Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจไทย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ซัด!! หน่วยงานไร้จิตสำนึก  ยึดความอิสระ พาเศรษฐกิจไทยถดถอย

(21 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ เผยคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับจิตสำนึกของหน่วยงาน ภายหลังการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ร่วมกับ 3 เหล่าทัพ และสถาบันการเงิน ที่เชื่อว่าจะช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งสติและพิจารณาทบทวนการทำงานของตนเองได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไว้ว่า...

คำว่าจิตสำนึกอาจมีหลายความหมาย แต่หากเดาใจท่านนายกฯ น่าจะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Accountability ความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบในทางการงาน (Responsibility) เท่านั้น แต่รวมถึงความรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำคัญกว่ามากด้วย

Accountability มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มักจะหาได้ยากยิ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานเหล่านี้มักทำหน้าที่ในด้านนโยบายสาธารณะ ไม่มีเจ้าของที่ต้องรายงาน และมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นที่ยอมรับในสากลว่าธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ที่ตกลงกับรัฐบาล ก่อนปี 2566 ทว่าแบงก์ชาติไม่ทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดี แต่กลับทำตัวเป็นตู้ ATM ให้รัฐบาลสมัยนั้นมาตลอด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดศูนย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยจนเงินเฟ้อในไทยพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ตกลงไว้กับรัฐบาลกว่า 2 เท่า

กว่าจะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นตู้ ATM ก็จนหลังการเลือกตั้ง ซึ่งสายไปเสียแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและเงินเฟ้อเริ่มต่ำกว่ากรอบและเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จนขณะนี้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยกำลังจะหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างเป็นทางการ

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจะมีได้ขึ้นอยู่กับความประพฤติของธนาคารกลางเอง ที่สำคัญที่สุดคือการมีบทบาทที่ชัดเจน (Clear Mandate) ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของราคาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำเก่งทุกอย่าง (ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน) เหมือนกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การอุ้มตลาดหุ้นกู้ การแก้ไขปัญหาโควิด เป็นต้น ตราบใดที่ยังไม่มี Clear Mandate คงจะเป็นการยากที่จะหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีจิตสำนึก

‘แบงก์ชาติ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. ยังโตต่ำ แม้ นทท.เพิ่มขึ้น เหตุส่งออกหด ลงทุนดีขึ้นบางหมวด แถมรัฐเบิกจ่ายงบ 67 อืด

(29 มี.ค.67) น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.67 โดยรวมขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจในภาคบริการขยายตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจีน ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีและเทศกาลตรุษจีน ส่วนมาเลเซียมาจากการท่องเที่ยวก่อนการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนที่เร็วกว่าปกติในปีนี้ รวมถึงญี่ปุ่นที่เข้ามา หลังชะลอไปในช่วงก่อนหน้า

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวมและฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และปิโตรเลียมจากการส่งออกไปอาเซียน มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุน

น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ

น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานสูงในปีก่อน ตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3

'อุ๊งอิ๊ง' จวกกฎหมาย ให้อิสระ 'แบงก์ชาติ' เป็นอุปสรรคแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลั่น!! นโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี

เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 67) พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย สำนักงานใหญ่ มีการแสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเข้าสู่เดือนที่ 9 พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต โดยภายในงานมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, คณะรัฐมนตรีสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย, กรรมการบริหารพรรค, ผู้บริหารพรรค, สส., ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรของพรรค เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขอยืนยันว่า เราตัดสินใจถูกต้องมากที่จัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ปัญหาปัจจุบันที่หมักหมมไว้จากการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งระบบราชการที่โตเกินไป ความอืดอาดในการทำงาน ด้วยโครงสร้างที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และภัยคุกคามทางความมั่นคงที่พัฒนาไปเร็วมาก รวมถึงภัยต่อเยาวชนชาติจากยาเสพติด ทำให้ประชาชนของชาติอ่อนแอ ประชาชนขาดโอกาสในการทำมาหากิน เศรษฐกิจใต้ดินสูงเป็นประวัติการณ์

‘เพื่อไทย’ เป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำรัฐบาลผสม คงยากที่ปัญหาหมักหมมจะแก้ไขได้ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล 

ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้ 10 เดือนที่ผ่านมา เราใช้ความพยายามในการวิเคราะห์ เข้าใจ เพื่อแก้ปัญหาที่ยาก และซับซ้อน และก้าวเดินต่อในทุกมิติ เพราะเราเสียเวลาและโอกาสไปถึงเกือบ 2 ทศวรรษจากการรัฐประหาร เรามั่นใจว่าเราทำได้ และจะทำให้ได้คะแนนเต็ม 10 ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ในมิติทางเศรษฐกิจเริ่มต้นด้วยการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินถูกดูดออกจากระบบไปมาก จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท จะทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เพิ่มผลผลิตจากความพอกินของพนักงาน พรรคเพื่อไทยจะผลักดันเศรษฐกิจในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เติมเงินและเพิ่มค่าแรง แต่รวมไปถึงเม็ดเงินใหม่จากต่างประเทศจะเข้ามาจากการลงทุนและการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน โดยการนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

'รัดเกล้า' เผย!! รัฐบาลมุ่งยกระดับอาชีวไทย-พัฒนาทั้งครูและเด็ก เชื่อ!! เป็นทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ที่ตลาดแรงงานโลกต้องการ

(4 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง อาชีวศึกษา: คุณภาพ มาตรฐาน และแรงจูงใจ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน และด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ พัฒนาสมรรถนะที่ขาดหายไป ด้วยการ Up-Skill, Re-Skill หรือ New-Skill เพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการสอน พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริงในสถานประกอบการที่ตรงกับสาขาอาชีพของผู้เรียน

ส่วนข้อเสนอแนะด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การสร้างค่านิยมต่อการเรียนอาชีวศึกษาว่าการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ การพัฒนากระบวนการแนะแนว นำเสนอความสำเร็จของผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพให้แพร่หลายผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนร่วมกับการทำงานและมีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงและทักษะในการประกอบอาชีพระหว่างที่เรียนด้วย

“การยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้นักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มทักษะความรู้ ก็จะทำให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

‘สภาพัฒน์’ เผย!! เศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรก โต 1.5%  แรงบวกจากภาคท่องเที่ยว-การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว

(20 พ.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มทั้งปี 67 พบว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโตเพียง 0.7-0.8% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

ดังนั้น แนวโน้มทั้งปี 67 สภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% ค่ากลางการประมาณการ 2.5%

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ฟัน!! ศก.ไทย ปี 67 พ้นจุดต่ำสุดแล้ว คาด!! ‘งบรัฐฯ-ท่องเที่ยว-ส่งออก’ ดัน ศก. ครึ่งปีหลังขยายตัว

(21 พ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘BTimes’ ได้โพสต์ข้อความ “ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว เศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%” พร้อมระบุเนื้อหาเพิ่มเติมว่า…

ไม่มีแย่! กสิกรไทยฟันธงเศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว เปิด 3 ปัจจัยดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง แต่ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.1% เมื่อเทียบช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยแม้ว่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ถือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวลงอย่างมากเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าถึงเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่อง

ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าจากผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อนหน้าเนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งผลให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้า 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มทยอยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากทางภาครัฐที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ที่ 36 ล้านคน ขณะที่แม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่เนื่องจากผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมิน โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.6% จากปัจจัยดังต่อไปนี้ การลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด จากตัวเลขในไตรมาส 1/2567 ที่หดตัวลึกกว่าคาด แม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่เร่งตัวมากพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาส 1/2567 ได้

การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งการส่งออกไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.0% เป็น 1.5% ด้านภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน

ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 1/2567 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรบางส่วนในไตรมาส 2/2567 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้

ติดตามผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจมีผลต่อไปยังการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐไปบางส่วนแล้ว

‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น’ ย้ำความร่วมมืออุตฯ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ยืนยัน!! พร้อมหนุนรถยนต์สันดาปภายใน ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV

(12 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. OTAKA Masato) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภาพรวมและโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในอนาคต

รวมถึงนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และนโยบายด้านการจัดการซากรถยนต์ในอนาคต (Future End of Life Vehicle Policy) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567

โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และนางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคาร สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มาลงทุนและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เข้าพบเพื่อรายงานสรุปผลแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย

“สำหรับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเทศไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ก็มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมสนับสนุนยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำลังรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนการตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับการจัดการกากของเสียต่าง ๆ ในอนาคตด้วย”

ด้านนายโอตากะกล่าวว่า วันนี้ยินดีที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหารือถึงการขยายการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย รู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลไทยจะยังคงให้การสนับสนุนยานยนต์ ICE และไฮบริด และทางญี่ปุ่นเองก็พร้อมสนับสนุน และที่สำคัญยังมีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาเรื่องนิคมอุตสาหกรรม Circular การจัดการพลังงาน รวมถึงเรื่องกากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

'เศรษฐา' ร่ายยาว!! ของบ 3.75 ลลบ.เติมเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ พร้อมคำมั่น!! ปลายปี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ถึงมือประชาชน

(19 มิ.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณฯ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้านได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์
และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน พลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครึ่งปีแรกของปี2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว
เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อ
ไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ 

ส่วนเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ส่วนในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร
เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังนั้น หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก                         

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้กำหนดไว้ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง เช่นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจะเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top