Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจไทย

‘นายกฯ’ ปลื้ม!! ‘AWS-Google-Microsoft’ ลงทุนในไทย หวังยกระดับภาคอุตฯ ไทย ให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

(15 พ.ย. 66) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งช้ากว่าประเทศกรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลหารือกับ ผู้บริหาร Walmart ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Walmart มีความต้องการที่จะเปิดตลาดในไทยมากขึ้น จึงได้มีการพูดคุยถึงซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่เป็นอาหารพื้นเมือง ให้เข้าไปขายใน Walmart รวมทั้งอาหารฮาลาล ที่มีขายอยู่ในหลายรัฐในสหรัฐฯ

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการพบปะกับ เวสเทิร์น ดิจิทัล บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการลงทุนเพิ่มในไทย และต้องการจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ มาที่ประเทศไทย 

นอกจากนั้นได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท AWS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแอมาซอน จัดทำคลาวเซอร์วิส ได้เซ็นสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว และจะเปิดดำเนินการเร็ว ๆ นี้เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เป็นบริษัทแรกที่ลงทุนแล้ว และจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย

ขณะที่การหารือกับ Google เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีการลงนามเอ็มโออยู่กันเรียบร้อยแล้วที่จะมาทำดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นกัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ของโลก 3 ราย ที่มาทำดาต้าเซ็นเตอร์ได้แก่ AWS Google และไมโครซอฟท์ ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทย จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้การเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความพอใจ หลายอย่างจากที่ได้พบปะภาคเอกชนรายใหญ่ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ เช่น คุณภาพโรงเรียน โรงพยาบาลระดับโลก นักลงทุนต่างพูดว่าเป็นความสบายใจที่จะได้มาใช้ชีวิตที่ไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ในเวทีโลก เป็นความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทยและจะทำงานต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้ทีมงานสรุปแผนการชักชวนนักลงทุนต่างชาติในรอบ 3 เดือน ว่านักลงทุนรายใดลงทุนแล้ว ใครอยู่ลำดับไหน ใครเพิ่งจีบกัน หรือใครได้ชวนไปดูหนังแล้ว แต่ไม่อยากพูดถึงผลงาน หรือการตัดเกรดการทำงานของตนเอง ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนหน้าที่ของตนคือตื่นเช้าไปทำงาน

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลั่น ‘การเมืองไทย’ มีเสถียรภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทย

(16 พ.ย. 66) (เวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และ ยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยจะเร่งเดินหน้าเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น’ ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

‘นายกฯ เศรษฐา’ ร่วมเวที APEC 2023 ดึง 15 บริษัทยักษ์ใหญ่ ‘ลงทุนในไทย’

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรคเพื่อไทย’ โพสต์ข้อความระบุว่า… นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2566 ได้เดินสายเชิญชวนและดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกากว่า 15 บริษัท เพื่อมาลงทุนยกระดับเศรษฐกิจไทยและส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

บริษัทต่าง ๆ แสดงความสนใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้เผยผลสำเร็จการเจรจาดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เกิดขึ้นแล้ว 3 บริษัทคือ Google, Microsoft และ AWS (Amazon Web Services) รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึง Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) ยักษ์ใหญ่ของโลกได้ยืนยันจะขยายการผลิตชิ้นส่วนในไทยแล้ว

15 บริษัทที่นายกรัฐมนตรีได้พบหารือ ได้แก่

1. Tesla ได้พานายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบริษัท ณ เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต พร้อมเชิญชวน Tesla ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยมากยิ่งขึ้น

2. HP - โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบริษัทขยายการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และตั้งสำนักงานภูมิภาค ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภคและมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

3. Analog Devices, Inc. (ADI) เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดพร้อมการอำนวยความสะดวกแก่บริษัท อีกทั้งสถาบันการศึกษาในไทยพร้อมที่จะทำงานกับบริษัทเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับการออกแบบวงจรที่ ADI ต้องการ

4. Google ได้พิจารณาจัดตั้ง Data Center ที่ไทยเป็นประเทศที่ 11 จากทั่วโลกแล้ว และได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

5. Microsoft ศึกษาแผนการลงทุน Data Center กับไทยและได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Microsoft และรัฐบาลเพื่อร่วมกันปรับปรุงการให้บริการสาธารณะของรัฐด้วยเทคโนโลยีและการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

6. Amazon Web Services กำลังจะลงทุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์ ผ่านการตั้ง Data Center ที่ไทยหรือ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (US$5 พันล้านบาท)

7. Walmart บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลก มองไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่มีศักยภาพ โดยคาดว่าจะเดินทางมาเพื่อหาวัตถุดิบใหม่ต่อไป นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนพิจารณาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย

8. Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งมีฐานการผลิตหลักที่ไทย จะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมที่ไทย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในไทยและพิจารณาที่จะย้าย Headquarter มาตั้งที่ไทย

9. Open AI เจ้าของ ChatGPT ได้พานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบริษัท พร้อมโน้มน้าวให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในไทย โดยมองว่าทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมคือจังหวัดเชียงใหม่หรือภูเก็ต

10. Apple ได้ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่พร้อมในการขยายการผลิตสินค้าและเปิดเผยว่ากำลังพยายามจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ในปี 2030 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าไทยมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเชิญชวนให้เดินหน้าขยายฐานการผลิตในไทย ทั้งสองฝ่ายยังได้พิจารณาศูนย์พัฒนาบุคลากรในไทยสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันร่วมกันที่จะเดินหน้าโดยเร็ว

11. TikTok พบนายกรัฐมนตรี พร้อมหารือเกี่ยวกับการโปรโมตบริการของไทยและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรองของทุกภูมิภาคของไทยที่มีสินค้าท้องถิ่น (OTOP) ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด นายกรัฐมนตรีเชิญชวน TikTok สร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทยและเสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจด้วย

12. Booking.com เจ้าของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ booking.com และ Agoda ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในไทย พร้อมร่วมมือกับไทยอย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองและนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็น World Festival Destination ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

13. Citi บริษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ชื่นชมนโยบาย EV และแบตเตอรี่ของรัฐบาลและพร้อมร่วมกับไทยจัด Roadshow โครงการ Landbridge เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการ อีกทั้งยังจะสนับสนุนการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond)

14. Meta ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลเนื้อหามิจฉาชีพ (scam) ต่าง ๆ พร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุน ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

15. Nvidia ต้อนรับและพานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ นายกรัฐมนตรีมองว่าเทคโนโลยี AI ของบริษัทนั้นทรงพลัง โดยหวังว่าจะสามารถร่วมมือกับบริษัทในการประยุกต์เทคโนโลยี AI ในการให้บริการภาครัฐสำหรับประชาชน

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! GDP ไทย Q3/66 โตต่ำ 1.5% แนะ!! ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะคนเก่งไม่กี่คนแบกประเทศไม่ได้

(21 พ.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า…

GDP Q3 ประเทศไทยที่เรารัก โต 1.5% ซึ่งต่ำมาก ๆ ครับ เรามาแกะตัวเลขกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้อะไรบ้าง

1.โครงสร้าง GDP ประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก หักการนำเข้า เป็นความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเราควรติดตาม Capital flow ในส่วน Leakage and injection ด้วย

เราอยากให้ประเทศมีเศรษฐกิจเติบโต และกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

2.ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี เราอยู่ในภาวะ Perfect strom ที่มีปัญหารุมมากมาย แต่ละประเทศก็แก้ไขต่างกัน แต่เรายังแก้ไขไม่ดีครับ ปัญหาที่โลกใบนี้เจอ คือ ของแพง จากราคาพลังงาน และอาหาร สาเหตุจากสงคราม รัสเซีย ยูเครน และ ฮามาสกับ อิสราเอล รวมถึงสงครามการค้าจีน สหรัฐ ยุโรป

นอกจากของแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนทำได้ไม่คล่องเหมือนภาวะปกติ
การลดปริมาณเงินของสหรัฐที่อัดฉีดเงินมายาวนานสิ้นสุดลง และกระทบตลาดหุ้น ตลาดทุน ของที่เคยแพงสินทรัพย์ ราคาหุ้น ก็ลดลงแรง

3.ประเทศไทยเรายังมีการบริโภคที่ดี โดยภาคบริการ การท่องเที่ยว ช่วยค้ำยัน อาหาร โรงแรม ให้เติบโตดี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่ก็เติบโตดีมาก

4.ภาคการผลิต เริ่มจากภาคเกษตร ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก มีบางหมวดที่ปรับขึ้นได้ แต่ผลิตภาพไม่ดี คือผลผลิตออกมาได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามุ่งอุดหนุนราคาเกษตรแต่ไม่ปรับผลิตภาพ (Productivity)

ภาคอุตสาหกรรม เน้นขายของในสต๊อกของใหม่ผลิตน้อยกลัวขายไม่ได้ และโดนสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตี ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลาย Cluster ใหญ่ ๆ ทำให้ขายในประเทศก็ยาก ส่งออกก็ยากแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมากแต่ก็ขายไม่ได้ ขนาดในประเทศยังขายได้ยาก จะไปสู้ต่างประเทศยิ่งยาก ต้นทุนสูง ไม่ได้ Economic of scale แถมสินค้าเรากำลังตกยุคไม่ได้เป็นที่ต้องการตลาดโลก

5.ภาคส่งออกเป็นปัญหามายาวนาน ยุคอดีต รมว. พาณิชย์ พยายามปั้นแล้วแต่ไม่ฟื้น กระทรวงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คนเก่งเศรษฐกิจมาทำงานให้ข้าราชการทำงานเป็นหลัก คนให้ทิศทางไม่ชัดก็ไปต่อยาก วันนี้ได้เสาหลักมาจากท่องเที่ยวมาช่วย แต่ยังห่างไกลมากต้องทำงานอีกเยอะ ทีมเศรษฐกิจต้องแข็งจริง ร่วมมือกับเอกชน ถ้าตลาดในประเทศโดนต่างชาติมาตีตลาด ในบ้านขายไม่ออกส่งออกก็ยาก เพราะต้นทุนเฉลี่ยไม่ได้ Scale เอาใจช่วยมากครับ

6.การลงทุน และใช้จ่ายภาครัฐ สะดุดแรงช่วงเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล Q3 จึงสะดุดแรงมากใครขายของภาครัฐนิ่งสงบ คาดว่า Q4 จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ต้องเร่ง งบประมาณรายจ่ายให้ไว ไม่งั้นจอด 

ปัญหาวันนี้เป็นที่โครงสร้างต้องใช้คนเก่งมาก ๆ มาช่วยกันทำงาน หากเป็น ครม. แบ่งโควตาไม่เน้นความสามารถปัญหานี้แก้ยากมาก เรียนด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ว่าพรรคไหน หรือแขวะใคร วันนี้ต้องทำงานไว มี รมต. เก่งไม่กี่คนไม่สามารถแบกทีม แมนยู ให้ไปแชมเปียนส์ลีกได้ ควรจัดทีมให้เหมาะครับ

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความเชิงวิชาการส่วนตัว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสังกัดข้าพเจ้า

เศรษฐกิจไทย 66 เติบโตไม่เป็นไปตามคาดการณ์  สะท้อนจากผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปในปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล กำกับเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งแนวโน้มจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ล้วนเป็นทิศทางเดียวกันว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ภาพจริงเริ่มสะท้อนว่าเศรษฐกิจชักไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อผ่านพ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเมื่อต้นปีมากพอสมควร

กลับกลายเป็นว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจคงเหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อปี กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เผชิญความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนมองกันในช่วงต้นปี 2566 คือ ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ Covid-19 และมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เครื่องมือที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ น่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย

อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกเอง ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาว จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแต่ 'ทรง' กับ 'ทรุด' และเมื่อเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้ ก็ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลข 'การส่งออก'

ไตรมาสที่ 1 ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้า -4.5, ไตรมาสที่ 2 หนักกว่าเดิม -5.6 และไตรมาสที่ 3 ตัวเลขที่ออกมา -2.0 ซึ่งข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ระบุว่า ประมาณการภาพรวมตัวเลขมูลค่าส่งออกสินค้า ในปีนี้ -2.0 (ร้อยละต่อปี) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการตัวเลขไว้ที่ -1.7 ซึ่งในไตรมาส ที่ 2 ธปท.เคยประมาณการเดิมไว้ ร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการตัวเลขติดลบมากกว่าเดิม

ในปี 2567 ทุกหน่วยงานได้คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 4.4 - 4.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ในปีนี้ ตัวเลขการเติบโตไม่เป็นไปตามคาด แถมตัวเลขปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ติดลบไปมากพอสมควร ซึ่งความเห็นของผู้เขียน มองว่า 3 ปัจจัยหลัก ที่จะเกื้อหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก, การลงทุนของภาคเอกชน และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 

แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ส่งเสริมการบริโภคอุปโภค และสานสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้า คงจะเห็นภาพที่ชัดเจน ถึงฝีมือในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล และอาจเห็นภาพการปรับเปลี่ยนบางอย่างสำหรับทีมเศรษฐกิจ ก็เป็นได้

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการ แต่เชื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

‘รศ.ดร.สมชาย’ วิเคราะห์!! อนาคตเศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ แนะ!! ‘ความชำนาญ-เชี่ยวชาญ’ ยังช่วยฝ่าโลกเปลี่ยนไว

จาก THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงทิศของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2567เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.66 โดย รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า…

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการที่ท้าทาย ได้แก่…

(1) ภัยธรรมชาติ โลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม

(2) โรคติดต่อ หรือ โรคระบาด ถึงแม้โควิด-19 จะเพิ่งผ่านไป ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอ โดยเฉพาะโรคที่จะมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งในปัจจุบันมักเกิดถี่ขึ้น ทุกประเทศต้องเตรียมตัว

(3) เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (รัสเซีย-ยูเครน) แต่เนื่องจากวงของสงครามในตอนนี้เริ่มจำกัด จึงจะยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับตอนช่วงต้นของสงคราม ขณะที่ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ ประเมินว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 67 แล้วหลังจากนั้นถ้าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายในการกำจัดผู้นำฮามาสได้ แรงกดดันจากประชาคมโลกก็จะลดลง ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ อาทิ ทะเลจีนใต้, ไต้หวัน ซึ่งตรงนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเผชิญหน้ากันแบบดุเดือด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากโฟกัสในด้านเศรษฐกิจโลกสำคัญ ๆ ของโลก รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เชื่อว่ายังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 2.7%-2.8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะขยายตัวดีมาก 

ส่วนยุโรป (EU) เศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว ประมาณ 0.2%-0.6% แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก 

ขณะที่ประเทศจีนเศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว 4% ในกรณีที่จีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ แต่ถ้ามีการใช้มาตรการคลังเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 5% 

ส่วนประเทศญี่ปุ่นคาดเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว ประมาณ 1%-2%  

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนเอง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% 

โดยสรุปปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง บนความไม่แน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างกับปีนี้ (2566) เนื่องจากตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ไม่ยากเย็นนัก

ทั้งนี้เมื่อหันมามองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 รศ.ดร.สมชาย มองว่า ปัจจัยที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาวะของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ 

“ถ้าตั้งสมมติฐานว่าถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อ คู่ค้าประเทศต่าง ๆ ของเรายังขยายตัวได้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกบนความไม่แน่นอน ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ (1) การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%-4% (2) เรื่องการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าทำการบ้านดี ๆ วางแผนงานได้ดีจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 38-40 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และ (3) การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น”

สรุปแล้วตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโตเกิน 3% โดยอยู่ที่ประมาณ 3.2%-3.4% โดยภาครัฐต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเกิน 60% 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ อย่าให้งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ เกิดการสะสมหนาแน่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกินขอบเขต ควรมีมาตรการคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ Digital Transformation มาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม และ Soft Power ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป 

นอกจากนี้เงินเฟ้อต่างประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง เงินเฟ้อประเทศไทยต่ำ จึงเชื่อว่าปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนักธุรกิจในปี 2567 ที่จะมาถึงนั้น? รศ.ดร.สมชาย แนะนำว่า... 

(1) ต้องบริหารความไม่แน่นอน ต้องถือว่าความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปต้องเตรียมพร้อมเสมอรวมถึงบริหาร Bottom line ของธุรกิจให้ได้

(2) โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ควรทำในสิ่งที่ชำนาญและเชี่ยวชาญ มองโลกอนาคต แล้วเพิ่มความชำนาญของตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มในเรื่องนวัตกรรม หรือเอาเรื่องเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ (3) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศึกษาและขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

งบประมาณ 3.48 ลลบ. ใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีมังกร 

ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นปี กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะผลักดันในเศรษฐกิจไทยใน ‘ปีมังกร’ ที่น่าจะได้เห็นฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่รับบทบาท เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 1 ตำแหน่ง ว่าจะมีศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจของไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้ง วิกฤติ Covid-19 ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด

การลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระรับหลักการ มีผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น ก็เป็นไปตามคาดการณ์ ที่จะต้องรับร่างงบประมาณ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายเงินตามโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก การทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากเหตุกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน กว่าจะได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็คงเริ่มเบิกจ่ายได้ เมษายน - พฤษภาคม 2567 ถือว่าล่าช้าไปกว่าครึ่งปี

มาดูกันต่อกับวงเงินงบประมาณ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง…

ปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.480 ล้านล้านบาท : รัฐบาล เศรษฐา

ปี 2566 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.185 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2565 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.100 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2564 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.285 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.200 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่า วงเงินงบประมาณ 2567 ถือเป็นประวัติการณ์กับวงเงินที่สูงถึง 3.480 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยได้จัดทำ และยังมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่แล้ว กว่า 9.3% และถือว่าเป็นการเพิ่มวงเงินในสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย 

อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ได้ตั้งงบกลางสูงมากเกินไป เพราะงบกลาง จะไม่มีรายละเอียดในการใช้งบประมาณ มีเพียงหัวข้อ และวงเงินของแต่ละโครงการ แต่เมื่อดูงบกลางของรัฐบาล เศรษฐา จะพบว่า วงเงินงบกลางกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.8% โดยตั้งงบกลางไว้ที่ 6.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,295 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2566

ปี 2567 วงเงินงบกลาง 6.067 แสนล้านบาท 

ปี 2566 วงเงินงบกลาง 5.904 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 3,000 ล้านบาท

ปี 2565 วงเงินงบกลาง 5.874 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 16,362 ล้านบาท

ปี 2564 วงเงินงบกลาง 6.146 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 40,326 ล้านบาท

ปี 2563 วงเงินงบกลาง 5.187 แสนล้านบาท 

และหากพิจารณาในหัวข้อรายการใช้จ่ายงบกลาง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2563-2567) ก็พบว่า งบกลางที่มีการตั้งวงเงินที่สูงที่สุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบกลาง ในปี 2564 อยู่ที่ 6.146 แสนล้านบาท แต่สาเหตุที่ตั้งงบกลางไว้สูง เนื่องจาก มีหัวข้อค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท หากไม่นับหัวข้อนี้มารวมในงบกลาง วงเงินงบกลางจะอยู่ที่ 5.74 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลาง ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีหัวข้อค่าใช้จ่ายด้านนี้ 

คงเริ่มเห็นภาพบางอย่าง ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่บริหารจัดการโดย ‘นักการเมือง’ และภาพที่คนบางกลุ่มชอบเรียกว่า ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ กับเม็ดเงินงบประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ ของประชาชนคนไทย 

วิเคราะห์!! ไทยค้นพบแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตัน โอกาสทำไทยรวยทางลัดกว่า 14 ล้านล้านบาท

(19 ม.ค.67) เป็นที่ฮือฮาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เผยข่าวการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทย 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา มากกว่า 14,800,000 ตัน อีกทั้งยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก

โดยปัจจุบัน ประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุด 5 อันแรก ได้แก่...

- โบลิเวีย 21.0 ล้านตัน
- อาร์เจนตินา 19.0 ล้านตัน
- ชิลี 9.8 ล้านตัน
- สหรัฐฯ 9.1 ล้านตัน
- ออสเตรเลีย 7.3 ล้านตัน

นั่นหมายความว่า การค้นพบแร่ลิเทียมในไทยตามปริมาณที่กล่าวมานั้น จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หากประมาณการมูลค่าดูแล้ว น่าจะอยู่ที่ 14-15 ล้านล้านบาท หากคิดจากราคาแร่ลิเทียมในปัจจุบันที่ขายกันอยู่เฉลี่ยตันละ 30,000 ดอลลาร์ หรือ 1 ล้านบาท

ถ้าให้เปรียบว่ามากขนาดไหน ก็เทียบกับมูลค่าการแจกเงินผ่าน Digital Wallet ที่ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท แล้วการค้นพบของไทยหนนี้ สามารถเอามาแจกเงินดิจิทัลได้เกือบ 30 รอบได้เลยทีเดียว

สำหรับแร่ทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ซึ่งแน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้จะเสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาคได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ภายใต้การคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573

ฉะนั้น หากจะพูดว่าประเทศไทยเหมือนตกถังข้าวสารขนาดยักษ์ ก็คงไม่ผิด เพราะปัจจุบันนี้ 70% ของลิเทียมที่ผลิตทั่วโลก ได้ถูกใช้ไปกับแบตเตอรี่ EV หรือรถยนต์ไฟฟ้านั่นแล

เห็นภาพแบบนี้แล้ว เศรษฐกิจไทย คงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top