‘รศ.ดร.สมชาย’ วิเคราะห์!! อนาคตเศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ แนะ!! ‘ความชำนาญ-เชี่ยวชาญ’ ยังช่วยฝ่าโลกเปลี่ยนไว

จาก THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงทิศของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2567เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.66 โดย รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า…

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการที่ท้าทาย ได้แก่…

(1) ภัยธรรมชาติ โลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม

(2) โรคติดต่อ หรือ โรคระบาด ถึงแม้โควิด-19 จะเพิ่งผ่านไป ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอ โดยเฉพาะโรคที่จะมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งในปัจจุบันมักเกิดถี่ขึ้น ทุกประเทศต้องเตรียมตัว

(3) เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (รัสเซีย-ยูเครน) แต่เนื่องจากวงของสงครามในตอนนี้เริ่มจำกัด จึงจะยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับตอนช่วงต้นของสงคราม ขณะที่ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ ประเมินว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 67 แล้วหลังจากนั้นถ้าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายในการกำจัดผู้นำฮามาสได้ แรงกดดันจากประชาคมโลกก็จะลดลง ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ อาทิ ทะเลจีนใต้, ไต้หวัน ซึ่งตรงนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเผชิญหน้ากันแบบดุเดือด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากโฟกัสในด้านเศรษฐกิจโลกสำคัญ ๆ ของโลก รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เชื่อว่ายังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 2.7%-2.8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะขยายตัวดีมาก 

ส่วนยุโรป (EU) เศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว ประมาณ 0.2%-0.6% แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก 

ขณะที่ประเทศจีนเศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว 4% ในกรณีที่จีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ แต่ถ้ามีการใช้มาตรการคลังเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 5% 

ส่วนประเทศญี่ปุ่นคาดเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว ประมาณ 1%-2%  

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนเอง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% 

โดยสรุปปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง บนความไม่แน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างกับปีนี้ (2566) เนื่องจากตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ไม่ยากเย็นนัก

ทั้งนี้เมื่อหันมามองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 รศ.ดร.สมชาย มองว่า ปัจจัยที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาวะของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ 

“ถ้าตั้งสมมติฐานว่าถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อ คู่ค้าประเทศต่าง ๆ ของเรายังขยายตัวได้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกบนความไม่แน่นอน ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ (1) การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%-4% (2) เรื่องการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าทำการบ้านดี ๆ วางแผนงานได้ดีจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 38-40 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และ (3) การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น”

สรุปแล้วตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโตเกิน 3% โดยอยู่ที่ประมาณ 3.2%-3.4% โดยภาครัฐต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเกิน 60% 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ อย่าให้งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ เกิดการสะสมหนาแน่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกินขอบเขต ควรมีมาตรการคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ Digital Transformation มาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม และ Soft Power ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป 

นอกจากนี้เงินเฟ้อต่างประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง เงินเฟ้อประเทศไทยต่ำ จึงเชื่อว่าปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนักธุรกิจในปี 2567 ที่จะมาถึงนั้น? รศ.ดร.สมชาย แนะนำว่า... 

(1) ต้องบริหารความไม่แน่นอน ต้องถือว่าความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปต้องเตรียมพร้อมเสมอรวมถึงบริหาร Bottom line ของธุรกิจให้ได้

(2) โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ควรทำในสิ่งที่ชำนาญและเชี่ยวชาญ มองโลกอนาคต แล้วเพิ่มความชำนาญของตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มในเรื่องนวัตกรรม หรือเอาเรื่องเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ (3) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศึกษาและขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง