Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจไทย

'สรยุทธ' เปิดเผยผลสำรวจบนเฟซบุ๊ก 'เศรษฐกิจไทยวันนี้ วิกฤตหรือไม่?' พบ 93% ของคำตอบจาก 2.4 แสนราย บอก "เศรษฐกิจไทยวิกฤต'

(19 ม.ค. 67) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เปิดเผยในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ว่า ตนได้สอบถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เกี่ยวกับกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาให้ความเห็นเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต

นายสรยุทธ กล่าวต่อว่า โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อำนาจ ป.ป.ช. มาวินิจฉัยว่าวิกฤตหรือคุ้มค่า กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะป้องกันปัญหาการทุจริต ไม่ใช่มาสรุปอย่างนั้น และดูจะเป็นการก้าวล้ำ ล่วงเกินอำนาจของฝ่ายอื่น อำนาจที่จะตัดสินใจว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤตอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายจุลพันธ์ ยืนยันว่าเดินหน้า เพราะสุดท้ายปลายทางอย่างไรก็มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ประการใด

นายสรยุทธ กล่าวด้วยว่า เมื่อวาน (18 ม.ค.) สืบเนื่องจากประเด็นเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่วิกฤต ตนจึงตั้งโพลสอบถามเฉพาะลูกเพจบนเฟซบุ๊กของตนว่า คุณคิดว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ ‘วิกฤต’ หรือ ‘ไม่วิกฤต’ ปรากฏว่าตัวเลขช่วงเวลา 07.00 น. วันนี้ (19 ม.ค.) มีคนมาตอบคำถามกว่า 245,000 คน พบว่า 93% เห็นว่าวิกฤต 7% เห็นว่าไม่วิกฤต

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้

‘ท๊อป จิรายุส’ แชร์ 3 มุมมอง ‘ทรัพย์สินดิจิทัล’ หากทลายกำแพงนี้ได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

งาน World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เป็นการประชุมสำคัญที่รวมตัวผู้นำของแต่ละประเทศ นักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานและนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 2,800 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปี

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ได้เข้าร่วม World Economic Forum 2024 แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปีด้วยเช่นกัน 

โดย ‘ท๊อป จิรายุส’ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมนี้เป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมาหลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

‘ท๊อป จิรายุส’ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Clear-Eyed about Crypto’ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งต่อการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจและปกป้องผู้บริโภค รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลก

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ 3 ประเด็นสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลบนเวทีโลก ดังนี้

1) การสร้างมาตรฐานของกฎระเบียบและข้อบังคับในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างเต็มที่และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้ถูกกฎหมายและมีสถาบันการเงินอีก 2 แห่งเข้ามาให้บริการในตลาดด้วย จึงมั่นใจว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกมาก

2) การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF จะยิ่งเร่งให้มีความต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งการออกกฎระเบียบจำเป็นต้องคำนึงไม่ให้กระทบในการลดหรือจำกัดการแข่งขันนี้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องเข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจ หรือทดลองใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนออกแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้กฎระเบียบมีความสอดคล้องกับสภาพธุรกิจจริง

3) การออกกฎระเบียบด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถใช้เป็น one-size-fits-all ได้ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม

'นายกฯ' เผยเหตุเร่งดันโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพาไทยโตก้าวกระโดด กร้าว!! ถ้าไม่เริ่มวันนี้ อีก 10-20 ปีข้างหน้า ไทยจะเสียโอกาส

(24 ม.ค.67) ในงานสัมมนา 'Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส' นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ไทยไม่มีมากว่า 10 ปีแล้ว โดยนำเสนอโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเร่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ดังนี้...

>> Landbridge - โอกาสของประเทศไทย ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต
>> Aviation Hub - สนามบินทั้งหมดต้องอัปเกรด เพื่อให้รองรับ Cargo ได้ทั้ง Ambient & Cold-chain กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบ Dubai 
>> สร้างงานและอาชีพใหม่ ๆ การบำรุงรักษา การบริหาร Supply Chain ทั้งหมด
>> ระบบราง - ต้องเชื่อมต่อเหนือจรดใต้ ไปยังจีนด้วย เสริมความแข็งแกร่งให้ Landbridge 

นายกฯ กล่าวอีกว่า "หากเราไม่ลงทุนวันนี้ เราจะเกิด 'รู้งี้ Moment' ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าเหมือนที่เรายังเสียดายโอกาสมาหลายโครงการในอดีต การรอคอยทุกอย่างให้นิ่งก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ มีราคาที่จะต้องจ่ายครับ"

"ถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้ ไทยก็จะเสียโอกาสไปครับ" นายกฯ ทิ้งท้าย

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ศก.ไทยมีการฟื้นตัว แต่ล่าช้ากว่าที่คาด ยัน!! ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

(24 ม.ค.67) ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ‘เศรษฐกิจประเทศไทย’ วิกฤตแล้วหรือไม่ โดยล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพียงแต่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแต่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘วิกฤต’

ถามต่อว่า ถ้าต้องการเพิ่มอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพระยะยาว ทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ต้องดำเนินการเรื่องของโครงสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่ใช่การใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น ส่วนประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค., ก.พ. หรืออาจถึงเดือน มี.ค. แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญภาวะเงินฝืด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และในระยะยาวเงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก 

ประเด็น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า อยู่ในภาวะที่เป็นกลาง และมีเพียง 2 ประเทศในโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนการพบกันของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นไปด้วยดี โดยเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่รักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย

‘เศรษฐกิจไทย’ อาจเสี่ยงวิกฤตต้มยำกุ้งในปลายปีนี้ หากยังบริหารประเทศตามแนวทางเดิม โดยไร้ยาแรง

ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่มีการพูดกันมากจากวงนักวิชาการอิสระ และนักการเมืองที่มีการดูแลด้านเศรษฐกิจ ว่าโอกาสที่จะเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจเดียวกับปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้งมีสูงมาก

เรื่องนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.66 ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีคลัง และกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีการโพสต์ข้อความใน X ว่า…

เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด

1. จีดีพี 66 จะโตต่ำกว่า 2%
2. สภาพคล่องทางการเงินติดลบกว่า 1 ล้านล้านบาทตั้งแต่สิงหาคม 66
3. 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็น NPL

พลันที่ หมอเลี้ยบ ออกมากล่าวเช่นนี้ ก็มีนักวิชาการหลายสำนักออกมาตีโต้อย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในนั้น คือ น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ที่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าว สามารถอ้างอิงจากที่ใด

ทั้งนี้เชื่อว่า ข้อมูลที่ หมอเลี้ยบ เอ่ยนั้น มีการอ้างอิงจาก ดร.ชาติชัย พาราสุข นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์อิสระของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2566 หรือปีก่อน ที่มีการตีพิมพ์ใน Bangkok Post และเป็นที่มาในการคาดการณ์จีดีพี และคำว่า ‘สภาพคล่องทางการเงินติดลบ’ ที่อยู่ใน X และเฟซบุ๊กของหมอเลี้ยบ

ในครั้งนั้น หมอเลี้ยบ หยิบยกโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ดร.ชาติชัย ที่มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจย่อมฟ้องในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าจะมีใครตั้งใจปกปิดหรือดัดแปลงตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งคนๆ นั้นก็ควรต้องรับผิดชอบหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการปกปิดตัวเลข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540

โดยข้อ 1.ตัวแปรปัจจัยที่ทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% เมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะเติบโต 3.4% และGDP ปี 2566 จะเติบโต 3.8% แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริง GDP ปี 2565 เติบโตเพียง 2.6% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.8%) และตอนหลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็มาปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2566 ไว้เหลือเติบโตเพียง 2.7% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึง 1.1%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 2.8% 

แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 ก็พบว่า เติบโตเพียง 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สองเติบโตเพียง 1.8% ขณะที่ไตรมาสที่สามก็เติบโตเพียง 1.5% ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ GDP รวมทั้งปี 2566 จะสามารถเติบโตเกิน 2%

2.ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money supply growth) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงทุกไตรมาส สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ลดลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

Milton Friedman กูรูทางเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับ GDP ไว้ว่า ถ้ามีการเติบโตของปริมาณเงินสูง การเติบโตของ GDP ก็จะสูงตาม แต่ถ้าการเติบโตของปริมาณเงินลดลง GDP ก็จะเติบโตน้อยลงด้วย

ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลข GDP ไทยในไตรมาสที่หนึ่งปี 2566 จะพบว่า ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.3% GDP เติบโต 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สอง ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 2.0% GDP เติบโต 1.8% แต่พอมาเริ่มไตรมาสที่สามในเดือนกรกฎาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.6% / ในเดือนสิงหาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.4% / ในเดือนกันยายน ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.8%

ดังนั้น ดร.ชาติชัย จึงคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่สามน่าจะเติบโตเพียงไม่เกิน 1.4-1.5% ยิ่งในไตรมาสที่สี่ พบว่า เพียงสามสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีปริมาณเงินไหลออกนอกประเทศอีก 77,300 ล้านบาท จึงน่าสงสัยว่า จะมีการเติบโตของ GDP อย่างก้าวกระโดดในไตรมาสที่สี่ จนทำให้จีดีพีรวมในปี 2566 เติบโตถึง 2.8% ได้อย่างไร

ข้อสุดท้าย ข้อที่ 3.ปัญหาหนี้ท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด โดยรายงานจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งมีขนาด 90.6% ของ GDP นั้น ในจำนวนนี้มีอยู่ถึง 7.4% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566และหนี้ครัวเรือนอีก 480,000 ล้านบาทกำลังจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในอีกสองสามเดือนข้างหน้า หรือหมายความว่า 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็นเอ็นพีแอล

ทว่า มีตัวเลขที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2565 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 139,000 ล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 88,000 ล้านบาทและมีเพียง 1,100 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นหนี้ซึ่งกู้จากธนาคาร

ฉะนั้นความหมายของตัวเลขข้างบนคือ เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนลดน้อยลงเพราะผู้ต้องการเงินเริ่มไม่สามารถขอกู้หนี้ยืมสินได้อีกแล้ว และมีผู้สามารถกู้จากธนาคารได้เพียง 1.2% ของเงินกู้เท่านั้น ที่เหลือต้องกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้นอกระบบก็เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้วเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว หมอเลี้ยบ ค่อนข้างกังวลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่สามารถเอาตัวรอด และดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้ โดยการบริหารประเทศด้วยแนวทางปกติแบบเดิมๆ หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ เพราะหากพิจารณาดูแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยแบบสะสม ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการอัดฉีด ‘เงินใหม่’ ก้อนโตเข้าหมุนเวียนในระบบ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาจสร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ 

และแน่นอนว่า เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นลากยาวมาจนถึงปี 2567 ที่หลายบทความของ ดร.ชาติชัย ยังคงถ่างแผลนี้ให้เห็นมากขึ้นไปอีก โดยล่าสุด ดร.ชาติชัย ได้ระบุว่า ข่าวร้ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้น วิกฤติการเงินในปี 2567 จะคืบคลานเข้ามา และมั่นใจถึง 90% ว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤตการเงินเหมือนปี 2540 แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 190.1 พันล้าน ดอลลาร์ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังการผลิตและรายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 เพราะเศรษฐกิจถูกกำหนดโดยความเพียงพอของสภาพคล่อง ตัวเลข GDP จริงจะค่อยปรากฏ จากปัญหาหมักหมกที่เริ่มหลุดออกมา เช่น  ภาคเอกชนมีหนี้มากเกินไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.44% ต่อปี ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของ GDP มาก รวมถึงการชำระหนี้จำนวนมากจะเริ่มครบกำหนดในปี 2567 ควบคู่เข้ามาด้วย

ดังนั้นเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะเลือก ‘ลงจอดแบบนุ่มนวล’ หรือ ‘ลงจอดแบบแข็ง’ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ ดร.ชาติชัย ทิ้งไว้ให้ตามในคราวต่อไป

‘ttb’ ห่วง!! ‘หนี้ครัวเรือน’ สิ้นปีนี้จะทะลัก 16.9 ล้านบาท ผลพวงจาก ศก.ขยายตัวช้า ทำให้รายได้ ปชช.ฟื้นตัวจำกัด

(26 ม.ค.67) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ อีกทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ

หากกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่าประเด็นหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังมักถูกพูดถึงมาโดยตลอด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ให้กู้หลักอย่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

นอกจากนี้ คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็มีแนวโน้มด้อยลงจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 2.79% หรือเกือบ 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 3.6% ขณะที่สัดส่วนหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือ Stage 2 อยู่ที่ 6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.7 แสนล้านบาทมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่นับรวมหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อีกกว่า 35% ของทั้งระบบ

ซึ่ง ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ต่อจีดีพี หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยจะขยายตัวชะลอลงในระยะหลัง แต่เป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับ 3-4 สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงทุกปี ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนไทยในระยะต่อไปยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

>> ปัจจัยแรก : เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีทิศทางดีขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่ด้วยรายได้จากการส่งออกกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการกระจุกตัวในมิติของจำนวนแรงงานที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ทำให้ฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อแรงงานที่มีมากถึง 71% ของแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป

>> ปัจจัยที่สอง : ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะที่นโยบายทางการเงินผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ภาระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปก่อนหน้าจากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงที่เกิดวิกฤตจะถูกนำมาคิดทบต้น และมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มปรับลดลงช้ากว่าปกติ

>> ปัจจัยที่สาม : พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี แม้การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนจะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่หนี้ที่สูงเกินระดับ 80% ต่อจีดีพี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคแล้ว แต่จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลัง การขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย สะท้อนการสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งหนี้ประเภทดังกล่าวจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยกู้ที่สูงกว่ามาก และเสี่ยงก่อให้เกิดเป็นกับดักหนี้ไม่สิ้นสุด ทำให้การลดลงของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

โดยสรุปตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็อาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ และคาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป ฉะนั้นแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อกระตุ้นการปรับวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้ในระยะยาว

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ ตั้งเป้า!! ดึงต่างชาติลงทุนในไทย หนุนโอกาสทางธุรกิจ เล็งนำร่อง ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ฟื้น ศก.-เพิ่มขีดการแข่งขัน

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมาย เร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และตรึงให้ผู้ประกอบการในประเทศให้ดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังรวบรวมและประมวลผล ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมีจำนวนกี่ราย ใครบ้าง เพื่อส่งสัญญาณให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่าอาจปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไป หลายคนอาจจะตกใจ คือ ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง, เรือรบ, ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคันภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ

ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้

'ดร.วชิรศักดิ์' มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นมหาอำนาจในเร็ววัน ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

(29 ม.ค. 67) เพจ 'Bangkok I Love You' โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มหาอำนาจตัวจริง' ระบุว่า...

"คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ"

ประเทศไทยเป็น Corridor

Corridor คืออะไร?

ผมว่าหลายคนยังไม่ทราบ คนในวงการก่อสร้าง Infrastructure หรือ Mega project การลงทุนระหว่างประเทศจะใช้คำนี้เสมอ เราก็ไม่เข้าใจเพราะเรามองไม่ไกลขนาดนั้น ตอน Ford มาตั้งโรงงานในบ้านเรา ผมได้มีโอกาสเจอ First team ก็เลยถามตรง ๆ ว่า มาทำไมเพราะคู่แข่งแต่ละรายแกร่งยิ่งนัก เขาตอบว่า Corridor ช่วง 10 ปีแรก ขายในประเทศ อีก 20 ปี ไปขายเพื่อนบ้าน ตอนนี้เขมรขับ Ford กันแล้ว อีก 30 ปี ไปขายพม่าได้ Vision 20 ปี มันเป็นแบบนี้นี่เอง

มือถือสองค่ายแย่งกันขาย รายที่สามมาทำไม เขาตอบว่า อัตราส่วนเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วโลกถือว่า ตึงเต็มที่ Reserve ratio มันต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว อนาคตยอดเพิ่มแน่นอน มีตัวเลขต่างประเทศมายืนยัน มันเป็นแบบนี้นี่เองการค้าระดับโลกมันมีฐานข้อมูลอ้างอิง เรามองแค่ในบ้านเราถึงไม่เข้าใจว่าเขามาลงทุนทำไม ตัวเลขสำคัญคือจำนวนประชากรต่อ ???

เห็นสิงคโปร์ CNA ทำรายงานเรื่อง การลงทุนของญี่ปุ่นใน AEC มีภาพหนึ่ง Corridor ชัดเจนมาก ทำเลทอง EEC มันเป็นทางผ่านชัด ๆ นี่ไม่รวมรถไฟจากจีน คุณหมิง ผ่านลาว ลงมาอ่าวไทย แบบนี้เรียกว่า Center point วัยรุ่นคงเข้าใจ คนตจว. อาจจะเรียกว่าโคราช อนาคตประเทศเราจะเป็นทางผ่านแบบโคราช แปลว่า แน่นทั้งปี

ไม่แปลก...อะไรที่ถนนบ้านเราโดยเฉพาะในต่างจังหวัดพัฒนาขึ้นดีมาก คนต่างจังหวัดคงเข้าใจไม่ต้องอธิบาย Logistic ต่างชาติแห่กันมาหา Hub คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก ถนนสายจากน่านไปออกหลวงพระบางเคยเห็นหรือยัง อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ

บทความจาก ดร.วชิรศักดิ์ จึงสถาพร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top