Friday, 17 May 2024
พลังประชารัฐ

‘บิ๊กป้อม’ วิดีโอคอล ขอบคุณชาวเเท็กซี่ ดูเเลผู้โดยสารช่วงสงกรานต์ พร้อมรับปาก หากได้เป็นรัฐบาล จะช่วยดูเเลเรื่องค่าเเก๊ส-น้ำมันให้

(12 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้ (12 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘FC ลุงป้อม’ ได้โพสต์คลิปของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่วิดีโอคอลให้กำลังใจผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยหนึ่งในกลุ่มแท็กซี่ที่มาร่วมวิดีโอคอลกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ นายพัลลภ ฉายินธุ นายกสมาคมผู้ประสานงานรถรับจ้างสนามบินสุวรรณภูมิและกลุ่มที่ปรึกษาสมาคมชมรมรถแท็กซี่ อาทิ เช่น นายอำนาจ เผือกบาง และผู้ขับแท็กซี่หลายคนได้ร่วมวิดีโอคอลกับพลเอกประวิตร

โดยนายกสมาคมผู้ให้บริการแท็กชี่และรถรับจ้างกล่าวว่า สวัสดีพลเอกประวิตร ขอให้สู้ ๆ และก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้ช่วยดูแลราคาค่าแก๊สและน้ำมันของรถแท็กซี่ด้วย

จากนั้น พลเอกประวิตร กล่าวทักทายให้กำลังใจผู้ขับขี่แท๊กซี่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นว่า ขอบคุณที่ให้กำลังใจตน ดังนั้นตนขอให้กำลังใจทุกคน และขอฝากให้ดูแลผู้โดยสารด้วย หากตนได้เป็นนายกฯ รัฐบาลจะลดราคาน้ำมันและแก๊สช่วยรถแท็กซี่ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวจึงร้องเรียนมายังรัฐบาลขอความช่วยเหลือ 4 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท นำอาชีพแท็กซี่เข้าเป็นแรงงานนอกระบบ เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 รวมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

‘สกลธี’ บุกตลาดสัมมากร นำทีมช่วย ‘นาถยา’ หาเสียง ชูนโยบาย ลดราคาก๊าซ-น้ำมัน ลั่น!! ทำทันทีหากได้เป็นรัฐบาล

(15 เม.ย. 66) ที่ตลาดสัมมากร นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พร้อมนางนาถยา แดงบุหงา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 19 (มีนบุรี-สะพานสูง) หมายเลข 10 ลงพื้นที่ตลาดสัมมากร เขตสะพานสูง พบประชาชนและแนะนำนโยบายพรรค ก่อนขึ้นรถแห่หาเสียง

นายสกลธี กล่าวว่า ประชาชน ตอบรับการลงพื้นที่วันนี้ดีมาก เพราะนางนาถยา เป็น ส.ส.เจ้าของพื้นที่มา 2 สมัย มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี ส่วนตนได้พบกับผู้สนับสนุนตั้งแต่สมัยที่ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีโอกาสได้พูดคุยกัน และนำเสนอนโยบายของพรรค เรื่องลดราคาก๊าซ เหลือถังละ 250 บาท โดยทำทันทีหากได้เป็นรัฐบาล เพื่อช่วยลดต้นทุนให้หับพ่อค้า แม่ค้า

‘นพวรรณ’ ผู้สมัครส.ส.พปชร. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาพ่อค้าแม่ค้า ปมค่าแก๊สแพง ลั่น!! หากได้เป็น รบ. จ่อเสนอทันทีลดเหลือ 250 บาท

(16 เม.ย.66) ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เบอร์ 12 เขตบางเขน (เฉพาะแขวงท่าแร้ง) สายไหม (เฉพาะแขวงออเงิน) ลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจรเข้บัว) พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่และได้พบปะพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ได้รับเสียงสะท้อนในเรื่องของราคาแก๊สถังขนาด 15 ก.ก.มีราคาประมาณถังละ 400 กว่าบาท จึงได้นำเสนอนโยบายพรรคที่จะช่วยลดต้นทุนให้พ่อค้าแม่ค้า และช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ทันที โดยพรรคมีนโยบายลดราคาแก๊สให้เหลืออยู่ที่ถังละ 250 บาท ซึ่งประชาชนที่ได้ฟังนโยบายพรรคพลังประชารัฐในวันนี้มีการตอบรับที่ดีมาก โดยระบุว่า อยากให้มีนโยบายที่ดีที่ช่วยเหลือประชาชนออกมา  

"ถ้าอยากได้น้ำมันราคาถูก ก็ต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐไปเป็นรัฐบาล เพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาปากท้องและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ทันทีที่พรรคได้จัดตั้งรัฐบาล เราทำได้จริง ไม่ขายฝัน ดังนั้นขอให้ประชาชนช่วยสนับสนุนเลือกพรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 ใบ ทั้งคนและพรรค พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 37"ภญ.นพวรรณ กล่าว

‘พปชร.’ คว้าคะแนนติด TOP 3 ในเวทีดีเบตช่อง 7 คาด!! กระแส ‘ลุงป้อมฟีเวอร์’ กำลังหวนกลับมา

เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.66) ผู้ใช้งานติ๊กต็อกชื่อ ‘sparkupdate’ ได้โพสต์วิดีโอพูดถึงผลโพลที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเลือกตั้งรอบนี้ โดยระบุว่า…

เกิดอะไรขึ้นกับกระแสของพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ๆ ก็โดดขึ้นไปมีชื่อบนโลกออนไลน์ หลังจากเวทีดีเบตของทางช่อง 7 ที่เรียกว่าเป็นซูเปอร์เรตติ้งอันดับ 1 ของประเทศไทย ได้มีการถ่ายทอดการดีเบต ซึ่งคะแนนของพรรคพลังประชารัฐในขั้นต้น ติดอยู่ใน TOP 3 เอาชนะฝั่งอนุรักษ์นิยมไปได้อย่างขาดรอย 

‘บิ๊กป้อม’ ขอบคุณผลโหวตอันดับ 1 ก้าวข้ามความขัดแย้ง ยอมรับเดินช้า-ขาไม่ดี แต่พร้อมลงพื้นที่ไปทุกจังหวัด

(18 เม.ย.66) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ ‘นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในสายตาประชาชน’ ที่ยกให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นอันดับ 1 ของนายกรัฐมนตรี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเป็นอันดับ 1 ของนายกรัฐมนตรีที่สามารถประสานงานจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่น ว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันโหวตให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความโดดเด่นในทั้งสองด้านดังกล่าว ซึ่งผลโพลที่ออกมาสอดคล้องกับแนวคิด ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ที่ตนเองและพรรคพลังประชารัฐชูธงนำมาโดยตลอด พร้อมให้ความมั่นใจว่า จะพาคนไทยออกจากวังวนความขัดแย้งได้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อเดินหน้าพลิกโฉมประเทศไทยต่อไป

นายชาญกฤช กล่าวว่า แนวคิดการก้าวข้ามความขัดแย้งของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นความมุ่งมั่นที่พยายามทำลายกำแพงความแตกแยก และเป็นการประกาศเริ่มต้นประเทศไทยใหม่ ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีจากสังคม โดยเฉพาะใจความสำคัญในจดหมายเปิดใจของ พล.อ.ประวิตร ได้พูดถึงแนวทางสมานฉันท์ที่น่าสนใจ คือ ภายหลังการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองใช้ในการรณรงค์หาเสียง เพื่อนำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง โดยไม่ได้เกี่ยงว่าเป็นพรรคใหญ่ พรรคเล็ก หรือเป็นพรรคการเมืองฝ่ายใด หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพราะเชื่อว่านโยบายของทุกพรรคการเมืองผ่านการกลั่นกรองมาในระดับหนึ่งแล้ว และมองว่า การเมืองไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด และไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟูและพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงหมดเวลาที่คนไทยจะทะเลาะกันเอง

นายชาญกฤช ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า พล.อ.ประวิตร มีความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะอยู่ในวัย 78 ปี ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค ดังคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ผ่านเทคนิคการบริหาร คือ ‘ช้า เร็ว หนัก เบา’ โดยยอมรับว่า ตัวเองเดินช้า แต่คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว เป็นคนหนักแน่น ไม่หูเบา ส่วนที่เบา คือ เป็นคนไม่มีภาระ ไม่มีครอบครัว ไม่มีห่วง จึงทำงานเพื่อประชาชนและส่วนรวมได้อย่างเต็มที่

‘นฤมล’ ควง ‘ไปป์ ภูวกร’ ลงพื้นที่หาเสียงเอกมัย 19 ชู ‘บ้านประชารัฐ 360 องศา’ เปลี่ยนเงินเช่าเป็นเงินผ่อน

(18 เม.ย.66) ชุมชนลีลานุช เอกมัย 19 กรุงเทพฯ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายภูวกร ปรางภรพิทักษ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. เขตวัฒนา-คลองเตย หมายเลข 8 พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ชุมชนลีลานุช เอกมัย 19 พร้อมเปิดตัวพื้นที่ต้นแบบ ‘บ้านประชารัฐ 360 องศา’ โครงการต้นแบบจากนโยบายบ้านประชารัฐ 360 องศา ‘เข้าถึง เข้าใจ ทำได้จริง’ โดยได้ร่วมพูดคุยและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชนในชุมชน

โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า วันนี้เรามาดูแลนโยบายเพื่อที่จะทำให้กับเขตคลองเตยวัฒนา โดยผู้สมัครของพรรคนายภูวกร หรือไปป์ ได้มีการเสนอกับผู้บริหารพรรคให้แก้ไขในเรื่องของที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งทันทีที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา จะต้องมีการผลักดันผ่านหน่วยงานต่าง ๆ และ กทม.รวมถึงภาคเอกชนที่จะต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของการออกแบบก่อสร้าง ตกแต่ง ให้ถูกใจผู้อยู่อาศัย และบริเวณภายนอกก็ควรจะเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้จะต้องมีการประสานกับธนาคารของรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยในด้านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วย

ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า พรรคพลังประชารัฐจะผลักดันให้เป็นสินเชื่อดอกเบี้ย 0% ซึ่งอยู่ในโครงการบ้านประชารัฐ และเป็นบ้านหลังแรก โดยพี่น้องประชาชนก็จะได้มีบ้านที่สวยงาม มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้ เช่น เมื่อเรามีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ หรือร้านค้าอื่นๆ ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา รายได้ก็จะตามมา 

"พื้นที่บริเวณนี้จะต้องได้รับการพัฒนาเหมือนเช่น คอนโดตึกใหญ่รอบข้างที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนตรงนี้ก็จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้ วันนี้ต่อให้เราจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็น เราก็จะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะ ความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งนโยบายนี้เราจะทำให้เกิดขึ้นในทุกเขต เพื่อให้ชาว กทม.ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้ เพราะคน กทม.ยังมีอีกหลายชุมชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง" ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ด้านนายภูวกร กล่าวว่า ตนเป็นคนเกิดที่นี่ และต้องการจะผลักดันโครงการบ้านประชารัฐ วันนี้ตนได้รับข่าวจากประธานชุมชนว่าในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามชุมชน ได้โดนไล่รื้อถอนบ้านที่อยู่อาศัยไปแล้ว ตนจึงไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีกในชุมชนนี้ ตนต้องการให้ชุมชนลีลานุชแห่งนี้ เป็นชุมชนแรกที่ได้ริเริ่มโครงการบ้านประชารัฐ ที่ผ่านมาเราเคยมีบ้านลักษณะเช่นนี้จากภาครัฐแล้วก็เช่นนี้มาแล้วแต่วันนี้จะทำให้ดีขึ้นอีก

‘ธีระชัย’ ชี้ ‘เงินดิจิทัลเพื่อไทย’ ควรปรับปรุงอีกหลายด้าน หวั่น!! ผิดธรรมาภิบาล-ข้อมูลการใช้จ่าย 54 ล้านคนรั่วไหล

(18 เม.ย.66) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงความเห็นเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทหรือนโยบายเหรียญดิจิทัลเพื่อไทยว่า เป็นนโยบายที่ไม่สามารถทำได้จริงเนื่องจากเห็นว่าเหรียญดิจิทัลเพื่อไทยที่จะส่งเข้าไปในกระเป๋าตังค์ดิจิทัลนั้นออกแบบให้สามารถใช้ชำระหนี้ระหว่างประชาชนด้วยกันได้ แต่ในเนื้อหาทางเศรษฐกิจและในข้อเท็จจริง เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย มีสภาพเป็นเงินตราอย่างหนึ่งซึ่งต้องเข้าบังคับภายใต้พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 

"ผมมีความเห็นว่า ถึงแม้กฎหมายกำหนดว่ายื่นขออนุญาตจากรัฐมนตรีคลังได้ก็ตาม แต่รัฐมนตรีคลังไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้แก่เอกชน เพราะพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจและหน้าที่ในการออกเงินตรา" นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ในเชิงวิชาการจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ประกอบด้วย โครงการออกแบบให้มีการส่งเหรียญเข้าไปในระบบดิจิตอล โดยระบุว่า เป็นแนวคิดเหมือนกันกับการใช้คูปองจากรัฐบาล โดยมีการแจกคูปองให้กับประชาชนและประชาชนนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ ลักษณะอย่างนี้จะเป็นการใช้รอบเดียว แต่แนวทางในการออกแบบของเหรียญดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยเป็นเหรียญที่สามารถนำมาใช้บนชำระหนี้ระหว่างประชาชนด้วยกันได้ 

"ลักษณะของเหรียญเช่นนี้มีถือว่าเป็นการออกเงินตราอย่างหนึ่ง และเมื่อมีสภาพเป็นเงินตราก็จะเข้าบังคับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคและเป็นประเด็นที่ควรจะต้องมีการปรึกษาเพื่อจะหาทางออกให้เรียบร้อยก่อน เพราะในแง่ของกฎหมายระบุเอาไว้ว่า กรณีการออกเงินตราสามารถขออนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ก็ตาม แต่ตามความเห็นของผม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่จะมาอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งให้ออกเงินตราทำไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยถูกบัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการออกเงินตราเท่านั้น"

'ชัยวุฒิ' ยก 'บิ๊กป้อม' มือประสานทุกฝ่าย ชี้!! เป็นนายกฯ โลกความจริง ไม่ใช่โลกออนไลน์

(18 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของบางพรรคการเมืองว่า ทุกคนเห็นต่างกันได้ พรรคการเมืองที่มีความเห็นไม่ตรงกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเรา ตนก็มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองอื่นเช่นเดียวกัน ถือเป็นการใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะที่มีบางพรรคพูดถึงเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ขอยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายนี้ เราเห็นด้วยกับการคงนโยบายการเกณฑ์ทหารไว้ และให้มีการพัฒนากองทัพ ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพราะเราเชื่อว่าความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องของการเกณฑ์ทหารมีระบบการสมัครใจอยู่แล้ว หัวใจสำคัญคือ ต้องดูแลทหารให้ดีขึ้น ให้คนที่ผ่านการเกณฑ์หรือสมัครเข้ามาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีประสบการณ์และได้รับการฝึกฝนที่ดี

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่อยากให้ทำนโยบายที่คิดถึงแต่ความนิยม หรือเอาใจประชาชน จนทำให้เกิดค่านิยมที่ผิด ค่านิยมไม่เสียสละเพื่อแผ่นดิน ตนไม่อยากใช้คำว่าชังชาติ แต่คิดว่าเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง อยากให้มองว่ากองทัพเป็นสิ่งสำคัญ ต้องช่วยกันสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง เพราะนี่คือความมั่นคงของชาติที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำให้เศรษฐกิจของเราเดินหน้า ต่อไปได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายพรรคมองว่านโยบายการเกณฑ์ทหารควรได้รับความสมัครใจจากผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นทหาร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นแนวคิดของพรรคการเมืองอื่น ซึ่งในข้อเท็จจริงวันนี้เรามีแผนพัฒนากองทัพ และมีการวางแผนใช้กำลังทหารอยู่แล้ว และปัจจุบันมีการปรับลดจำนวนทหารเกณฑ์ จาก 100,000 คนเหลือเพียง 6 หมื่นคน แต่ปัจจุบันผู้ที่สมัครเข้ามามีจำนวนไม่เพียงพอ จึงยังต้องคงระบบการเกณฑ์ทหารเอาไว้ ตนเชื่อว่าภัยคุกคามประเทศยังคงมีอยู่ บางเรื่องที่นักการเมืองไม่รู้แต่ฝ่ายความมั่นคงรู้ ก็ควรจะรับฟังและพูดคุยกันด้วยเหตุผล

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลโพลที่ออกมา ที่ระบุว่า พล.อ.ประวิตร เป็นอันดับ 1 ในการก้าวข้ามความขัดแย้ง นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นี่เป็นนโยบายหลักของพรรคอยู่แล้ว พล.อ.ประวิตร มีแนวคิดและแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ในเรื่องของการประนีประนอม และพูดคุยกับทุกฝ่าย ทุกวันนี้สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดโต่ง มีทั้งฝ่ายซ้ายจัด ขวาจัด บางคนก็อยากเปลี่ยนประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นการเปลี่ยนที่ไกลเกินไป จนคนไทยรับไม่ได้ และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต รวมถึงบางคน ที่คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องของครอบครัว มากเกินไป ก็จะทำให้ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งรับไม่ได้เช่นกัน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และทำให้บ้านเมืองมีปัญหาในอนาคต พล.อ.ประวิตร จึงต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง รับฟังทุกกลุ่มทุกฝ่าย ประสานให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ ที่สำคัญคือเราคิดต่างกันได้ แต่ต้องมาหาทางออกร่วมกัน

“เชื่อว่าลุงป้อม จะเป็น Soft Power ที่จะทำให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันได้ และสามัคคีกันได้ และเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศชาติของเราเดินหน้าไปได้ ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดีก้าวข้ามความขัดแย้งก้าวข้ามความยากจน"

‘บิ๊กป้อม’ ร่อนจดหมายตอบปม ‘จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร?’  ย้ำ!! พปชร. พร้อมตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของคนไทย

(19 เม.ย.66) เพจเฟซบุ๊กพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นเพจทางการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความระบุว่า จะ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ อย่างไร ดูจะยังเป็นประเด็นสับสน เกิดการพูดต่อๆ กันไปมากว่า ‘พลังประชารัฐ’ คิดอย่างไรกับการ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ การเมืองไทยตอนนี้มีความซับซ้อน ผมจะค่อยๆ อธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่า ‘การจัดตั้งรัฐบาล’ ควรจะทำอย่างไร

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ที่ว่า ‘การเมืองไทยขณะนี้ซับซ้อน’ เพราะมีหลายปัจจัยที่นำมาใช้กำหนดความเป็นไปของอำนาจทางการเมืองในทุกเรื่อง ตรงนี้มาพูดกันเฉพาะเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล จะจัดตั้งกันอย่างไร ต้องเริ่มจาก “ผลการเลือกตั้ง” มาดูกันว่าประชาชนเลือกพรรคไหนมาเท่าไร แต่ละพรรคมี ส.ส.ได้รับเลือกเข้ามากี่คน เห็นตัวเลขแต่ละพรรคแล้ววางไว้ก่อน มาสู่ขั้นตอนเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส.และ สว.รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 376 คน

ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่เป็นทางการขั้นตอนแรก หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็น คือจะต้องรวมกันแล้วมีเสียงส.ส.อย่างน้อยมมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกินกว่า 250 เสียง ต้องพยายามหาทางให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คือเสียง ส.ส.ร่วมสนับสนุนมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น หากได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากให้เป็นรัฐบาลแบบนี้

ขั้นตอนอย่างเป็นทางการเริ่มต้นอย่างนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อนกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความชอบธรรมของพรรคการเมือง ที่ได้ ส.ส.มากที่สุด ต้องมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคการเมืองต่างๆ จะแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างไร / ร่วมกับใครแล้วได้รับการตอบสนองข้อเสนอดีกว่า ใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ เป็นเงื่อนไขที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซํ้า คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น มีข้อมูลที่จะพูดถึงการปรับเปลี่ยนของพรรคเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุดเสมอ

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศตัวไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงการจัดตั้งรัฐบาลจริง ต้องเข้าร่วมด้วยเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง เช่นพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่พอถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมโดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ แค่ให้คุณอภิสิทธิ์ลาออกไป โดยมีประโยชน์ของประชาชนมากมายมาใช้อ้าง

เช่นเดียวกับ “นายอนุทิน ชาญวีรกุล” ให้สัมภาษณ์ในข่าวลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 ใจความสำคัญกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ลั่นอยู่คนละขั้วกับทหาร-พปชร. และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ในเนื้อหาข่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่าเฉลยแล้วปี 62 จับมือ พปชร.ตั้งรัฐบาล เพราะผมไม่อยากอยู่กับระบบ คสช. ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยประกาศเอาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง หากได้เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายก็รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกประหลาดอะไร อย่างที่บอกว่า หากมีประสบการณ์การเมืองมายาวนานเพียงพอจะรู้ว่า “นี่คือความปกติของการเมืองไทย” แม้ว่าสื่อและสังคมไทยจะไม่ยอมรับก็ตาม การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องสำคัญระดับ “จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร จะร่วมรัฐบาลกับใคร” จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม การตัดสินใจประกาศว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่รู้กันว่านั่นเป็นแค่การหาเสียง ที่เป็นจริงคือการเจรจาด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ ‘ลุงป้อม’ เป็น Soft Power ที่จะทำให้ทุกคนสามัคคีกัน ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อก้าวข้ามความยากจน 

“ทุกวันนี้สังคมไทยมีการขัดแย้งทางการเมืองกันแบบสุดโต่ง ทั้งซ้ายจัด ขวาจัด บางคนอยากเปลี่ยนประเทศ คนไทยก็รับไม่ได้ และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต และบางคนก็คิดแต่เรื่องที่เป็นเรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัวมากเกินไป ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งก็รับไม่ได้เช่นเดียวกัน 

ผมคิดว่าความขัดแย้งต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นหลังเลือกตั้ง ผมว่าจะส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินนะครับ และทำให้บ้านเมืองมีปัญหาได้ในอนาคต 

ลุงป้อมจะเป็น Soft Power ที่ทำให้ทุกคนทำงานร่วมกัน รักกัน สามัคคีกันได้ สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติเราเดินหน้าไปได้ ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดี ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อก้าวข้ามความยากจน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top