Monday, 19 May 2025
สหรัฐ

รองนายกฯ เซอร์เบียโวย การประท้วงได้รับการหนุนจากต่างชาติ ชี้ USAID คือแหล่งทุนสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

(25 มี.ค. 68) กระแสความไม่พอใจในเซอร์เบียยังคงเดือดดาล หลังเกิดการประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 โดยล่าสุด นายอเล็กซานดาร์ วูลิน รองนายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับ Sputnik โดยกล่าวหาว่าการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิวัติสี” ซึ่งได้รับการวางแผนและสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตก

โดยความตึงเครียดในเซอร์เบียยังคงเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2024 ล่าสุด ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ยืนยันว่าเขาได้เตือนถึงความพยายามแทรกแซงจากชาติตะวันตกตั้งแต่ปี 2023 และได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งในปี 2024 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก หน่วยข่าวกรองรัสเซีย ที่ชี้ชัดถึงการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติในประเทศเซอร์เบีย

วูลินระบุว่า เห็นสัญญาณของความพยายามแทรกแซงจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่ม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึง USAID เป็นแหล่งทุนใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับ “ปฏิวัติสี” (Color Revolution) ที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่า “นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของประชาชนเพียงลำพัง แต่เป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของต่างชาติที่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของเซอร์เบีย”

คำว่า “ปฏิวัติสี” หมายถึง การลุกฮือของประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่เป็นที่พอใจของชาติตะวันตก โดยมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจในรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการประท้วงในเซอร์เบียครั้งนี้ เกิดการปะทุขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน ไปจนถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเซอร์เบียมองว่าการชุมนุมที่ขยายตัวขึ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิกิริยาของประชาชน แต่เป็นแผนการที่มีการจัดตั้งและสนับสนุนจากภายนอก

ด้านผู้จัดการชุมนุมและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการประท้วงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาภายในประเทศ และไม่มีอิทธิพลจากต่างชาติแทรกแซง

ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า ประเด็นนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การประท้วงยังไม่มีท่าทีจะลดความร้อนแรงลง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความไม่สงบในระดับที่รุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเซอร์เบียยืนยันว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศต่อไป

สหรัฐฯ เผลอเผยแผนโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในแชต เจ้าหน้าที่มะกันยอมรับความผิดพลาดและเตรียมตรวจสอบภายใน

(25 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนการรบที่กำหนดไว้ในเยเมนในแชตกลุ่มที่มีนักข่าวอยู่โดยไม่ได้ตั้งใจ ก่อนที่แผนนั้นจะถูกนำไปใช้ในการโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนในเวลาต่อมา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้อภิปรายแผนการทางทหารในเยเมนในกลุ่มแชตที่มีผู้เข้าร่วมหลากหลาย รวมถึงนักข่าวที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะ 

โดยหนึ่งในนักข่าวที่อยู่ในกลุ่มแชตดังกล่าวคือ เจฟฟรี่ย์ โกลด์เบิร์ก จากนิตยสาร The Atlantic ซึ่งเขาอ้างว่าได้ถูกเพิ่มเข้าไปในกลุ่มลับที่มีรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ และรัฐมนตรีกลาโหม พีท เฮกเซธ  อยู่ด้วย โดยไม่ได้ตั้งใจ

โกลด์เบิร์กกล่าวอีกว่า เขาเห็นแผนการทางทหารลับของสหรัฐฯ สำหรับการโจมตีกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งรวมถึงชุดอาวุธ เป้าหมาย และกำหนดเวลา สองชั่วโมงก่อนที่จะเกิดเหตุระเบิด

และเพียงไม่นานหลังจากแผนรบถูกเปิดเผยในแชต กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนก็ถูกโจมตีตามแผนที่ถูกเปิดเผย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของข้อมูลลับ และการควบคุมข้อมูลภายในรัฐบาลสหรัฐฯ

“มันเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างแน่นอน และดูเหมือนว่าจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้น” นายโรเจอร์ วิกเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการกองทัพวุฒิสภา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันของรัฐมิสซิสซิปปี้กล่าว

ล่าสุด เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องได้แถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ไม่ระมัดระวัง และยืนยันว่าจะมีการตรวจสอบภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การโจมตีกลุ่มฮูตีประสบความสำเร็จและมีประสิทธิผลเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงมีความเชื่อมั่นสูงสุดต่อทีมความมั่นคงแห่งชาติของเขา รวมถึงที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ไมค์ วอลทซ์”

ขณะที่แผนการโจมตีฮูตีในเยเมนยังคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตรในตะวันตกมองว่า กลุ่มฮูตีมีบทบาทสำคัญในการปั่นป่วนเสถียรภาพของเยเมนและภาคพื้นใกล้เคียง

ขณะเดียวกัน กลุ่มฮูตีและพันธมิตรของพวกเขาในเยเมนได้ตอบโต้การโจมตีครั้งนี้ด้วยการประณามการกระทำของสหรัฐฯ และกล่าวหาว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรมในกิจการภายในของประเทศ

ทั้งนี้ การเปิดเผยแผนการทางทหารในแชตกลุ่มนี้สร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงการทูตและความมั่นคงทั่วโลก โดยมีการเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เข้มงวดขึ้นในการรักษาความลับ และข้อมูลทางทหารในอนาคต

เดินทางเข้าสหรัฐฯ เสี่ยงถูกส่งกลับโดยไม่ทราบสาเหตุ LGBTQ+ อาจเจออุปสรรคหนัก หลังทรัมป์ประกาศนโยบายจำกัดเพศ

(25 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลายประเทศในยุโรปออกคำเตือนแก่พลเมืองของตนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ หลังมีรายงานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากยุโรปถูกกักตัวที่สนามบิน ถูกสอบสวนอย่างเข้มงวด และบางรายถูกส่งตัวกลับโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน

รัฐบาลฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองให้ระมัดระวังในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยระบุว่าผู้โดยสารบางรายแม้จะมีวีซ่าถูกต้องหรือเดินทางภายใต้โครงการ Visa Waiver Program (VWP) ก็ยังเผชิญกับการปฏิเสธเข้าเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีแนะนำให้พลเมืองที่มีแผนเดินทางไปสหรัฐฯ “เตรียมเอกสารประกอบให้ครบถ้วน และพร้อมรับมือกับกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น” ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ระบุว่า “มีพลเมืองถูกกักตัวหลายชั่วโมงโดยไม่มีการชี้แจงสาเหตุที่ชัดเจน”

นอกจากคำเตือนเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นแล้ว กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ได้ออกคำแนะนำเพิ่มเติมบนหน้าเว็บไซต์ทางการ โดยระบุว่า พลเมืองข้ามเพศ หรือชาว LGBTQ+ ทั้งหลาย ที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าสหรัฐฯ จะรับรองเพียงสองเพศ คือ ชาย และ หญิง เท่านั้น

แถลงการณ์ของรัฐบาลเดนมาร์กระบุว่า “ถือแค่พาสปอร์ต เดินสวย-หล่อเข้าเมืองแบบที่แล้วมาไม่ได้อีกแล้ว” พร้อมแนะนำให้ชาว LGBTQ+ ที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่นและมาตรการของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญกับการปฏิเสธเข้าเมืองหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มงวดขึ้นจากเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรปเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ยังไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายตรวจคนเข้าเมือง แต่กระแสความกังวลในยุโรปอาจส่งผลต่อกระแสการเดินทางและความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในอนาคต

ทั้งนี้ นักเดินทางจากยุโรปที่มีแผนจะเดินทางเข้าสหรัฐฯ จึงถูกแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการเข้าเมือง และเตรียมพร้อมสำหรับการถูกสอบสวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ไม่คาดคิด

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ออกแถลงการณ์ขอโทษ หลังบินไปแล้ว 2 ชม. ต้องวกกลับกลางทาง

(25 มี.ค. 68) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ (United Airlines) ออกแถลงการณ์ขอโทษหลังจากเที่ยวบิน UA198 ซึ่งมุ่งหน้าไปยังเซี่ยงไฮ้จากลอสแอนเจลิส ต้องบินกลับกลางทางหลังจากเดินทางไปได้เพียง 2 ชั่วโมง เนื่องจากนักบินลืมนำหนังสือเดินทางติดตัวไปด้วย

เที่ยวบินดังกล่าวซึ่งออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส (LAX) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เวลา 14:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 Dreamliner ได้บินไปได้ประมาณสองชั่วโมง ก่อนที่ทีมบินจะตระหนักถึงความผิดพลาดของนักบินที่ไม่มีเอกสารสำคัญสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

หลังจากพบปัญหาดังกล่าว ทีมบินจึงตัดสินใจบินกลับและลงจอดที่ ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก (SFO) โดยไม่ได้เดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ตามที่กำหนดไว้ ก่อนที่เที่ยวบินจะถูกเลื่อนออกไป

ทาง ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พร้อมยืนยันว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจะทำการตรวจสอบการทำงานภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะเดียวกันผู้โดยสารบนเครื่องก็ได้รับการดูแลและข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดินทางใหม่ และทางสายการบินระบุว่าได้ทำทุกอย่างเพื่อให้การเดินทางดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด

“นักบินไม่ได้พกหนังสือเดินทางติดตัวมาด้วย” ยูไนเต็ดกล่าวในแถลงการณ์ “เราได้จัดเตรียมลูกเรือชุดใหม่เพื่อพาลูกค้าของเราไปยังจุดหมายปลายทางในเย็นวันนั้น โดยมอบคูปองอาหารและเงินชดเชยให้กับลูกค้า”

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ โดยหลายคนไม่พอใจและตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบเอกสารของนักบินก่อนการเดินทางไกล ส่งผลให้เที่ยวบินต้องล่าช้าและสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้โดยสารจำนวนมาก

บริษัทสั่งอาหารออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐ เปิดแคมเปญใหม่ ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ผ่อนได้ 4 งวด แต่นักวิเคราะห์เตือนระวังหนี้พุ่ง

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวเอบีซี นิวส์ รายงานว่า DoorDash บริษัทสั่งอาหารและบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ชั้นนำของสหรัฐ ประกาศความร่วมมือกับ Klarna บริษัทฟินเทคจากสวีเดน เพื่อให้บริการ 'ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง' (Buy Now, Pay Later - BNPL) สำหรับลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของตน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสั่งอาหารและชำระเงินในภายหลังได้

สำหรับบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (BNPL) ที่ DoorDash นำเสนอร่วมกับ Klarna จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแบ่งจ่ายค่าอาหารออกเป็น 4 งวดโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือเลือกชำระในภายหลังตามรอบเงินเดือนของตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและบริการทางการเงิน

แม้ว่าบริการนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายให้กับลูกค้า แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเตือนว่า การใช้ BNPL สำหรับการสั่งอาหารอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางการเงิน

“โดยปกติแล้ว BNPL มักใช้สำหรับการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าแฟชั่น แต่การนำมาใช้กับอาหารซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน อาจทำให้ผู้ใช้เกิดภาระหนี้สะสมโดยไม่รู้ตัว” ไคลา สแกนลอน นักวิเคราะห์การเงินกล่าว

ขณะที่ ผู้ใช้ X รายหนึ่งโพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีเมื่อมีการประกาศความร่วมมือว่า “กินก่อน จ่ายทีหลัง? โลกาวินาศแห่งสินเชื่อกำลังจะมาถึง” 

อย่างไรก็ตามการที่ DoorDash เปิดให้ใช้ BNPL สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจส่งอาหารเองก็ต้องหาแนวทางกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ โฆษกของ Klarna กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากต้อง “ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล” ที่จะใช้บริการ BNPL เพื่อช่วยจัดการเงินของพวกเขา และเสริมว่าฟีเจอร์ใหม่นี้จะใช้ได้เฉพาะกับการซื้อ DoorDash ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 35 ดอลลาร์ (ราว 1,187 บาท) 

‘ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้า ยกเว้นเพื่อนบ้านแคนาดาและเม็กซิโก

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2025 และเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 3 เมษายนนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้นำเข้ารถยนต์ประมาณแปดล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ (186,000 ล้านปอนด์) และเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด

โดยมีเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อการค้ารถยนต์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ทรัมป์ระบุว่ามาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ พร้อมยืนยันว่า “รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรเลย”

“เราต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ในอเมริกา และสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน” ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวจะใช้ไม่เฉพาะกับรถยนต์สำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ซึ่งมักจะถูกส่งจากประเทศอื่นก่อนที่จะมาประกอบในสหรัฐฯ แต่ภาษีศุลกากรใหม่นี้สำหรับชิ้นส่วนจากแคนาดาและเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้น

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้ราคารถยนต์นำเข้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันพุธที่ป่านมา หุ้นของ เจเนรัลมอเตอร์ ร่วงลงราว 3% การเทขายหุ้นดังกล่าวได้ลามไปยังบริษัทอื่นๆ รวมถึง ฟอร์ด หลังจากที่ประธานาธิบดีได้กล่าวยืนยันถึงมาตรการภาษีดังกล่าว

ขณะที่ หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น โตโยต้า, บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังจับตาดูผลกระทบของมาตรการนี้ โดยบางบริษัทอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ส่วนประชาชนสหรัฐฯ บางส่วนกังวลว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น แต่บางกลุ่มสนับสนุน โดยมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมการผลิตในประเทศ

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะ “นำทุกทางเลือกมาพิจารณา” เพื่อตอบสนองต่อภาษีนำเข้าดังกล่าว

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานและบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายแห่ง ถือเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เป็นอันดับสองของโลก โดยหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า ร่วงลงในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่โตเกียว

‘ทรัมป์’ เปรยอาจลดภาษีนำเข้าจากจีน หากปักกิ่งยอมขาย TikTok ให้กับบริษัทต่างชาติ

(27 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาการลดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน หากรัฐบาลจีนอนุมัติการขายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง “ติ๊กต๊อก” (TikTok) ให้กับบริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าและความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสองประเทศ

โดยช่วงระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ทรัมป์ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติมให้กับบริษัท ByteDance เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการติดต่อทาบทามนักลงทุนรายอื่นๆ ที่จะมาซื้อกิจการ TikTok ภายในระยะเวลาใหม่ โดยในตอนแรกทางการสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ตัดสินใจขายกิจการภายในวันที่ 5 เมษายน 2568 

“การขยายระยะเวลานี้เป็นการให้โอกาสในการเจรจาและทำให้การตัดสินใจในการขายกิจการเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและไม่เร่งรีบ” ทรัมป์กล่าว

“หากจีนยอมให้การขาย TikTok สำเร็จ ผมก็ยินดีที่จะพิจารณาลดภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อเป็นการตอบแทน” ทรัมป์กล่าว พร้อมระบุว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

สำหรับ แอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีผู้ใช้ประมาณ 170 ล้านคนในอเมริกา ซึ่งถูกจับตามองจากหลายประเทศในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ตามกฎหมายของประเทศตัวเอง จึงเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาทางการเมืองและการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าเรื่องการขายติ๊กต๊อกยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่การเปิดเผยของประธานาธิบดีทรัมป์นี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้จีนทำการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่มีอยู่

ทั้งนี้ การลดภาษีการนำเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ทรัมป์ใช้ในการเจรจาทางการค้า เพื่อผลักดันให้จีนยอมรับข้อตกลงต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ภาคประชาสังคมวิกฤติ หลังสหรัฐฯ ระงับงบ USAID ส่งผลให้โครงการสำคัญในยูเครนส่อหยุดชะงัก

(28 มี.ค. 68) ภาคประชาสังคมในยูเครนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับงบประมาณของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) ที่ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญหลายโครงการในประเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพัฒนาประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูเครนต้องหยุดชะงักทันที นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 73 แห่งต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก จากรายงานของ Open Space Works Ukraine และเครือข่าย Public Initiatives of Ukraine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 25% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบมีแผนลดจำนวนพนักงาน 19% จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และ 14% เตรียมระงับโครงการบางส่วนอย่างไม่มีทางเลือก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ 75% ขององค์กรเหล่านี้กำลังดิ้นรนหาทุนทางเลือกใหม่ บางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ปรับโครงสร้างการทำงาน และหันไปพึ่งพาผู้บริจาคภายในประเทศแทน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่า การระงับงบประมาณครั้งนี้จะทำให้ประชาชนยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับงบประมาณของ USAID แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า อาจเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการเมืองภายในสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากกลุ่มที่ต้องการให้มีการทบทวนการใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในยูเครน และเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่น เช่น สหภาพยุโรป หรือจีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ด้าน องค์กรภาคประชาสังคมในยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือจาก USAID มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมยูเครนในช่วงวิกฤติ

“การระงับงบประมาณครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อโครงการพัฒนา แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงลบต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในยูเครน” ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครนกล่าว

ในขณะที่รัฐบาลยูเครนยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนในระยะยาว และอาจเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

‘หวัง อี้’ ประกาศกลางมอสโก ย้ำสัมพันธ์จีน-รัสเซีย คือมิตรแท้ตลอดกาล ไม่มีวันเป็นศัตรู

(1 เม.ย. 68) หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RIA ของรัสเซีย ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงมอสโก โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนและรัสเซีย พร้อมกล่าวว่า “จีนและรัสเซียเป็นมิตรแท้ตลอดกาล ไม่มีวันเป็นศัตรู”

หวัง อี้ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างสองประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ความไว้วางใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน โดยจีนให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับรัสเซีย และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์นี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพในระดับโลก

การเยือนรัสเซียของหวัง อี้ ครั้งนี้ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อหารือความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ โดยการเดินทางครั้งนี้ถูกบดบังด้วยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อบรรลุการหยุดยิงในยูเครน และการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัสเซียและยูเครน รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ 

จีนและรัสเซียประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์แบบไม่มีข้อจำกัดเพียงไม่กี่วันก่อนที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน จะส่งทหารหลายหมื่นนายเข้าไปในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

เป็นที่ทราบกันว่าประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ได้พบกับปูตินมากกว่า 40 ครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และทั้งสองผู้นำก็ตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ เช่น ไต้หวัน ยูเครน และคู่แข่งร่วมกันอย่างสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เคียร์มลินกล่าวว่ารัสเซียและสหรัฐฯ กำลังหารือกันเกี่ยวกับแนวคิดสำหรับการยุติสันติภาพในยูเครน และเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี และนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม เขาก็ได้เปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ให้มีท่าทีปรองดองกับรัสเซียมากขึ้น 

“นี่เป็นผลดีต่อการรักษาสมดุลของอำนาจระหว่างมหาอำนาจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความหวังในสถานการณ์ระหว่างประเทศที่น่าผิดหวัง” หวัง อี้ กล่าว

นอกจากนี้ หวัง อี้ ได้ปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพยายามสนับสนุนรัสเซีย เพื่อให้ฝ่ายหลังวางตัวอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับจีน โดยระบุว่าแนวคิดดังกล่าวเป็น “อาการกำเริบของโรคอยากเผชิญหน้าที่ล้าสมัยและเป็นความคิดแบบปิดกั้น”

มาตรการภาษีใหม่ของ ‘ทรัมป์’ อาจทำ GDP โลกหดตัว 7 แสนล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เสี่ยงเจ็บหนักสุดจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

(2 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มีการคาดการณ์ว่ามาตรการภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เตรียมประกาศในวันนี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก หากมีการบังคับใช้ทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เองอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามการรายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับทำเนียบขาว มาตรการภาษีดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า การดำเนินมาตรการนี้อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

“การขึ้นภาษีศุลกากรจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคในที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากวอชิงตันกล่าว

โดยภาษีศุลกากรเพิ่มเติม 25% สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จะมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก สถาบันเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแห่งองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ประเมินว่าภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันทั่วโลก รวมถึงภาษีรถยนต์และภาษีสินค้าจีนที่เรียกเก็บก่อนหน้านี้ 20% จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกลดลง 0.6% ในปี 2027

การลดลงดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าถึง 763 พันล้านดอลลาร์ (ราว 26.06 ล้านล้านบาท) โดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ GDP โลกในปี 2027 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ 127 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับสหรัฐฯ นั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดย JETRO ประเมินว่า GDP ของประเทศจะลดลงถึง 2.7% ภายในปี 2027 นักวิเคราะห์ชี้ว่าต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน ซึ่งอาจทำให้กำไรของธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลง

หลายประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ อาจตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับภาคการค้าระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์เตือนว่าหากเกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ผู้นำในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ หลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้ โดยระบุว่า การขึ้นภาษีศุลกากรอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลก

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวถึงมาตรการภาษีดังกล่าวว่าเป็น “วันปลดปล่อย” โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะหยุดยั้งไม่ให้ประเทศอื่น ๆ “แย่งงานของเรา แย่งทรัพย์สินของเรา และแย่งสิ่งของต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาเคยแย่งกันมาตลอดหลายปี” 

ทั้งนี้ ทรัมป์และทีมที่ปรึกษาของเขาอ้างว่าการนำภาษีศุลกากรแบบตอบแทนมาใช้ จะช่วยให้สามารถแทนที่ภาษีเงินได้ด้วยภาษีนำเข้าเป็นแหล่งรายได้หลัก

ขณะที่ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิตของทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ภาษีศุลกากรใหม่ของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากรแบบตอบแทน จะสามารถสร้างรายได้ถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า

ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศรายละเอียดของมาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวในลักษณะใด และจะมีการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงหรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top