เคลียร์หน้าดินแล้ว!! โครงการรถไฟทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ‘แพร่-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย’ รอรับปี 71 หลังคอยมานานร่วม 60 ปี 

(19 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ความคืบหน้าทางรถไฟทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ ช่วง ‘เด่นชัย-สูงเม่น’ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ผู้รับเหมา เคลียร์ที่ดิน และเริ่มงานแล้ว ชาวแพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เตรียมตัวรับรถไฟได้ ปี 2571 โดยระบุสาระสำคัญไว้ ดังนี้...

เมื่อช่วงวันแม่ที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวลำพูน-เชียงใหม่ เลยไปแวะเด่นชัย เอาภาพการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มาฝากเพื่อนๆ กันหน่อย

ก่อนหน้านี้มีหลายๆ คนถามถึงความคืบหน้า และถามว่ามันจะสร้างจริงๆ ไหม…

ซึ่งจากภาพที่เห็น ก็ยืนยันแล้วว่าโครงการลงหน้างาน เปิดที่ดิน พร้อมเกรดปรับพื้นที่โครงการแล้ว

คู่ขนานกับการเวนคืนที่ดินในขอบเขตโครงการ ซึ่งตอนนี้เวนคืนไปแล้วกว่า 65% 

ติดตามความคืบหน้าโครงการได้จากเพจ : รถไฟทางคู่ เด่นชัย เชียงราย เชียงของ
—————————
ใครที่ยังไม่รู้จัก โครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สามารถดูได้ตามลิงก์นี้ครับ

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1588626191575854&id=491766874595130

ความเป็นมาของโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่มีอายุโครงการมากกว่า 60 ปี!!

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/920004821771331/?mibextid=cr9u03

การรถไฟได้ทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายปี 64 ที่ผ่านมา ตามลิงก์นี้

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1340636983041444/?d=n

ควบคู่กับการเวนคืน ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อกลางปี 64 ที่ผ่านมาตามลิ้งค์นี้

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1200325763739234/?d=n
—————————
โครงการเด่นชัย-เชียงราย เป็นโครงการเก่าแก่มาก 

มีการศึกษาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2503 ซึ่ง มีการออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วตั้งแต่ในปี 2510 แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง

หลังจากนั้นก็มีการรื้อโครงการออกมาศึกษา อยู่อีกหลายๆรอบ คือ 2512, 2528, 2537, 2541, 2547 และเล่มศึกษาปัจจุบันที่จะใช้ในการก่อสร้าง ศึกษาในปี 2554 

และ มติครม. อนุมัติโครงการในปี 2561

เป็นโครงการก่อสร้างทรหดเหลือเกิน กว่าจะได้สร้างจริงๆ ร่วม 60 ปี

ใครอยากอ่านพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน ปี 2510 ดูได้จากลิงก์นี้ครับ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/A/119/998.PDF
————————
เส้นทางโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 

จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ คือการขนส่งสินค้า จากไทยไปจีน ผ่านช่องทางหลัก 2 ช่องทาง คือ...
- ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ) 

รายละเอียดเส้นทาง...
- ระยะทางรวม 308 กิโลเมตร
- เป็นทางรถไฟขนาด 1 เมตร
- รองรับน้ำหนักกดเพลาสูงสุด 20 ตัน รองรับรถไฟใหญ่สุดของการรถไฟ (รถจักร CSR)
- รองรับความเร็วสูงสุด 160 กม/ชม
- ใช้อาณัติสัญญาณ ETCS Level 1 ตามมาตรฐานทางคู่ใหม่

ในโครงการมีอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่งคือ...
- อุโมงค์ที่ 1 กม. 606+200-607+325 ระยะทาง 1.1 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 2 กม. 609+050-615+425 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 3 กม. 663+400-666+200 ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร
- อุโมงค์ที่ 4 กม. 816+600-820+000 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

ระยะทางรวมอุโมงค์ของโครงการ 13.4 กิโลเมตร

มีสถานี 3 รูปแบบ คือ…
- สถานีขนาดใหญ่ จะเป็นสถานีระดับจังหวัด
- สถานีขนาดเล็ก
- ป้ายหยุดรถไฟ

โครงการใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เส้นทางมีดังนี้...

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด แพร่ ——
- โครงการเริ่มต้นจากสถานีรถไฟเด่นชัย เป็นสถานีชุมทางใหม่ แล้วแยกออกไปทางตะวันออก ปรับปรุงสถานีเป็นสถานีขนาดใหญ่
- สถานีสูงเม่น เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 547
- สถานีแพร่ เป็นสถานีขนาดใหญ่ 
- สถานีแม่คำมี เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 572
- ป้ายหยุดรถไฟหนองเสี้ยว กม. 584
- สถานีสอง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 590
- มีอุโมงค์ 2 จุดต่อกัน ที่กม. 606+200-607+325 และ กม. 609+050-651+425

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ลำปาง ——
- ป้ายหยุดรถไฟแม่ตีบ กม. 617
- สถานีงาว เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 636
- ป้ายหยุดรถไฟปาเตา กม. 642
- มีอุโมงค์ ที่กม. 663+400-666+200

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด พะเยา ——
- สถานีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 670
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านโทกหวาก กม. 677
- สถานีพะเยา เป็นสถานีขนาดใหญ่ กม. 683
- ป้ายหยุดรถไฟดงเจน กม. 689
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านร้อง กม. 696
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านใหม่ กม. 709

—— อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด เชียงราย ——
- สถานีบ้านป่าแดด เป็นสถานีขนาดเล็ก กม.724
- ป้ายหยุดรถไฟป่าแงะ กม. 732
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านโป่งเกลือ กม. 743
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านสันป่าเหียง กม. 756
- สถานีเชียงราย เป็นสถานีขนาดใหญ่ กม. 771
- ป้ายหยุดรถไฟทุ่งก่อ กม. 785
- สถานีเวียงเชียงรุ้ง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม.796
- สถานีชุมทางบ้านป่าซาง เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 806 และแยกไปสถานีเชียงแสน
- มีอุโมงค์ ที่กม. 816+600-820+000
- ป้ายหยุดรถไฟบ้านเกี๋ยง กม. 829
- ป้ายหยุดรถไฟศรีดอนชัย กม. 839
- สถานีเชียงของ เป็นสถานีขนาดเล็ก กม. 853

รายละเอียดเส้นทางโครงการ
https://www.google.com/maps/d/viewer?mid=1REMriQY0BxNPmksruPXyT867ewA&ll=20.200689158260182%2C100.43516933379738&z=14&fbclid=IwAR1FKhguOcu47WtQiWRat2aDMgGng0RPC3C29dPZIiAFcICEYWsDqM0k1aw
————————
ในโครงการจะมีการตัดกับถนนเดิมของประชาชน ซึ่งจะทำเป็นระบบปิด ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟและถนนออกจากกัน โดยมี 5 แบบคือ
- สะพานทางรถไฟข้ามถนน 31 แห่ง
- สะพานถนนข้ามรถไฟแบบตรง 53 แห่ง
- สะพานรถไฟข้ามคลองชลประทาน 35 แห่ง
- ถนนทางลอดทางรถไฟ 63 แห่ง
————————
การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ในปีที่เปิดให้บริการ 4,811 คน/ วัน

การคาดการณ์ปริมาณสินค้าในปีแรก แบ่งเป็น 2 กรณีคือ...
1.) ถ้าไม่รวมการส่งสินค้าจากจีน 313,669 ตัน/ปี
2.) ถ้ารวมการส่งสินค้าจากจีน 1,603,669 ตัน/ปี

มูลค่าการลงทุนโครงการทั้งหมด 79,619 ล้านบาท

จากการประเมินมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.31% และการประเมินมีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) 1.02%

รูปแบบการลงทุนที่ทำการศึกษา มี 2 รูปแบบ คือ...
- รัฐบาลลงทุน 100% มีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) 1.02%
- รัฐบาลลงทุนงานโยธา และระบบควบคุม 
เอกชนลงทุนบำรุงรักษา และดำเนินงาน 
การรถไฟ เก็บรายได้ 
รัฐบาลมีความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) -1.82%

ซึ่งจากที่ดูตามนี้ รัฐบาลควรเป็นผู้เดินรถเอง และให้การรถไฟเป็นผู้เดินรถ แต่อาจจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถ