Sunday, 20 April 2025
ฝีมือคนไทย

‘ดาวเทียม THEOS-2’ ฝีมือคนไทยดวงแรก เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ก.ย.นี้ เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี รองรับการเติบโตของธุรกิจอวกาศ

(14 ส.ค.66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานะโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมเพื่อการพัฒนา ‘THEOS-2’ ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ Airbus Test Facility เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยคาดว่า จะปล่อยสู่วงโคจรได้ปลายเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดในเมืองเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้

ขณะที่ดาวเทียมเล็ก THEOS-2A ประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ อาคารประกอบและทดสอบแห่งชาติ AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรม (SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คาดว่า จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

“ดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย มีการพัฒนาออกแบบโดยฝีมือคนไทย จะขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกำหนดการสามารถเลื่อนได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยดำเนินการเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศหลายส่วนและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกิจการด้านอวกาศของประเทศ อาทิ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมและการพัฒนาระบบปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน ระบบคลังข้อมูลจากดาวเทียมที่พร้อมใช้ ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสากล

รวมถึงศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม

รวมทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งหลังจากที่วิศวกรดาวเทียมของไทย 22 คน ได้ไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ณ สหราชอาณาจักรและกลับมาต่อยอดให้กับบุคลากรในประเทศ

จากนั้นจะมีการดำเนินการต่อในเรื่อง การสร้างวิศวกรใหม่ โดยการรับวิศวกรรุ่นใหม่ หรือที่มีความสนใจในการสร้างดาวเทียมมาร่วมทีมพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป และในอนาคตอันใกล้เรากำลังจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่โดยฝีมือคนไทย 100% ในนาม ‘THEOS-3’

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และมีแนวคิดที่ต้องการให้ไทยพัฒนาส่วนของเทคโนโลยีอนาคตเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เพื่อการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ เท่าทันวิวัฒนาการ และเพื่อความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม นำพาประเทศและประชาชนให้คุ้นชินกับอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดา กล่าว

ส่องชุดราตรี ‘นางงามเปอร์โตริโก’ Top 5 MU 2023 ผลงาน ‘คนไทย’ สวยหรูโดดเด่นสู่สายตาชาวโลก

(20 พ.ย. 66) การประกวด Miss Universe 2023 จบลงไปแล้ว โดยผู้ที่คว้ามงกุฎ Miss Universe 2023 ไปครอบครอง ได้แก่ ‘เชย์นิส ปาลาซิโอส’ (Sheynnis Palacios) สาวงามจากประเทศนิการากัว 

ส่วน ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2023 คว้าตำแหน่งรองอันดับ 1 เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยในการประกวดครั้งนี้ และรองอันดับ 2 คือ ‘Moraya Wilson’ นางงามจากออสเตรเลีย

ซึ่งนอกจากความภาคภูมิที่ได้รับจากสาว ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ แล้ว อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่ถือเป็นสีสันของเวที Miss Universe 2023 นี้ ก็คือชุดราตรีไล่เฉดสีน้ำเงิน-ม่วง-ชมพูที่สาวงามจากเปอร์โตริโกสวมใส่ในรอบ 5 คนสุดท้าย สวยสดใสสะดุดตา แท้ที่จริงแล้วเป็นฝีมือแบรนด์คนไทยที่มีชื่อว่า แบรนด์ GL GarlateDesign

โดยเฟซบุ๊ก GL GarlateDesign ได้โพสต์ภาพของชุดราตรีดังกล่าว ที่ยังคงสวมอยู่ในหุ่น พร้อมระบุข้อความว่า "ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ขอบคุณทุกโอกาสที่เข้ามา ขอบคุณทีมงาน GL GarlateDesign ทุกคน ที่ช่วยกันพัฒนาผลงานเพื่อส่งต่อสู่สายตาชาวโลก ทุกคำติชมทางแบรนด์ขอน้อมรับและพัฒนาแบรนด์ต่อไป ขอบคุณครับ" 

ซึ่งหลังจากที่โพสต์ไปแฟนนางงามต่างเข้ามาชื่นชม และร่วมแสดงความยินดีที่แบรนด์ไทยได้ไปปรากฏสู่สายตาคนทั่วโลก ถือว่าเป็นชุดราตรีที่มีความสวยงามโดดเด่นไม่น้อย โดยแบรนด์ GL GarlateDesign นี้ ยังเคยได้โชว์ฝีมือผ่านเวทีการประกวดมาแล้วหลากหลายเวที เช่น มิสไทยแลนด์เวิลด์ และ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ เป็นต้น

สื่อนอกตีข่าว 'ศิลปะ (แมว) บนนาข้าว' เบียนนาเล่เชียงราย เปลี่ยนผืนนา เป็น 'แลนด์มาร์ก-แหล่งท่องเที่ยว' กระหึ่มโลก

นาไทย ศิลปะไทย ดังไกลกระหึ่มโลก ภายหลังจากสำนักข่าว 'รอยเตอร์' ได้ตีข่าว 'เบียนนาเล่เชียงราย' ศิลปะบนนาข้าว 'เจ้าเหมียว' ซึ่งเป็นแมวกอดปลา หลับปุ๋ยบนปุยเมฆ จนดังไกลไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้

(19 ธ.ค.66) 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' เป็นงานศิลปะจัดวางรูปแมวกอดปลาบนนาข้าวที่บ้านขอนซุง ม.4 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ที่ฮือฮาแพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ และสำนักข่าวอย่าง 'รอยเตอร์' ก็ได้นำไปเผยแพร่ โดยเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะระดับโลกฝีมือคนไทยที่ได้โชว์ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiangrai 2023 ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็ม โดยงานศิลป์บนนาข้าวจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่เชียงรายที่นักท่องเที่ยวเข้าชมและเช็กอินกับท้องนาสีสันสดใส ผลงานสุดมหัศจรรย์นี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคม 2566

ธันย์พงค์ ใจคำ เจ้าของพื้นที่ผู้ให้การสนับสนุนสร้างงานศิลป์ร่วมสมัย 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว' กล่าวว่า ศิลปะบนนาข้าวเกิดจากได้รับโอกาสจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในการปลูกข้าวสายพันธุ์สรรพสี ซึ่งต้นข้าวจะมีหลายสี  โดย จ.เชียงราย เป็น 1 ใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดทำโครงการศิลปะบนแปลงนา ซึ่งสอดรับกับเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ จึงนำโครงการนี้ไปพูดคุยกับสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย นำมาสู่การทำงานร่วมกับศิลปินขัวศิลปะ ซึ่งชื่นชอบแมวเช่นกัน ได้แนวคิดออกแบบภาพแมวกอดปลานี้ร่วมแสดง Thailand Biennale Chiangrai แล้วยังมีภาพแมวนอนหลับ และแมวตาโต ที่ตรงกับโจทย์มหกรรมครั้งนี้ the Open World หรือ เปิดโลก

จากรูปที่ศิลปินออกแบบแล้ว ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กำหนดตำแหน่ง ลวดลายเส้น  ทำงานกับแปลงนาข้าว ก่อนนำข้าวปักตามตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยทยอยปลูกข้าว เริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และเกิดเป็นงานศิลปะสามารถเข้าชมแบบไม่เป็นทางการได้บนเนื้อที่ราว 5 ไร่  ช่วงหนาวนี้ข้าวกำลังเจริญเติบโต เฉดสีเริ่มเปลี่ยน ซึ่งสีสันของผลงานจะสวยที่สุดสิ้นเดือนธันวาคม เพราะปีนี้ฤดูหนาวมาล่าช้าเป็นเดือน

สำหรับสายพันธุ์ข้าวสรรพสีเหล่านี้จะปรากฏสีบนแผ่นใบชัดเจน และสวยงามมากเมื่อปลูกในช่วงฤดูหนาว ข้าวสรรพสีมีหลากหลายสี สีพื้นบ้านเป็นสีเขียว และสีม่วงอมดำ โดยในแปลงจะมีข้าวทั้งหมด 7 สี ที่มองเห็นเฉดสีที่แสดงออกบนใบข้าวแต่ละพันธุ์ จากแถบสีแดง สีชมพู สีม่วง สีฟ้า สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว คล้ายกับสายรุ้ง นอกจากได้ท้องนาสีสันศิลปะแต่มแต้มด้วยงานศิลป์แล้ว ใบข้าวสรรพสีมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหาร ธาตุอาหารรอง และกรดอะมิโนที่ดีที่สุดด้วย

ศิลปะบนนาข้าว หรือ Tanbo Art  ธันย์พงค์ บอกว่า Tanbo Art เป็นทั้งนวัตกรรมและงานศิลปะที่พบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและออกแบบลวดลายบนแปลงข้าว สำหรับในประเทศไทย เป็นอีกมิติใหม่ของการทำนา ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวนา ที่โดยทั่วไปอยู่ในความยากจนและด้อยโอกาส เพราะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยว งานศิลปะนี้เปิดมุมมองให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เปิดโลกการเรียนรู้ การปลูกข้าวสรรพสี นอกจากเมล็ดข้าวไปบริโภคแล้ว ยังมีด้านศิลปะเพื่อความสวยงาม ด้านเทคโนโลยีในการปลูก ไทยแลนด์เบียนนาเล่จะเป็นโอกาสสำคัญถ่ายทอดเรื่องนี้ ชวนทุกคนมาสัมผัสข้าวหลากสีกับผลงานศิลปะตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ต่อเนื่องมกราคม กุมภาพันธ์ ทุ่งข้าวจะมีสีชมพูสวยงาม ก่อนจะเก็บเกี่ยวกลางเดือนมีนาคม 2567  

อากาศดีๆ ชวนไปเสพงานศิลป์ที่เชียงราย Thailand Biennale, ChaingRai 2023 ไม่ได้มีแค่แปลงนาสวยๆ รออยู่ ยังมีผลงานของ 60 ศิลปินจาก 21 ประเทศ จัดแสดงทั้งที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiangrai International Art Museum : CIAM ใกล้กับสนามบินแม่ฟ้าหลวง งานศิลปะระดับโลกที่โชว์ทั้งอำเภอเมือง อ.เชียงแสน อ.แม่ลาว และ อ.พาน

ไทยแลนด์เบียนนาเล่นี้มีบริการข้อมูลนิทรรศการทั้งที่เป็นเอกสารและแบบสแกน QR Code พร้อมทั้งบริการรถตู้รับส่งตามเส้นทางต่างๆ นำชมนิทรรศการศิลปะในพื้นที่ รวม 6 เส้นทาง 14 จุดบริการ วันละ15 คัน จำนวน 3 รอบต่อวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น. ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2567 สนใจคลิกได้ที่เว็บไซต์เส้นทางให้บริการรถนำชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย TBC2023 https://biennalechiangrai-media-info.my.canva.site/website-tbc2023-transportation เพจและเฟซบุ๊ก Thailand Biennale,Chaing Rai 2023  

‘ค้ำคูณ-KHamKoon’ สามล้ออีวี ฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ขับเคลื่อนศก. ควบคู่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

‘สามล้อ’ เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน การพัฒนารถอีวีเข้ามาทดแทนระบบสันดาป ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสามล้ออีวีรูปลักษณ์ทันสมัย สวย เก๋ เท่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ‘KHamKoon’ หรือ ค้ำคูณ

สามล้ออีวี KHamKoon พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า สามล้อ ‘KHamKoon’ ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งสาธารณะในจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังเติบโตรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคต แต่การทำอะไรต้องแตกต่างจากคนอื่น ถ้าทำเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ก้าวหน้า บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญของโครงการนี้คือ คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งเดินทางไปทำงานที่อุดรธานีบ่อยครั้ง และรู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ปรึกษาว่าจะทำอะไรร่วมกับอุตสาหกรรมในอุดรธานีดี ผมเสนอว่าลองทำรถสามล้อดีไหม เนื่องจากคนที่นั่นนิยมใช้รถสามล้อสกายแล็บ แต่ยังติดขัดเรื่องความปลอดภัย ความทันสมัย อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และในมุมของวิศวกรรมก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายจุด ประกอบกับอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นหัวเมืองสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เป็นหนึ่งสถานีที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนเข้าหนองคาย เชื่อมต่อไป สปป.ลาว ถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เมืองต้องปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“ในมุมของคนอุดรธานี มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองด้วยคีย์เวิร์ดคือ ‘เมืองเดินได้’ หมายถึงคนไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่หันมาใช้รถสาธารณะแทน แล้วรถสาธารณะอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดเช่นอุดรธานี นั่นก็คือ micro mobility ผนวกกับเรามีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตรถสกายแล็บในอุดรธานี คุยกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และเห็นว่าการพัฒนารถสามล้ออีวี KHamKoon จะทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ได้เรียนรู้นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เมื่อได้ภาคเอกชนมาร่วม เราก็ดีไซน์สามล้ออีวี ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาแบบ พัฒนาเทคโนโลยี ทำโปรโตไทป์ จากนั้นจึงเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และได้รับการอนุมัติ โดยเอกชนคือวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบรถสามล้อ KHamKoon” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

โครงการรถต้นแบบ ‘สามล้อ KHamKoon’ เริ่มดำเนินการช่วงเดือนกันยายน 2565 สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ  ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับกับเมืองแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่แค่การผลิตรถยนต์สามล้ออีวีออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องการให้รถสามล้อ KHamKoon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานราก ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งการผลิต การท่องเที่ยว การบริการ ขับเคลื่อนจีดีพีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ต้องขอบคุณ บพข. ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการขนส่งแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

ดร.วัลลภ รัตนถาวร นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงการวิจัยและพัฒนาว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับรถต้นแบบ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก. 3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล

“เทคนิคสำคัญการออกแบบสามล้อ KHamKoon มี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งเป็นตามเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นระบบไฟฟ้า 2. ด้านวิศวกรรม ต้องออกแบบตัวรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง น้ำหนักเบา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3. ต้องวิ่งได้ดี มีความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของรถสามล้อ ต้องเลี้ยวในพื้นที่แคบ อาจเกิดการพลิกคว่ำ การสไลด์ หรือรถยกตัวได้ง่าย เราจึงใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มาแก้ปัญหาเชิงโครงสสร้าง จนผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล” ดร.วัลลภ กล่าว

สำหรับโครงสร้างรถ ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบใหม่ โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความทันสมัย แข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’

ส่วนประเด็นด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (อีวี) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้น และใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบรถต้นแบบ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในเบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์  ให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ  พร้อมกับพัฒนาความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนากำลังคนร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถอีวี ภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง เมื่อผ่านการพัฒนาถึงระดับพาณิชย์ สามล้อ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนระยะยาว ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top