Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจไทย

'โรงงานปิดตัว-คนตกงานเพิ่ม-ราคาอาหารพุ่ง' ต่างชาติกังวล แล้วคนไทยรู้สึกบ้างหรือยัง?

จากข่าว ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ศรีนครินทร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ได้เตรียมปิดให้บริการถาวร โดยเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 20 ส.ค. 2567 หลังเปิดให้บริการพร้อมกับศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ มานานถึง 30 ปี ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้า ปิดสาขา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ บริหารต้นทุนดำเนินการ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

แต่...ข่าวการปิดโรงงาน เดือนละ 113 โรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง

ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ พบว่าปิดโรงงานไปแล้ว 561 โรงงาน หรือเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา ตกงานแล้ว 15,342 คน

ซึ่งยอดคนตกงาน น่าจะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่านี้ ข่าวจากย่านนิคมอุตสาหกรรม โรงงานที่ยังพอประคองตัวดำเนินธุรกิจได้ เริ่มทยอยปลดคนงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หลายโรงงานแล้ว 

คนตกงาน ค่าครองชีพก็ยังสูง ร้านค้าเตรียมปรับขึ้นราคาอาหาร หลังราคาก๊าซหุงต้ม ขยับขึ้น 15-20 บาท ต่อถัง ทั้งที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศตรึงราคาก๊าซ สิ้นสุด มิถุนายน 2567 หรือ สิ้นเดือนนี้ ยังไม่สิ้นสุดมาตรการตรึงราคา ก็เริ่ม ‘เอาไม่อยู่’

ข่าวอภิปราย พรบ.งบประมาณ ปี 2568 ในสภา ยังไม่มีอะไรที่น่าสนใจมากนัก ยังไงงบประมาณปี 2568 ก็ต้องคลอด เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังรออยู่ 

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์สื่อนอก 'บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน' (Bloomberg Television) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่จะให้ปรับกรอบเงินเฟ้อและลดดอกเบี้ย ชี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจ รวมทั้ง ยังคงให้ข้อคิดเห็นท้วงติง เงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรแจกเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

ปิดท้ายด้วยข่าวตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้ ปรับตัวมาแตะที่ 1,306.41 จุด มูลค่าซื้อขาย 56,556.18 ล้านบาท เด้งขึ้นมา +8.12 หลังช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ต่ำกว่า 1,300 จุด ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นไทย ที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี 

หุ้นไทย 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปลด 4.5 ล้านล้านบาท ต่างชาติเทขาย 2.97 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นไทยถูกต่างชาติขายต่อเนื่องเกือบ 3 แสนล้านบาท กดดัน MARKET CAP ตลาดหุ้นไทยลดลงจาก 20.57 ล้านล้านบาท เหลือ 16.06 ล้านล้านบาท ลดลงไปกว่า 4.5 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลาสั้น ๆ และ SET INDEX ยังปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า -22.1%

ต่างชาติกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย การเมืองในไทย แล้วประชาชนคนไทย เริ่มกังวลกันบ้าง หรือยัง...

'แบงก์ชาติ' เผย!! สาเหตุ 'เศรษฐกิจไทย' ทำไมฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน 'พึ่งท่องเที่ยว-ภาคบริการมาก' ส่วนภาคการผลิตก็ต้องเจอจีน

(4 ก.ค. 67) Brand Inside เผยถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน จากคำกล่าวของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า...

"เศรษฐกิจตอนนี้ ภาพที่อาจจะคลาดเคลื่อน ที่จะเห็นบ่อย ที่ว่า ธปท. มองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่เห็นความลำบากของคน มองแต่ตัวเลข ไม่รู้สึกสิ่งที่หลายกลุ่มเผชิญกันอยู่ เราก็ทราบดีว่า ศก. ไม่ได้ดีขนาดนั้น ศก. ฟื้นช้า...

"ศก. ฟื้นตัวในแง่ของภาพรวมโดยเฉลี่ยของคน ในแง่ของตัวเลข ไม่ว่าจะ GDP หรืออะไร แต่เราเข้าใจดีในการฟื้นตัวในตัวเลขรวม ตัวเลขเฉลี่ย มันซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย หลายกลุ่มด้วยกัน...

"ถ้าดูตัวเลขผ่าน ๆ ผิว ๆ รายได้เขาฟื้นแล้ว แต่จริง ๆ มันเป็นตัวเลขที่ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ประชาชน กลุ่มอาชีพอิสระ...

"แม้รายได้กลับมา แต่มีหลุมรายได้มหาศาลระหว่างทาง รายได้หายไป จากปกติที่ควรจะได้ เขามีหลุมรายได้ ตัวเลขไม่สะท้อนความลำบากของประชาชน...

"ภาคการผลิต ทำไมประเทศไทยฟื้นช้ากว่าชาวบ้าน เพราะเราพึ่งพาท่องเที่ยวเยอะ เราพึ่งภาคบริการเยอะและท่องเที่ยวมาก ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น...

"ภาคการผลิต พวกส่งออก Sector สำคัญ ๆ เจอโครงสร้างที่หนักขึ้น Landscape การแข่งขันเปลี่ยนไปด้วย หลายเซคเตอร์เจอการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าก่อนเยอะ โดยเฉพาะจากจีน"

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ทางออกเศรษฐกิจไทย หากไม่ปรับโครงสร้างใหญ่ หมดสิทธิโตเกิน 3%

(5 ก.ค. 67) เพจ ‘Salika’ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการหาทางออกให้กับทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุแบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 66-71 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 คือ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%

การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ขณะที่การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เมืองไทยวันนี้ 'ยอดผลิตรถยนต์วูบ โรงงานทยอยปิด' สะท้อนกำลังซื้อ 'ทรุด' เศรษฐกิจฐานราก 'อ่อนแอ'

การทยอยประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ทั้งจากซูบารุ ซูซูกิ 2 ค่ายใหญ่ ตามด้วย มิตซูบิชิ ที่เลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรค กว่า 400 คน ก็คงพอรับรู้กันได้
.
ย้อนไปดูข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลการผลิตรถยนต์ ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 104,667 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.02  ส่งผลให้ 4 เดือนแรก ของปีนี้ มียอดผลิตรถยนต์ 518,790 คัน ลดลง ร้อยละ 17.05 โดยเฉพาะรถกระบะ ที่มีการผลิตลดลง ถึงร้อยละ 45.94
.
ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 161,912 คัน ลดลงร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2566 ยอดการผลิตใน 4 เดือนแรก มีจำนวน 821,695 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.94  

ทั้งรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ มียอดการผลิตที่ลดลง สอดคล้องกับยอดจำหน่ายที่ลดลง ซึ่งสามารถสะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชนได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไฟแนนซ์ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ภาพรวมของหนี้ NPL สูงขึ้น ทั้งในกลุ่มบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

สอดคล้อง กับที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า… ‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน

ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก

ตอกย้ำด้วยข้อมูลจาก ธปท. อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง

หนี้สินภาคครัวเรือน ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 91.3 หนี้สินภาคธุรกิจ ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 87.3 ซึ่ง เมื่อภาระหนี้สูง กำลังซื้อ การบริโภคภาคครัวเรือน ย่อมลดลง เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังการจับจ่ายของประชาชน แทบจะลืมไปได้เลย

รัฐบาล หาช่องทางแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติ ขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และถือครองคอนโด ได้ถึง 75% โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน ..!! 

หากย้อนกลับไปในปี 2564 ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติที่ถือครองที่ดิน เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดย ครม. มีมติจะแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม จากร้อยละ 49 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเกิน 40 ล้านบาท สามารถซื้อบ้านเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ มีข้อกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวด แต่ก็ถูกคัดค้าน ถูกกระแสสังคมต่อต้าน จนต้องกลับไปศึกษาใหม่

ชาวทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็ก ‘ขายชาติ’ ในช่วงนั้น ช่วยกลับมาติดตามข่าวการเมืองหน่อย ติดตามว่าใครจะได้ประโยชน์ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายนี้ ช่วยมาติดตามข่าวเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ ‘ประชาชนจะอดตาย’ กันแล้ว

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

'อ.ต่อตระกูล' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศอื่นในเอเชีย ชี้!! ในอีก 10 ปีข้างหน้า เติบโตช้ากว่า 'อินโด-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์'

(11 ก.ค.67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค โดยระบุว่า…

เศรษฐกิจไทย วันนี้ตกต่ำจริง แล้วยังมีอนาคตอยู่ไหม? 

ผมต้องค้นหาเอง เพื่อที่จะได้ความจริงจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการต่างๆที่เป็นกลางเชื่อถือได้ รวม 14 ที่มา ที่ได้วงเล็บ [ ] ไว้หลังข้อสรุปแต่ละเรื่อง ผลสรุปว่า…

“ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์”

รายงานเต็ม ๆ ที่ผมได้รับการสรุปจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มีดังนี้…

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ นี่คือบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียในอีก 10 ปีข้างหน้า 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

1. แนวโน้มการเติบโตในระยะสั้น
- เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโต 2.4% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 ตามข้อมูลของธนาคารโลก[11]
- ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวจากการเติบโต 1.9% ในปี 2023 แต่ก็ยังตามหลังคู่แข่งอื่น ๆ ในภูมิภาค[1][2]

2. ปัจจัยขับเคลื่อนและความท้าทายที่สำคัญ
- การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโต แต่จะช้ากว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด[11]
- การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม[6]
- ประเทศเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง รวมถึงประชากรสูงวัย ช่องว่างด้านทักษะ และความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต[9]

3. ประมาณการระยะยาว:
- แม้จะไม่ได้ระบุการคาดการณ์เฉพาะเจาะจงในช่วง 10 ปี แต่คาดว่าประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงแต่ปานกลางในทศวรรษหน้า
- ประเทศมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน[9]

เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

1. อัตราการเติบโต
- คาดการณ์การเติบโตของไทย (2.4-2.8% ในระยะสั้น) ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน[2][12]
- ประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดการณ์อัตราการเติบโตที่ 4.5-5.8% ในปี 2567[12]

2. ขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ:
- อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 และจะกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ[12]
- เวียดนามและฟิลิปปินส์คาดว่าจะติดอันดับตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญภายในปี 2578[12]
- แม้ว่าประเทศไทยจะเติบโต แต่ก็ไม่คาดว่าจะเห็นขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้

3. การลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน[12]
- ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิต[6]

4. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง
- ประชากรสูงวัยของประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ในทันทีมากกว่า เมื่อเทียบกับประชากรอายุน้อยในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์[9]
- ความพยายามของประเทศไทยในการยกระดับทักษะแรงงานและเพิ่มผลิตภาพจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวให้ทันคู่แข่งในระดับภูมิภาค[9]

โดยสรุป แม้ว่าประเทศไทยคาดว่าจะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทศวรรษหน้า แต่อาจต้องดิ้นรนเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบางส่วน

ความสามารถของประเทศในการจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง เพิ่มผลผลิต และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงกว่า จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดตำแหน่งทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันภายในเอเชีย

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

>> อ้างอิง Sources:
[1] Thai Economy - Bank of Thailand https://www.bot.or.th/en/thai-economy.html

[2] Thailand's economic outlook: Q3 recovery amid GERM risks https://www.nationthailand.com/.../business/economy/40039534

[3] Economic Forecasts: Asian Development Outlook April 2024 https://www.adb.org/outlook/editions/april-2024

[4] World Bank: Debt, Trade Barriers and Uncertainty Will Drag on Asian Economies in 2024 https://thediplomat.com/.../world-bank-debt-trade.../

[5] Asia Outlook 2024: A Year of Transition - J.P. Morgan Private Bank https://privatebank.jpmorgan.com/.../2024-asia-outlook-a…

[6] Thailand's economy stumbles as Philippines, Vietnam, Indonesia ... https://www.aljazeera.com/.../thailands-economy-stumbles…

[7] Thailand’s economy lags behind peers with protracted recovery https://www.thailand-business-news.com/.../134352…

[8] 2024 Thailand's Economic Outlook and Emerging Technology Trend https://www2.deloitte.com/.../2024-thailand-economic…

[9] Thailand Overview: Development news, research, data | World Bank https://www.worldbank.org/en/country/thailand/overview

[10] Thailand Foodservice Market Size and Trends by Profit and Cost Sector Channels, Players and Forecast to 2027 https://www.globaldata.com/.../thailand-foodservice.../

[11] Thailand Economic Monitor July 2024: Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities https://www.worldbank.org/.../tha.../publication/temjuly2024

[12] ASEAN economic outlook in 2024 | S&P Global https://www.spglobal.com/.../asean-economic-outlook-in…

[13] Southeast Asia quarterly economic review: Q1 2024 - McKinsey https://www.mckinsey.com/.../southeast-asia-quarterly…

[14] Thai Government Aims to Lift 2024 GDP Growth to 3% by Tourists, Investment https://www.bloomberg.com/.../thai-government-aims-to...

อึ้ง!! ‘ไฟแนนซ์’ ยึด ‘รถบรรทุก’ สูงเป็นประวัติการณ์ แค่ที่เดียว จากหลักร้อย ทะยานสู่ 3,000 คัน

จากกรณีโลกโซเชียลกระหน่ำแชร์ภาพลานจอดรถที่มีรถถูกไฟแนนซ์ยึดเต็มลาน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนในห้วงปัจจุบันอย่างชัดเจน 

ล่าสุด (12 ก.ค. 67) นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการตลาด บจก.สยามอินเตอร์การประมูล เปิดเผยในรายการ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ ว่า จากการที่ปรึกษาพี่ ๆ น้อง ๆ วงการไฟแนนซ์รถมือสองทั้งหมด เราก็มองว่าปีที่แล้วว่าหนักแล้ว ปีนี้หนักกว่า ปีหน้าอาจจะทรง ๆ ตนว่าจากนี้ไปอีกประมาณ 3-4 ปี ถึงจะเริ่มกลับมาดีขึ้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐด้วยว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพราะว่าหนี้เสียเยอะมากเลย การที่ปีนี้มีรถทะลักเข้ามาเยอะ หนี้เสียเยอะตามที่เราเห็น คนเดือดร้อนเยอะ กิจการปิดตัวเยอะ เพราะว่าโครงการช่วยเหลือคนตอนโควิด (พักหนี้) ได้หมดโครงการไปเมื่อปีที่แล้ว มันก็เลยมาบวม ณ ปีนี้

นอกจากนี้ยังพบว่า ปีที่แล้วมีรถถูกยึดราว 350,000 คัน และปีนี้ก็คาดจะอยู่ที่ 300,000 คัน จากสถานการณ์ปกติ จะอยู่ที่ 200,000-250,000 คันต่อปี เรียกว่าเพิ่มขึ้น 30-40% เลยทีเดียว และ 80 ถึง 90% เป็นรถที่ถูกยึดมาจากสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถบ้าน 

และในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการยึดรถจำนวนมากเป็นประวัติการณ์จนแทบล้นลานประมูล เปิดบริษัทมา 20 ปีเพิ่งจะเคยเห็น โดยส่วนมากเป็นรถที่ถูกสถาบันทางการเงินยึด และรถที่ถูกยึดในสต๊อกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากที่กลุ่มรถบรรทุกเคยถูกยึดหลักร้อยคัน วันนี้เฉพาะที่สยามอินเตอร์การประมูลมีรถบรรทุกถูกยึดมากถึง 3,000 คัน นับว่าสูงที่สุดในประเทศไทย และคาดว่าจะมีรถถูกยึดเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เพราะว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว 

พลิกฟื้น 'เศรษฐกิจไทย' เริ่มได้หรือยัง?  ในจังหวะที่ยังมีศักยภาพพอให้ทำได้

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน 

ที่สำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น

เสียงสะท้อน สัญญาณอันตราย กับ ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่โฆษกรัฐบาล เคยออกมาชี้แจง สินค้าอุปโภคไม่แพง แหล่งท่องเที่ยวยังคึกคัก...ไม่แน่ใจว่า สำรวจพื้นที่ไหนบ้าง?
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของทุกประเทศสามารถเขียนเป็นสมการ ได้ว่า ‘GDP = C + I + G + NX’

I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน
G = Government Spending คือ งบประมาณรัฐบาล
NX = Net Export คือ การส่งออกสุทธิ

C – ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ มีกำลังซื้อจำกัด แต่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ควรใช้ ไม่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเช่น หวยใต้ดิน ยาเสพติด บ่อนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมาย หากกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายกับการซื้อบ้าน ปลูกบ้าน ซื้อรถคันใหม่ ซื้อของกินของใช้มากขึ้น จับจ่ายใช้สอย กินข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยวในประเทศ หรือมีเงินลงทุนค้าขายซึ่งยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ปัจจุบัน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน พุ่งเกือบ 70% ยอดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจรายย่อย โรงงาน ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

I - การลงทุน ต้องเข้าใจและฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์การเมืองของโลกที่ขั้วอำนาจกำลังมีปัญหาระหว่างกัน ประเทศไทยมีแรงงานที่นักลงทุนจากต่างประเทศต้องการ ที่ค่าจ้างไม่แพงเกินไป มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้านโลจิสติกส์ มีตลาดเงินตลาดทั้งสินค้าและทุน อาจขาดเพียงทักษะของแรงงานด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังมีจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ ยังพอดึงดูดทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ และมีประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศชาติ

G - ใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ สร้างระบบชลประทาน สร้างไซโล/คลังเก็บผลผลิตทางการเกษตร สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมากกว่าสิบล้านคนได้ประโยชน์ ได้มีรายได้มากขึ้น หรือทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรม สายอาชีพ ผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม

ที่สำคัญ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ

NX - สนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เราผลิตได้เองแล้วทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร รวมถึงภาคบริการ(การท่องเที่ยว) ให้มีประสิทธิภาพ การระบายข้าวเปลือกจำนำสิบปี ไม่ควรประโคมข่าว จะทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของข้าวไทย

ทั้งหมดนี้ในปัจจุบัน เหมือนจะเริ่มเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงเวลาหรือยัง ที่จะพุ่งเป้าไปผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต มีความมั่นคง ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้ ... ถึงเวลาหรือยัง?

‘คลัง’ มั่นใจ!! GDP ปี 67 โตตามเป้า 3% โว!! ขนาดยังไม่รวม 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

(26 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการแถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.7% ปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ระดับ 2.4% 

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ตามเป้า 3% จากมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะเพิ่มเติมลงไป อาทิ สินเชื่อซอฟต์โลนออมสิน มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยจากได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อน

“คาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36 ล้านคน ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 27.9 %ต่อปี และเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวคาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ 44,600 บาท/คน/ทริป” 

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มขึ้นเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน และการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีรายจ่ายต่อหัวสูง โดยรวมภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้น 37.4%

นอกจากนี้ การส่งออกมีสัญญาณขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยคาดขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% โดยอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน โดยมีการปรับตัวขึ้นของ GDP ประเทศคู่ค้า 15 ประเทศหลักที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.1%

ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนยังคาดขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5% ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรขยายตัว 8% และภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้การใช้จ่ายและการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางการคลังและมาตรการด้านสินเชื่อและสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการประมาณการ GDP นี้ ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการ Digital Wallet ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ว่า หากพิจารณาเฉพาะโครงการ Digital Wallet นี้จะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการ และจำนวนผู้มีเข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิ์

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! รัฐคลอด Digital Wallet ในจังหวะ ศก.ตกต่ำ ถูกช่วง!! ห่วง!! อาจเกิดภาระการคลังเพิ่มเติม แต่ก็ต้องยอมในยามแบงก์ชาตินิ่งเฉย

(28 ก.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'ความชัดเจนจากภาครัฐในโครงการ Digital Wallet' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยรอคอยก็มาถึง ขณะนี้มาตรการ Digital Wallet มีความชัดเจนมากที่สุด ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ ขนาดวงเงิน คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดการลงทะเบียน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการ

แม้ว่าเม็ดเงินจริงจะยังไม่ออกมาจนกระทั่งเดือนธันวาคม แต่ผลจากการประกาศความชัดเจนก็ได้ก่อเกิด Announcement Effect ขึ้นมาแล้ว ประชาชนผู้บริโภคเริ่มมีความคาดหวังจากกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้น ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเริ่มเตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตและแผนโปรโมชันต่าง ๆ นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ/การลงทุนที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าหน่วยงานสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แถมยังออกมาแย้งและค้านอยู่เนือง ๆ เข้าทำนองมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

ในแง่จังหวะเวลา (Timing) Digital Wallet ออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุด แม้ว่าจะมีสัญญาณดีจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เริ่มขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังดีอยู่ แต่อุปสงค์ในประเทศกลับหดตัวจากนโยบายการเงินที่ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายแต่อย่างใด

ในแง่เป้าหมาย (Target) Digital Wallet มุ่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างชัดเจน มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน และมีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ Blockchain ซึ่งป้องกันการรั่วไหล (Leakage) ออกจากการหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐครั้งนี้มีพลังทวีคูณ (Multiplier) มากกว่าการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐ

ในแง่ความโปร่งใส (Transparency) ต้องถือว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูล/สถิติการใช้จ่ายเงินแผ่นดินสามารถติดตามตรวจสอบได้แบบ realtime และ online ไม่เพียงแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

สุดท้าย ความห่วงใยเกี่ยวกับความคุ้มค่าและภาระทางการคลัง ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกต่อไป ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายที่มี Impact ตรงต่อการผลิต/การจ้างงานสูงสุดคือ การลงทุนภาครัฐ แต่เมื่อคำนึงถึงความเร่งด่วนแล้ว คงไม่มีอะไรที่ทำได้เร็วกว่าการแจกเงินตรงถึงประชาชน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ใช้จ่ายเองตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ Application ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโครงการนี้ ก็น่าจะถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆของรัฐในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในด้านภาระการคลัง ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการนี้ก่อเกิดภาระการคลังเพิ่มเติมอยู่บ้าง รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าหนี้สาธารณะจะกระเถิบสูงขึ้นบ้าง จาก 62% ของ GDP ในปัจจุบัน เป็นใกล้ ๆ 70% เมื่อจบโครงการ แต่ก็เป็นภาระที่คนไทยต้องยอมรับ ในภาวะที่ธนาคารกลางและนโยบายการเงินไม่ทำหน้าที่ของตนเองที่ควรจะทำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top