Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘สมอ.สัญจร’ ให้ความรู้ ‘มาตรฐาน’ แก่ผู้ประกอบการราชบุรี ชี้!! ช่วยเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ เสริมศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

(13 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน ในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม ‘สมอ. สัญจร’ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดราชบุรี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกระดับนำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศที่นำมาตรฐานมาเป็นมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภค ‘กิจกรรม สมอ. สัญจร’ ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs และผู้ผลิตชุมชนในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการแข่งขันทางการค้าได้ 

“จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบการหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตไฟฟ้า การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ปูนซิเมนต์และคอนกรีต อาหาร พลาสติก สิ่งทอ เครื่องเคลือบดินเผา เป็นต้น มีโรงงานอุตสาหกรรม 1,181 แห่ง และยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนา และจากฐานข้อมูลพบว่าจังหวัดราชบุรีมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แล้ว จำนวน 76 ราย 161 ฉบับ มาตรฐานอุตสาหกรรม เอส (มอก.เอส) จำนวน 4 ราย 5 ฉบับ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 81 ราย 121 ฉบับ นับว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง” รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ  กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรม สมอ. สัญจร ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการภารกิจของ สมอ. ทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานเกี่ยวกับการลดโลกร้อน เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการใช้ปูนซิเมนต์ไฮโดรลิคแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อลดโลกร้อน 

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ด้านการมาตรฐาน ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สมอ. ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้ผลิตชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตชุมชนในเขตจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง ตลอดจนจัดให้มีพิธีมอบใบรับรองให้แก่ผู้ผลิตชุมชน SMEs และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมจำนวน 30 ราย รวมทั้ง จัดทีมออกตรวจร้านจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐานได้อย่างปลอดภัย

'รมว.ปุ้ย' แจ้ง!! กากแคดเมียมที่คลองกิ่ว-ชลบุรี เริ่มขนกลับตากแล้ว มั่นใจ!! ทุกขั้นตอนปลอดภัย ขนเสร็จทันตามกำหนด 17 มิ.ย.นี้

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนการขนย้ายกากแคดเมียม จากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 18 วัน สามารถขนกากแคดเมียมได้จำนวนทั้งสิ้น 2,180 ถุง น้ำหนักรวม 3,432 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.50 ของจำนวนกากแคดเมียมทั้งหมด  

(25 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นวันแรกที่เริ่มการขนกากแคดเมียม จากโกดังที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังโรงพักคอยของ บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 คัน บรรทุกกากแคดเมียม จำนวน 76 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน ออกเดินทางจากชลบุรีในเวลา 15.00 น. นำขบวนโดยรถเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปทส. คาดว่าจะถึงจังหวัดตากในเวลา 21.00 น. 

และในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะใช้รถจำนวน 10 คัน ทยอยขนจากโกดังคลองกิ่วจนครบจำนวน 4,391 ตัน เพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้กระบวนการขนย้ายยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียมกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งการซ้อนถุง การชักตัวอย่างตรวจสอบ การทำความสะอาด และการลงระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้าย (e-Manifest) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก  

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินสภาพความแข็งแรงและการรั่วซึมของบ่อ ซึ่งบริษัทฯ จะได้เสนอแผนการปรับปรุงให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากแคดเมียมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ชู!! 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ผลักดันสู่ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก.อุตฯ หวังเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดนใจตลาดโลก

(27 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ว่า ช่วงเวลากว่า 8 เดือน จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมมอบนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินภารกิจให้สำเร็จต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย...

- รื้อ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น 
- ลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด 
- ปลด ภาระให้ผู้ประกอบการโดยปรับลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการ 
- และ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติงานส่งผลให้หลายเรื่องเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากผลงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและในเชิงพื้นที่ อาทิ การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน ยกเลิกการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น การแก้ไขกฎหมายโรงงาน เพื่อปลดล็อคเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย 

นอกจากนี้ ยังได้เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคต สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งผลักดันให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้น / ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งซัพพลายเชนครบวงจร / พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ / สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่าน SME D Bank และกองทุนฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม / ผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทชพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยภายในประเทศ / การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ / แก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาอ้อย การสนับสนุนพลังงานสะอาด และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเน้นการพัฒนานิคมฯ Smart Park เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม เป็นต้น

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ ๆ เช่น...

- การขับเคลื่อน Green Productivity เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย มาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์  
- การจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ EEC มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน 

- การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง 
- รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก. ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ กำหนดมาตรฐานใหม่ ‘ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร’ เร่งยกระดับเป็นสินค้าควบคุม ป้องกันปนเปื้อน ‘โลหะหนัก’

(28 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ โดยเป็นการยกเลิกมาตรฐานฉบับเดิม และกำหนดใหม่ เพื่อให้มีความปลอดภัยกับประชาชนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ตนได้เร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน หากเป็นถุงพลาสติกที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน เมื่อนำไปใส่อาหารที่มีความร้อนสูง หรืออาหารที่มีความเป็นกรด อาจเสี่ยงที่จะมีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนออกมากับอาหารได้ 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. เร่งควบคุมสินค้าที่สัมผัสกับอาหารโดยตรงอื่น ๆ เช่น ภาชนะพลาสติกใส่อาหาร กระดาษสัมผัสอาหาร และภาชนะสแตนเลสสำหรับอาหาร เป็นต้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สมอ. ในครั้งนี้ นอกจากจะมีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟแล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีกจำนวน 97 มาตรฐาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน เก้าอี้พลาสติกแบบมีพนักพิง ไม้ยางพาราแปรรูป บานประตู แผ่นไม้ประกอบ อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดมะขามป้อม และอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดกวาวเครือขาว เป็นต้น 

รวมทั้งเห็นชอบมาตรฐานที่จะกำหนดเพิ่มเติมอีก จำนวน 90 มาตรฐาน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนระบบก๊าซ เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย ข้อเข่าเทียม เครื่องมือรักษารากฟัน ที่นอนลดแผลกดทับ เลนส์ตาเทียม สารน้ำฟอกไต เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ยางล้อรถยนต์ ลวดเหล็กเคลือบสังกะสี เม็ดพลาสติก และล้ออัลลอย์ เป็นต้น ซึ่งจัดทำโดย สมอ. และองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) ที่เป็นสถาบันเครือข่ายของ สมอ. ได้แก่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพลาสติก 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ สมอ. ได้เคยมีการกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว แต่เพื่อให้มีความปลอดภัยกับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการทบทวนมาตรฐานโดยยกเลิกมาตรฐานฉบับเดิม และกำหนดใหม่ โดยมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว อะลูมิเนียม แบเรียม โคบอลต์ ทองแดง เหล็ก ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล สังกะสี พลวง สารหนู แคดเมียม โครเมียม ปรอท ยูโรเพียม แกโดลิเนียม แลนทานัม และเทอร์เบียม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การทนความร้อนความเย็น เช่น ทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส 

สำหรับถุงใส่อาหารร้อน ทนความร้อนได้ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส สำหรับถุงใส่อาหารเย็น และทนความเย็นได้ถึง -18 องศาเซลเซียส สำหรับถุงใส่อาหารเยือกแข็ง และสำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ สามารถทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส 

นอกจากนี้ มีการควบคุมการใช้สีที่พิมพ์ลงบนถุง โดยถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ต้องเป็นสีสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร (Food Grade) เท่านั้น สำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ จะต้องเป็นสีที่ผ่านการตรวจสอบสารอันตรายตามมาตรฐาน มอก.1069 สีสำหรับพลาสติกทำผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร เป็นต้น 

โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว รวมถึงสินค้าสัมผัสอาหารอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดบูธ ‘ศูนย์อุตฯ ฮาลาลไทย’ ในงาน THAIFEX 2024 พร้อมส่งเสริม-ผลักดัน ‘อุตฯ ฮาลาลไทย’ สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(29 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่ากระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ 

โดยในงานวันนี้ กระทรวงฯ นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก

ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

2. เสนอ ‘แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่

(1) จัดตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น ‘สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป

(2) สร้าง ‘การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง

(3) ผลักดัน ‘การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ’ ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้ มีแผน การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่าง ๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป

สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน ‘Befish’ ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ ‘ท่าทองรังนก’ ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน ‘Blue Elephant’ ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

'รมว.ปุ้ย' เยือนจีน!! ถกความร่วมมือ 'ชิ้นส่วนยานยนต์-ขนส่ง-ขับขี่อัจฉริยะ' รองรับการพัฒนา 'อุตฯ ยานยนต์' ในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

รมว.อุตสาหกรรม เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์, นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์และคณะทำงาน เข้าพบหารือ นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และทีมประเทศไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ 'Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people' (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการพัฒนา ความร่วมมือสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และโอกาสการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า การทดสอบ การพัฒนาสมรรถนะด้านบุคลากรแรงงานฝีมือ การจัดการรีไซเคิล ตลอดจนการต่อยอดด้านความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าวัตถุดิบของไทยที่สามารถทำตลาดในจีน รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ เครื่องดื่ม, ผลไม้ และอาหารแปรรูป 

ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะในระหว่างการเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย

'รมว.ปุ้ย' เยือนหูหนาน ศึกษา 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ'สร้างสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต

ไม่นานมานี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมอุตสาหกรรมประเทศไทย พบปะ นายเหมา เว่ยหนิง ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน และเข้าพบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายส่วน

งานนี้ รมว.ปุ้ย และทีมอุตสาหกรรมไทยได้มีโอกาสพบผู้บริหารของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก แบรนด์ SANY และ ZOOMLION ซึ่งแบรนด์คุ้นหูคุ้นตาในเมืองไทย มีผู้ประกอบการไม่น้อยเริ่มใช้เครื่องจักรกลแบรนด์นี้ และมีการลงทุนในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังไปเยี่ยมชมการผลิตระบบการจัดการพลังงาน ความปลอดภัย ระบบเมืองอัจฉริยะ กลุ่ม Wasion Holding Limited ซึ่งมีข้อดีหลายประการที่สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้อย่างมากอีกด้วย

สำหรับมณฑลหูหนาน เป็นพื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต้นธารของอุตสาหกรรมสำคัญของโลกหลายชนิด ทั้งกลุ่มโลหะ อโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักของที่นี่คือ ยานยนต์สมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีหุ่นยนต์ 

"ปัจจุบัน จีนได้ประกาศใช้เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ' (Internal Circulation) ควบคู่ไปกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ' (External Circulation) และมีความสอดคล้องกับประเทศไทย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2568) รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างมากค่ะ...

"ดังนั้น การเข้าเยี่ยมคารวะท่านผู้ว่าการมณฑล และผู้ประกอบการรายสำคัญในครั้งนี้ จึงเป็นช่องทางสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต โดยดิฉันได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการลงทุนพัฒนาแบบสองทาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง นี่คือประเด็นสำคัญ"

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนเอสเอ็มอีทั่วไทย บุกตลาดออนไลน์  กดไลค์!! SME D Bank ผนึก TikTok ลุยสอนไลฟ์ขายสินค้า ติดปีกธุรกิจโตก้าวกระโดด

(9 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน ‘Live commerce กับ TikToker ของแทร่’ Get Started With TikTok จัดโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กับ TikTok Thailand  ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า  หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หมายถึง รื้อ ลด ปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด และ ‘สร้าง’ สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ   ซึ่งการเติมความรู้ด้านทำตลาดที่ทันสมัยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะใช้การไลฟ์ขายสินค้า หรือ Live commerce ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง    ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้สามารถคว้าโอกาส ผลักดันธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดด จากกำลังซื้อมหาศาลของลูกค้าทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การต่อยอด สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน  ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยจากฐานราก 

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย มีความมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านกระบวนการด้าน ‘การเงิน’ ควบคู่กับด้าน ‘การพัฒนา’  ซึ่งการจัดงาน  “Live commerce กับ TikToker ของแทร่” สร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีศักยภาพสามารถจะขยายช่องทางการขายได้อย่างไร้พรมแดนและมีโอกาสสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดออนไลน์กว่า 700,000 ล้านบาท และมีเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% ขณะที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

ที่ผ่านมา SME D Bank และ TikTok Thailand จับมือจัดกิจกรรมเติมความรู้ การทำตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  สำหรับการจัดงาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่รวบรวมคนดังบนโลกออนไลน์ในแพลตฟอร์ม TikTok  หรือ ‘TikToker’ ที่เป็นคนในพื้นที่ กว่า 15 ราย มียอดวิวรวมกันกว่า 10 ล้านวิว เช่น  ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม (Miss Thailand Universe 2007) ,  คิตตี้นาตาชา (ทองเพชรเอวSศัลย์), ช่างเถอะ พี่ปี้ เป็นต้น มาถ่ายทอดประสบการณ์ “Live สด ขายสินค้า” อีกทั้ง มีกิจกรรม Workshop แนะนำเทคนิคสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจ ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เข้าสู่การตลาดยุคดิจิทัล รวมทั้ง มีการออกบูธจำหน่ายสินค้าของดีประจำท้องถิ่นกว่า 30 ราย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่กับมีบริการพาเข้าถึงแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจจาก SME D Bank ได้ฟรี  รวมถึง ติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th)   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

'รมว.ปุ้ย' ยกทีม 'ก.อุตฯ' เชื่อมความสัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ปูพรมทางด่วนการค้า 'นครศรีธรรมราช-หนานหนิง'

(11 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยถึงการยกคณะทำงานของกระทรวงอุตฯ และ 'ดีพร้อม' ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เพื่อไปปฏิบัติภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับพี่น้องชาวท้องที่-ท้องถิ่น ในการสร้างงานสร้างอาชีพพัฒนาวิสาหกิจในพื้นที่ ท่าศาลา สิชล ว่า...

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปุ้ยได้เข้าพบกับ ท่าน อู๋ ตงเหมย กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลาลา และ ท่าน จาง จื้อเหวิน กงสุลพาณิชย์ และคณะผู้ก่อการดีงามเพื่อชาวนครศรีธรรมราช สมชาย ลีหล้าน้อย, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยุทธกิจ มานะจิตต์, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช  'น้ายูร' ประยูร เงินพรหม, ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช 'โกหนุ่ม' กรกช เตติรานนท์, กรรมการหอการค้าไทย พี่นนท์ นนทิวรรธ์ นนทภักดิ์, สภาอุตสาหกรรม และ สมาคมพาณิชย์จีน มาร่วมหารือกันในตัวเมืองนครศรีธรรมราช

นครหนานหนิง มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ชาวจีนไหหลำได้อพยพมาตั้งรกรากมานับร้อยปีแล้ว ความสัมพันธ์ทั้งทางประวัติศาสตร์ การเชื่อมโยงผู้คนบรรพบุรุษวัฒนธรรม มีกันมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น

ประเด็นสำคัญ...ปุ้ยได้ถือโอกาสเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรบ้านเรา เช่น ทุเรียน, มังคุด, ส้มโอ โดยได้ริเริ่มในการเฟ้นหาผู้ซื้อรายใหม่ ๆ จากนครหนานหนิง มาซื้อตรงจากนครศรีธรรมราช เป็นการทำตลาดผู้ซื้อรายใหม่ และมีหอการค้านครศรีธรรมราช รับอาสาในการเชื่อมโยง เป็นทางด่วนของการค้าระหว่างนครศรีธรรมราช และหนานหนิงเส้นทางใหม่ก็ว่าได้ อันนี้ข่าวดี

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ตนยังได้ยืนยันไปในเรื่องความพร้อมของท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานนายกรัฐมนตรีได้มาปฏิบัติราชการที่นครศรีธรรมราช ได้มีการเร่งรัดเรื่องท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ให้เต็มรูปแบบโดยเร็วเรามีความพร้อมสามารถเชื่อมโยงตรงได้ หลังจากนี้จะมีการติดตามขยายผลให้เร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง แล้วปุ้ยจะมาอัปเดตเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ ต่อไป 

‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น’ ย้ำความร่วมมืออุตฯ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ยืนยัน!! พร้อมหนุนรถยนต์สันดาปภายใน ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV

(12 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. OTAKA Masato) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภาพรวมและโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในอนาคต

รวมถึงนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และนโยบายด้านการจัดการซากรถยนต์ในอนาคต (Future End of Life Vehicle Policy) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567

โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และนางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคาร สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มาลงทุนและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เข้าพบเพื่อรายงานสรุปผลแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย

“สำหรับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเทศไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ก็มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมสนับสนุนยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำลังรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนการตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับการจัดการกากของเสียต่าง ๆ ในอนาคตด้วย”

ด้านนายโอตากะกล่าวว่า วันนี้ยินดีที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหารือถึงการขยายการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย รู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลไทยจะยังคงให้การสนับสนุนยานยนต์ ICE และไฮบริด และทางญี่ปุ่นเองก็พร้อมสนับสนุน และที่สำคัญยังมีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาเรื่องนิคมอุตสาหกรรม Circular การจัดการพลังงาน รวมถึงเรื่องกากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top