Saturday, 5 July 2025
กระทรวงพลังงาน

คิกออฟ!! 'ไฮโดรเจน' พลังงานทางเลือกใหม่ ภายใต้แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ หลัง 'ซาอุฯ' ไฟเขียว ร่วมอุตฯ การผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์ในไทย

ความเป็นจริงเกี่ยวกับเชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 

ด้วยเพราะทรัพยากรเชื้อเพลิงพลังงานที่มีอยู่เองในประเทศนั้น จะมีช่วงเวลาที่ค่อย ๆ หมดไป ๆ และไม่เพียงพอต่อการรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีแต่เร่งความต้องการเชื้อเพลิงพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ในขณะที่เชื้อเพลิงพลังงานที่ต้องนำเข้า ต้องซื้อจากประเทศอื่น ๆ มานั้น ก็ใช่ว่าประเทศที่ขายให้จะไม่ตระหนักถึงทรัพยากรตนที่พร้อมจะหมดไป หรือไม่เพียงพอใช้ในประเทศเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ตามมา จึงเป็นเรื่องของราคาเชื้อเพลิงพลังงาน ที่ผู้ซื้อจำใจต้องยึดราคาภายใต้กรอบของผู้ผลิตที่จะกำหนดได้เองเป็นส่วนใหญ่ 

พอภาพโดยรวมเป็นแบบนี้ ก็ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาจริงจังกับ 'พลังงานใหม่' ไม่ว่าจะเป็นพลังทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ที่ต้องให้ความสำคัญ มีการคิดค้น และพัฒนาให้กลายมาเป็นพลังงานที่จะถูกนำมาใช้แทนพลังงานในปัจจุบัน หรือพลังงานฟอสซิลมากขึ้นเรื่อย ๆ

‘ไฮโดรเจน’ (Hydrogen, H2) ถือเป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด เป็นธาตุที่เบาที่สุดและเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O) 

ขณะเดียวกัน ยังเป็นธาตุที่รวมอยู่ในโมเลกุลของสารประกอบอื่น ๆ เช่น สารประกอบจําพวกไฮโดรคาร์บอน (HC) คุณสมบัติทั่วไปของ ‘ไฮโดรเจน’ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังไม่มีสารประกอบคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก 

นอกจากนี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังถูกนำมาใช้ในการทำปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงกลั่นน้ำมันเพื่อลดค่ากำมะถันในน้ำมัน, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมกระจก, อุตสาหกรรมเคมี และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้และให้ความร้อน โดยมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 3 เท่า หรือนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) 

ดังนั้น ไฮโดรเจน จึงถือเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต โดยหลายประเทศทั่วโลกได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, ฯลฯ

ทั้งนี้ ‘ไฮโดรเจน’ สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลัก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม (2) พลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล น้ำ และ (3) พลังงานนิวเคลียร์ 

ส่วน ‘ไฮโดรเจน’ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสามารถจำแนกจากชนิดของแหล่งพลังงานและวิธีในการผลิตไฮโดรเจน โดยกำหนดเป็นสีต่าง ๆ ไว้ 4 สี ดังนี้...

(1) ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน ซึ่งไฮโดรเจนสีเทาคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 95 ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ในปัจจุบัน โดยกระบวนการผลิตนี้จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ 

(2) ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) คล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา ยกเว้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ในพื้นดิน ใช้การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS: Carbon Capture and Storage) โดยไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นทางเลือกที่สะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา แต่มีราคาแพงกว่าเนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน 

(3) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียวถือเป็นไฮโดรเจนที่มีการปล่อยมลพิษต่ำหรือเป็นศูนย์ เนื่องจากใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอิเล็กโทรไลซิสในกระบวนการแยกน้ำ (H2O) เป็นไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) 

(4) ไฮโดรเจนสีอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงาน อาจใช้สีอื่น ๆ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชนิดของไฮโดรเจน แม้ว่าสีเทา, สีฟ้า และสีเขียวเป็นสีทั่วไป แต่มีสีดำ, สีน้ำตาล, สีแดง, สีชมพู, สีเหลือง, สีเขียวขุ่น และสีขาว เป็นสีสำหรับ Molecular Hydrogen (H2) ที่ผลิตจากแหล่งพลังงานและกระบวนการผลิตอื่น ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจนสีดำและสีน้ำตาลเป็นไฮโดรเจนสีเทาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยไฮโดรเจนสีดำคือ การใช้ถ่านหินบิทูมินัส ส่วนไฮโดรเจนสีน้ำตาลคือ การใช้ถ่านหินลิกไนต์ ผ่านกระบวนการ Gasification process เพื่อการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ 

จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานั้น จึงทำให้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็นหนึ่งในพลังงานใหม่ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานจาก ‘ไฮโดรเจน’ จะทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเพิ่มความเสถียรในการผลิตกระแสไฟฟ้า และได้มีการนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิง ‘ไฮโดรเจน’ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) โดยใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรับส่งนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง 

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสถานีต้นแบบเติม ‘ไฮโดรเจน’ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ อำเภอบางละมุง ชลบุรี อีกด้วย

แม้ว่าขณะนี้ ‘ไฮโดรเจน’ ยังไม่ใช่พลังงานทดแทนหลักที่ได้รับความนิยม แต่พลังงานจาก ‘ไฮโดรเจน’ ก็ยังมีการคิดค้นในเชิงนวัตกรรม เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อย ๆ พอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปลดปล่อยมลพิษ ช่วยพาสังคมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เพื่อขจัดต้นตอของปัญหาโลกร้อนให้สำเร็จได้อย่างแท้จริงเสียที

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในวันนี้ ก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับสุดยอดพลังงานทางเลือกนี้ และยังดูจะเอาจริงเอาจังกับการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหลักให้ประเทศอีกด้วย เพราะนี่คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ด้านเชื้อเพลิงพลังงานของ ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่ต้องการให้ไทยผลิต ‘ไฮโดรเจน’ ได้เองภายในประเทศ 

เหตุผลเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนที่ ‘LNG’ ที่ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาที่ไม่มีความแน่นอน และมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน จนส่งผลกระทบต่อต่อค่า ‘Ft’ ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในบ้านเรามีราคาแพง และสำหรับเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในภาคการขนส่งแทนที่ ‘CNG’ ซึ่งกำลังการผลิตจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยและนำเข้าจากเมียนมามีปริมาณที่ลดลงเรื่อย ๆ 

โดย ‘พีระพันธุ์’ ได้มอบนโยบายนี้ให้ ‘บมจ.ปตท.’ ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุดของไทยได้ทำการศึกษาและขับเคลื่อน ซึ่งทาง ‘บมจ.ปตท.’ เอง ก็ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแล้ว โดยร่วมกับ ‘บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด’ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

สำหรับความคืบหน้าของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้นำเรื่องของการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานไปเจรจาหารือกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ วันที่ 15-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการขยายผลต่อยอดโครงการฯ ดังกล่าว ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ได้ตอบรับและแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต ‘ไฮโดรเจน’ เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศไทยแล้ว 

โดยการร่วมมือนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) จากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อที่จะลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวของประเทศ และเพิ่มช่องทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 

นี่จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย จะมีโอกาสและทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ทำให้ความมั่นคงทางพลังของไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลแก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมทั้งหมดทั้งมวลต่อไป

🔎ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันแต่ละลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง??

ในน้ำมันแต่ละลิตรที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ประกอบด้วยราคาทั้งหมด 4 ส่วนดังนี้

>>40 - 60% ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

>>30 - 40% ภาษีต่าง ๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น

>>5 - 20% กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน และ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

>>10 - 18% ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำนั้นทั้งระบบ

ในส่วนของ ‘ราคาขายปลีก’ ในปัจจุบัน ก็จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น / ภาษีสรรพสามิต / ภาษ / เทศบาล / กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง / กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน / ค่าการตลาด / ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับแนวทางการแก้ไขภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘คนดังนั่งเคลียร์’ ว่า… 

“ที่บอกว่าราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นคือ 20 บาท ไม่รู้มาจากไหน ราคาจริงเท่าไหร่ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งผมว่าเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบ Cost Plus คือ ต้นทุนจริงบวกค่าใช้จ่ายจริง จะได้เป็นราคาขายจริง…

“อีกเรื่องที่ต้องแก้ไขคือ ‘เงินสมทบเข้ากองทุน’ กฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเป็นคนจ่าย เปรียบเหมือนภาษี และเมื่อจ่ายไปแล้ว ก็เป็นต้นทุนที่ต้องไปหักในส่วนของค่าดำเนินงาน ไม่ใช่นำมาบวกในค่าน้ำมัน แต่หากนำมาบวกในค่าน้ำมัน หมายความว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผมต้องทำเป็นกฎหมายใหม่หมดเลย”

เปิดไทม์ไลน์ ‘พีระพันธุ์’ เหตุใดถึงทำให้ ‘เขา’ เพิ่งจะมาปฏิรูปพลังงานตอนนี้ เพราะ ‘ตัวจริง’ เพิ่งมี ‘โอกาส’ และอยู่ในช่วงหล่อดาบ (กฎหมาย) มาลงทัณฑ์

ทำไม ‘พีระพันธุ์’ เพิ่งจะปฏิรูปพลังงาน ทำไม...แปดปีที่ผ่านมาจึงไม่ทำ?

ในขณะที่ทุกวันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงพลังงานที่สำคัญทั้งระบบที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเกิดความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม ให้เป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า แปดปีของรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ทำไม ‘พีระพันธุ์’ จึงไม่ได้ทำ

ย้อนกลับไปในช่วงแปดเก้าปีที่แล้ว หลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจ ‘พีระพันธุ์’ ก็เช่นเดียวกับนักการเมืองอื่นคือไม่ได้มีสถานะใดๆ ทั้งสถานะ สส.และฝ่ายบริหาร แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

สี่ปีต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับเลือกเป็น สส.ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งบริหาร แต่ใช้สถานะความเป็น สส.ศึกษาเรื่อง 'โฮปเวลล์' ผ่านการทำงานในคณะกรรมาธิการ 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วเห็นว่าคดีนี้น่าจะมีปัญหาเรื่องการนับอายุความ จึงได้สืบค้นเพิ่มเติมหลักกฎหมายเรื่อง 'อายุความ' และพบว่า ศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า 'การนับอายุความ' ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดใช้ 'มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด' เป็นหลักในการตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย

‘พีระพันธุ์’ ซึ่งมีความเห็นต่างและได้ชี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ 'มติที่ประชุมใหญ่' เป็นหลักในการตัดสินได้ เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ กระทั่งต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่คดีโฮปเวลล์จำนวนหลายหมื่นล้านบาท

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ‘พีระพันธุ์’ ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคฯ ไปด้วย แต่ยังคงไม่ละมือจากการทำงานกรณีโฮปเวลล์

สิบวันต่อมา วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาเมื่อนายกฯ ขอความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ได้เดินหน้าร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อสู้คดีกรณีโฮปเวลล์อย่างเข้มข้น

และต่อมาเมื่อ 20 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยที่สองของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘พีระพันธุ์’ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งตำแหน่งเลขาฯนายกฯก็ไม่ได้มีอำนาจบริหารกระทรวงเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองงานให้นายกฯและทำงานที่ได้รับมอบหมายเฉพาะบางกรณี เพราะอำนาจในการบริหารในการบริหารราชการอยู่ที่รัฐมนตรีผู้เป็นเจ้ากระทรวงเท่านั้น 

ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคร่วมรัฐบาล ปฐมบทแห่งการปฏิรูปพลังงานด้วยนโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง จึงพึ่งจะได้เริ่มต้นขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่พี่น้องประชาชนคนไทยไม่รู้เลยก็คือ การปฏิรูปพลังงานนั้นจะต้องอาศัยเครื่องมือที่มีทั้งประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูงสุดก็คือ ‘กฎหมาย’ ซึ่งต้องมีการออกแบบและจัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้การปฏิรูปพลังงานเกิดขึ้นและดำเนินการขับเคลื่อนได้

ด้วยนโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ...

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตาม ม. 7 พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยผู้ต้าต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรู้ถึงต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงจำหน่ายปลีกในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้ว

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นในไทยได้สำเร็จ ทำให้รัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ในขณะที่ทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่รองรับการใช้งานได้พียง 25-36 วันเท่านั้น และหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ ซึ่งระบบ SPR จะรวมถึงเชื้อเพลิงทางเศรษฐกิจที่สำคัญทุกชนิดอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว...

(3) ‘พีระพันธุ์’ ยังได้ประสานกับบริษัทนานาชาติเพื่อร่วมมือในการพัฒนาพลังงานใหม่ในประเทศ อาทิ ‘ไฮโดรเจน’ เพื่อทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม ดังนั้น การปฏิรูปพลังงานตามแนวทางของ ‘พีระพันธุ์’ หากสามารถทำได้สำเร็จแล้ว ที่สุดจะสร้างประโยชน์โภคผลมากมายให้เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมอย่างยั่งยืน

‘อัครเดช’ ยัน!! เก้าอี้กระทรวง ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ ยังเป็นของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ชี้!! ใครจะได้เป็นรัฐมนตรี ต้องอยู่ที่ ‘กรรมการบริหาร’ มีมติให้ ‘หัวหน้าพรรคตัดสินใจ’

(17 ส.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงโควตารัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค รทสช. ภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุมสมาชิกพรรคครั้งล่าสุด ก่อนที่จะมีการโหวตเลือก น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ยืนยันว่าทุกตำแหน่งในโควตารัฐมนตรี ยังเป็นโครงสร้างเหมือนเดิมหมด ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

นายอัครเดช กล่าวว่า ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรคได้มีมติ ให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งนายพีระพันธุ์ คงจะปรึกษากับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสม ดังนั้นจะเป็นบุคคลเดิมหรือไม่ ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค รวมถึงโควตารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ยังว่าง เนื่องจาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออก ก็ต้องหาคนใหม่เช่นกัน

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการริบโควตากระทรวงพลังงาน คืนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช กล่าวว่า “ไม่มี หัวหน้าพรรคยังยืนยันว่าที่ตกลงกันล่าสุด ทุกอย่างยังเหมือนเดิมหมด”

'พีระพันธุ์' เคลียร์ชัด!! เหตุ 'รวมไทยสร้างชาติ' ร่วมรัฐบาล เพื่อเดินหน้างานสำคัญ พร้อมย้ำ!! ดีกว่าต้องยืนย่ำคู่อยู่กับคนที่เป็นศัตรูของ 'ชาติ-แผ่นดิน-สถาบันฯ'

(19 ส.ค. 67) จากเพจ 'เชียร์ลุง' ได้เผยถ้อยคำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งตอบชัดถึงอีกปมประเด็นคำถามจากสังคมว่า "ทำไม รวมไทยสร้างชาติ จึงต้องเข้าร่วมรัฐบาล อย่างชัดเจน" ดังนี้...

"ในสภาไม่มีตรงกลาง ถ้าเราไม่ร่วมรัฐบาล เขาก็จะจัดสรรเราเป็นฝ่ายค้าน เราก็ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหัวหน้าฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นใครก็รู้อยู่...

"มันไม่มีอะไรที่จะถูกใจได้ทั้งหมด แต่อันไหนที่พอจะดีกว่า แย่น้อยกว่า เสียน้อยกว่า และสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ นี่คือสิ่งที่ใช้ตัดสินใจ...

"เราไม่อยากยืนคู่อยู่กับคนที่เป็นศัตรู ของชาติ ของแผ่นดิน และของสถาบัน...

"การเมืองเป็นเรื่องความรู้สึก และความรู้สึกที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและสถาบัน..."

สุดท้ายนายพีระพันธุ์ ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการที่ รทสช.ได้ร่วมรัฐบาลอีกว่า จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างที่สุด "ในปีหน้า ถ้าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เรายังได้กำกับดูแลที่เดิม ประชาชนจะได้รับของขวัญ เป็น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน อย่างแน่นอน!!!"

‘พีระพันธุ์’ ตอบชัดปมเข้าร่วมรัฐบาล ลั่น!! ไม่อยากยืนอยู่ฝั่งเดียวกับศัตรูของชาติและสถาบัน

เมื่อไม่นานมานี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตอบชัดถึงอีกปมประเด็นคำถามจากสังคมว่า ‘ทำไม รวมไทยสร้างชาติ จึงต้องเข้าร่วมรัฐบาล อย่างชัดเจน’ โดยนายพีระพันธุ์ระบุว่า…

"ในสภาไม่มีตรงกลาง ถ้าเราไม่ร่วมรัฐบาล เขาก็จะจัดสรรเราเป็นฝ่ายค้าน เราก็ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหัวหน้าฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นใครก็รู้อยู่...

"มันไม่มีอะไรที่จะถูกใจได้ทั้งหมด แต่อันไหนที่พอจะดีกว่า แย่น้อยกว่า เสียน้อยกว่า และสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ นี่คือสิ่งที่ใช้ตัดสินใจ...

"เราไม่อยากยืนคู่อยู่กับคนที่เป็นศัตรู ของชาติ ของแผ่นดิน และของสถาบัน...

"การเมืองเป็นเรื่องความรู้สึก และความรู้สึกที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและสถาบัน..."

สุดท้ายนายพีระพันธุ์ ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการที่รวมไทยสร้างชาติได้ร่วมรัฐบาลอีกว่า จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างที่สุด 

"ในปีหน้า ถ้าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เรายังได้กำกับดูแลที่เดิม ประชาชนจะได้รับของขวัญ เป็น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน อย่างแน่นอน!!!" 

‘พีระพันธุ์’ แจ้ง!! ร่างกฎหมายโครงสร้างพลังงานใหม่เสร็จแล้ว ชี้!! ผ่านบันไดขั้นที่ 3 เตรียมมุ่งสู่บันไดขั้นสุดท้าย

เมื่อวานนี้ (21 ส.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแจ้งข่าวสำคัญ ไว้ดังนี้...

สวัสดีครับ วันนี้ผมได้มีการประชุมคณะทำงานพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและพลังงาน เพื่อจะให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ผมได้พูดไว้ว่า “ผมร่างมาตลอดทุกวัน” ตอนนี้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นร่างแรก ซึ่งผมร่างขึ้นมาอย่างเต็มที่ มีทั้งหมด 95 หน้า 180 มาตรา และกำลังให้คณะผู้เชี่ยวชาญนำไปตรวจสอบในรายละเอียดและปรับปรุงต่อไป

ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนสบายใจและมั่นใจว่าผมไม่ได้ทิ้งงานนะครับ ระหว่างนี้ผมยังทำงานเต็มที่ให้กับพี่น้องประชาชนทุกเรื่อง และทุกเรื่องที่บอกไว้ ผมยังทำอยู่ ทำต่อ เรื่องนี้เป็นบันไดขั้นที่ 3 ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมจะมีบันได 5 ขั้น ก่อนหน้านี้เสร็จไปแล้ว 2 ขั้น วันนี้ขั้นที่ 3 เสร็จแล้วครับ และกำลังจะเดินหน้าสู่ขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และความเป็นธรรมในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซให้กับพี่น้องประชาชนต่อไปในอนาคตครับ

ขอให้มั่นใจว่า ผมจะทำงานทุ่มเทสติปัญญาและกำลังความสามารถทุกอย่าง เพื่อพี่น้องประชาชนในประเทศไทยของเรา ตลอดไปครับ

'พีระพันธุ์' ห่วงน้ำท่วมภาคเหนือตอนบน กระทบ 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' มอบ 'ปตท.-กฟผ.' ช่วยเหลือประชาชน 'ใกล้ชิด-เร่งด่วน'

(26 ส.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในทางภาคเหนือตอนบนหลายพื้นที่ จังหวัดเชียงราย, จังหวัดพะเยา, จังหวัดน่าน และ จังหวัดแพร่ จากที่ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เนื่องมาจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือที่มีกำลังค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 

ขณะนี้แม้ว่าปริมาณฝนจะเริ่มซาลงแล้ว แต่ยังต้องระวังมวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยบรรเทาผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการบริหารจัดการด้านพลังงานในพื้นที่ประสบอุทกภัย ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหากได้รับผลกระทบ อาทิ การขนส่งน้ำมันหากเส้นทางได้รับผลกระทบ ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมธุรกิจพลังงาน ได้เตรียมการสำหรับแนวทางฟื้นฟูสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับผลกระทบและจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันหลังจากน้ำลด 

ในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเบื้องต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เตรียมถุงยังชีพไว้ จำนวน 15,000 ถุง และผ้าห่มกันหนาวอีก 15,000 ผืน ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ส่งถุงยังชีพไปแล้วกว่า 10,000 ถุง และน้ำดื่ม 10,000 ขวด รวมทั้งได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการ PTT Group SEALs ซึ่งรวมพนักงานจิตอาสา กลุ่ม ปตท. ที่มีทักษะพิเศษในการกู้ชีพและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุกบริษัทในกลุ่ม ปตท. เร่งนำอุปกรณ์ ได้แก่ โดรน เรืออะลูมิเนียมท้องแบน เรืออะลูมิเนียมท้องวี รถตรวจการณ์ รถสิบล้อ และอุปกรณ์การช่วยเหลือต่างๆ ร่วมปฏิบัติการมอบถุงยังชีพให้ประชาชน โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอย่างคนชราและเด็กๆ ในพื้นที่ที่ยากแก่การเข้าถึง 

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 6,674 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70% ของความจุเขื่อน น้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 3,824 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57% ของความจุเขื่อน ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,836 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30% เทียบกับความจุเขื่อน นอกจากนี้ได้ลดการระบายน้ำในเขื่อนฯ ลงเหลือวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อลดผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง 

“ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า เพื่อเข้าช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งก็ได้วางแนวทางในการช่วยเหลือทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งหลังน้ำลด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

1 ปี 'พีระพันธุ์' ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน อะไรทำแล้ว? เรื่องไหนทำอยู่? แล้วไทยจะก้าวสู่ 'ความมั่นคง-เป็นธรรม-ยั่งยืน' ด้านพลังงานได้อย่างไร?

ครบวาระการทำงาน 1 ปี ในฐานะเจ้ากระทรวงพลังงานของ 'นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ประชาชนได้รับการดูแลแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างไร? มิติใหม่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน? กฎหมายกำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรมจะได้ใช้เมื่อไหร่? ราคาน้ำมัน-ค่าไฟ จะลดลงได้อย่างไร? 

แล้วการทำงานในปีที่ 2 จะไปต่อแบบไหน? และมีอะไรใหม่ในการดูแลประชาชนด้านพลังงาน? ไปพบกับคำตอบทั้งหมดนี้ได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เจ้าของแนวคิด 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน ของระบบพลังงานไทย เพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้...

>> ลุยหาช่องทางแก้ปัญหาหมักหมม
"จากประสบการณ์ทํางานในราชการทางการเมือง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมทํางานได้เยอะและเร็วพอสมควร ฟังดูเหมือนนาน 12 เดือน 1 ปี แต่ในความเป็นจริง ช่วง 2-3 เดือนแรก ผมต้องศึกษาข้อมูล ศึกษาปัญหา แล้วก็ศึกษาวิธีการแก้ไข ปัญหาของกระทรวงพลังงานซึ่งรับผิดชอบทั้งเรื่องน้ำมัน เรื่องค่าไฟฟ้า เรื่องของราคาแก๊ส แล้วก็อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนในเรื่องของพลังงาน มันเยอะมาก และเป็นปัญหาที่หมักหมมมา ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี 

"กระทรวงพลังงานปีนี้จะเริ่มปีที่ 22 แต่ปัญหาที่พูดมาทั้งหมด เกิดมาก่อนกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำมัน ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ผมเองใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก ในการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ผมคิดว่าผมพอใจในการทํางานของผมเองที่ 2-3 เดือนแรกก็สามารถที่จะศึกษาทั้งหมดได้ครับ"

>> ออกประกาศให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
"หลังจากศึกษาก็หาวิธีแก้ไข โดยเฉพาะอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประหลาดมากที่เราไม่เคยรู้ต้นทุน และก็ไม่เคยขอให้ผู้ค้าบอกต้นทุนได้ ผมก็ต้องใช้เวลาในการหาวิธีที่จะดําเนินการ เพราะทุกฝ่ายมาบอกกับผมหมดเลยว่า 'ไม่มีอํานาจ' ซึ่งการจะมีอํานาจก็ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ และนอกจากแก้ไขกฎหมายธรรมดา ยังต้องแก้ไขกฎหมายอีกหลายอย่างซึ่งจะใช้เวลา ผมก็ต้องกลับมาใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายปัจจุบันมาศึกษาช่องทาง และผมทําเองทั้งหมด 

"สุดท้ายก็เจอช่องทางตามกฎหมายปัจจุบัน ผมจึงหารือกับทางสํานักงานกฤษฎีกา ซึ่งก็เห็นตรงกัน เลยยกร่างเบื้องต้นขึ้นมา แล้วก็ให้คณะไปร่างต่ออีกทีนึง ก็ออกมาเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน จากนั้น ก็มาเจอกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า การจะประกาศได้ต้องผ่านกระบวนการ พูดง่าย ๆ ภาษาง่าย ๆ ประชาชนเข้าใจง่าย คือต้องประชาพิจารณ์อีก เพราะฉะนั้นก็ทําให้กระบวนการที่จะออกประกาศใช้เวลาอีก 3-4 เดือน สุดท้ายก็มีผลบังคับเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทําให้ผมรู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และรู้ปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป"

>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลการขึ้นลงของราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ
"ต่อมา ผมก็คิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมันของบ้านเรา ในเรื่องของการใช้ระบบที่เรียกว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มารักษาระดับหรือพยุงราคา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่าประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันของ

ประเทศ ที่ว่ามี ๆ กันวันนี้ ไม่ใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองของผู้ประกอบการ และวัตถุประสงค์หลักก็คือ เป็นการสํารองด้านการค้า ขั้นต่ำของการสํารองเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยประเทศต้องอย่างน้อย 90 วันตามมาตรฐานสากล แต่ของเราไม่มี ที่มีอยู่ก็แค่ 20 วัน 

"เพราะฉะนั้นเราก็ตกมาตรฐานสากล เป็นมาแบบนี้ 40-50 ปี ไม่เคยมีใครทํา ผมก็ต้องมานั่งคิดอีก แล้วก็มานั่งคิดว่า ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่องกองทุนน้ำมันยังไง ก็ปรากฏว่ากองทุนน้ำมันไม่เคยมีกฎหมาย เพิ่งมีกันครั้งแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์อีก ผมก็ต้องมานั่งคิดว่าจะวางระบบเรื่องสํารองน้ำมันประเทศยังไง แล้วก็มาเจอปัญหาเรื่องราคาน้ำมันขายปลีก 

"ผมเองก่อนมาเป็นรัฐมนตรีก็สงสัย ทําไมราคาน้ำมันมันขึ้นลงกันได้ง่ายเหลือเกิน วันนี้อ้างราคาตลาดโลกขึ้น แต่เวลาลงทําไมมันไม่ลงง่ายเหมือนตอนขึ้น ก็ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายอีกครับ กลายเป็นว่าการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจเหมือนผมในอดีต ก็หาว่าทําไมกระทรวงพลังงานปล่อย มันไม่ปล่อยได้ไงครับ มันไม่มีกฎหมายให้อํานาจทําอะไรเลย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยเร่งทำกฎหมายในเรื่องนี้

"ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมมีบันได 5 ขั้น ผมก็ไล่มาทีละขั้นนะครับ หลังจากเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 2 ผมก็ต้องรีบมาแก้ปัญหาเรื่องการที่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันสามารถทําอะไรก็ได้ตามอําเภอใจ ไม่มีกฎหมาย  ผมก็มาแก้กฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 3 และตอนนี้ผมยกร่างกฎหมายนี้เสร็จแล้วครับ

"ผมขออนุญาตทําความเข้าใจนิดนะครับว่า การขออนุญาตค้าน้ำมันกับการกํากับดูแลนี่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เรามีแต่กฎหมายที่มาขออนุญาตค้าน้ำมัน แต่เมื่อเราให้อนุญาตไปแล้ว ก็อิสระเลยครับ ในขณะที่ทางด้านไฟฟ้า มีคณะกรรมการ กกพ. หรือคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับเรื่องของการประกอบกิจการ เรื่องของราคา เรื่องอื่น ๆ แต่น้ำมันไม่มี การกํากับดูแลสื่อก็ยังมี กสทช. แต่น้ำมันไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ประหลาด ปล่อยมาอย่างนี้ 40-50 ปี ผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน 

"ดังนั้น ผมก็เลยยกร่างกฎหมายที่ว่า ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้ว และจะประชุมคณะทํางานเพื่อจะตรวจร่างที่ผมร่างขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใหม่ในการกํากับดูแลไม่ให้การประกอบกิจการน้ำมันของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมันอยู่แล้ว สามารถทําอะไรได้เองตามอําเภอใจทั้งหมด แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เราจะมีการกํากับดูแล แล้วก็จะวางระบบเรื่องกองทุนน้ำมันฯ ใหม่ ซึ่งระยะเวลาการทํากฎหมายนี้จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเร็วพอสมควรแล้วกับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปครับ"

>> จัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ พลิกภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ให้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ
"ผมกำลังทําเรื่องกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ ซึ่งผมจะเอาน้ำมันตัวนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ เราจะมีน้ำมันมาดูแลน้ำมัน ผมจะเปลี่ยนกองทุนที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้เป็น Asset หรือทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทําแล้วครับ”

>> ตรึงค่าไฟสุดกำลัง!! ยับยั้งความเดือดร้อนประชาชน
"เรื่องของค่าไฟฟ้า ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นไปตามนโยบายของพรรคผม และของรัฐบาลตรงกัน คือลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชน มาถึงปั๊บเราก็แก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ทั้งประชาชนทั่วไป และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน แต่ว่าเราสามารถตรึงตรงนี้อยู่ได้ช่วงหนึ่ง เพราะว่าราคาแก๊สในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น พอมาช่วงที่ 2 ก็คือ ช่วงต้นปีนี้ ก็มีข่าวทันทีครับว่าไฟฟ้าจะพุ่งขึ้น

"สิ่งที่ผมพยายามทําก็คือ 'ถ้าลดไม่ได้ ก็ไม่ขึ้นครับ ต้องตรึง' แต่ว่าในช่วงแรกเรามีความจําเป็นต้องขยับราคา เนื่องจากภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับภาระหนี้แทนพี่น้องประชาชนในการที่ช่วยตรึงค่าไฟในช่วงแรกไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เขาเพิ่มสูงขึ้น เราเลยจําเป็นต้องอนุญาตขยับราคาขึ้นมาเป็น 4.18 

บาท ก็ขึ้นมานิดเดียวครับ จาก 3.99 บาท ซึ่งตอนแรกมีข่าวลือออกมาว่าจะขึ้นเยอะแยะ แต่ว่าในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังคงตรึงไว้ที่ 3.99 บาท เหมือนเดิมครับ

"หลังจากครบระยะ 4 เดือนตรงนี้ ก็มีข่าวขึ้นราคาอีก ซึ่งผมไม่อยากให้ขึ้น รัฐบาลก็ไม่อยากให้ขึ้น หรืออย่างน้อยเมื่อเราลดราคาไม่ได้ ก็ต้องตรึงไว้ที่เดิม นโยบายของเราก็ตรึงไว้ที่ 4.18 บาท ซึ่งการตรึงราคาครั้งที่สองนี้เหนื่อยกว่าครั้งแรกเยอะมากครับ เพราะอะไรครับ เพราะราคาก๊าซขึ้น ในขณะเดียวกันแก๊สในอ่าวไทยที่เราเคยผลิตได้ก็หายไปวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต แล้วยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง ผมก็ได้ไปกําชับเรื่องการขุดแก๊สจากอ่าวไทยเพิ่ม ทำให้แก๊สปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่หายไปก็สามารถกลับมาได้แล้ว และมีบริหารจัดการในอีกหลายเรื่องที่ทําให้เราสามารถตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท ได้อีกเหมือนเดิม

"พอมาครบ 4 เดือน ในงวดที่เพิ่งผ่านมา ก็มีข่าวมาอีกแล้วว่าจะขึ้นไป 4 บาท 50-60 สตางค์ หรือไปถึง 6 บาทเลยนะครับ ตรงนี้เราก็มาบริหารจัดการ สุดท้ายผมก็ยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ที่ 4.18 บาท แล้วคณะรัฐมนตรีก็อนุมัติให้ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ 3.99 บาท โดยใช้เงินงบประมาณมาเหมือนเดิม  นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทํามาในช่วงหนึ่งปีในการตรึงค่าไฟฟ้า ผมสามารถพูดได้เลยครับว่า ราคาค่าไฟในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงาน อย่างน้อยไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนนะครับ"

>> สร้างหนทางหลุดพ้นปัญหาค่าไฟแพงอย่างยั่งยืน
"ทําอย่างไรที่จะให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ไฟได้ถูกลง มีทางเดียวก็คือต้องใช้พลังงานที่เขาเรียกว่าพลังงานสะอาด ซึ่งก็มี 3 อย่าง คือ ลม, แดด, น้ำ ซึ่งสําหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป วันนี้คงคุ้นเคยกับเรื่องของ Solar Rooftop หรือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคานะครับ 

"เพียงแต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทําให้เกิดปัญหามาตลอดคือ ความยุ่งยากในเรื่องของการติดตั้งและการขออนุญาต ซึ่งผมกําลังจะออกกฎหมายฉบับใหม่ ตอนนี้ยกร่างเสร็จแล้วเหมือนกัน เพื่อที่จะกํากับดูแลเรื่องของการติดตั้งให้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนที่ผ่านมา ทําไมมันยุ่งยาก ก็เพราะมันไม่มีกฎหมาย พอไม่มีกฎหมาย ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ก็บอกว่าเป็นอํานาจของตนเองหมดเลย ประชาชนก็วิ่งไปทั่วเลย ไปหาหน่วยงานนั้น ไปหาหน่วยงานนี้ กว่าจะติดตั้งได้ 

"เพราะฉะนั้นผมจะออกกฎหมายฉบับนี้ ภายในปลายปีนี้ ผมคิดว่ากฎหมายนี้ก็จะเสร็จตามกฎหมายน้ำมันนะครับ ก็จะทําให้พี่น้องประชาชนสามารถติดตั้งระบบ Solar บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้นครับ"

>> แสวงหานวัตกรรมพลังงานราคาถูกเพื่อประชาชน
"แต่ว่าเมื่อติดตั้งแล้วก็มีประเด็นต่อไปครับ วันนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นระบบหลังคา Solar หรือระบบไฟฟ้า มันแพงครับ สิ่งที่ผมได้ดําเนินการในส่วนนี้ ก็คือ ให้คนที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นมาดําเนินการวางระบบ Solar Rooftop ให้ประชาชนในราคาถูกครับ ปกติพลังงานแสงแดดที่มาผลิตไฟฟ้าจะใช้ได้เฉพาะกลางวัน เพราะกลางคืนไม่มีแดด ถ้าจะใช้กลางคืนจะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า แบตเตอรี่เก็บสํารอง ซึ่งแบตเตอรี่นี่แพงมากครับ อย่างน้อยก็เป็นหลักแสน 

"ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงพลังงานโดยผมได้ดําเนินการไปก็คือ เราได้ทําการประดิษฐ์คิดค้นแบตเตอรี่ขึ้นมา ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลอง ซึ่งเบื้องต้นผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ แบตเตอรี่นี้สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศได้ 3 เครื่อง ใช้กับตู้เย็นได้ 1 เครื่อง ในงบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น ระบบ Inverter ที่ต้องมาควบคุมระบบไฟฟ้าขายกัน 4-5 หมื่นบาท โดยเราสามารถประดิษฐ์ได้อยู่ที่ราคา 7-8,000 บาท ไม่เกินหมื่นบาท 

"ส่วนแผงโซลาร์อย่างต่ำ 160 โวลต์ ปกติจะใช้ 4 แผง แต่เราสามารถดัดแปลงใช้แค่ 2 แผง ทั้งหมดนี้น่าจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ก็สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวัน กลางคืน ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ผมสั่งการให้มีการทดสอบทดลองอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าในรอบปีที่ 2 ที่ผมดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ผมจะทําตรงนี้ออกมา และจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับพี่น้องประชาชนในราคาที่ถูก ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพง โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟ แต่ใช้แสงแดดของเราแทน

>> โยกระบบแก๊สแก้ปัญหาค่าไฟ
"ส่วนเรื่องค่าแก๊สนะครับ แก๊สที่ขุดจากอ่าวไทยผมขออนุญาตเรียนว่าไม่ได้ขุดมาแล้วใช้เป็นแก๊สหุงต้มสําหรับประชาชนได้หมดนะครับ มันต้องมาแยกก่อนและส่วนหนึ่งจะเป็นแก๊สหุงต้ม แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า มีการนำแก๊สจํานวนหนึ่งไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่ใช้ราคาเดียวกับราคาของแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นการกําหนดราคาแบบไม่ถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่เคยมีใครลงมือทํา แต่ผมได้แก้ไขปัญหานี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567 นั่นคือ การโยกระบบแก๊สให้อยู่ถูกที่ถูกทาง โดยแก๊สที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรมต้องอยู่ในราคาที่ถูกต้องเหมาะสม และตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้ผมสามารถยันราคาค่าไฟไว้ได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ด้วยการปรับโยกการใช้แก๊สจากอ่าวไทยให้อยู่ในราคาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปใช้ราคาแก๊สหุงต้มของพี่น้องประชาชน"

>> ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาแก๊สหุงต้ม
“ในเรื่องแก๊สหุงต้ม เราก็ตรึงราคามาตลอดนะครับ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 423 บาท ต่อ 15 กิโลกรัม มีคนร้องเรียนว่า บางร้านขายเกินราคา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอํานาจไปกํากับดูแลตรงนี้

เพราะฉะนั้นพอย้อนกลับไปสิ่งที่ผมพูดก่อนหน้านี้ว่า ผมกําลังออกกฎหมายใหม่ในเรื่องของการกํากับดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ก็จะครอบคลุมมาดูแลเรื่องราคาแก๊สนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ต่อจากนี้ไปกระทรวงพลังงานจะมีอํานาจตามกฎหมายใหม่ในการเข้าไปกํากับดูแล ไปตรวจสอบการขายแก๊สหุงต้มให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้อยู่ในระดับที่ไม่มีการไปโกงพี่น้องประชาชนก็ได้อีก อันนี้ก็เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ที่จะทําออกมา"

>> เขียนกฎหมายเอง ทำงานทุกวันถึงตี 3
"การจะเขียนกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจเรื่อง และคนที่เข้าใจเรื่องก็ต้องเขียนกฎหมายเป็น  ซึ่งต้องถือว่าเป็นโชคดีอย่างนึงที่เผอิญผมเขียนกฎหมายเป็น และเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ผมเขียนเองหมดเลย ผมใช้เวลากลางคืนทุกคืน กฎหมายที่ผมบอกว่าจะกํากับดูแลกิจการพลังงานไม่ให้มีการปรับราคากันทุกวัน แล้วก็จะดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบพี่น้องประชาชนในเรื่องของน้ำมัน 

"ผมเริ่มเขียนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ผมได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมัน ผมทํางานทุกวันทั้งวัน งานประจํา งานต้องเซ็น ผมไม่เคยค้าง ผมเซ็นทุกวัน ผมใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 ทุกคืน ตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ วันนี้ผมร่างเสร็จแล้ว และผมกำลังจะเชิญประชุมของคณะทํางานด้านกฎหมายของผม เพื่อตรวจสอบต่อไป กฎหมายนี้ผมร่างเองทั้งฉบับ ด้วยมือผมเอง ใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตีสามทุกคืน"

>> ลงลึกตัวบทกฎหมายให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
"อันดับแรกของกฎหมายก็คือ 'บทนิยาม' บทนิยามสําหรับกฎหมายอื่นไม่มีปัญหา เป็นเรื่องเบสิก แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เลยครับ บทนิยามจะเป็นตัวกําหนดหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนราคาน้ำมันแบบไหน อย่างไร คิดอย่างไร 

"จากบทนิยามก็จะมีเรื่องของการกําหนดว่า การประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สจะต้องอยู่ภายในกฎหมายนี้อย่างไร กฎหมายนี้จะมีการกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิง ว่าแต่ละเดือนราคาน้ำมันควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงกว่าราคากลางที่กําหนดออกมาตรงนี้จะต้องมาพิสูจน์อย่างไรว่า เขามีต้นทุนที่สูงขึ้นถึงจะปรับราคาได้ ไม่ใช่นึกจะปรับก็ปรับนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นธรรมทุกฝ่าย ประชาชนก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันภาครัฐก็เข้าไปปรับดูแลได้

"สำหรับรูปแบบของกองทุนน้ำมันที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็จะมีวางระบบใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีเรื่องของการให้ความเป็นธรรมเกี่ยวกับการร้องเรียนต่างๆ เพราะคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอาจกําหนดอะไรออกมาแล้วไม่ถูกต้อง ก็มีระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้"

>> เปิดช่องน้ำมันเสรีสำหรับผู้ประกอบการ
"ที่สําคัญ ผมจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมไปถึงสหกรณ์ต่าง ๆ สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ที่ผมเคยตอบไปในสภาว่าโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทําให้น้ำมันประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่น ไม่ใช่อยู่ที่เนื้อน้ำมัน แต่อยู่เรื่องนโยบายและภาษี ภาษีส่วนหนึ่งคือ ภาษี VAT ภาษี VAT อย่างน้อย 7% นะครับ ภาษี VAT จะเก็บจากการค้า แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นการค้า เป็นการใช้ของเราเอง เอาเข้ามามันไม่มี VAT เมื่อไม่มี VAT อย่างน้อยราคาน้ำมันลดไปเลยครับ

"ผมยกตัวอย่างกลุ่มของผู้ประกอบการขนส่ง ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องเติมน้ำมันก็ไปที่ปั๊ม ดูราคาขึ้นลง แต่ที่ผมเคยบอกไว้ว่าผมจะเปิดเรื่องการค้าน้ำมันเสรี ผมก็เอามาลงอยู่ตรงนี้ คําว่าเสรีของผมหมายความว่า เราจะต้องไม่ปิดกั้นประชาชน ถ้าเขาสามารถหาน้ำมันมาใช้ได้เอง ก็ต้องเปิดโอกาส แต่เขาจะหาได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของเขา รัฐต้องไม่ห้าม เพราะนี่คือการค้าเสรี ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเองด้วย ตรงนี้จะทําให้ต้นทุนถูกลงและประหยัดเลยครับ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งถ้ารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เป็นสมาคม ก็จะสามารถไปหาซื้อน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาถูกลง

"ที่สำคัญคือเรื่องของการขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าหลายเรื่อง และเป็นต้นทุนการดํารงชีวิตของคน ก็จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งเป็นสมาคม และสามารถไปหาน้ำมันมาใช้เอง ตรงนี้ก็จะหลุดพ้นจากเรื่องของการที่ต้องไปซื้อน้ำมันตามราคาที่คนนู้นประกาศ คนนี้ประกาศ เพราะฉะนั้นถ้าท่านสามารถหาน้ำมันที่ถูกกว่าในประเทศมาใช้ได้ เอาเลยครับ ผมอนุญาต เพราะตรงนี้จะช่วยลดภาระของพี่น้องประชาชนในเรื่องของต้นทุนสินค้า ลดภาระของผู้ประกอบการขนส่ง เพราะไม่ต้องไปจ่ายระบบภาษีเยอะ  

"นี่เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นทางออกจากปัญหาที่ว่า ทําอย่างไรจะให้หลุดจากปัญหาเรื่องภาษีได้ โดยที่เราก็ไม่ได้ไปแก้กฎหมายอะไร เพียงแต่ใช้ช่องที่ว่า เมื่อไม่มีการค้า ก็ไม่ต้องเสีย VAT อย่างน้อยตรงนี้ก็ลดภาษี VAT ไปได้ 2 ช่วงนะครับ ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาน้ำมันวันนี้โดน VAT 2 ช่วง 

"เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการขนส่งสามารถหาน้ำมันมาเองในราคาถูกอยู่แล้ว และไม่ต้องมาเสีย VAT ต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งในเรื่องน้ำมันจะลดลงไปทันที แล้วเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย ลดต้นทุนการผลิตด้วยนะครับ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่จบ"

>> คุมค่าไฟหอพักให้เหมาะสมเป็นธรรม
"เมื่อกี้เราคุยกันว่า ค่าไฟเราตรึงไว้ที่ 4 บาท 18 สตางค์ ส่วนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟ 3.19 บาท แต่ปรากฏว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับการร้องเรียนเข้ามาก็คือ ผู้ประกอบการที่เอาไฟ 4.18 บาท ไปขายต่อ เช่น หอพัก หรือกิจการอื่น ๆ ที่ไปเก็บค่าไฟเกินกว่า 4 บาท 18 สตางค์ 

"ตามกฎหมายต้องถือว่าท่านเป็นผู้ค้าไฟฟ้านะครับ เอาไฟฟ้าหลวงไปขายถือว่าเป็นการทําการค้า แล้วก็สร้างปัญหา ไม่มีใครมาคุมในส่วนนี้ บางรายขายจาก 4.18 บาท เป็น 8 บาท หรือ 9 บาท 12 บาทก็มี อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงนะครับ ผมเข้าใจว่าผู้ประกอบการก็ต้องทํา แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็เดือดร้อน ทําอย่างไรจะอยู่ในราคาที่เหมาะสม เรื่องนี้ผมได้หารือกับทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ก็คงจะออกเป็นมาตรการต่อไปในการช่วยดูแลปัญหาเรื่องการเอาค่าไฟไปเก็บแพงในหอพัก หรือในกิจการอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไปอีกด้วยครับ"

>> ทำทันที!! ไม่เคยกลัวอิทธิพลกลุ่มทุน 
"ผมเคยเจอคําถามว่า 8 ปีที่แล้ว 9 ปีที่แล้วทําไมถึงไม่ทํา ผมฟังแล้ว ผมรู้สึกตลกนะ 8 ปี 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นรัฐมนตรีพลังงานหรือเปล่าล่ะครับ ผมไม่ได้เป็น ผมเพิ่งมาเป็นได้แค่ปีเดียว แล้วคนที่ถามไปอยู่ไหนมาถึงไม่รู้ว่าผมไม่ได้เป็น แต่เมื่อเป็นปั๊บ ผมก็ทําทันทีนะครับ และถ้าผมอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มทุน 1 ปีที่ผ่านมา ที่ผมพูดมาทั้งหมดเมื่อกี้ คิดว่าผมทําได้ไหมครับ ผมไม่เคยกลัวครับ ผมทํางานในทางการเมืองมา 30 ปี ผมไม่เคยกลัว และไม่เคยมีผลประโยชน์ ผมทําทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเท่านั้น ไม่เคยกลัว ทําได้ก็ทํา ทําไม่ได้ก็จะทํา ทําให้ถึงที่สุดครับ ผมไม่เคยกลัวอิทธิพลอะไรทั้งนั้น ถ้าผมทําไม่ได้นั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมกลัว กลัวไม่ได้ทํา"

>> ทำงานเยอะ ไม่เครียด ถ้าเครียด ก็เริ่มใหม่ได้
"มันเป็นเรื่องปกติของคนนะ ถ้าจะบอกว่าไม่เครียด มันเป็นไม่ได้หรอก มันก็มีปัญหาที่ทําให้เราเกิดความเครียดนะครับ แต่ความเครียดของผม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่บางครั้งคิดไม่ออก คิดไม่ออกว่าปัญหานี้จะแก้ยังไง ไม่ได้เครียดจากการทํางานเยอะนะครับ แต่จะเครียดจากการคิดไม่ออก ผมก็มีวิธีแก้ให้เราลดความเครียดลง เพราะผมคิดว่า เครียดไปมันก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นธรรมชาติของคน มันเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องมีวิธีแก้ปัญหาให้เราลดความเครียดลง เพื่อจะเดินหน้าต่อไปได้ ถามว่าแก้ความเครียดยังไง ก็แล้วแต่สถานการณ์นะ บางครั้งผมก็ไปเช็ดรถ ล้างรถ ขัดรถ ทําบ้าน ก็ว่ากันไป นั่งดูยูทูบบ้าง ดูเว็บไซต์เรื่องที่เราสนใจ จะได้เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนอารมณ์ ให้สิ่งที่มันทําให้เกิดปัญหาในความคิดในสมองมันลดระดับมา แล้วก็เริ่มต้นใหม่ได้ครับ"

>> ทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน
"ผมอยากเรียนว่าทั้งหมดนี้ ในระยะเวลา 12 เดือน ผมทําได้แค่นี้ ผมคิดว่าผมพอใจ และจะพอใจมากกว่านี้ถ้าทําให้เสร็จหมดภายใน 1 ปีถัดไป ผมก็จะพยายามทําให้ดีที่สุด จะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงานให้มากขึ้น"

"สุดท้าย ต้องขอบพระคุณพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาในอดีตทั้งหมดที่ผมทํางานการเมืองมา ไม่เคยมีคนมาเชียร์หรือมาช่วยอะไรมาก ผมเป็นคนทํางานแบบทําในสิ่งที่ต้องทํา ไม่ใช่ทําเพราะว่าคนเชียร์ หรือว่าทําเพราะคนด่า ผมไม่เคยสนใจ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผมรู้สึกแปลกใจ แล้วก็ดีใจ ที่มีคนเชียร์ผมเยอะ แล้วก็สนับสนุนการทํางานผมเยอะ ส่วนหนึ่งผมจําได้ ผมเคยไปออกรายการอาจารย์ยิ่งศักดิ์ ตั้งแต่แรก ๆ ที่ผมเป็นรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าผมจะทําเพื่อประโยชน์ประชาชน ขอให้พี่น้องประชาชนเป็นผนังกําแพงให้ผมพิง ก็ต้องขอบพระคุณทุกท่านครับ" เจ้ากระทรวงพลังงานกล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top