Monday, 13 May 2024
เชียงราย

‘หนุ่มเชียงราย’ กาเบอร์ผิด ฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งทั้ง 2 ใบ อ้าง!! ไม่ได้ตั้งใจทำลายบัตร คิดว่าขอเปลี่ยนใบใหม่ได้

(14 พ.ค. 66) ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 6 เขตเลือกตั้งที่ 4 หมู่บ้านแม่คาวโตน หมู่ 6 ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งได้ตรวจพบมีชาย 1 คน ทราบชื่อต่อมาว่า ลุงกาน (นามสมมุติ) อายุ 65 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว ได้ฉีกบัตรเลือกตั้ง จึงได้ควบคุมตัวไว้

จากการตรวจสอบทราบว่า ชายคนดังกล่าวเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเวลาประมาณ 10.40 น. และเมื่อลงทะเบียนแล้วเข้าไปในคูหาเลือกตั้งกลับฉีกบัตรเลือกตั้งแบบผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัตรสีม่วง ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบเลือกพรรค บัตรสีเขียวถูกฉีกจนขาดครึ่ง นอกจากนี้ ที่หลังบัตรสีเขียวยังพบมีการกาบัตรตรงจุดที่ไม่ได้กำหนดให้เลือกเอาไว้ด้วย

จากการสอบถามเบื้องต้น ลุงกาน (นามสมมุติ) ให้การว่าตนไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง เพียงแต่เข้าไปในคูหาแล้วกากบาทผิดหมายเลข จึงคิดว่าที่หน่วยเลือกตั้งน่าจะมีบัตรสำรองให้ จึงได้ฉีกบัตรเดิมแล้วจะขอเปลี่ยน แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งว่ากระทำไม่ถูกต้องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งได้ประสานชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปรับตัวพร้อมของกลางบัตรที่เสียหายเพื่อนำตัวไปสอบปากคำอย่างละเอียดที่ สภ.พาน ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

"เชียงราย"การประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา - ไทย (TBC) ครั้งที่ 97

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 พันเอก ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในนาม ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา - ไทย (TBC) ครั้งที่ 97 ณ ห้องประชุมโรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งในครั้งนี้ ฝ่ายเมียนมา เป็นเจ้าภาพ

โดย พันเอก ณฑี ทิมเสน ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อำเภอแม่สาย ได้เป็นประธานร่วมกับ พันตรี ตั้นสิ่นไท้   ผู้บังคับกองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 529/ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา – ไทย (TBC) ฝ่ายเมียนมา จังหวัดท่าขี้เหล็กฯ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อหารือ และขอความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกลไกของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น

รวมทั้งขอบคุณ ที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมา ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศของการประชุม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป

สันติ วงศ์สุนันท์/ผู้สื่อข่าวชียงราย

เคลียร์หน้าดินแล้ว!! โครงการรถไฟทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ‘แพร่-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย’ รอรับปี 71 หลังคอยมานานร่วม 60 ปี 

(19 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ความคืบหน้าทางรถไฟทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ช่วง ‘เด่นชัย-สูงเม่น’ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ผู้รับเหมา เคลียร์ที่ดิน และเริ่มงานแล้ว ชาวแพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เตรียมตัวรับรถไฟได้ ปี 2571 โดยระบุสาระสำคัญไว้ ดังนี้...

เมื่อช่วงวันแม่ที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวลำพูน-เชียงใหม่ เลยไปแวะเด่นชัย เอาภาพการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มาฝากเพื่อนๆ กันหน่อย

ก่อนหน้านี้มีหลายๆ คนถามถึงความคืบหน้า และถามว่ามันจะสร้างจริงๆ ไหม…

ซึ่งจากภาพที่เห็น ก็ยืนยันแล้วว่าโครงการลงหน้างาน เปิดที่ดิน พร้อมเกรดปรับพื้นที่โครงการแล้ว

คู่ขนานกับการเวนคืนที่ดินในขอบเขตโครงการ ซึ่งตอนนี้เวนคืนไปแล้วกว่า 65% 

ติดตามความคืบหน้าโครงการได้จากเพจ : รถไฟทางคู่ เด่นชัย เชียงราย เชียงของ
—————————
ใครที่ยังไม่รู้จัก โครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สามารถดูได้ตามลิงก์นี้ครับ

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1588626191575854&id=491766874595130

ความเป็นมาของโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่มีอายุโครงการมากกว่า 60 ปี!!

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/920004821771331/?mibextid=cr9u03

การรถไฟได้ทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายปี 64 ที่ผ่านมา ตามลิงก์นี้

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1340636983041444/?d=n

ควบคู่กับการเวนคืน ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อกลางปี 64 ที่ผ่านมาตามลิ้งค์นี้

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1200325763739234/?d=n
—————————
โครงการเด่นชัย-เชียงราย เป็นโครงการเก่าแก่มาก 

มีการศึกษาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2503 ซึ่ง มีการออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วตั้งแต่ในปี 2510 แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง

หลังจากนั้นก็มีการรื้อโครงการออกมาศึกษา อยู่อีกหลายๆรอบ คือ 2512, 2528, 2537, 2541, 2547 และเล่มศึกษาปัจจุบันที่จะใช้ในการก่อสร้าง ศึกษาในปี 2554 

และ มติครม. อนุมัติโครงการในปี 2561

เป็นโครงการก่อสร้างทรหดเหลือเกิน กว่าจะได้สร้างจริงๆ ร่วม 60 ปี

ใครอยากอ่านพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน ปี 2510 ดูได้จากลิงก์นี้ครับ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/119/998.PDF
————————
เส้นทางโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 

จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ คือการขนส่งสินค้า จากไทยไปจีน ผ่านช่องทางหลัก 2 ช่องทาง คือ...
- ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ) 

รายละเอียดเส้นทาง...
- ระยะทางรวม 308 กิโลเมตร
- เป็นทางรถไฟขนาด 1 เมตร
- รองรับน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน รองรับรถไฟใหญ่สุดของการรถไฟ (รถจักร CSR)
- รองรับความเร็วสูงสุด 160 กม/ชม
- ใช้อาณัติสัญญาณ ETCS Level 1 ตามมาตรฐานทางคู่ใหม่

ในโครงการมีอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่งคือ...
- อุโมงค์ที่ 1 กม. 606+200-607+325 ระยะทาง 1.1 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 2 กม. 609+050-615+425 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 3 กม. 663+400-666+200 ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 4 กม. 816+600-820+000 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

ระยะทางรวมอุโมงค์ของโครงการ 13.4 กิโลเมตร

มีสถานี 3 รูปแบบ คือ…
- สถานีขนาดใหญ่ จะเป็นสถานีระดับจังหวัด
- สถานีขนาดเล็ก
- ป้ายหยุดรถไฟ

โครงการใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เส้นทางมีดังนี้...

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด แพร่ ——
- โครงการเริ่มต้นจากสถานีรถไฟเด่นชัย เป็นสถานีชุมทางใหม่ แล้วแยกออกไปทางตะวันออก ปรับปรุงสถานีเป็นสถานีขนาดใหญ่
- สถานีสูงเม่น เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 547
- สถานีแพร่ เป็นสถานีขนาดใหญ่ 
- สถานีแม่คำมี เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 572
- ป้ายหยุดรถไฟหนองเสี้ยว กม. 584
- สถานีสอง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 590
- มีอุโมงค์ 2 จุดต่อกัน ที่กม. 606+200-607+325 และ กม. 609+050-651+425

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ลำปาง ——
- ป้ายหยุดรถไฟแม่ตีบ กม. 617
- สถานีงาว เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 636
- ป้ายหยุดรถไฟปาเตา กม. 642
- มีอุโมงค์ ที่กม. 663+400-666+200

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด พะเยา ——
- สถานีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 670
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านโทกหวาก กม. 677
- สถานีพะเยา เป็นสถานีขนาดใหญ่ กม. 683
- ป้ายหยุดรถไฟดงเจน กม. 689
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านร้อง กม. 696
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านใหม่ กม. 709

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด เชียงราย ——
- สถานีบ้านป่าแดด เป็นสถานีขนาดเล็ก กม.724
- ป้ายหยุดรถไฟป่าแงะ กม. 732
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านโป่งเกลือ กม. 743
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านสันป่าเหียง กม. 756
- สถานีเชียงราย เป็นสถานีขนาดใหญ่ กม. 771
- ป้ายหยุดรถไฟทุ่งก่อ กม. 785
- สถานีเวียงเชียงรุ้ง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม.796
- สถานีชุมทางบ้านป่าซาง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 806 และแยกไปสถานีเชียงแสน
- มีอุโมงค์ ที่กม. 816+600-820+000
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านเกี๋ยง กม. 829
- ป้ายหยุดรถไฟศรีดอนชัย กม. 839
- สถานีเชียงของ เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 853

รายละเอียดเส้นทางโครงการ
https://www.google.com/maps/d/viewer?mid=1REMriQY0BxNPmksruPXyT867ewA&ll=20.200689158260182%2C100.43516933379738&z=14&fbclid=IwAR1FKhguOcu47WtQiWRat2aDMgGng0RPC3C29dPZIiAFcICEYWsDqM0k1aw
————————
ในโครงการจะมีการตัดกับถนนเดิมของประชาชน ซึ่งจะทำเป็นระบบปิด ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟและถนนออกจากกัน โดยมี 5 แบบคือ
- สะพานทางรถไฟข้ามถนน 31 แห่ง
- สะพานถนนข้ามรถไฟแบบตรง 53 แห่ง
- สะพานรถไฟข้ามคลองชลประทาน 35 แห่ง
- ถนนทางลอดทางรถไฟ 63 แห่ง
————————
การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ในปีที่เปิดให้บริการ 4,811 คน/ วัน

การคาดการณ์ปริมาณสินค้าในปีแรก แบ่งเป็น 2 กรณีคือ...
1.) ถ้าไม่รวมการส่งสินค้าจากจีน 313,669 ตัน/ปี
2.) ถ้ารวมการส่งสินค้าจากจีน 1,603,669 ตัน/ปี

มูลค่าการลงทุนโครงการทั้งหมด 79,619 ล้านบาท

จากการประเมินมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.31% และการประเมินมีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) 1.02%

รูปแบบการลงทุนที่ทำการศึกษา มี 2 รูปแบบ คือ...
- รัฐบาลลงทุน 100% มีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) 1.02%
- รัฐบาลลงทุนงานโยธา และระบบควบคุม 
เอกชนลงทุนบำรุงรักษา และดำเนินงาน 
การรถไฟ เก็บรายได้ 
รัฐบาลมีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) -1.82%

ซึ่งจากที่ดูตามนี้ รัฐบาลควรเป็นผู้เดินรถเอง และให้การรถไฟเป็นผู้เดินรถ แต่อาจจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถ

'สกายวอล์กพระธาตุดอยเวา' ใกล้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้สัมผัสลมหนาว 18 พ.ย.นี้

(7 ก.ย. 66) หลังจาก วัดพระธาตุดอยเวา ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างโครงการทางเดินกระจกเพื่อชมทิวทัศน์ชายแดนหรือ ‘สกายวอล์ก’ โดยโครงการตั้งอยู่บนยอดเขาดอยเวาหันไปทางทิศเหนือ ทางชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้งฝั่ง อ.แม่สาย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้สุดลูกหูลูกตา

ล่าสุด วัดพระธาตุดอยเวาได้ประกาศว่า ‘สกายวอล์กพระธาตุดอยเวา เหนือสุดในสยาม’ ได้มีการยกโครงโลหะที่มีลักษณะเป็นสะพานที่แยกเป็นส่วนๆ ยกขึ้นไปประกอบติดกันบนเสาแล้วเสร็จตลอดแนวแล้ว โดยสะพานมีลักษณะเป็นทรงโค้งขนานไปกับถนนทางลงดอยเวา และรอให้มีการนำกระจกไปติดตั้งต่อไป ในวันที่ 12 ก.ย.2566 ซึ่งการติดตั้งกระจกจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะมีการทดสอบการใช้งานและประดับตกแต่งสถานที่เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมต่อไป

สำหรับโครงการนี้จะมีการประกอบพิธีเปิดสกายวอล์กในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย.2566 ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาร่วมสัมผัสทรงโค้งของสกายวอล์กแห่งนี้ที่มีความยาวประมาณ 150 เมตร ซึ่งถือว่านอกจากจะอยู่เหนือสุดในสยาม แถมยังมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยได้ในอีกไม่นาน

ทั้งนี้ ทางด้านพระครูประยุตเจติยานุการ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา ได้ขอความร่วมมือไปยังบรรดาพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดดอยเวา ซึ่งเป็นตลาดชายแดนที่ตั้งอยู่ติดถนนทางขึ้นไปยังพระธาตุ ให้ย้ายส่วนเกินของร้านออกไปจากผิวถนนเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นลงได้โดยสะดวก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้ค้าทั้งหมดเป็นอย่างดี และในวันที่ 5-15 ก.ย.2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.จะมีการปิดถนนทางขึ้นวัดและงดให้บริการไฟฟ้าเพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพัฒนาเส้นทางเพื่อให้สามารถเดินทางขึ้นลงได้อย่างสะดวกทำให้ร้านค้าที่ติดถนนต้องปิด แต่ตลาดที่ไม่ติดถนนยังเปิดตามปกติ

รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันมีโครงการสกายวอล์กในพื้นที่ จ.เชียงราย แล้ว 2 แห่ง คือ ที่วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งมีทิวทัศน์ของแม่น้ำโขงและชายแดนโดยเฉพาะฝั่ง สปป.ลาว ที่งดงาม และที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย และหากโครงการที่วัดพระธาตุดอยเวาแล้วเสร็จ ก็จะเป็นสกายวอล์กแห่งที่ 3 ของ จ.เชียงราย

‘พลายแดนสยาม’ ช่วยลากต้นไม้ใหญ่กลางถนนเชียงราย หลังลมพัดหักขวางทางจราจร โซเชียลแห่ชมในความแสนรู้ 

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 หลังเกิดฝนตกหนักและลมพัดแรงในหลายพื้นที่ของเชียงรายตั้งแต่หัวค่ำ โดยเฉพาะเขตอกเภอเมืองเชียงราย ฝนและลมทำให้พ่อค้าแม่ขายบนถนนคนเดิน ซึ่งจัดขึ้นทุกคืนวันเสาร์ ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ต้องรอจนฝนซาถึงกลับมาเปิดบริการกันอีกครั้ง แต่ผู้คนก็บางตา

นอกจากนี้ ลมพายุที่พัดแรง ยังพัดเอาต้นไม้และกิ่งไม้ทับถนนหมายเลข 1022 พื้นที่หมู่ 17 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จนรถราไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นที่ตั้งของ ‘ปางช้างเผือกเชียงราย & mini zoo’ เมื่อลม-ฝนสงบลง ทางปางช้างได้นำช้างเพศผู้ชื่อ ‘พลายแดนสยาม’ ซึ่งเป็นช้างแสนรู้เฉลียวฉลาดออกมาร่วมกับชาวบ้าน ชักลากต้นไม้ใหญ่ที่ไม่สามารถใช้แรงคนเคลื่อนย้ายออกจากพื้นผิวจราจรไปได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่และชาวบ้านก็ช่วยกันเก็บกวาดส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นกิ่งไม้ใบไม้ออกไป จนสามารถเปิดใช้ถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ทางปางช้างเผือกฯ ได้บันทึกคลิปการทำงานของพลายแดนสยาม และเผยแพร่ทางเพจ ‘Chang Puak Camp Chiang Rai’ ซึ่งมีผู้เข้าไปชมและแชร์กันออกไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ที่เข้าไปแสดงความเห็นชื่นชมในความแสนรู้ และน่ารักของพลายแดนสยามกันอย่างเนืองแน่นด้วย

‘ถ้ำหลวงฯ’ เตรียมเก็บค่าเข้าคนไทย 950 ต่างชาติ 1,500 โซเชียลรุม!! “ราคาแพงเกิน แถมกิจกรรมก็ไม่เยอะ”

(18 ธ.ค. 66) จากกรณีอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เปิดให้ท่องเที่ยวบริเวณโถงที่ 2 และ 3 หลังจากปิดการท่องเที่ยวบริเวณดังกล่าวจากเหตุการณ์ภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า เมื่อปี 2561

สำหรับการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวสายผจญภัย ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในโถงที่ 2 และ 3 นักท่องเที่ยวสามารถจองคิวผ่านเพจอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน หรือเว็บไซต์กรมอุทยานฯ โดยเปิดให้ท่องเที่ยวแบบกรุ๊ป ไม่เกิน 10 คน ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ คอยดูแลตลอดทาง

ค่าบริการของนักท่องเที่ยวชาวไทย คนละ 950 บาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ คนละ 1,500 บาท ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ และค่าประกัน โดยจะเปิดบริการให้เข้าถ้ำในโถง 2 และ 3 วันละ 2 รอบ ใช้เวลารอบละประมาณ 2.30 ชั่วโมง

จากนั้นมีหลายคนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลจำนวนมาก ถึงราคาค่าบริการ โดยหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ราคาแพงเกินไป เพราะกิจกรรมไม่ได้เยอะเท่าไหร่ แต่ก็มีบางส่วนบอกว่า ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามโอกาส

โดยรายละเอียดกิจกรรมจากทางอุทยานฯ ถ้ำหลวง มีดังนี้ รูปแบบการท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวในเส้นทางของถ้ำหลวง เริ่มต้นตั้งแต่ปากถ้ำ จนถึงโถงที่ 3 ของถ้ำหลวง มีระยะทางรวมประมาณ 700 เมตรจากปากถ้ำ ใช้เวลาในการเดินทางราว 2-3 ชั่วโมง

เส้นทางดังกล่าวนักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น เช่น เดินตามพื้นถ้ำที่มีหินถล่ม มุดลอดรู ปีนป่ายก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นต้น และ ตลอดเส้นทางจะพบกับประติมากรรมถ้ำ ได้แก่ หินย้อย ม่านหินย้อย หลอดหินย้อย นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังจะได้รับความประทับใจจากประสบการณ์ย้อนรอย 13 หมูป่า

สำหรับการจองนั้น จะต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ (7 วันทำการเท่านั้น) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ให้จองในช่องทางเพจในเฟซบุ๊กชื่อ ‘อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน’ และเว็บไซต์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยในช่วงแรกเปิดให้เที่ยวชมเฉพาะในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี เท่านั้น และสิ่งที่จะได้คือ กระเป๋า ผ้าบัฟ ถุงมือ สกรีนโลโก้ถ้ำหลวง ประกันอุบัติเหตุ

ภายหลังกระแสวิจารณ์ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า เกี่ยวกับการตั้งราคา สำหรับการเข้าไปในพื้นที่ถ้ำหลวงนั้น มีการปรึกษากันหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจอร์ช แบรชลีย์ นักประดาน้ำชาวอังกฤษผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในภารกิจช่วยทีมนักฟุตบอลหมูป่าจากถ้ำหลวง ที่ให้คำแนะนำว่า พื้นที่ถ้ำหลวง เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่า เป็นพื้นที่พิเศษ เสี่ยงอันตรายสำหรับการเข้าไป ต้องมีอุปกรณ์พิเศษ และอาศัยทีมที่เชี่ยวชาญสำหรับการนำทางเข้าไป โดยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการจะเดินทางมา ซึ่งราคา 1,500 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 950 บาท สำหรับคนไทยนั้น ถือว่าไม่สูง

“สำหรับ ราคา 950 บาท ที่กำหนดไว้เป็นค่าเข้าไปชมในถ้ำนั้น อุทยานฯ ไม่ได้นำเข้าเป็นรายได้ของอุทยานทั้งหมด แต่แบ่งเป็น 1. ให้บุคคลากรนำเที่ยว 500 บาท ซึ่งแบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย 350 บาท เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2 คน ๆ 100 บาท และผู้นำเที่ยวท้องถิ่น 50 บาท 

2.นำเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของกรมอุทยานฯ 150 บาท และ 3.นำเข้ากองทุนสวัสดิการถ้ำหลวง 300 บาท ซึ่ง จะนำไปใช้ เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ในถ้ำและบริเวณด้านนอกที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ค่าประกันชีวิตเจ้าหน้าที่และ บุคคลากรนำเที่ยว เป็นต้น” นายอรรถพล กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่บริเวณ โถงที่ 1 ซึ่งมีระยะทาง 200 เมตร ของถ้ำหลวงนั้น ประชาชนยังสามารถเข้าเที่ยวชมได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ โถงที่ 2 และ3 เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษ ต้องมีคนนำทาง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปคนเดียวได้

สื่อนอกตีข่าว 'ศิลปะ (แมว) บนนาข้าว' เบียนนาเล่เชียงราย เปลี่ยนผืนนา เป็น 'แลนด์มาร์ก-แหล่งท่องเที่ยว' กระหึ่มโลก

นาไทย ศิลปะไทย ดังไกลกระหึ่มโลก ภายหลังจากสำนักข่าว 'รอยเตอร์' ได้ตีข่าว 'เบียนนาเล่เชียงราย' ศิลปะบนนาข้าว 'เจ้าเหมียว' ซึ่งเป็นแมวกอดปลา หลับปุ๋ยบนปุยเมฆ จนดังไกลไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้

(19 ธ.ค.66) 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' เป็นงานศิลปะจัดวางรูปแมวกอดปลาบนนาข้าวที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ที่ฮือฮาแพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ และสำนักข่าวอย่าง 'รอยเตอร์' ก็ได้นำไปเผยแพร่ โดยเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะระดับโลกฝีมือคนไทยที่ได้โชว์ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็ม โดยงานศิลป์บนนาข้าวจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่เชียงรายที่นักท่องเที่ยวเข้าชมและเช็กอินกับท้องนาสีสันสดใส ผลงานสุดมหัศจรรย์นี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 2566

ธันย์พงค์ ใจคำ เจ้าของพื้นที่ผู้ให้การสนับสนุนสร้างงานศิลป์ร่วมสมัย 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' กล่าวว่า ศิลปะบนนาข้าวเกิดจากได้รับโอกาสจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในการปลูกข้าวสายพันธุ์สรรพสี ซึ่งต้นข้าวจะมีหลายสี  โดย จ.เชียงราย เป็น 1 ใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดทำโครงการศิลปะบนแปลงนา ซึ่งสอดรับกับเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ จึงนำโครงการนี้ไปพูดคุยกับสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย นำมาสู่การทำงานร่วมกับศิลปินขัวศิลปะ ซึ่งชื่นชอบแมวเช่นกัน ได้แนวคิดออกแบบภาพแมวกอดปลานี้ร่วมแสดง Thailand Biennale Chiangrai แล้วยังมีภาพแมวนอนหลับ และแมวตาโต ที่ตรงกับโจทย์มหกรรมครั้งนี้ the Open World หรือ เปิดโลก

จากรูปที่ศิลปินออกแบบแล้ว ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กำหนดตำแหน่ง ลวดลายเส้น  ทำงานกับแปลงนาข้าว ก่อนนำข้าวปักตามตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยทยอยปลูกข้าว เริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และเกิดเป็นงานศิลปะสามารถเข้าชมแบบไม่เป็นทางการได้บนเนื้อที่ราว 5 ไร่  ช่วงหนาวนี้ข้าวกำลังเจริญเติบโต เฉดสีเริ่มเปลี่ยน ซึ่งสีสันของผลงานจะสวยที่สุดสิ้นเดือนธันวาคม เพราะปีนี้ฤดูหนาวมาล่าช้าเป็นเดือน

สำหรับสายพันธุ์ข้าวสรรพสีเหล่านี้จะปรากฏสีบนแผ่นใบชัดเจน และสวยงามมากเมื่อปลูกในช่วงฤดูหนาว ข้าวสรรพสีมีหลากหลายสี สีพื้นบ้านเป็นสีเขียว และสีม่วงอมดำ โดยในแปลงจะมีข้าวทั้งหมด 7 สี ที่มองเห็นเฉดสีที่แสดงออกบนใบข้าวแต่ละพันธุ์ จากแถบสีแดง สีชมพู สีม่วง สีฟ้า สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว คล้ายกับสายรุ้ง นอกจากได้ท้องนาสีสันศิลปะแต่มแต้มด้วยงานศิลป์แล้ว ใบข้าวสรรพสีมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหาร ธาตุอาหารรอง และกรดอะมิโนที่ดีที่สุดด้วย

ศิลปะบนนาข้าว หรือ Tanbo Art  ธันย์พงค์ บอกว่า Tanbo Art เป็นทั้งนวัตกรรมและงานศิลปะที่พบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและออกแบบลวดลายบนแปลงข้าว สำหรับในประเทศไทย เป็นอีกมิติใหม่ของการทำนา ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวนา ที่โดยทั่วไปอยู่ในความยากจนและด้อยโอกาส เพราะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยว งานศิลปะนี้เปิดมุมมองให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เปิดโลกการเรียนรู้ การปลูกข้าวสรรพสี นอกจากเมล็ดข้าวไปบริโภคแล้ว ยังมีด้านศิลปะเพื่อความสวยงาม ด้านเทคโนโลยีในการปลูก ไทยแลนด์เบียนนาเล่จะเป็นโอกาสสำคัญถ่ายทอดเรื่องนี้ ชวนทุกคนมาสัมผัสข้าวหลากสีกับผลงานศิลปะตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ต่อเนื่องมกราคม กุมภาพันธ์ ทุ่งข้าวจะมีสีชมพูสวยงาม ก่อนจะเก็บเกี่ยวกลางเดือนมีนาคม 2567  

อากาศดีๆ ชวนไปเสพงานศิลป์ที่เชียงราย Thailand Biennale, ChaingRai 2023 ไม่ได้มีแค่แปลงนาสวยๆ รออยู่ ยังมีผลงานของ 60 ศิลปินจาก 21 ประเทศ จัดแสดงทั้งที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiangrai International Art Museum : CIAM ใกล้กับสนามบินแม่ฟ้าหลวง งานศิลปะระดับโลกที่โชว์ทั้งอำเภอเมือง อ.เชียงแสน อ.แม่ลาว และ อ.พาน

ไทยแลนด์เบียนนาเล่นี้มีบริการข้อมูลนิทรรศการทั้งที่เป็นเอกสารและแบบสแกน QR Code พร้อมทั้งบริการรถตู้รับส่งตามเส้นทางต่างๆ นำชมนิทรรศการศิลปะในพื้นที่ รวม 6 เส้นทาง 14 จุดบริการ วันละ15 คัน จำนวน 3 รอบต่อวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น. ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2567 สนใจคลิกได้ที่เว็บไซต์เส้นทางให้บริการรถนำชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย TBC2023 https://biennalechiangrai-media-info.my.canva.site/website-tbc2023-transportation เพจและเฟซบุ๊ก Thailand Biennale,Chaing Rai 2023  

สลด!! ‘2 พิตบูล’ ลอดรั้วกระโจนขย้ำคุณลุงพิการเสียชีวิต ทั้งซอยผวา ไม่กล้าออกจากบ้าน ชี้!! ไก่ที่เลี้ยงโดนกัดประจำ

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ที่บ้านป่าเหมือดรุ่งเจริญ ซอย 23 หมู่ 5 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุสุนัขพันธุ์พิตบูลกัดนายทอง (นามสมมติ) อายุ 64 ปี นอนจมกองเลือด ที่ลำคอทั้ง 2 ข้าง มีแผลเหวอะหวะ เสียชีวิต

โดย นางคำ มูลแก้ว อายุ 73 ปี เป็นคนเห็นเหตุการณ์คนแรก และบ้านยังติดกับบ้านที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์พิตบูล 2 ตัว เล่าว่า ในวันเกิดเหตุ ตนอยู่ในบ้าน เห็นนายทอง (ผู้เสียชีวิต) เดินถือไม้เท้าทั้ง 2 ข้าง เดินออกจากซอย เนื่องจากนายทองพิการขาขวา จึงต้องใช้ไม้เท้า ระหว่างที่นายทองเดินผ่านหน้าบ้านที่เลี้ยงพิตบูล สุนัขทั้ง 2 ตัว ลอดออกจากประตูรั้วหน้าบ้าน พุ่งกระโจนฟัดนายทองอย่างบ้าคลั่ง เข้ากัดต้นคอนายทอง จนเนื้อคอหลุดเป็นแผลเหวอะหวะเปิดกว้างทั้ง 2 ข้าง จึงตะโกนเรียกเจ้าของสุนัขให้ออกมาช่วยเหลือ ใช้เวลาเกือบประมาณ 3 นาที จึงสามารถเอาสุนัขเก็บเข้ากรงได้

ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เนื่องจากกลัวสุนัขกัด จนเจ้าของนำเข้ากรง จึงช่วยกันนำตัวนายทองส่งโรงพยาบาลแม่สายทันที แต่นายทองเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการสอบถามชาวบ้าน ทราบว่า บ้านที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์พิตบูลอยู่ปากซอย เวลาที่เจ้าของปล่อย สุนัขมักจะไปกัดไก่ของชาวบ้านเป็นประจำ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เอาเรื่องอะไร เพียงแต่บอกให้เจ้าของคอยดูแลสุนัขให้ดี เนื่องจากเห็นเป็นเพื่อนบ้านกัน ไม่อยากมีปัญหา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็เริ่มผวา ไม่กล้าออกจากซอยหรือเดินผ่านบ้านหลังดังกล่าว

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านผาหมี จ.เชียงราย

วันนี้เมื่อ 52 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา ที่มีเลขโค้ด 6 หลัก เพื่อใช้แทนเลขบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเป็นการเสด็จฯ ไปทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ ทั้งกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงนำวัวพระราชทานให้เลี้ยง พร้อมหาจุดรับซื้อให้ ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ของดีขึ้นเท่านั้น…แต่ยังเป็นการยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนก็คือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ 

เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำ ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งตรงกลางคือตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) ตามด้วยหมายเลขโค้ด 6 หลัก สำหรับใช้แทนเลขบัตรประชาชน พระราชทานแก่ชาวเขาบ้านผาหมีด้วย 

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ชาวเขาตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 20 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งหมดกว่า 200,000 เหรียญ โดยทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัด พร้อมหมายเลขประจำเหรียญตอกกำกับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนให้กับชาวเขา

‘NGO’ สิทธิเด็กฯ ผุดแคมป์นานาชาติพันธุ์-ชนเผ่า ที่ จ.เชียงราย เปิดแล้ว 10 ห้อง รายได้ส่วนหนึ่งสมทบ ‘มูลนิธิเพื่อนลูกสาวไทย’

(27 ธ.ค. 66) ผู้บริหารจากองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิเด็กหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ได้ร่วมลงทุนสร้างแคมป์หรูหรา ‘Visama Mae Chan’ อยู่ติดกับป่าเขาใกล้ดอยจระเข้ เลขที่ 614 หมู่บ้านสันโค้ง หมู่ 10 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เดือนเมษายน 66 จนแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2566 เป็นต้นมา

ซึ่งรูปแบบสิ่งปลูกสร้างที่พักแห่งนี้ดูแปลกตา สร้างอิงอยู่กับธรรมชาติของต้นไม้ ทุ่งนาและภูเขา บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 120 ไร่ รวมถึงที่พักและบริการต่างๆ ก็เน้นให้เข้ากับธรรมชาติ ไร้การให้บริการเรื่องโทรทัศน์ แต่ราคาค่าบริการในระดับเดียวกับโรงแรมขนาดใหญ่

โดย Visama Mae Chan ตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนบ้านสันโค้งเข้าไปใกล้กับเขตป่า ด้านหน้าเป็นกอไผ่และใช้ไม้ไผ่ทำรั้ว มีทุ่งนาและเลี้ยงควายเผือกเป็นฉากทิวทัศน์ และด้านข้างมีอาคารต้อนรับ-ร้านอาหารเป็นเรือนไม้ 1 ชั้น ส่วนห้องพักจะอยู่ใต้ต้นไม้ เป็นสิ่งปลูกสร้างทรงยกสูงแต่ใช้ผ้าใบเต็นท์เป็นผนังหลัก มุ่งให้ผู้เข้าพักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่มีความเป็นเอกลักษณ์และหรูหรา หรือ ‘ลักชัวรีเต็นท์แคมป์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ’

ปัจจุบันมีที่พักรูปแบบดังกล่าวที่สร้างแล้วเสร็จอยู่จำนวน 10 หลัง แบ่งเป็นเต็นท์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเชียงราย คือ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า 7 หลัง, เย้า 1 หลัง, ลาหู่ 1 หลัง และ ลีซู 1 หลัง แต่ละเต็นท์มีขนาด 48-80 ตารางเมตร และมีเฉลียงขนาด 12-20 ตารางเมตร แล้วแต่ชนิดของเต็นท์

ภายในมีเตียงนอน ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัยและหรูหรา แต่เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ โดยคิดค่าเข้าพักสำหรับเต็นท์อาข่าคืนละประมาณ 18,000 บาท และถ้าเป็นช่วงโปรโมชันลดเหลือ 13,600 บาท, เต็นท์เย้า 16,000 บาท, เต็นท์ลาหู่ 19,000 บาท และเต็นท์ลีซูประมาณ 40,000 บาท

ทุกเต็นท์จะไม่มีโทรทัศน์ให้เพื่อให้ผู้พักอยู่กับธรรมชาติอย่างสงบใจ แต่มีระบบอินเทอร์เน็ต หรือ WI-FI ให้ มีสถานที่นั่งพักผ่อนกลางทุ่งนาโดยไม่มีหลังคา เพื่อดูภาพยนตร์กลางแปลงพร้อมมีบริการเครื่องดื่มยามค่ำคืน

รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าพักได้ทำ เช่น ทำอาหารและทำความเข้าใจกับอาหารล้านนา, วาดภาพ, ปั้นดินเผาและงานมืออื่นๆ, ยิงธนู, ปลูกต้นไม้แล้วติดป้ายชื่อเพื่อให้ระลึกถึง, นวด-สปากลางทุ่งนา, ผจญภัยกลางแจ้ง, สระว่ายน้ำ, บริการนำเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในเชียงราย ฯลฯ

ซึ่งบางรายการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น วาดภาพประมาณ 3,200 บาท ฯลฯ โดยมีข้อมูลเผยแพร่และเปิดให้จองทาง https://maechan.visamalodges.com/ พร้อมระบุ รายได้ส่วนหนึ่งจะนำเข้าช่วยเหลือเด็กๆ ใน ‘มูลนิธิเพื่อนลูกสาวไทย’ ด้วย

‘Mr.Christopher Stafford’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Visama Mae Chan กล่าวว่า “เราตั้งใจให้ Visama Mae Chan เป็นสถานที่เต็นท์แคมป์แบบหรูหรา ซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่สถานที่ส่วนตัว แต่เป็นสาธารณะด้วย ทั้งนี้ เราพยายามเชื่อมโยงผู้เข้าพักกับอาหารไทย เพราะถือเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มาก และในฐานะที่ตนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 23 ปี ก็รู้สึกรักอาหารไทยที่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศมาก”

ด้าน ‘นายสุพจน์ วงค์หนังสือ’ ผู้จัดการทั่วไป Visama Mae Chan กล่าวว่า “หลังจากเปิดให้บริการก็พบว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือ ชาวอเมริกันและยุโรป แต่เราก็อยากประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นได้รับทราบด้วย”

ทั้งนี้ Visama Mae Chan เกิดจากผู้บริหารขององค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ บางคนอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี ได้พัฒนาพื้นที่นี้ทำธุรกิจ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเด็กๆ ดังกล่าว ซึ่งนอกจากลักชัวรีเต็นท์แคมป์ทั้ง 10 หลังดังกล่าว แล้วยังมีแผนจะขยายออกไปอีก 10 หลังในภูเขาบริเวณใกล้กันด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการขยายในปี 2567 ที่จะถึงนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top