Friday, 4 July 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ปัญหาด้านพลังงาน (น้ำมัน) หมักหมมมามากกว่าก่อนเกิดกระทรวงฯ ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

‘พีระพันธุ์’ ชี้!! ประเทศไทยไม่มีการสํารองน้ำมันในระดับ 90 วัน เป็นเหตุให้ราคาน้ำมัน ‘ขึ้น-ลง’ กันได้ง่าย

🔎ตามติด 1 ปี ‘พีระพันธุ์’ ใต้หมวกเจ้ากระทรวงพลังงาน
📔อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://thestatestimes.com/post/2024082922 

'กพช.' ไฟเขียว!! ต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันผสมเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี อุ้ม!! 'กลุ่มเกษตรกร-รง.เอทานอล-ผลิตน้ำมันปาล์ม' ให้มีเวลาปรับตัว

(5 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายน นี้เป็นลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเหลือโอกาสในการขอขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เวลาอย่างจริงจังในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงน้ำมันปาล์ม ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวไปจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่นๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน เช่น จำหน่ายในตลาดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นต้น

‘กฟผ.’ โชว์เทคโนโลยี ‘LED เบอร์ 5’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน ‘LED Expo Thailand & Smart Living Expo 2024’

(6 ก.ย. 67) นายไชยยศ ตั้งวรกุลชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเปิดงาน LED Expo Thailand & Smart Living Expo 2024 ณ ห้องแอมเบอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน 

งานนี้ถือเป็นมหกรรมเทคโนโลยีแสงสว่างอัจฉริยะใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวบรวมและนำเสนอนวัตกรรม โซลูชัน เทคโนโลยีด้านไฟฟ้าและแสงสว่างอัจฉริยะระดับนานาชาติกว่า 500 แบรนด์จาก 10 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมี Zhejiang International Trade Exhibition 2024 เวทีการค้าระดับทวิภาคีที่สำคัญระหว่างจีนและไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการค้ามณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน (5 ก.ย.)

นายไชยยศ ตั้งวรกุลชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน LED Expo Thailand & Smart Living Expo 2024 โดยจัดแสดงบูทนิทรรศการโซน ‘กฟผ. พาวิลเลี่ยน’ ณ บูท G10 นำเสนอการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเทคโนโลยี LED เบอร์ 5 ที่ กฟผ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 สำหรับ LED ที่ใช้ในครัวเรือน อาคาร โรงงาน และขยายผลสู่โคมไฟถนน ตลอดจนการนำร่องใช้ระบบไฟฟ้า LED ติดตั้งในศาสนสถานและสถานที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นต้นแบบนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้นำเสนอแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ENZY EGAT's Smart Energy Solution ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในบ้านและอาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในบูท กฟผ. ยังมีการนำเสนอ 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา อาทิ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เบอร์ 5 ในพื้นที่โครงการหลวง โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เบอร์ 5 วัดมหาธาตุวชิรมงคล โครงการจัดตั้งห้องเรียนสีเขียว โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม 

LED Expo Thailand & Smart Living Expo 2024 แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนนวัตกรรม LED ล่าสุด โซนเทคโนโลยีแสงสว่างอัจฉริยะ โซนอุตสาหกรรมแสงสว่างยั่งยืน และโซนกิจกรรมสร้างเครือข่าย เพื่อโอกาสทางธุรกิจ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 7 กันยายน 2567 ณ Hall 7 และ 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

จับตา!! ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานไทยครั้งใหญ่เพื่อคนไทยจาก 'พีระพันธุ์'

(12 ก.ย. 67) เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจดจำโมเมนต์การเติมน้ำมันผิดวันได้เป็นอย่างดี ในวันที่เราเพิ่งเติมเต็มถัง กลับมีข่าวประกาศว่า “พรุ่งนี้น้ำมันลดราคา 30 สตางค์” หรือในวันที่เลิกงานช้าถึงบ้านดึก แล้วมาพบข่าวว่า “พรุ่งนี้น้ำมันขึ้น 60 สตางค์” 

แม้จะไม่ใช่มูลค่ามากมาย แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจ่ายแพงกว่าเดิมแน่ ๆ นี่ยังไม่รวมโมเมนต์หงุดหงิดกับราคาน้ำมันที่ถูกอ้างว่าขึ้นตามตลาดโลก แต่เวลาตลาดโลกลดลง ทำไมราคาน้ำมันในบ้านเรากลับยังเท่าเดิม จนทำให้คิดไปได้ว่า ผู้ค้าน้ำมันนึกอยากจะขึ้นก็ขึ้นใช่หรือไม่?

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการเร่งออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน มองว่า นับตั้งแต่ที่นายพีระพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ 1 ปี เขาได้กลายเป็นรัฐมนตรีที่สร้างความแตกต่างไปจากอดีตรัฐมนตรีพลังงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง 

แม้นายพีระพันธุ์จะมาจากสายกฎหมาย มิใช่ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทน้ำมัน และไม่มีประสบการณ์ด้านพลังงานมาก่อน แต่นายพีระพันธุ์สามารถใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาพลังงานที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี โดยปัญหาราคาน้ำมันที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี เป็นเพราะไม่มีใครสามารถรู้ราคาต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน ซึ่งเมื่อไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงก็ไม่สามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ แต่กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์สามารถออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน และมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาแล้ว  

นอกจากประเทศไทยจะไม่เคยมีกฎหมายให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันแล้ว เราก็ไม่เคยมีกฎหมายในการควบคุมการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้พี่น้องประชาชนเคยสงสัยกันมาตลอด สงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ดูแลเลย นั่นเป็นเพราะกระทรวงพลังงานไม่มีกฎหมายอยู่ในมือจึงไม่มีอำนาจจะไปกำกับควบคุมการปรับราคาน้ำมันขึ้นหรือลงได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแต่กฎหมายในการอนุญาตให้ค้าน้ำมัน แต่ไม่มีกฎหมายในการกํากับดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก ๆ เพราะขนาดราคาค่าไฟฟ้า ยังมีคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับดูแลการปรับขึ้นราคาที่ต้องสมเหตุผล ขนาดการกํากับดูแลกิจการสื่อก็ยังมี กสทช. แต่ราคาน้ำมันไม่มีการกำกับดูแล และเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์ ลุกขึ้นมาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กระทรวงมีอำนาจในการดูแลราคาน้ำมัน สกัดกั้นบรรดาผู้ค้าน้ำมันที่ปรับราคาขึ้นลงตามอำเภอใจ หรืออ้างขึ้นราคาตามตลาดโลก แต่เวลาราคาตลาดโลกลดกลับไม่ลดราคาตาม

แหล่งข่าวมองว่า ภารกิจที่ท้าทายในเรื่องน้ำมันนั้น ก็คือ การผลักดันกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหลายสิบปี ประเทศไทยไม่เคยมีการสํารองน้ำมันของประเทศเลย ที่อ้างอิงหรือระบุว่ามีนั้นมิใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราปล่อยให้คนทั้งประเทศและเสถียรภาพทางพลังงานทั้งหมดตกอยู่ในมือของบรรดาผู้ค้าน้ำมัน 

ดังนั้นการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง และหากสามารถผลักดันการสำรองน้ำมันของประเทศได้ นายพีระพันธุ์ก็ยังมีแผนที่จะนำน้ำมันสำรองมาดูแลแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแทนการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำมันสำรอง และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนน้ำมันสำรองนี้มาเป็นสินทรัพย์ของกองทุน เพื่อให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันกลายเป็นการสร้างทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มพูน กองทุนน้ำมันจะไม่ต้องแบกหนี้สินจากการตรึงราคาน้ำมัน และมิใช่ภาระหนี้สินของประเทศอีกต่อไป

สำหรับเรื่องพลังงานไฟฟ้า นายพีระพันธุ์ ก็กำลังผลักดันกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น เพราะการติดตั้งในปัจจุบันมีความยุ่งยากทั้งเรื่องขออนุญาตและการติดตั้ง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่ไม่มีกฎหมาย ซึ่งพอไม่มีกฎหมาย บรรดากระทรวงและ หน่วยงานต่าง ๆ ก็บอกว่าเป็นอํานาจของหน่วยงานตนเองหมดเลย ประชาชนก็ต้องวิ่งไปขออนุญาตทุกที่ เสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย และสร้างความยุ่งยากกว่าจะได้ติดตั้ง แต่หากกฎหมายของกระทรวงพลังงานเสร็จเรียบร้อย จะเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้น

และนอกจากการออกกฎหมายให้เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็กำลังหาทางช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่ถูกลง ด้วยการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีคุณภาพสูงแต่มีราคาถูกลง ได้แก่ ระบบแบตเตอรี่สำรอง เพราะการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสงแดด จะต้องใช้แบตเตอรีเก็บสํารองที่มีราคาแพงมาก กระทรวงพลังงานจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน ซึ่งมีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ระบบอินเวอร์เตอร์ และระบบแบตเตอรี่สำรอง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ชุดผลิตและสำรองไฟฟ้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย โดยโจทย์สำคัญที่สุดคือจะต้องทำให้มีราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘เอกนัฏ’ ประสานความร่วมมือ ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ แก้ช่องโหว่กฎหมายเอื้อโซลาร์ทั่วถึง-ดันนิคมฯ SME ช่วยรายย่อย

(17 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วานนี้ (16 ก.ย.67) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย 

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 

รมว.เอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม

'พีระพันธุ์' ตอกย้ำ!! กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ เดินหน้า!! แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมงานเสวนา ‘สามย่านคาเฟ่’ ครั้งที่ 2 ย้ำชัด จะเดินหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยกฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ ทั้งกฎหมายคุมกิจการค้าน้ำมัน กฎหมายส่งเสริมการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ และกฎหมายตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ จะยกร่างเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะยื่นเสนอสภาพิจารณาต่อ เชื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ (22 ก.ย.67) สำนักข่าวออนไลน์ UTN TODAY ได้จัดงานเสวนา จัดงานเสวนาอินฟลูฯ 'สามย่านคาเฟ่' แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โลกออนไลน์ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ KliqueXSomyan ชั้น 3 I'm Park สามย่าน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน พร้อมตอบคำถามเรื่องพลังงานในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการจัดตั้งระบบน้ำมันสำรอง การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ (SPR)

นายพีระพันธุ์ ได้ย้ำถึงแนวทางการทำงานตามนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและประเทศชาติ ผ่านการออกกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย...

(1) กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 
(2) กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ และ 
(3) กฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะเข้ามาตอบโจทย์และไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพลังงานได้อย่างยั่งยืน

โดยกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเน้นในเรื่องการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนจริงแทนการอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ และการดึงอำนาจด้านกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา เพื่อดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญจะไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นลงรายวันตามอำเภอใจอีกต่อไป ขณะเดียวกันกฎหมายฯ ยังจะครอบคลุมไปถึงโครงสร้างการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีหลายต่อ ทั้งภาษีการค้าน้ำมัน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นยังเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่เนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อลิตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของภาษี อาจจะไม่สามารถลดได้อย่างเต็มที่ เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคการเกษตร ธุรกิจขนส่ง และผู้มีรายได้น้อย ที่สามารถจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาใช้แทนการซื้อภายในประเทศ เพื่อทางออกในการลดต้นทุนทางภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเปิดนำเข้าน้ำมันเสรี โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างให้คณะทำงานตรวจสอบความเรียบร้อย

ส่วนในค่าไฟฟ้าแพง ที่เป็นปัญหาต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถลดราคาค่าไฟลงได้ แต่จะพยายามไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะราคาก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักยังมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยไม่เพียงพอ 

แต่ปัญหาค่าไฟแพงจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เพียงพอ แต่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การขออนุญาตในการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีความยุ่งยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และไม่มีกฎหมายในด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ขึ้นมา เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายอยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติม

ขณะที่กฎหมายฉบับที่ 3 จัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) นั้น อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยนายพีระพันธุ์ ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการสำรองน้ำมันของประเทศเลย มีเพียงการสำรองเชิงพาณิชย์ของผู้ค้าน้ำมัน และมีปริมาณสำรองเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น หากเกิดวิกฤตน้ำมันเหมือนเมื่อปี 1973 ประเทศไทยจะไม่สามารถรับมือได้เลย

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ขณะเดียวกันหลักการของกฎหมายนี้คือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปลี่ยนการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาเป็นเก็บน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของรัฐบาลแทน และแน่นอนว่า จะทำให้กองทุนน้ำมันที่เคยเป็นหนี้สิน กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศประมาณ 1.8 แสนล้านบาททันที

“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าอย่างมาก และในฐานะนักกฎหมายต้องบอกว่า เป็นการยกร่างกฎหมายที่เร็วมาก และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งหมดภายในปีนี้ โดย 2 ฉบับแรก อาจจะเข้าสภาได้ทันภายในปี 2567 ส่วนฉบับที่ 3 การสํารองน้ำมันของประเทศ คาดว่า จะเข้าสภาได้ปี 2568 และเชื่อมั่นว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top