Sunday, 28 April 2024
เชียงราย

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ไล่ล่าข้ามประเทศ ติดตามผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับประวัติสุดแสบ 4 ราย จากประเทศเมียนมา

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม. ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.เดชา กัลยาวุฒิพงศ์ ผบก.ตม 5,พ.ต.อ.เอกกร บุษบาบดินทร์ รอง ผบก.ตม.5,พ.ต.อ.ยศภณ จรรยาสถิต รอง ผบก.อก.สตม.,  พ.ต.อ.เศรษฐภัทร ณ สงขลา ผกก.สส.บก.ตม.5 และ พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ แสงเดือน ผกก.ตม.จว.เชียงราย ร่วมแถลงข่าว ดังนี้

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 ได้รับการประสานจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่ามีผู้ต้องหาสำคัญหลายราย หลบหนีหมายจับคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มาหลบซ่อนตัวอยู่ใน เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จึงได้ประสานงานหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และคณะกรรมการชายแดนท้องถิ่นไทย – เมียนมา (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก)

ในการสืบสวนจับกุม โดยนำตำหนิรูปพรรณและข้อมูลประสานการปฏิบัติในการติดตามตัวผู้ต้องหาดังกล่าว ต่อมาได้รับแจ้งจากตรวจคนเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้จับกุมตัวคนไทย 4 ราย ได้แก่

1.) นายกฤษณะ อายุ 28 ปี

2.) นายอธิปไตย อายุ 38 ปี

3.) นายยุทธนา  อายุ 35 ปี

4.) นายปราการ  อายุ 34 ปี

ในความผิดฐานยาเสพติดและหลบหนีเข้าเมือง โดยได้ดำเนินคดีจนถึงที่สุดเรียบร้อยแล้ว

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงรายได้ประสานรับมอบตัวผู้ต้องหา ณ บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากนั้นได้ทำการตรวจสอบข้อมูลบุคคลในระบบทะเบียนราษฎร์ ระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(POLIS) และระบบสารสนเทศสถานีตํารวจ(CRIMES) พบว่ามีข้อมูลยืนยันว่าเป็นบุคคลตามหมายจับตามที่ได้ประสานไว้ ดังนี้

1.) นายกฤษณะ  อายุ 28 ปี เป็นบุคคลที่มีหมายจับศาลจังหวัดพิจิตร ที่ จ 146/2559 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน“ลักทรัพย์นายจ้าง หรือรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11),357”

2.) นายอธิปไตย อายุ 38 ปี เป็นบุคคลที่มีหมายจับศาลจังหวัดพะเยา ที่ จ. 182/2553 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2553 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน“มีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และ หมายจับศาลจังหวัดพัทยา ที่ 308/2552 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน“จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า)โดยไม่ได้รับอนุญาต”

3.) นายยุทธนา อายุ 35 ปี เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดยะลา ที่ 79/2563 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ยักยอกทรัพย์” และ หมายจับศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ 115/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน“พยายามในข้อหาฆ่าผู้อื่น”

4.) นายปราการ อายุ 34 ปี เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 228/2560  ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน ไฮโตรคลอไรด์)มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปโดยผิดกฎหมายฯ” และ หมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 310/2560 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงรายจึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายเป็นเครือข่ายยาเสพติดที่หลบหนีในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยเฉพาะนาย กฤษณะ เป็นหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดมันทุกเม็ด

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเทศเพื่อนบ้าน ให้บริการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ

หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด  กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178  หรือที่ www.immigration.go.th ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

เชียงราย ซ้อมรับมือชาวเมียนมา ทะลักข้ามแดนจากสถานการณ์การเมือง

วันที่ 19 มี.ค.64 เจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง นำโดย พันเอก สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3  นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนราชการ หน่วยงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครกิจการพลเรือน ในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้จัดการฝึกซ้อมแผน และ การฝึกเฉพาะหน้าที่ ตามแผนการฝึกอพยพพลเรือน ปี 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การข้ามพรมแดนของประชาชนจากประเทศเมียนมา จากสถานการณ์การเมือง

โดยมีการแบ่งหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อรับมือกับกลุ่มคนที่อาจจะทะลักเข้ามาจากชายแดนประเทศเมียนมา จำนวนมาก โดยจะต้องมีการคัดกรองโรค ในอันดับแรก เพื่อป้องการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด - 19 และการคัดแยกผู้คนตามกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีทั้ง ประชาชนชาวเมียนมา ประชาชนชาวไทย นักการเมืองชาวเมียนมา และบุคคลสำคัญ ซึ่งจะต้องซักซ้อมในการลำเลียงบุคคลต่าง ๆ ไปยงสถานที่ที่รองรับของแต่ละกลุ่ม

การฝึกซ้อมครั้งนี้เป็นแผนการฝึกซ้อมประจำปี ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมา ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากเกิดความรุนแรงและมีประชาชนอพยพเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย จะได้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ และเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่าย สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นไปตามแผนที่ซักซ้อมเอาไว้


ภาพ/ข่าว : ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย บวชป่าชุ่มน้ำ อนุรักษ์สู่ระบบนิเวช ผลักดันเข้าสู่แรมซ่าไซ

วันที่ 22 มี.ค.64 ที่ป่าส้มแสง พื้นที่ชุ่มน้ำ บ้านป่าข่า ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย นายญาณวุฒิ สุดพิมศรี นายอำเภอขุนตาล  ได้เป็นประธานในพิธีบวชป่าส้มแสง ป่าต้นน้ำแม่น้ำอิง โดยมีนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำโขงภาค เหนือ  ร่วมกับตัวแทนเครื่อข่ายองค์กรไม่แสวงผลกำไร กลุ่มรักษ์เชียงของ เครื่อข่ายนักอนุรักษ์ นายสุทธิ มะลิทอง รองผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลาย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย รวมไปเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านบ้านป่าข่า เข้าร่วมพิธีบวชป่าในครั้งนี้

สำหรับป่าชุ่มน้ำป่าข่า เป็นป่าที่มีความพิเศษที่มีต้นชุมแสงหรือ ส้มแสง ขนาดใหญ่ ที่เป็นต้นไม้โตช้า โดยอายุกว่า 300 ปี ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ไม่เคยเห็นที่อื่น ถือว่าที่นี่เป็นที่เดียวของประเทศไทยและโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วม 1-3 เดือน มีต้นไม้อยู่ไม่กี่ประเภทที่อยู่ได้ โดย 1 ในนั้นคือต้นชุมแสง ปกติมักเจอในป่ากแม่น้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง เมื่อน้ำเอ่อขึ้นมา ซึ่งป่าชุมน้ำอิงมีพันธุ์พืช 60 - 70 ชนิด ส่วนสัตว์มีมากกว่า 200 ชนิด ช่วงนี้ชุมแสงกำลังออกออก เดือนเมษายนจะมีผล เมื่อตกลงมาจะกลายเป็นอาหารปลาและสัตว์ป่ารวมถึงนก กลายเป็นระบบนิเวศซับซ้อนและเป็นอัตลักษณ์

นายสุทธิ มะลิทอง รองผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลาย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า ป่าบ้านป่าข่าเป็นป่าน้ำท่วมตามฤดูกาล มีน้ำเข้ามาท่วม 1-3 เดือนฤดูฝน มีต้นไม่ไม่กี่ชนิดอยู่ได้ มีต้นชุมแสง ต้นข่อย ที่ทนทานสภาวะการถูกน้ำท่วม ป่าพวกนี้เป็นป่าริมน้ำคอยดักจับตะกอน และเวลาใกล้ปากแม่น้ำเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แม่น้ำอิงติดต่อแม่น้ำโขง ทำให้ปลาน้ำโขงเข้าแม่น้ำอิงและป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัย แพร่พันธุ์ของปลา

"ป่าชุมแสงหรือส้มแสง เป็นป่าที่ทนทานและโตช้า ในป่าแห่งนี้มีอายุมายาวนาน กว่า 300 ปีถือว่าสุดยอดที่เป็นวิสัยทัศนของคนในชุมชน จริง ๆ ต้นชุมแสงมีการกระจายตัวอยู่ทุกภาค แต่การเป็นป่าผืนใหญ่มีไม่เยอะ ที่นี่เป็นจุดใหญ่ ต้นชุมแสงขนาดใหญ่ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะเรา หาป่าชุมแสงแบบนี้จากที่อื่นไม่มีแล้ว” รองผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลาย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย  กล่าว

ในส่วนของภาครัฐนั้นหากยกระดับเป็นพื้นที่ชุมน้ำนานาชาติได้ ก็ได้รับการสนับสนุนจากแรมซ่าไซ ชุมชนอนุรักษ์ป่าอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เป็นกลาง รับฟังความต้องการของชุมชน ยึดในเรื่องความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ และกฎหมายรองรับควรมีความชัดเจนมากขึ้นไม่ใข่แค่มติครม.


ภาพ/ข่าว : ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย - เข้มรับมือสงกรานต์ ป้องกันอุบัติเหตุและอาชญากรรม

เวลา 19.45 น.วันที่ 7 เม.ย. 64  พล.ต.ต.ชินวิช วิชัยธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ได้เดินทางตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์นางแล สภ.บ้านดู่ ตามนโยบายของ รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการอกนวยความสะดวกในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมไปถึงดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

โดยได้เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ ให้ปฏิบัติด้วยความสุภาพ เรียบร้อย ในการให้บริการต่อพี่น้องประชาชน เน้นบริการและอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางและดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดและเข้ามาในพื้นที่ เพิ่มความเข้มในการตรวจเฝ้าระวัง  สืบสวน และจับกุมการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง  แรงงานต่างด้าว ทั้งขาเข้าและขาออก ที่จะมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้อุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น หน้ากาก, ถุงมือ โดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดต่อโรคโควิด-19  การตั้งด่านห้ามมีการเรียกรับผลประโยชน์โดยเด็ดขาด  การปฏิบัติหน้าที่ให้แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้ง เสื้อผ้า ทรงผม การพกพาอาวุธและเครื่องมือสื่อสาร การตั้งจุดตรวจฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดทั้งรูปแบบและอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย - สสส.-กพย. ชู กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียง เป็นต้นแบบอำเภอขับเคลื่อนการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเหมาะสม-ปลอดภัย ลุยแก้เครื่องสำอางค์-ยาอันตรายในชุมชน-ปัญหายาชายแดนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและระบบยา : อำเภอเชียงของ พบการดำเนินงานเข้มแข็งและสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. พร้อมหนุน “กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ” สู่การขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย และการใช้ที่ไม่เหมาะสมจากการได้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้บริโภค เป็นปัญหาที่นำไปสู่การผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน  สสส. จึงมียุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถและมีระบบและสังคมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาชนให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรการควบคุมเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน เช่น ปัญหาจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังระบบยาในระดับพื้นที่และระดับภาค  สร้างและจัดการความรู้เพื่อการเฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม เพื่อลดอันตรายจากความเสี่ยงดังกล่าว

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ในพื้นที่  อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2562 โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ พบว่า ยาที่มีการจำหน่ายมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Dexamethasone Prednisolone) 2.ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 3.สเตียรอยด์ครีมสำหรับเป็นเครื่องสำอางค์ 4.สเตียรอยด์ครีมสำหรับใช้ทั่วไป และ 5.ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ ปัจจัยที่ซื้อบริโภค แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุและใช้แรงงานใช้ยาสเตียรอยด์แก้ปวดเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้ 2. กลุ่มวัยรุ่นใช้ยาครีมสเตียรอยด์ทาเพื่อให้ผิวขาว และ 3. กลุ่มประชาชนทั่วไปใช้ยาครีมสเตียรอยด์ในการแก้แพ้ แก้คัน จากกลไกการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ของกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในพื้นที่เชียงของ ลดลงจากร้อยละ 100 ใน พ.ศ. 2557 เหลือร้อยละ 20 ใน พ.ศ. 2562  ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เข้มแข็งสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. จึงขอยกระดับกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ สู่การเป็น “อำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าว

ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์อาจส่งผลให้เกิดผู้ป่วยโรคไต และเสียชีวิตจากอาการไตวายเฉียบพลัน จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้ป่วย ของกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ พบว่า มีผลิตภัณฑ์ยาที่มีฉลากที่ไม่ใช่ภาษาไทยและยาแก้ปวดกลุ่มสเตียรอยด์ที่บ้านผู้ป่วยหลายราย และเมื่อลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับคนผู้ขายในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอเวียงแก่น พบว่า ยาส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในตลาดนัดชายแดน ตลาดนัดพื้นที่ใกล้เคียง และกระจายวงกว้างไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ผ่านรถประจำทาง ขนส่งเอกชนและทางพัสดุไปรษณีย์

“การดำเนินการคุ้มครองสุขภาพประชาชนและแก้ไขปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในชุมชน มีวิธีการทำงานแบบคู่ขนาน คือ การให้ความรู้ในชุมชนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยประสานงานกับเจ้าของตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าในตลาดรับทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ และร่วมกับ อสม. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมในชุมชน สำรวจร้านชำ รวมถึงการ MOU ร่วมกับหน่วยงานทางปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่าน อย. เชียงของ ด่านควบคุมโรคเชียงของ รพ.สต. และประเทศเพื่อนบ้าน ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ข้ามแดนระหว่าง 2 พื้นที่ ไทย-ลาว เพื่อป้องกันควบคุมการลักลอบนำเข้าและการจำหน่ายในพื้นที่  ซึ่งทาง สสส. จัดเวทีให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนงานวิชาการต่าง ๆ ผ่านทางศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) มีการขยายพื้นที่การทำงานไปได้มากขึ้น จากเดิมที่เริ่มต้นในสามพื้นที่ ปัจจุบันได้ขยายไปครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย” ภก.อิ่นแก้ว กล่าว

ด้าน นายธนชัย ฟูเฟื่อง สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สมาคมฯ ดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค สสส.ได้ร่วมสนับสนุนการยกระดับความเข้มแข็งให้เป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ผ่านกลไกสนับสนุนในภาคเหนือ ทำหน้าที่เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้คำปรึกษาให้ความรู้กับประชาชน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับ กพย. ทำให้ได้รับการพัฒนาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยาอันตราย บทบาทการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในพื้นที่ เฝ้าระวังโฆษณาทางวิทยุ รวมถึงการทำงานร่วมกับเภสัชด้านคุ้มครองผู้บริโภค ที่ กพย. ได้ช่วยในการให้มีกระบวนการดำเนินงานร่วมกัน ถือเป็นการเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกมิติ

เชียงราย - สสส. ผนึก 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม MOU ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 โรงเรียนใน จ.เชียงราย พร้อมมอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น

ด้านผู้ว่าฯ เชียงราย ชื่นชม นวัตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สสส. ทำให้เด็กรู้ภัยอันตราย PM2.5 สู่การเป็น “พลเมืองใหม่” ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ลดวิกฤตฝุ่นควันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เตรียมขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย” พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงใน จ.เชียงราย ต้นแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในปี 2562 จ.เชียงรายเป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จึงไม่ใช้สาเหตุหลักของค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง อย่างเช่น เมียนมา ลาวเข้ามา พร้อมกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูงทำให้เกิดการขังตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย เพราะมีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาการระคายเคืองตาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วม 10 โรง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก และคนในชุมชนรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งได้ และทางเชียงรายมุ่งสร้าง “พลเมืองใหม่” ที่สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผานา-ไร่ในพื้นที่ได้

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดและขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด อบจ.เชียงรายทั้งหมด 41 โรง รวม จ.เชียงรายมี 51 โรง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน และมลพิษข้ามแดน” โดยการเสริมสร้างทรัพยากรด้านความรู้ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตร การเรียนรู้ในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถรู้เท่าทันภัยฝุ่น PM2.5 และสื่อสารส่งต่อองค์ความรู้สู้ภัยฝุ่น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะเด็กและประชากรในจังหวัดเชียงรายได้

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส. จึงร่วมสานพลังกับภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนจังหวัดอื่น ๆ ภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีค่านิยมและจิตสำนึกไม่เผานา เผาไร่ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชนรวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเอื้อต่อการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ต่อมาเวลา 14.00 น. คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. นำโดยนายชาญเชาวน์     ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงาน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สนับสนุนโดย สสส. ที่โรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล อ.แม่สาย จ.เชียงราย 1 ใน 10 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จ.เชียงราย 

โดย ดร.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล กล่าวว่า โรงเรียนบ้านป่าแฝฯ เคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในเดือนตุลาคม 2563 ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ มีความรู้สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และติดธงสีต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ 2 ครั้งต่อวัน คือ ในช่วงเช้าและเที่ยง หากแกนนำนักเรียนปักธงสีแดง หมายถึง มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เด็กนักเรียนจะงดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกันนี้ยังได้นำความรู้เรื่องการไม่เผานา-ไร่ ส่งต่อยังผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดฟางข้าวด้วยการหมักทำปุ๋ยทดแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่

เชียงราย - เปิดโครงการสายตรวจร่มบิน แจ้งเหตุทางอากาศ

เปิดโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” สนับสนุนภาระกิจทางอากาศ ทั้ง ชี้ภาพการจราจรในช่วงเทศกาล  จุดเกิดไฟป่า ป้องกัน PM 2.5 ติดตามเป้าหมายคนร้าย ชี้เป้าหมายทางอากาศ

เวลา 16.00 น.วันที่ 9 เม.ย.64 ที่ สภ.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผบก.กองปราบ/ผอ.กองสลาก เข้าร่วมพิธี เปิดโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย”  โดยมี พ.ต.อ.สันติ กองสมัคร รอง ผบก.ภ.จว.เชียงราย เป็นประธานในการเปิดโครงการ โดย พ.ต.อ.ภาสกร ณ พิกุล ผกก.สภ.บ้านดู่ พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจ สภ.บ้านดู่   ชมรมร่มบิน จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลบ้านดู่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยโครงการสายตรวจทางอากาศ  “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการตรวจสภาพการจราจรในช่วงเทศกาลต่าง ๆ 1. เพื่อลดปัญหาด้านจราจร อุบัติเหตุ 2. เพื่อสนับสนุนารทำงานของสายตรวจภาคพื้นดินในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม 3.เพื่อชี้เป้าจุดที่เกิดไฟป่าและค้นหาตัวผู้กระทำผิด ได้อย่างรวดเร็ว 4. เพื่อสนับสนุนภารกิจที่จำเป็นต้องใช้อากาศยานเบาหรือได้รับการร้องขอจากหน่วยงานข้างเคียง เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามที่ร้องขอได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

พ.ต.อ.สันติ กองสมัคร  กล่าวว่า  ปัจจุบัน มีปัญหาอาชญากรรม  การจราจร และการลักลอบเผาป่า   ทำให้เกิดหมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับช่วง  เทศกาลสงกรานต์ ที่จะมาถึงมีพี่น้องประชาชน ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา  เป็นจำนวนมาก อาจมีปริมาณรถที่หนาแน่นและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ มีความจำเป็นในการใช้ร่มบิน(พารามอเตอร์)ในการตรวจการ  สังเกตการณ์จากที่สูงมีของสภาพการจราจร  เพื่อลดความหนาแน่นของการใช้เส้นทางหลักและการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การติดตาม ชี้เป้าหมาย เพื่อง่ายต่อการสกัดจับกุมผู้กระทำความผิดต่างๆและการใช้ในการ     ตรวจการณ์ ป้องกันการลักลอบเผาป่า ที่เป็นสาเหตุหมอกควัน

สำหรับโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” มีที่ตั้งและศูนย์ประสานงานชุดเฉพาะกิจสายตรวจทางอากาศ สภ.บ้านดู่ เลขที่ 550 ม.2 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จว.เชียงราย สามารถจัดเตรียมเก็บขึ้นรถยนต์เพื่อเตรียมพร้อม บินได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที อัตราความเร็วในการบินจะอยู่ที่ประมาณ 40-55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของร่มด้วย เชื้อเพลิง 10 ลิตร จะบินได้ประมาณ 3 ชม. ถ้าสภาวะอากาศเอื้ออำนวย การบินแต่ละครั้งจึงไปได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตร และพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ เมื่อได้รับมอบหมายในทันที


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์  เชียงราย

เชียงราย - จัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม 500 เตียง รับมือโควิด-19

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย  โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตลอดทั้วหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางยับยั้งการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และสรุปข้อสั่งการจาก ศบค. และ ศบค.มท.

โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์และประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดยังไม่พบการระบาดในพื้นที่ มีผู้ติดเชื้อจำนวน 12 ราย ส่วนใหญ่รับเชื้อมาจากสถานบันเทิงในจังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด

สำหรับการประชุมในวันนี้ ได้ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายในประเทศ และของจังหวัดเชียงราย ติดตามการเตรียมความพร้อมสถานที่ และเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 500 เตียง ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ติดตามการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ติดตามการออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงรายที่ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่เที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 10 ถึง– วัน ที่ 23 เมษายน 2564 และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) การจัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย

พร้อมกันนี้ ประธานที่ประชุมได้เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัดอีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมืองเจียงฮายอีกด้วย

เชียงราย - พบผู้ป่วยรวม 37 ราย ผู้ว่าฯเผยยังไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ เตรียมแผนรองรับ มั่นใจเอาอยู่

ผู้ว่าฯเผยยังไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ เตรียมแผนรองรับมั่นใจเอาอยู่ พบผู้ติดเชื้อในจังหวัด 37 ราย โดยมาจากที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ยังไม่พบญาติหรือผู้ใกล้ชิดติดเชื้อ เชื่อเอาอยู่ เตรียมพร้อมสถานที่รองรับหากแพร่ระบาดจำนวนมาก ชี้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าผู้ป่วยโควิดขอให้ระวังช่วงสงกรานต์ ให้ด่านตรวจแนะนำการป้องกันโควิด -19 และเช้มเมาไม่ขับ

วันที่ 11เมษายน 64 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน และมอบน้ำดื่ม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานตามจุดตรวจและจุดบริการประชาชน ซึ่งตั้งขึ้นตามมาตรการป้องกันอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ โดยส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตรวจสอบสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัส โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

นายประจญ ปรัชญ์สกุล  กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายพบผู้ติดเชื้อโควิด -19 แล้วจำนวน  37 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นการติดเชื้อมาจากจากสถานบันเทิงที่กรุงเทพ และเชียงใหม่ ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงซึ่งเป็นญาติพี่น้องของผู้ติดเชื้อซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบว่าติดเชื้อ นั่นก็หมายถึงว่ายังไม่มีการระบาดในพื้นที่ จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจให้คำแนะนำเรื่องของการระมัดระวังป้องกันโควิด 19 กับผู้สัญจรให้ปฏิบัติตนตามมาตรการที่สาธารณสุขให้คำแนะนำไว้

"การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลแต่ละปีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดพบว่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะการเมาแล้วขับในช่วงเทศกาล ซึ่งจังหวัดเชียงรายเสียชีวิตแล้ว 1 ราย  อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมเรื่องของการสถานที่ให้การรักษาหรือโรงพยาบาลสนาม จังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมเตียง ห้องพัก ที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิดเอาไว้ นอกจากโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว ยังมีโรงพยาบาลชุชน โรงพยาบาลเอกชน และที่สำคัญมีที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมั่นใจว่าสามารถรองรับผู้ป่วยที่จะตรวจพบได้อย่างต่ำ 400 ราย และถ้าพบมากกว่านั้นก็ยังมีสถานที่ซึ่งสามารถเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามได้อย่างเพียงพอ


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์ เชียงราย

เชียงราย - สกัดแก๊งค้ายาช่วงสงกรานต์ ยึดยาบ้าเกือบ 6 หมื่นเม็ด ยาเค อีก 56 กิโลกรัม

ที่ สภ.แม่สาย พ.ต.อ.พิพัฒน์ นาระเดช ผกก.สภ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมด้ย พ.ต.ท.คมกฤช ไชยสาร รอง ผกก.ป.สภ.แม่สาย พ.ต.ท.อนุพันธ์ กันถารัตน์ รอง ผกก.สืบสวน สภ.แม่สาย พ.ต.ท.พีรพจน์ ธุระกิจ  สว.สส.สภ.แม่สาย พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่พริก  จ.ลำปาง ได้ร่วมกับจับกุมตัว นายตาน ทุน อ่อง อายุ 37 ปี ชาวสัญชาติพม่า  พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 2 ถุงๆ ละ 127 เม็ด และ 140 เม็ดตามลำดับรวมทั้งหมดจำนวน 267 เม็ด ในข้อหา "มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยผิดกฎหมาย และข้อหาเสพยาเสพติดฯ

โดยการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่พริก ได้จับกุม น.ส.จิราพร บุญรอด อายุ 34  ปี ชาว ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี น.ส.ชญาภา อินทร์น้อย  อายุ 38  ปี ชาว ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี นายณัฐกาญจน์  จันทะสน  อายุ 24  ปี ชาว ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี  จ.กาญจนบุรี และ น.ส.วีรยา  วัลลา  อายุ 36  ปี ชาว ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี พร้อมของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 59,400 เม็ด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 (เคตามีน) จำนวน 56 กิโลกรัม

จากการสอบปากคำทั้ง 4 คน ให้การซัดทอดว่าได้รับยาบ้ามาจากนางตาน ทุน อ่อง  ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย  ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่พริก จึงประสานตำรวจ จ.เชียงราย เข้าตรวจค้นห้องพักของนายตาน ทุน อ่อง  ในพื้นที่หมู่บ้านป่าเหมือด หมู่ 8 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย โดยใช้อำนาจเจ้าพนักงาน ปปส. นำโดย พ.ต.ต.สุชาติ หอมนาน สวป.สภ.แม่พริก  เมื่อไปถึง พบตัวนายตาน ทุน อ่อง และเมื่อตรวจดูในภายในห้อง พบยาบ้าจำนวน 267 เม็ด เมื่อสอบถามก็รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยังรับว่าได้เสพยาบ้าอีกด้วยเจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปตรวจหาสารเสพติดที่โรงพยาบาลแม่สายและควบคุมตัาพร้อมของกลางดำเนินคดีตามกฎหมาย

โดยกลุ่มขบวนการดังกล่าวได้อาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเป็นจำนวนมาก แฝงตัวมากับนักท่องเที่ยวโดยได้อำพรางยาบ้า ซุกซ่อนไว้ในยางอะไหล่ท้ายรถ ก่อนจะเดินทาง จาก อ.แม่สาย เพื่อมุ่งหน้าสู่ตอนในของประเทศ แต่ก็มาถูกจับกุมดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่จะได้ขยายผลติดตามเครือข่ายของผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว ณัฐวัตร ลาพิงค์

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top