Sunday, 12 May 2024
รื้อลดปลดสร้าง

‘พีระพันธุ์’ เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรม-มั่นคง-ยั่งยืน ใช้ต่อได้แม้เกิน 4 ปี

(2 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์รูปภาพขณะนั่งทำงาน พร้อมข้อความกำกับว่า… “เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบครับ”

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้ประกาศข่าวดี โดยกระทรวงพลังงานสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และลดราคาเบนซิน 91 ลง 2.50 บาท 

ส่วนไฟฟ้าปรับลดจากราคาหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 4.10 บาท โดยจะดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปอีก เพื่อหาทางปรับลดราคาค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกินหน่วยละ 4 บาท

และสำหรับก๊าซหุงต้มตามแนวโน้มตลาดโลกจะขึ้นทุกปลายปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไทยสูงตามไปด้วย แต่สัญญาว่าจะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาท สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาเดิมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม มั่นคง ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยแผนการทำงานระยะสั้นจะเป็นนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะปรับลดราคาพลังงาน และเป็นสิ่งโชคดีที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีแนวนโยบายนี้และเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ทำให้นโยบายระยะสั้นเป็นจริงได้คือ ‘การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน’

ส่วนระยะกลางคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงและทำให้โครงสร้างพลังงานมีความเป็นธรรม เหมาะสม และรองรับความมั่นคงของประเทศทุกด้าน สโคปของแผนก็คือ

1) จะรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดมาศึกษา หากรวมได้จะรวม ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิก เพื่อลดจำนวนกฎหมายให้น้อยลง หรือหากเรื่องไหนไม่มีกฎหมายก็เขียนใหม่

2) กฎหมายพลังงานจะต้องตอบสนอง 3 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย มี ท่านอธึก อัศวานันท์ ที่ปรึกษาเป็นประธาน เริ่มทำงานมา 2 นัดแล้ว และมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลด้านกฎหมายมาทำ ให้รายงานทุก 30 วัน ส่วนระยะยาวต้องเตรียมการงานบริหารกระทรวง ทั้งกฎหมายที่ต้องออกมารองรับเพื่อให้นโยบายเป็นไปตามที่บอกทั้งหมด มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน สามารถเดินต่อไปได้แม้ว่าจะเลยจากนี้ไป 4 ปีก็จะยังคงอยู่

'พีระพันธุ์' ยัน!! ดรามาเติมน้ำมันได้ไม่ถึง 5 ลิตร ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ควรปรับเกณฑ์ ช่วยลดความคลาดเคลื่อน เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค

(22 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

จากกรณีที่มีข่าวว่าปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งเติมน้ำมัน 5 ลิตร แต่ได้น้ำมันไม่ถึง 5 ลิตร เจ้าหน้าที่ปั๊มตอบว่า ตามกฎกระทรวงให้สามารถทำได้กรณีน้ำมัน บวก/ลบ ไม่เกิน 50 มิลลิลิตรนั้น

ผมได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ครับ ในเรื่องของชั่งตวงวัด

การกำกับดูแลมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ภายใต้ภารกิจของสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยจากกฎกระทรวงกำหนดเครื่องวัดที่อยู่ในการบังคับแห่ง พรบ.ชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 สำหรับมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีใช้ถังตวงขนาด 5 ลิตร มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด +/- 25 mL สำหรับการตรวจสอบเพื่อรับรอง และ +/- 50 mL สำหรับการตรวจสอบระหว่างใช้งาน 

ดังนั้น กรณีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในคลิป ซึ่งเป็นมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้งาน มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด +/- 50 mL จึงไม่ได้ทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวตามที่ปั๊มน้ำมันอ้างจริง

อย่างไรก็ตาม ผมเองเห็นว่าในปัจจุบันความสามารถของเครื่องมือในการชั่งตวงวัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีความเที่ยงตรงสูงกว่าแต่ก่อน จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ผู้บริโภค

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผมจะแจ้งประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณาทบทวนอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดดังกล่าวให้แคบลง และจะนำเรื่องนี้ไปรวมไว้ในการแก้ไขกฎหมายน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ และในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติด้วย ก็จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าจะสามารถแก้ไขมาตรฐานของเครื่องมือชั่งตวงวัดได้อย่างไรบ้าง 

ล่าสุดประธานที่ปรึกษาของผม ท่านณอคุณ สิทธิพงศ์ ได้ประสานงานกับอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขเยียวยาอะไรก่อนได้บ้างหรือไม่ ก่อนที่จะมีการปรับกฎเกณฑ์ต่อไป

‘พีระพันธุ์’ อึ้ง!! ‘สส.ก้าวไกล’ ใช้ ‘ข้อมูลคาดการณ์’ อภิปรายฯ งัดข้อมูลจริง ‘กฟผ.’ ยัน!! ‘ลดค่าไฟ’ ไม่ได้สร้างปัญหาการเงิน

(5 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า…

วันนี้ติดภารกิจตลอดทั้งวัน เพิ่งมีโอกาสได้สรุปข้อเท็จจริง

ช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 66 ท่านศุภโชติ ไชยสัจ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 พาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่าทำให้เป็นปัญหาการเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)

น่าแปลกที่เรื่องเดียวกันท่านกลับเลือกพูดเรื่องปัญหาการเงินของ กฟผ. แทนที่จะพูดเรื่องประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศที่ผมและรัฐบาลนี้ทำสำเร็จ

ท่านบอกว่า กฟผ. มีสถานะเงินสดต่ำมากจนน่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มตามกราฟิกที่นำมาแสดงว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 กฟผ. จะมีกระแสเงินสดเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท และลดลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีกระแสเงินสดเหลือแค่ 10,000 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 จะไปถึงขั้นกระแสเงินสดติดลบเอาเลย แถมยังมีหนี้สินที่ต้องชำระให้ ปตท. อีกหลายหมื่นล้านบาท 

ในขณะที่จะต้องส่งรายได้ให้รัฐอีกปีละหลายหมื่นล้านโดยปี 2566 กฟผ. ต้องนำรายได้ส่งรัฐ 17,142 ล้านบาท และปี 2567 ที่จะติดลบกระแสเงินสดด้วยนี้ กฟผ. กลับจะต้องนำส่งรายได้ให้รัฐถึง 28,386 ล้านบาท สูงกว่าปี 66 ถึง 65% แล้วจะทำอย่างไร

ฟังแล้วน่าตกใจว่ารัฐไปยัดปัญหาให้ กฟผ. เพิ่มทำไม ประชาชนทางบ้านและสื่อมวลชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะตกใจตามไปด้วย

ผมก็ตกใจครับ ไม่ได้ตกใจในข้อมูลและตัวเลขที่ท่านพูด แต่ตกใจว่าทำไมท่านเลือกเอาข้อมูลที่เป็นเพียง ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่ทำล่วงหน้าก่อนของจริงตั้งแต่ตุลาคม 2566 ปีที่แล้วมาพูด แทนที่จะเอา ‘ข้อมูลจริง’ ที่ ‘เกิดขึ้นจริง’ ณ เวลานี้ มาพูด

ขอเรียนตามนี้ครับ
1) ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่ผมนำมานั้น มาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลผมตอนที่จะนำงบการเงินปี 2564 - 2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 และอีกครั้งก่อนที่ผมจะตอบชี้แจงเมื่อคืน จึงเชื่อถือได้ว่าเป็น ‘ข้อมูลจริง’ แต่ถ้าท่านไม่เชื่อคงต้องไปเถียงกับ กฟผ. เอาเองนะครับ

2) ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่ท่าน สส. ศุภโชติ แห่งพรรคก้าวไกล นำมาพูดนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ตุลาคม 2566 ก่อนมี ‘ข้อมูลจริง’ ณ ปัจจุบัน ดังนี้

(ก) ตารางหรือกราฟที่ท่าน ส.ส. ศุภโชติ นำมาใช้นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และมิได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็ต้องประมาณการแบบ ‘ร้าย’ หรือแบบ worst case scenario ไว้ก่อน และตารางหรือกราฟนั้นก็เป็นเพียงเอกสารภายในที่ใช้เพื่อชี้แจงพนักงานของ กฟผ. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลจริงในการบริหาร และไม่อาจใช้อ้างอิงได้ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจริง

(ข) มีปัจจัยที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ อื่น ๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,600 ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฏในตารางคาดการณ์ที่นำมาแสดง

(ค) อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท / หน่วย ตลอดปี 2567 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ ‘ข้อมูลจริง’ ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วย นั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

(ง) การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตาม ‘ข้อมูลจริง’ รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย
ข้อมูลใน (ค) และ (ง) นี้ก็ไม่ปรากฏในตารางที่เป็น ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนตุลาคม 2566 นั้น ‘ข้อมูลจริง’ นี้ ยังไม่เกิดขึ้น

3) จากสถานะการเงินที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

4) มาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที และที่ผ่านมา กฟผ. ก็ดำเนินการตามนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่สถานะการเงินจริงของ กฟผ. ในปี 2567 จะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นติดลบในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

5) ตาม ‘ข้อมูลจริง’ นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 สำหรับปี 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีก

6) การส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ 50% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี 2566 ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ 17,142 ล้านบาท แต่ตาม ‘ข้อมูลจริง’ กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ ถึง 28.575% และนี้ยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

7) สำหรับปี 2567 ล่าสุด กฟผ. คาดการณ์ว่าจะนำส่งเงินรายได้ประจำปี 2567 ให้รัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 16.6666% ไม่ใช่จะนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 65% จาก 17,142 ล้านบาท เป็น 28,386 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูดอีกเช่นกัน แต่ไม่แน่นะครับ เอาเข้าจริง กฟผ. อาจสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นเดียวกับปี 2566 ที่ผ่านมานี้ได้อีก ก็เป็นไปได้นะครับ

'พีระพันธุ์' จี้!! แหล่งก๊าซเอราวัณให้ขุดได้ตามเป้า ตัวแปรสำคัญช่วยคงค่าไฟงวดหน้าไม่สูงกว่าเดิม 

(27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2567 ว่า ตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้เพราะเป็นห่วงพี่น้องประชาชนตลอดเวลา ทั้งนี้หลังจากที่ตนและผู้บริหารกระทรวงพลังงานโดยเฉพาะปลัดกระทรวง นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรี (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และประธานคณะกรรมการ กกพ., นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รวมทั้งคณะกรรมการ กกพ. และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ร่วมกันพยายามหาทางให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 ไม่สูงถึงหน่วยละ 4.68 บาท อย่างที่เคยเป็นข่าว 

แม้จะมีปัจจัยลบจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซที่มีราคาแพงมาชดเชยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ อย่างจริงจังแล้ว ก็สามารถทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท และยืนอัตราหน่วยละ 3.99 บาทสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2567 มากนัก 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กกพ. จะมีการปรับค่าเอฟทีสำหรับการกำหนดค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ดังนั้นอัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2567 นี้ ก็จะต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไปคือ งวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 กันใหม่อีกในเร็ว ๆ นี้ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามคงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2567 ไว้ในอัตราเดิม คือหน่วยละ 4.18 บาท ให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้เพราะทาง ปตท. สผ. ยืนยันว่าจะสามารถขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปจำนวนมากกลับคืนมาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งตนเองจะเดินทางไปดูการทำงานของ ปตท.สผ. ที่หลุมขุดเจาะเอราวัณกลางอ่าวไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ปตท.สผ. จะสามารถดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ และยังมีแนวโน้มว่าปัจจัยอื่นน่าจะเป็นบวกมากกว่าในงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 อีกทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับปากว่าจะพยายามยืนอัตราค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราเดิม ตนจึงค่อนข้างมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนจะไม่เจอกับปัญหาการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดระยะเวลาดังกล่าว 

“เราเป็นห่วงประชาชน จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชนซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญลงให้ได้ โดยใช้มาตรการทุกอย่างที่ทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก่อนที่จะรื้อทั้งระบบภายในปีนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

'พีระพันธุ์' ให้คำมั่น!! ยืนหยัดแก้ปัญหาพลังงาน เพื่อ 'ชาติ-ประชาชน' ตามรอย 'พลโทณรงค์' ในงานสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

(2 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปบรรยายเรื่องพลังงาน ในฐานะที่คุณพ่อ 'พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค' เคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นคนแรก  

โดยนายพีระพันธุ์ได้เล่าถึงเรื่องราวของ พลโทณรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการพลังงานของไทย รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการก่อสร้าง 'โรงกลั่นน้ำมัน' แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน 'สามทหาร' ที่ปัจจุบันแปรสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ของประเทศไทย

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า พลังงานคือความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันกิจการด้านพลังงานได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของธุรกิจ ตนในฐานะ รมว.พลังงาน จึงตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน ตามแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง ที่ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจ!! ค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค. - ส.ค.) จะไม่สูงกว่ารอบปัจจุบัน

(7 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ถึงกรณีตรวจเยี่ยมแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่ (พฤษภาคม - สิงหาคม) ระบุว่า…

หลังจากที่ไปตรวจการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีก๊าซมากพอเพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการยันราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่นี้ 

ต่อมาผมได้หารือกับท่านเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาระค่าไฟฟ้ามากไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะทาง กฟผ. พร้อมที่จะแบกรับภาระหลายอย่างเพื่อประชาชน 

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไป (พฤษภาคม - สิงหาคม) จะไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ขอให้มั่นใจครับว่าผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

‘พีระพันธุ์’ ออกประกาศ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทุน  ป้องกันค้ากำไรเกินควร มุ่งสร้างความเป็นธรรม-มั่นคงด้านพลังงาน

(14 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นต้นมาได้เร่งทำงานทุกด้านเพื่อสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ตามแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และประเทศมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าตอบแทนนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน ค่าภาษี อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เหมาะสมเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาจำหน่ายที่ยุติธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น

“คงจำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ผมพยายามที่จะหาว่าต้นทุนพลังงานแต่ละชนิดคืออะไร ราคาที่ขายให้ประชาชนมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมและทีมงานจึงศึกษาและพบว่าจริงๆ แล้วมีช่องทางในการขอทราบข้อมูลแต่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงได้ดำเนินการยกร่างออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทุนได้”

“นโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งผมและข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ปรึกษาและทีมกฎหมายจากกฤษฎีกาได้ทำงานอย่างหนัก ประชุมและค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่นโยบายการรื้อระบบพลังงาน จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างถาวร เมื่อภาครัฐมีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านและมีกฎหมายที่ให้อำนาจ ก็สามารถพิจารณาและตรวจสอบต้นทุนเพื่อภาคเอกชนมีกำไรในระดับสมเหตุสมผล ไม่สร้างภาระให้ประชาชนจนเกินกว่าเหตุและสามารถแข่งขันได้ ประเทศก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งวันนี้ก็ได้เริ่มต้นจากการให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน และในอนาคตก็จะเริ่มปรับระบบพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ต่อไป ผมเชื่อว่า นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้อย่างถาวร และผมจะดำเนินการให้สำเร็จให้เร็วที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top