Monday, 19 May 2025
สหรัฐ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ‘Apple’ จะย้ายโรงงานผลิต จากจีนไปอินเดีย ต้องผ่านมาตรการศุลกากร ข้อบังคับทางการค้า ด้านการส่งออก

(26 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

อินฟลูเปรียบเทียบประโยคที่ เมื่อครั้งนายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน และอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สอนนักข่าวฮ่องกง ถามเรื่องการลงสมัครเป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกงของนายถัง ซึ่งเป็นผู้ว่าการฯในขณะนั้น โดยใช้มุกสัมภาษณ์ควาย ๆ ยิงคำถามเดิมซ้ำ ๆ และคาดเดานัยของคำตอบซึ่งไม่ถูกใจ ด้วยการถามใหม่ปรับเปลี่ยนบางคำในประโยคคำถามนั้น คล้ายว่าหากตอบไม่ตรงกับความตั้งใจที่แฝงมากับคำถาม ก็จะทู่ซี้ถามอีก นายเจียง ตัดบทหลายครั้งหลังตอบคำถามเมื่อถูกถามว่าตนสนับสนุนนายถังหรือไม่? และตอบไปแล้วว่าโดยส่วนตัวเขาสนับสนุน แต่นักข่าวต้องการคำตอบว่าจีนกดดันฮ่องกงให้เลือกนายถังหรือเปล่า? นายเจียงถามนักข่าวว่าไปเอาความคิดนี้มาจากไหน? นักข่าวชี้ว่ามาจากสื่อตะวันตก นายเจียงจึงสอนนักข่าวว่า “ในฐานะสื่อฯ คุณไม่ควรคาดเดาเอาเอง หรือมโนฯเพียงสัมผัสลม ก็ฟันธงว่ามีฝน พวกคุณต้องพิจารณาว่าแหล่งข่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วตัดสินใจก่อนจะนำมา ต่อเรื่องเป็นตุเป็นตะ พวกคุณยังอ่อนวัยเกิน, คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันง่าย ๆ จนทำตัวเองให้ดูเหมือนพวกอ่อนต่อโลก (เอเคเอ ปัญญาอ่อน)” 

แอปเปิ้ลก็มีข่าวว่า วางแผนจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปอินเดีย จากนโยบายสุดระห่ำของไอ้บ้า 'คนขายส้ม' เอเคเอ ดิ ออเรนจ์แมน (ฉายาที่สื่อฯอเมริกันใช้นิยามทรัมป์) ซึ่งคาดว่าการย้ายฐานการผลิตจะเกิดขึ้นภายในปี 2026 แต่ที่ทิม คุ๊ก ซีอีโอแอปเปิ้ล อาจแสร้ง หรือคาดไม่ถึงคือ จีนเห็นการย้ายฐานการผลิตของแอปเปิ้ลเป็นเรื่องที่ “คิดได้ ถึงกล้าทำแต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ” แอปเปิ้ลอาจคิดว่าจีน เป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิต ทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้านับหลายร้อยล้านเครื่องต่อปี จึงคิดว่าแค่ย้ายโรงงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือดำเนินการยากแต่อย่างใด

แต่เอาเข้าจริง การส่งออกวัตถุดิบตลอดจนเครื่องจักรจากจีน เพื่อที่จะย้ายไปอินเดียนั้น แบบไม่ต้องประกาศอย่างโจ๋งครึ่มแต่อย่างใด ทางการจีนสามารถใช้มาตรการทางศุลกากร และข้อบังคับทางการค้า ด้านการส่งออก เป็นเครื่องมือในการปิดประตูหน้า, ขวางประตูข้าง และทิ้งช่องประตูด้านหลังโรงงานเล็ก ๆ ไว้ให้ กว่าแอปเปิ้ลจะดำเนินการจนแล้วเสร็จคาดว่า อาจหมดสมัยทรัมป์ไปแล้ว หรือแย่กว่านั้น ระหว่างตั้งโรงงาน สหรัฐดันคุยกับจีนแล้วตกลงกันได้ ทิม คุ๊ก ก็อาจมีสภาพต้องกินอาหารเม็ดไปเลยก็เป็นได้

‘ทรัมป์’ เผย ‘เซเลนสกี’ พร้อมยกไครเมียให้รัสเซีย แลกข้อตกลงสันติภาพ ขณะที่ ‘ปูติน’ เสนอหยุดยิงเชิงสัญลักษณ์ แต่ฝ่ายยูเครนยังไม่วางใจ

(29 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า ตนเชื่อว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พร้อมที่จะยกดินแดนไครเมียให้รัสเซีย เพื่อแลกกับข้อตกลงสันติภาพ แม้เซเลนสกีจะเคยปฏิเสธเรื่องนี้อย่างหนักแน่นมาก่อนหน้านี้ก็ตาม พร้อมกันนี้ ทรัมป์ยังส่งสารถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เรียกร้องให้ยุติการโจมตีและเร่งลงนามข้อตกลงสันติภาพภายใน 2 สัปดาห์

ล่าสุด วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเตรียมหยุดยิงยูเครนเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 พฤษภาคมถึงวันที่ 11 พฤษภาคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่าการหยุดยิงครั้งนี้มีเหตุผลด้านมนุษยธรรม และแสดงความหวังว่าฝั่งยูเครนจะตอบสนองด้วยการหยุดยิงเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเต็มรูปแบบอย่างน้อย 30 วัน เพื่อปูทางสู่การเจรจาทางการทูต

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนออกมาโต้ตอบทันที โดยระบุว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรอจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคมในการหยุดยิง โดยชี้ว่าควรหยุดการสู้รบทันทีเพื่อเห็นแก่ชีวิตของประชาชน ไม่ใช่เพื่อขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียแสดงความจริงใจมากกว่าการหยุดยิงชั่วคราว

ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากพิธีพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครรัฐวาติกัน ซึ่งเขาได้พบกับเซเลนสกีในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ทรัมป์เคยย้ำว่าข้อตกลงสันติภาพกำลังคืบหน้า และตำหนิรัสเซียที่โจมตีเขตพลเรือนโดยไร้เหตุผล

สส.เดโมแครต เสนอ 7 ญัตติด่วนถอดถอน ‘ทรัมป์’ พ้นตำแหน่ง ปธน. ปมใช้อำนาจเกินขอบเขต-ขัดขวางกฎหมาย-รับสินบน และอีกเพียบ!!

(29 เม.ย. 68) นายชริ ธาเนดาร์ (Shri Thanedar) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจากพรรคเดโมแครต รัฐมิชิแกน เสนอญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเป็นการรับมือกับพฤติกรรมที่บ่อนทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ พร้อมนำเสนอบทความถอดถอนจำนวน 7 ประการ ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจบริหารโดยมิชอบ การติดสินบน และการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐอย่างผิดกฎหมาย

ในรายละเอียดข้อกล่าวหา นายธาเนดาร์ ระบุว่าทรัมป์ได้เพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ดำเนินนโยบายเนรเทศที่ละเมิดสิทธิทางกฎหมาย ใช้อิทธิพลครอบงำกระทรวงยุติธรรม และก่อตั้ง “กระทรวงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล” หรือ DOGE ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการกล่าวหาว่า “อีลอน มัสก์” ได้รับอำนาจเกินควรผ่านหน่วยงานดังกล่าว

บทความถอดถอนยังชี้ว่าทรัมป์ใช้ตำแหน่งเพื่อโจมตีนักวิจารณ์และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการคุกคามทางทหารต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

นายธาเนดาร์เรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการ โดยกล่าวว่า “เราไม่สามารถรอให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ได้” อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าญัตติดังกล่าวมีแนวโน้มไม่คืบหน้า เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังควบคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งอาจขัดขวางการพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นทาง

ญี่ปุ่นเตือนแรง มาตรการภาษี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังเขย่าพันธมิตร ชี้อาจเป็นบูมเมอแรงทำเอเชียตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ซบอกจีนแทน

(29 เม.ย. 68) อิตสึโนริ โอโนเดระ (Onodera Itsunori) หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น (LDP) แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีท่าทีใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หันไปสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่โอโนเดระร่วมงานที่สถาบันฮัดสัน กรุงวอชิงตัน โดยเขาระบุว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มไม่สบายใจกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรเดิมเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์

โอโนเดระยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลในช่องแคบไต้หวัน การซ้อมรบเชิงรุก และการกดดันด้านจิตวิทยาในประเด็นดินแดนพิพาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าทรัมป์พยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันให้ญี่ปุ่นมากขึ้น โอโนเดระเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือในการผลิตและส่งออกอาวุธ เช่น กระสุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของญี่ปุ่นที่เปิดทางสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์มากขึ้นในอนาคต

‘ทรัมป์’ เผย ‘ปูติน’ พร้อมยุติสงครามกับยูเครน แต่โยนความผิดให้ ‘ไบเดน’ ทำสถานการณ์เลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น

(30 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ในวาระดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน

ทรัมป์กล่าวว่า ปูตินอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อโน้มน้าวให้ยุติสงคราม และย้ำว่า “เขาเต็มใจที่จะยุติการสู้รบ” พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ว่าเป็นผู้ทำให้สงครามปะทุ โดยเชื่อว่าหากตนชนะเลือกตั้งในปี 2020 ปูตินอาจยึดยูเครนได้ทั้งหมด

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังตำหนิคำพูดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ว่าเป็นการ 'ปลุกระดม' โดยเฉพาะการปฏิเสธที่จะยอมรับไครเมียเป็นของรัสเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพและทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ในช่วงเมื่อต้นสัปดาห์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเกล็น เบ็ค (Glenn Lee Beck) นักวิจารณ์การเมือง อนุรักษ์นิยมชาวอเมริกัน โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเรียกร้องมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีอำนาจต่อรอง พร้อมระบุว่าปูติน “จัดการได้ง่ายกว่าเซเลนสกี” และเปิดกว้างต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรีคนใหม่แคนาดา ยืนยันจะไม่ทนกับกำแพงภาษีทรัมป์ ประกาศตัดสัมพันธ์เศรษฐกิจ-ความมั่นคงกับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

(2 พ.ค. 68) หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แคนาดาได้แต่งตั้ง มาร์ก คาร์นีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ โดยเข้ารับตำแหน่งต่อจาก จัสติน ทรูโดว์ ที่ลาออกชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม ก่อนมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคเสรีนิยมยังสามารถรักษาคะแนนเสียงไว้ได้

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก คาร์นีย์ประกาศชัดว่า “ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว” พร้อมเตรียมตอบโต้นโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา

สาเหตุหลักมาจากการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนจากแคนาดา 25% อย่างถาวร พร้อมแสดงท่าทีว่าอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ซึ่งคาร์นีย์มองว่าเป็นภัยต่ออธิปไตยและทรัพยากรของประเทศ

คาร์นีย์ยืนยันว่าแคนาดาจะปรับตัว สร้างอุตสาหกรรมใหม่ และกระจายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นแทนสหรัฐ พร้อมชูนโยบายปกป้องเอกราชทางเศรษฐกิจ และวางจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านทรัมป์อย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าท่าทีแข็งกร้าวของคาร์นีย์มีผลต่อชัยชนะของพรรคเสรีนิยม และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนจาก “มิตรใกล้ชิด” ไปสู่ “คู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการทูต” อย่างเต็มรูปแบบ

ผลสำรวจชี้ ‘ชาวญี่ปุ่น’ เชื่อสงครามในเอเชียมีแนวโน้มเกิดขึ้นจริง ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อจีนและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

(2 พ.ค. 68) ผลสำรวจล่าสุดของ Asahi Shimbun เผยว่าชาวญี่ปุ่นกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโอกาสที่ประเทศจะเข้าไปพัวพันกับสงครามครั้งใหญ่ในเอเชีย โดยร้อยละ 62 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 ในการสำรวจเมื่อ 10 ปีก่อน

ประชาชนราวร้อยละ 12 เชื่อว่าสงคราม “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ขณะที่ร้อยละ 50 ระบุว่า “มีแนวโน้ม” ที่จะเกิดขึ้น ในทางตรงข้าม มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองว่า “ไม่มีโอกาส” ที่จะเกิดความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงความวิตกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากชี้ว่า ความตึงเครียดด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะกับจีน มีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกนี้ โดยในกลุ่มที่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม (ประมาณสามในสี่ของผู้ตอบทั้งหมด) มีถึงร้อยละ 22 ที่เชื่อว่าญี่ปุ่นอาจทำสงครามกับจีน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมเกือบสองเท่า

ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นใจต่อพันธมิตรกับสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมความกังวล โดยมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะ “ปกป้อง” ญี่ปุ่นอย่างแน่นอน หากเกิดวิกฤต ในกลุ่มที่ไม่มั่นใจในพันธมิตรนี้ มีถึงร้อยละ 67 ที่เชื่อว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะทำสงคราม

นอกจากนี้ สงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 4 ยังส่งอิทธิพลต่อมุมมองของสาธารณชนญี่ปุ่น โดยผู้ที่ติดตามความขัดแย้งระดับโลกอย่างใกล้ชิด (ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง) ถึงร้อยละ 72 เชื่อว่าสงครามครั้งใหญ่ในเอเชียอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

รัฐบาลทรัมป์ เปิดโครงการให้เงิน 1,000 ดอลลาร์ แก่ผู้เข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย แลกความสมัครใจออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิด…โดยไม่ต้องถูกจับ

(7 พ.ค. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศโครงการใหม่เสนอเงิน 1,000 ดอลลาร์ (ราว 34,000 บาท) ให้แก่ผู้อพยพที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หากยินยอมเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด โดยจะได้รับเงินหลังเดินทางถึงประเทศปลายทางและยืนยันผ่านแอปพลิเคชัน CBP Home ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิพัฒนาขึ้นใหม่

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของกระบวนการจับกุมและเนรเทศผู้อพยพ ซึ่งโดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 17,000 ดอลลาร์ต่อคน ขณะที่การสมัครใจเดินทางกลับโดยได้รับเงินช่วยเหลือ จะช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 70% ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ต้องกักขัง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถกลับเข้าสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายในอนาคตได้

โฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่ามีผู้อพยพรายแรกที่เข้าร่วมโครงการแล้ว โดยได้รับตั๋วเครื่องบินจากชิคาโกกลับฮอนดูรัส พร้อมมีการจองเที่ยวบินเพิ่มเติมให้กับผู้สมัครใจเดินทางกลับในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า รัฐบาลจะให้โอกาสแก่ “คนดี” ที่จากไปอย่างสมัครใจ ได้กลับเข้ามาอีกครั้ง

โครงการนี้ต่อยอดมาจากแอปฯ CBPOne ที่ริเริ่มในยุครัฐบาลโจ ไบเดน โดยถูกทรัมป์สั่งปิดและดัดแปลงใหม่เป็น CBP Home ซึ่งเน้นใช้เพื่อการเดินทางออกนอกประเทศ มากกว่าการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายตามแบบเดิม

ทรัมป์จัดทัพ ‘เบสเซนต์-กรีเออร์’ ลุยเจนีวา ถก ‘เหอ หลี่เฟิง’ ฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ หนแรกในรอบเดือน

(7 พ.ค. 68) สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Ingraham Angle ของ Fox News เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ย้ำว่าการพบเจ้าหน้าที่จีนในสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่” แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความตึงเครียด พร้อมระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ต้องการแยกตัวทางการค้าจากจีน ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และเหล็กกล้า

เบสเซนต์และจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปเจนีวาในวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อพบกับคารีน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และเจรจากับเหอ หลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสองมหาอำนาจ

เหอ หลี่เฟิง วัย 70 ปี มีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเขาจัดการประชุมกับชาวต่างชาติมากถึง 60 ครั้งในรอบปี เพิ่มขึ้นจาก 45 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่สามารถ “ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้” และได้รับคำชื่นชมจากนักธุรกิจต่างชาติที่พบปะกับเขาในกรุงปักกิ่ง

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จีนตกลงกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยอิงจาก “ผลประโยชน์ของจีน ความคาดหวังจากทั่วโลก และความต้องการของอุตสาหกรรมกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ” พร้อมเตือนว่า จีนจะไม่ยอมให้การเจรจาถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันหรือข่มขู่ โดยอ้างสุภาษิตจีนว่า “จงฟังสิ่งที่พูด และเฝ้าดูการกระทำ”

เบสเซนต์กล่าวเพิ่มเติมต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐกำลังเจรจาการค้ากับพันธมิตร 17 ประเทศ โดยการเจรจากับจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอาจมีการประกาศข้อตกลงกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือกับจีนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐและจีนยังเปรียบได้กับ “เกมแมวไล่จับหนู” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาท่าทีของตน ไม่ยอมเป็นฝ่ายถอยก่อนในสงครามภาษีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

‘สีจิ้นผิง-ปูติน’ ลงนามแถลงการณ์ร่วม ยกระดับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ประกาศต้านนโยบาย ‘ปิดกั้นสองชั้น’ ของสหรัฐฯ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียประกาศยกระดับการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อตอบโต้นโยบาย 'ปิดกั้นสองชั้น' (Double Containment) ที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดอิทธิพลของทั้งจีนและรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการยุยงให้ประเทศอื่นมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการ 'ปิดกั้นสองชั้น' หมายถึงแนวนโยบายที่สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้ควบคุมจีนและรัสเซียไปพร้อมกัน ผ่านมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทูต เช่น การคว่ำบาตร, การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี, การขยายอิทธิพลนาโต้ในเอเชีย-แปซิฟิก และการสนับสนุนกลุ่มประเทศให้แยกตัวจากจีน-รัสเซีย ทั้งสองประเทศมองว่านี่คือความพยายาม 'ตีวงล้อม' ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า จีนและรัสเซียจะร่วมกันต่อต้านการติดตั้งระบบอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การขยายนาโต้ไปทางตะวันออก และการสร้าง 'วงขนาดเล็ก' เพื่อจำกัดอิทธิพลของชาติอื่น พร้อมยืนยันว่า ความร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top