Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! ท่าที FTA ไทย - EU  ต้องปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

(17 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ไทย - สภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร มาแล้ว

สำหรับการประชุมรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมอ. จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมในการเจรจาจัดทำอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่ EU นำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์  ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบเพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับ EU ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และ EU ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในประเด็นคงค้างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยท่าทีของไทยจะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลง WTO และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย 

สำหรับประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับ EU คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ สร้างรายได้เข้าชาติ นำร่อง 4 กลุ่ม ‘พาหนะรบ-ต่อเรือ-อากาศยานไร้คนขับ-ปืน’

(18 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตรงกันในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มยานพาหนะรบ 2.) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3.) กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4.) กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 

การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ล่าสุด สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองห้องแล็บระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2.) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3.) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ สมอ. ได้มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีภารกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาโยธาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  โดยนำผลทดสอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืน กระสุน แผ่นเกราะ กระจกกันกระสุน โล่นิรภัย รถกันกระสุน เส้นใยป้องกันการติดไฟ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น     

2.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาปิโตรเลียม โดยนำผลทดสอบไปใช้ประกอบในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน    

และ 3.) บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้บริการวิเคราะห์ สุ่มตรวจ และรับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการรับรองในสาขาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และหน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 โดยนำผลทดสอบไปใช้เพื่อการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ. ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘รมว.ปุ้ย-SME D Bank' ผนึกพันธมิตร 'ภาครัฐ-มหาวิทยาลัย' ปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่เปี่ยมศักยภาพ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 'ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเข้าสู่แหล่งทุนควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.สุพัตรา จันทนะศิริ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ณ อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถปรับตัวตามเทรนด์โลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเตรียมพร้อมเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพ ผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นรากฐาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กำกับ มุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หมายถึง 'รื้อ ลด ปลด' สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด ควบคู่กับ 'สร้างสิ่งใหม่ๆ' ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้าง 'ความรู้' เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัว ก้าวตามทัน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาเชื่อมโยงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่สู่การเป็น Smart SMEs ตั้งแต่การเติมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ทักษะการบริหารธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดธุรกิจ และการเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว และต้องการเงินทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อไว้รองรับ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับได้รับการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม 'DX by SME D Bank' (dx.smebank.co.th) ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาส ขยายตลาดและผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย 

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง ‘สมอ.’ ออกมาตรฐานรองรับการพัฒนาอุตฯ หุ่นยนต์ เสริมบทบาทภาคการผลิต-ความปลอดภัย-ปฏิบัติการทางการแพทย์

(26 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First s-curve และ New S-curve เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการกระบวนการผลิต เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะในอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการอัดฉีดพลาสติก และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ปฏิบัติการทางการแพทย์ มีระบบประสาทสัมผัสด้านความปลอดภัย มีการเรียนรู้คำสั่งและสามารถควบคุมได้ 

ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ที่ใช้ทำงานเสี่ยงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมแทนแรงงานคน จำนวน 2 มาตรฐาน และหุ่นยนต์ดูแลส่วนบุคคล จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ หุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายคน หุ่นยนต์ที่ช่วยประกอบชิ้นส่วนหรือยกของ และหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ 

ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับความปลอดภัย และยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีมติเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอ จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 เรื่อง เช่น ลวดเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม ดวงโคมไฟฟ้าฝังพื้น ดวงโคมไฟฟ้าใช้ในที่เลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับสระว่ายน้ำ ระบบรางจ่ายไฟฟ้าสำหรับดวงโคมไฟฟ้า ยางรัดของ เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในไร่สวนและสนามหญ้า โคมไฟหน้าและท้ายรถยนต์ โคมไฟตัดหมอกด้านหน้ารถยนต์ ไฟเลี้ยวรถยนต์ อุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือนในรถยนต์ อุปกรณ์ล็อกประตูรถยนต์ การป้องกันการโจรกรรมยานยนต์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อุปกรณ์มองภาพของรถยนต์ กระจกมองหลังรถยนต์ รวมทั้งมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

พร้อมทั้ง ได้อนุมัติรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2567 อีกจำนวน 44 เรื่อง เช่น เต้าเสียบ-เต้ารับ กรวยจราจรจากน้ำยางข้น กำแพงกันเสียงชนิดดูดซับเสียงจากฟองน้ำยางธรรมชาติ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำในปีนี้กว่า 1,300 เรื่อง

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรฐานหุ่นยนต์ทั้ง 6 เรื่องที่บอร์ดมีมติเห็นชอบ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของหุ่นยนต์ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล มีรายการทดสอบด้านความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน การปล่อยมลพิษทางด้านเสียง การสั่น ความร้อน การแผ่รังสี การรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า การเบรกและการหยุดฉุกเฉิน การควบคุมความเร็ว ความแรง และพลังงานที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างผู้ใช้งานกับหุ่นยนต์ มีการควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ตรวจจับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งานหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

สำหรับการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ในปีนี้ ตามนโยบาย Quick win ของรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ สมอ. คาดว่าจะกำหนดมาตรฐานได้ 1,300 เรื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้นำไปใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' ยกพล 'ดีพร้อม' เยือนกลุ่มจังหวัด 'นครชัยบุรินทร์' เติมศักยภาพสินค้าชุมชน ตอบโจทย์กติกาสากล สร้างรายได้ยั่งยืน

(1 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 'นครชัยบุรินทร์' (นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรม สมอ. สัญจร ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมเซ็นทาราโคราช 

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SME กลุ่มคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 500 คน และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชน (มผช.) จำนวน 9 ราย ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 9 ราย และใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย

นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' โดยจุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ เทศบาลตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 200 คน จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมี การอบรมในหลักสูตรการแปรรูปอาหาร การทำลูกชิ้น การทำน้ำจิ้มลูกชิ้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ประมาณ 200 คน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน, การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม, การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องถิ่น พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพเสริม ผนวกกับวิชาการอุตสาหกรรมให้เข้ากับวิถีชุมชน ให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพทั้ง 2 จุดครั้งนี้ เปรียบเสมือนเวทีสำหรับการฝึกฝนทักษะอาชีพ ทั้งหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา การแปรรูปอาหารการทำลูกชิ้น น้ำจิ้ม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 400 คน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดฯ ก้าวสู่ความสำเร็จและความมั่นคง

ทั้งนี้ในส่วนของสำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ครั้งนี้มี 3 ประเด็น คือ 

1) การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร 
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าชายแดนและผลิตภัณฑ์ไหม 
และ 3) การยกระดับคุณภาพชีวิต 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร จัดเป็นนิทรรศการโชว์ผลงานให้กับนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และคณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมก่อนเข้าการประชุม 

ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอ 'การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังโคราช ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตามโมเดล BCG' ผ่านกิจกรรมนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้โรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสำปะหลังโคราชสู่ความยั่งยืนด้วย BCG และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสนับสนุนการผลักดันอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular) ที่มีศักยภาพให้ต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการใช้นวัตกรรมนี้คาดว่าจะเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณหัวมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานได้ถึง 10% และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันอาโวคาโด และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของบริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูปเป้าหมาย ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการได้รับความรู้การบริหารธุรกิจแบบครบวงจร เปิดมุมมองการตลาด ต่อยอดนวัตกรรม โดยผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs และ HACCP ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50%

'รมว.ปุ้ย' เร่งหารือ 'สภาอุตฯ' หลังไทยเผชิญ 'กติกาใหม่โลก-FTA' ลดขีดความสามารถการแข่งขัน 22 อุตสาหกรรมดั้งเดิม

(10 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเข้าหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะ ร่วมหารือ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพ 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า "ตนได้ให้นโยบายตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งว่า อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำ คือ เรื่องของนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องจับมือกับ ส.อ.ท. เพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายบริหารงาน ส.อ.ท. ในช่วงปี 2567 – 2569  ว่า ต้องยอมรับว่า จากกติกาใหม่ของโลก ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า FTA และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาสู่อุตสาหกรรมใหม่ของ 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นเราได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย...

1) คณะทำงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) เพื่อสร้างกลไกและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรม สู่ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม 

2) คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Circular Economy และ Climate Change) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดันและขับเคลื่อน Circular Material Hub, Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change      

3) คณะทำงานอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

และ 4) คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรม SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘ก.อุตฯ’ เผย ขนกากแคดเมียมกลับ จ.ตาก ครบแล้ว 100% มั่นใจ!! ฝังกลบเสร็จสิ้นตามแผน ภายใน พ.ย. 67 นี้

(10 ก.ค. 67) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหา และการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ครั้งที่ 4/2567 ว่า การขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบทั้งหมดจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชลบุรี กลับไปยังพื้นที่ต้นทางจังหวัดตาก ได้ดำเนินการขนย้ายเสร็จทุกพื้นที่ครบ 100% เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 

โดยใช้รถขนส่งเป็นรถตู้คอนเทรนเนอร์ที่ปิดคลุมมิดชิด ทั้งหมด 441 เที่ยว พร้อมรถตำรวจนำขบวนเพื่อควบคุมความปลอดภัยตลอดการขนส่ง มีปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ขนย้ายกลับโรงพักคอยจังหวัดตาก รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,568 ถุง วัดน้ำหนักได้ 12,912 ตัน หากเปรียบเทียบกับปริมาณกากตะกอนแคดเมียม ที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก 13,800 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 6.43 และหากเปรียบเทียบกับประมาณการณ์ปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบในทุกพื้นที่รวม 12,948 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 0.28 

ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำหนักที่แตกต่างจากปริมาณที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก เป็นผลมาจากปริมาณความชื้นที่ระเหยไปจากการเก็บกองถุงกากตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน 

สำหรับปริมาณการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมกลับไปยังพื้นที่ต้นทางจังหวัดตากครบแล้ว 100% จำแนกได้ดังนี้ กรุงเทพมหานคร บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด เขตบางซื่อ มีจำนวน 99 ถุง ปริมาณรวม 142 ตัน ครบเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 

จังหวัดสมุทรสาคร บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด มีจำนวน 4,554 ถุง ปริมาณรวม 6,962 ตัน ครบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 / บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด มีจำนวน 672 ถุง ปริมาณรวม 1,008 ตัน ครบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 และโกดังตำบลคลองมะเดื่อ มีจำนวน 534 ถุง ปริมาณรวม 549 ตัน ครบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 

จังหวัดชลบุรี โกดังที่ตำบลคลองกิ่ว เริ่มขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม จำนวน 2,877 ถุง ปริมาณรวม 4,250 ตัน ครบเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 25

ในส่วนการส่งมอบคืนพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด เขตบางซื่อ ดำเนินการส่งมอบคืนพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จังหวัดสมุทรสาคร บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด และ โกดังตำบลคลองมะเดื่อ อยู่ระหว่างการดำเนินการทำความสะอาดเพื่อตรวจสอบค่าแคดเมียมก่อนส่งคืนพื้นที่ บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด ได้ตรวจสอบค่าแคดเมียมแล้วซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และอยู่ระหว่างการส่งมอบคืนพื้นที่ จังหวัดชลบุรี โกดังที่ตำบลคลองกิ่ว ทำความสะอาดโดยการดูดฝุ่น จำนวน 3 ครั้งแล้ว โดยจะประสานกรมควบคุมมลพิษเพื่อเข้าตรวจวัดค่าแคดเมียมต่อไป 

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการตรวจสภาพและการกำหนดแนวทางซ่อมแซมบ่อฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมที่จังหวัดตากนั้น ได้มีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ร่วมตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยได้ตรวจสอบการรั่วซึมของฝังกลบแคดเมียม โดยการฉีดน้ำประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตร ผลปรากฏว่า ไม่พบการรั่วซึมแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าผิวบ่อคอนกรีตมีความแข็งแรงและปลอดภัย จึงได้ใช้วิธีการฉีดอัดด้วยซีเมนต์แรงดันต่ำ (low pressure injection) ป้องกันไม่ให้ผิวบ่อเกิดรอยร้าว ส่วนการตรวจสอบความแข็งแรงของผิวบ่อคอนกรีต จะใช้เครื่องสแกนเนอร์ตรวจสอบความหนาแน่นใต้ชั้นคอนกรีต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการฝังกลบทั้งหมดจนเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนพฤศจิกายน 2567

“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมตั้งแต่เริ่มต้นจนส่งกลับไปฝังกลบที่ต้นทาง จ.ตาก ได้อย่างราบรื่น เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยไม่พบอุปสรรคและปัญหาแต่อย่างใด และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเป็นไปด้วยความปลอดภัย คำนึงถึงประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก และหากประชาชนหรือผู้สนใจอยากติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://cadmium.industry.go.th/web ที่กระทรวงจัดทำขึ้นเพื่อให้ทุกคนคลายความกังวลว่าภาครัฐดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง และมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ รับลูก!! ‘นายกฯ’ เดินหน้ายกระดับไทยสู่ ‘ศูนย์กลางฮาลาล’ ล็อกเป้าระยะแรก ‘อาหาร-ยา-แฟชั่น-เครื่องสำอาง-โกโก้-ท่องเที่ยว’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เป็นประธานการประชุม กอฮช. ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง  

นายเศรษฐา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งจัดตั้ง คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยได้มอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 เพื่อทําหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

“ผมอยากเห็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศอย่างครบวงจร โดยมีภารกิจขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนา อุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้บรรลุตามเป้าหมาย ติดตามและประเมินผลการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขยายตลาดและส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสินค้าฮาลาล พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล รวมถึงอยากเห็นศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่ได้ทราบว่ามีการจัดตั้งแล้ว มีโครงสร้างการบริหาร กําลังคน รวมถึง งบประมาณที่ชัดเจน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม” นายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ประเด็นสําคัญที่อยากฝากทุกท่านให้ความสําคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อมุ่งสู่การสร้างความผาสุก ความกินดีอยู่ดีรวมถึงการพัฒนาที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับความสําคัญในการส่งเสริมและพัฒนา

ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมฮาลาล เป็นหนี่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ และมีมาตรฐานในการผลิต สามารถกระจายรายได้ กระจายโอกาส สร้างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย สร้างความั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแนวทางที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ในการเร่งผลักดันให้เกิดศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ 

ขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่

1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 
2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 
3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 
4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 
5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล

ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 

1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย 
2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 
3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 

โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 - 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น 

"มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการปักหมุดประเทศไทย ให้โลกได้รู้ว่าเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาล" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ชูกลไก 3 ด้าน ขับเคลื่อน ‘อุตฯ สีเขียว’ ปักธงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อวานนี้ (12 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกลไก 3 ด้าน ประกอบด้วย

>>Green Productivity โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ ปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ 

ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของประเทศในพื้นที่ EEC เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการ Recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 

พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

>>Green Marketing เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SME ในตลาดยุคใหม่ที่มีการกีดกันทางการค้า รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความ ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมสนับสนุนการทำ Carbon Footprint of Product และ Carbon Footprint of Organization นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

>>Green Finance ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ดีพร้อม เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ‘Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา’ ซึ่งจะมีเทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว 

รวมถึงกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน 

นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท 

"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608"

'รมว.ปุ้ย' จ่อขยายโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยจ่าย 2% เท่าเดิม พร้อมหนุน 'ซื้อเครื่องจักร-จัดการแหล่งน้ำ-แก้ PM 2.5' เพิ่มคุณค่าอุตฯ อ้อย

(18 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยเหลือ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเกษตรชาวไร่อ้อยให้มีผลผลิตอ้อยที่ดี ได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยล่าสุดได้รับรายงานจาก นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 และเตรียมขยายโครงการอีกเป็นปี 2568 - 2570 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ได้มีการหารือถึงการขยายอายุโครงการฯ เนื่องจากกำลังจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2567 นี้ และที่สำคัญเป็นโครงการที่ช่วยชาวไร่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน ทั้งด้านการผลิตอ้อย ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 การมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยแล้ง ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในไร่อ้อยแบบครบวงจร ทดแทนการขาดแคลนแรงงานคน รวมไปถึงการรองรับนโยบาย BCG Economy

นายวิฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมจึงได้มีการเสนอขอขยายโครงการอีกเป็นปี 2568 - 2570 มีกรอบวงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท กรณีที่ใช้วงเงินในแต่ละปีไม่หมด สามารถนำไปทบใช้ในปีถัดไปได้ อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ส่วนที่รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ยังต้องหารือในที่ประชุมต่อไป อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ชาวไร่รับภาระ 2% เท่าเดิม สำหรับโครงการฯ ปี 2565 - 2567 มีวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ชาวไร่จ่ายดอกเบี้ย 2% รัฐบาลชดเชย 3% และ ธ.ก.ส. รับภาระส่วนที่เหลือ 1.975% ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 706 ราย วงเงิน 2,335.53 ล้านบาท

“ประชุมในครั้งนี้เป็นการพิจารณาสืบเนื่องจากประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 คือ การอนุมัติสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่จะนำไปซื้อรถตัดอ้อย หรือรถบรรทุก หรือเอาไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับสภาพแปลงปลูกอ้อย ซึ่งคณะทำงานฯ จะพิจารณาโครงการนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2567 หากโครงการได้รับการอนุมัติแล้ว สอน. จะชงเรื่องเข้า ครม. ต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องจากที่จะหมดในเดือนกันยายน 2567 นี้” นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top