สื่อนอกตีข่าว 'ศิลปะ (แมว) บนนาข้าว' เบียนนาเล่เชียงราย เปลี่ยนผืนนา เป็น 'แลนด์มาร์ก-แหล่งท่องเที่ยว' กระหึ่มโลก

นาไทย ศิลปะไทย ดังไกลกระหึ่มโลก ภายหลังจากสำนักข่าว 'รอยเตอร์' ได้ตีข่าว 'เบียนนาเล่เชียงราย' ศิลปะบนนาข้าว 'เจ้าเหมียว' ซึ่งเป็นแมวกอดปลา หลับปุ๋ยบนปุยเมฆ จนดังไกลไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้

(19 ธ.ค.66) 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' เป็นงานศิลปะจัดวางรูปแมวกอดปลาบนนาข้าวที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ที่ฮือฮาแพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ และสำนักข่าวอย่าง 'รอยเตอร์' ก็ได้นำไปเผยแพร่ โดยเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะระดับโลกฝีมือคนไทยที่ได้โชว์ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็ม โดยงานศิลป์บนนาข้าวจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่เชียงรายที่นักท่องเที่ยวเข้าชมและเช็กอินกับท้องนาสีสันสดใส ผลงานสุดมหัศจรรย์นี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 2566

ธันย์พงค์ ใจคำ เจ้าของพื้นที่ผู้ให้การสนับสนุนสร้างงานศิลป์ร่วมสมัย 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' กล่าวว่า ศิลปะบนนาข้าวเกิดจากได้รับโอกาสจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในการปลูกข้าวสายพันธุ์สรรพสี ซึ่งต้นข้าวจะมีหลายสี  โดย จ.เชียงราย เป็น 1 ใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดทำโครงการศิลปะบนแปลงนา ซึ่งสอดรับกับเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ จึงนำโครงการนี้ไปพูดคุยกับสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย นำมาสู่การทำงานร่วมกับศิลปินขัวศิลปะ ซึ่งชื่นชอบแมวเช่นกัน ได้แนวคิดออกแบบภาพแมวกอดปลานี้ร่วมแสดง Thailand Biennale Chiangrai แล้วยังมีภาพแมวนอนหลับ และแมวตาโต ที่ตรงกับโจทย์มหกรรมครั้งนี้ the Open World หรือ เปิดโลก

จากรูปที่ศิลปินออกแบบแล้ว ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กำหนดตำแหน่ง ลวดลายเส้น  ทำงานกับแปลงนาข้าว ก่อนนำข้าวปักตามตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยทยอยปลูกข้าว เริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และเกิดเป็นงานศิลปะสามารถเข้าชมแบบไม่เป็นทางการได้บนเนื้อที่ราว 5 ไร่  ช่วงหนาวนี้ข้าวกำลังเจริญเติบโต เฉดสีเริ่มเปลี่ยน ซึ่งสีสันของผลงานจะสวยที่สุดสิ้นเดือนธันวาคม เพราะปีนี้ฤดูหนาวมาล่าช้าเป็นเดือน

สำหรับสายพันธุ์ข้าวสรรพสีเหล่านี้จะปรากฏสีบนแผ่นใบชัดเจน และสวยงามมากเมื่อปลูกในช่วงฤดูหนาว ข้าวสรรพสีมีหลากหลายสี สีพื้นบ้านเป็นสีเขียว และสีม่วงอมดำ โดยในแปลงจะมีข้าวทั้งหมด 7 สี ที่มองเห็นเฉดสีที่แสดงออกบนใบข้าวแต่ละพันธุ์ จากแถบสีแดง สีชมพู สีม่วง สีฟ้า สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว คล้ายกับสายรุ้ง นอกจากได้ท้องนาสีสันศิลปะแต่มแต้มด้วยงานศิลป์แล้ว ใบข้าวสรรพสีมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหาร ธาตุอาหารรอง และกรดอะมิโนที่ดีที่สุดด้วย

ศิลปะบนนาข้าว หรือ Tanbo Art  ธันย์พงค์ บอกว่า Tanbo Art เป็นทั้งนวัตกรรมและงานศิลปะที่พบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและออกแบบลวดลายบนแปลงข้าว สำหรับในประเทศไทย เป็นอีกมิติใหม่ของการทำนา ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวนา ที่โดยทั่วไปอยู่ในความยากจนและด้อยโอกาส เพราะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยว งานศิลปะนี้เปิดมุมมองให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เปิดโลกการเรียนรู้ การปลูกข้าวสรรพสี นอกจากเมล็ดข้าวไปบริโภคแล้ว ยังมีด้านศิลปะเพื่อความสวยงาม ด้านเทคโนโลยีในการปลูก ไทยแลนด์เบียนนาเล่จะเป็นโอกาสสำคัญถ่ายทอดเรื่องนี้ ชวนทุกคนมาสัมผัสข้าวหลากสีกับผลงานศิลปะตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ต่อเนื่องมกราคม กุมภาพันธ์ ทุ่งข้าวจะมีสีชมพูสวยงาม ก่อนจะเก็บเกี่ยวกลางเดือนมีนาคม 2567  

อากาศดีๆ ชวนไปเสพงานศิลป์ที่เชียงราย Thailand Biennale, ChaingRai 2023 ไม่ได้มีแค่แปลงนาสวยๆ รออยู่ ยังมีผลงานของ 60 ศิลปินจาก 21 ประเทศ จัดแสดงทั้งที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiangrai International Art Museum : CIAM ใกล้กับสนามบินแม่ฟ้าหลวง งานศิลปะระดับโลกที่โชว์ทั้งอำเภอเมือง อ.เชียงแสน อ.แม่ลาว และ อ.พาน

ไทยแลนด์เบียนนาเล่นี้มีบริการข้อมูลนิทรรศการทั้งที่เป็นเอกสารและแบบสแกน QR Code พร้อมทั้งบริการรถตู้รับส่งตามเส้นทางต่างๆ นำชมนิทรรศการศิลปะในพื้นที่ รวม 6 เส้นทาง 14 จุดบริการ วันละ15 คัน จำนวน 3 รอบต่อวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น. ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2567 สนใจคลิกได้ที่เว็บไซต์เส้นทางให้บริการรถนำชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย TBC2023 https://biennalechiangrai-media-info.my.canva.site/website-tbc2023-transportation เพจและเฟซบุ๊ก Thailand Biennale,Chaing Rai 2023