Wednesday, 8 May 2024
กรุงเทพมหานคร

'ชัชชาติ' เล็งกระจายอำนาจบริหารจัดการจราจรให้ท้องถิ่น รวมศูนย์ 'ถนน-ทางเท้า-ต่อใบขับขี่-บังคับใช้กฎหมาย'

(1 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการภารกิจก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนและสะพาน สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สปถ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ว่า...

วันนี้เป็นหารือร่วมกับคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการถ่ายโอนภารกิจวิศวกรรมจราจรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะประเด็นของเรื่องการจราจร จริงๆ แล้วสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ มีแผนปฏิบัติการมา 2 แผนแล้ว หลายเรื่องก็ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น เรื่อง ตำรวจดับเพลิง ซึ่งก็ทำให้เรามีอำนาจในการบริการประชาชนที่มากขึ้น แต่เรื่องการจราจรยังมีหลายประเด็นซึ่งเป็นข้อที่ยังไม่ ปฏิบัติอยู่ ตัวอย่างเช่น ในถนน 1 เส้น กทม.ก็ดูบนฟุตปาธ ทางเท้า แต่บนถนนก็เป็นเรื่องของตำรวจจราจร การต่อใบอนุญาตใบขับขี่ก็เป็นของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากต้องมีการแก้ปัญหา บางครั้งอาจจะมีข้อที่ต้องประสานงานกันค่อนข้างเยอะ 

หากเป็นไปได้การกระจายอำนาจมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแล ก็จะทำให้การบริหารจัดการและการจราจร อาจจะสะดวกมากขึ้น วันนี้เป็นการอัปเดต เรื่องข้อมูลต่าง ๆ และพิจารณาถึงความพร้อมของกทม. ด้วย จริง ๆ แล้ว การกระจายอำนาจ หัวใจสำคัญอันหนึ่ง นอกเหนือจากแผนแล้ว คือความพร้อมของฝ่ายรับ ถ้าฝ่ายรับไม่พร้อมก็จะทำให้การดำเนินการ ลำบากที่จะสร้างความไว้วางใจในการถ่ายโอนอำนาจมา รวมทั้งเป็นการอัปเดตกันว่า เราทำงานมาปีกว่า ๆ การจราจรเป็นเรื่องใหญ่ที่เราเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะมีหลายหน่วยงานร่วมดูแล รวมทั้งสรุปแผน 2 ที่เขียนไว้ว่ามีตรงไหนที่อาจจะอัปเดตใหม่ เพื่อจะได้นำไปใส่ในแผน 3 ขณะเดียวกันก็ต้องดูความพร้อมของตัวเอง ถ้าให้เราดูเรื่องการจราจร เรื่อง การควบคุมสัญญาณไฟ เราพร้อมไหม นำเทคโนโลยีมาช่วยอย่างไร หรือให้ดูเรื่องการจดทะเบียนรถ การจัดเรื่องที่จอดรถจะพร้อมหรือไม่

"การกระจายอำนาจถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นหัวใจของของระบอบประชาธิปไตย ที่จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นในส่วนที่ตัวเองพร้อม หากการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเนื้อเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ก็น่าจะสะดวกขึ้น" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

การประชุมวันนี้ รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

‘กทม.’ ผนึก ‘มูลนิธิเพื่อนักกีฬาไทย-ทิพยประกันภัย’ จัด ‘TIP SPIRIT’ หนุนเยาวชนเสริมทักษะกีฬา-พัฒนาตนเอง ปูทางสู่นักกีฬาอาชีพ

(9 ก.ย. 66) ‘กรุงเทพมหานคร–มูลนิธิเพื่อนักกีฬาไทย-ทิพยประกันภัย’ ร่วมจัดโครงการ ‘TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง’ ให้เยาวชนไทยทั่วกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ทักษะกับโค้ชระดับตํานานฟุตบอล-วอลเลย์บอล ตั้งแต่ กันยายน-พฤศจิกายน 2566

ดร.ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ ‘บิ๊กแป๊ะ’ ถิรชัย วุฒิธรรม ประธานมูลนิธิเพื่อนักกีฬาไทย ร่วมแถลงข่าวโครงการ ‘TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง’ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบอลรูม สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ

สำหรับ ‘TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง’ เป็นโครงการที่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นบนแนวคิดที่ต้องการเป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแล และร่วมสร้างสรรค์สังคมปลอดภัย เยาวชนไทยห่างไกลยาเสพติด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางตามกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ภายใต้การบริหารงานอย่างมืออาชีพ

อีกทั้งในปี พ.ศ. 2566 นี้ ยังถือเป็นโอกาสพิเศษที่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 72 อยู่เคียงข้างคนไทยและสังคมไทย จึงได้มีการริเริ่มโครงการ ‘TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง’ ขึ้นมา โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ผ่านโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์ฝึกกีฬาของกรุงเทพมหานครและ มูลนิธิเพื่อนักกีฬาไทย ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 8-17 ปี ได้เรียนรู้ประสบการณ์การเล่นกีฬา และทักษะขั้นพื้นฐานในการเล่นกีฬาประเภทฟุตบอล และวอลเลย์บอลได้อย่างถูกต้อง เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนไทยใช้การเล่นกีฬาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพตนเอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ตลอดจนเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในอนาคต

โครงการ ‘TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง’ ยังได้รับการตอบรับจากโค้ชและอดีตตำนานนักกีฬาไทยที่ให้เกียรติเข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยฝึกฝนทักษะ และแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเยาวชนไทย อาทิ น.อ. ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, สะสม พบประเสริฐ, วรวุธ ศรีมะฆะ, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย, ก้องภพ สรงกระสินธ์ คุณพ่อของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลทีมชาติไทย, พ.ต. ภาณุพงศ์ ผิวอ่อน โค้ชฟุตบอลโปรไลน์เซนส์, วีระยุทธ สวัสดี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และโค้ชมากฝีมืออดีตทีมชาติไทยอีกมากมาย รวมไปถึงตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย ทั้งปลื้มจิตร์ ถินขาว, มลิกา กันทอง, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ และปิยะนุช แป้นน้อย และโค้ชวอลเลย์บอลจากสโมสร สุพรีม ทิพย ชลบุรี- อี.เทค

นอกจากนี้ ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย คุณถิรชัย วุฒิธรรม ประธานมูลนิธิเพื่อนักกีฬาไทย ยังได้มอบกรมธรรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ทุนประกันภัยรวม 150,000 บาท ให้กับอดีตนักกีฬาทีมชาติไทย เพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสร้างความสุขให้กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยมี สมรักษ์ คำสิงห์, มนัส บุญจำนงค์, ปวีณา ทองสุก, วรพจน์ เพชรขุ้ม และ เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ผู้สร้างตำนานคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ รวมถึง สืบศักดิ์ ผันสืบ เป็นตัวแทนรับมอบให้กับอดีตนักกีฬาทีมชาติไทยในกีฬาประเภทต่างๆ จำนวนกว่า 300 คน

โครงการ TIP SPIRIT นักกีฬาเลือดใหม่ ใส่สุดพลัง จะจัดทั้งหมด 6 สนาม ดังนี้
- สนามที่ 1 วันที่ 16-17 กันยายน 2566 ​​ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง (ฟุตบอล)
- สนามที่ 2 วันที่ 30 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 ​ณ สนามเฉลิมพระเกียรติ มีนบุรี (ฟุตบอล)
- สนามที่ 3 วันที่ 14-15 ตุลาคม 2566 ​​ณ สนามเฉลิมพระเกียรติ บางมด (วอลเลย์บอล)
- สนามที่ 4 วันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 ​​ณ ศูนย์กีฬาบางบอน (ฟุตบอล)
- สนามที่ 5 วันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566 ​ณ โรงเรียนนนทรีวิทยา เขตยานนาวา (ฟุตบอล)
- สนามที่ 6 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ​​ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง (ฟุตบอล) Final Match

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมสมัคร
1.) เยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8-17 ปีบริบูรณ์
2.) ต้องมีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรคประจำตัว ร่างกายพร้อมรับการอบรม
3.) สามารถเดินทางเข้าร่วมโครงการตามสถานที่ต่างๆ ที่ลงทะเบียนได้

‘โครงการกีฬาฟุตบอล’ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดยทีมโค้ชมืออาชีพ จะมีการคัดเลือกนักกีฬาสนามละ 8 คน 4 สนาม รวม 32 คน (ยกเว้นสนามที่ 3 ซึ่งจะสอนวอลเลย์บอล) เป็นตัวแทนไปร่วมคัดเลือกเป็นสุดยอดนักกีฬา TIP SPIRIT ในโครงการสนามสุดท้าย วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 โดยจะมีการเรียนรู้ทักษะขั้นสูง และร่วมแสดงความสามารถ จากนั้นจะคัดเลือกนักกีฬาเยาวชนที่มีความสามารถโดดเด่นจำนวน 11 คน เพื่อรับรางวัลพิเศษจากโครงการ และขึ้นทะเบียนเป็นนักกีฬาของทิพยประกันภัย โดยจะได้รับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทุนประกันภัยคุ้มครอง 1 ล้านบาท พร้อมรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการของทิพยประกันภัยในซีซั่นต่อไป ส่วนอีก 21 คน จะได้รับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทุนประกันภัยคุ้มครอง 5 แสนบาท

‘โครงการกีฬาวอลเลย์บอล’ จัดขึ้นเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ทั้งการฝึกซ้อมฐานต่างๆ และได้ลงทีมเพื่อแสดงความสามารถอย่างรอบด้าน ผ่านการดูแลและคำแนะนำจากโค้ชและนักกีฬาทีมชาติของสโมสร สุพรีม ทิพย ชลบุรี-อี.เทค โดยจะมีการคัดเลือกนักกีฬาเยาวชน จำนวน 6 คน เพื่อรับรางวัลสุดยอดนักกีฬา TIP SPIRIT และได้รับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทุนประกันภัยคุ้มครอง 1 ล้านบาท พร้อมรับรางวัลพิเศษจากโครงการในโครงการวันสุดท้าย

‘ชัชชาติ’ นำทัพผู้บริหารกทม. เข้าพบ ‘อนุทิน’ เพื่อแสดงความยินดี พร้อมรับมอบนโยบายต่อ

(19 ก.ย.66) ที่กระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะผู้บริหารกทม. เดินทางเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสรับตำแหน่ง โดยนำพวงมาลัยดอกไม้ มาแสดงความยินดีกับนายอนุทิน ในโอกาสรับตำแหน่งรมว.มหาดไทย พร้อมรายงานการทำงานของ กทม.และรับมอบนโยบายการโดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกระทรวง ร่วมหารือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการพบกันเป็นไปอย่างชื่นมื่น เป็นกันเอง โดยนายอนุทิน ได้ทักทายนายชัชชาติ พร้อมกล่าวหยอกล้อและหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ว่า "เมื่อวานนายชัชชาติ เข้าพบกับนายกฯ เป็นแบบพี่น้องกัน แต่วันนี้มาพบแบบเป็นเพื่อนกัน เพราะเป็นเพื่อนเรียนกันมา จากนั้นทั้งคู่จะชนหมัด ก่อนที่นายชัชชาติ บอกว่าจับมือดีกว่า เดี๋ยวจะไปเหมือนกับนายกรัฐมนตรี จึงได้เปลี่ยนมาจับมือแสดงความยินดีแทน โดยนายอนุทิน ได้มอบพระพุทธรูปปางลีลา เป็นที่ระลึกให้แก่นายชัชชาติ

จากนั้น นายอนุทิน ได้แนะนำคณะทำงาน อาทิ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ที่ย้ายมารับตำแหน่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำให้นายชัชชาติ ระบุว่า ดีเลย จะได้ประสานทำงานกันอย่างเข้มข้น และที่ผ่านมากทม.ก็ประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นอย่างดี จากนี้จะได้เดินหน้าทำงานต่อไป ทั้งนี้ใช้เวลาหารือ ประมาณ 30 นาที 

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511

‘กทม.’ เปิดประชาพิจารณ์ ร่างข้อบัญญัติฯ ค่าขยะใหม่ ต.ค.นี้ หมู่บ้าน-ชุมชนจ่าย 60 บ. หากแยกขยะแล้ว จ่าย 20 บ. เท่าเดิม

(2 ต.ค. 66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของกรุงเทพมหานครอัตราใหม่ ว่า หลังจากสภากรุงเทพมหานครได้เห็นชอบขยายเวลาจัดเก็บออกไปอีก 1 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกาศประชาพิจารณ์ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... ในเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร ในเดือนตุลาคม 2566 เป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูรายละเอียดของร่างข้อบัญญัติฯ แสดงข้อคิดเห็น จะมีความคิดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากข้อบัญญัติฯ นี้เป็นร่างกฎหมายที่กระทบกับประชาชนทั่วไป ถ้าประชาพิจารณ์ประชาชนเห็นด้วยไม่มีปัญหาอะไร ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะนำเข้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ นี้ เมื่อสภาเห็นชอบแล้วจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกรุงเทพมหานครจะออกข้อบังคับระเบียบรองรับ น่าจะใช้บังคับได้ในปี 2567 

“ร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับใหม่นี้โดยหลักการค่าขยะจะลดลง จากข้อบัญญัติฯ เดิมที่ออกมาปี 2562 ที่อัตราขึ้นไปเยอะ (80 บาท) ซึ่งได้มีการขยายเวลาออกไปมาหลายปี ร่างใหม่นี้ราคาจะต่ำลงทั้งการเก็บขนและการกำจัด ขณะเดียวกันกรณีประชาชนได้ลงทะเบียนเพื่อแยกขยะ ก็จะเสียค่าขยะต่ำลงไปอีก ทั้งนี้ หากประชาพิจารณ์ผ่านประชาชนเห็นด้วย ไม่มีปัญหาอะไร ก็น่าจะนำเข้าสภากทม.พิจารณาได้เดือนพฤศจิกายน เมื่อสภาฯ เห็นชอบ ก็จะประกาศใช้ข้อบัญญัติฉบับใหม่ ยกเลิกของปี’62 ไป” นายจักกพันธ์ุกล่าว

สำหรับร่างข้อบัญญัติฯ ใหม่มีอัตราค่าธรรมเนียมในส่วน ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แยกเป็น 

1. ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป เป็นรายเดือน กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตรเดือนละ 30 บาท, กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกําหนด เดือนละ 10 บาท, กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 20 ลิตรในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 60 บาทและกรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลบ.ม. ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 3,250 บาท 

2. ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป เป็นครั้งคราว กรณีที่มีปริมาณไม่เกิน 500 ลิตร ครั้งละ 125 บาท, กรณีที่มีปริมาณเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ครั้งละ 180 บาท และกรณีที่มีปริมาณเกิน 1 ลบ.ม. ให้คิดเป็นหน่วย ทุก ๆ 1 ลบ.ม. อัตราหน่วยละ 245 บาท

ส่วนค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป แยกเป็น 

1. ค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป เป็นรายเดือน กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร เดือนละ 30 บาท, กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกําหนด เดือนละ 10 บาท, กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 20 ลิตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 60 บาท และ กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 1 ลบ.ม. ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลบ.ม. ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 4,750 บาท 

2. ค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป เป็นครั้งคราว กรณีที่มีปริมาณไม่เกิน 500 ลิตร หน่วยละ 130 บาท, กรณีที่มีปริมาณเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. หน่วยละ 190 บาท และ กรณีที่มีปริมาณเกิน 1 ลบ.ม. ให้คิดเป็นหน่วย ทุกๆ 1 ลบ.ม. หน่วยละ 250 บาท 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธ์ุกล่าวสรุปว่า บ้านเรือนทั่วไป หรือ หมู่บ้านจัดสรร/ชุมชนต่าง ๆ จะคิดค่าธรรมเนียมใน 2 รูปแบบ คือ คิดค่าเก็บขน 30 บาท และค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท แต่หากบ้านเรือนมีการคัดแยกขยะ หมู่บ้าน/ชุมชน มีที่พักรวมและคัดแยกขยะตามเงื่อนไข จะคิดเท่าเดิมคือ 20 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติฯปี’62 ที่คิดค่าเก็บขน 40 และค่ากำจัด 40 รวม 80 บาท ก็จะลดลงแต่หากประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะบ้านไหนหมู่บ้านชุมชนไหนทำตามเงื่อนไข กรุงเทพมหานครก็เก็บอัตราเดิม 20 บาท โดยจะต้องมีการลงทะเบียนถูกต้องกับสำนักงานเขตทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดร่างข้อบัญญัติฯ ใหม่ได้ในเดือนตุลาคม 2566

‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ไม่ขัดหากเปิดผับบาร์ถึงตี 4 คาด!! เริ่มทดลอง ธ.ค.นี้ ก่อนปีใหม่

(16 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความพร้อมในการขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง ถึงเวลา 04.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า กทม. ไม่ขัดข้องในนโยบายดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ได้หารือกับทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ เรื่อง Soft Power ที่เสนอความคิดร่วมกันที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวชัดเจน และมีมาตรการรองรับในการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

“ในปัจจุบันยังเห็นผับที่เปิดเกินเวลาอยู่บ้าง ถ้าทุกคนออกมาร่วมกันทำให้ถูกกฎหมาย และทำให้มีระเบียบในการเข้า-ออกให้ชัดเจน ในส่วนของ กทม. ก็ไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใด และคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี” นายชัชชาติ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในส่วนของการปฏิบัติ อาจจะต้องปรับปรุงการแบ่งโซนให้เหมาะสมกับปัจจุบัน เนื่องจากไม่ค่อยทันสมัยตามการขับเคลื่อนของเมืองที่เปลี่ยนไป โดยต้องหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังสร้างความรำคาญให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง โดยต้องมีกรอบในการปฏิบัติให้ชัดเจน รวมถึงในแง่ของการกำกับดูแล ไม่ให้เยาวชนเข้าสถานบันเทิงและการทำผิดกฎหมายในเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าหากทำให้โปร่งใส และมีระเบียบปฏิบัติชัดเจน ย่อมดีกว่าการลักลอบเปิดแบบผิดกฎหมายแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในแง่เศรษฐกิจอีกมากมาย เช่น พ่อค้า-แม่ค้าในตลาดที่ขายของและทำอาหาร คนขับรถสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางด้วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านหลายมิติ โดยคาดว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทดลองเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. คือ ช่วงเทศกาลปีใหม่ประมาณเดือนธ.ค.นี้

‘โตโต้’ ไล่บี้ถาม ‘กทม.’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่? หลังปล่อยตลาดนัดเถื่อน ‘ซุกพนัน-ไร้ใบอนุญาต’

(18 ต.ค.66) ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงความคืบหน้าการเปิดตลาดนัดสัญจรที่มีการพนันอยู่เบื้องหลังในพื้นที่เขตบางนา ว่า เรื่องนี้เป็นมากกว่าการพนัน แต่เป็นขบวนการต้มตุ๋นประชาชนที่อาศัยพื้นที่ในตลาดดังกล่าว เพื่อหลอกลวงทรัพย์สินจากประชาชนเป็นจำนวนมากต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทราบดีว่าทุกๆ เดือน บ่อนเหล่านี้จะมาตลาดเดือนละ 10 วัน และเวียนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เขตบางนา เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตอื่นๆ อีก รวมถึงปริมณฑลด้วย ดังนั้นปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยในเขตบางนาเท่านั้น และจะต้องมีผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีสีอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน เนื่องจากเราได้ติดตามและร้องเรียนกับทุกหน่วยงานของรัฐ เริ่มจากสำนักงานเขตบางนา โดยตนทำหนังสือร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งทางสำนักงานเขตฯ ตอบกลับมาว่า ตลาดกำลังขออนุญาตแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต ตนจึงขอตั้งคำถามว่า 1. ตลาดเปิดได้อย่างไร 2. สำนักงานเขตฯ ชี้แจงว่า ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่เมื่อตนดูในเอกสารเป็นเอกสารที่ปรับแค่เรื่องการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ได้ปรับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณะว่าด้วยเรื่องตลาด และข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ ว่าด้วยเรื่องการอนุญาตตั้งตลาด

นายปิยรัฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ตนได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมการปกครอง จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา และยังไม่ได้รับคำรับรองว่าจะดำเนินการอย่างไรจากกระทรวงมหาดไทย ตนจึงไปตั้งคำถามในสภาฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา คิดว่าเรื่องที่จะได้รับการแก้ไขแต่ปรากฏว่า ได้มีการตั้งตลาดอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค. ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 23 ต.ค. โดยประชาชนได้มีการร้องเรียนมายังตน ประชาชนรายที่เสียหายหนักที่สุดเป็นเงินมากถึง 3 แสนกว่าบาท ตนก็ถูกตราหน้าว่าส.ส. มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เพราะร้องเรียนไปหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ตนต้องไปยืนเตือนประชาชนที่จะเข้าไปใช้พื้นที่ตลาด จึงเป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันในวันนี้

นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้นตนขอชี้แจงเพิ่มเติม 2 ประเด็น ประเด็นแรกตลาดไม่ได้มีการจัดในรูปแบบทั่วไป เนื่องจากมีกฎหมายระบุว่า ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งการตั้งตลาดนัดจะต้องมีการอนุญาตจากท้องถิ่น ถึงจะสามารถจัดตั้งได้ ดังนั้นเมื่อทางกทม. ไม่ได้อนุญาต แล้วมีการจัดตั้งตลาดได้อย่างไร ล่าสุดทางกทม. ได้ออกมาแถลงว่า ไม่ได้มีการปรับในรอบล่าสุดเพราะตลาดขออนุญาตอย่างถูกต้องในปี 2564 ตนจึงตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนขออนุญาต และขอตั้งแต่เมื่อไหร่ รูปแบบผังเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นข้อผิดพลาดของกทม. หรือไม่ เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ประเด็นที่สอง ตลาดลักษณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามผังตลาดอย่างแน่นอน เนื่องจากการทำตลาดนัดต้องมีผังชัดเจน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยข้างเคียง ซึ่งตลาดดังกล่าวกระทบแน่นอน ทั้งเสียง การจราจร นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตนยืนยันว่าตลาดล่าสุดที่เกิดขึ้นซึ่งใช้พื้นที่เอกชน ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย สำนักงานเขตฯ ต้องชี้แจงเรื่องนี้ หลังออกมาแถลงว่าไม่มีการปรับรอบนี้ ตนถือว่ารอบนี้มีปัญหา

“ส่วนสน.และตำรวจจะอ้างว่าไม่พบการพนันที่เกิดขึ้นหลังตรวจสอบแล้ว ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ตำรวจมักจะไม่เจออะไรในสิ่งที่ตำรวจไม่อยากเจอ นี่คือข้อเท็จจริง เมื่อตำรวจไม่อยากเจอ เขาก็สามารถบันดาลว่าไม่เจอได้ ขอความเห็นใจจากประชาชนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และฝากว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของท่านหลายพื้นที่ อยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่“นายปิยรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่า มูลค่าความเสียหายที่รวบรวมได้ขนาดนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ นายปิยรัฐกล่าวว่า ที่มีการร้องเรียนมาถึงตนเองรวมๆ ก็เกือบล้าน รายเดียวก็ 3 แสนกว่า และรายอื่นๆ คนละ 2-5 หมื่นบาท ทั้งนี้จะเป็นคดีความหรือไม่ต้องแล้วแต่ความสะดวกผู้ร้องทุกข์ เนื่องจากรู้ว่านี่คือกลุ่มผู้มีอิทธิพล

“ผมคงไม่สามารถไประบุชัดเจนว่าเป็นบุคคลใดหรือสีไหน เพียงแต่ว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่ผมไปร้องเรียน และดำเนินการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานเขต สถานีตำรวจ ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง แม้เราจะมีความพยายามแล้ว โดยเฉพาะตนได้มีการตั้งคำถามหารือผ่านประธานสภาไปตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. ยังปล่อยให้มีลักษณะนี้อีก ผมก็ไม่รู้ว่าผู้ยิ่งใหญ่จะเป็นใคร และจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน” นายปิยรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการไปร้องเรียนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) ตนวางแผน และปรึกษาหารือกับพรรคว่าจะตั้งกระทู้ถามสดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาตอบกระทู้ถามสดนี้ของตนเกี่ยวกับประเด็นนี้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า ถ้ามีเบาะแสหรือหลักฐาน ก็ยินดีที่จะรับเรื่องไว้ จะมีการไปพูดคุยกับนายชาดาหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตนได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ถ้านายชาดาต้องการเพิ่มเติม ตนก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่มีที่เขตบางนาเท่านั้น ดังนั้นในฐานะตนที่เป็นโฆษกและกรรมาธิการความมั่นคงฯ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมกมธ.ในวันพรุ่งนี้ด้วย

‘ป.ป.ส.’ เปิดตัว ‘วินสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด’ ดึง ‘วินฯ-ไรเดอร์’ 2 แสนคน ช่วยสอดส่องแหล่งชุมชนในพื้นที่กทม.

(6 พ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผช.ผบ.ตร. และรักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในพิธีเปิดงาน ‘วินสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด’ ระบุว่า รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดให้ยาเสพติดเป็นมาตรการเร่งด่วน

สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพให้บริการขนส่ง สำหรับวินที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้มีทั้งหมด 26 วิน กว่า 400 คน โดยเป็นวินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสถานที่จัดงานและพื้นที่ชุมชนแพร่ระบาด

โดยเราได้มีการส่งเสริมการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ทั้งการส่งเสริมเรื่องด้านสุขภาพ ภูมิคุ้มกันยาเสพติด และส่งเสริมด้านการเฝ้าระวังยาเสพติด ภายใต้โครงการ ‘วินสีขาว’ ในวันนี้

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันมีไรเดอร์อาชีพที่แจ้งในระบบประมาณ 86,000 คน กว่า 5,300 วิน หากรวมผู้ที่ทำอาชีพไรเดอร์ที่ไม่ใช่วินมีกว่า 1-2 แสนคน ซึ่ง ป.ป.ส.จะดึงกลุ่มนี้ร่วมแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยจะขยายไปทุกเขตใน กทม. และประกวดวินสีขาวที่ทำสำเร็จในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ปลอดยาเสพติด ซึ่งวินที่ชนะและเป็น Best Practice จะเป็นตัวอย่างให้กับวินอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงต่างจังหวัดต่อไป

สำหรับโครงการ ‘วินสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด’ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. และกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมไรเดอร์ และวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพให้เป็นวินต้นแบบ ที่จะมาช่วยในการเฝ้าระวังยาเสพติด ช่วยดูแลความปลอดภัยของชุมชนในพื้นที่ให้บริการ

เนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ส. เล็งเห็นว่า ไรเดอร์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งประกอบอาชีพอยู่ภายในแหล่งชุมชนและท้องถนน มีลักษณะความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมบนท้องถนนอยู่แล้ว รวมถึงมีความเสี่ยงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดและขนส่งยาเสพติดโดยอาจจะรู้หรือไม่รู้

ซึ่งกลุ่มอาชีพนี้มีจำนวนมากกว่าแสนคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วิ่งตามซอกซอยชุมชน พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น รวมถึงในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดอยู่ด้วย

'ดร.เอ้' โต้โผ!! จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ สร้างบ้านเมืองที่ปลอดภัย ด้วยความตั้งใจของประชาชน

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นถนนทรุดโทรม ไม่มีความปลอดภัย ไร้มาตรการรองรับ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 7 พ.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO / MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ 

>> ในฐานะวิศวกร มีมุมมองหรือข้อแนะนำต่อกรุงเทพฯ อย่างไร หากอยากทำให้ถนน อาคารมีความแข็งแรง ปลอดภัย?

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “ตลอดชีวิตการเป็นวิศวกรของผม ผมทำงานช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติมามาก ในสมัยที่ทำงานให้สมาคมวิศวกรรมสถาน จนกระทั่งได้เป็นนายกสมาคมฯ ผมเห็นมาเยอะ และผมก็เสียใจมาก ทุกครั้งที่ผมให้สัมภาษณ์ ผมจะพูดเสมอว่า ประเทศไทย ความปลอดภัยไม่เคยมาก่อนเลย และมันเกิดความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย เป็นความประมาทในการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานจริง ๆ เลย เพราะหากทำตามมาตรฐานจริง ๆ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย จะไม่มีการสูญเสียแบบนี้ให้ได้เห็น”

“ในเรื่องการป้องกัน ประชาชนอย่างเรา ๆ ไม่สามารถทำ
อะไรได้อยู่แล้ว เราก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ ขับรถไปส่งลูก ไปทำงาน อยู่ ๆ ก็มีอะไรไม่รู้หล่นลงมา หล่นใส่ใครตอนไหน ใครจะไปรู้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นกับพวกท่าน ทั้งสะพานลาดกระบัง ถ้าเป็นตอนกลางวันผมก็อาจจะโดนไปแล้ว หรือถนนเป็นหลุมยุบลงไป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวนะ สักวันอาจจะเป็นเราก็ได้” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “คนที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนทุกคนก็คือ ‘เจ้าของหน่วยงาน’ ได้แก่ กทม. กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การประปา การไฟฟ้า ซึ่งดูแลสาธารณูปโภค มีอำนาจ เป็นเจ้าของเงิน และต้องกำกับดูแลให้ผู้รับเหมาทำงานให้ตรงตามมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องที่มากเกินไปด้วย แค่ทำให้ตรงมาตรฐาน ซึ่งก็มีเช็กลิสต์ให้อยู่แล้ว ถ้าทำได้ จะทำให้ชีวิต ทรัพย์สินของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นแน่นอน”

“จากประสบการณ์ผม เหตุสลดที่เกิดขึ้นก็มาจากการไม่ได้มาตรฐานนี่แหละ ผมก็เลยอยากจะระดมรายชื่อ ให้ครบ 1 หมื่นชื่อ เพื่อที่จะเสนอกฎหมายก่อตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ เพื่อจะได้เข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ เหมือนอย่างในต่างประเทศ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “และที่น่าแปลกคือเมื่อมีเหตุการณ์สลดเกิดขึ้น จะให้องค์กร ๆ นั้นหาสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งมันไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว อาจจะเพราะขาดความเชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องดูแลงานในส่วนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจะต้องมีองค์กรอิสระเข้ามาช่วยตรวจสอบ ค้นหาความจริง”

>> ตัวอย่างจากต่างประเทศ มีองค์กร / หน่วยงาน เข้ามากำกับดูแลเข้มงวด

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “อย่างในเกาหลีใต้ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์เรือเซวอลล่ม ทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ และกระจายออกไปทั่วโลกเลย ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งกระทรวงความปลอดภัย เพราะเขามองว่า หากให้การท่าเรือ หรือ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาดูแล ก็กลัวว่าจะไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมีกระทรวงใหม่ขึ้นมา ก็ทำให้วิศวกรที่ต่อเติมกฎหมายถูกลงโทษจำคุกเป็น 10 ปี เจ้าของเรือก็จำคุกหลายปี แม้กระทั่งยามชายฝั่งก็ถูกจำคุก เพราะหากมาเร็วกว่านั้น เด็ก ๆ คงไม่ตายเป็นร้อยคนขนาดนั้น”

“สำหรับประเทศไทย ไม่มีหน่วยงานที่จะคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน น่าเสียดายมากที่เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดซ้ำซาก และจะเกิดขึ้นต่อไป หากเราไม่มีองค์กรอิสระเข้ามาดูแลเรื่องแบบนี้อย่างเต็มเวลา” นายสุชัชวีร์ กล่าว

>> ในส่วนของการเสนอร่างกฎหมาย จะเสนอในนามของภาคประชาชนใช่หรือไม่?

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “ถูกต้องครับ ขณะนี้มีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 5 พันคน จึงอยากจะขอร้องทุกท่าน เข้ามาที่เว็บไซต์ http://Suchatvee.com เข้ามาร่วมลงชื่อ เพื่อจะได้เสนอในนามภาคประชาชนได้ เป็นการทำเพื่อพวกเราทุกคน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีใครทำ”

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “ตั้งแต่เป็นนายกฯ วิศวกรรมสถานฯ ผมไม่เคยได้รับคำตอบ ไม่เคยได้รับการถอดบทเรียนมาให้เราได้เผยแพร่ต่อประชาชนเลย ถึงเวลาแล้ว ประเทศไทยอยู่แบบนี้ไม่ได้ ถึงเวลาเกิดเหตุร้าย ๆ แล้วเราไปร้องเรียน หน่วยงานนั้น ๆ ก็เงียบได้ เพราะไม่มีใครเข้ามากำกับดูแล แต่ถ้ามี ‘องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ จะทำหนังสือถึงอธิบดีฯ หากหน่วยงานรับผิดชอบยังชักช้า ก็จะรายงานถึงนายกรัฐมนตรี จะไม่มีใครกล้าช้า และก็สามารถรายงาน เผยแพร่เว็บไซต์ให้กับประชาชนได้ จะทำให้หน่วยงานต้นสังกัดเจอกระแสสังคม รับรองว่าจะไม่กล้าทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าแน่นอน และเรื่องแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น แต่ก็เสียดายที่เรื่องแบบนี้ ประเทศไทยเราล้าหลังจริง ๆ” 

“เรื่องความปลอดภัยก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าประเทศเราพัฒนาแล้ว อย่าคิดว่าเรามีรถไฟฟ้า มี 5G มีห้างสวย ๆ แล้วนั่นคือการพัฒนา มันไม่ใช่แบบนั้น คนไทยตายด้วยอุบัติเหตุมากติดท็อปโลก แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เราปล่อยประเทศเราไปแบบนี้ไม่ได้หรอก ผมพูดในฐานะวิศวกร และคนที่มีครอบครัวอยู่ในกรุงเทพ” นายสุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

รับชมสัมภาษณ์เต็มได้ที่>> https://www.facebook.com/thestatestimes/videos/606689744824469 

ร่วมลงชื่อร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะได้ที่ >>  http://Suchatvee.com 

‘รองผู้ว่าฯ’ สงสัย!! เพราะ ‘โครงสร้างพัง’ หรือ ‘ขนหนักเกิน’ หลังเกิดเหตุ ‘ถนนยุบ’ กลืนรถบรรทุกหายไปเกือบทั้งคัน

(8 พ.ย.66) ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุฝาท่อปิดถนนทรุด ซึ่งมีรถสิบล้อตกลงไป เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งบ่อดังกล่าวเป็นบ่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะสาเหตุใดถึงยุบตัว โดยอาจเกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้ติดต่อประสานทางหลวง มาตรวจวัดว่ารถบรรทุกดังกล่าวน้ำหนักเกินหรือไม่ รวมทั้งปัญหาของการปิดเปิดฝาที่เปิดไว้ เพื่อดำเนินการร้อยสายไฟลงดิน อาจมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

บรรยากาศช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บทสรุปตอนนี้จะมีการยกรถขนดินออก โดยมีการคุยว่าเราต้องชั่งน้ำหนักรถก่อน แต่เนื่องจากรถมีน้ำหนักเยอะ จึงจะต้องแยกชั่งน้ำหนักดินออกแล้วนำไปเก็บไว้อีกคัน ซึ่งตอนนี้สงสัยเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้โครงสร้างถนนพัง หรือน้ำหนักปกติ แต่โครงสร้างเกิดการพังเอง ก็ต้องพิสูจน์กัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็จะเก็บข้อมูล โดยการเอาตาชั่งเข้ามาวัด แต่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือเร่งเปิดการจราจร จะต้องมีการยกรถออก เสร็จแล้วการไฟฟ้านครหลวง ก็จะเสริมเสาบ่อใหม่ โดยใช้คานเหล็กใหม่เป็น 2 ตัว จากเดิมที่มีตัวเดียว ซึ่งตามการออกแบบมันเพียงพอ แต่ต้องเผื่อไว้ และปิดฝาบ่อ ซึ่งอาจจะเปิดการจราจรได้เร็วที่สุดภายในเย็นนี้ ให้ทัน เพราะรถจะติดมาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการจราจรเส้นนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงไปก่อน ตอนนี้จะรีบยกออกก่อน แล้วก็ปิดฝาบ่อให้ได้ เสริมโครงสร้าง แล้วก็เปิดการจราจร อันนี้คือเรื่องด่วนที่สุดแล้ว” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการดำเนินการเอาผิด ตอนนี้ก็ต้องดูเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก ต้องเอาเครื่องชั่งที่กำลังเข้ามาชั่งว่า รถบรรทุกคันนี้น้ำหนักเท่าไหร่ เราก็เข้มงวดในเรื่องของการ ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก ความจริงแล้วตั้งแต่เกิดเหตุที่มักกะสันมา เราได้รับแจ้งเหตุจาก กรมทางหลวง แต่ กทม.ไม่มีเครื่องมือวัดน้ำหนักรถบรรทุก

“ช่วงระยะสั้น เร่งด่วนที่สุดเลย ก็ประสานงานขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และจะขอความร่วมมือไปยังกรมทางหลวงชนบทด้วย เพื่อขอทีม Mobile Unite หรือ หน่วยวัดเคลื่อนที่ ไปวัดตามจุดเสี่ยงที่จะเกิด เช่น ใกล้ไซต์งานก่อสร้าง ที่เราจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้น” นายวิศณุ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า บทลงโทษค่อนข้างแรง ตามกฎหมายพ.ร.บ.ทางหลวง การบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อยู่ภายความดูแลของ กทม. ก็คือเจ้าหน้าที่ทางหลวงท้องถิ่น หรือ เส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงจะเป็นคนกำกับดูแล เราตรวจจับได้แล้วส่งตำรวจ ซึ่งตำรวจจะเป็นคนทำสำนวนเพื่อแจ้งข้อหาต่อไป โทษรุนแรง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top