Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับ ‘กรมโรงงานฯ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ ต้องควบคุม’ไซยาไนด์’ เข้มงวด!! การใช้ผิดวัตถุประสงค์ นอกเหนือกิจการอุตสาหกรรม ต้องดำเนินคดี

(12 ส.ค. 67) จากกรณีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนางสาวชลดา หรือ น้องตอง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมามีการสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากสารไซยาไนต์ที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทเป็นคนสั่งซื้อออนไลน์มาใช้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับผู้ต้องหาที่ก่อคดีสะเทือนขวัญเมื่อไม่นานมานี้ 

ก่อนหน้านี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เข้มงวดกับสถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงถึงการควบคุมสารโพแทสเซียมไซยาไนด์(potassium cyanide) โดยระบุว่า สารดังกล่าวมีลักษณะเป็นของแข็ง ก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนต์ เมื่อเจอกับความร้อนจะทำให้เกิดก๊าซพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะรบกวนการทำงานของอวัยวะภายใน จนเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยมีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมชุบโลหะ และในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ เช่น การนำไปทดสอบหาค่าความกระด้างของน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ไม่มีการผลิตในประเทศไทย โพแทสเซียมไซยาไนด์มีการควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดย อย. กำหนดการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือน หรือทางสาธารณสุขที่มีเกลือของไซยาไนด์ที่ละลายน้ำได้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้ามาในประเทศ ส่วน กรอ. ควบคุมสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่ความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่ง กรอ. มีการกำกับดูแลกรณีมีการนำเข้า และการครอบครองสารดังกล่าว ดังนี้

1. ผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ และขออนุญาตก่อนนำเข้า โดยการพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด และการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียน 

2. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ในการนำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้า ก่อนนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ ออกจากด่านศุลกากร เช่น ปริมาณการนำเข้า ลักษณะภาชนะบรรจุ สถานที่เก็บรักษา และกำหนดวันที่พาหนะ จะมาถึงด่านศุลกากร เป็นต้น ตามแบบ วอ./อก.6 โดยปัจจุบันกำหนดให้แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 

3. กรณีมีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในความครอบครอง ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ในรอบ 6 เดือน ต้องแจ้งข้อเท็จจริง เช่น ปริมาณการใช้ การจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ และข้อมูลผู้ซื้อ เป็นต้น ตามแบบ วอ./อก.7 ซึ่งการประกอบการในระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ต้องแจ้งภายในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น และการประกอบการ ในระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ต้องแจ้งภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป โดยสามารถแจ้งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแจ้งผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 

4. กรณีครอบครองโพแทสเซียมไซยาไนด์เพื่อการใช้สอยส่วนบุคคล หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม และกรณีครอบครองโพแทสเซียมไซยาไนด์เพื่อการค้าปลีก ที่เก็บโพแทสเซียมไซยาไนด์และวัตถุอันตรายทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายรวมกันไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตครอบครอง

จากเหตุการณ์ที่มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งพบการจำหน่ายอย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารดังกล่าวได้โดยง่าย เพื่อนำไปใช้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ กระทรวงอุตสาหกรรม  โดย กรอ. ได้มีดำเนินการ ดังนี้

1.กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี และกำหนดให้เพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาตนำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์(ทั้งกรณีใบอนุญาตฉบับเดิมที่ยังมีอายุอยู่และใบอนุญาตที่ออกใหม่) สำหรับกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้า สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความเข้มข้นและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก 

รายละเอียดดังตารางสรุปมาตรการเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

2. จัดทำระบบรายงานข้อมูลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เพื่อรองรับรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองวัตถุอันตรายทันที และรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองทุกปริมาณ ทุก 3 เดือน 

3. จัดทำหนังสือขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ และสารโซเดียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำขนาดใหญ่ที่มีการซื้อขายสินค้าจำนวนมากด้วย 

4.จัดทำร่างประกาศกรมโรงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบ พ.ศ. .... โดยกำหนดห้ามมิให้ทำการโฆษณาวัตถุอันตราย โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อโฆษณาอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

5. ส่งเจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

ตามข้อมูลการรายงานการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 จากรายงานดังกล่าว พบว่ามีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 45 (4) อันมีโทษตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 31 ราย โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดประกอบด้วย ผู้จำหน่าย จำนวน 6 ราย และผู้นำเข้า จำนวน 1 ราย และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 กรอ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ยังปรากฏข้อมูลการโฆษณาจำหน่ายสารประกอบไซยาไนด์ เช่นโกลด์โพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายภายใต้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ทุกชนิดเป็นสารพิษที่มีความรุนแรงสูง ออกฤทธิ์ได้เร็วโดยหากได้รับในขนาดที่เพียงพอจะทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ในลักษณะเดียวกับโพแทสเซียมไซยาไนด์ และโซเดียมไซยาไนด์

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ป้องกันประชาชนทั่วไปเข้าถึงวัตถุอันตรายดังกล่าว และมีการนำไปใช้ ผิดวัตถุประสงค์ กรอ. จึงได้มีการดำเนินการเพื่อควบคุมวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ ดังนี้ 

1. จัดทำหนังสือถึงผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ และมีการนำเข้าสารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2565 – 2566 จำนวน 37 ราย เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการใช้สารประกอบไซยาไนด์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือระบุในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย 

2. จัดทำหนังสือขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์เพิ่มเติม จำนวน 13 รายการ เช่น โกลด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ 

3. จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงการจัดชนิดวัตถุอันตรายในกลุ่มสารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 6 รายการ จากเดิมที่มีการควบคุมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและขออนุญาต ตามมาตรา 36 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ตามลำดับ รวมทั้งผู้นำเข้าหรือส่งออกต้องแจ้งข้อเท็จจริงก่อนนำหรือส่งวัตถุอันตรายออกจากด่านศุลกากร และผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองที่มีหรือเคยมีวัตถุอันตรายตามรายชื่อที่กำหนด ต้องแจ้งข้อเท็จจริงปีละ 2 ครั้ง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ ออกกฎเหล็ก คุมเข้ม!! ‘ไซยาไนด์’ ตามโรงงาน พร้อมกำชับต้องรายงานทุก 6 เดือน ป้องกันใช้ผิดวัตถุประสงค์

(13 ส.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล  น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว. อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกกฎ เข้มงวดกับโพแทสเซียมไซยาไนด์ ต้องได้รับการพิจารณาขออนุญาต ได้มีการพูดคุยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะมีการซื้อซ้ำนำไปก่อเหตุในหลายคดี ว่า ตนได้สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้วตั้งแต่คดีแอมไซยาไนด์ว่าให้มีการเคร่งครัด ซึ่งเรามีลิสต์รายชื่อโรงงานอยู่แล้ว ว่ามีโรงงานไหนบ้างที่ไซยาไนด์ไปประกอบกิจการ โดยให้เร่งรายงานมาจากที่ให้รายงานทุก ๆ 6 เดือน ก็ให้เร่งรายงานถี่ขึ้น เพื่อป้องกันการนำเอาไซยาไนด์ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

เมื่อถามว่าล่าสุดมีการซื้อขายไซยาไนด์ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในส่วนนี้อยู่นอกเหนือกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ความรับผิดชอบของตนคือการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานตัวเลขไซยาไนด์ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าปริมาณที่หายไปเป็นปริมาณที่เอากลับไปใช้จริงหรือลักลอบหายไป

'เอ็มจี' ต้อนรับ ‘รมว.ปุ้ย’ ชมโรงงาน พร้อมร่วมเปิดไลน์ผลิต ‘ALL NEW MG3 HYBRID+’ ชูศักยภาพโรงงาน ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี

(15 ส.ค.67) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการควบคุมทางสรรพสามิต และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดไลน์การผลิตรถไฮบริดรุ่นล่าสุด ALL NEW MG3 HYBRID+ ก่อนเปิดตัวและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในไทย วันที่ 20 สิงหาคม นี้ พร้อมเยี่ยมชมฐานการผลิตรถยนต์เอ็มจีในไทย ที่ครอบคลุมการผลิตรถยนต์ในทุกรูปแบบการขับเคลื่อน ทั้งรถยนต์สันดาปภายใน รถยนต์พลังงานทางเลือก และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก ในประเทศไทย พร้อมแสดงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุม

สำหรับ โรงงานผลิตรถยนต์แบบครบวงจรของ เอ็มจี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ทั้งหมด 437.5 ไร่ พัฒนาขึ้นภายใต้งบการลงทุนที่สูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่ง เอ็มจี ถือเป็นแบรนด์รถยนต์จีนที่มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ กับจุดเด่นของโรงงานที่สามารถผลิตและประกอบรถยนต์ครอบคลุมทุกรูปแบบการขับเคลื่อนด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี 

โดยมีพื้นที่ของโรงประกอบตัวถัง (Body Shop) โรงพ่นสีรถยนต์ (Paint Shop) โรงประกอบรถ (General Assembly Shop) ครอบคลุม ไปถึงส่วนของคลังจัดเก็บอะไหล่เพื่อรองรับรถยนต์ของเอ็มจีทุกรุ่น รวมถึงพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ซึ่งประกอบด้วย โรงประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน 

ส่วนภายในโรงงานมีการจัดสรรพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำสามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 แพ็คต่อปี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกว่า 10 ปี เอ็มจี ยังคงพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอย่างครอบคลุม ในฐานะผู้บุกเบิกยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดย เอ็มจี ได้มีพัฒนาและขยาย MG EV ECOSYSTEM เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พร้อมทั้ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้ใช้ยานยนต์คุณภาพในราคา ที่เข้าถึงได้ ซึ่งล่าสุด เอ็มจี ได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เริ่มต้นด้วยโกลบอลโมเดลอย่าง NEW MG4 ELECTRIC 

นอกจากนี้ เอ็มจี ยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน ด้วยการขยายไลน์การผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถไฮบริดอย่าง ALL NEW MG3 HYBRID+ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน และระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ ที่ไทยมีโอกาสเป็นฐานการผลิตระดับโลกได้ต่อไป

'รมว.ปุ้ย' สั่ง 'สนอ.' เกาะติดราคาน้ำตาลตลาดโลก ห่วง!! อาจกระทบราคาอ้อยในไทยปี 67/68

เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ห่วงอาจกระทบกับราคาอ้อยในประเทศ ฤดูการผลิตปี 2567/68 ซึ่งสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16.67% จากปี 2566 ที่ราคาอยู่ในระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากมีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำตาล ประกอบกับในฤดูการผลิตปี 2566/67 ไทยมีผลผลิตน้ำตาล 8.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.80% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมี 7.81 ล้านตัน 

สำหรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกจะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 21 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมีปัจจัยมาจากบราซิลสามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น และหากอินเดียได้เปลี่ยนนโยบายอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลได้ตามปกติ จะส่งผลให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสะสมเพิ่มขึ้น ส่วนไทยคาดว่าในฤดูการผลิตปี 2567/68 จะมีผลผลิตอ้อย 92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.96% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อย 82.17 ล้านตัน

ด้าน นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า เบื้องต้น สอน. ได้นำตัวเลขมาคิดคำนวณราคาอ้อยในประเทศสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/68 หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ลดลง 15.49% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อย 

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยในประเทศยังคงมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฤดูการผลิตปี 2567/68 สอน. จะมีแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตที่ดี และโรงงานได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันราคาอ้อยในประเทศให้สูงขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะให้ชาวไร่อ้อยจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง

‘อัครเดช’ ยัน!! เก้าอี้กระทรวง ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ ยังเป็นของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ชี้!! ใครจะได้เป็นรัฐมนตรี ต้องอยู่ที่ ‘กรรมการบริหาร’ มีมติให้ ‘หัวหน้าพรรคตัดสินใจ’

(17 ส.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงโควตารัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค รทสช. ภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุมสมาชิกพรรคครั้งล่าสุด ก่อนที่จะมีการโหวตเลือก น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ยืนยันว่าทุกตำแหน่งในโควตารัฐมนตรี ยังเป็นโครงสร้างเหมือนเดิมหมด ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

นายอัครเดช กล่าวว่า ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรคได้มีมติ ให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งนายพีระพันธุ์ คงจะปรึกษากับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสม ดังนั้นจะเป็นบุคคลเดิมหรือไม่ ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค รวมถึงโควตารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ยังว่าง เนื่องจาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออก ก็ต้องหาคนใหม่เช่นกัน

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการริบโควตากระทรวงพลังงาน คืนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช กล่าวว่า “ไม่มี หัวหน้าพรรคยังยืนยันว่าที่ตกลงกันล่าสุด ทุกอย่างยังเหมือนเดิมหมด”

‘รมว.ปุ้ย’ สั่ง ‘SME D Bank’ ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ‘เอสเอ็มอี’ ที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม เผย!! มีมาตรการ ‘พักชำระหนี้-สินเชื่อเติมทุนซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ’ ไว้รองรับแล้ว

(25 ส.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจประสบปัญหาต่อการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพ ตนจึงได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ลงพื้นที่ และดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นผู้บริหารสาขาธนาคารในพื้นที่ เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง จ.น่าน และ จ.แพร่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึง สำรวจความเสียหายและความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ สำหรับเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมด้วยมาตรการที่ธนาคารมีไว้รองรับอยู่แล้ว ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ และมาตรการสินเชื่อเติมทุนสำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

'รมว.ปุ้ย' เผยตัวเลขการผลิตน้ำตาลทรายของไทยปี 67 กำชับ!! 'สอน.' ดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

(4 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ผ่านมา มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 82.17 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.80 ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน 2567) ไทยใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 1.27 ล้านตัน แบ่งออกเป็น น้ำตาลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 0.52 ล้านตัน และน้ำตาลที่ใช้ในการบริโภคโดยตรง (รวมร้านยี่ปั๊วและห้างโมเดิร์นเทรด) 0.75 ล้านตัน 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ไทยมีน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศคงเหลือ 1.77 ล้านตัน และ สอน. ได้คาดการณ์ว่าระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตถัดไป ไทยจะใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 0.8 ล้านตัน ซึ่งตนได้กำชับให้ สอน. ดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดย สอน. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณน้ำตาลคงเหลือส่งให้ สอน. เป็นประจำทุกวัน 

ปัจจุบัน ราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 21 - 22 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมค่าโลจิสติกส์และ VAT) ราคาขายปลีกตามห้างโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ 27 - 28 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่จะต้องมีการบวกเพิ่มค่าการตลาดและค่าบรรจุภัณฑ์

"ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง สอน. จะบริหารจัดการการจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ" นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย

'เอกนัฏ-รมว.อุตสาหกรรม' น้อมรับเสียงวิจารณ์หลังร่วมงาน 'ครม.อุ๊งอิ๊ง 1' ชี้!! ภัยคุกคามและความท้าทายของชาติเปลี่ยน ทุกคนต้องร่วมมือกัน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมป้ายแดง ในรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เคยเป็นแกนนำ กปปส.ไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่กลับมาร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า เมื่ออยู่ในการเมือง ก็ยินดีรับฟังทุกความเห็น และพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน วันนี้เรื่องของบ้านเมืองต้องมาก่อน เชื่อว่า คนที่มีจุดยืนและอุดมการณ์เดียวกัน ก็อาจมีวิธีที่ต่างกัน ตนในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องเลือกวิธีที่ดีที่สุด เพื่อเป็นทางออกของประเทศที่ดีที่สุด บางทีอาจเป็นทางออกทางเดียว ซึ่งยืนยันว่าอยู่ในจุดยืนนี้มาโดยตลอด คือ อุดมการณ์ในการปกป้องและรักษาสถาบัน ที่เป็นเสาหลักของประเทศ

เมื่อถามว่าจะเสียแนวร่วมหรือกลุ่มสนับสนุนไปหรือไม่? นายเอกนัฏ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ขอให้ผลงานกับระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ "ทุกความเห็น ไม่ว่าจะเป็นคำด่าหรือคำติชม ยินดีรับฟัง อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่ผมรัก และยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด ก็จะตั้งใจทำงานให้คุ้มค่ากับโอกาสที่ได้รับ"

เมื่อถามว่ามีหลายคนใช้คำแรงว่า เราหักอุดมการณ์ตัวเอง? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "เข้าใจ เพราะตนมายืนอยู่ในตรงนี้ อาชีพนี้ การตัดสินใจและจะทำอะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยืนยันว่า ได้เลือกทางที่ดีที่สุด ณ จังหวะเวลานี้ ภัยคุกคามและความท้าทายของประเทศมันเปลี่ยนไป ตอนนี้เป็นจังหวะสำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน"

เมื่อถามว่าสามารถทำงานได้สนิทใจหรือไม่ กับลูกของนายทักษิณ ชินวัตร? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ก็ต้องทำล่ะครับ วันนี้ขอให้คิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก มันก็สามารถทำงานด้วยกันได้ เราไม่ได้ลืม เราไม่ได้ลบ แต่เราเลือก"

เมื่อถามว่าได้พูดคุยเรื่องนี้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. หรือไม่? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ตนยังคงพูดคุยกับทุกคนปกติ ตนเข้าใจแล้วที่ผ่านมาไม่อยากพูดมาก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รับฟัง เข้าใจว่าคนที่ตำหนิมามีความปรารถนาดี ก็ต้องรับฟังและปรับปรุงตัว แต่ย้ำว่าตลอดชีวิตการทำงานการเมืองที่ผ่านมามีจุดยืน ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"

เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าไปเป็นพยานให้ นายทักษิณ ชินวัตร คดี 112 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ความจริงมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมา ไม่ได้ไปโดยพลการ ซึ่งหากไม่ไป ก็จะต้องถูกหมายจับ จึงต้องไปทำหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ หากยังมีข้อสงสัย ตนก็จะหาโอกาสที่แจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง"

เมื่อถามถึงเรื่องของคุณสมบัติ ที่มีการท้วงติงกันก่อนหน้านี้? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "การตรวจสอบคุณสมบัติไม่ใช่หน้าที่ของตน ซึ่งเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบแล้ว เนื่องจากคดีของตนมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ดังนั้น ที่จะมีการไปร้องให้ตรวจสอบ ขอไม่พูดถึง เดินหน้าทำงานดีกว่า"

'รมว.ปุ้ย' อำลากระทรวงอุตสาหกรรม ข้าราชการแห่ส่งแน่น ยกเป็นผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม

(6 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ เดินทางเข้ากระทรวงฯ ในโอกาสอำลาตำแหน่ง โดยได้กล่าวขอบคุณข้าราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงฯ ให้การต้อนรับกันอย่างเนืองแน่นด้วยรอยยิ้มและเสียงปรบมือ 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับทุกท่าน ขอบคุณจากหัวใจ ที่ได้สร้างภาพจำที่ดีให้กับกระทรวงฯ ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ จะไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความรู้ความสามารถ และได้ส่งพลังงานดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ทุกคนมีรอยยิ้มที่กว้างกว่าวันแรกที่เข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าทุกท่านจะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของพวกเราต่อไป 

ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า 1 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เป็นผู้นำที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการในทุกระดับเป็นอย่างดี ขอบคุณท่านที่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และได้ผลักดันนโยบาย รื้อ ลด ปลดสร้าง ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตนในฐานะตัวแทนของผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขอกราบขอบพระคุณ และพร้อมที่จะสานต่อนโยบายต่อไป 

จากนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พระภูมิ และองค์พระนารายณ์ ก่อนเดินทางออกจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปในช่วงเช้า

พลิกโฉม!! 1 ปี ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ ภายใต้หญิงเก่งสุดแกร่ง ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’

เมื่อวันที่ (6 ก.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางเข้ากระทรวงฯ เพื่ออำลาตำแหน่ง โดยได้เข้าสักการะเพื่ออำลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พระภูมิ และองค์พระนารายณ์ 

‘พิมพ์ภัทรา’ ได้กล่าวขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคนที่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มว่า “ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับทุกท่าน ขอบคุณจากหัวใจ ที่ได้สร้างภาพจำที่ดีให้กับกระทรวงฯ ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ จะไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความรู้ความสามารถ และได้ส่งพลังงานดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ทุกคนมีรอยยิ้มที่กว้างกว่าวันแรกที่เข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าทุกท่านจะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของพวกเราต่อไป”

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ณัฐพล รังสิตพล’ ได้กล่าวอำลา ‘พิมพ์ภัทรา’ ว่า “1 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เป็นผู้นำที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการในทุกระดับเป็นอย่างดี ขอบคุณท่านที่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก ช่วยหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และได้ผลักดันนโยบาย 'รื้อ ลด ปลดสร้าง' ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตนในฐานะตัวแทนของผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขอกราบขอบพระคุณ และพร้อมที่จะสานต่อนโยบายต่อไป”

ทั้งนี้ผลงาน 1 ปีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนของ ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต :

‘รื้อ’ ด้วยการเร่งรื้อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างจำนวนมากจนแล้วเสร็จ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 12,000 ล้านบาท และดำเนินการออกใบอนุญาตที่ขอใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด แก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 

‘ลด’ ด้วยการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ 

(1) เร่งดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชนคนไทย 

(2) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่ให้ลักลอบเผาไร่อ้อยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 

(3) กวดขันให้มีการตรวจ กำกับดูแลโรงงาน/วัตถุอันตราย และโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวถึงร้อยละ 87.66 จากเป้าหมายร้อยละ 90 เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน 

(4) ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ 

(5) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภค 

(6) ผลักดันการจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนานิคม Smart Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล 

(7) เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า/จักรยานยนต์ไฟฟ้า Solar Rooftop และอุตสาหกรรม Recycle เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG 

(8) พัฒนาองค์กรดิจิทัลเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ 

(9) จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 สู่ชั้นบรรยากาศ และจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการและจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม

‘ปลด’ ด้วยการปลดภาระให้ผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด 

(1) ปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 

(2) ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความตั้งใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน 

(3) ผลักดันเหมืองแร่โปแตชเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรให้เกษตรกร และได้จัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

(4) เร่งส่งเสริม MSMEs ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ 

‘สร้าง’ ด้วยการเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล ฯลฯ 

ทั้งนี้ นโยบายทั้งหมดได้ส่งต่อให้กับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ได้ทำงานสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top