Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

30 วันแรกของการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย: เดินหน้า ทำทันที เพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ 🌱

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลงานสำคัญใน 30 วันแรก (11 ก.ย. - 10 ต.ค. 2567) ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนโยบาย 'ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' ซึ่งเน้นการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันแรก

🔵 การจัดการกากและสารพิษที่ปลอดภัย:
ยกระดับการจัดการกากอุตสาหกรรม
ตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม
จัดกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ บรรเทาปัญหาสารเคมีรั่วไหล”

🟢 สร้างความเท่าเทียมให้ SME ไทย:
ตั้งนิคมอุตสาหกรรม SME พร้อมศูนย์บ่มเพาะ (I-EA-T Incubation) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 'เสือติดปีก' และ 'คงกระพัน' รวม 1,900 ล้านบาท พักชำระหนี้ SME และยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้โรงงานที่ประสบอุทกภัย

🟡 อุตสาหกรรมใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม:
ส่งเสริมการผลิตอ้อยสด ลดการเผาอ้อย และเพิ่มพลังงานชีวมวล
เปิดงาน ECO Innovation Forum 2024 ผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว
พัฒนา 'อุทยานหินเขางู' เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
หนุน ศวฮ. จุฬาฯ ใช้ AI ในอุตสาหกรรมฮาลาล

💚 จิตอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม:
ปลูกป่าชายเลน 77,100 ต้น ลดโลกร้อน 🌳
ลงพื้นที่เชียงราย ซ่อมแซมระบบประปา บรรเทาผลกระทบอุทกภัย
2,592,000 วินาทีแห่งความเปลี่ยนแปลง:
“เราจะทำทันที ทำทุกวินาที” – รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ พร้อมแปลงนโยบายเป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

📌 ร่วมติดตามและเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอนาคตเศรษฐกิจใหม่ไปด้วยกัน!

‘เอกนัฏ’ บุกอยุธยา ลงพื้นที่ 2 สถานที่ลักลอบทิ้งกากสารพิษ ขึงแผนแก้ปัญหาระยะยาว มั่นใจ!! เขตอุตสาหกรรมน้ำไม่ท่วม

(25 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วม

“การลงพื้นที่วันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทางนิคมฯ เขตประกอบการฯ สวนอุตสาหกรรม และโรงงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะค่อนข้างรุนแรงกว่าปีก่อน แม้ว่าขณะนี้พื้นที่โดยรอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้างแล้ว แต่พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับผลกระทบ 

ขอให้เชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มกำลัง มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย 8 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.จัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสริมคันกั้นน้ำ 3.ระบบสูบน้ำพร้อมใช้ 4.อุปกรณ์ครบพร้อมช่วยเหลือ 5.ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง 6.เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง 7.ซ้อมแผนรับมือเป็นประจำ และ 8.สื่อสารแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

และช่วงบ่ายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 

1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น 

2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น

“กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

'รมว.เอกนัฏ' สั่งปิด!! โรงงานหลอมโลหะ นิคมบ่อทอง เน้นย้ำ!! อุตสาหกรรมยุคใหม่ ต้องปลอดภัย

(26 ต.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ถึงกรณี จากเหตุระเบิดถังผสมสารเคมี บริษัทเซียงนัน-เฟอรัส เมทัล โรงงานสกัดโลหะ ในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 2 คน และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

หลังเกิดเหตุ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กับคณะทำงานร่วมกันหารือและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นนายเอกนัฏ มอบหมายผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม ให้สั่งปิดโรงงาน เพื่อตรวจสอบทันที และพร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

นายเอกนัฏ เน้นย้ำ มาตรการรักษาความปลอดภัยภายในการนิคมอุตสาหกรรม ต้องเข้มงวด ทั้งการกำกับตามกฎระเบียบ ระบบสาธารณูปโภคภายในโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานส่วนที่ประกอบกิจการที่มีวัตถุอันตราย ไว้ครอบครอง ต้องปฏิบัติตาม พรบ.วัตถุอันตราย อย่างเคร่งครัด 

ขอฝากเจ้าหน้าที่การนิคม และข้าราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจตราเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ ไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

'เอกนัฏ' ย้ำเจตนารมณ์ไทย บนเวที COP13/MOP36 เดินหน้าเชิงรุกลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

(1 พ.ย. 67) รมว.เอกนัฏ ประกาศบนเวทีสหประชาชาติ COP13/MOP36 ดันไทยลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เดินหน้าเชิงรุก ปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับสูงภาคีอนุสัญญาเวียนนา ครั้งที่ 13 (COP13) และรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 36 (MOP36) (วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีกว่า 148 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รายงานการศึกษาทั้งด้านเทคนิคและวิชาการ การนำเสนอเทคโนโลยีสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงาน รายงานการเงินและงบประมาณกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสําคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยได้ดำเนินแนวทางเชิงรุกในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้เร็วกว่าที่พิธีสารมอนทรีออลกำหนดไว้ ด้วยการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศและประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงานภายในประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวทันบริบทโลก ผ่านกลไกกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีกรอบเงินทุนการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2563 – 2568) กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับประเทศไทยยังได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการประกาศห้ามใช้สารซี เอฟ ซี (Chlorofluorocarbons (CFCs)) ในการผลิตอุปกรณ์ทำความเย็น และห้ามนำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สาร CFCs เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการควบคุมและกำกับดูแล 

นอกจากนี้ ยังได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารเอช เอฟ ซี Hydrofluorocarbons (HFCs) โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสารทําความเย็นในอุปกรณ์ทําความเย็น ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เร็วกว่าข้อกำหนดตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ที่กำหนดให้ปี 2572 ต้องลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 10%  ปี 2578 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 30%  ปี 2583 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 50% และในปี 2588 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 80% เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30 - 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608

“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือดำเนินงานกับภาคีต่าง ๆ และประชาคมโลก เพื่อแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เอาจริง ลั่น!! ปราบโรงงาน ‘เถื่อน-ผิดกฎหมาย’ ย้ำ!! เร่งบริหารจัดการ กากอุตสาหกรรม อย่างเป็นรูปธรรม

(2 พ.ย. 67) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้สั่งการให้ลงพื้นที่บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกั ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายอำเภอศรีมหาโพธิ์ เข้าร่วมตรวจสอบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ืได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม โดยบริษัทประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน สกัดโลหะมีค่าจากน้ำยาชุปโลหะ อบกากตะกอนที่มีโลหะมีค่า บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำกรดและด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ หลอมหล่อทองแดงจากกากตะกอนของเสียที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีคำสั่งปิดโรงงานของบริษัทและเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางโรงงานได้ฝ่าฝืนคำสั่งและยังคงประกอบกิจการอยู่ จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปราจีนบุรีเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมวิศวกรชาวจีนผู้ดูแลโรงงานดำเนินคดี 1 ราย และคนงานต่างด้าว 4 ราย รวมทั้งพบความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) ข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 2) ข้อหาประกอบกิจโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 3) ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งปิดโรงงาน 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งของที่ยึดและอายัดไว้ในทุกอาคาร พบว่ามีการสูญหายและมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของออกไปนอกพื้นที่ จึงได้ดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ความผิดข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานตามมาตรา 56 พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 2) ความผิดข้อหาทำลายหรือเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดตามมาตรา 141 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 3) เจ้าหน้าที่ดำเนินการนำตัวอย่างวัตถุดิบหรือสิ่งของต่าง ๆ ภายในอาคารมาทดสอบ พบเป็นวัตถุอันตรายและไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับได้ทันทีเป็นเหตุให้จับวิศวกรชาวจีนดำเนินคดี และดำเนินคดีกับกรรมการบริษัทและผู้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอย่างถึงที่สุด

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำตามนโยบาย การปฏิรูปอุตสาหกรรม การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พรบ.ว่าด้วยการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการจัดการกับผู้กระทำผิดต่อไป หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ นำทีม ‘ดีพร้อม’ จับคู่พันธมิตร ‘จังหวัดโทคุชิมะ’ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่หนุน ศก.ไทย – ญี่ปุ่น โตยั่งยืน

เมื่อวันที่ (31 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

กมธ.อุตฯ หนุนออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ย้ำชัด ต้องเพิ่มโทษผู้ทำผิด - เร่งปราบปรามอย่างจริงจัง

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่มโทษผู้ทำผิดกฎหมาย เดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พร้อมด้วยกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้แถลงข่าวถึง การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ว่า จากกรณีเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีการเข้าตรวจค้น รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดจากกรณีการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี จนนำมาสู่การจับกุมรวมถึงตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก

ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้เคยลงพื้นที่ไปยังโรงงานแห่งนี้ครั้งหนึ่ง และได้มีการกำชับให้มีการดำเนินการตามมาตรฐาน รวมถึงกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งต่อมาได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการยังคงลักลอบเปิดโรงงานจนนำมาสู่การตรวจค้นและจับกุมดังกล่าว และยังตรวจพบกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายที่มีน้ำหนักรวมมากกว่า 41 ตัน 

โดย จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นต้นแบบของการปราบปรามการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่าง ๆ 

ซึ่งทางนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะต้องปราบปรามการกำจัดของเสียที่ไม่ถูกวิธีอย่างจริงจัง เพื่อคืนน้ำที่สะอาด คืนอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง 

เพราะก่อนหน้านี้ได้มีหลายครั้งที่การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมไม่ถูกวิธีนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมาธิการก็ได้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกิจการเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานประเภท 101 105 และ 106) โดยทางคณะกรรมาธิการได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ เมื่อเกิดเหตุการณ์พบสารแคดเมียม เรื่อยมาจนถึงการพบสารอะลูมิเนียมดรอส โดยได้มีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมสมัยต่อไป 

นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้มีการเสนอกฎหมายอีกฉบับหนึ่งในเรื่องนี้ด้วย คือ พ.ร.บ.จัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งต้องขอชื่นชมและสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีวิสัยทัศน์ในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

โดยจะมีการกำหนดโทษทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างหนัก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการจัดการของเสียโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวย่อมจะทำให้การบังคับใช้ และการป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

แต่อย่างไรก็ดียังมีข้อห่วงใยว่า แม้จะมีการควบคุมการจัดการกากของเสียในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พบว่า มีการลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรม เช่น ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ และกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายช่องทาง 

ข้อห่วงใยดังกล่าวมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรไม่สามารถเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบได้ครบถ้วน ซึ่งในลำดับต่อไปทางกรรมาธิการจะเร่งศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศได้ เพื่อไม่ให้กากของเสียอุตสาหกรรมสามารถทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างมลภาวะให้แก่พี่น้องประชาชน

จึงต้องขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมว่า ทางคณะกรรมาธิการดำเนินการทำงานในเรื่องการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอชื่นชมในการทำงานของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนจากมลพิษที่จะเกิดขึ้น

‘เอกนัฏ’ ลุยกวาดล้าง!! โกดังโรงงานเถื่อน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา พบ!! ครอบครองวัตถุอันตราย เตรียมขยายผลรวบเจ้าของโรงงาน

(9 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งชุดตรวจการณ์สุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และ กรมควบคุมมลพิษ ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจค้นพื้นที่ของบริษัท เอวาย แอลพี จำกัด อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบธุรกิจให้เช่าโกดัง อาคารโรงงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบโรงงาน ภายในโกดังจำนวน 9 โกดัง ไม่มีชื่อ ไม่มีใบอนุญาต ลักลอบประกอบกิจการ และครอบครองวัตถุอันตราย 

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบโรงงานบริษัท ฟู่อี้ อีเล็คทรอนิคส์ แอนด์ พลาสติก รีไซเคิล จำกัด ในบริเวณใกล้เคียงอีก 2 โรงงาน พบขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งระงับการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่รับอนุญาต

นางสาวฐิติภัสร์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ กรอ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส.ได้อายัดเครื่องจักร และวัตถุดิบที่คาดว่าเป็นวัตถุอันตราย พร้อมดำเนินคดีกับชาวอินเดีย 1 ราย ที่เป็นผู้ดูแลโรงงาน และเจ้าของบริษัท เอวาย แอลพี จำกัด โดยจะมีการขยายผลดำเนินคดีไปยังเจ้าของโรงงานทั้งหมด

‘รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ’ ได้เน้นย้ำ กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย ‘สู้ เซฟ สร้าง’ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษ โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชนและชุมชน หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘อัครเดช’ ชู!! ‘เอกนัฏ’ มีวิสัยทัศน์ สนับสนุน ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ผลักดัน!! ให้ไทย เป็นฐาน ‘อุตสาหกรรมรถ EV’ มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

(9 พ.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง GAC AION ได้จัดงาน AION Sourcing Day มีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดจะก่อให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ 2,250 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นจาก GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี และยังมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า การลงทุนของ GAC AION ในครั้งนี้ยังได้มีการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จากผู้ผลิตในประเทศไทยมากกว่าที่ BOI กำหนดไว้ที่ 40% จึงเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของการเติบโตแบบยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของประเทศ

ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้เชิญนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ  ร่วมพบปะและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ GAC AION 

ในคราวนั้นนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ขอให้ทาง GAC AION สนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศให้มากกว่าที่ทาง BOI กำหนดที่ 40% เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย อีกทั้งพิจารณาให้ผู้ผลิตของไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของทาง GAC AION และเพิ่มศักยภาพในการผลิตผ่านการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต จนนำมาสู่ความร่วมมือตามที่ได้มีการจัดงานAion Sourcing Day ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

เมื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนัดหารือกับผู้บริหารของบริษัท GAC AION พร้อมด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว ส่งเสริมให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต้นแบบสำหรับนักลงทุนหรือผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจากผู้ประกอบการของคนไทยหรือผู้ประกอบการ SME ไทย

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเมื่อได้รับตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงได้ส่งเสริมแนวนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า ในเดือนธันวาคมที่จะถึง ทาง GAC AION ได้เชิญนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปเยือนมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพบผู้นำระดับสูงของมณฑลเพื่อสานต่อความร่วมมือทั้งในด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย

‘ลอรี่ พงศ์พล’ เปิดงานสุราชุมชน จ.แพร่ เน้น!! ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ สานต่อภูมิปัญญา

(10 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดกิจกรรมผลิตภัณฑ์ Soft Power แพร่ ‘แพร่ แข็ง จ๊ด ครั้งที่ 3’ พร้อมกล่าวมอบนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ลานเพลินอีซูซุแพร่ บริษัท อีซูซุแพร่ จำกัด อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแปรรูปเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูง เพื่อการเซฟ SME ไทย ตามแนวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในท้องถิ่นจังหวัดแพร่อย่างข้าวเหนียว ข้าวโพด สับปะรด เมื่อนำไปแปรรูปเป็นสุรากลั่นชุมชนอย่างถูกต้องตามประกาศและระเบียบที่ใช้บังคับ มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรกรรมเดิมให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมากขึ้นกว่า 10 เท่า  และยังเป็นการสร้างมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ ที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน สานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ที่มาอย่างยาวนาน

โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ผ่านโครงการ ‘ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์’ โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อผลักดันให้สามารถส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ใน 2 สาขา ได้แก่ แฟชั่น และอาหาร ซึ่งการจัดงานในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน และที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแพร่ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนของจังหวัดแพร่ สู่การเป็น Soft Power ไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา อาทิ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้สัก ผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็ก และสุรากลั่นพื้นบ้านจากพืชผลทางการเกษตร ที่มีการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังนั้นจึงควรมีการฟื้นฟู สืบสาน และสร้างสรรค์พัฒนาสู่การผลิตสินค้า และบริการที่มีมูลค่า มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้จังหวัดแพร่ เป็นฐานการผลิตหัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ฐานความรู้ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และการออกแบบร่วมสมัย เพื่อตอบสนองต่อกระแสความต้องการของตลาด ต่อยอดสู่การเป็น Soft Power ของประเทศไทยในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top