เบื้องลึก!! 'บิ๊กน้อย' พลเรือเอก อาภากร อยู่คงแก้ว คีย์แมนสำคัญ พา '13 หมูป่า' กลับสู่อ้อมอกชาวไทย
ผ่านพ้นมา 6 ปี (2561) กับเหตุการณ์ที่หลายคนยังคงจำกันได้ดี กับภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่คนไทยทั้งประเทศนั้นต่างเอาใจช่วยกับเหตุการณ์นี้ ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
แน่นอนว่า ภารกิจในครั้งนี้ลุล่วงได้จากความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย แต่มีอยู่อีกหนึ่งคนที่หลาย ๆคนยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งฮีโร่สําคัญ ซึ่งเป็นบุคลากรแห่งกองทัพเรือที่เข้าไปช่วยเหลือเหตุการณ์ในวันนั้น
พลเรือเอก อาภากร อยู่คงแก้ว หรือ 'บิ๊กน้อย' ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ อดีตผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ ตนยังจําเหตุการณ์นั้นได้จําได้ดี เพราะว่าเป็นเหตุการณ์ที่สําคัญ และไม่ได้สําคัญกับแค่ประเทศไทย แต่ว่าสําคัญทั้งโลกจริง ๆ กับปฏิบัติการดังกล่าว
"ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งการลุ้นระทึก เพราะว่าเป็นช่วงที่มีการช่วยเหลือคนแรกออกมา ซึ่งใจจดใจจ่อว่าเขาจะรอดชีวิตหรือไม่ และเมื่อนักดำน้ำชาวอังกฤษได้นำตัวเด็กคนแรกแบบปลอดภัยไปยังเนินนมสาว โถงสาม ก็ทำให้เกิดเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสุข" พลเรือเอก อาภากร กล่าวพร้อมทั้งเล่ารายละเอียดในช่วงเวลานั้น ว่า...
สำหรับปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่านั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนา ของ 6 ปีที่แล้ว หลังเกิดเหตุเด็กติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งเขาก็เข้าไปก็ตามประสาเด็ก ๆ เพียงแต่ว่าช่วงเวลานั้น อาจจะฤดูกาลมันไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ประกอบกับว่าฝนตกเร็วในช่วงนั้น
เมื่อทราบเรื่อง ทางจังหวัด ก็มีพยายามเข้าไปช่วยกู้ ภัยของทางจังหวัดเข้าไปช่วยทันที เพียงแต่จุดเกิดเหตุเป็นจุดเสี่ยงก็คือว่า ในช่องระหว่างที่ใกล้จุด 3 แยก ถ้านึกภาพได้จะมี 3 แยก หากเข้าไปในถ้ำ โดยจากปากถ้ำไปประมาณสองกิโลมันจะมีเป็นทางแยกนะครับ ซึ่งบริเวณนั้นจะต้องมุดลง คือตอนเด็กเดินเข้าไป เด็กก็จะมุดแล้วก็เดินไปต่อ ซึ่งช่องนั้นเป็นช่วงที่น้ำเต็ม แล้วก็มีทรายมาปิดอยู่
ดังนั้นในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นจะมีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งทางผู้ว่าฯ หมูป่า (ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) ก็บอกว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องให้หน่วยที่มามีความเชี่ยวชาญในการดําน้ำไปปฏิบัติ และ ผว.ท่านก็เลยได้ปรึกษากับทาง ผอ. หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลําน้ำโขงที่เชียงราย และทางเขตเชียงราย ก็แจ้งไปที่ ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงที่เขตนครพนม และก็มีการขอชุดจากกองทัพเรือ ซึ่งก็คือ 'หน่วยซีล' (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ) มาจะช่วยปฏิบัติ โดยขณะนั้น ผมเป็น ผบ.หน่วยซีล อยู่
ตอนนั้น ผมได้รับคําสั่งจากผู้บัญชาการกองเรือยุทธการในขณะนั้นคือ พลเรือเอกรังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ซึ่งท่านก็ได้โทรศัพท์มาหาผมให้รีบจัดทีมไปช่วยเหลือ
วันที่ 23 ทราบข่าว วันอาทิตย์วันที่ 24 ก็จัดทีมกันไปด่วนเลย โดยทางกองทัพเรือก็ได้เตรียมเครื่องบินให้ โดยออกจากอู่ตะเภาเที่ยงครึ่งของคืนวันที่ 24 ไปถึงจุดหมายประมาณตีสองกว่า ๆ ภายใต้กำลังพล 17 นาย (หน่วยซีลมีการประจำการทุกเหตุการณ์ด่วนตลอด 24 ชม.)
หน้างานในวันแรก มีนาวาเอก อนันท์ สุราวรรณ์ เป็นผู้นำกำลังไปถึง และก็เริ่มเข้าไปในถ้ำเพื่อไปช่วยเด็กทันที เพราะมันต้องทํางานแข่งกับเวลา แต่ว่าก็เจอความยากลําบากเยอะ เพราะผมได้รับรายงานว่าพอไปถึงสามแยกแล้ว การที่จะมุดช่องที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านั้นมันยากลําบากพอสมควร และเมื่อผ่านไปได้แล้ว ก็ยังต้องดําน้ำต่อ โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะต้องดําน้ำไปไกลเท่าไร มืดแปดด้านมาก ๆ
นอกจากนี้ ยังต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า ตัวเด็ก ๆ ไปถึงตรงไหนแล้วบ้าง และถ้าหากเราดําน้ำเข้าไปมันจะสุดที่จุดไหนและเมื่อไร กอปรกับอุปกรณ์ดําน้ำของเราเนี่ยก็คือเราใช้ขวดอากาศขวดเดียว ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งานได้แค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และยิ่งต้องทำงานในภาวะที่ใช้กําลังเยอะด้วย เวลาของอากาศก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก และอย่าลืมว่า แต่ละคนที่ดําน้ำลงไป ก็ต้องเผื่อเวลากลับมาด้วย
"พอสถานการณ์มีความยากเช่นนั้น ผมเองจึงต้องไปดูด้วยตาตัวเอง เพราะว่าอยู่สัตหีบจะมองภาพไม่ออกได้แค่รับรายงาน ก็เลยต้องไปด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 26 ช่วงบ่าย" พลเรือเอก อาภากร กล่าว
ตรงนี้สำคัญมาก โดยพลเรือเอก อาภากร เผยว่า การที่เราจะตัดสินใจสั่งการอะไรไป ถ้าเราไม่เห็นสภาพความเป็นจริง เราอาจจะสั่งผิดได้ เพราะฉะนั้นผมต้องไปเห็นก่อน จึงจะมาประมวลว่า เราควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งผมเองก็ได้เข้าไปจากปากถ้ำ ใช้เวลาประมาณสัก 45 นาที จะได้ระยะประมาณหนึ่งกิโล ก็จะเห็นได้ว่าสภาพของถ้ำบางช่วงเดินได้สะดวก บางช่วงต้องไต่ไปตามโขดหิน บางช่วงเป็นรูแคบ ๆ แล้วก็ต้องไต่ลงไปข้างล่าง
ขณะที่ บางช่วงของถ้ำตรงด้านผนังด้านบนจะเป็นเหมือนโคลน ก็ประเมินได้ว่า ก่อนหน้านี้ช่วงดังกล่าวเคยมีน้ำเต็มถ้ำ แต่บางช่วงถ้าไม่มีโคลน เราก็จะประเมินได้ว่าตรงจุดนี้น้ำไม่เต็ม อย่างกรณีโถงสามซึ่งเป็นโถงที่ใหญ่ ผนังด้านบนไม่มีโคลน และก็เป็นห้องที่ใหญ่พอสมควร และนั่นก็ทําให้ผลสามารถตัดสินใจได้ว่า จะใช้โถงสามเป็นฐานปฏิบัติการส่วนหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ เป็นต้น
พลเรือเอก อาภากร เล่าต่อว่า ผมเข้าไปตอนหนึ่งทุ่ม ออกมาอีกทีตอน 10 โมงเช้า ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ต้องทำหลายเรื่องไปพร้อม ๆ กัน แต่ที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ ความยากลำบากในการทำงาน และที่ต้องออกมาก่อน ก็เพราะน้ำขึ้นเยอะ จนทั้งหมดต้องถอยออกมา
ต้องบอกแบบนี้ ว่า ตอนที่เราเข้าไปถึงโถงสามนั้น ก็เป็นระยะทางร่วม 2 กิโลเมตร แต่พอน้ำขึ้น เราก็ต้องถอยออกมาจนถึงปากน้ำ ซึ่งก็คือ เหมือนกลับมาจุดเริ่มต้น คำถาม คือ แล้วทางหน่วยของเราจะทําอย่างไรถึงจะเข้าไปช่วยเด็ก ๆ ได้ แล้วตอนที่เราถอยออกมานั้น ยังต้องประเมินอีกว่าน้อง ๆ ไม่กินข้าวทุกวันจะเป็นอย่างไรบ้าง? สภาพร่างกายเป็นอย่างไรแล้ว? น้อง ๆ จะอยู่ตรงไหน? แล้วที่สำคัญยังมีชีวิตอยู่หรือจมน้ำที่ท่วมเข้ามาหรือเปล่า? มันมีหลากหลายเรื่องให้ต้องคิดพิจารณา
แน่นอนว่า ไม่เพียงการประเมินผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่เมื่อเห็นสถานการณ์จริงแล้ว ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น พลเรือเอกอาภากร ก็มองว่า เมื่อตนเป็นหน่วยที่ได้รับคําสั่งแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติภารกิจไปให้สุดทาง จะไม่ล่าถอยหรือว่าล้มเลิกภารกิจ ต้องไปหาน้อง ๆ ให้เจอ ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตก็ตาม
2 กรกฎาคม เป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 10 วันของ 13 หมูป่า แต่ถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์อย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงตัวเด็ก ซึ่งตอนนั้น พลเรือเอก อาภากร ก็กังวลว่า การที่เด็กไม่ได้ทานอาหารหลายวัน จะอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อิดโรย แต่โชคดี คือ ยังได้เห็นว่า เด็ก ๆ ยังตื่นตัว ถ้าใครเห็นภาพวันนั้น จะพบว่า เด็กวิ่งออกมาได้จากจุดที่พักในถ้ำ แล้วเมื่อนักดำน้ำสอบถามพวกเขา เขาก็สามารถโต้ตอบได้ดี เพียงแต่จะมีลักษณะของการอิดโรย ซึ่งก็ดีกว่าที่เราคาดไว้มาก ๆ
เมื่อได้เจอ 13 หมูป่า แล้ว ทีนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาสุดระทึก เพราะจะเป็นขั้นตอนของการนำตัวเด็ก ๆ ออกมา ซึ่งต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาไม่ได้แข็งแรงเหมือนเรา และเขาก็ไม่ใช่นักดำน้ำ เบื้องต้นหลังนักดำน้ำอังกฤษเจอตัว เราก็เตรียมการและส่งทีมไปพร้อมอาหารทันที แล้วก็ฟังสถานการณ์จากทีมดำน้ำที่เข้าไปว่า ข้างในเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประเมินเป็นแนวทางในการช่วยเหลือ
"เราพยายามคิดหลาย ๆ วิธี ทั้งในเรื่องที่จะให้เด็ก ๆ ดําน้ำออกมาเนี่ย ก็ถือว่าเป็นวิธีที่เสี่ยงที่สุด เพราะว่าถ้าเด็กเกิดแพนิคหรือตื่นตระหนก ก็จะเป็นอันตรายอย่างมาก และก็จะเป็นอันตรายต่อผู้เข้าไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน" พลเรือเอก อาภากร เสริม
ทว่า สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะราบรื่น กลับเกิดคลื่นความเสี่ยงใหม่ โดย พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า จังหวะที่จะเข้าสู่การพาเด็กออกมานั้น ก็เกิดกรณีอากาศภายในถ้ำลดลง เหตุจากเมื่อมีน้ำมาปิดรอบ ๆ จุดที่เรียกว่า โถง 9 นั้น ผนวกกับการหายใจที่ทำให้คาร์บอนไดฯ เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนภายโถง 9 ลดลง เหลือแค่ประมาณ 15% ซึ่งน้อยมาก และจาก 15 ก็ค่อย ๆ ลดลงเหลือ 12 ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมาก
"แน่นอนว่า สถานการณ์แบบนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ไปอยู่ตรงนั้น จะเลือกดำน้ำออกมาเลยก็ได้ แต่นั่นคือ การทิ้งเด็ก ซึ่งเราทำไม่ได้ ก็เครียดกันพอสมควร แต่พยายามหาวิธีต่าง ๆ ที่จะพยุงสถานการณ์ เช่น เอาออกซิเจนไปเติมในโถงที่น้อง ๆ อยู่ ซึ่งก็ไม่ง่ายแต่ก็ต้องทำ...
"ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นก็เกิดเหตุสลด เมื่อเราต้องสูญเสีย 'จ่าแซม' ไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตอนนั้น ผมก็ต้องปลุกขวัญกําลังใจพี่น้องเรา และต้องออกไปแถลงข่าวยืนยันกับประชาชนทั่วไป รวมทั้งทั่วโลกด้วยว่า การเสียชีวิตของจ่าแซมเนี่ยจะไม่มีวันสูญเปล่า"
สำหรับวิธีการนำตัวเด็กออกมานั้น พลเรือเอก อาภากร เล่าว่า ต้องใช้วิธีการให้เด็กไม่แพนิค ก็คือ จะต้องให้เด็กหลับ และสวมอุปกรณ์ที่เรียกว่า Full Face Mask ซึ่งเป็นหน้ากากแบบใส่เต็มหน้า แล้วก็ปล่อยอากาศให้เด็กหายใจ
วันที่ 8 ก.ค.ของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว 13 หมูป่าคนแรก ก็ออกมาอย่างปลอดภัย จนถึงวันที่ 10 ก.ค.ทุกคนรอดชีวิตกันทั้งหมด ภารกิจจบสมบูรณ์ เหลือไว้ซึ่งความอาลัยในผู้กล้าอย่าง 'จ่าแซม'
สำหรับภารกิจในการช่วยชีวิต 13 หมูป่า ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจระดับโลก ที่แม้ว่าในเบื้องต้นหลายคนจะมองว่า 'เป็นไปไม่ได้' แต่สุดท้ายด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และการตัดสินใจของผู้นำภารกิจที่รอบคอบ ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้จบลงด้วยคำว่า 'เป็นไปได้' ไปในที่สุด...