Wednesday, 15 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ ลงพื้นที่ คุมงานด้วยตัวเอง ส่งกลับ ‘กากแคดเมียม’ เน้น!! ต้องได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของปชช. ตลอดทั้งเส้นทาง

(27 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นชอบแผนการขนย้ายกากแคดเมียมที่เสนอโดย บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ กำหนดให้เริ่มการขนย้ายกากแคดเมียมจากโรงงานเจแอนด์บี เมททอล สมุทรสาคร และโรงงานล้อโลหะไทย กรุงเทพ ในช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 29 เมษายน ตามแนวทางและวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี กำหนด โดยที่ บริษัทเจแอนด์บี สมุทรสาคร จะเริ่มขนเที่ยวแรกด้วยรถเทรลเลอร์ท้ายเรียบ จำนวน 4 คัน สามารถบรรทุกได้ทั้งหมด 80 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน และที่ บริษัทล้อโลหะไทย กรุงเทพ จะใช้รถ 10 ล้อพ่วงล้อมคอก จำนวน 6 คัน เพื่อขนย้ายกากจำนวน 100 ถุง น้ำหนักรวม 150 ตัน โดยรถทุกคันจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลฟุ้งกระจายของกากแคดเมียมก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้น จะเริ่มทยอยขนที่เหลืออีกเกือบ 12,800 ตัน จากสมุทรสาคร และชลบุรีทุกวัน โดยใช้รถขนส่งที่เตรียมไว้จำนวน 30 คัน จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยกากแคดเมียมทั้งหมดจะถูกนำไปพักไว้ที่โรงพักคอยของ เบาด์แอนด์บียอนด์ จังหวัดตาก เพื่อรอการซ่อมแซมบ่อฝังกลบ หมายเลข 5 ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงนำกากทั้งหมดมาฝังกลบ และทำการปิดบ่อภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมฯ ได้ทำการซักซ้อมความเข้าใจของทุกฝ่ายตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งในส่วนของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และชลบุรี บมจ. เบาด์แอนด์บียอนด์ บจก.เจแอนด์บี เมททอล และบริษัทขนส่ง สำหรับความพร้อมของโรงพักคอยของเบาด์แอนด์บียอนด์ที่จังหวัดตาก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร สามารถรองรับกากแคดเมียมได้กว่า 14,000 ตันนั้น ปัจจุบันได้ทำการปรับพื้นด้วยดินลูกรังสูง 30 เซนติเมตร และปูทับด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ (Geosynthetic Clay Liner) กันซึมเปื้อน ตลอดจนเตรียมร่องระบายน้ำ ปั๊มน้ำ บ่อรองรับน้ำฝน และวัสดุปิดคลุม เรียบร้อยแล้ว ด้านรถขนส่งกากแคดเมียมจำนวน 30 คัน ได้เตรียมการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ด้านระบบติดตามตรวจสอบการขนย้ายและการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ (Manifest) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเช่นกัน 

“ดิฉันได้ยังขอให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียมขั้นตอน (Procedure) เส้นทาง (Routing) และรายชื่อผู้รับผิดชอบในการขนย้ายและตรวจสอบทั้งหมด เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐาน ตลอดจนต้องมีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการขนย้ายไม่เกิดการสะดุด มีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน ตนได้มอบให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนำทีมซักซ้อมกระบวนการนำถุงกากตะกอนแคดเมียมขึ้นรถบรรทุกในพื้นที่โรงงานล้อโลหะไทย บางซื่อ กรุงเทพ โดยจะทำอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่โรงงานซึ่งเป็นอาคารปิด ไม่มีการนำถุงกากตะกอนแคดเมียมออกนอกพื้นที่โรงงาน และยังไม่มีการขนส่งไปยังพื้นที่อื่นแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา จะเดินทางไปตรวจสอบกระบวนการขนย้ายด้วยตัวเอง ณ บริษัทเจแอนด์บี เมททอล ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 29 เมษายน โดยขบวนเที่ยวแรกจากสมุทรสาคร และกรุงเทพ จะออกจากจุดนัดหมายพร้อมกันในเวลา 19.00 น. นำโดยตำรวจทางหลวง และคาดว่าจะถึงจุดหมายปลายทางจังหวัดตาก ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน

'ไทย-จีน' ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ใต้กรอบความร่วมมือ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง - 2 ประเทศ 2 นิคม'

(30 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย 

สำหรับ เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน นั้น ปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว ยังมีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่าง ๆ 6 แห่ง เป็น 'เส้นทางสายไหมทั้งสี่' ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล ขณะที่สนามบินเจิ้งโจว ก็ยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการ สร้าง 'เส้นทางสายไหมทางอากาศ' เจิ้งโจว-อาเซียน และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย 'Thai Heartbeat' เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว) 

"ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 'สองประเทศ สองนิคมฯ' ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win" นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ อีกด้วย

"กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว

ฟาก นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน 

"เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ 'สองประเทศ สองนิคม' สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ 'แกนคู่' โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ 'สองประเทศ สองนิคม' ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน" ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้...

1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 

2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  

3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 

4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา 

และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ไม่เคยกดดัน ‘จุลพงษ์’ จนเป็นเหตุให้ลาออก 'อธิบดีกรมโรงงานฯ' แต่กดดันให้ทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ที่เกิดปัญหาซ้ำ ไม่เว้นแต่ละวัน

เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.67) จากกรณีข่าวการลาออกของ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งได้แจ้งในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีวาระพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ กรณีเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียมจาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร จนถูกกระจายไปยัง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ โดยก่อนจบการประชุม ปรากฏว่า นายจุลพงษ์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ต่อไปคงจะไม่ได้มาแล้ว เนื่องจากได้ยื่นหนังสือลาออกต่อนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว โดยการลาออกครั้งนี้ เป็นการยื่นหนังสือลาออกก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

กรณีสื่อมวลชน ระบุว่า การลาออกดังกล่าว ส่วนหนึ่งเนื่องจากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่พอใจต่อการทำงาน กดดัน และต้องการย้าย นายจุลพงษ์ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้านั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ตนไม่เคยกดดันให้นายจุลพงษ์ ลาออก แต่กดดันให้ทุกคนทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะปัญหามีมาทุกวัน วน ๆ ซ้ำ ๆ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ตนก็จะให้กำลังใจคนทำงาน และจะถามความคืบหน้าไปยังไลน์กลุ่มผู้บริหารโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ตนก็ยังไม่ได้รับรายงานการลาออกของนายจุลพงษ์ จากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! 'ตนเอง-ขรก.' ต้องทำงานเพื่อประชาชน หากไม่มีผลงาน ก็ต้องพร้อมแสดงความรับผิดชอบ

(2 พ.ค. 67) จากกรณีนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดใจกับสื่อมวลชนถึงเหตุผลการลาออกว่า เกิดจากความกดดัน และน้อยใจผู้บริหาร ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องลาออก ส่วนอธิบดีกรมโรงงานก็พบล่าสุดที่ จ.ระยอง หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ ส่วนที่ว่าท่านลาออกเพราะเกิดความน้อยใจ และความกดดันนั้น ถ้าติดตามข่าวอย่างละเอียดจะเห็นว่า ได้ให้กำลังใจคนทำงานมาตลอด และไม่ได้ระบุว่าเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ อธิบดีกรมโรงงาน แต่บอกว่า ทุกคนต้องทำงานอย่างเต็มที่ เพราะ 1 เดือนที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมเจอภาวะวิกฤตในหลายด้าน และในทุกปัญหากระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก มันกดดันให้เราต้องทำงานอย่างเต็มที่

“จะมาบอกว่าน้อยใจหรือเสียกำลังใจไม่ได้ เพราะเราต้องทำงาน เป็นข้าราชการต้องทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ตัวรัฐมนตรีเองก็ต้องทำงาน ถ้าไม่มีผลงานก็ต้องพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบ ไม่ได้บอกว่าจะปรับเปลี่ยนใคร แต่ถ้าเมื่อไรที่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้ทำตามหน้าที่ สังคมก็จะต้องตั้งคำถาม ตัวดิฉันเองก็ไม่สามารถหนีความรับผิดชอบได้ เราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่มีเวลามานั่งท้อหรือเสียใจ และเมื่อเกิดวิกฤตเราควรใช้โอกาสนั้นแสดงฝีมือให้ประชาชนเห็นว่า เราช่วยประชาชนได้ และที่สำคัญ ประตูห้องทำงานรัฐมนตรีก็เปิดตลอด มีปัญหาอะไรก็มาคุยกันได้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ส่วนความคืบหน้าไฟไหม้โรงงานสารเคมี ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้กำชับไปแล้วว่าต้องควบคุมเพลิงให้ได้ และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ในเวลาไล่เลี่ยกัน และบ่ายวันนี้ก็จะลงไปดูหน้างานด้วยตัวเอง

'รมว.ปุ้ย' เชื่อ!! เหตุเพลิงไหม้อยุธยาเป็นการวางเพลิงทำลายหลักฐาน สั่ง!! เฝ้าระวังเข้มงวด หวั่น!! ผู้ก่อเหตุใช้ 'ภาชีโมเดล' เป็นต้นแบบ

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์เพลิงไหม้ และแนวทางการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรม พื้นที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ใน 4 จุด ได้แก่...

จุดที่ 1 โกดังเก็บสารเคมี ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ค.67

จุดที่ 2 เทศบาลตำบลภาชี เพื่อมอบอาหาร น้ำและของใช้จำเป็นให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 คน โดยในจุดนี้ รมว.อุตสาหกรรม ได้กล่าวคำขอโทษที่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมกับสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่า จะเร่งดำเนินกำจัดสารเคมีโดยเร็วที่สุด 

จุดที่ 3 บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด เพื่อกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังจะเกิดเหตุสารเคมีรั่วและเกิดเหตุเพลิงไหม้ 

จุดที่ 4 บริษัทเอกอุทัย ที่เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล จนชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งชีวิตความเป็นอยู่ สัตว์เลี้ยง และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย  

จากนั้น รมว.ปุ้ย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยระบุว่า เบื้องต้นทุกคนเชื่อว่าการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานเก็บสารเคมีอันตราย เป็นการลอบวางเพลิงเพื่อเผาทำลายหลักฐาน ดังนั้นจึงได้กำชับอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเนื่องจากเกรงว่า ผู้ประกอบการนายทุน จะถือโอกาสนำกรณีของอำเภอภาชี ไปเป็นต้นแบบในการเผาทำลายของกลางอีก  

"ดิฉันได้สั่งการให้มีการปรับการบริหารจัดการ เรื่องการกำจัดกากสารเคมี จากนี้ไปจะต้องทำเป็นระบบ ให้เข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเรียบร้อยแล้ว และต่อจากนี้ไป กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำงานแบบบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำงาน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งความเป็นอยู่ สัตว์เลี้ยง พืชผลทางการเกษตร ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ ดังนั้นต้องร่วมมือกันทั้งจังหวัด ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ซ้ำอีก" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

'รมว.ปุ้ย' จี้ถาม 'ปลัดกระทรวงอุตฯ' กรณี 'จุลพงษ์ ทวีศรี' ลาออก เหตุใดจึงไม่รายงานการขอลาออกให้เจ้ากระทรวงอุตฯ ทราบ

(4 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือสอบถามปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล เพื่อขอทราบเหตุผลในกรณีที่ไม่รายงานการลาออกจากราชการของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า...

จากกรณีที่ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ยื่นใบลาออกราชการต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ที่ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องทราบ เนื่องจากอธิบดี กรอ.เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงฯ ซึ่งปลัดฯ ได้ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.แต่ก็ไม่ได้รายงานให้ รมว.อุตสาหกรรมรับทราบ จึงต้องทำหนังสือเพื่อสอบถามความจริงว่า เรื่องนี้เป็นจริงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ และหากจริง ขอทราบเหตุผลทำไมจึงไม่รายงานเรื่องนี้ให้ อุตสาหกรรมรับทราบ

'รมว.ปุ้ย' ผนึกทุกภาคส่วน จับตาโรงงานเสี่ยงทั่วประเทศ เร่งเดินหน้ากวาดล้าง 'ขยะอุตสาหกรรม' ลงดาบผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์รั่วไหล และเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กำชับให้เร่งแก้ปัญหา และเห็นด้วยกับแนวทางที่ได้เสนอให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก 

“ภายหลังได้เสนอกับนายกรัฐมนตรี วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบทันที เพื่อให้การบริหารจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ทุกฝ่ายให้การยอมรับ สามารถขยายข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึง รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกากอุตสาหกรรม จากหน่วยราชการ ภาคการอุดมศึกษา ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ” 

รมว.อุตสาหกรรม ย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ เสนอแนวทางการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และตรวจสอบ กระบวนการที่เกี่ยวกับการลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายอีกด้วย 

สำหรับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกากตะกอนแคดเมียม ที่ได้มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมานั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่าวานนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 3 ชุด เร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ผู้แทนจากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

“และสำคัญวันนี้ต้องขอบคุณ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ได้กำชับ สั่งการและมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตราย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในทุกจังหวัดอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! แผงโซลาร์เซลล์ ไม่มี มอก.ไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงไฟไหม้ ย้ำ!! ต้องเลือกที่มี มอก.เท่านั้น เพราะผ่านทดสอบการลุกไหม้มาแล้ว

(9 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น

"แต่เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก"

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลาย ๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซลาร์เซลล์นั้นจะรับได้ ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ 

ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว 

"สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1(1) - 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อน จนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้" นายวันชัย กล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) - 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด  3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมายรับรอง เพื่อความปลอดภัย

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงสถานการณ์เพลิงไหม้สารเคมีมาบตาพุด สั่งการ ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ ตรวจสอบ-ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

(9 พ.ค. 67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีน ของ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในช่วงสายของวันนี้ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งตรวจสอบทุกระบบ และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในการเผชิญสถานการณ์และบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน

ขณะนี้มี นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ.บัญชาการประจำวอร์รูม ประจำวอร์รูม เพื่อประสานเหตุการณ์และระงับเหตุ และมี นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ กนอ.สายงานปฏิบัติการ 3 อยู่หน้างาน

ส่วนการแก้ไขควบคุมเพลิงมีการระดมรถดับเพลิง เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีทีมงาน EMCC มาบตาพุด และเจ้าหน้าที่ท่าเรือฯ มาบตาพุด นำรถตรวจการณ์ EMCC เข้าตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณเหนือลม และท้ายลม รวมทั้งตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัท SC เพื่อใช้เรือในการอพยพบุคลากรในพื้นที่

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า มีรายงานทางข้อมูลเทคนิคทราบว่าบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT) ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการท่าเทียบเรือและคลังเก็บสินค้าเหลว (สารปิโตรเคมี, คลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์) ระหว่างการเดินระบบปกติ ได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) หมายเลขถัง TK 1801 ขนาดบรรจุ 9,000 ลบ.ม. การเผชิญเหตุบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน และ กนอ.ได้จัดส่งรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณรอบ พร้อมทั้งแจ้งปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

'รมว.ปุ้ย' สั่ง 'ดีพร้อม' เร่งเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ระดมของใช้จำเป็น มอบให้คนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

(12 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ นายภาสกรชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งเยียวยาและฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่จากเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีนของบริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด จ.ระยอง โดยเน้นการเคียงข้าง พัฒนา และช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพเกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ทาง รมว.อุตสาหกรรม มีความกังวลและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน 

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการของดีพร้อม ซึ่งเบื้องต้นจะเร่งระดมของใช้ที่จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องเวชภัณฑ์ มอบให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพ เกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต” นายภาสกร กล่าว

นายภาสกร กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจ ดีพร้อม ได้เตรียมแผนระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้โครงการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ ประชาชน ชุมชนโดยรอบและใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะการประกอบธุรกิจให้พี่น้องประชาชน และชุมชนโดยรอบทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้มีการดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ในพื้นที่เทศบาลตำบลภาชี จ.อยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และในพื้นที่ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 โดย ดีพร้อมเตรียมแผนสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูพร้อมให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top