Friday, 4 July 2025
กระทรวงพลังงาน

เชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้กันมากที่สุด ในชีวิตประจำวันของคนไทย เหตุใดต้องมี ‘SPR’ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์

(19 ต.ค. 67) นับแต่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเมื่อเครื่องยนต์น้ำมันดีเซลเข้ามาแทนที่เครื่องจักรไอน้ำในเรือรบ การควบคุมปริมาณน้ำมันจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทหาร และมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่ถ่านหินลดความนิยมลงในช่วงกลางทศวรรษ 1950 สำหรับบ้านเราแล้ว มีการนำเข้ารถสันดาปภายในตั้งแต่ พ.ศ. 2447 และคนไทยก็ใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายต่อเนื่องนับแต่นั้นมา 

ด้วยรถยนต์สันดาปภายในใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ซึ่งในอดีตไทยเรายังต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปกระทั่งมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรก ณ ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2507 กิจการน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลไทยได้กลายเป็นวิสาหกิจของรัฐ 2 แห่งในปัจจุบันคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุกวันนี้คนไทยบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบ 1,995,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 44% ก๊าซธรรมชาติ 38% ถ่านหิน 12% พลังงานจากน้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้านำเข้า ฯลฯ อีก 6% ดังนั้นคนไทยจึงบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานปริมาณมหาศาล โดยต้องนำเข้าถึง 80% และที่ต้องนำเข้ามากที่สุดคือ ‘ปิโตรเลียม’

‘ปิโตรเลียม’ หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุเป็นองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยอาจมีธาตุอื่น เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ปนอยู่ด้วย ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียมเอง พลังงานความร้อน และความกดดันตามสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ ซึ่งแบ่งตามสถานะในธรรมชาติได้ 2 ชนิด ได้แก่ 
1. น้ำมันดิบ (Crude Oil)  มีสถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามคุณสมบัติ และชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ คือ
1.1 น้ำมันดิบฐานพาราฟิน
1.2 น้ำมันดิบฐานแนฟทีน
1.3 น้ำมันดิบฐานผสม 

โดยน้ำมันดิบทั้ง 3 ชนิด เมื่อนํามากลั่นแล้ว จะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ ซึ่งไทยเรานำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (เบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา) โดยกำลังการกลั่นเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกในปริมาณที่ไม่มากนัก 

2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)  จะประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในปริมาณร้อยละ 95 ขึ้นไป ส่วนที่เหลือจะเป็น ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ปนอยู่เพียงเล็กน้อย ไฮโดรคาร์บอนในก๊าซธรรมชาติ จัดอยู่ในอนุกรมพาราฟิน มีคุณสมบัติอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลงทางเคมีในสภาวะปกติ ก๊าซธรรมชาติมีองค์ประกอบส่วนใหญ่คือ มีเทน (CH4) ซึ่งมีน้ำหนักเบาที่สุด และจุดเดือดต่ำที่สุดเป็นส่วนประกอบถึงประมาณร้อยละ 70 ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

โดยที่ประเทศไทยนำเข้า ‘ปิโตรเลียม’ ปีละกว่าล้านล้านบาท ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกจึงส่งผลอย่างสำคัญต่อราคาเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจของไทยโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่ง ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ปัจจุบัน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของไทยติดลบเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ทำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องศึกษาหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดทำ ‘ระบบ SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ด้วยในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณสำรองเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

แต่ในยามที่เกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ จะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือในบางสถานการณ์แม้ จะมี ‘เงิน’ ก็ตาม แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ ดังนั้น ด้วยการถือครอง ‘น้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 90 วัน) เพื่อรอเวลาที่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจะผ่านพ้นไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

‘พีระพันธุ์’ สวมบท ‘พี่ตุ๋ย’ คุยเรื่องอนาคตพลังงาน ในวันหยุด พาน้องๆ ล้อมวงคุย!! นั่งโต๊ะทำงาน สนุกสนานเป็นกันเอง

(19 ต.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดกระทรวงพลังงาน ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการ เพื่อพานักเรียน เยาวชน ของสภานักเรียน ที่มีความสนใจในด้านพลังงานของไทย เข้าศึกษาดูงานในสถานที่จริงและเพื่อเป็นการเรียนรู้ข้อมูลด้านพลังงาน พร้อมเป็นทูตพลังงานในอนาคต

โดยในช่วงเช้า เป็นการบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงาน โดย ดร. ประเสริฐ สินเสริมสุขสกุล หัวหน้ากลุ่มน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว และน.ส.กนกวรรณ เส้งประถม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน

จากนั้น นายพีระพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้พูดคุยล้อมวงกับนักเรียน เยาวชน โดยสวมบทบาท พี่ตุ๋ย ที่มาชวนพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ด้านพลังงานทั้งของโลกและของประเทศไทย ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความเป็นกันเองและสนุกสนานในความรู้ที่นักเรียน เยาวชน ได้รับโดยตรงจากรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวง ซึ่งนายพีระพันธุ์ ในบทบาท พี่ตุ๋ย ได้อธิบายเรื่องที่ยากของการทำงานด้านพลังงานให้เข้าใจด้วยภาษาที่ง่ายและสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกองทุนน้ำมัน การสำรองน้ำมันของประเทศ อีกทั้งยังได้อธิบายถึงปัญหาการทำงานในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้อธิบายถึงการเตรียมการออกกฎหมายเพื่อประชาชน ในการลดขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ภาครัฐออกกฏหมายควบคุมที่มีความซับซ้อน และยุ่งยาก

ซึ่งหลังจากนี้ เมื่อมีการออกกฎหมายฉบับที่กำลังดำเนินการนั้น ประชาชนสามารถทำการติดตั้งได้โดยที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่มีหลายขั้นตอนแบบในอดีตที่ผ่านมา และจะส่งผลดีกับการใช้พลังงานทางเลือก 

หลังจากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ พาเยาวชนของสภานักเรียนเยี่ยมชมพื้นที่ของ บ้านพิบูลธรรม ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของกระทรวงพลังงาน เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร รวมทั้งยังได้เปิดห้องทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ไม่ได้เปิดให้ได้ชมบ่อยครั้ง และยังพานักเรียนนั่งร่วมโต๊ะทำงาน พร้อมกับเปิดร่างกฎหมายด้านพลังงานที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมนำเสนอ ให้นักเรียน เยาวชน ได้ชมเป็นกลุ่มแรกของประเทศอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ นายพีระพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องในรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ใช้บ้านพิบูลธรรม เป็นที่ทำการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำหรับประวัติของบ้านพิบูลธรรม เดิมชื่อว่า บ้านนนที สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปี 2240 ซึ่งเป็นตัวอาคารที่ 1 ที่อยู่ใกล้กับคลองผดุงกรุงเกษม จนในรัชสมัยต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานเงินเพื่อก่อสร้างบ้านหลังนี้ให้มีอาคารเพิ่มเติม เป็นส่วนอาคารที่ 2 พระราชทานให้กับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง สร้างประมาณ พ.ศ. 2456 อันเป็นปีที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยา

ที่บ้านหลังนี้มีชื่อว่าบ้านนนทีนั้น ตั้งตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเป็นตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง คือตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีอยู่ที่บ้านหลังนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2485

จะเห็นว่าสไตล์การออกแบบส่วนใหญ่มีความประณีตงดงามด้วยฝีมือสถาปนิกชาวอิตาลี เนื่องจากเป็นยุคที่ไทยกำลังเปิดรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาในหลายๆ ด้าน

จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484 บ้านนนทีถูกระเบิดเสียหายอย่างหนักเกินกว่าจะซ่อมแซม เจ้าของบ้านจึงขายให้รัฐบาล ช่วงเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามได้อนุมัติให้ซื้อไว้ในปี พ.ศ. 2498 และปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง และขนานนามใหม่ว่า ‘บ้านพิบูลธรรม’

ต่อมาในปีพ.ศ. 2501 จึงมอบให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติและเคยเป็นที่ทำการของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

ปตท. คุมราคา NGV เหลือ 17.90 บาท/กก. ถึง พ.ย.67 3 ปีที่ผ่านมาช่วย ปชช. ประหยัดเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

(21 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ทั่วไปเหลือ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบปี 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.-15 พ.ย. 2567 ทั้งนี้เป็นการปรับลดลงตามต้นทุนราคา NGV

โดยปัจจุบันราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปจะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกราคาตลาด และ ปตท.จะพิจารณาราคาทุกๆ 1 เดือน ทั้งนี้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2567 พบว่า ปตท. ได้เริ่มปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปตามกลไกราคาตลาด ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 โดยราคาเคยปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มี.ค. 2567 และลดลงต่ำสุดอยู่ที่  17.90 บาทต่อกิโลกรัม ในครั้งนี้ ( 16 ต.ค.- 15 พ.ย. 2567)

สำหรับในส่วนของราคา NGV ใน “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” ปตท. ยังคงตรึงราคาไว้เท่าเดิมที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม  เนื่องจากกระทรวงพลังงานยังขอความร่วมมือ ปตท. ให้จำหน่ายในราคาถูกต่อไปก่อน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มรถโดยสาร เบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือราคา NGV ให้ผู้ร่วมโครงการฯ เป็นเวลา 2 ปี หรือภายใน ธ.ค. 2568

โดยที่ผ่านมา ปตท. กำหนดราคาจำหน่าย NGV ในโครงการฯ ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย. 2567) จากนั้น ปตท. ได้พิจารณาปรับขึ้นราคา NGV สำหรับรถโดยสารธารณะเมื่อ 15 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เป็นดังนี้ 1. รถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และหมวด 4 (ไม่รวมรถ ขสมก.) ปรับราคาขึ้นจาก 14.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุด ปตท. ได้ประกาศตรึงราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเป็นเดือนที่ 4  ระหว่าง 16 ต.ค.-15 พ.ย. 2567 

ส่วนรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 (เส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก กรุงเทพฯ ไปยังส่วนภูมิภาค) และหมวด 3 (เส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร ซึ่งมีเส้นทางระหว่างจังหวัดหรือคาบเกี่ยวระหว่างเขตจังหวัดในส่วนภูมิภาค) ไม่มีการตรึงราคาแต่อย่างใด โดยปรับราคาเท่ากับราคา NGV ทั่วไปเป็น 17.90 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมราคา 18.59 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามราคา NGV สำหรับรถกลุ่มนี้จะไม่ได้รับส่วนลดหากราคาขายปลีก NGV ต่ำกว่า 18.59 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ยังกำหนดราคาสำหรับรถบรรทุก ที่เติมก๊าซ NGV ที่สถานีฯ แนวท่อ และสถานีฯ นอกแนวท่อ ใน “โครงการส่งเสริมความปลอดภัยใช้ NGV” โดยกำหนดปรับลดราคาจาก 18.59 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป)

ทั้งนี้ราคา NGV สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะใน “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” นั้น ทางกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคาไปก่อน ส่วนรถยนต์ทั่วไปที่เติม NGV นั้น ทาง ปตท. จะปรับเปลี่ยนตามกลไกราคาตลาดที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาการขายขาดทุน เนื่องจากเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา (1 พ.ย. 2564- 2 ต.ค. 2567) ปตท.ช่วยลดราคา NGV ให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขต กทม.และปริมณฑลเป็นมูลค่ากว่า 18,089 ล้านบาท สำหรับข้อมูล ปตท. ระบุว่า ปตท.มีปั๊ม NGV ทั้งสิ้น 343 สถานี มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 3,472 ตันต่อวัน

สำหรับทิศทางราคา NGV ในอนาคต ที่ปรากฎใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) มีการกำหนดให้ราคา NGV ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่ปี 2567-2575 พร้อมสนับสนุนเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ดั้งเดิม ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งจะต้องดำเนินการภายในปี 2567-2580

สำหรับนโยบาย 30@30 คือ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ภายในปี ค.ศ. 2530 การผลิตยานยนต์ในประเทศจะต้องเป็น EV อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
ที่มา : https://www.energynewscenter.com/%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%97-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2-ngv-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD-17-90-%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B8%81%E0%B8%81-%E0%B8%95/

‘พีระพันธุ์’ เปิดอาคาร 100 ปีให้นักเรียน เตรียมปั้น ‘ยุวทูตพลังงาน’ ส่อง ตำนาน ‘บ้านพิบูลธรรม’ ศูนย์บัญชาการ รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานไทย

(21 ต.ค. 67) เมื่อวันเสาร์ 19 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิด ‘บ้านพิบูลธรรม’ ศูนย์บัญชาการของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คณะนักเรียนและเยาวชน จากสภานักเรียนไทยได้เยี่ยมชม 

การศึกษาดูงานบนพื้นที่ที่ใช้ทำงานจริงในครั้งนี้คงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ไม่มากก็น้อย ไม่แน่ว่าหลาย ๆ ในวันหน้าคนที่เข้ามาศึกษาดูงานคงจะได้มีโอกาสใช้ ‘บ้านพิบูลธรรม’ แห่งนี้เป็นที่ทำงานในอนาคตก็ได้ 

แล้ว ‘บ้านพิบูลธรรม’ มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงถูกเลือกให้เป็นออฟฟิศหลักของกระทรวงพลังงานในยุคที่มีเจ้ากระทรวงที่ชื่อว่า ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ครั้งนี้ The States Times จะพาทุกคนหาคำตอบ 

จากคำบอกเล่าของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ระบุว่า บ้านแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมมีเพียงอาคารหลังเดียว โดยบ้านแห่งนี้ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ ‘เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี’ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ‘พระยาอนรักษราชมณเฑียร’ ก่อนในสมัยรัชการที่ 6 เจ้าพระยาธรรมาธิกรธิบดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่ง ‘เสนาบดีกระทรวงวัง’ และหลังจากนั้นอีกไม่นานนัก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งอันเป็นตึกหลักในปัจจุบัน พร้อมทั้งมีชื่อของบ้านในขณะนั้นว่า ‘บ้านนที’

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระยะห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกติดปากว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงสงคราม จึงมีระเบิดหลายลูกถูกทิ้งพลาดเป้ามาลงที่ ‘บ้านนที’ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก 

ต่อมาในปี 2498 รัฐบาลในสมัยที่นายกรัฐมนตรีมีชื่อว่า ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ได้ซื้อบ้านหลังนี้พร้อม ๆ กับบ้านอีกหลายหลัง อาทิ บ้านพิษณุโลก บ้านนรสิงห์  โดยบ้านหลังนี้ใช้เป็นที่รับรองแขกบ้าน-แขกเมือง พร้อม ๆ กับเปลี่ยนชื่อจากบ้านนที สู่ บ้านพิบูลธรรม 

โดยบ้านหลังนี้ได้รับรองแขกบ้านแขกเมืองที่มีความสำคัญหลายท่าน อาทิ พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis Bowes Sayre), ริชาร์ด นิกสัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และเจ้าสุวรรณภูมา แห่งราชอาณาจักรลาว 

ต่อมาบ้านพิบูลธรรม ได้ทำหน้าที่เป็นสถานที่ทำงานของกรมพลังงานแห่งชาติ หรือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน มาตั้งเเต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502

บ้านพิบูลธรรม มีอาคารเก่าแต่แรกสร้างซึ่งมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอยู่ 2 หลัง และศาลาไม้อีกหลังหนึ่ง คือ อาคารสํานักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า และ อาคาร กองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสํานักเลขานุการกรมและด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน อาคารทั้งสองหลังสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ที่นิยมในยุคนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงตามปีกอาคารสองข้าง และมีส่วนโค้งส่วนหักมุมและเฉลียง ต่างกันแต่ได้สัดส่วนกลมกลืน ประดับลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมหน้าวัวหรือพระโคนนที ติดอยู่ที่เหนือประตู เฉลียงที่มุมขวาของตึกหน้า และที่ผนังข้างประตูหน้าและเหนือประตู เฉลียงข้างของตึกหลังมีสะพานคอนกรีต เชื่อมชั้น ๒ ของอาคารทั้ง 2 หลัง

อาคารทั้งสองหลังตกแต่งภายใน อย่างวิจิตรด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารในซึ่งตอนหน้าส่วนกลางก่อเป็นห้องชั้นที่ 3 อีกห้องหนึ่งนั้น ด้านหลังเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นห้องโถงเอกของบ้าน โดยโถงหน้า เป็นทางเชื่อมจากส่วนหน้าของอาคารสู่โถงในซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงนี้ จึงเหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม ภายในห้องโถงนี้ กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกรูปรามสูร เมขลา โถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากําลังต่อสู้กับนกสดายุ เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับ ด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจาก ระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบน ฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ห้องโถงนี้ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรอง ห้องด้าน หน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทํางาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียว กันประดับที่ฝาผนังด้านขวา จับภาพตอนพระรามตามกวาง ส่วนเพดานห้องเขียนรูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง แต่มีลักษณะเป็นคนไทย 

และจากการตัดสินใจใช้ ‘บ้านพิบูลธรรม’ เป็นศูนย์บัญชาการหลักของกระทรวงพลังงานในยุคที่มี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวง ทำให้ต้องมีการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานมาใช้ I อาคารดังกล่าว โดยมีหลายชิ้นต้องค้นหาจากห้องเก็บของของกระทรวงพลังงาน

และจำนวนไม่น้อยมาจากของสะสมส่วนตัวของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพิเศษ ด้วยลักษณะเด่นที่การผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยอย่างลงตัว จึงมีหลายชิ้นใน ‘บ้านพิบูลธรรม’ ที่มีเจ้าของชื่อว่า ‘พีระพันธุ์’ ตามคำบอกเล่าของเจ้าตัวในรายการกฤษณะทัวร์ติดล้อ

และทั้งหมดนี้คือที่มาของ ‘บ้านพิบูลธรรม’ ศูนย์บัญชาการ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ พลังงานไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเสถียรภาพของพลังงานไทย

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าเร่งจัดตั้ง SPR สร้างระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์หนุนความมั่นคงพลังงานไทย คาดกฎหมายเกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 67 นี้ เพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าพลังงานตามต้นทุนที่แท้จริง

(31 ตุลาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชนที่ยั่งยืน" ในงานเสวนา "การพัฒนาการจัดบริการสาธารณะด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงของประชาชน" ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 

ในส่วนหนึ่งของปาฐกถาครั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานว่า ตนมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประชาชน  โดยที่ผ่านมา ตนได้ดำเนินการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ที่แท้จริง รวมทั้งศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  และที่สำคัญต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วย  เพราะในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยขุดน้ำมันได้ที่ อ.ฝาง เมื่อกลั่นแล้วเหลือใช้ในกองทัพจึงขายให้กับประชาชน โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการค้าขายเพื่อผลกำไร แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ทิศทางการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้มุ่งไปทางธุรกิจมากกว่าความมั่นคง และไม่ได้มีการปรับปรุงด้านกฎหมายมานานกว่า 50 ปีแล้ว 

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เหมือนประเทศอื่น ๆ ทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน  ตนจึงได้ดำเนินการร่างกฎหมาย SPR เพื่อสร้างระบบสำรองน้ำมันของประเทศไทย  โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนสร้างคลังน้ำมันและซื้อน้ำมัน  และเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย  โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน  ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้มีความคืบหน้าในการกำหนดให้บริษัทผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมันต้องแสดงต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง เพื่อพิจารณาไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนเกินไป  และกำลังดำเนินการร่างกฎหมายด้านพลังงานที่สำคัญอีกหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ  ร่างกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2567 นี้

“ผมมาทำงานตรงนี้ ไม่ได้มาเพื่อโปรโมทตัวเอง แต่ผมเข้ามาทำในสิ่งที่ต้องทำ ในส่วนของค่าไฟฟ้าผมยืนยันได้ว่า ผมจะสู้เพื่อประชาชน ทำทุกวิถีทางไม่ให้ค่าไฟขึ้น น้ำมันก็เช่นกัน ในอนาคต หากมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่หากทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น ก็ต้องหาวิธีไม่ให้กระทบกับประชาชน ส่วนแผน Carbon Neutrality และ Net Zero ก็เป็นแผนที่ผมให้ความสำคัญ และได้มอบให้ กฟผ. ไปศึกษาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับในเขื่อนที่มีอยู่ รวมทั้งการนำแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า นำมาให้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ผลโพลชี้ชัด!! ‘พีระพันธุ์’ คะแนนนิยมพุ่งอย่างต่อเนื่อง หลังดันนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ พลังงานไทยเป็นรูปธรรม

จากผลสำรวจความคิดเห็นสวนดุสิตโพล ‘ดัชนีการเมืองไทย เดือนตุลาคม 2567’ ซึ่งสะท้อนถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอุทกภัย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รวมไปถึงอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ ซึ่งทางรัฐบาล ได้เร่งทำงานและแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว 

ในขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่มีความโดดเด่นในสายตาประชาชน พบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันดับ 2 และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 3

แต่เป็นที่น่าสนใจว่า นายพีระพันธุ์ มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 18.36% ขึ้นมาเป็น 20.79% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประชาชนให้การยอมรับและเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของนายพีระพันธุ์ ที่ได้เดินหน้าปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนว ตามแนวทาง 'รื้อ ลด ปลด สร้าง'

โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ ได้เสนอให้มีการตรึงราคาพลังงานก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการร่างกฎหมายเพื่อวางกรอบในการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและวางกรอบป้องกันสถานการณ์วิกฤตพลังงานในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ ได้ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมัน ต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าส่งออกราคาน้ำมันให้ภาครัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี เพื่อนำไปกำหนดราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายเตรียมเข้าสู่สภาฯ อีกหลายฉบับ อาทิ กฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่การอ้างอิงราคาในต่างประเทศ จะทำให้ราคาพลังงานถูกลง ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถปรับเปลี่ยนราคาได้เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจรายละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและพลังงาน และคาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ พร้อม ๆ กับกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์ (Solar Rooftop) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้งานภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง และจะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องกังวลกับค่าไฟแพงอีกต่อไป

รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2567 นี้เช่นกัน 

แน่นอนว่า ความนิยมในตัวนายพีระพันธุ์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงการยอมรับในผลงานและความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานอย่างหนัก และที่สำคัญไม่มีความหวั่นเกรงต่อกลุ่มทุนพลังงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยแต่อย่างใด ขอเพียงนโยบายและโครงการที่จะทำนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อความเป็นธรรมและมั่นคงอย่างยั่งยืนเท่านั้น

‘พีระพันธุ์‘ เตรียมออกกฎหมายแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน หลังกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69

(6 พ.ย. 67) “พีระพันธุ์” ใช้โมเดลพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ เตรียมคลอดกฎหมายช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร
ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันโดยดึงกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมแก้ปัญหากับกระทรวงพลังงานแบบครบวงจรทั้งเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หวังช่วยหาทางออกให้เชื้อเพลิงชีวภาพภายหลังจากปี 2569 ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อปลดภาระกองทุนน้ำมันฯ คาดเตรียมตั้งคณะทำงานในสองสัปดาห์นี้ 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวใน
การบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต” ในกิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาให้กับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และผู้เกี่ยวข้อง จัดโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ว่า แม้ว่าปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นราคาขายปลีกน้ำมันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ยิ่งผสมยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมวัตถุประสงค์การนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเพราะมีราคาถูกนำมาผสมเพื่อลดราคาน้ำมันลง

“ในความเป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซินไม่ได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ แต่เนื่องจากการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่าเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็หลีกหนีไม่ได้เนื่องจากนโยบายนี้ได้ปล่อยดำเนินการมาเนิ่นนาน และไม่มีหน่วยงานอื่นช่วยคิดแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องพยายามช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกร”

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า มีแนวคิดจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาลตามพ.ร.บ.อ้อยและ
น้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้ โดยเล็งเห็นแนวทางของการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล เพราะหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบ จึงเตรียมยกร่างกฎหมายเหมือนพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโชคดีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรี โดยจะร่วมกันทำงานระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีคณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานทำงานด้วยกัน โดยพยายามจะเร่งออกกฎหมายให้เป็นทางออกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป

สำหรับกฎหมายอ้อยและน้ำตาลซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกัน ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกับทางการตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังมองอนาคตการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพต้องวางฐานให้เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศมาลงทุน

กบง. ปรับสูตรน้ำมันดีเซล ป้องกันราคาพุ่ง หลังราคาน้ำมันปาล์มดิบดีดตัวสูง เริ่ม 21 พ.ย. นี้

(7 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงขึ้นมาก 

ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือ 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้ประชาชนมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและ เพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ดังนี้ 
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีมติ กบง. เปลี่ยนแปลง โดยมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และ มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อทราบต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พลังงาน พร้อม ‘เจือ ราชสีห์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหากำจัดและแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายปรีชา สุขเกษม และคณะได้เดินทางมารับฟังและดูโรงงานกำจัดและแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า บริษัท จีเดค จำกัด ซึ่งได้สัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสั่งหยุดดำเนินงานเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง 

“ทางออกของปัญหาเรื่องนี้คือการให้เทศบาลนครหาดใหญ่สั่งเลิกสัญญากับทางบริษัท จีเดด จำกัดซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาเพื่อที่จะให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการจัดการขยะร่วมกับเทศบาลต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ผลิตชุดโซลาร์รูฟติดบ้านราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางขายปีหน้า หวังช่วยประชาชนพ้นบ่วงค่าไฟแพง

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ก.พลังงาน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผลิตต้นแบบอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางจำหน่ายปีหน้า ปลดภาระค่าไฟประชาชน 

เมื่อวันที่ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  เพื่อเยี่ยมชมการทดสอบเครื่อง Inverter ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ที่เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ โดยมีคณะผู้บริหาร สวทช.ให้การต้อนรับ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมาตรวจราชการครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามที่ตนได้เคยกล่าวไว้ 2 เรื่อง  นั่นคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก  เพราะถึงแม้กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท โดยไม่ได้ขยับขึ้นมาตลอด แต่ตนเข้าใจว่าปัญหาค่าไฟก็ยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟไปได้มาก

“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เรียกกันว่า โซล่า รูฟ  ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้  โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน  โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพี่น้องประชาชนในราคาถูกในปี  2568 เพื่อช่วยลดภาระจากปัญหาค่าไฟแพงอีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่ผมได้พูดไป  ผมทำจริงทุกเรื่อง กระทรวงพลังงานภายใต้การดำเนินนโยบายตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของผม พูดจริง ทำจริงทุกเรื่อง และพร้อมทำให้เห็น ผมมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมี อุปกรณ์มี  พี่น้องประชาชนจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภาระค่าไฟที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top