‘เศรษฐกิจไทย’ อาจเสี่ยงวิกฤตต้มยำกุ้งในปลายปีนี้ หากยังบริหารประเทศตามแนวทางเดิม โดยไร้ยาแรง
ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่มีการพูดกันมากจากวงนักวิชาการอิสระ และนักการเมืองที่มีการดูแลด้านเศรษฐกิจ ว่าโอกาสที่จะเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจเดียวกับปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้งมีสูงมาก
เรื่องนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.66 ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีคลัง และกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีการโพสต์ข้อความใน X ว่า…
เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด
1. จีดีพี 66 จะโตต่ำกว่า 2%
2. สภาพคล่องทางการเงินติดลบกว่า 1 ล้านล้านบาทตั้งแต่สิงหาคม 66
3. 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็น NPL
พลันที่ หมอเลี้ยบ ออกมากล่าวเช่นนี้ ก็มีนักวิชาการหลายสำนักออกมาตีโต้อย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในนั้น คือ น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ที่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าว สามารถอ้างอิงจากที่ใด
ทั้งนี้เชื่อว่า ข้อมูลที่ หมอเลี้ยบ เอ่ยนั้น มีการอ้างอิงจาก ดร.ชาติชัย พาราสุข นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์อิสระของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2566 หรือปีก่อน ที่มีการตีพิมพ์ใน Bangkok Post และเป็นที่มาในการคาดการณ์จีดีพี และคำว่า ‘สภาพคล่องทางการเงินติดลบ’ ที่อยู่ใน X และเฟซบุ๊กของหมอเลี้ยบ
ในครั้งนั้น หมอเลี้ยบ หยิบยกโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ดร.ชาติชัย ที่มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจย่อมฟ้องในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าจะมีใครตั้งใจปกปิดหรือดัดแปลงตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งคนๆ นั้นก็ควรต้องรับผิดชอบหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการปกปิดตัวเลข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540
โดยข้อ 1.ตัวแปรปัจจัยที่ทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% เมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะเติบโต 3.4% และGDP ปี 2566 จะเติบโต 3.8% แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริง GDP ปี 2565 เติบโตเพียง 2.6% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.8%) และตอนหลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็มาปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2566 ไว้เหลือเติบโตเพียง 2.7% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึง 1.1%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 2.8%
แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 ก็พบว่า เติบโตเพียง 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สองเติบโตเพียง 1.8% ขณะที่ไตรมาสที่สามก็เติบโตเพียง 1.5% ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ GDP รวมทั้งปี 2566 จะสามารถเติบโตเกิน 2%
2.ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money supply growth) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงทุกไตรมาส สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ลดลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง
Milton Friedman กูรูทางเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับ GDP ไว้ว่า ถ้ามีการเติบโตของปริมาณเงินสูง การเติบโตของ GDP ก็จะสูงตาม แต่ถ้าการเติบโตของปริมาณเงินลดลง GDP ก็จะเติบโตน้อยลงด้วย
ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลข GDP ไทยในไตรมาสที่หนึ่งปี 2566 จะพบว่า ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.3% GDP เติบโต 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สอง ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 2.0% GDP เติบโต 1.8% แต่พอมาเริ่มไตรมาสที่สามในเดือนกรกฎาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.6% / ในเดือนสิงหาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.4% / ในเดือนกันยายน ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.8%
ดังนั้น ดร.ชาติชัย จึงคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่สามน่าจะเติบโตเพียงไม่เกิน 1.4-1.5% ยิ่งในไตรมาสที่สี่ พบว่า เพียงสามสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีปริมาณเงินไหลออกนอกประเทศอีก 77,300 ล้านบาท จึงน่าสงสัยว่า จะมีการเติบโตของ GDP อย่างก้าวกระโดดในไตรมาสที่สี่ จนทำให้จีดีพีรวมในปี 2566 เติบโตถึง 2.8% ได้อย่างไร
ข้อสุดท้าย ข้อที่ 3.ปัญหาหนี้ท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด โดยรายงานจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งมีขนาด 90.6% ของ GDP นั้น ในจำนวนนี้มีอยู่ถึง 7.4% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566และหนี้ครัวเรือนอีก 480,000 ล้านบาทกำลังจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในอีกสองสามเดือนข้างหน้า หรือหมายความว่า 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็นเอ็นพีแอล
ทว่า มีตัวเลขที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2565 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 139,000 ล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 88,000 ล้านบาทและมีเพียง 1,100 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นหนี้ซึ่งกู้จากธนาคาร
ฉะนั้นความหมายของตัวเลขข้างบนคือ เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนลดน้อยลงเพราะผู้ต้องการเงินเริ่มไม่สามารถขอกู้หนี้ยืมสินได้อีกแล้ว และมีผู้สามารถกู้จากธนาคารได้เพียง 1.2% ของเงินกู้เท่านั้น ที่เหลือต้องกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้นอกระบบก็เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้วเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว หมอเลี้ยบ ค่อนข้างกังวลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่สามารถเอาตัวรอด และดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้ โดยการบริหารประเทศด้วยแนวทางปกติแบบเดิมๆ หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ เพราะหากพิจารณาดูแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยแบบสะสม ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการอัดฉีด ‘เงินใหม่’ ก้อนโตเข้าหมุนเวียนในระบบ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาจสร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ
และแน่นอนว่า เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นลากยาวมาจนถึงปี 2567 ที่หลายบทความของ ดร.ชาติชัย ยังคงถ่างแผลนี้ให้เห็นมากขึ้นไปอีก โดยล่าสุด ดร.ชาติชัย ได้ระบุว่า ข่าวร้ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้น วิกฤติการเงินในปี 2567 จะคืบคลานเข้ามา และมั่นใจถึง 90% ว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤตการเงินเหมือนปี 2540 แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 190.1 พันล้าน ดอลลาร์ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังการผลิตและรายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 เพราะเศรษฐกิจถูกกำหนดโดยความเพียงพอของสภาพคล่อง ตัวเลข GDP จริงจะค่อยปรากฏ จากปัญหาหมักหมกที่เริ่มหลุดออกมา เช่น ภาคเอกชนมีหนี้มากเกินไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.44% ต่อปี ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของ GDP มาก รวมถึงการชำระหนี้จำนวนมากจะเริ่มครบกำหนดในปี 2567 ควบคู่เข้ามาด้วย
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะเลือก ‘ลงจอดแบบนุ่มนวล’ หรือ ‘ลงจอดแบบแข็ง’ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ ดร.ชาติชัย ทิ้งไว้ให้ตามในคราวต่อไป