Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับ ‘กรมโรงงานฯ’ ติดตามสถานที่เก็บไซยาไนด์ต่อเนื่อง ย้ำ!! เข้มงวดการขึ้นทะเบียน-ใช้ผิดประเภทดำเนินคดีตาม กม.สูงสุด

เมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการป้องกันวัตถุอันตราย หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยมีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตราย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบสารตามบัญชี 5 ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสารที่ควบคุมตามอนุสัญญา ของเสียเคมีวัตถุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว รวมจำนวน 615 รายการ และ 26 กลุ่ม 

ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น 

“สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในกระบวนการทำความสะอาดโลหะ ชุบโลหะ สกัดแร่ทองและเงิน และใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทั้งนี้ สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 และมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มเติม และวันที่ 15 มิถุนายน 2566 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

โดยได้แบ่งกลุ่มผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ เป็น 3 กลุ่ม คือ 
1) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน 
2) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย 
และ 3) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ความเข้มข้นต่ำเป็นองค์ประกอบสำหรับกิจการอื่น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลการใช้สารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 16 รายการอย่างเข้มงวด และสามารถติดตามการใช้งานได้จนถึงผู้ใช้รายย่อย ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายตามรายชื่อท้ายประกาศนี้อยู่ในความครอบครองในแต่ละรายชื่อของวัตถุอันตรายทุกปริมาณ ทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต้องนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้  มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘รมว.ปุ้ย’ นำทีมเยือนญี่ปุ่น ศึกษาโมเดล ‘นิคมอุตสาหกรรม Circular’ เน้น!! นำระบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาปรับใช้ในไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

(21 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 21 – 27 กรกฎาคม 2567 มีภารกิจเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยนำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะรถยนต์ EV ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทย โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular จะตอบโจทย์ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน นอกจากนี้ คณะผู้แทนยังจะได้เยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์และการกำจัดของเสียในโรงงานของบริษัท Eco-R Japan และศึกษาเทคโนโลยีของบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมทั้งเยี่ยมชม กระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ของบริษัท J-Relights และกระบวนการรีไซเคิล แผงโซล่าเซลส์ บริษัท Shinryo Corporation ด้วย

อีกหนึ่งไฮไลท์ของการเยือนครั้งนี้ คือ การศึกษาดูงานเมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ รวมทั้งหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model

“การเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานยุทธศาสตร์ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2566 โตถึง 1.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไทย โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนถึง 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท

'รมว.ปุ้ย' เยือน!! 'Eco R Japan' โรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ศึกษากระบวนการเชิงลึก พาไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ลุยภารกิจแดนปลาดิบ เยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' เพื่อศึกษาการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

(22 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยพันธกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ไปสู่ความยั่งยืน

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

"การหารือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่าง JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาค ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ด้านนางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานยุทธศาสตร์) กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular นี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กนอ. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานนำเข้าเหล็กเคลือบ ปิดช่องเหล็กด้อยคุณภาพ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน

(23 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ 

นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ 

1) เหล็ก PPGI หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

2) เหล็ก PPGL หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

3) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

4 ) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีก จำนวน 122 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450 มาตรฐาน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ ‘มาตรการ CBAM’ (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า 

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ นำทีมเยือนญี่ปุ่น ศึกษา ‘โมเดลคิตะคิวชู’ เตรียมนำมาประยุกต์ใช้สร้าง ‘นิคมฯ Circular’ ในไทย

(26 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภารกิจการเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 24 - 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ อธิบดีสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ว่า เมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) เป็นหนึ่งในต้นแบบที่ดี ที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำมาเป็นแนวทางพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทย เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับเมืองคิตะคิวชู มีความร่วมมือในการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับการรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco World Class 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมไปถึงเทคโนโลยี เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular โดย กนอ. อยู่ระหว่างการหารือความร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ฟุกุโอกะ กระทรวงการต่างประเทศ เมืองคิตะคิวชู เพื่อดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน 

โดยเบื้องต้นกำหนดกรอบความร่วมมือ ดังนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จในการบริหารจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ของญี่ปุ่น ประกอบด้วย 

(1) กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลโรงงาน ทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับกำจัดของเสีย 

(2) กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมให้เอื้อต่อการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 

(3) บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรตามแนวคิด end-of-waste และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการตั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหมุนเวียนทรัพยากร

“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในประเทศไทย ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการสนับสนุน การประกอบกิจการที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามเป้าหมายของประเทศและของโลก การหารือและดูงานครั้งนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการนำปัจจัยความสำเร็จจากเมืองคิตะคิวชูมาเป็นต้นแบบในการบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้การทำ BCG Model เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขับเคลื่อนต่อไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ที่ Recycle-Tech Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ชินเรียว คอร์ปอเรชั่น ตอกย้ำเป้าหมายของประเทศในการผลักดัน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อลดปริมาณของเสียและส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเยี่ยมชมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะต้องเผชิญกับปัญหาของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก การรีไซเคิลจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ (24 ก.ค.67) คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ ของบริษัท เจ-รีไลท์ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการรีไซเคิลเพื่อลดของเสีย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยนักลงทุนจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน

ด้านนางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของ กนอ. ต่อจากนี้ คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและยั่งยืน โดยความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่กำลังจะตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย ให้เห็นว่าประเทศไทยตั้งใจสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการประกอบกิจการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของประเทศ รวมถึงเป้าหมายของโลก โดยมีภาครัฐที่พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ มีกำหนดการเยือนประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ 

'รมว.ปุ้ย' ปลาบปลื้ม!! พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ยก!! เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญ ที่เป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตน

เมื่อวานนี้ (28 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของชาติไทยค่ะ ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรีทุกท่าน ได้ติดตามนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ค่ะ โดยมีการไปร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นลำดับแรกค่ะ 

หลังจากนั้นไปร่วมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ ต่อจากนั้นได้เดินทางร่วมกับคณะรัฐมนตรีไปยังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง 

เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญนะคะ โอกาสสำคัญที่เป็นมงคลยิ่งในชีวิตของปุ้ยเอง และความเป็นมงคลยิ่งนี้ ขอให้สัมฤทธิ์กับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช พี่น้องชาวไทยทุกคนนะคะ 

ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทุกท่านได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า 

บรรยากาศสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยปุ้ยและคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ได้ซึมซับทุกวินาทีอันเป็นมหามงคลยิ่งอยู่ที่นั่นค่ะ

‘กมธ.อุตฯ’ เผย ‘กากแคดเมียม’ ขนถึงจ.ตาก ครบ 100% คาด!! ดำเนินการฝังกลบเสร็จเรียบร้อย ภายใน 30 พ.ย.67

(31 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า กมธ.การอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้ากรณีกากแคดเมียมล่าสุด รับรายงานขนย้ายจาก 3 จังหวัด ถึงโรงพักคอยจังหวัดตาก จำนวน 12,912 ตัน ครบ 100% แล้ว ระบุ ขั้นตอนต่อไปรอตรวจสอบความสมบูรณ์ของบ่อในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ คาดดำเนินการฝังกลบได้เสร็จเรียบร้อยภายใน 30 พฤศจิกายน 2567

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง นายรัฐ คลังแสง สส.มหาสารคาม และนายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล สส.นครปฐม ร่วมแถลงความคืบหน้าการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ต่าง ๆ กลับสู่จังหวัดตาก ว่า… 

ในวันนี้ คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สนง.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดําเนินการขนย้ายกลับไปสู่จังหวัดตากตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 จนครบ 100% เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งขณะนี้กากตะกอนแคดเมียมอยู่ที่โรงพักคอยทั้งหมด 12,912 ตัน เป็นตัวเลขที่ชั่งน้ำหนักที่ปลายทางที่จังหวัดตาก 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบก่อนหน้านี้ พบว่า ได้มีการแจ้งขนย้ายจริงคือขออนุญาต 15,000 ตัน แต่มีการแจ้งเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ 13,800 ตัน แต่จากการตรวจโดยการคํานวณปริมาตรคร่าว ๆ จะอยู่ที่ 12,948 ตัน และเมื่อขนกลับไปแล้วชั่งน้ำหนักจริงก็จะเหลือ 12,912 ตัน

ส่วนขั้นตอนฝังกลบนั้น หลังจากนี้จะต้องทำการตรวจสอบบ่อฝังกลบที่ 4 และ 5 ก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าบ่อที่ 4 ตอนที่ขนออกมานั้น มีกากแคดเมียมเหลืออยู่ครึ่งบ่อ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปต้องดําเนินการตรวจสอบการรั่วซึมหรือไม่ โดยทางกรมทรัพยากรเหมืองแร่ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปดำเนินการในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ 

เนื่องจากที่ผ่านมาค่าการตรวจสอบความรั่วซึมของกรมควบคุมมลพิษกับทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ค่ายังไม่ตรงกัน จึงต้องเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง และหากว่าตรวจสอบแล้วไม่พบการรั่วซึม ก็จะขนย้ายจากโรงพักคอยไปเก็บที่บ่อ 4 ให้เต็ม ส่วนบ่อที่ 5 ขณะนี้ได้ทำการซ่อมแซมไปแล้ว และในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้ จะทําการตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่มีการรั่วซึมก็จะดําเนินการขนย้ายจากโรงพักคอยนะครับ 12,912 ตัน ไปเก็บในบ่อที่ 5 ต่อไป

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า หลังจากนี้ คณะทํางานที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ซึ่งมีท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะดําเนินการขนย้ายจากโรงพักคอยไปเก็บไว้ที่บ่อฝังกลบให้เสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งก็จะทำให้ภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่เสร็จ เพราะว่าต้องรอตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแคดเมียมว่ามีความแข็งแรงไม่รั่วซึมก่อน จากนั้นจึงจะสามารถทำการขนย้ายจากโรงพักคอยไปที่บ่อฝังกลบต่อไป

“ตอนนี้ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทั้งที่สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ได้อุ่นใจว่ากากแคดเมียม ซึ่งเป็นสารอันตรายได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว และที่สําคัญได้มีการส่งมอบพื้นที่คืนเรียบร้อยแล้ว โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมควบคุมมลพิษได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่า ไม่มีสารตกค้างแล้ว 100% ส่วนที่ชลบุรีก็ได้มีการเข้าไปดูดฝุ่นและก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน รวมถึงอีก 2 บริษัท ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ก็ได้ตรวจสอบสารตกค้าง และตอนนี้สามารถส่งพื้นที่ได้เรียบร้อย ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัด ทั้ง 5 พื้นที่ อุ่นใจได้ ส่วนที่โรงพักคอยจังหวัดตากจะลงบ่อฝังกลบเมื่อไหร่ จะแล้วเสร็จทันกําหนดวันที่ 30 พฤศจิกายน หรือไม่ ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้หารือร่วมกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม และจะติดตามการทํางานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อไป ส่วนเรื่องของการดําเนินคดีนั้น ก็ยังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์หน้าก็จะเชิญหน่วยงานมาชี้แจง และจะรายงานความคืบหน้าให้ได้ทราบต่อไป” นายอัครเดช กล่าว

'รมว.ปุ้ย' ตอบกระทู้สด 'ก้าวไกล' ปมการบริหารจัดการ 'แคดเมียม' 'ขนกลับต้นทางครบ-ไร้กระทบสุขภาพ ปชช.' ลั่น!! คนผิดต้องไม่ลอยนวล

(1 ส.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่เป็นประธานพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายศิรโรจน์ ธนิกกุล ส.ส.สมุทรสาคร เขต 2 พรรคก้าวไกล ถาม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การบริหารจัดการสารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยตั้งคำถามปริมาณของกากแคดเมียมที่ขนกลับไป จ.ตาก ตลอดจนถึงความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้แนวทางการบริหารจัดการหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาเพียงใด และการสอบสวนผู้กระทำทั้งกระบวนการมีความคืบหน้าอย่างไร  

รมว.พิมพ์ภัทรา ได้มาตอบกระทู้สดด้วยตัวเอง โดยระบุว่า ตนในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม หลังจากที่ได้รับรายงานว่ามีการพบกากตะกอนแคดเมียม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก็ได้ลงพื้นที่ในทันที โดยได้พบและหารือผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้นำส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยได้ตรวจสอบถึงที่มาของกากแคดเมียมว่ามาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าไร จากนั้นได้มีการตรวจสุขภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสารปนเปื้อนทั้งนี้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงาน คนงาน ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ได้เร่งหากกากตะกอนแคดเมียมซึ่งกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของจำนวนตัวเลขกากตะกอนแคดเมียมที่ระบุว่า มีประมาณ 15,000 ตัน เป็นตัวเลขกลม ๆ ที่เกิดจากการแจ้งขอขนย้าย และเมื่อมีการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่ามีการนำออกจริงผ่านระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 13,800 ตัน สำหรับปริมาณน้ำหนักของกากแคดเมียมที่ได้ขนกลับไปที่แหล่งต้นทางจังหวัดตากเหลือเพียง 12,912 ตัน สิ่งที่หายไปคือความชื้น และเมื่อไปดูการขุดออกมาจากหลุมฝังกลบ ทั้งกระบวนการ และฤดูกาล ล้วนมีผลต่อน้ำหนัก ซึ่งเราได้ทำการตรวจสอบตามหลักวิชาการในทุกขั้นตอน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวถึง การย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เข้ามาประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ทันทีที่เกิดเรื่อง ก็เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อหาข้อเท็จจริงมาตอบสังคมว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ตั้ง นายเดชา จาตุธนานันท์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง จ.สมุทรสาคร จนถึงปลายทาง จ.ตาก 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการจาก 6 กระทรวงมาทำงานร่วมกันเพื่อให้การกำจัดกากตะกอนแคดเมียมเป็นไปตามกระบวนการ EIA โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ไม่เฉพาะ จ.สมุทรสาครเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งประเทศต่อการจัดการของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับมาว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนกลับคืนมา  

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทางการปกครองโดยให้บริษัทต้นทางนำกากตะกอนแคดเมียมกลับไปในพื้นที่ต้นทางต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึง ยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิดเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และยังได้ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จากบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต้นทางและปลายทาง ในจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยันว่าคนทำผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย 

"ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกับดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน นี้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ตอบกระทู้สด ปมขนย้ายกากแคดเมียมกลับ จ.ตาก ยัน!! ปลอดภัย-คนทำผิดต้องได้รับโทษ

จากกรณีนายศิรโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้ถาม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ถึงเรื่อง การบริหารจัดการสารเคมีอันตรายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยตั้งคำถามปริมาณของกากแคดเมียมที่ขนกลับไป จ.ตาก ตลอดจนถึงความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้แนวทางการบริหารจัดการหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาเพียงใด และการสอบสวนผู้กระทำทั้งกระบวนการมีความคืบหน้าอย่างไร?

ทางด้าน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้ลุกขึ้นตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า…

ตนในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม หลังจากที่ได้รับรายงานว่ามีการพบกากตะกอนแคดเมียม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก็ได้ลงพื้นที่ในทันที โดยได้พบและหารือผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้นำส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยได้ตรวจสอบถึงที่มาของกากแคดเมียมว่ามาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าไร จากนั้นได้มีการตรวจสุขภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสารปนเปื้อนทั้งนี้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงาน คนงาน ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ได้เร่งหากากตะกอนแคดเมียมซึ่งกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 

ในเรื่องของจำนวนตัวเลขกากตะกอนแคดเมียมที่ระบุว่า มีประมาณ 15,000 ตัน เป็นตัวเลขกลม ๆ ที่เกิดจากการแจ้งขอขนย้าย และเมื่อมีการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่ามีการนำออกจริงผ่านระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 13,800 ตัน สำหรับปริมาณน้ำหนักของกากแคดเมียมที่ได้ขนกลับไปที่แหล่งต้นทางจังหวัดตากเหลือเพียง 12,912 ตัน สิ่งที่หายไปคือความชื้น และเมื่อไปดูการขุดออกมาจากหลุมฝังกลบ ทั้งกระบวนการ และฤดูกาล ล้วนมีผลต่อน้ำหนัก ซึ่งเราได้ทำการตรวจสอบตามหลักวิชาการในทุกขั้นตอน 

ส่วนการย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เข้ามาประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ทันทีที่เกิดเรื่อง ก็เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อหาข้อเท็จจริงมาตอบสังคมว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ตั้ง นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง จ.สมุทรสาคร จนถึงปลายทาง จ.ตาก 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการจาก 6 กระทรวงมาทำงานร่วมกันเพื่อให้การกำจัดกากตะกอนแคดเมียมเป็นไปตามกระบวนการ EIA โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ไม่เฉพาะ จ.สมุทรสาครเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งประเทศต่อการจัดการของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับมาว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนกลับคืนมา  

สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทางการปกครองโดยให้บริษัทต้นทางนำกากตะกอนแคดเมียมกลับไปในพื้นที่ต้นทางต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึง ยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิดเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และยังได้ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จากบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต้นทางและปลายทาง ในจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ยืนยันว่าคนทำผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย 

"ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกับดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน นี้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' อัดฉีดสินเชื่อสีเขียว 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3% ด้าน SME D Bank ขานรับนโยบาย ดันเอสเอ็มอีมุ่งสู่อุตฯ สีเขียว

(6 ส.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิด 'โครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมสีเขียว' ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 

ทางกระทรวงฯ จึงมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ 'Green Industry' ซึ่งจะสร้างประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น ลดต้นทุนธุรกิจ และสามารถปรับตัวเข้ากับกฎกติกาการค้าใหม่ระดับสากลได้ ควบคู่กับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชน เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ นำไปสู่สังคมแห่งความสุข สร้างรากฐานแข็งแรงอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จำเป็นต้องใช้ความรู้ควบคู่เงินทุน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ทว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบที่มีกว่า 3.2 ล้านราย มากกว่าครึ่งเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินในระบบ จำเป็นที่รัฐบาลต้องมาช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน ผ่านโครงการ 'สินเชื่อ SME Green Productivity' วงเงิน 15,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นหน่วยงานหลัก ทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ภาครัฐและเอกชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีจุดเด่นเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี แถมปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนแรก อีกทั้ง ผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะผ่อนชำระนานเพียงพอที่จะสามารถพัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น

ตั้งเป้าจะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มผลิตภาพได้กว่า 1,500 ราย อีกทั้ง สร้างประโยชน์ เกิดการจ้างงานกว่า 24,000 อัตรา สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 68,700 ล้านบาท อีกทั้ง ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ด้าน นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับเพิ่มผลิตภาพแก่เอสเอ็มอีให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ผ่านโครงการสินเชื่อ 'SME Green Productivity' โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น 11 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันยานยนต์, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึง 'การพัฒนา' เติมทักษะความรู้ควบคู่กับพาเข้าถึง 'แหล่งทุน' ดอกเบี้ยต่ำ นำไปพัฒนา ปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลิตภาพสูงขึ้น พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนให้ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล  

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ 'สินเชื่อ SME Green Productivity' แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top