Saturday, 19 April 2025
สหรัฐ

‘นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง’ เรียกผู้เชี่ยวชาญหารือด่วน เตรียมต่อกรกับภาษีทรัมป์ ย้ำผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

(10 เม.ย. 68) นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีนได้เป็นประธานการประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอก และหาทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจจีน โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากจากปัจจัยภายนอก แต่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ ความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งและศักยภาพมหาศาลในการฟื้นตัว

นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงกล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีสถานการณ์พิเศษและการท้าทายต่างๆ แต่จีนสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยความสงบที่มั่นคง พร้อมทั้งสามารถรักษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้

นายกรัฐมนตรีจีนยังกล่าวเสริมว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้านเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในไตรมาสที่สองและในอนาคต โดยจะดำเนินนโยบายมหภาคเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการขยายอุปสงค์ภายในประเทศเป็นกลยุทธ์ระยะยาว และกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของธุรกิจทุกรูปแบบอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง มีความหวังว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนการเติบโต รวมถึงเสริมสร้างและยกระดับวิสาหกิจของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

‘รัฐบาลสหรัฐฯ’ ไล่นักเรียนต่างชาติพ้นแคมปัส เพิกถอนวีซ่า 300 คน โดยไม่มีคำเตือน ‘UCLA’ กระเทือนหนัก

(11 เม.ย. 68) ฮูลิโอ แฟรงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอส แอนเจลิส (UCLA) แถลงผ่านเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยถึงกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่านักเรียนต่างชาติ (student visas) มากกว่า 300 รายทั่วประเทศ โดยมีนักศึกษาของยูซีแอลเอที่ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 10 คน และเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนหรือชี้แจงล่วงหน้าจากรัฐบาลกลาง

อธิการบดีแฟรงค์ ระบุว่า นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6 คน ที่ยังคงศึกษาอยู่ในปัจจุบัน และอีกประมาณ 6 คนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและอยู่ในช่วงฝึกงานภายใต้โปรแกรม OPT (Optional Practical Training) ซึ่งอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติทำงานต่อได้อีก 1-2 ปี หลังจบการศึกษา

มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ซึ่งมีนักศึกษาจากเอเชียมากกว่า 26% ระบุว่าการยกเลิกวีซ่าเกิดขึ้นผ่านระบบ SEVIS (Student and Exchange Visitor Information System) ภายใต้การดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และจากโปรแกรม SEVP (Student and Exchange Visitor Program) ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของทางสถาบัน พบว่ามีการยุติสถานภาพ (terminated) ของนักศึกษาปัจจุบันและอดีตนักศึกษาอย่างน้อย 12 คน

แม้จะไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจน แต่โดยปกติแล้วการยกเลิกวีซ่านักเรียนจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดข้อกำหนดตามโปรแกรมวีซ่า เช่น การเรียนไม่ครบชั่วโมง การหยุดเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการทำงานโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตัวเลขของผู้ได้รับผลกระทบยังคงไม่แน่นอนและอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ในแถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า “จนถึงขณะนี้ ยูซีแอลเอยังไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางได้ปฏิบัติการใด ๆ ภายในแคมปัส และยังไม่ได้รับคำชี้แจงใด ๆ จากรัฐบาลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้”

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ (ICE) มีข้อความระบุชัดว่า “หากคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับการปลอมแปลงวีซ่านักเรียน หรือนักเรียนต่างชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย กรุณารายงานได้ที่นี่” ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในครั้งนี้

ด้าน มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กระทรวงของเขาได้เพิกถอนวีซ่ามากกว่า 300 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็นวีซ่านักเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของเขา

หนึ่งในคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงแรก คือกรณีของนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนองค์กรก่อการร้าย รวมถึงกรณีการจับกุม มะห์มูด คาลิล ภายหลังเข้าร่วมการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

สถานการณ์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติในการเผชิญการเนรเทศ โดยมีการเพิกถอนวีซ่าอันเกิดจากความผิดเล็กน้อยในอดีต หรือในบางกรณีอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนเลย ตามคำกล่าวของทนายความด้านการย้ายถิ่นฐาน

สำหรับ การบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาต่างชาติในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของอเมริกา มีขึ้นท่ามกลางการปราบปรามผู้อพยพครั้งใหญ่ของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจในเชิงรุกในการตะเพิดผู้อพยพบางราย และดำเนินการเนรเทศโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวน

เจฟฟ์ โจเซฟ ประธานสมาคมทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานอเมริกัน กล่าวว่า “เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานล้วนเคยถูกใช้มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้มันถูกใช้ในลักษณะที่สร้างความตื่นตระหนกและความโกลาหลในหมู่ประชาชน และสุดท้ายคนเหล่านั้นจะต้องออกจากประเทศไปโดยปริยาย”

อธิการบดีฮูลิโอ แฟรงค์ กล่าวปิดท้ายด้วยความห่วงใยว่า “เราต้องการให้นักศึกษานานาชาติของเรารู้ว่า คุณไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง คุณเป็นส่วนหนึ่งของยูซีแอลเอ และเป็นส่วนสำคัญของชุมชนของเรา”

จีนตอบโต้ศึกการค้า ประกาศลดนำเข้าหนังฮอลลีวูด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นการลงโทษที่แยบยล เจ็บตัวน้อยแต่ทำให้วอชิงตันต้องคิดหนัก

(11 เม.ย. 68) จีนประกาศแผนลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ยังคงร้อนแรงและไม่มีวี่แววผ่อนคลาย

โฆษกของ China Film Administration (CFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการอนุมัติฉายภาพยนตร์ในประเทศจีน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับสมดุลทางการตลาด” และ “สะท้อนความนิยมของผู้ชมชาวจีน” โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน รวมถึงภาพยนตร์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสนใจของผู้บริโภคในจีน

“เราจะยังคงสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจากทั่วโลก และเปิดรับเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภาพยนตร์จีน ซึ่งกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว” โฆษก CFA กล่าว

คริส เฟนตัน ผู้เขียนหนังสือ Feeding the Dragon: Inside the Trillion Dollar Dilemma Facing Hollywood, the NBA, and American Business กล่าวว่า การลดจำนวนภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ถือเป็น “วิธีที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงออกถึงการตอบโต้ โดยแทบจะไม่มีผลเสียใดๆ ต่อจีนเลย”

“การลงโทษฮอลลีวูดอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของปักกิ่ง ซึ่งวอชิงตันจะต้องสังเกตเห็นอย่างแน่นอน” เฟนตันกล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ออกมาปกป้องฮอลลีวูด โดยตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับข้อจำกัดใหม่ของจีนว่า “ผมคิดว่าผมเคยได้ยินเรื่องที่แย่กว่านี้”

แม้จะมีข้อจำกัดใหม่ แต่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมบันเทิงระบุว่า ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องที่มีฐานแฟนคลับในจีนยังสามารถเข้าฉายได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 'Thunderbolts' ของ Marvel Studios ที่จะเข้าฉายในจีน วันที่ 30 เมษายน 2568

บริษัท IMAX ซึ่งมีธุรกิจทั้งในจีนและต่างประเทศ ระบุว่า ข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่แข็งแกร่งสำหรับ IMAX ในจีน โดยไตรมาสแรกของปีนี้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

เซธ เชเฟอร์ นักวิเคราะห์จาก S&P Global Market Intelligence Kagan ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีข้อจำกัด แต่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ได้เข้าฉายในจีนมีเพียงราว 25% เท่านั้น และเปอร์เซ็นต์นี้ยังคงลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศจีนเอง

“แม้จะได้เข้าฉายในจีน รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจากจีนก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้รวมทั่วโลก” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์ 'Captain America: Brave New World' ซึ่งออกฉายในเดือนกุมภาพันธ์ และทำรายได้ในจีนเพียง 14.4 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมทั่วโลกที่ 413 ล้านดอลลาร์

ในอดีต ภาพยนตร์อย่าง 'ไททานิค' และ 'อวตาร' ประสบความสำเร็จมหาศาลในจีน ทำให้ดาราอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และผู้กำกับอย่าง เจมส์ คาเมรอน เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนภาพยนตร์จีนทุกวัย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2020 ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองสามารถครองสัดส่วนตลาดถึง 80% ของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ในปีก่อนหน้า

ในรายชื่อภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของจีน มีเพียงเรื่องเดียวจากต่างประเทศที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก นั่นคือ 'Avengers: Endgame' ที่ทำรายได้กว่า 4.25 พันล้านหยวน หรือราว 579.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพยนตร์ที่เหลือล้วนเป็นผลงานจากจีน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ที่กำลังมุ่งสู่การกระจายตัวมากขึ้น และลดการพึ่งพา 'อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ' ลงอย่างต่อเนื่อง

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าและคว่ำบาตร ‘เม็กซิโก’ ปมไม่แบ่งปันน้ำจาก ‘แม่น้ำริโอแกรนด์’ ให้เกษตรกรเท็กซัส

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าและการคว่ำบาตรต่อเม็กซิโก หากรัฐบาลเม็กซิโกยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1944

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน ระบุว่า “บรูก โรลลินส์ รัฐมนตรีเกษตรของผม กำลังยืนหยัดเพื่อเกษตรกรเท็กซัส และเราจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และอาจรวมถึงการคว่ำบาตร จนกว่าเม็กซิโกจะเคารพสนธิสัญญา และส่งน้ำที่เป็นของเท็กซัสคืนมา”

ตามสนธิสัญญาปี 1944 เม็กซิโกมีพันธกรณีต้องส่งมอบน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ให้แก่สหรัฐฯ ประมาณ 1.75 ล้านเอเคอร์-ฟุต ภายในรอบระยะเวลา 5 ปี โดยผ่านระบบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทเรื่องน้ำระหว่างสองประเทศมีประวัติความตึงเครียดยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงปี 2020 ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุจนกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเกษตรกรชาวเม็กซิโกจำนวนมากเข้ายึดเขื่อนในพื้นที่ชายแดน เพื่อพยายามปิดกั้นการส่งน้ำไปยังสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่ยาวนานทำให้ทรัพยากรน้ำขาดแคลน น้ำจากแม่น้ำที่ทั้งสองประเทศใช้ร่วมกันจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเขตแดนระหว่างประเทศและน้ำ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ถึงเดือนตุลาคม 2024 เม็กซิโกสามารถจัดส่งน้ำได้เพียงประมาณ 400,000 เอเคอร์ฟุต ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดในสนธิสัญญาอย่างมาก โดยยังขาดอยู่อีกกว่า 1.4 ล้านเอเคอร์ฟุต ส่งผลให้หนี้ค้างชำระสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้านผู้นำเม็กซิโก ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ได้ตอบโต้ผ่านโพสต์บนเอ็กซ์ (X) ว่า เม็กซิโกยังคงพยายามปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสนธิสัญญา “เท่าที่ทรัพยากรน้ำจะเอื้ออำนวย” และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเกษตรของเม็กซิโกเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากไม่มีทางออกอย่างชัดเจน ความตึงเครียดเรื่องน้ำอาจกลายเป็นประเด็นทางการทูตที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ เผยไต้หวันอยู่ในกลุ่มเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ล็อตแรก ภาคธุรกิจชู ‘เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี’ หวังขยายตลาดในอเมริกา

(11 เม.ย. 68) ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน เปิดเผยระหว่างการพบปะผู้นำภาคธุรกิจว่า ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ใน 'กลุ่มแรก' ที่จะได้เปิดเจรจาด้านมาตรการภาษีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

“เราอยู่ในกลุ่มเจรจากลุ่มแรก และรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี” ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าการหารือครั้งนี้เป็นโอกาสทองสำหรับไต้หวันในการสร้างความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งรวมถึงไต้หวันที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 32%

ขณะเดียวกัน เดวิด ชวง (David Chuang) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไต้หวัน (TAMI) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรของไต้หวันจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการ 'เปลี่ยนประเทศต้นทาง' ผ่านประเทศที่สาม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสหรัฐ

ชวงยังเสริมอีกว่า ซัพพลายเออร์ชาวไต้หวันยินดีที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในอเมริกาในการผลิตเครื่องมือเครื่องจักร โดยระบุว่า “เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี”

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่ามีมากกว่า 70 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเปิดการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเวทีการค้าระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ลั่น! จีนไม่หวั่นสงครามการค้า ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร และจะไม่ยอมถอยท่ามกลางแรงกดดัน

“จีนไม่เคยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาประเทศตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราฝ่าฟันทุกอย่างด้วยความพยายามของตัวเอง” สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ หรือ 'กะพริบตา' ให้กับความไม่ยุติธรรม

แม้สงครามการค้าจะยังร้อนแรง แต่ผู้นำจีนยืนยันว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเอง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก

สำหรับ คำกล่าวของประธานาธิบดีจีนมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการภาษีนำเข้าและข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top