Monday, 19 May 2025
สหรัฐ

ตม.สหรัฐลุยขับไล่ผู้อพยพในชิคาโก เจอคนไทยถูกรวบ พบมีประวัติอาชญากรรม

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ICE) ของสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการขับไล่ผู้อพยพในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายออกจากประเทศ โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมเปิดเผยว่าเขามีพื้นเพมาจากประเทศไทย

โฆษกของ ICE กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและเสริมสร้างความมั่นคงในชุมชน โดยเฉพาะการขจัดบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ

เอมิล โบฟ รองอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชุมชนของเรามีความปลอดภัย และจะไม่หยุดจนกว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ”

การจับกุมครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลในชุมชนผู้อพยพในชิคาโก โดยมีการรายงานจากกลุ่มองค์กรสนับสนุนผู้อพยพว่า มีผู้ถูกจับกุมจากหลายพื้นที่ในเมือง รวมถึงย่านอัลบานีพาร์กและเฮอร์โมซา

ในระหว่างการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมมือกับดร.ฟิล แม็กกรอว์ นักจัดรายการสื่อฝ่ายขวาในการถ่ายทอดสดบางส่วนของการจับกุมทาง Merit TV โดยมีการถ่ายทำภาพชายคนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับคำสัมภาษณ์จากดร.ฟิล

ชายผู้นั้นบอกว่าเขามีสัญชาติไทย และเกิดที่ประเทศไทย เมื่อถูกถามว่าเคยถูกตั้งข้อหาหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมไม่อยากพูดอะไร ผมต้องการคุยกับทนายความ” พร้อมกับยืนยันว่าแม่ของเขาคือพลเมืองสหรัฐฯ แต่เขาไม่ได้รับสัญชาติ

ตามข้อมูลจาก Merit TV ชายคนนี้ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศและการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย แต่รายละเอียดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการสหรัฐฯ

รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

กงสุลใหญ่ชิคาโกยืนยัน 'ไม่พบข้อมูล' ชายเอเชียที่ตม.สหรัฐฯ รวบ ยันไร้คนไทยถูกจับ

(28 ม.ค.68) จากกรณีที่ ฟิล แม็กกรอว์ หรือ ดร. ฟิล พิธีกรชื่อดังของสหรัฐฯ ได้เดินทางร่วมกับโธมัส โฮแมน ผู้คุมชายแดนคนใหม่ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ ในปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและมีการเผยแพร่ชายคนหนึ่งที่ชื่อ Seda (Sam) Soma ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐจับกุม และได้อ้างตัวเองผ่านสื่อว่าเป็นคนไทยนั้น

สำนักข่าว VOA ได้ประสานงานเพื่อสอบถามข้อมูลต่อ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยืนยันว่า ชายคนดังกล่าวไม่ใช่คนไทยตามที่มีการกล่าวอ้าง 

จากข้อมูลที่รายการของ ดร.ฟิล เผยแพร่ ระบุว่า ชายผู้ชื่อ Sam ที่ถูกจับกุมในคลิปดังกล่าวคือชายที่กระทำผิดทางเพศและหลอกลวงเหยื่อจากประเทศไทย โดยในคลิประบุว่า แซม เซดา เป็นชายผู้ที่ระบุว่าเกิดในประเทศไทย ได้พูดคุยกับดร.ฟิล ขณะที่ถูกถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเขาในสหรัฐฯ โดยเขาได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกขับออกจากประเทศ และขอพบทนายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุมขังเขา

เรื่องดังกล่าว นางฆฏนาวดี กัลยาณมิตร กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้กล่าวกับ VOAThai ว่า เมื่อได้รับข้อมูลจากข่าวดังกล่าว ทางสถานกงสุลได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์ และไม่พบชื่อของชายดังกล่าว ซึ่งยืนยันได้ว่าเขาไม่ใช่คนไทย โดยอาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยและเดินทางมาสหรัฐฯ ตามแม่ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ยังกล่าวเสริมว่า สถานกงสุลยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยคนใดถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรณีนี้แต่อย่างใด

ขณะที่ นางอุราสี ถิรตั้งเสถียร เจิง กงสุล ณ นครชิคาโก กล่าวว่า กระบวนการส่งตัวผู้ที่ถูกจับกุมจะอ้างอิงจากประเทศต้นทางที่บุคคลนั้นถือสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลสัญชาติอย่างรอบคอบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยังได้แนะนำให้ชุมชนไทยในพื้นที่ไม่ต้องตกใจและติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้น

การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นที่จะดำเนินการขับผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนโยบายคุ้มครองผู้อพยพ เช่น ชิคาโก

ตามรายงานจากสำนักงานตำรวจนครชิคาโก การจับกุมดังกล่าวถูกดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ  (ICE) โดยไม่ขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

นอกจากดร.ฟิลแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม เอมิล โบฟ เข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้ โดยระบุว่า ผู้อพยพที่ถูกจับกุมรายแรกในชิคาโกเป็นผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และเคยก่อเหตุฆ่าหญิงสาววัย 19 ปีในอุบัติเหตุขณะขับขี่ภายใต้ฤทธิ์สุรา

ล่าสุด รายงานจาก ICE ระบุว่าในวันเดียวกันได้จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายถึง 956 ราย ซึ่งมากกว่าการจับกุมเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2024 ถึงสามเท่า

'ดร.สันติธาร' ตั้ง 5 คำถาม 'DeepSeek' AI จีนตัวเปลี่ยนเกมท้าชนมหาอำนาจ

(28 ม.ค. 68) ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอจากจีนที่อาจเปลี่ยนโลก 5 คำถามสำคัญที่ตามมา จากการผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอของจีนที่เป็นกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก แต่ยังมาจังหวะที่สหรัฐฯเปลี่ยนรัฐบาลพอดี เสมือนเป็นการ‘สะบัดหาง’ครั้งสำคัญของปีงูเล็กเลยกว่าว่าได้และอาจมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย (ใครไม่ได้ตามข่าวนี้ผมแปะลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับเอไอตัวนี้ไว้ในคอมเมนท์ครับ)

ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดอย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ จึงอยากลองแชร์ไว้เผื่อไปช่วยคิดและติดตามกันต่อครับ
1.จีน vs อเมริกา. การมาของ DeepSeek ตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีเอไอของอเมริกายังนำโลกอยู่จริงไหม หรือจีนสามารถวิ่งไล่กวดได้แล้วแม้จะไม่ได้เข้าถึงชิปคุณภาพสูงสุดที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและพันธมิตร  และหากไล่กวดได้จริงตามตัวเลขการทดสอบความสามารถเอไอต่างๆที่ออกมา ต่อไปสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร:

-จะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้า-เทคโนโลยีเพื่อให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ได้ยากขึ้นไปอีกไหม หรือ/และ
-จะทุ่มทุนยิ่งกว่าเดิมสร้างกับโครงการเอไอขนาดยักษ์อย่าง Stargate ที่มูลค่าที่ประกาศเกือบเท่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าเพราะไปจำกัดการเข้าถึงชิปของจีนนี่แหละเลยทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่สร้างเอไอได้ประหยัดกว่าเดิม ทำ‘กันดารกลายเป็นสินทรัพย์‘

2.ความสิ้นเปลืองทรัพยากร. การที่ Deepseek ใช้เงินในการพัฒนาเอไอน้อยกว่า พวกบริษัทเทคโนโลยีดังๆของอเมริกาประมาณ 20-30x และ ใช้ชิปที่ไม่ได้ ’ทรงพลัง‘ เท่า (มีคนบอกว่าชิปที่พวกเขาใช้ แค่นักเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยในอเมริกายังมีใช้เลย) ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหมู่นักลงทุนและบริษัทเทคฯว่า “เอ้ะ ที่เราลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้ได้ชิปที่ทรงพลังที่สุดนี่จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า” สรุปเราจ่ายไปเพื่อซื้อ ’เนื้อ’ หรือ ’ไขมัน’ กันแน่? หรือว่า: เงินอาจจะไม่ใช้มากขนาดนั้น ชิพอาจจะไม่ต้องทรงพลังขนาดนั้น พลังงานก็อาจจะไม่ต้องใช้หนักขนาดนั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นวงการเทคฯและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องตื่นตระหนกตกใจพานิคร่วงกันเป็นแถวเมื่อวานนี้

3.โมเดลแบบเปิด vs ปิด. คนส่วนใหญ่อาจมองสงครามเอไอเป็นระหว่างสหรัฐฯ vs จีน แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยีอีกศึกที่คุกรุ่นมานานคือระหว่าง โมเดลแบบเปิด (Open source) ที่เสมือนเปิด ‘สูตรลับ‘ หรือ โค๊ดให้คนอื่นสามารถเอาไปศึกษา ใช้พัฒนาต่อยอดได้ กับ โมเดลแบบปิดที่ไม่ได้เปิดข้อมูลเหล่านี้ เช่น ChatGPT Deepseek คือเป็นแบบเปิด จึงทำให้เกิดคำถามว่าโมเดลแบบเปิดนี้มันเจ๋งจนไล่กวดโมเดลแบบปิดที่ซ่อนสูตรลับของตัวเองแล้วหรือ? นึกภาพหากร้านอาหารอร่อยมากๆเปิดสูตรให้คนเอาไปทำที่บ้านแล้วทำออกมามันอร่อยไม่แพ้ร้านแพงๆที่เก็บสูตรเป็นความลับ ต่อไปใครจะอยากไปจ่ายแพงเพื่อกินที่ร้าน 
แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วต่อไป Deepseek จะยังเปิดสูตรตัวเองไปเรื่อยๆแบบนี้ไหม หรือวันดีคืนดีก็จะปิดมันและเก็บตังค์ค่าใช้แพงๆ และ/หรือ จะมีการเอาข้อมูลของ User ไปใช้อย่างไรเพราะบางคนก็ห่วงเรื่อง data governance

4.ผู้นำ-ผู้ตาม. Deepseek ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นในการพัฒนาเอไอที่มี ความสามารถใกล้เคียงกับโมเดลรุ่นใหม่ ของ OpenAI โดยใช้โมเดลของ OpenAI ช่วยเทรนสอนโมเดลของตนเองด้วย เสมือนOpenAI เป็นจอมยุทธ์ที่ฝึกแทบตายกว่าจะบรรลุเคล็ดวิชาใหม่ แต่พอนักเรียนมาเลียน/เรียนต่อแป๊บเดียวสามารถได้วิชาระดับเดียวกันมาได้  (ภาษานักลงทุนคือ Moat หรือคูเมืองป้องกันปราสาทเรา มันไม่ได้ข้ามยากเท่าที่คิด) จึงทำให้เกิดคำถามว่าวงการเอไอนี่ผู้นำได้เปรียบมากจริงไหม หากผู้ตามสามารถตามได้เร็วขนาดนี้และยังทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แบบนี้มันยังคุ้มที่จะลงทุนพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำ ‘บรรลุเคล็ดวิชาใหม่ๆ‘ ไหม เพราะผู้นำด้านเอไออาจถูกดิสรัปง่ายกว่าที่คิด

5.อนาคตของเอไอ. ในมุมผู้พัฒนาและลงทุนกับเอไอ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ขนหัวลุก แต่ในมุมของผู้ใช้ พัฒนาการนี้ก็อาจมองในมุมบวกได้เช่นกัน
- ต้นทุนพัฒนาเอไอถูกลงทำให้ค่าบริการถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น
-เอไออาจสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น
-โมเดลแบบเปิดอาจทำให้คนเก่งๆทั่วโลก สามารถศึกษาและเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างเอไอที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทของสังคมตนเอง 
- การพัฒนาเอไออาจมีการแข่งขันมากขึ้น Generative AI กลายเป็น‘เทคโนโลยีโหลๆ’ขึ้น ผลักดันให้หลายเจ้าอาจต้องหามุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนวอื่นมากขึ้น คิดเรื่องแอพพลิเคชันมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มเงินสร้างมันสมองที่ฉลาดอย่างเดียว จึงอาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น 
ในทางกลับกันการที่แต่ละประเทศต่างแข่งกันสร้างสุดยอดเอไออาจทำให้ต่างลดความสำคัญด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดเอไอแบบอันตรายต่อสังคมขึ้นหรือไม่ 

แน่นอนว่าเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Deepseek อีกมากและก็เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจมีการหักมุมจากผู้เล่นอื่นอีกที่ไม่ใช่ DeepSeek เลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็คิดว่า 5 ประเด็นนี้คือคำถามที่เราควรตั้งและช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกและกระทบเราทุกคนในอนาคตครับ

แฉบริษัทอาวุธมะกัน โกยเงินสงครามยูเครน หุ้นโตพุ่ง-ออเดอร์อื้อ ไม่สนวิกฤตขัดแย้งโลก

(28 ม.ค.68) ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่เห็นปลายทางของจุดจบ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทางทหารหลายแห่งของสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากความขัดแย้งของสองชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว  Sputnik ว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธในสหรัฐฯ ได้ทำกำไรมหาศาลจากการจัดหาอาวุธสำหรับสงครามในยูเครน ซึ่งผลักดันโลกให้เข้าใกล้จุดวิกฤติของสงครามเต็มรูปแบบ

รายงานระบุว่า บรรดาผู้ผลิตอาวุธจากสหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์จากการขายอาวุธให้แก่รัฐบาลต่างชาติ ส่งผลให้ยอดขายอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29% ในปี 2024 หรือคิดเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 318.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ   

ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ Lockheed Martin, General Dynamics และ Northrop Grumman ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางหุ้นสายเทคโนโลยีบริษัทอื่นๆที่มักผันผวน แต่หุ้นของอุตสาหกรรมอาวุธในสหรัฐฯ ต่างเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยหุ้นของ Lockheed Martin เติบโต 38.49% ในปีที่ผ่านมา แตะจุดสูงสุดที่ 611.74 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ขณะที่หุ้นของ General Dynamics เพิ่มขึ้น 27.81% แตะระดับสูงสุดที่ 313.39 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2024  ส่วนหุ้นของ Northrop Grumman มีการเติบโต 25.5% ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2024  

ตามการวิเคราะห์ของ Sputnik ที่อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการคลังยูเครนและมหาวิทยาลัย Kiel พบว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา NATO ได้สนับสนุนงบประมาณแก่รัฐบาลยูเครนถึง 191.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุด มูลค่ารวม 68.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่าประเทศที่เป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหรัฐฯ ได้แก่ ตุรกี สั่งซื้อ เครื่องบิน F-16 และการปรับปรุงระบบ มูลค่า 23 พันล้านดอลลาร์ อิสราเอล สั่งซื้อเครื่องบินรบ F-15 มูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่น สั่งซื้อ เครื่องบิน KC-46A มูลค่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ และขีปนาวุธ Tomahawk มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์  เยอรมนี สั่งซื้อขีปนาวุธ Patriot มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์  อินเดีย สั่งซื้อโดรน MQ-9B มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-64E Apache มูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ โรมาเนีย สั่งซื้อรถถัง M1A2 Abrams มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์)

ดร.เคน แฮมมอนด์ นักเขียนและศาสตราจารย์ กล่าวกับ Sputnik ว่า การแสวงหากำไรจากสงครามโดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรง โดยยูเครนถูกส่งอาวุธจากตะวันตกอย่างไม่หยุดยั้ง  

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางทหารจำนวนมหาศาลที่ตะวันตกส่งให้ยูเครนส่วนใหญ่กลับไร้ผลในสนามรบ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายโจมตีที่ชอบธรรมของรัสเซีย และยังมีส่วนหนึ่งที่หลุดไปอยู่ในมือของพ่อค้าอาวุธผิดกฎหมายในตลาดมืด

ฟ้องหนักบริษัทยา Merck วัคซีนมะเร็ง HPV ทำวัยรุ่นพิการถาวร แฉซ้ำบริษัทปกปิดผลข้างเคียง

(30 ม.ค.68) Merck & Co., Inc. บริษัทผู้ผลิตยาอันดับ 2 ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญคดีฟ้องร้องจากการทำตลาดวัคซีน Gardasil ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็ง HPV หลังจากที่มีรายงานว่าพบผลข้างเคียงรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นที่รับวัคซีน โดยพบรายงานมีอาการ ไมเกรนรุนแรง ปัญหาด้านความจำ อัมพาตชั่วคราว โรคหัวใจ ระบบย่อยอาหารอ่อนแรง และอาการบาดเจ็บอื่นๆ ในขณะที่วัคซีนดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับ  Merck ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ก็ตาม

ด้านนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ จูเนียร์ (RFK Jr.) ผู้มีแนวโน้มจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแสดงความกังวลและประกาศว่าจะดำเนินการอย่างเข้มงวดกับบริษัทยาที่เขาระบุว่าเป็น 'องค์กรอาชญากรรม' โดยเฉพาะกรณีของ Merck ที่มีประวัติการจ่ายค่าเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์จากคดียา Vioxx ในอดีต และยังถูกกล่าวหาว่าทดลองยาในยูเครนโดยไม่ได้รับความยินยอม

สำหรับวัคซีน Gardasil ได้รับการส่งเสริมและจำหน่ายอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับกลุ่มอายุ 9-45 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งศีรษะและลำคอ รวมถึงมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อ HPV นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาผ่านการสนับสนุนของ Gavi พันธมิตรด้านวัคซีน อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์รวมถึง RFK Jr. ชี้ว่า Gardasil อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด และก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว 

ล่าสุด ทนายความของหญิงชาวลอสแองเจลิสได้ยื่นฟ้อง Merck ฐานให้ข้อมูลเท็จและปกปิดผลข้างเคียงของวัคซีน โดยกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง ขณะที่ทนายความของ Merck ยืนยันว่าจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และปฏิเสธว่าอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับวัคซีน ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาสามารถ

ทั้งนี้ Merck เคยมีประวัติจ่ายค่าเสียหายมหาศาลในคดียา Vioxx เมื่อปี 2007 ซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยกว่า 4,850 ล้านดอลลาร์ หลังพบว่ายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าบริษัทได้ทำการทดลองยาในยูเครนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกเปิดเผยจากเอกสารที่กองทัพรัสเซียยึดได้

สั่ง Meta ควัก 25 ล้านดอลลาร์ชดใช้ทรัมป์ กรณีปิดบัญชีจากเหตุจลาจลรัฐสภา

(30 ม.ค. 68) บริษัท Meta ยินยอมที่จะจ่าย 25 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อยุติคดีความที่ทรัมป์ฟ้องร้องบริษัท หลังจากที่แพลตฟอร์มสั่งระงับบัญชีของทรัมป์หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 รายงานข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย  The Wall Street Journal และได้รับการยืนยันโดยโฆษกของ Meta 

จากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่า เงินจำนวน 22 ล้านดอลลาร์ที่ Meta จ่ายให้ทรัมป์นี้จะถูกนำไปสมทบทุนสร้างหอสมุดประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายและชำระให้กับโจทก์รายอื่น ๆ ที่มีชื่อในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ทำเนียบขาวยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

การฟ้องร้อง Facebook ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัทแม่ Meta เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ทรัมป์ยื่นฟ้อง สืบเนื่องหลังเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว ทรัมป์ยังยื่นฟ้อง YouTube และ Twitter (ปัจจุบันคือ X) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องร้อง Twitter ถูกผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางยกฟ้องไปแล้ว ขณะที่คดีฟ้องร้อง Google ถูกระงับคดีชั่วคราวไปในปี 2023 แต่ยังมีโอกาสที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ Facebook ระงับบัญชีของทรัมป์ เนื่องจากเขาใช้แพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอ้างว่าตนเป็นผู้ชนะในปี 2020 การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Facebook ซึ่งก่อนหน้านี้มักปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยไม่มีการควบคุมเข้มงวด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สามารถระงับบัญชีบุคคลสำคัญได้ในกรณี "พิเศษ" เช่น ภาวะความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมือง

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ในเวลานั้นกล่าวว่า "เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากการปล่อยให้ประธานาธิบดีใช้งานแพลตฟอร์มของเราต่อไปในช่วงเวลานี้นั้นสูงเกินไป" บริษัทจึงตัดสินใจลงโทษทรัมป์ขั้นสูงสุดตามกฎใหม่ โดยระงับบัญชี Facebook และ Instagram ของเขาแบบไม่มีกำหนด

"พวกเขาไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้ พวกเขากำลังเซ็นเซอร์และปิดปากเรา และสุดท้ายแล้ว เราจะชนะ ประเทศของเราไม่สามารถทนรับการกดขี่แบบนี้ได้อีกต่อไป!" ทรัมป์กล่าวในขณะนั้น และเสริมว่า "ครั้งต่อไปที่ผมอยู่ในทำเนียบขาว จะไม่มีมื้อค่ำที่ซักเคอร์เบิร์กและภรรยาของเขาร้องขออีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นเรื่องธุรกิจเท่านั้น!"

ไม่กี่เดือนต่อมา Facebook ปรับลดระยะเวลาการระงับบัญชีของทรัมป์เป็นสองปี และในปี 2023 เมื่อครบกำหนดสองปี บริษัทได้คืนสิทธิ์ให้เขากลับมาใช้งานแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับ Twitter และ YouTube ที่ยกเลิกการแบนบัญชีของทรัมป์

ล่าสุด ซักเคอร์เบิร์กดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่โปรดปรานของทรัมป์อีกครั้ง โดยมีรายงานว่าเขาพบกับทรัมป์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนั่งแถวหน้าระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซักเคอร์เบิร์กยังเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงระดับหรูให้กับทรัมป์ในช่วงเฉลิมฉลองวันเข้ารับตำแหน่ง

การเจรจายุติคดีเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อซักเคอร์เบิร์กไปรับประทานอาหารค่ำกับทรัมป์ที่บ้านพัก Mar-a-Lago ในฟลอริดา โดย The Wall Street Journal รายงานว่าทรัมป์ระบุว่าคดีความต้องถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะสามารถ "เข้าร่วมกลุ่มของเขา" ได้ ต่อมา ซักเคอร์เบิร์กกลับไปที่ Mar-a-Lago ในช่วงต้นเดือนมกราคมเพื่อการไกล่เกลี่ยที่กินเวลาทั้งวัน

หลังจากเดินทางไปฟลอริดาไม่นาน ซักเคอร์เบิร์กก็ประกาศนโยบายใหม่ของ Meta โดยระบุว่าบริษัทจะยกเลิกข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับเนื้อหาทางการเมือง และอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยสะท้อนคำพูดของทรัมป์ว่า "การเซ็นเซอร์ออนไลน์มีมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับไปสู่รากฐานของเรา

ทรัมป์โทษนโยบายหลากหลาย ทำจราจรทางอากาศพัง จ้างคนไร้ความสามารถทำงาน ต้นเหตุปมเครื่องบินชนเฮลิคอปเตอร์ดับ

(31 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงข่าวถึงเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ชนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอวก์ของกองทัพ ตกกลางแม่น้ำโปโตแมค ที่กรุงวอชิงตัน ขณะกำลังลงจอดที่สนามบินเรแกนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 67 ราย โดยไม่มีผู้รอดชีวิต

ซึ่งแม้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่ทรัมป์กล่าวโทษว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI) ที่ส่งเสริมการเปิดรับบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานแทนที่บุคคลที่มีความสามารถสูงสุด โดยทรัมป์กล่าวว่า 

"คนที่ทำงานควบคุมการจราจรทางอากาศต้องเป็นคนที่ฉลาดที่สุด ไม่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาหรือเชื้อชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถ" ทรัมป์กล่าว พร้อมวิจารณ์ว่าการเปิดรับบุคคลจากกลุ่มที่หลากหลายเข้าทำงานแทนที่จะพิจารณาจากความสามารถ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรง  

เมื่อนักข่าวถามว่าทำไมเขาจึงสรุปว่านโยบาย DEI เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ทรัมป์ตอบว่า “เพราะผมมีคอมมอนเซนส์ แต่โชคร้ายที่คนอื่นไม่มี”

ทรัมป์ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และโจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับนโยบาย DEI มากเกินไป จนทำให้เกิดผลกระทบต่อมาตรฐานขององค์กร เช่น องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ซึ่งในสมัยของโอบามา เคยเรียกร้องให้เพิ่มความหลากหลายทางเชื้อชาติภายในองค์กร แทนที่จะคัดเลือกพนักงานจากความสามารถโดยตรง

นอกจากนั้นทรัมป์ยังเผยว่า เขาเตรียมลงนามคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมยกเลิกนโยบายความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI) ในภาคการบิน หลังเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของอเมริกันแอร์ไลน์สชนกลางอากาศกับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของกองทัพสหรัฐฯ ดังกล่าวด้วย

ด้านรองประธานาธิบดี เจ.ดี. แวนซ์ และ ฌอน ดัฟฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่างสนับสนุนแนวทางของทรัมป์ โดยแวนซ์ระบุว่านโยบาย DEI ทำให้มาตรฐานการจ้างงานในหอบังคับการบินตกต่ำลง ขณะที่ดัฟฟียืนยันว่าจะมีการปฏิรูปเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก  

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า บนเที่ยวบินของอเมริกันแอร์ไลน์สมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 64 คน ส่วนเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กมีผู้โดยสาร 3 คน หนึ่งในกลุ่มผู้โดยสารคือทีมสเก็ตลีลาจากเมืองบอสตัน ซึ่งมีนักกีฬาวัย 16 ปี 2 คน พร้อมมารดาและโค้ชชาวรัสเซียอยู่บนเครื่อง  

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุ โดยเบื้องต้นพบว่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์เดินทางมาตามเส้นทางปกติ ระบบสื่อสารไม่มีปัญหา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจุดบกพร่องเกิดขึ้นที่ใด ขณะที่สำนักงานดับเพลิงและบริการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า โอกาสพบผู้รอดชีวิตเป็นไปได้น้อยมาก ปฏิบัติการกู้ภัยจึงเปลี่ยนเป็นการเก็บกู้ศพ

ทรัมป์ฟาดหนัก! ขู่ BRICS เจอภาษี 100% แน่ หากกล้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ

(31 ม.ค.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำเตือนผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ถึงกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% หากกลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ระบุว่า “แนวคิดที่ว่ากลุ่ม BRICS จะหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่เรายืนดูอยู่นั้นต้องจบลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ 

“หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษี 100% และควรเตรียมตัวโบกมืออำลาการค้ากับเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พวกเขาสามารถไปหาประเทศอื่นที่ยอมจำนนได้ แต่ไม่มีทางที่ BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศหรือที่ใดก็ตาม”

คำเตือนของทรัมป์เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่ม BRICS ได้แสดงความสนใจในการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบการชำระเงินหรือสกุลเงินใหม่เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตาม การขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม BRICS ในอนาคต

จีนลุยยื่น WTO ฟ้องสหรัฐ อ้างไม่เป็นธรรม หลังขึ้นภาษี 10%

(4 ก.พ. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนรายงานว่าจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับกลไกแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีสหรัฐฯ ตัดสินใจกำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฏหมายของจีน

โฆษกกระทรวงฯ แถลงข่าวว่ากรณีสหรัฐฯ กำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจากสินค้าจีนได้ละเมิดกฎเกณฑ์ขององค์การฯ อย่างร้ายแรง โดยการกระทำเช่นนี้ถือเป็นแบบอย่างของลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้า

การกระทำของสหรัฐฯ บั่นทอนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ บ่อนทำลายรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างยิ่ง

สหรัฐฯ มุ่งเน้นลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีมากกว่าพหุภาคีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อให้เกิดเสียงตำหนิติเตียนจากสมาชิกองค์การฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งจีนคัดค้านการกระทำของสหรัฐฯ และกระตุ้นเตือนฝ่านสหรัฐฯ แก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที

จีนในฐานะผู้สนับสนุนและผู้มีส่วนส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีพร้อมทำงานร่วมกับสมาชิกองค์การฯ รายอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี และคุ้มครองการพัฒนาอันมีระเบียบและเสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top