Friday, 4 April 2025
เซอร์เบีย

‘ชาวเซอร์เบีย’ ส่งมอบปืนคืนรัฐฯ กว่าหมื่นกระบอก หลังเกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงในโรงเรียน

‘เซอร์เบีย’ เป็นประเทศที่มีอัตราการถือครองอาวุธปืนมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในยุโรป ปัจจุบันจากจำนวนชาวเซอร์เบียราว 7 ล้านคน มีการถือครองปืนมากถึง 2.7 ล้านกระบอก และมากกว่าครึ่งเป็นอาวุธปืนที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย

วัฒนธรรมการถือครองปืนของชาวเซอร์เบีย เริ่มแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามยูโกสลาเวียในปี 1989 ซึ่งชาวเซอร์เบียมองว่า การมีอาวุธปืนในครอบครองถือเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการป้องกันตนเอง อีกทั้งการใช้ปืน ยังเป็นส่วนหนึ่งในพิธีแต่งงาน งานเฉลิมฉลองในวันเกิดทารก หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในสมบัติประจำครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่ทั้งนี้ คดีอาชญากรรมที่ใช้ปืนเป็นอาวุธในเซอร์เบียอยู่ในระดับกลาง ราวๆ 0.3 คดีต่อประชากร 100,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย อาจทำให้ชาวเซอร์เบียชะล่าใจว่า การถือครองปืนไม่ได้ส่งผลต่อระดับคดีอาชญากรรมในประเทศ จนกระทั่ง เกิดเหตุโศกนาฎกรรม กราดยิงครั้งใหญ่ ติดต่อกันถึง 2 แห่งภายในระยะเวลาไม่ถึงสัปดาห์

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในโรงเรียน Vladislav Ribnikar Model Elementary School ชานกรุงเบลเกรด โดยนักเรียนอายุ 13 ปี ใช้ปืนของพ่อกราดยิงเพื่อน และ ครูในโรงเรียน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน และบาดเจ็บอีก 6 คน หลังจากนั้นเพียง 2 วัน เกิดเหตุชายวัย 21 ขับรถไล่ยิงคนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ทางใต้ของกรุงเบลเกรด จนมีผู้เสียชีวิตถึง 8 รายในคืนเดียว

จากเหตุสลดดังกล่าว ทำให้ชาวเซอร์เบียเริ่มตระหนักถึงอันตราย จากการมีอาวุธใกล้มือเกินไปที่บ้าน และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูซิส ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนโดยทันที

ด้านผู้นำเซอร์เบีย ก็ได้ออกคำสั่งกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อน และเพิ่มโทษการถือครองอาวุธปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ด้วยโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

แต่ประธานาธิบดี วูซิส ได้ประกาศช่วงนิรโทษกรรม 1 เดือนให้กับชาวเซอร์เบียทุกคนที่ยังครอบครองอาวุธปืนเถื่อน ให้นำมาส่งมอบคืนกับรัฐบาล จะได้รับการยกเว้นโทษ ซึ่งช่วงนิรโทษกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ไปจนถึง 8 มิถุนายนนี้ หากพ้นชวงนี้ไป ทางรัฐบาลเซอร์เบียจะเริ่มนโยบายกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อน และใครที่ยังถือครองอยู่จะได้รับโทษตามกฏหมาย ไม่มีละเว้น

ซึ่งทันทีที่มีประกาศ ชาวเซอร์เบียก็ได้นำอาวุธไปคืนให้กับรัฐบาลเซอร์เบียเป็นจำนวนมาก จนกองพะเนินเป็นภูเขา และยังเป็นที่น่าตกตะลึงว่า ในจำนวนปืนที่นำมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ นอกจากจะมีปืนกล ปืนกึ่งอัตโนมัต ที่เป็นกลุ่มอาวุธที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้พลเรือนครอบครองอยู่แล้ว ยังพบปืนต่อสู้รถถัง และ ปืนยิงขีปนาวุธ บางส่วนด้วย ซึ่งนับรวมแล้วตอนนี้มีปืนจากประชาชน ส่งคืนให้รัฐบาลไม่น้อยกว่า 13,500 กระบอก

แม้ว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมการครอบครองปืนของชาวเซอร์เบียจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยผู้นำเซอร์เบียได้ออกมากล่าวชื่นชมชาวเซอร์เบียที่นำอาวุธมาส่งคืนให้ เพราะมีตัวเลขที่น่าสนใจว่า ในจำนวนปืนราวหมื่นกระบอกนี้ กว่าครึ่งเป็นปืนที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่ชาวเซอร์เบียบางส่วนก็ยินดีส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาล เพราะเห็นว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ปืนเหล่านี้แล้ว อีกทั้งไม่อยากเห็นเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในเซอร์เบียอีก

การออกมาตรการควบคุมอาวุธปืนในเซอร์เบีย กำลังจะเป็นที่สนใจอย่างมากในอีกประเทศที่มีปัญหาคดีอาชญากรรมจากอาวุธปืนอย่างหนัก นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา

โดยสื่อในสหรัฐ พยายามถอดรหัส ‘เซอร์เบียโมเดล’ การปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนลดการถือครองอาวุธปืน และสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยได้โดยปราศจากอาวุธ

แต่โมเดลเซอร์เบีย อาจจะเกิดขึ้นไม่ง่ายที่สหรัฐ เนื่องจากในเซอร์เบียไม่มี ‘สมาคมปืนแห่งชาติ’ ที่พร้อมทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อล็อบบี้นักการเมืองอเมริกัน ในการยกมือคัดค้านกฎหมายควบคุมอาวุธปืน โดยอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นสรณะ มานานนับร้อยปีนั่นเอง

รองนายกฯ เซอร์เบียโวย การประท้วงได้รับการหนุนจากต่างชาติ ชี้ USAID คือแหล่งทุนสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

(25 มี.ค. 68) กระแสความไม่พอใจในเซอร์เบียยังคงเดือดดาล หลังเกิดการประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 โดยล่าสุด นายอเล็กซานดาร์ วูลิน รองนายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับ Sputnik โดยกล่าวหาว่าการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิวัติสี” ซึ่งได้รับการวางแผนและสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตก

โดยความตึงเครียดในเซอร์เบียยังคงเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2024 ล่าสุด ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ยืนยันว่าเขาได้เตือนถึงความพยายามแทรกแซงจากชาติตะวันตกตั้งแต่ปี 2023 และได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งในปี 2024 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก หน่วยข่าวกรองรัสเซีย ที่ชี้ชัดถึงการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติในประเทศเซอร์เบีย

วูลินระบุว่า เห็นสัญญาณของความพยายามแทรกแซงจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่ม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึง USAID เป็นแหล่งทุนใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับ “ปฏิวัติสี” (Color Revolution) ที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่า “นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของประชาชนเพียงลำพัง แต่เป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของต่างชาติที่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของเซอร์เบีย”

คำว่า “ปฏิวัติสี” หมายถึง การลุกฮือของประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่เป็นที่พอใจของชาติตะวันตก โดยมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจในรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการประท้วงในเซอร์เบียครั้งนี้ เกิดการปะทุขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน ไปจนถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเซอร์เบียมองว่าการชุมนุมที่ขยายตัวขึ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิกิริยาของประชาชน แต่เป็นแผนการที่มีการจัดตั้งและสนับสนุนจากภายนอก

ด้านผู้จัดการชุมนุมและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการประท้วงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาภายในประเทศ และไม่มีอิทธิพลจากต่างชาติแทรกแซง

ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า ประเด็นนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การประท้วงยังไม่มีท่าทีจะลดความร้อนแรงลง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความไม่สงบในระดับที่รุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเซอร์เบียยืนยันว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top