พลิกโฉม!! 1 ปี ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ ภายใต้หญิงเก่งสุดแกร่ง ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’
เมื่อวันที่ (6 ก.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางเข้ากระทรวงฯ เพื่ออำลาตำแหน่ง โดยได้เข้าสักการะเพื่ออำลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พระภูมิ และองค์พระนารายณ์
‘พิมพ์ภัทรา’ ได้กล่าวขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคนที่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มว่า “ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับทุกท่าน ขอบคุณจากหัวใจ ที่ได้สร้างภาพจำที่ดีให้กับกระทรวงฯ ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ จะไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความรู้ความสามารถ และได้ส่งพลังงานดี ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ทุกคนมีรอยยิ้มที่กว้างกว่าวันแรกที่เข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าทุกท่านจะร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของพวกเราต่อไป”
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ณัฐพล รังสิตพล’ ได้กล่าวอำลา ‘พิมพ์ภัทรา’ ว่า “1 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เป็นผู้นำที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการในทุกระดับเป็นอย่างดี ขอบคุณท่านที่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก ช่วยหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และได้ผลักดันนโยบาย 'รื้อ ลด ปลดสร้าง' ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตนในฐานะตัวแทนของผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขอกราบขอบพระคุณ และพร้อมที่จะสานต่อนโยบายต่อไป”
ทั้งนี้ผลงาน 1 ปีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนของ ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต :
‘รื้อ’ ด้วยการเร่งรื้อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างจำนวนมากจนแล้วเสร็จ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 12,000 ล้านบาท และดำเนินการออกใบอนุญาตที่ขอใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด แก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
‘ลด’ ด้วยการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ
(1) เร่งดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชนคนไทย
(2) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่ให้ลักลอบเผาไร่อ้อยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
(3) กวดขันให้มีการตรวจ กำกับดูแลโรงงาน/วัตถุอันตราย และโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวถึงร้อยละ 87.66 จากเป้าหมายร้อยละ 90 เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
(4) ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์
(5) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งเป็นผู้บริโภค
(6) ผลักดันการจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนานิคม Smart Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล
(7) เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า/จักรยานยนต์ไฟฟ้า Solar Rooftop และอุตสาหกรรม Recycle เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG
(8) พัฒนาองค์กรดิจิทัลเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
(9) จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 สู่ชั้นบรรยากาศ และจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการและจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม
‘ปลด’ ด้วยการปลดภาระให้ผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด
(1) ปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
(2) ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความตั้งใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน
(3) ผลักดันเหมืองแร่โปแตชเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรให้เกษตรกร และได้จัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(4) เร่งส่งเสริม MSMEs ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้
‘สร้าง’ ด้วยการเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล ฯลฯ
ทั้งนี้ นโยบายทั้งหมดได้ส่งต่อให้กับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ได้ทำงานสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES