเศรษฐกิจไทย กำลังโดนโจมตีหลายด้าน ภาวะการอุปโภคบริโภคของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน พร้อมผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วม เอาใจช่วยคนไทย เป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัย ทั้งน้ำท่วม และเศรษฐกิจ...

'อรวดี' ชี้!! ชีพจรเศรษฐกิจไทย-โลก พร้อมทิศทางการลงทุนที่น่าจับตา

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 14 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับคุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory ถึงทิศทางการลงทุนในจังหวะที่การเมืองเริ่มนิ่ง ว่า...

ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีทิศทางมากขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่เตรียมเดินหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็ได้มีนโยบายระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะเริ่มเปิดขาย 16-20 ก.ย.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างการออม และการลงทุนให้กับประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น 

แต่ในด้านของตลาดทองคำ ยังมีความผันผวน ถ้าพิจารณาให้ดีในช่วงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่นักลงทุนนิยมขายสินทรัพย์มั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินดิจิทัล ออกไปมาก เนื่องจากนักลงทุนอยากปรับพอร์ตและลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะสั้น ๆ 

ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ยังเติบโตในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านและคอนโดมิเนียม พูลวิลล่า ระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเติบโตมาก โดยได้รับความสนใจจากเศรษฐีรัสเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก 

เมื่อถามถึงเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต? คุณอรวดี มองว่า ควรพิจารณาจากเมกะเทรนด์ให้มากขึ้น เช่น คนจีนยุคใหม่นิยม 'แข่งกันประหยัด' และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมาหันมาสนใจ หรือแม้แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้แนวคิด Zero Waste ตรงนี้ต้องจับตาให้ดี เพราะถ้าเราทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ก็มีโอกาสเติบโตสูง 

เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก? คุณอรวดี กล่าวว่า เริ่มที่สหรัฐฯ ต้องจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ระหว่าง นางกมลา แฮร์ริส กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายหาเสียงแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่า ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านกำแพงภาษีแบบสุดโต่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันหาก นางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี อาจส่งผลดีกว่า เพราะไม่ได้ชูนโยบายด้านกำแพงภาษีสุดโต่งแบบนายโดนัลด์ ทรัมป์ 

ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านพลังงานซึ่งตอนนี้ยุโรปใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ประกาศลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเต็มที่ 

ส่วนจีน การบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการบริโภคน้ำมันเนื่องจากการขนส่งลดลง รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง 

ส่วนอาเซียน มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจเทรนด์ใหม่ เน้นธุรกิจ AI เพิ่มมากขึ้น 

ในด้านการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed (The Federal Reserve) คุณอรวดี เผยว่า จะมีการประชุมอีกครั้งประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และที่สำคัญใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา ตลาดเงิน ตลาดทุน ส่วนใหญ่จะได้รับข่าวดีในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top