Friday, 18 April 2025
กองทัพเรือ

เบื้องลึก!! 'บิ๊กน้อย' พลเรือเอก อาภากร อยู่คงแก้ว คีย์แมนสำคัญ พา '13 หมูป่า' กลับสู่อ้อมอกชาวไทย

ผ่านพ้นมา 6 ปี (2561) กับเหตุการณ์ที่หลายคนยังคงจำกันได้ดี กับภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่คนไทยทั้งประเทศนั้นต่างเอาใจช่วยกับเหตุการณ์นี้ ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย 

แน่นอนว่า ภารกิจในครั้งนี้ลุล่วงได้จากความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย แต่มีอยู่อีกหนึ่งคนที่หลาย ๆคนยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งฮีโร่สําคัญ ซึ่งเป็นบุคลากรแห่งกองทัพเรือที่เข้าไปช่วยเหลือเหตุการณ์ในวันนั้น 

พลเรือเอก อาภากร อยู่คงแก้ว หรือ 'บิ๊กน้อย' ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ อดีตผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3  

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ ตนยังจําเหตุการณ์นั้นได้จําได้ดี เพราะว่าเป็นเหตุการณ์ที่สําคัญ และไม่ได้สําคัญกับแค่ประเทศไทย แต่ว่าสําคัญทั้งโลกจริง ๆ กับปฏิบัติการดังกล่าว

"ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งการลุ้นระทึก เพราะว่าเป็นช่วงที่มีการช่วยเหลือคนแรกออกมา ซึ่งใจจดใจจ่อว่าเขาจะรอดชีวิตหรือไม่ และเมื่อนักดำน้ำชาวอังกฤษได้นำตัวเด็กคนแรกแบบปลอดภัยไปยังเนินนมสาว โถงสาม ก็ทำให้เกิดเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสุข" พลเรือเอก อาภากร กล่าวพร้อมทั้งเล่ารายละเอียดในช่วงเวลานั้น ว่า...

สำหรับปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่านั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนา ของ 6 ปีที่แล้ว หลังเกิดเหตุเด็กติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งเขาก็เข้าไปก็ตามประสาเด็ก ๆ เพียงแต่ว่าช่วงเวลานั้น อาจจะฤดูกาลมันไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ประกอบกับว่าฝนตกเร็วในช่วงนั้น

เมื่อทราบเรื่อง ทางจังหวัด ก็มีพยายามเข้าไปช่วยกู้ ภัยของทางจังหวัดเข้าไปช่วยทันที เพียงแต่จุดเกิดเหตุเป็นจุดเสี่ยงก็คือว่า ในช่องระหว่างที่ใกล้จุด 3 แยก ถ้านึกภาพได้จะมี 3 แยก หากเข้าไปในถ้ำ โดยจากปากถ้ำไปประมาณสองกิโลมันจะมีเป็นทางแยกนะครับ ซึ่งบริเวณนั้นจะต้องมุดลง คือตอนเด็กเดินเข้าไป เด็กก็จะมุดแล้วก็เดินไปต่อ ซึ่งช่องนั้นเป็นช่วงที่น้ำเต็ม แล้วก็มีทรายมาปิดอยู่

ดังนั้นในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นจะมีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งทางผู้ว่าฯ หมูป่า (ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) ก็บอกว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องให้หน่วยที่มามีความเชี่ยวชาญในการดําน้ำไปปฏิบัติ และ ผว.ท่านก็เลยได้ปรึกษากับทาง ผอ. หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลําน้ำโขงที่เชียงราย และทางเขตเชียงราย ก็แจ้งไปที่ ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงที่เขตนครพนม และก็มีการขอชุดจากกองทัพเรือ ซึ่งก็คือ 'หน่วยซีล' (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ) มาจะช่วยปฏิบัติ โดยขณะนั้น ผมเป็น ผบ.หน่วยซีล อยู่

ตอนนั้น ผมได้รับคําสั่งจากผู้บัญชาการกองเรือยุทธการในขณะนั้นคือ พลเรือเอกรังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ซึ่งท่านก็ได้โทรศัพท์มาหาผมให้รีบจัดทีมไปช่วยเหลือ

วันที่ 23 ทราบข่าว วันอาทิตย์วันที่ 24 ก็จัดทีมกันไปด่วนเลย โดยทางกองทัพเรือก็ได้เตรียมเครื่องบินให้ โดยออกจากอู่ตะเภาเที่ยงครึ่งของคืนวันที่ 24 ไปถึงจุดหมายประมาณตีสองกว่า ๆ ภายใต้กำลังพล 17 นาย (หน่วยซีลมีการประจำการทุกเหตุการณ์ด่วนตลอด 24 ชม.)

หน้างานในวันแรก มีนาวาเอก อนันท์ สุราวรรณ์ เป็นผู้นำกำลังไปถึง และก็เริ่มเข้าไปในถ้ำเพื่อไปช่วยเด็กทันที เพราะมันต้องทํางานแข่งกับเวลา แต่ว่าก็เจอความยากลําบากเยอะ เพราะผมได้รับรายงานว่าพอไปถึงสามแยกแล้ว การที่จะมุดช่องที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านั้นมันยากลําบากพอสมควร และเมื่อผ่านไปได้แล้ว ก็ยังต้องดําน้ำต่อ โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะต้องดําน้ำไปไกลเท่าไร มืดแปดด้านมาก ๆ 

นอกจากนี้ ยังต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า ตัวเด็ก ๆ ไปถึงตรงไหนแล้วบ้าง และถ้าหากเราดําน้ำเข้าไปมันจะสุดที่จุดไหนและเมื่อไร กอปรกับอุปกรณ์ดําน้ำของเราเนี่ยก็คือเราใช้ขวดอากาศขวดเดียว ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งานได้แค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และยิ่งต้องทำงานในภาวะที่ใช้กําลังเยอะด้วย เวลาของอากาศก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก และอย่าลืมว่า แต่ละคนที่ดําน้ำลงไป ก็ต้องเผื่อเวลากลับมาด้วย

"พอสถานการณ์มีความยากเช่นนั้น ผมเองจึงต้องไปดูด้วยตาตัวเอง เพราะว่าอยู่สัตหีบจะมองภาพไม่ออกได้แค่รับรายงาน ก็เลยต้องไปด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 26 ช่วงบ่าย" พลเรือเอก อาภากร กล่าว

ตรงนี้สำคัญมาก โดยพลเรือเอก อาภากร เผยว่า การที่เราจะตัดสินใจสั่งการอะไรไป ถ้าเราไม่เห็นสภาพความเป็นจริง เราอาจจะสั่งผิดได้ เพราะฉะนั้นผมต้องไปเห็นก่อน จึงจะมาประมวลว่า เราควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งผมเองก็ได้เข้าไปจากปากถ้ำ ใช้เวลาประมาณสัก 45 นาที จะได้ระยะประมาณหนึ่งกิโล ก็จะเห็นได้ว่าสภาพของถ้ำบางช่วงเดินได้สะดวก บางช่วงต้องไต่ไปตามโขดหิน บางช่วงเป็นรูแคบ ๆ แล้วก็ต้องไต่ลงไปข้างล่าง

ขณะที่ บางช่วงของถ้ำตรงด้านผนังด้านบนจะเป็นเหมือนโคลน ก็ประเมินได้ว่า ก่อนหน้านี้ช่วงดังกล่าวเคยมีน้ำเต็มถ้ำ แต่บางช่วงถ้าไม่มีโคลน เราก็จะประเมินได้ว่าตรงจุดนี้น้ำไม่เต็ม อย่างกรณีโถงสามซึ่งเป็นโถงที่ใหญ่ ผนังด้านบนไม่มีโคลน และก็เป็นห้องที่ใหญ่พอสมควร และนั่นก็ทําให้ผลสามารถตัดสินใจได้ว่า จะใช้โถงสามเป็นฐานปฏิบัติการส่วนหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ เป็นต้น

พลเรือเอก อาภากร เล่าต่อว่า ผมเข้าไปตอนหนึ่งทุ่ม ออกมาอีกทีตอน 10 โมงเช้า ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ต้องทำหลายเรื่องไปพร้อม ๆ กัน แต่ที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ ความยากลำบากในการทำงาน และที่ต้องออกมาก่อน ก็เพราะน้ำขึ้นเยอะ จนทั้งหมดต้องถอยออกมา 

ต้องบอกแบบนี้ ว่า ตอนที่เราเข้าไปถึงโถงสามนั้น ก็เป็นระยะทางร่วม 2 กิโลเมตร แต่พอน้ำขึ้น เราก็ต้องถอยออกมาจนถึงปากน้ำ ซึ่งก็คือ เหมือนกลับมาจุดเริ่มต้น คำถาม คือ แล้วทางหน่วยของเราจะทําอย่างไรถึงจะเข้าไปช่วยเด็ก ๆ ได้ แล้วตอนที่เราถอยออกมานั้น ยังต้องประเมินอีกว่าน้อง ๆ ไม่กินข้าวทุกวันจะเป็นอย่างไรบ้าง? สภาพร่างกายเป็นอย่างไรแล้ว? น้อง ๆ จะอยู่ตรงไหน? แล้วที่สำคัญยังมีชีวิตอยู่หรือจมน้ำที่ท่วมเข้ามาหรือเปล่า? มันมีหลากหลายเรื่องให้ต้องคิดพิจารณา

แน่นอนว่า ไม่เพียงการประเมินผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่เมื่อเห็นสถานการณ์จริงแล้ว ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่อีกด้วย 

แต่ถึงกระนั้น พลเรือเอกอาภากร ก็มองว่า เมื่อตนเป็นหน่วยที่ได้รับคําสั่งแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติภารกิจไปให้สุดทาง จะไม่ล่าถอยหรือว่าล้มเลิกภารกิจ ต้องไปหาน้อง ๆ ให้เจอ ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตก็ตาม

2 กรกฎาคม เป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 10 วันของ 13 หมูป่า แต่ถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์อย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงตัวเด็ก ซึ่งตอนนั้น พลเรือเอก อาภากร ก็กังวลว่า การที่เด็กไม่ได้ทานอาหารหลายวัน จะอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อิดโรย แต่โชคดี คือ ยังได้เห็นว่า เด็ก ๆ ยังตื่นตัว ถ้าใครเห็นภาพวันนั้น จะพบว่า เด็กวิ่งออกมาได้จากจุดที่พักในถ้ำ แล้วเมื่อนักดำน้ำสอบถามพวกเขา เขาก็สามารถโต้ตอบได้ดี เพียงแต่จะมีลักษณะของการอิดโรย ซึ่งก็ดีกว่าที่เราคาดไว้มาก ๆ

เมื่อได้เจอ 13 หมูป่า แล้ว ทีนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาสุดระทึก เพราะจะเป็นขั้นตอนของการนำตัวเด็ก ๆ ออกมา ซึ่งต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาไม่ได้แข็งแรงเหมือนเรา และเขาก็ไม่ใช่นักดำน้ำ เบื้องต้นหลังนักดำน้ำอังกฤษเจอตัว เราก็เตรียมการและส่งทีมไปพร้อมอาหารทันที แล้วก็ฟังสถานการณ์จากทีมดำน้ำที่เข้าไปว่า ข้างในเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประเมินเป็นแนวทางในการช่วยเหลือ

"เราพยายามคิดหลาย ๆ วิธี ทั้งในเรื่องที่จะให้เด็ก ๆ ดําน้ำออกมาเนี่ย ก็ถือว่าเป็นวิธีที่เสี่ยงที่สุด เพราะว่าถ้าเด็กเกิดแพนิคหรือตื่นตระหนก ก็จะเป็นอันตรายอย่างมาก และก็จะเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน" พลเรือเอก อาภากร เสริม

ทว่า สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะราบรื่น กลับเกิดคลื่นความเสี่ยงใหม่ โดย พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า จังหวะที่จะเข้าสู่การพาเด็กออกมานั้น ก็เกิดกรณีอากาศภายในถ้ำลดลง เหตุจากเมื่อมีน้ำมาปิดรอบ ๆ จุดที่เรียกว่า โถง 9 นั้น ผนวกกับการหายใจที่ทำให้คาร์บอนไดฯ เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนภายโถง 9 ลดลง เหลือแค่ประมาณ 15% ซึ่งน้อยมาก และจาก 15 ก็ค่อย ๆ ลดลงเหลือ 12 ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมาก

"แน่นอนว่า สถานการณ์แบบนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ไปอยู่ตรงนั้น จะเลือกดำน้ำออกมาเลยก็ได้ แต่นั่นคือ การทิ้งเด็ก ซึ่งเราทำไม่ได้ ก็เครียดกันพอสมควร แต่พยายามหาวิธีต่าง ๆ ที่จะพยุงสถานการณ์ เช่น เอาออกซิเจนไปเติมในโถงที่น้อง ๆ อยู่ ซึ่งก็ไม่ง่ายแต่ก็ต้องทำ...

"ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นก็เกิดเหตุสลด เมื่อเราต้องสูญเสีย 'จ่าแซม' ไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตอนนั้น ผมก็ต้องปลุกขวัญกําลังใจพี่น้องเรา และต้องออกไปแถลงข่าวยืนยันกับประชาชนทั่วไป รวมทั้งทั่วโลกด้วยว่า การเสียชีวิตของจ่าแซมเนี่ยจะไม่มีวันสูญเปล่า"

สำหรับวิธีการนำตัวเด็กออกมานั้น พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า ต้องใช้วิธีการให้เด็กไม่แพนิค ก็คือ จะต้องให้เด็กหลับ และสวมอุปกรณ์ที่เรียกว่า Full Face Mask ซึ่งเป็นหน้ากากแบบใส่เต็มหน้า แล้วก็ปล่อยอากาศให้เด็กหายใจ

วันที่ 8 ก.ค.ของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว 13 หมูป่าคนแรก ก็ออกมาอย่างปลอดภัย จนถึงวันที่ 10 ก.ค.ทุกคนรอดชีวิตกันทั้งหมด ภารกิจจบสมบูรณ์ เหลือไว้ซึ่งความอาลัยในผู้กล้าอย่าง 'จ่าแซม' 

สำหรับภารกิจในการช่วยชีวิต 13 หมูป่า ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจระดับโลก ที่แม้ว่าในเบื้องต้นหลายคนจะมองว่า 'เป็นไปไม่ได้' แต่สุดท้ายด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการตัดสินใจของผู้นำภารกิจที่รอบคอบ ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้จบลงด้วยคำว่า 'เป็นไปได้' ไปในที่สุด...

กำลังพล สอ.รฝ. กายพร้อม ใจพร้อม ก่อนปฏิบัติราชการภาคใต้

รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐท.สส. โดย นาวาโท สมบูรณ์ ดอนสนธิ์ หน.จิตวิทยาทางการแพทย์ กองสุขภาพจิต ดำเนินกิจกรรม “เตรียมความพร้อม ด้านสุขภาพจิตทหาร“ แก่กำลังพล สอ.รฝ. ก่อนออกปฏิบัติราชการ ฉก.นย.ทร./ฉก.นย.ภต. ชุด รปภ.สนามบิน จว. นราธิวาส ณ อาคารเอนกประสงค์ สอ.รฝ. อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

‘ผบ.ทร.’ สั่งทุกหน่วยช่วยเหลือพื้นที่สถานการณ์อุทกภัย พร้อมจัดเรือผลักดันน้ำ บรรเทาผลกระทบประชาชน

(26 ส.ค. 67) ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เรียกประชุมผู้บังคับหน่วยของกองทัพเรือในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เพื่อเตรียมแผนในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ซึ่งจากอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้มีกระแสน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรจนมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของหน่วยกองทัพเรือในทุกพื้นที่ ดำเนินการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือ รวมถึงเพื่อแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจน จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเตรียมบรรจุกระสอบทราย การจัดถุงยังชีพ การจัดโรงครัวพระราชทาน และครัวสนามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ ได้มีการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ ในการระบายน้ำในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งที่จังหวัดนครนายกและเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยพร้อมให้การสนับสนุนในทันทีที่ได้รับการร้องขอ ทั้งนี้ เรือผลักดันน้ำ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึง และเป็นคอขวด ซึ่งเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบาก และไหลออกได้ช้า

สำหรับในห้วงวันที่ 24 - 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในส่วนของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตหนองคาย ได้จัดกำลังพลให้การสนับสนุน เทศบาลเมืองหนองคาย ในการบรรจุถุงทรายเพื่อจัดทำแนวป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่บริเวณ ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย

ในขณะที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้จัดกำลังพล ร่วมกับชาวจันทบุรี ในการบรรจุถุงยังชีพ เพื่อส่งมอบแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือทิศรับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และในช่วงบ่ายวันนี้ ฐานทัพเรือกรุงเทพได้จัดให้มีการบรรจุกระสอบทราย เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ทั้งนี้กองทัพเรือ ยังคงเตรียมความพร้อม ทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ที่จะให้การสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ 1696 ตลอด 24 ชั่วโมง

กองทัพเรือ โดย ศบภ.ทรภ.1 พร้อมช่วยเหลือ ปชช. ประสบอุทกภัย

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 (ศบภ.ทรภ.1) ตรวจความพร้อมด้านการบรรเทาสาธารณภัย ของหน่วยบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของ ศบภ.ทรภ.1 ให้พร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

วันที่ (26 ส.ค.67) เวลา 16.00 น. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 โดย พลเรือโท สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 (ศบภ.ทรภ.1) ตรวจความพร้อมของกำลังพล อุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ ด้านการบรรเทาสาธารณภัย ของหน่วยบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ที่สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพเรือ มีความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างทันท่วงที
โดยมี หน่วยบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ รับผิดชอบของ ศบภ.ทรภ.1 เข้าร่วมตรวจสอบความพร้อม 6 หน่วย ประกอบด้วย

- ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1
- กองเรือยุทธการ
- หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
- ฐานทัพเรือสัตหีบ
- หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
- กองเรือปฏิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 1

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 0909535645

#ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่1
#FitForTheFuture
#เทิดทูนสถาบันยึดมั่นระเบียบวินัยประชาชนภูมิใจทะเลไทยมั่นคง 

'กองทัพเรือ' จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ อีกทั้งมอบเกียรติประวัติแด่ทุกผู้เกี่ยวข้องในพระราชพิธีสำคัญนี้

สืบเนื่องจาก 'กองทัพเรือ' ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งได้มีการเตรียมการด้านการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และการซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ 

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 31 ส.ค.67 ได้ถือโอกาสพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว โดยเริ่มที่ นาวาโทจิระพงศ์ กลมดวง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ถึงเส้นทางการรับราชการจนเป็นนายเรือ ดังนี้...

นาวาโทจิระพงศ์ เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มต้นรับราชการอยู่กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ โดยมีหน้าที่รับเชือกอำนวยความสะดวกให้เรือพระราชพิธีเข้าออกจากหลักจอด และได้ย้ายมาอยู่ที่แผนกเรือพระราชพิธี เมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้เริ่มเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งหน้าที่ของนายท้ายเรือนั้น ก็เหมือนคนขับรถที่ต้องถือพวงมาลัย คอยที่จะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาให้กับเรือ 

จากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้รับโอกาสเป็นนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมด เช่น ต้องควบคุมเรือให้อยู่ในตำแหน่งที่กำหนดในริ้วขบวนและควบคุมความเร็วของเรือ ซึ่งการพายเรือพระที่นั่งต้องพายท่านกบินตลอดเส้นทาง 

นอกจากนี้ยังได้เป็นครูฝึกฝีพาย แก่คนที่พายเรือไม่เป็นเลย ให้ต้องมาเรียนรู้บนบกก่อน เรียกว่าการฝึกบนเขียงฝึก โดยกองทัพเรือมีเขียงฝึกอยู่ทั้งหมด 12 แห่งทั่วประเทศ 

เมื่อถามถึงความรู้สึกของฝีพายเรือพระที่นั่ง? นาวาโทจิระพงศ์ เผยว่า "ทุกคนอยากจะพายเรือเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ส่วนตัวผมเอง มีความภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และอยากทำงานนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งพร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปยังรุ่นน้อง ๆ ต่อไป"

สำหรับกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ นาวาโทจิระพงศ์ เล่าอีกว่า มีลักษณะเป็นการบรรยายเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประพันธ์โดย พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย มีทั้งหมด 4 บท ได้แก่ สรรเสริญพระบารมี, ชมเรือกระบวน, บุญกฐิน และชมเมือง ซึ่งทางกองทัพเรือได้เตรียมกำลังพลเห่เรือไว้ 3 ท่าน ได้แก่...

- ท่านที่ 1 เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก หัวหน้าหมวดเรือลำเลียงที่ 1 ซึ่งมีประสบการณ์เป็นพนักงานเห่เรือสำรอง เมื่อปี พ.ศ. 2562 

- ท่านที่ 2 พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กลิ่นบัว ช่วยปฏิบัติราชการกองเรือเล็ก เดิมเคยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเป็นครูฝึกพายเรือพระราชพิธี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเป็นพนักงานเห่เรือ 

- ส่วนท่านที่ 3 จ.อ.เสฐียร ขาวขำ ช่วยปฏิบัติราชการกองเรือเล็ก เคยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเป็นครูฝึกพายเรือพระราชพิธี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเป็นพนักงานเห่เรือเช่นกัน 

เมื่อถามถึงความรู้สึกของพนักงานเห่เรือที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้? ด้านเรือโทสุราษฎร์ กล่าวว่า "มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจและเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลจะตั้งใจทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย"

ส่วน พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กล่าวว่า 'มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็น 1 ใน 3 ของพนักงานเห่เรือและเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล" และ จ.อ.เสฐียร กล่าวว่า "รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติสูงสุดในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้โอกาส ส่วนการสืบทอดการเห่เรือให้คงอยู่ต่อไป"

เรือโทสุราษฎร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "ปัจจุบันทางกองทัพเรือได้ให้โอกาสบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้แสดงศักยภาพของตัวเองเพื่อสร้างสมประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันท่านผู้บัญชาการทหารเรือได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของกองทัพเรือ ได้เป็นพนักงานเห่เรือในครั้งนี้ด้วย"

กองทัพเรือ เตรียมนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 จัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล เกาะจวง

เมื่อวันที่ (30 ส.ค.67) เวลา 08.00 น. พลเรือโท พาสุกรี วิลัยรักษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นประธานพิธีบวงสรวง เรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ก่อนที่จะนำเรือทั้ง 2 ลำ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณพื้นที่เกาะจวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดย กองทัพเรือ ได้กำหนดจัดโครงการนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณเกาะจวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการ "อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา" ในวันที่ 3 กันยายน 2567 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี ในวันดังกล่าว

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 0909535645

‘กองทัพเรือ’ ทำพิธีจม ‘เรือของพ่อ’ (ต.94-95) ณ อ่าวแสมสาร ชลบุรี เพื่อสดุดีวีรชนทหารเรือ หลังทำหน้าที่ปกป้องท้องทะเลไทยตลอด 40 ปี

เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 67) พล ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.ท.สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล พร้อมกระทำพิธีจัดวาง ‘เรือของพ่อ’ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.94 และ ต.95 ที่ปลดระวางแล้วให้จมลงสู่ใต้พื้นสมุทร บริเวณร่องน้ำด้านทิศตะวันออก ระหว่างเกาะจวงและเกาะจาน อ่าวแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อย่างสมเกียรติ ณ ดาดฟ้าเรือหลวงกระบุรี หมายเลข 457

โดย พล ร.ท.สุระศักดิ์ ได้ทำพิธีวางพวงมาลาก่อนกล่าวสดุดีอำลา รำลึกในวีรกรรมความเสียสละ และความกล้าหาญของทหารทุกนายที่ได้เคยร่วมรับใช้ประเทศชาติ ปฏิบัติภารกิจในการปกป้องและรักษาธิปไตยของชาติทางทะเล ฟันฝ่าคลื่นลมอันตรายร่วมกับเรือทั้ง 2 ลำมายาวนานเกือบ 40 ปี

จากนั้น พลเป่าแตรได้เป่าสัญญาณแตรนอน ก่อนที่เรือหลวงกระบุรี จะให้สัญญาณชักหวูดปล่อยน้ำเข้าเรือเพื่อให้จมลงสู่ใต้ทะเลเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

สำหรับโครงการจมเรือเป็นอุทยานเรือรบแหล่งเรียนรู้ใต้ท้องทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งเป็นสถานที่รำลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบวีรชนทหารเรือ ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผืนทะเลไทยบนเรือรบทั้ง 2 ลำ

และยังมีเป้าหมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่สำหรับเหล่านักดำน้ำที่จะได้ศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และชื่นชมเรือรบอันสง่างาม ตลอดจนเป็นแหล่งปะการังเทียมและเป็นที่อยู่อาศัยให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.94 และ ต.95 เป็นเรือชุดเดียวกับเรือ ต.91 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ 

ซึ่งกรมอู่ทหารเรือ นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ. 2510 - 2530 อันเป็นโครงการของกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของพระองค์ จนสมัญญาเรือชุดนี้ว่า ‘เรือของพ่อ’

กองทัพเรือ นำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 เป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล เกาะจวง สัตหีบ

เมื่อวันที่ (3 ก.ย.67) เวลา 08.30 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นประธานประกอบพิธีนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้แทนหน่วยงานสนองพระดำริ และเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ กำลังพลกองทัพเรือ หน่วยงานสนองพระดำริ ประชาชน นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่กว่า 300 คน ร่วมในพิธีดังกล่าว

สำหรับพิธีนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ประกอบด้วย พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีเปิดโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระดำริ นิทรรศการประวัติ เรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ และพิธีจัดวางเรือ ต.94 และเรือ ต.95 บริเวณเกาะจวง พิธีกล่าวอำลา พิธีวางพวงมาลา การเป่าแตรนอน การให้สัญญาณชักหวูดนำเรือลงใต้ทะเล การเปิดคลุมป้ายโครงการฯ บริเวณชายหาดเกาะจวง และการปล่อยน้ำเข้าเรือ เพื่อนำเรือลงสู่ใต้ทะเล ณ เรือหลวงกระบุรี

โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่ พระบรมวงศานุวงศ์ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลชายฝั่ง เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อนุบาลหรือยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรี แห่งใหม่ เป็นการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แออัด อันจะทำให้ปะการัง ได้มีเวลาพักฟื้นและเจริญเติบโตต่อไป

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีเจตนารมณ์ ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และทรงห่วงใยปัญหาความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล จึงโปรดให้มีการจัดตั้งมูลนิธิและโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ได้รับการอนุรักษ์รวมทั้งได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และสัตว์ทะเลไม่ถูกทำลาย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล นำไปสู่ความสมดุลทางธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป

กองทัพเรือ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้จัดทำโครงการนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ณ บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสนองพระดำริ ที่ทรงมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยทรงห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นแหล่งฝึกศึกษาให้กับนักเรียนฝึกดำน้ำ เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการังตามธรรมชาติ และเปิดโอกาสในการพักฟื้นตัวของแหล่งท่องเที่ยวแนวปะการังธรรมชาติให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อไป

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.94 และ ต.95 เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91ซึ่งประกอบด้วยเรือ ต.91, เรือ ต.92, เรือ ต.93, เรือ ต.94, เรือ ต.95, เรือ ต.96, เรือ ต.97, เรือ ต.98 และเรือ ต.99 รวมทั้งสิ้น 9 ลำ สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 - 2530 นับเป็นเรือตรวจการณ์สมัยใหม่ชุดแรก ที่กองทัพเรือไทยสร้างเองในประเทศ ตามพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่กองทัพเรือไทยเป็นล้นพ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือเราควรต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้เองบ้าง ทั้งนี้ด้วยเรือยนต์รักษาฝั่งมีบทบาทสำคัญ เช่น ในการปราบปราม และป้องกันการลักลอบลำเลียงอาวุธ และกำลังคนของฝ่ายก่อการร้ายเข้ามาใน่านน้ำอาณาเขตของประเทศเรา ในระหว่างการต่อเรือ ต.91 กองทัพเรือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงให้สถาบันวิจัยและทดสอบ แบบเรือของต่างประเทศช่วยทดสอบแบบเรือลำนี้ทางเทคนิคต่าง ๆ ให้  และได้พระราชทานคำแนะนำจนถึงทรงร่วมทดลองเรือในทะเลด้วยพระองค์เอง กองทัพเรือยังคงสานต่อพระราชปณิธานอย่างต่อเนื่องสืบมา ในการปรับปรุงแบบเรือและสร้างเพิ่มเติม เช่น เรือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98,ต.99, ต.991, ต.994

ซึ่งทำให้ กองทัพเรือสามารถสร้างเรือรบเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างรั้วทางทะเลให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังทำให้องค์บุคคลของกองทัพเรือ ได้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และก้าวไปสู่การต่อเรือขนาดใหญ่ต่อไป

สำหรับ เรือ ต.94 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2526 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเรือ ต.95 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2525 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเรือทั้ง 2 ลำ สังกัดหมวดเรือที่ 2 กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 

‘กองทัพเรือ’ ลำเลียงเรือหลวง ต.99 จัดวางหน้าประตูกองเรือยุทธการ เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจ ‘ในหลวง ร.9’ อันมากล้นต่อกองทัพเรือ

(6 ก.ย. 67) พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยว่า กองทัพเรือ ได้ทำการลำเลียงเรือ ต.99 ที่ได้ปลดระวางประจำการแล้ว มายังหน้าประตูใหญ่ กองบัญชาการกองเรือยุทธการ ถนนสุขุมวิท อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจากได้ทำการปรับภูมิทัศน์ พร้อมทั้งจัดทำโครงสร้างรองรับเรือ ต.99 บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้ากองเรือยุทธการ รองรับไว้แล้ว

สำหรับเรือ ต.99 เป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง โดยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2503 จึงทำให้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ รับสนองพระราชดำริ โดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ( เรือ ต.91 - เรือ ต.99 ) 

ในระหว่างการดำเนินการนั้น โดยพระองค์ ทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระ ติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.91 แม้แต่การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ในส่วนของเรือ ต.99 นั้นเป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัดกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนรักษาอธิปไตยของชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นระยะเวลายาวนานถึง 34 ปี และได้ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีคุณูปการต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ กองทัพเรือ จึงได้พิจารณานำ เรือ ต.99 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวงที่ต่อขึ้นใช้เองในช่วงปี 2511 - 2530 มาตั้งทดแทนประตูทางเข้ากองเรือยุทธการเดิม เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์ และเชิดชูชุดเรือหลวงของพ่อที่ทรงมีดำริให้กองทัพเรือต่อเรือใช้เอง สนองโครงการเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

16 กันยายน พ.ศ. 2465 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 6’ พระราชทานที่ดินทรงสงวนที่สัตหีบ ก่อสร้าง ‘ฐานทัพเรือ’ เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติทางทะเล

วันนี้ เมื่อ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top