Friday, 17 May 2024
พรรคเพื่อไทย

‘ชวน’ เตือนสติ ปมขัดแย้งชิง ประธานสภาฯ ยึดตามอำเภอใจ ปัญหาไม่จบ แนะ ก้าวไกล-เพื่อไทย ให้หารือกันใกล้ชิด

28 มิ.ย. 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปีก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภา จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีกรณีประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ที่ผ่านมาพบว่าพรรคที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน ตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภา

เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรค ขณะที่มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่เที่ยวนี้ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

ต่อข้อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภา ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้

ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภา ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ประธานสภาจะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหานั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภา

“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรองกัน เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว

สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่าประธานสภาบันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน เขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก

“ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจทุกอย่าง ที่ผ่านมาการตั้งประธานสภา ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงสเปกประธานสภาว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภา ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้

พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค เพราะเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภา ดังนั้น พฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ

นับถอยหลัง ‘สุชาติ’ คว้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ‘ทิม  พิธา’ เต็งหาม ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

28 มิ.ย. เห็นนสพ.(ไทยโพสต์  รายวัน)พาดหัวตัวเป้ง..”14+1 หักก้าวไกล” พร้อมคำขยายว่า..เพื่อไทย ล็อกเก้าอี้ประธานสภา  ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น..”เล็ก  เลียบด่วน” ไม่ได้โม้...ประเด็นนี้ได้ฟันธงมานานแล้ว  และไม่แต่เก้าอี้ประธานสภาฯเท่านั้น ยังได้ฟันธงว่า..ที่สุดของที่สุด คุณพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์   ก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่างหาก..

งานนี้พรรคก้าวไกลก็คงได้ลิ้มรสชีวิตจริงทางการเมืองมากขึ้น...ความฮึกเหิมทางการเมืองที่คิดจะกินรวบประเภท 14+2  คือ  กวาด 14 รัฐมนตรีว่าการ  กับอีกสองเก้าอี้ใหญ่คือ นายกรัฐมนตรีและเก้าอี้ประธานสภาฯ ในขณะที่คะแนนต่างกับเพื่อไทยแค่ 10 เสียงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะอ่านออกมาแต่ต้นว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะยอมได้...

ท่าที ท่วงทำนองฮึกเหิมห้าวหาญของพรรค”ด้อมส้ม” ไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากมองว่า..พวกเขาเชื่อมั่นใน 14 ล้านเสียงจนมากเกินไป และเบื้องลึกผู้ทรงอิทธิพลในพรรคหรือโปลิตบูโรพรรคอาจจะกดปุ่มให้เดินเกมได้เสีย   คือถ้าได้ต้องได้ทั้งสองเก้าอี้ใหญ่  ถ้าไม่ได้ก็จะเป็นฝ่ายค้านสร้างความเชื่อมั่นรอส้มทั้งแผ่นดินในการเลือกตั้งครั้งหน้า...

อย่างไรก็ตาม..สงครามยังไม่จบ “เล็ก  เลียบด่วน” ก็ยังไม่อยากนับศพทหาร..ฟังมาว่าวงเจรจาเก้าอี้ประธานสภาวันสองวันนี้ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน    จะเปิดอกคุยกันอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย.  คุณหมอชลน่าน  ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าแม้พรรคจะยืนยันในหลักการ 14+1  แต่ยังไม่ใช่มติพรรค...ต่อเมื่อไปคุยกับพรรคก้าวไกลอีกครั้งถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะใช้มติพรรคว่าเดินหน้าต่ออย่างไร...

นั่นคือท่าทีเชิงเทคนิคของคุณหมอชลน่าน...

ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นยังไม่มีอะไรแหลมคมออกมามากไปกว่าตอนทุ่มเศษที่มีการเปิดตัว “หมออ๋อง”  ปดิภัทธ์  สันติภาดา   ส.ส.สมัยที่สองจากพิษณุโลก   ซึ่งหลายคนบอกว่าเขาคือสัตวแพทย์ปากจัด..  เป็นตัวชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดเกมแถลงยืนยันสูตร 14+1 ตอน5โมงเย็น...เรียกว่าสองพรรคเริ่มเปิดฉากออกอาวุธชิงไหวชิงพริบกันแล้ว    ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนาทีนี้หวยล็อกเก้าอี้ประธานสภาฯยังไม่เปลี่ยนไปจาก “พ่อมดดำ” สุชาติ  ตันเจริญ   ส.ส.9 สมัย  เป็นรัฐมนตรีมา 2 สมัย  รองประธานสภาฯมา 2 สมัย..

ครับ..สุดท้ายถ้าสองพรรคใหญ่เจรจาตำแหน่งประธานสภาฯกันไม่ได้ก็ต้องนำไปสู่การฟรีโหวตโดยที่ประชุมสภา  ซึ่งก็เดาไม่ยากว่าพรรคก้าวไกลจะแพ้หลุดลุ่ย...และหลังจากนั้นก็แทบจะพูดได้ว่าจบเกม..หรือที่คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยบอกกว่า “จบเห่” นั่นเอง...หรือแม้แต่คุณหมอชลน่านก็ยอมรับว่าถ้าสถานการณ์ลากไปถึงขั้นฟรีโหวตมันจะไม่เป็นผลดีกับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล  ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยประการทั้งปวง...

สุด..ไม่ว่าจะฟรีโหวตไม่ฟรีโหวตก็ฟันธงว่า เพื่อไทยจะคว้าเก้าอีกประธานสภาฯมาครอง...คำถามใหญ่กว่าที่รอยู่เบื้องหน้ามีอยู่สองประการคือ...หนึ่ง) รัฐบาลใหม่จะยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลหรือไม่   สอง)ใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งในชั้นนี้เขียนชื่อแปะไว้ข้างฝาเป็นครั้งที่สิบว่า..ถ้าไม่ใช่ชื่อ ป้อม  ประวิตร ก็ จะเป็น  นิด  เศรษฐา  หรืออุ๊งอิ๊ง  แพทองธาร...

ส่วน ทิม  พิธา  นั้น  เป็นเต็งจ๋าเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  -เอวัง

ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาฯ

ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทยยังคงลอยเป็นกระแสในโลกโซเชียลอยู่ กองเชียร์ของทั้ง 2 พรรคต่างก็มีเหตุผลมาหนุนให้พรรคในดวงใจได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ 
.
โดยตัวเต็งของเพื่อไทย คือ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ อดีตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 (ปี 2548 และ 2562) และอดีต ส.ส. 9 สมัย มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า 30 ปี 
.
ทางฟากก้าวไกลก็คือ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตสัตวแพทย์ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนเป็นก้าวไกล) หนึ่งในมืออภิปรายทุจริตกองทัพ ต้นตอกราดยิงโคราช
.
วันนี้ THE STATES TIMES สรุปประวัติคร่าวๆ ของตัวเต็งทั้ง 2 พรรคมาให้แล้ว จะโดดเด่น เหมาะสมกับตำแหน่งแค่ไหน มาดูกัน!!
 

‘พิธา’ จบข่าว.. ‘ป้อม-เศรษฐา-อนุทิน’ ชิงชัย ถอดรหัส ‘พีระพันธุ์’ ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ลุ้นเก้าอี้ใหญ่

ย่างสู่วันแรกของเดือนใหม่..กรกฎาคม เดือนแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เริ่มหลักกิโลเมตรใหม่ทางการเมือง   มีประธานรัฐสภาคนใหม่  นายกรัฐมนตรีคนใหม่...ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังฟันธงให้ขาดผึงไม่ได้ว่าเป็นใคร...เพียงแต่น่าเชื่อว่า..

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภา  ตัวเต็งคือ “พ่อมดดำ”สุชาติ  ตันเจริญ จากพรรคเพื่อไทย   “ตัวตึง”คือ ปดิพัทธ์    สันติภาดา  หรือ”หมออ๋อง”จากค่ายก้าวไกล...ซึ่งต้องรอดูคำตอบสุดท้ายจากการเจรจาของสองพรรคใหญ่ในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ว่าจะยอมกัน ณ จุดไหน อย่างไร..

ตำแหน่งประธานสภาฯ จะบอกเล่าเรื่องราวและเรื่องยาวได้ชัดเจนว่า  หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะเป็นใคร  แต่ในชั้นนี้ “เล็ก  เลียบด่วน” ฟันธงด้วยการข่าวว่าให้ตัดชื่อ..พิธา   ลิ้มเจริญรัตน์  ออกไปได้เลย  แม้จะถูกเสนอชื่อและอีก7พรรคร่วมชะตากรรมโดยเฉพาะเพื่อไทยจะยืนยันนอนยันเป็นครั้งที่555 แล้วว่าจะหนุนจนสุดตัวสุดทาง...และแม้จะมีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาว่ามีการทุ่มทุนล็อบบี้ส.ว.กันอย่างเอาการเอางานก็ตาม..

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า..กรณีการใช้ยุทธปัจจัยจากกลุ่มทุนบางกลุ่มล็อบบี้ส.ว.นั้นเป็นการล็อบบี้ให้กับตัวเต็งนายกฯที่ชื่อ “เศรษฐา” หรือ “อุ๊งอิ๊ง”  เป้าหมายเพื่อสกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งบัดนี้คนในสภาสูงจำนวนหนึ่งที่ใจแกว่งกะจะหาโบนัสส่งท้ายก่อนสิ้นวาระกลางปีหน้าก็เริ่มเปลี่ยนใจร้องเพลง..ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า..กันเป็นแถว..

สรุปรวมความ..เต็งจ๋านายกฯตอนนี้ยังคงเป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  ที่ลูกน้องดันหลังเต็มแม็กซ์ แต่เสียงสนับสนุนจากส.ว.ยังไม่แน่นหนาเท่าที่คนภายนอกนึกคิด

เต็งสอง  ห้ามมองข้ามก็คือ..เศรษฐา ทวีสิน  จากเพื่อไทย นาทีนี้ภาษากายบ่งบอกชัดเจนว่า..พร้อมมาก..พร้อมที่จะเป็น...ซึ่งโอกาสมีไม่น้อยถ้าเพื่อไทยไม่ผูกขาไว้กับพรรคก้าวไกลแบ่บว่า..ไปไหนไปด้วยกัน..

เต็งสาม   แม้จะชื่อ”หนู” แต่ก็อาจเป็นหนูที่อาจช่วยราชสีห์..เป็นทางเลือกให้กับบ้านเมืองเดินหน้าไปได้..ใช่แล้ว..เขาคืออนุทิน  ชาญวีรกูล   หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  ที่ “เล็ก   เลียบด่วน” ขอยืนยันว่าคนในสภาสูงเขาอยากโหวตให้มาก...

...ส่งท้าย ด้วยปริศนาการเมือง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อย่าว่าแต่คนภายนอกเลยที่ออกอาการงงเต้ก..คนในพรรคเองก็มึนตึ้บไปตามๆกัน  กรณี”บิ๊กตุ๋ย”พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค”  หัวหน้าพรรค ไม่ไปรายการตัวเป็นส.ส.ซึ่งเท่ากับสละตำแหน่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 ของพรรคไป..

ดูเฟซบุ๊กพีระพันธุ์ วันที่ 30 มิ.ย.ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.เคยบอกว่าจะไม่มีวันทิ้ง”ลุงตู่” วันนี้วันที่ 30 มิ.ย.ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีช่วยลุงตู่จนวินาทีสุดท้าย...ก่อนที่จะตบท้ายว่า  “ในฐานะหัวหน้าพรรคผมไม่ได้หายไปไหน  ผมยังคงทำหน้าที่กองทุนและดูแลการทำงานของพรรค  ของส.ส.และของสมาชิกพรรคให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติของเราตลอดไป”

สายข่าวของ “เล็ก  เลียบด่วน” แจ้งว่าวันที่ 3 ก.ค.พีระพันธุ์จะไปยืนเข้าเฝ้ารับเสด็จฯร่วมรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในฐานะตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี..ในขณะที่มีการคาดหมายกันว่า..อนาคตฉากต่อไปเขาอาจรับบทรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง...ซึ่งเราๆท่านๆยังไม่รู้

แต่”บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กตุ๋ย” รู้แล้ว..!!??

ย้อนดู พฤติกรรม ว่าที่ประธานสภาฯ ‘หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ อภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

‘หมออ๋อง’ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก อดีตนายสัตวแพทย์ ที่พรรคก้าวไกล ส่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร สู้กับพรรคเพื่อไทย หากเราลองย้อนดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของหมออ๋องแล้ว ก็จะพบว่ามีพฤติกรรมหลายๆอย่างที่ไม่เหมาะสม

หมออ๋องไม่ผูกเนคไท เข้าสภาฯ 
ซึ่งประเด็นนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้เคยกล่าวอภิปรายในร่างข้อบังคับฯ ในประเด็นการแต่งกายของส.ส. แล้วว่าเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ การแต่งกายไม่เรียบร้อยนั้นเป็นการไม่เคารพต่อประธานสภาและเพื่อนสมาชิก

หมออ๋อง ขึ้นอภิปรายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นายปดิพัทธ์อภิปรายว่า "นี่เป็นคำถามแห่งยุคสมัย ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า จากบทสนทนาที่เราคุยกันในโต๊ะอาหาร วงเหล้า หรือในกลุ่มเพื่อนสนิท ตอนนี้กลับมาเป็นประเด็นทางสาธารณะ มันหมายความว่านี่คือคำถามแห่งยุคสมัย แทนที่ผู้ใหญ่จะใช้วิธีปิดปากปิดตา ปิดหู ทำไมเราไม่ทำหน้าที่ในการตอบ ในการถามกลับ” 

ในปี 2565 นายปดิพัทธ์ ยังได้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ในช่วงที่นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังไม่ได้รับการประกันตัวจากการถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565

นายปดิพัทธ์ เคยกล่าวถึงบทบาทของอนุ กมธ. ชุดนี้ว่า ต้องการสร้างกระบวนการที่สามารถให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกันได้ โดยได้มีการเรียกให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดี ม.112

ซึ่งในขณะนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมจะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ หรือพ่อมดดำ ส.ส.ฉะเชิงเทรา หลายสมัย ผู้มากประสบการณ์ ในการเดินเข้าสภาฯสมัยที่แล้ว ก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

ถ้าเปรียบเชิงมวยกันแล้วก็ดูเหมือนว่า พ่อมดดำ นั้นจะได้เปรียบหมออ๋องอยู่ไม่น้อย เพราะมีเสียงสนับสนุนทั้งจากทางพรรคเพื่อไทยเอง และจากทางพรรคการเมืองอื่น

จากกำหนดการไทม์ไลน์ก็คงจะได้เปิดสภาฯกันเร็วๆนี้ ถึงตอนนั้นก็ไปลุ้นกันว่าหมออ๋อง จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ หรือว่าจะได้กินแห้ว

‘เพื่อไทย’ ผวาชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ โผล่ชิงนายกฯ ยัน!! ขอดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ สุดลิ่ม

ดันสุดลิ่ม!! ‘ชลน่าน’ ยันเพื่อไทย ดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯสุดความสามารถ แจงยังไม่คิดเสนอชื่ออื่นแข่ง ย้ำไม่มีนิยามของคำว่าหนุนถึงที่สุด ชี้ ‘ปิยบุตร’ เป็นผู้นำจิตวิญญาณ ขึ้นกับก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านตามสั่งหรือไม่ แอบห่วงชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ชิงนายกฯแพ็กกันแน่นได้เสียงเกิน 375

(14 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวการเสนอชื่อนายกฯ รอบสอง จะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แข่งว่า ถ้ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เรามีข้อห่วงใย คาดการณ์ว่าเสียงโหวตที่จะโหวตให้คู่แข่งเรา อาจจะเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมาทันที จาก 188 เสียงถ้าเขาแพ็กกันแน่น บวกกับเสียง ส.ว. มีโอกาสที่เสียงจะเกิน 375 เสียงได้

เมื่อถามว่าพรรคพท.จะเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต่อหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังเคารพสิทธิของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ส่วนจะดันหรือไม่นั้นขึ้นกับพรรคก้าวไกล ที่จะเป็นผู้เสนอในระหว่างวงพูดคุยระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งวงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อถามว่าดูแล้วเสียง ส.ว.น่าจะโหวตให้ยาก นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ไม่มีอะไรง่ายหรอก โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ปกติแบบนี้ มันคงเป็นประเด็นที่ 8 พรรคร่วมต้องมาคุยกัน ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้อยู่แล้วว่าถ้าโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. โดยที่เราไม่มีหลักหรือความมั่นใจ แล้วมีคนแข่งแล้วเรามีโอกาสแพ้ ก็ต้องมาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร”

เมื่อถามว่าในการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลจะมีโอกาสเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตครั้งที่ 2 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า อยู่ที่ข้อเสนอของการพูดคุย

เมื่อถามอีกว่าถ้าพรรคก้าวไกลยังเสนอชื่อนายพิธา พรรคเพื่อไทยจะแสดงท่าทีอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ก็เป็นสิทธิของพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับ 1 และเป็นพรรคแกนนำ พท.ลงเอ็มโอยูชัดเจนว่าจะสนับสนุนจนสุดความสามารถ ยืนยันอยู่แล้วครับ”

เมื่อถามว่าถึงเวลาสำหรับพรรคอันดับสองแล้วหรือยัง เพราะพรรคอันดับหนึ่งดูจะไม่ได้เสียงสนับสนุน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนเชื่อว่า 8 พรรคร่วมจะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าการโหวตนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ไม่ใช่ชื่อนายพิธาเป็นชื่ออื่นที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรคร่วม ความคาดหวังของพี่น้องประชาชนจะถูกทำลายทันที

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าในการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ทางพรรคร่วมจะเสนอชื่ออื่น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีคำว่าอาจจะ อยู่ที่การพูดคุย เมื่อถามต่อว่าหากสองพรรคพูดคุยจบแล้ว จะเป็นที่แน่ชัดหรือไม่ว่า 8 พรรคร่วมจะเสนอชื่อใครชิงตำแหน่งนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอสรุปก่อน ถ้าเราไม่ชัดเจน วันที่ 19 ก.ค.ก็มีเจตนาชัดแล้วว่าอีกฝ่ายจะเสนอชื่อแข่ง ก็จะเป็นกับดักให้เรายอมรับกับความพ่ายแพ้ เหมือนเราเอาความหวังประชาชน 25 ล้านเสียงไปทลายตรงนั้น เชื่อว่าประชาชนรับไม่ได้

เมื่อถามว่าฉันทามติของประชาชนต้องการให้ 8 พรรคร่วมเป็นรัฐบาลหรือให้นายพิธาเป็นนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่ง เป็นผู้รวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ในเชิงสัญลักษณ์ก็เหมือนประชาชนสนับสนุนเขา เมื่อทุกฝ่ายรวมกันก็เหมือนเป็นการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ

เมื่อถามว่าคำว่าจะสนับสนุนจนถึงที่สุด นิยามของคำว่าที่สุดคืออะไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คำว่าที่สุดไม่มีนิยาม มันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ความเป็นเหตุเป็นผล ความเสียหาย และโอกาสของประเทศชาติบ้านเมือง รวมๆ กันทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าเราทำถึงที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลพึงพอใจ เห็นชอบภาพรวมแล้วไม่ส่งผลกระทบ ถึงจะเป็นนิยามของคำว่าถึงที่สุด

เมื่อถามย้ำว่าจะให้โอกาสนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุย พรรค พท.ก็ยังหนุนนายพิธา เมื่อมีการพูดคุยก็จะเป็นไปตามข้อสรุปร่วมกัน

เมื่อถามถึงท่าทีของพรรค พท.กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ คณะก้าวหน้าโพสต์เฟซบุ๊กเสนอแก้มาตรา 272 รวมทั้งให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ก็เป็นความเห็นของผู้นำทางจิตวิญญาณของทางก้าวไกลส่วนจะปฏิบัติหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เราไม่มีข้อผูกมัดอะไรในการที่จะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่เป็นฝ่ายค้าน เพราะประชาชนเสียงข้างมากเลือกให้มาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เลือกเราให้มาเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อถามอีกว่านายปิยบุตรระบุอีกว่า ต้องยอมไปเป็นแกะดำ เพื่อให้อีก 4 ปีข้างหน้าจะได้คะแนนเสียงมากกว่านี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็แล้วแต่ความเห็น ไม่ขอวิจารณ์

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.ระบุว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาล ส.ว.จะก็ไม่สนับสนุน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของ ส.ว.บางคน

เมื่อถามต่อว่าข้อเสนอแก้มาตรา 272 ของพรรคก้าวไกลจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ ส.ว.หรือไม่นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องไปถาม ส.ว.ว่าพอใจหรือไม่

‘เศรษฐา’ รับ!! หนักใจผลโหวต ‘พิธา’ หลังคะแนนต่ำเกินคาด แต่ยืนยันขอหนุนเป็นนายกฯ สุดกำลัง รอ 8 พรรคเคาะเข็นต่อ

(14 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีข้อบังคับการประชุมไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ต้องมีการเปลี่ยนชื่ออื่นหรือไม่ ว่า ตนไม่ทราบข้อกฎหมายต้องถามฝ่ายกฎหมายดูก่อน ส่วนผลการโหวตก็มีความหนักใจ และไม่สบายใจ เพราะนึกว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ตนขอเข้าประชุมกับกรรมการบริหารพรรคก่อน

เมื่อถามว่า หากข้อบังคับมีการให้เสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาประกบ จะมีการเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบและยังไม่ได้คุยกับใครเลย

เมื่อถามว่าการโหวตครั้งนี้มีอุปสรรคมากมีการเสนอให้ปิดสวิตซ์ ส.ว.เพื่อให้การโหวตนายกฯราบรื่น นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้คุยมานานมากและสุดทางแล้ว คงคุยกันลำบาก คำว่าปิดสวิตซ์ก็ฟังดูไม่ดีเท่าไร แต่เห็นว่าคงลำบากเพราะโหวตครั้งที่ 1 ไปแล้ว คงต้องรอฟังความเห็นจากพรรคร่วม 8 พรรคไปก่อน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ เข้ามาแข่งด้วยนายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอชื่อตรงนี้หรือไม่ แต่หากดูตามคณิตศาสตร์ก็ลำบาก เพราะพรรคมีแค่ 40 กว่าเสียงเอง คิดว่าความเป็นไปได้คงลำบาก

เมื่อถามต่อว่า 8 พรรคร่วมจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตพรรคก้าวไกลจนถึงที่สุดหมายความว่ากี่รอบ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบต้องรอดูก่อนเพราะคะแนนมารอบแรกต่ำไปหน่อย ขอปรึกษากับกรรมการบริหารพรรคก่อนว่าคิดอย่างไร ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนขึ้นหลังจากประชุม 8 พรรคร่วม

เมื่อถามย้ำว่า ควรเสนอชื่อนายพิธา โหวตนายกฯ ต่อหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า กล่าวย้ำว่าต้องขอไปคุยกันก่อน แต่เรายืนยันว่าสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ขอบคุณ 324 เสียง

เมื่อถามว่า มีแนวทางจะไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคขั่วรัฐบาลเดิมให้หนุนโหวตนายกฯ หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องเป็นยุทธศาสตร์ของ 8 พรรคร่วมที่จะคุยกันส่วนตนไม่ได้อยู่ในวงเจรจาคงต้องถามอีกครั้งก่อน

‘เพื่อไทย’ ค้าน!! ‘ก้าวไกล’ แก้ รธน.272 ชี้ เป็นไปได้ยาก จ่อหารือกับพรรคร่วมรอบ 2 ยังไม่เคาะชื่อ ‘พิธา’ ชิงนายกฯ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ ตัวแทนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้นัดหารือกันหลังการโหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที

บรรยากาศที่ประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี โดยได้หารือถึงภาพกว้างประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยมองว่าในที่ประชุมรัฐสภาฯ จะมีการทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำในสมัยประชุมได้หรือไม่ รวมถึงประเมินว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้ามาแข่งด้วย ซึ่งวงหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพียงแต่อยากประเมินสถานการณ์ให้แต่ละฝ่ายไปหาทางรับมือประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นไปได้ยาก เพราะญัตติดังกล่าวต้องอาศัยเสียง ส.ว.ถึง 84 เสียง มองว่าเวลานี้ควรมุ่งหน้าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลกันก่อน

ทั้งนี้ หลังจากนี้ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่สรุปว่ายังเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ และยังไม่มีการหารือรายชื่อนายกฯ รอบ 2 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน ส่วนการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 พรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียง ส.ว.หรือไม่นั้น ที่ประชุมก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องมาหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล

‘พิธา’ จอดป้าย ‘เพื่อไทย’ ไปต่อ ดีลลับ ‘ทักษิณ’ กลับบ้านแลกนายกฯ

ผลการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ออกมาตามโผและความคาดหมายของใครต่อใคร… รวมทั้ง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ณ คอลัมน์ ‘เลียบการเมือง’ แห่งนี้ ที่ต้องขอบอกว่าไม่ได้โม้… ได้ทำนายทายทักมานานแล้วว่า เสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.นั้นจะมีประมาณ 15 เสียงบวกลบ… เท่านั้น

สุดท้ายได้มา 13 เสียง เป็นท่านใดบ้าง คงไม่ต้องมาขานชื่อกันตรงนี้อีก… และพรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องมาอธิบายความว่า ส.ว.ถูกกดดันถูกสั่งการโน่นนี่นั่นกันให้มากความ เอาเป็นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วย ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลให้มาบริหารประเทศ

บันทึกคะแนนโหวตเป็นทางการไว้สักนิด สมาชิกรัฐสภาลงมติโหวตทั้งสิ้น 705 คน เห็นชอบให้พิธาเป็นนายกฯ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 งดออกเสียง 199 พิธาสอบไม่ผ่าน… ด้วยคะแนนที่แม้กระทั่งคนชื่อ ‘นิด’ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยบอกว่า… ต่ำไปหน่อย

‘เล็ก เลียบด่วน’ ใคร่สรุปวิเคราะห์แบบเหลียวหลังแลหน้าเป็นข้อๆ ตามสไตล์ในสาระสำคัญของสถานการณ์ดังนี้… 

1.) ความผิดพลาดจนไปไม่ถึงฝันของพิธาและพรรคก้าวไกลมัดรวมอยู่ตรงที่นโยบายสุดโต่งที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม… แต่เป็นความไม่เหมือนเดิมในเชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการยืนกระต่ายขาเดียวที่จะต้องแก้แบบยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งแม้ ณ นาทีก่อนโหวต ‘พิธา’ หรือสมาชิกพรรคก้าวไกลก็ไม่ยอมลดเพดานหรือถอยแม้แต่ก้าวเกียว… และต้องยอมรับว่าการอภิปรายชี้แจงของพิธาและ ส.ส.พรรคก้าวไกลไม่สามารถหักล้างคำอภิปรายเรื่องมาตรา 112 ของ ส.ส.ชาดา ไทยเศรษฐ์, ส.ว.คำนูญ สิทธิสมาน และอีกหลายคนได้

2.) พรรคเพื่อไทยเขาอ่านเกมออกตั้งแต่ปีมะโว้แล้วว่าอย่างไรสูตรรัฐบาล 8 พรรคไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพียงแต่เขาติดกับดักคำว่า ‘พรรคฝ่ายประชาธิปไตย’ กลัวด้อมส้มและติ่งแดงจะถล่มหากรีบตีจากก็เลยลากมาถึงวันที่ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว เสนอชื่อพิธา และให้สหายศรชัย… อดิศร เพียงเกษ อภิปรายสนับสนุนสองสามคำ… เท่านั้นเอง

3.) สถานการณ์ของพิธาและก้าวไกลหนักหนาสาหัส… สมมุติแม้จะดันทุรังจนได้โหวตหนที่สองก็จะไม่ผ่านอีกแต่โอกาสจะไม่ได้โหวตรอบสองมีสูงด้วยกฎกติกามารบาทตามข้อบังคับ… ไม่แต่เท่านั้นที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 19 ก.ค.อาจสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ กกต.ร้องขอมาก็ได้

4.) การดิ้นรนแก้เกมด้วยการยื่นร่างแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้มีสิทธิโหวตนายกฯ นอกจากจะไม่ทันกาลแล้ว โอกาสจะผ่านก็มีน้อยมาก แม้ ส.ว.จำนวนไม่น้อยเขาไม่ติดใจที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าพวกเขาไม่พร้อมปิดสวิตช์เพื่อให้พรรคก้าวไกลไปเป็นรัฐบาลแล้วแก้มาตรา 112

5.) เกมการเมืองเกือบทั้งหมดกำลังเคลื่อนไปอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยที่ปีกหนึ่งเห็นว่าในการจัดตั้งควรจะอุ้มกระเตงพรรคก้าวไกลไปด้วย ทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าขืนทำแบบนั้น ส.ว.ก็จะโหวตคว่ำอีก แต่อีกปีกหนึ่งไม่เห็นด้วย… ที่สุดแล้วเพื่อไทย อาจจะยอมทำ แม้จะถูกด่า ทั้งนี้เพื่อตัวเองจะได้มีความชอบธรรมในการสลัดทิ้งพรรคก้าวไกล… แล้วผสมพันธุ์ข้ามขั้วกับพรรคฝ่ายที่ถูกเรียกว่าอนุรักษ์นิยมหรือขั้วอำนาจเดิม

6.) ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ ยังมีความพยายามเจรจาต่อรองให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไปหรือไม่… ซึ่งประเด็นนี้ พรรคเพื่อไทย คิดหนัก เพราะเดิมพันกับคะแนนนิยมในสมัยหน้า...แต่บางกระแสกระซิบมาว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะยอมถ้าได้ยึดคุมกระทรวงสำคัญไว้ในมือ… และที่สำคัญคือ แลกกับดีลลับเรื่องทักษิณกลับบ้านที่จะต้องเรียบร้อยสมบูรณ์

7.) สถานการณ์การชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่พิธาพลาดหวังจะมีอย่างต่อเนื่อง กึ่งๆ แฟลชม็อบ แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าไม่หนักหนาสาหัสหรือรุนแรงมากนัก ขณะที่บรรดา ส.ว. หรือ ส.ส.ที่มีบทบาทโดดเด่นกรณีโหวตพิธาจะได้รับผลกระทบระดับหนึ่งจากเกมล่าแม่มดของด้อมส้ม

เปิดสูตรใหม่ 312 ผสานเสียง 9 พรรค กึ่งรัฐบาลปรองดอง เชื่อ ‘ส.ว.’ หนุนพรึ่บ

หลังจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 ที่ทั้ง 8 พรรคนำโดย ‘พรรคก้าวไกล’ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมหรือ ‘MOU’ จนถึงวันนี้ 22 ก.ค. 66 รวมสองเดือนพอดี… ก็ต้องฟันธงว่า MOU ที่ว่า กำลังจะถูกฉีกลงในไม่กี่เพลาข้างหน้านี้… ถูกฉีกลงพร้อมกับพรรคอย่างน้อย 2 ใน 8 พรรค คือ ‘ก้าวไกล’ และ ‘ไทยสร้างไทย’ ที่จะต้องออกจากสมการ

ถ้าทวนความทวนสถานการณ์สั้น ๆ จะพบว่า...

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน แสดงความพร้อมมากที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และเป็นครั้งแรกที่เขาพูดเสียงดังฟังชัดว่า… การแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะ ส.ว.ไม่เล่นด้วย

จนกระทั่ง ในวันศุกร์ที่ 21 ก.ค. 66 พรรคก้าวไกลยกธงขาวเลิกเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โยนเผือกร้อนให้พรรคเพื่อไทย โดยที่ตัวเองขอลงเรือร่วมรัฐบาลต่อไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์รับลูก 4 ข้อ โดยมีข้อสำคัญที่แสดงความเหนือชั้นว่า ถ้าหาเสียงจาก ส.ว.ไม่พอที่จะได้รับเลือกนายกฯ จะไปขอเสียงจากพรรคการเมืองอื่นเพิ่มเติม

วันเดียวกันกับที่ประชุม 8 พรรค… แถลงที่จะเดินหน้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลต่อไป พรรคก้าวไกลขอให้พรรคเพื่อไทยไปสอบถาม ส.ว.ว่าจะให้พรรคก้าวไกลลดเพดานเรื่องมาตรา 112 แค่ไหน อย่างไร… ขณะที่คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศว่า คำตอบสุดท้าย หากดำเนินการอย่างเต็มที่แล้วยังไม่สำเร็จ อาจจะมีบางพรรคต้องออกจากสมการนี้… 

ไม่เพียงเท่านั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยยังแถลงตบท้าย… โดยมีสาระสำคัญฟังได้ว่า อยากให้พรรคก้าวไกล ‘เสียสละ’

เป็นอย่างไรบ้างครับ ท่านผู้อ่านคุณผู้ฟัง มันชัดยิ่งกว่าชัดว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ไปด้วยกันลำบากแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครกล้าเอ่ยปากบอกเลิก เลยต้องลากลู่ถูกังกันไป เหมือนคู่รักหนุ่มสาวที่ไปด้วยกันไม่ได้แล้ว แต่อยากให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายบอกเลิกก่อนเท่านั้นแหละ

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด ก็ถึงจุดแยกทาง บนทาง 3 แพร่ง เหมือนที่นายสุทิน คลังแสง ขุนพลพรรคเพื่อไทยบอกกับบางสำนักนั่นแหละว่า… จำเป็นต้องตัดพรรคก้าวไกลออก เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ แบบว่า ‘เจ็บแต่จบ’ และพยายามจบให้ได้ภายในวันที่ 27 ก.ค.นี้

สายข่าวเปิดเผยกับ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ว่า นาทีนี้สูตรรัฐบาลใหม่มีทั้งหมด 9 พรรค รวมกันได้ 312 เสียง โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

- พรรคเพื่อไทย 141 เสียง
- พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง
- พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง
- พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง
- พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง
- พรรคประชาชาติ 9 เสียง
- พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง
- พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง
- พรรคเสรีรวมไทย 1 

ส่วนผสมนี้ มีความเป็นไปได้มากที่สุด เป็นการผสมข้ามขั้ว ทุกพรรคไม่มีใครแตะต้องข้องแวะมาตรา 112 เป็นกึ่งๆ รัฐบาลปรองดอง สูตรนี้รับประกันซ่อมฟรีว่า ส.ว.หนุนพรึ่บ อย่างน้อย 200 เสียง เพราะมีทั้งพรรคลุงป้อมและพรรคลุงตู่ผสมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าวันนี้ลุงตู่จะวางมือแล้ว และบางกระแสระบุว่าลุงป้อมเองอาจไม่รับตำแหน่งใด ๆ อีกก็ตาม

ทั้งนี้ เหตุที่ยังไม่นับพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสูตรผสม เพราะหากในวันที่ 6 ส.ค. 66 หัวหน้าพรรคคนใหม่เป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่เข้าร่วมรัฐบาล

แต่ก็นั่นแหละ สูตรนี้เกิดขึ้นวันไหน พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมเจ็บแต่จบเพื่อชาติ เพราะม็อบด้อมส้มคงจะพรึ่บหน้าพรรคเพื่อไทยหรือหน้ารัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สายข่าวรายงานว่า หากพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ที่ประธานรัฐสภานัดประชุมไว้ ก็อาจจะประสานงานให้เลื่อนไปเป็นสัปดาห์ต่อไป ราว ๆ วันที่ 2 หรือ 3 ส.ค.

ซึ่งเมื่อได้ตัวนายกฯ คนใหม่แล้ว ก็เดินหน้าฟอร์มรัฐบาล...

ขณะที่ราว ๆ กลางเดือน ส.ค. เขาปิดกันให้แซ่ดว่า… ได้เวลา ‘คนแดนไกล’ จะเดินทางกลับบ้าน!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top