รองนายกฯ เซอร์เบียโวย การประท้วงได้รับการหนุนจากต่างชาติ ชี้ USAID คือแหล่งทุนสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้
(25 มี.ค. 68) กระแสความไม่พอใจในเซอร์เบียยังคงเดือดดาล หลังเกิดการประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 โดยล่าสุด นายอเล็กซานดาร์ วูลิน รองนายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับ Sputnik โดยกล่าวหาว่าการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิวัติสี” ซึ่งได้รับการวางแผนและสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตก
โดยความตึงเครียดในเซอร์เบียยังคงเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2024 ล่าสุด ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ยืนยันว่าเขาได้เตือนถึงความพยายามแทรกแซงจากชาติตะวันตกตั้งแต่ปี 2023 และได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งในปี 2024 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก หน่วยข่าวกรองรัสเซีย ที่ชี้ชัดถึงการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติในประเทศเซอร์เบีย
วูลินระบุว่า เห็นสัญญาณของความพยายามแทรกแซงจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่ม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึง USAID เป็นแหล่งทุนใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับ “ปฏิวัติสี” (Color Revolution) ที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่า “นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของประชาชนเพียงลำพัง แต่เป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของต่างชาติที่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของเซอร์เบีย”
คำว่า “ปฏิวัติสี” หมายถึง การลุกฮือของประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่เป็นที่พอใจของชาติตะวันตก โดยมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจในรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการประท้วงในเซอร์เบียครั้งนี้ เกิดการปะทุขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน ไปจนถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเซอร์เบียมองว่าการชุมนุมที่ขยายตัวขึ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิกิริยาของประชาชน แต่เป็นแผนการที่มีการจัดตั้งและสนับสนุนจากภายนอก
ด้านผู้จัดการชุมนุมและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการประท้วงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาภายในประเทศ และไม่มีอิทธิพลจากต่างชาติแทรกแซง
ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า ประเด็นนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การประท้วงยังไม่มีท่าทีจะลดความร้อนแรงลง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความไม่สงบในระดับที่รุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเซอร์เบียยืนยันว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศต่อไป
ที่มา : Sputnik