เปิดไทม์ไลน์ ‘พีระพันธุ์’ เหตุใดถึงทำให้ ‘เขา’ เพิ่งจะมาปฏิรูปพลังงานตอนนี้ เพราะ ‘ตัวจริง’ เพิ่งมี ‘โอกาส’ และอยู่ในช่วงหล่อดาบ (กฎหมาย) มาลงทัณฑ์
ทำไม ‘พีระพันธุ์’ เพิ่งจะปฏิรูปพลังงาน ทำไม...แปดปีที่ผ่านมาจึงไม่ทำ?
ในขณะที่ทุกวันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงพลังงานที่สำคัญทั้งระบบที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเกิดความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม ให้เป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า แปดปีของรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ทำไม ‘พีระพันธุ์’ จึงไม่ได้ทำ
ย้อนกลับไปในช่วงแปดเก้าปีที่แล้ว หลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจ ‘พีระพันธุ์’ ก็เช่นเดียวกับนักการเมืองอื่นคือไม่ได้มีสถานะใดๆ ทั้งสถานะ สส.และฝ่ายบริหาร แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
สี่ปีต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับเลือกเป็น สส.ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งบริหาร แต่ใช้สถานะความเป็น สส.ศึกษาเรื่อง 'โฮปเวลล์' ผ่านการทำงานในคณะกรรมาธิการ
เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วเห็นว่าคดีนี้น่าจะมีปัญหาเรื่องการนับอายุความ จึงได้สืบค้นเพิ่มเติมหลักกฎหมายเรื่อง 'อายุความ' และพบว่า ศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า 'การนับอายุความ' ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดใช้ 'มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด' เป็นหลักในการตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย
‘พีระพันธุ์’ ซึ่งมีความเห็นต่างและได้ชี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ 'มติที่ประชุมใหญ่' เป็นหลักในการตัดสินได้ เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ กระทั่งต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่คดีโฮปเวลล์จำนวนหลายหมื่นล้านบาท
วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ‘พีระพันธุ์’ ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคฯ ไปด้วย แต่ยังคงไม่ละมือจากการทำงานกรณีโฮปเวลล์
สิบวันต่อมา วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาเมื่อนายกฯ ขอความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ได้เดินหน้าร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อสู้คดีกรณีโฮปเวลล์อย่างเข้มข้น
และต่อมาเมื่อ 20 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยที่สองของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘พีระพันธุ์’ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งตำแหน่งเลขาฯนายกฯก็ไม่ได้มีอำนาจบริหารกระทรวงเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองงานให้นายกฯและทำงานที่ได้รับมอบหมายเฉพาะบางกรณี เพราะอำนาจในการบริหารในการบริหารราชการอยู่ที่รัฐมนตรีผู้เป็นเจ้ากระทรวงเท่านั้น
ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคร่วมรัฐบาล ปฐมบทแห่งการปฏิรูปพลังงานด้วยนโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง จึงพึ่งจะได้เริ่มต้นขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่พี่น้องประชาชนคนไทยไม่รู้เลยก็คือ การปฏิรูปพลังงานนั้นจะต้องอาศัยเครื่องมือที่มีทั้งประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูงสุดก็คือ ‘กฎหมาย’ ซึ่งต้องมีการออกแบบและจัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้การปฏิรูปพลังงานเกิดขึ้นและดำเนินการขับเคลื่อนได้
ด้วยนโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ...
(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตาม ม. 7 พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยผู้ต้าต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรู้ถึงต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงจำหน่ายปลีกในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้ว
(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นในไทยได้สำเร็จ ทำให้รัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ในขณะที่ทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่รองรับการใช้งานได้พียง 25-36 วันเท่านั้น และหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ ซึ่งระบบ SPR จะรวมถึงเชื้อเพลิงทางเศรษฐกิจที่สำคัญทุกชนิดอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว...
(3) ‘พีระพันธุ์’ ยังได้ประสานกับบริษัทนานาชาติเพื่อร่วมมือในการพัฒนาพลังงานใหม่ในประเทศ อาทิ ‘ไฮโดรเจน’ เพื่อทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม ดังนั้น การปฏิรูปพลังงานตามแนวทางของ ‘พีระพันธุ์’ หากสามารถทำได้สำเร็จแล้ว ที่สุดจะสร้างประโยชน์โภคผลมากมายให้เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมอย่างยั่งยืน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES