Friday, 4 April 2025
สหรัฐ

USAID หนุนทุนวิจัยอาวุธชีวภาพ มอบเงิน 307,000 ดอลลาร์ ให้โครงการในยูเครน

(4 ก.พ. 68) หลังจากมีกระแสข่าวที่ว่าอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและคณะทำงานกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล  DOGEมีแผนสั่งยุบองค์กรที่ให้การช่วยเหลือระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ชื่อ USAID นั้น เว็บไซต์ข่าวสปุตนิก รายงานว่า พลโท อิการ์ คิริลอฟ หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย ผู้ล่วงลับจากเหตุระเบิดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เคยออกมาแฉถึงเบื้องหลังของ USAID ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนวิจัยอาวุธชีวภาพในยูเครน

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้เรียก USAID ว่าเป็น องค์กรอาชญากร และกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องจบแล้ว พร้อมกล่าวหาว่าภาษีของสหรัฐฯ ถูกโอนผ่านองค์กรนี้เพื่อใช้ในการวิจัยอาวุธชีวภาพ ซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวอ้างของพลโท อิกอร์ คิริลอฟ อดีตหัวหน้ากองกำลังป้องกันเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ของรัสเซีย โดยเอกสารที่ได้รับจากการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียระบุว่า

Metabiota บริษัทผู้รับเหมาในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับสัญญาสำหรับการ 'วิจัยและพัฒนาในวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และชีววิทยา' และ 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือ' โดยในเดือนกันยายน 2014 Metabiota ได้รับเงิน 307,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ "โครงการวิจัยในยูเครน" และในปีงบประมาณ 2014 Metabiota ได้รับการประมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหน่วยงานย่อยอย่าง Defense Threat Reduction Agency (DTRA)

การสืบสวนของกระทรวงกลาโหมรัสเซียในปี 2022 เปิดเผยว่า DTRA เป็นหน่วยงานหลักของสหรัฐฯ ในการสร้างห้องแล็บชีวภาพในยูเครน โดย Metabiota ยังอยู่ในรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นอกจากนั้นนายพลคิริลอฟ เคยระบุในรายงานอีกว่า ตั้งงแต่ปี 2019 USAID และผู้รับเหมาหลักคือ Labyrinth Ukraine ได้มีส่วนร่วมในโครงการชีววิทยาของกองทัพสหรัฐฯ โดย Labyrinth Ukraine เป็นสาขาหนึ่งของ Labyrinth Global Health ซึ่งผู้ก่อตั้งของ Labyrinth Global Health เคยทำงานกับ Metabiota ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของกองทัพสหรัฐฯ ในด้านอาวุธชีวภาพ

Labyrinth Ukraine มีส่วนร่วมในโครงการ UP-9 และ UP-10 ของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาการระบาดของไข้สุกรแอฟริกันในยูเครนและยุโรปตะวันออก

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022, มีการกล่าวหาว่าเชื้อโรคของโรคระบาด เช่น โรคกาฬโรค, โรคแอนแทรกซ์, โรคทูลาเรเมีย, โรคอหิวาต์ และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ถูกทำลายเพื่อปกปิดการละเมิดอนุสัญญาอาวุธชีวภาพและพิษ (BTWC) โดยสหรัฐฯ และยูเครน

จดหมายจากหัวหน้ากองระบาดวิทยาของยูเครนถึง Labyrinth Ukraine ได้ยืนยันถึงความร่วมมือกับ USAID ในการฉีดวัคซีนให้กับทหารและการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้แผนลดภัยคุกคามชีวภาพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาทิ การวิจันเชื้อไวรัสโคโรนาและฝีดาษลิง  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าในปี 2009 โครงการ PREDICT ของ USAID  เคยนำเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่มาวิจัย แต่หน่วยวิจัยดังกล่าวถูกปิดลงกะทันหันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ซึ่งกลายเป็นจุดสังเกตที่นายพลรัฐบาลตั้งข้อสงสัย

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

เศรษฐกิจไทย 68 โตมากสุด 3.3% อานิสงส์เงิน 1 หมื่น แนะมุ่งสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม รับศึกการค้าทรัมป์ 2.0

(7 ก.พ.68) ธนาคาร HSBC ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยในหัวข้อ 'Asia and Thailand Economic Outlook 2025' โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริโภค

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตที่ 2.7-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า
2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่แจกจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เฟรดเดอริคเตือนว่า ในปี 2026 การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง

HSBC มองว่า ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบกับ 10% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น มาเลเซียในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือเวียดนามในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แม้ไทยจะมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของภูมิภาค แต่ HSBC ชี้ว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น การลดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล การพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงระบบ Back Office และการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

เฟรดเดอริคยังเตือนถึงความท้าทายสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.3% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางการเงินระดับภูมิภาคและการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อีลอน มัสก์ จี้ปิด VOA สื่อทุนรัฐบาล ลั่นเป็นขยะพันล้านผลาญภาษี

(10 ก.พ.68) อีลอน มัสก์ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินงานของ Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) และ Voice of America (VOA) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอ้างว่าสื่อเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

มัสก์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อตอบกลับโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ของริชาร์ด เกรเนลล์ ทูตพิเศษด้านภารกิจพิเศษของสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์สื่อทั้งสองว่าเป็น "องค์กรสื่อที่ใช้ภาษีประชาชนเพื่อเผยแพร่แนวคิดของฝ่ายซ้ายสุดโต่ง"  

"นี่คือสื่อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ" เกรเนลล์ระบุ "พวกมันเป็นเพียงสิ่งตกค้างจากอดีต เราไม่จำเป็นต้องมีสื่อที่ได้รับเงินจากรัฐบาลอีกต่อไป"  

มัสก์เห็นด้วยและตอบกลับว่า "ใช่ ควรปิดมันซะ" พร้อมกล่าวเสริมว่าสื่อเหล่านี้เป็นเพียง "กลุ่มคนฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่พูดคุยกันเอง ขณะเดียวกันก็เผาผลาญภาษีของประชาชนอเมริกันไปปีละ 1 พันล้านดอลลาร์"  

RFE/RL และ VOA อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ U.S. Agency for Global Media และก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเผด็จการ ปัจจุบันทั้งสององค์กรยังคงออกอากาศในพื้นที่ที่มีเสรีภาพสื่อจำกัด เช่น รัสเซีย อิหร่าน และบางส่วนของเอเชียกลาง  

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เคยพยายามลดงบประมาณสำหรับสื่อระหว่างประเทศที่ได้รับทุนจากรัฐบาล รวมถึงโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ ซึ่งเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายเดโมแครตในสภาคองเกรส  

จี้ยูเครนชดใช้เงินช่วยเหลือ USAID แลกทรัพยากรแร่หายาก-น้ำมัน

(10 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแผนหารืออย่างเป็นทางการกับผู้นำยูเครนเกี่ยวกับแนวทางในการชำระคืนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ได้ให้ผ่านโครงการ USAID ซึ่งรวมถึงการให้สหรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน และก๊าซของยูเครน เป็นการชดใช้ความช่วยเหลือที่เคยให้ไป ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผย

วอลซ์ ระบุว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมจะนำทุกประเด็นมาพูดคุยในสัปดาห์นี้ รวมถึงอนาคตของ USAID ที่มอบให้ยูเครน เราต้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับยูเครนในแง่ของทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ" วอลซ์กล่าวกับ NBC News พร้อมย้ำว่าการเจรจาเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้

วอลซ์ยังเสริมว่า ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่คาดหวังให้ยุโรปรับผิดชอบด้านหลักประกันความมั่นคง

"หลักการสำคัญคือ ยุโรปต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการความขัดแย้งนี้ต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง แต่ในแง่ของหลักประกันด้านความมั่นคง ยุโรปต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง" วอลซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาในยุโรปโดยมีตัวแทนสหรัฐฯ เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม รองประธานาธิบดี และทูตพิเศษ โดยจะหารือถึงรายละเอียดของข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับจุดยืนของรัสเซียต่อการยุติความขัดแย้งนั้น หากย้อนไปในเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เสนอแนวทางสันติภาพ โดยระบุว่ารัสเซียพร้อมที่จะหยุดยิงและเจรจาทันทีหากยูเครนดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไปนี้

ยูเครนต้องประกาศยกเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการ, กองทัพยูเครนต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่รัสเซียผนวกเข้าใหม่, รัฐบาลเคียฟต้องดำเนินมาตรการปลดอาวุธทางทหารและขจัดลัทธินาซี, ยูเครนต้องประกาศสถานะเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ

รัสเซียได้ย้ำหลายครั้งว่ายูเครนเองเป็นฝ่ายห้ามการเจรจามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 อีกทั้งสถานะความชอบธรรมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในมอสโก

ทรัมป์เอาคืน!! เดินหน้าฟันภาษีโต้กลับชาติที่เก็บภาษีสหรัฐฯ ลั่นอเมริกาถูกเอาเปรียบมานานแล้ว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (12 ก.พ.68) ว่า เขามีแผนลงนามคำสั่งใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีการดำเนินการภายในสัปดาห์นี้

"ผมอาจจะดำเนินการในวันพรุ่งนี้เช้า หรืออาจใช้เวลาพิจารณาเพิ่มเติม แต่แน่นอนว่าเราจะเดินหน้ากับมาตรการนี้" ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว พร้อมเน้นย้ำว่า "สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศมานานหลายปีแล้ว"

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้กล่าวถึงแนวทางการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ โดยระบุว่าอาจมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์หรืออังคาร

เมื่อวันจันทร์ (10 ก.พ.) ผู้นำสหรัฐฯ ได้สั่งปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% โดยให้เหตุผลว่านโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการทางภาษีของทรัมป์ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่พันธมิตรทางเศรษฐกิจและประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงภาคธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเตือนว่าการขึ้นภาษีอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ

เปิดแคมเปญซื้อแคลิฟอร์เนีย ตอบโต้ข้อเสนอฮุบกรีนแลนด์

(13 ก.พ.68) เดนมาร์กเปิดแคมเปญประชดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยข้อเสนอซื้อรัฐแคลิฟอร์เนียจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ความพยายามของทรัมป์ที่ต้องการให้เกาะกรีนแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา

แคมเปญนี้ใช้สโลแกน 'Make California Great Again' หรือ "ทำให้แคลิฟอร์เนียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" ซึ่งตั้งใจล้อเลียนคำขวัญหาเสียงของทรัมป์ โดยเสนอว่าหากรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก ชาวเมืองจะได้สัมผัสกับค่านิยมแบบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นระบบสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายการเมืองที่อิงข้อเท็จจริง รวมถึงวิถีชีวิตที่มี 'ฮุกกะ' ปรัชญาแห่งความสุขแบบเดนิช

ผู้สนับสนุนแคมเปญยังระบุว่า หากแคลิฟอร์เนียกลายเป็นของเดนมาร์ก ฮอลลีวูดอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเพิ่มเลนจักรยานในเบเวอร์ลีฮิลส์ ไปจนถึงการแพร่หลายของ 'สมอร์บรอด' หรือแซนด์วิชเปิดหน้าสไตล์เดนิช ตามท้องถนนของลอสแอนเจลิส

ข้อความประชาสัมพันธ์ของแคมเปญยังระบุอย่างติดตลกว่า “ลองมองแผนที่แล้วคิดดูสิ เดนมาร์กต้องการอะไร? เราต้องการแสงแดด ต้นปาล์ม และโรลเลอร์สเกต! นี่เป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง”

เป้าหมายของแคมเปญคือรวบรวมรายชื่อให้ได้ 500,000 รายชื่อ และแม้จะมีการประกาศระดมทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในความเป็นจริง แคมเปญนี้ไม่ได้เปิดรับเงินบริจาคแต่อย่างใด ขณะนี้มีชาวเดนมาร์กมากกว่า 200,000 คนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน

แนวคิดการซื้อแคลิฟอร์เนียมีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทรัมป์และผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เกวิน นิวซัม โดยเฉพาะในประเด็นนโยบายผู้อพยพ ซึ่งล่าสุด นิวซัมได้จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการเนรเทศของรัฐบาลทรัมป์

ด้านทรัมป์เองเคยพยายามผลักดันแนวคิดซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2019 แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ล่าสุดเขายังระบุว่าอาจใช้มาตรการทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่ทางทหารเพื่อกดดันให้เดนมาร์กยอมยกกรีนแลนด์ให้กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มุขมนตรีกรีนแลนด์ได้ย้ำชัดเจนว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถซื้อขายได้ และอนาคตของเกาะแห่งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนกรีนแลนด์เอง

สหรัฐตัดโอกาสยูเครนเป็นสมาชิกนาโต แถมขอคืนพรมแดนเดิมก็ไม่ได้

(13 ก.พ.68) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ พีต เฮกเซธ ประกาศจุดยืนชัดเจนระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า สหรัฐไม่สนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน และเตือนว่าความพยายามของเคียฟในการฟื้นคืนพรมแดนเดิมเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ยาก

เฮกเซธระบุว่า แม้สหรัฐเห็นความสำคัญของการให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่ยูเครน แต่การให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโตนั้น 'ไม่อยู่ในทางเลือก' พร้อมย้ำว่าสหรัฐไม่มีแผนส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในยูเครนไม่ว่ามติใดจะถูกเสนอขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าภาระด้านความมั่นคงของยูเครนควรเป็นหน้าที่หลักของกองทัพยุโรป

นอกจากนี้ เฮกเซธกล่าวถึงความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการผลักดันให้รัสเซียกลับสู่การเจรจาในประเด็นพลังงาน โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สหรัฐต้องการให้ยุโรปร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยูเครน แทนที่จะปล่อยให้สหรัฐเป็นฝ่ายรับผิดชอบหลัก

ในส่วนของงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ เฮกเซธย้ำถึงเป้าหมายของทรัมป์ที่ต้องการให้สมาชิกนาโตเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมจาก 2% ของจีดีพีเป็น 5% อย่างไรก็ตาม มาร์ค รึตเตอ เลขาธิการนาโต เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังมีการหารือถึงการขยายสัดส่วนดังกล่าวให้สูงกว่า 3% เป็นเป้าหมายเบื้องต้น

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่

สหรัฐ-ยูเครน ปิดดีลแร่หายาก ทรัมป์ปลดล็อกส่งอาวุธ แต่ไร้หลักประกันความมั่นคง เปิดช่องรัสเซียเดินเกมรุก

(26 ก.พ. 68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและยูเครนได้อนุมัติร่างข้อตกลงแร่ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการฟื้นฟูประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนโดยตรง ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อกังวลในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ

ร่างข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้ง "กองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟู" (Reconstruction Investment Fund) เพื่อรวบรวมรายได้จากแหล่งแร่ธาตุ ไฮโดรคาร์บอน และทรัพยากรอื่น ๆ ของยูเครน โดยยูเครนจะต้องสมทบเงิน 50% ของรายได้สุทธิจากทรัพยากรธรรมชาติเข้ากองทุนจนกว่าจะถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท) ขณะที่สหรัฐจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะยาวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของยูเครน

แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและยูเครน แต่ประเด็นเรื่องความมั่นคงยังคงเป็นข้อถกเถียงสำคัญ แหล่งข่าวระบุว่าร่างข้อตกลงไม่ได้ให้การรับประกันด้านความปลอดภัยจากสหรัฐแก่ยูเครนอย่างชัดเจน หรือให้คำมั่นเกี่ยวกับการส่งอาวุธเพิ่มเติม โดยระบุเพียงว่าสหรัฐต้องการให้ยูเครนเป็น "อิสระ มีอำนาจอธิปไตย และปลอดภัย"

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ กล่าวว่า หากสามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ อาจจำเป็นต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม รัสเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกองกำลังจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

การหารือเกี่ยวกับข้อตกลงเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างทรัมป์และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน โดยทรัมป์เคยกล่าวหาเซเลนสกีว่าเป็น "เผด็จการ" ขณะที่ผู้นำยูเครนตอบโต้โดยระบุว่า ทรัมป์ได้รับข้อมูลผิด ๆ จากรัฐบาลรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เซเลนสกีปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐเรียกร้องผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนมากเกินไปเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่มอบให้ โดยสหรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือยูเครนแล้วกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11.8 ล้านล้านบาท) รวมถึงอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่า แรงผลักดันของทรัมป์ในการเร่งยุติสงครามและท่าทีที่ประนีประนอมกับรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนและยุโรป รวมถึงเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์

สก็อตต์ แอนเดอร์สัน นักวิจัยจากสถาบันบรูคกิ้งส์ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากยูเครน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทรัมป์และสมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน เนื่องจากช่วยให้สหรัฐมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top