Friday, 4 July 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ยัน ไม่โกรธ-ไม่สนใจ ฉายา “พีระพัง” ที่สื่อทำเนียบตั้งให้ พร้อมย้อนถามใครแก้ปัญหาได้เร็วกว่าตน

(25 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาให้เป็น “พีระพัง” ว่า ตนเองไม่ได้อ่าน แต่ประชาชนได้ชี้แจงแทนตนเองหมดแล้ว ดังนั้น จึงไม่โกรธ และไม่ได้สนใจ เพราะแทบจะไม่มีเวลาทำงานอยู่แล้ว 

ส่วนการที่ได้รับฉายา “พีระพัง” อาจเป็นเพราะแก้ไขปัญหาด้านพลังงานล่าช้าหรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์ ได้ย้อนถามสื่อมวลชนกลับว่า มีใครแก้ปัญหาได้เร็วกว่าตนเองหรือไม่? และ 1 ปีที่ผ่านมา ตนก็มีผลงาน ก่อนที่สื่อมวลชนจะถามเช่นนี้ ต้องถามก่อนว่า มีใครทำได้เร็วกว่าตน? และกระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง ซึ่งถ้าทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของตนเองพรุ่งนี้ก็สามารถประกาศได้ ดังนั้น อยากให้เร็ว จะต้องแก้กฎหมาย แก้ระบบ และมีกฎหมายเข้าสภา

นายพีระพันธุ์ ยังยืนยันว่า ภายใต้การดูแลของตนเองทุกอย่างจะถูกลง ประชาชน และประเทศชาติ จะได้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงจะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้ประชาชน 

นายพีระพันธุ์ ยังระบุอีกว่า วันก่อนมีสื่อมวลชนกล่าวถึงตนเองว่า ไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งตนเองไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ และสื่อมวลชนน่าจะฉลาดกว่านี้ 

ส่วนกังวลจะมีม็อบมากดดันเรื่องการแก้ไขปัญหาพลังงานหรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์ ยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะพรรคฯ ทำเพื่อประชาชนได้ประโยชน์

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (25 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ พร้อมด้วย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังได้แถลงข่าวร่วมกันในการปลดล็อก “โซลาร์รูฟท็อป” เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในการลดค่าไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านมา ทุก 4 เดือน จะต้องมีการปรับราคาค่าไฟฟ้าทุก ๆ 4 เดือน เพราะไฟฟ้าไทยยังต้องใช้เชื้อเพลิงมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ราคาจึงต้องขึ้นกับตลาดโลก และพบว่า การให้ประชาชนหลุดพ้นจากค่าไฟที่แพง จึงต้องสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานจากแสงแดด แต่การติดตั้งของประชาชนในประเทศยังยุ่งยากด้านกฎหมาย มีราคาแพง มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเกี่ยวพัน ใช้เวลานานในการดำเนินการขออนุญาต ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกระทรวงพลังงานดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งจะมีร่างกฎหมายสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด ที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้นแล้ว โดยประชาชนจะสามารถติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” ได้อย่างสะดวก เพื่อแค่ยื่นแจ้งเพื่อทราบ ไม่ต้องมีการขออนุญาตใด ๆ และให้ประชาชน ดำเนินการตามขั้นตอนที่กระทรวงฯ จะกำหนด และจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบความถูกต้องภายหลัง จึงมั่นใจว่า ประชาชนจะสามารถใช้ราคาไฟฟ้าที่ถูกขึ้น และจะส่งผลให้สินค้าอื่น ๆ ถูกขึ้นด้วย เนื่องจาก ราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุน มีราคาถูกลง

พีระ...พัง...ปัญหาราคาน้ำมันและไฟฟ้า สะท้อนตัวตนคนทำงานจริง...กับปัญหาที่ไม่มีใครเคยแก้

(26 ธ.ค. 67) เชื่อหรือไม่ว่า ‘การตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี’ ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลนั้น ปราศจากอคติส่วนตัว โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานของ ‘ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล’ และเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาลและรัฐมนตรี

การตั้งฉายา ‘รองพีร์’ ว่า ‘พีระพัง’ นั้น เป็นการตั้งฉายาที่ราวกับ ‘จงใจ’ หรือ ‘รับใบสั่งมา’ โดยทำเป็นหลับหู หลับตา ไม่สนใจผลงานจากการทำงานด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของ ‘รองพีร์’ ในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่หมักหมมมาหลายสิบปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแทบทุกคนที่ผ่านมา ไม่มีใครเลยที่เคยจะพยายามหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย

ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดขึ้นจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ในปี 1973 (พ.ศ. 2516) ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนั้นสูงขึ้นเกือบ 300% ทำให้รัฐบาลไทยในยุคนั้นต้องหากลไกเครื่องมือในการจัดการจึงเกิดเป็น ‘กองทุนน้ำมัน’ ขึ้นและกลายเป็นกลไกเครื่องมือเพียงอย่างเดียวของทุกรัฐบาลที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะไม่ว่าจะเป็น บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่รัฐมีอยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อ ‘รองพีร์’ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้ให้ทีมงานทำการศึกษาถึงต้นตอของปัญหาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ (1) ต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่แท้จริง ก่อนประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเลย 

(2) ‘รองพีร์’ สั่งการให้หาวิธีที่จะทำให้ ‘ราคาน้ำมัน’ ต้องไม่ขึ้นลงรายวัน ด้วยการ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งให้กระทรวงฯ ทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งจะทำให้ยุคที่บรรดา ‘ผู้ค้าเชื้อเพลิงพลังงาน’ สามารถกำหนดราคาและขึ้นลงตามอำเภอใจ อาทิ การขึ้นราคาน้ำมันทันทีตามราคาตลาดโลกทั้ง ๆ ที่น้ำมันที่ซื้อขายในประเทศขณะปัจจุบันได้ซื้อมาเมื่อ 3 เดือนก่อนแล้ว 

(3) เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันอย่างยั่งยืน ‘รองพีร์’ จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่ใช้ต้องเงินมากมายและสร้างหนี้สาธารณะ เป็น ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซที่เก็บสำรองเอาไว้จะเป็นทรัพย์สินของประเทศ และไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป 

เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในอนาคต รัฐบาลสามารถนำปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองที่มีอยู่ใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิง มีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา แต่ความเป็นจริงแล้วในยามเกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือบางสถานการณ์แม้จะมี ‘เงิน’ แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้

นอกจากนี้ ‘SPR’ จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลในระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย เพราะรัฐบาลจะสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไป นอกจากนี้ ‘SPR’ จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้นเมื่อปริมาณการเก็บสำรองจะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศถึง 90 วัน (จากเดิมที่เก็บไว้สำหรับ 25 วันโดยผู้ค้า) ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างมากมายและยั่งยืน แก่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย

ในส่วนของพลังงานไฟฟ้า ‘รองพีร์’ ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องมากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งยังสั่งการให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ตลอดจนติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการที่ต้องนำเข้าก๊าซจากแหล่งผลิตนอกประเทศ

นับตั้งแต่ ‘รองพีร์’ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งหวังว่าจะสามารถ ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ปัญหา ‘เชื้อเพลิงพลังงาน’ ที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี โดยไม่กลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลใดใดทั้งสิ้นโดย ดังนั้นแทนที่ ‘ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล’ จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้ที่สำคัญและเป็นประโยชน์สูงสุดอย่างมากมายและยั่งยืนแก่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย และเมื่อพิจารณาเยี่ยงวิญญูชนแล้ว ฉายาดังกล่าวกลายเป็นการบั่นทอน ด้อยค่า การทำงานของ ‘รองพีร์’ คล้ายกับไม่ต้องการให้สิ่งที่ ‘รองพีร์’ ทำประสบความสำเร็จ แต่ ‘รองพีร์’ เอง ได้ขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจว่า จะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของพลังงานให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ‘รองพีร์’ ได้ฝากขอบคุณและขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้ช่วยกันร่วมเป็นผนังกําแพงให้ ‘รองพีร์’ และทีมงานได้พึ่งพิงเพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จแล้วเสร็จ

'กระทรวงพลังงาน' เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ 25 คาดสร้างเม็ดเงินลงทุนกว่า 70 ล้านดอลลาร์

(26 ธ.ค. 67) กระทรวงพลังงาน ลงนามประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 กระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกว่า 70 ล้านดอลลาร์

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 67 นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการจัดหาพลังงาน โดยการส่งเสริม และเร่งรัดการสำรวจ และพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศได้ดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 ภายใต้ระบบสัมปทาน จำนวน 9 แปลง

ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 แปลง บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ของประเทศ และพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมเป็นขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ดังกล่าวจะประชาสัมพันธ์ให้บริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมที่สนใจเข้าร่วมการประมูล และมีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยบริษัทที่สนใจสามารถดาวน์โหลดประกาศเชิญชวน และเงื่อนไขต่างๆ ได้จากทั่วโลก

พร้อมทั้งเปิดห้อง Data room ให้บริษัทผู้สนใจเข้าศึกษาข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอการยื่นขอสิทธิฯ ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อพิจารณาคัดเลือกและนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการประกาศผลผู้ชนะ และลงนามในสัมปทานต่อไป

“การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบนบกครั้งนี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อีกจำนวนมากจากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงภาคขนส่งอีกด้วย

นอกเหนือจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในประเทศอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่บนบกที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งทำให้ไม่มีการดำเนินกิจกรรมการสำรวจเพื่อพัฒนาศักยภาพปิโตรเลียมในพื้นที่บนบกเพิ่มเติม

จึงนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม และการนำทรัพยากรปิโตรเลียมภายในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์สูงสุด ให้คนไทยได้มีปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ดำเนินการยื่นขอสิทธิฯ ในครั้งนี้ตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเปิดเผย และโปร่งใส โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน 

‘พลังงาน’ ยัน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ชี้ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล จะนำมารวมเต็มกำลังการผลิตไม่ได้

กระทรวงพลังงาน เผยขอยืนยันว่า ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศหรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่สามารถนำมานับรวม 100% ได้ เพราะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และแม้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมากำลังผลิตไฟฟ้าอาจอยู่ในระดับสูงเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ปัจจุบันก็บริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

(27 ธ.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่สูงถึง 50% นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ซึ่งการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่

ด้าน  Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า ในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น

“กระทรวงพลังงาน ขอยืนยันว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% ตามที่มีการเผยแพร่ กำลังการผลิตไฟฟ้านั้น ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน จะสามารถนำมาคำนวณกำลังการผลิตได้ 100% แต่หากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในวันที่มีแสงแดดปกติจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้แค่ 4-6 ชั่วโมงต่อวันโดยประมาณ ส่วนพลังงานลม พลังงานชีวมวล ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งได้มีการศึกษาและพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนั้น แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องพิจารณาให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งต้องพิจารณาถึงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น การคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจึงต้องคำนวณตามชนิดเชื้อเพลิงและศักยภาพของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่แท้จริงจึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และที่สำคัญที่สุด 

แผนการผลิตไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานได้วางแผนเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมไปพร้อมกับการใช้พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในปัจจุบัน นอกจากนั้น ก็ได้เตรียมพร้อมรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าจาก Data Center ที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในปริมาณที่สูง ซึ่งจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศอีกด้วย” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘จตุพร’ คอนเฟิร์ม!! ‘พีระพันธุ์’ ขวางผลประโยชน์ของนายทุน เป็นห่วงจะถูกกำจัดทิ้ง หลังปีใหม่ ชี้!! ไม่น่าจะยื้อได้นาน

(28 ธ.ค. 67) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ได้แสดงความเป็นห่วง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้ทุ่มเททำงานทุกอย่าง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ ซึ่งในขณะนี้ก็ได้เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของนายทุน โดยนายจตุพร ได้ระบุว่า ...

คุณพีระพันธุ์ แม้ว่ามีเจตนาจะทําแต่ละเรื่องราว เพื่อจะลดราคาพลังงาน ไม่ว่าน้ำมัน แก๊ส ค่าไฟฟ้า ก็ตาม

ก็เป็นอุปสรรค ถูกขัดขวาง จากกลุ่มทุนผูกขาดที่นายกรัฐมนตรี และคุณทักษิณ ประกาศจะทลายนะครับ เมื่อวานก็ตีกอล์ฟ อยู่ด้วยกันนะครับ กําลังทลายกันอยู่นะครับ

ผมเองก็มองเห็นว่าคุณพีระพันธุ์เองนั่นแหละครับ ผมไม่รู้ว่า เขาจะอยู่ได้อีกสักกี่วัน หลังจากปีใหม่ เพราะเค้าคือลําดับต่อไป เพราะว่าเค้าไปยืนขวางทุกอย่างที่เป็นเรื่องของของผลประโยชน์

ถ้ารัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศลดค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้าทันทีเนี่ย 

ความเป็นจริงต้องเอื้อกับคุณพีระพันธุ์ มันจึงจะทําอย่างนั้นได้

เพราะคุณพีระพันธุ์เนี่ยนะครับ ผมคิดว่าเค้าคงจะไม่ทนกับคุณพีระพันธุ์ เพราะคุณพีระพันธุ์ไปยืนขวางอยู่หลายโครงการมากนะครับ เพราะว่าแต่ละโครงการมันเต็มไปด้วยผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นเค้าจึงเป็น ‘พีระพัง’ทุกเรื่องนะครับ ไปขัดขวางผลประโยชน์ของนายทุน ถ้าไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติ เขาก็ไปยืนพัง

แต่ผมเชื่อว่า เขาไม่น่าจะยื้อได้นาน ยกเว้นว่า จะมีการคํารามของคู่แคนดิเดตนายกเขานะครับ ซึ่งก็ยังมากด้วยฤทธิ์ มากด้วยบารมี

แต่ว่า ชะตากรรมของคุณพีระพันธ์ที่ไปยืนขวางนั้น เป็นหมากหนึ่ง ที่ต้องถูกกําจัด ถัดจากพลเอกประวิตรนะครับ ไม่รู้ว่าเขาจะยื้อได้สักเพียงไหน

พีระพันธุ์ เดินหน้า!! ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อไป เพื่อคนไทยทุกคน

ขอบคุณที่เป็นกำแพงเหล็ก ให้ผมพิงในการทำงาน!!
‘พีระพันธุ์’ อวยพรคนไทย ให้มีความสุข สมหวัง สำเร็จ ในปี 2568 ย้ำ!! ยังคงเดินหน้า เรื่องพลังงาน เพื่อประโยชน์ ของชาติบ้านเมือง

เมื่อวานนี้ (4 ม.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2568 นี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่พี่น้องประชาชนแต่ละท่านเคารพนับถือ โปรดดลบันดาลและอำนวยพรให้ทุกท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุข ความสมหวัง และความสำเร็จในทุกสิ่งที่มุ่งหวัง ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เดินทางไปไหนก็ขอให้คลาดแคล้วจากอุบัติเหตุอันตราย ใครที่ประสบความสำเร็จในปี 2567 อยู่แล้ว ก็ขอให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในปี 2568 ใครที่ยังไปไม่ถึงฟากฝั่งในปี 2567 ก็ขอให้ไปให้ถึงเป้าหมายในปีใหม่ 2568 นี้ ขอให้ทุกท่านมีพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็ง ชนะอุปสรรคได้ทั้งปวง พบแต่สิ่งดีๆ และคนดีๆ ตลอดปี 2568 และตลอดไปครับ

สำหรับผม ปี 2567 ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นปีที่เหนื่อยมาก เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาที่หมดไปอย่างรวดเร็วในแต่ละวันโดยแทบไม่มีการหยุดพัก แต่อย่างน้อยผมก็ทำสำเร็จเกือบ 100% ตามที่บอกไว้ครับ

1. ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่หน่วยละ 4.18 บาท และคงค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ไว้ที่ราคาหน่วยละ 3.99 บาท มาได้ตลอดทั้งปี 2567 สำหรับปี2568 ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2568 ค่าไฟฟ้าก็จะอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนของท่านนายกฯ เศรษฐาและท่านนายกฯ แพทองธาร 

2.ร่างกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จแล้ว ตอนนี้กำลังตรวจแก้ไขต้นร่างเกือบเสร็จแล้ว รออีกนิดนะครับ กฎหมายนี้จะมีกติกาที่ไม่ให้ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงรายวัน มีระบบพิสูจน์ต้นทุน และยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ โดยนำระบบต้นทุนบวกค่าใช้จ่ายจริงที่เรียกว่าระบบ COST PLUS มาใช้แทน ที่สำคัญคือ จะให้มีน้ำมันเพื่อเกษตรกร และชาวประมงในราคาที่ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งและองค์กรสาธารณกุศลสามารถนำน้ำมันเข้ามาใช้ได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก และยังจะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถจัดให้มีน้ำมันเพื่อผู้มีรายได้น้อยด้วย 

3. กฎหมายฉบับที่สองที่ทำเสร็จแล้ว คือกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟ ซึ่งจะพังทลายกฎเกณฑ์กติกาเดิมๆ ที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องยุ่งยากและล่าช้า ผมยกเลิกการขออนุญาตทุกรูปแบบโดยเปลี่ยนมาเป็นการติดตั้งได้ทันทีตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อติดตั้งแล้วก็ใช้ระบบแจ้งให้ทราบ จากนั้นแต่ละหน่วยงานก็จะไปตรวจสอบเอง หากมีสิ่งใดต้องแก้ไขก็ว่ากันไป ไม่ต้องเสียเวลารอการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน ขณะที่คนทั้งประเทศต้องรอกันทั้งชาติ กฎหมายนี้จะเสนอในนามของรัฐบาลด้วย แต่ขั้นตอนช้า ต้องดำเนินการอีกหลายอย่าง ผมเลยให้เสนอเข้าสภาฯ ในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติก่อน ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ครับ

สำหรับปี 2568 นี้ สิ่งที่ผมวางเป้าหมายไว้เป็นเรื่องแรกเลย คือ จะร่างกฎหมายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง หรือStrategic Petroleum reserve (SPR) ที่จะนำมาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ซึ่งจะทำต่อจากกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมัน ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเราไม่เคยมีสำรองน้ำมันของประเทศเลย ที่มีอยู่ก็เป็นการสำรองของภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นหลักตามกฎหมายการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น และเก็บสำรองเพียงประมาณ 20-25 วัน แต่หลักเกณฑ์ของการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศต้องไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เพื่อประโยชน์ของชาติ และต้องมีสำรองขั้นต่ำ 90 วัน โดยผมจะนำระบบนี้มาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนการเก็บเงินจากการซื้อขายน้ำมันที่ไล่เก็บจากประชาชนไปเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นระบบเก็บเป็นน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันแทน ระบบนี้จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงทันทีอย่างน้อย 2.50 บาท ถึง 4 บาทกว่าๆ แล้วแต่ประเภทของน้ำมันเพราะไม่มีการเก็บเงินส่วนนี้จากประชาชนอีก แล้วใช้น้ำมันในส่วนนี้ไปชดเชยราคาน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันแทนเงินที่เก็บจากประชาชน

ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าจะต่อยอดจากกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยประชาชนให้ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลงนั้น ผมกำลังดำเนินการให้กระทรวงพลังงานผลิตอุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์หลักในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่าเครื่อง Invertor ที่มีราคาแพงประมาณเครื่องละ 30,000-40,000 บาท โดยน่าจะผลิตได้ในราคาเพียง 1 ใน 3 ของราคาในท้องตลาดเท่านั้น ตอนนี้เครื่องต้นแบบผ่านการทดสอบขั้นที่หนึ่งจากสถาบัน สวทช. แล้ว และกำลังรอทดสอบอีกสองขั้นตอน เมื่อผ่านหมดก็จะเริ่มเข้าสู่แผนการผลิตจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกที่สุด และจะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้ประชาชนสามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากภาระภาษีเงินได้ประจำปีด้วย อีกทั้งยังกำลังดำเนินการหาแนวทางให้กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในสังกัดกระทรวงพลังงานสามารถสนับสนุนเงินทุนหรืออย่างใดอย่างหนึ่งให้ประชาชนด้วย 

ผมเชื่อว่าผลงานของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานตั้งแต่ปลายปี 2567 ต่อยอดไปถึงปี 2568 จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้พี่น้องประชาชนได้ตามนโยบายรัฐบาลและตามที่ท่านนายกฯแพทองธารประกาศไว้ และจะช่วยทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้นด้วย

สุดท้าย ผมเคยพูดไว้ว่า สิ่งที่ผมทำเพื่อพี่น้องประชาชนจะมีคนที่เคยได้ประโยชน์กันมากว่า 50 ปีเป็นอย่างน้อยต้องเสียประโยชน์ ผมรู้ว่าผมจะต้องโดนวิชามารกระหน่ำแบบไหน แต่ผมไม่กลัวและผมจะทำให้ได้ ขอเพียงพี่น้องประชาชนช่วยเป็นกำแพงให้ผมพิงเท่านั้นก็พอ ความสำเร็จของการทำงานเพื่อประชาชนเริ่มทยอยปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปี 2567 ตามที่ผมวางเป้าหมายไว้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงสองสามเดือนก่อนสิ้นปี 2567 ผมถูกกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อบางกลุ่มรุมกระหน่ำปั้นข่าวทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวเปิดตัวพรรคใหม่ทุนหนา ก็มีบัญชีอวตารเปิดใหม่พรึ่บเพื่อใช้ถล่มผมแบบไม่ยั้งมือ แต่ผมไม่เคยหวั่นไหวและจะทำในสิ่งที่ต้องทำเสมอครับ

พอเห็นว่ากลยุทธ์แบบเดิมทำท่าจะเล่นงานไม่ไหว ก็ไปปั้นข่าวว่าผมขัดแย้งกับนายกฯบ้างขัดแย้งกับพรรคแกนนำรัฐบาลบ้าง ทั้งๆ ที่ผมและทั้งนายกฯ แพทองธารและอดีตนายกฯ เศรษฐาไม่เคยมีอะไรขัดแย้งกันเลย แถมทั้งสองท่านก็สนับสนุนการทำงานของผมตลอดมา เพราะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น ผลงานเรื่องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานก็สำเร็จด้วยดีเพราะการสนับสนุนทั้งสองท่าน ล่าสุดที่ท่านนายกฯ แพทองธารประกาศว่าจะทำลายทุนผูกขาด ท่านก็พูดจริง ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ติดภารกิจด่วนก็มอบให้ผมเป็นประธานการประชุมแทน และกำชับให้ผมขอมติคณะกรรมการ กพช. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วย โดยมีท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นผู้ประสานงานและติดตามงานตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ใครจะปั้นข่าวอะไรผมไม่สนใจ ผมสนใจแต่การทำงานและประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้นครับ

อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณอีกครั้ง สำหรับทุกกำลังใจที่มีให้ผมและพรรครวมไทยสร้างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และขอบคุณที่เป็นกำแพงเหล็กให้ผมพิงในการทำงาน และในปี 2568 นี้ ผมจะทำงานให้หนักขึ้นเพื่อความสำเร็จและประโยชน์ชาติบ้านเมืองครับ

‘พีระพันธุ์’ กับปรากฏการณ์ ‘พีระ...พัง’ บทพิสูจน์ผลงาน...เหนือการเมือง!!

(6 ม.ค. 68) ปี 2567 ต้องยอมรับว่าฉายาที่ผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาลจัดให้กับนักการเมืองเมื่อ 23 ธ.ค.นั้นแสบสันต์ไม่น้อย..โดยเฉพาะคนการเมืองจากพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)..

พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค  รองนายกฯและรมว.พลังงาน ได้ฉายา “พีระ..พัง..” /เอกณัฐ  พร้อมพันธ์  รมว.อุตสาหกรรม  ได้ฉายา ”รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ” และ สุรชาติ  ชมกลิ่น  รมช.พาณิชย์  ติด1ใน 3 รมต.โลกลืม..

แต่ไม่น่าเชื่อเพียง 1-2 ชั่วโมงหลังวิกฤติจากฉายาร้อนฉายาร้ายนี้สะพัดในโซเชียลมีเดีย  พรรค รทสช. ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยฉับพลันด้วยการ  ทำแบนเนอร์ผ่านเพจพรรค..

“พีระ..พัง...การผูกขาด
พีระ..พัง..ระบบที่เน่าเฟะ
พีระ..พัง..การโกงกินทุกรูปแบบ
#ฉายารัฐบาล67”
และอีกดอก..
“#รทสช.ไม่ใช่แค่พีระพัง..
เอกณัฐ ก็พร้อม “พัง” กากพิษ
ธุรกิจสีเทา สินค้าห่วยข้ามชาติให้หมดสิ้น
#รทสช...พัง..ให้ทุกปัญหา”

ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าคนที่ครีเอทพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เฉียบคมเช่นนี้..สุดยอด  แต่มองให้ลึกแล้วที่สุดยอดยิ่งกว่าก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” ทั้งต้นทุนของพรรคที่มี DNAลุงตู่  ต้นทุนคนชื่อพีระพันธุ์ ชื่อเอกณัฐ..และมวลสมาชิก..

โดยเฉพาะกรณี “พีระพันธุ์” นั้นต้องโฟกัสเป็นพิเศษว่า..ตลอดปีเศษที่ผ่านมาสื่อมวลชนขาใหญ่จำนวนไม่น้อยทำนายทายทักกันว่า  น่าจะต้องจอดป้ายในไม่นานเพราะการชักธงปฏิรูปพลังงานของเขาทำให้หลายฝ่ายเสียประโยชน์..ยิ่งกว่านั้นยังคาดหมายกันว่า  พรรครทสช.เองก็อาจจะถูก “พลังประชารัฐโมเดล” แยกสลาย...

โดยมีพรรคใหม่ที่จะเป็นพรรคสำรองแบบ “กล้าธรรม” คือพรรคโอกาสใหม่..ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านั้นภาพเมื่อ 22 ธ.ค.ที่สนามกอล์ฟ Stonehill Golf Couse ของเจ้าสัวพลังงาน ”สารัชต์ รัตนวดี” นั้น ทักษิณ  ชินวัตร,อนุทิน  ชาญวีรกูล,คงพระพัน  อินทรแจ้ง ซีอีโอ ปตท.และสารัชต์  ออกรอบเล่นกอล์ฟด้วยกันด้วยความชื่นมื่นรื่นรมย์ ยิ่งตอกย้ำกระแสข่าวความเชื่อว่าพีระพันธุ์จะต้องจอดป้ายเกิดขึ้นแน่

แต่ท่ามกลางกระแสข่าวดังกล่าว  วันที่ 25 ธ.ค.พีระพันธุ์นำทีมรทสช.แถลงข่าวปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป  พร้อมเสนอร่างกฎหมายของพรรคเข้าสภา

ข้ามมาปีใหม่  4 ม.ค.2568 พีระพันธุ์โพสต์ในเฟซบุ๊ก  สรุปการทำงานในรอบปี 2567และสิ่งที่จะทำในปี 2568 อย่างเป็นรูปธรรมที่อ่านแล้วเห็นภาพสัมผัสได้..แต่ไฮไลท์ที่ต้องขีดเส้นใต้สิบเส้นคือ..

“เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงสองสามเดือนก่อนสิ้นปี 2567 ผมถูกกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อบางกลุ่มรุมกระหน่ำปั้นข่าวทุกรูปแบบ  โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวเปิดตัวพรรคใหม่ทุนหนา ก็มีบัญชีอวตารเปิดใหม่พรึ่บเพื่อใช้ถล่มผมแบบไม่ยั้งมือ  แต่ผมไม่เคยหวั่นไหวและจะทำในสิ่งที่ต้องทำเสมอครับ..
พอเห็นว่ากลยุทธแบบเดิมทำมาจะเล่นงานไม่ไหว ก็ไปปั้นข่าวว่าผมขัดแย้งกับนายกฯบ้าง ขัดแย้งกับแกนนำรัฐบาลบ้าง  ทั้งๆที่ผมและนายกฯแพทองธารและอดีตนายกฯเศรษฐาไม่เคยมีอะไรขัดแย้งกันเลย  แถมท่านทั้งสองก็สนับสนุนการทำงานของผมตลอดมา  เพราะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น....”

ล่าสุดของล่าสุด..วันที่ 5 ม.ค.ทักษิณ  ชินวัตร “พ่อนายก” ตอบคำถามนักข่าวชัดว่า..วันก่อนได้พูดคุยกับนายพีระพันธุ์(เรื่องค่าไฟ-พลังงาน)  และบอกว่าข่าวที่จะปรับพีระพันธุ์ออกจากครม.ไม่จริง “อ๋อ!ไม่มีคุยกันรู้เรื่อง ไม่มีอะไรเลย พีระพันธุ์เขาเป็นคนตั้งใจ  รู้จักกันมานาน  เคยมีความคุ้นเคยกัน รู้เรื่องทุกเรื่อง..”

ความจริงจากทักษิณ...เหมือนเกมพลิก สื่อมวลชนขาใหญ่ร้องเอ๊ะ!ไปตามๆ กัน..

นักสังเกตการณ์มองค่อนข้างตรงกันว่า  การชูธงที่จะปฏิรูปพลังงานเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้ “เรตติ้ง” ของพีระพันธุ์และพรรครทสช.พุ่งกระฉูดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  และน่าจะส่งผลให้แนวรบของรทสช.ในมิติความเป็นพรรคทางเลือกของสังคมเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง..

ยิ่งหากปลดล็อกเรื่องโซลาร์รูฟท็อป และเข็นกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 180 มาตรา ที่ “พีระพันธุ์”ประกาศว่าร่างเองมากับมือออกมาเป็นผลสำเร็จจริงๆ  ก็น่าจะยิ่งทำให้ต้นทุนที่ดีและมีอยู่แล้วของรทสช.ยิ่งแน่นหนึบ มูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นมหาศาล..

ถึงตรงนี้กรณีรทสช.-พีระพันธุ์..ก็น่าจะกล่าวได้ว่า..สุดยอดของการตลาดที่แท้จริงก็คือคุณภาพจริงๆของสินค้า..หาใช่แค่วาทกรรม..

“พีระ..พัง...” ไม่อาจจะฝ่าพายุฝ่าหลุมขวากมาได้ หากไม่มีคำว่า “คุณภาพ” เป็นตัวนำและค้ำยัน

เพจ สนง.พลังงานลำปาง โพสต์ถล่ม ‘พีระพันธุ์’ ซัด รู้แต่กฎหมายไม่รู้เรื่องพลังงาน - ใช้นโยบายคร่ำครึ

(6 ม.ค. 68) พลังงานจังหวัดลำปาง น้อมรับทัวร์ลง..หลังแอดมินเพจ สนง.โพสต์ภาพ-ข้อความ ถล่ม “พีระพันธุ์” รู้แต่กฎหมายไม่รู้เรื่องพลังงาน - ใช้นโยบายคร่ำครึ เผยไม่ได้เขียนเอง-เป็นลิ้งค์ส่วนกลางส่งให้ทุกสำนักงาน/ทุกจังหวัดลงเผยแพร่ ก่อนรู้ว่าผิดลิ้งค์สั่งลบกันทันที

จากกรณีเย็นวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา หน้าเฟซบุ๊กเพจสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปาง ได้มีการโพสต์รูปนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมข้อความประกอบลักษณะโจมตีและต่อว่านโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง แบบดุเดือด แต่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ได้ไม่ถึง 20 นาที ก็ถูกลบออก

จากนั้นมีการขึ้นโพสต์ใหม่ โดยมีข้อความว่า..“พีระพันธุ์” โชว์ผลงาน 67 ตรึงค่าไฟ-ผุดกฎหมายพลังงาน ลั่นปี 68 เดินหน้าลดราคาน้ำมัน-หนุนโซลาร์รูฟ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน โพสต์สรุปผลงานปี 2567 เผยสามารถตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และ 3.99 บาทสำหรับกลุ่มเปราะบาง

พร้อมผลักดันกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายกำกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และกฎหมายส่งเสริมโซลาร์รูฟ สำหรับแผนงานปี 2568 จะร่างกฎหมายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง (SPR) กำหนดให้สำรองน้ำมันขั้นต่ำ 90 วัน คาดช่วยลดราคาน้ำมัน 2.50-4 บาทต่อลิตร พร้อมผลักดันการผลิตอินเวอร์เตอร์ราคาถูกสำหรับโซลาร์รูฟ รมว.พลังงาน ยังตอบโต้กระแสข่าวขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันได้รับการสนับสนุนจากทั้งนายกฯ แพทองธารและอดีตนายกฯ เศรษฐา ในการทำงานตามนโยบายรัฐบาล”

อย่างไร็ตาม แม้ว่าโพสต์โจมตี รมว.พลังงาน ดังกล่าวทางสำนักงานจะลบไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีการแคปข้อความไว้ทันจนกลายเป็นกระแสข่าวผ่านสื่อและมีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเชิงลบกับสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปางกันจำนวนมาก และต่อเนื่อง

ล่าสุด วันนี้ (6 ม.ค.)นางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของโพสต์ดังกล่าวว่า ปกติหน้าเพจของสำนักงานฯจะมีแอดมินดูแล-โพสต์กิจกรรมและภารกิจของสำนักงานอยู่แล้ว รวมถึงนำเสนอข่าวที่โดยทีมงานประชาสัมพันธ์ส่วนกลางส่งให้ทุกจังหวัดซึ่งก็จะมีทั้งสองด้าน

ส่วนโพสต์ที่กำลังเป็นข่าว ทางสำนักงานฯก็ไม่ได้เขียนเอง แต่ทางส่วนกลางส่งลิงค์มาให้ทุกจังหวัดนำลงประชาสัมพันธ์เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางการเผยแพร่ที่เร็วที่สุด ซึ่งแอดมินก็ดำเนินการโพสต์ทันที แต่หลังจากนั้นทราบว่าเป็นการส่งลิงค์ข่าวผิด จึงได้แก้ไขและสั่งให้ทุกจังหวัดลบโพสต์ออกและลงโพสต์ใหม่ในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นสาเหตุว่าทำไมลงได้ไม่นานแล้วลบออก

“ประชาชนที่เห็นโพสต์หรือข่าวก็อาจจะเข้าใจผิดว่าทางสำนักงานเขียนเองลบเอง ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เพราะสำนักงานไม่มีเจตนาที่จะลงข้อความใดๆเพื่อทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆขึ้น ตนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมทำตามนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายรื้อลดปลดสร้าง ก็เป็นนโยบายหลักที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด”

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ลิงค์ข่าวดังกล่าวเป็นสกู๊ปข่าวของสำนักข่าว THE ROO44 ซึ่งได้ลงข่าวในหน้าเว็บไซต์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 โดยมีหัวข้อข่าวว่า รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่อง “พลังงาน” นโยบายย้อนยุคของ “พีระพันธุ์”

‘ดร.หิมาลัย’ โต้คนบงการเขียนบทความโจมตี ‘พีระพันธุ์’ ซัด!! ไร้ความเข้าใจนโยบาย แนะลาออกไปรับเงินเดือน บ.น้ำมัน

‘ดร.หิมาลัย’ ร่ายยาวสวนกลับบทความคนในกระทรวงพลังงานโจมตี ‘พีระพันธุ์’ ย้ำชัด หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มุ่งทำเพื่อประชาชน ชี้ การสำรองน้ำมัน 90 วัน มีความจำเป็นด้านความมั่นคง ซัดคนเขียนบทความเพ้อเจ้อ ไม่รู้ข้อเท็จจริง ซัด ความคิดอคติแบบนี้ ลาออกไปรับเงินเดือนเอกชนเลยดีกว่า

(7 ม.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ” กรณีมีบทความโจมตีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานข่าว THE ROOM44 และทางเฟซบุ๊กพลังงานจังหวัดลำปางได้นำไปโพสต์ต่อ ก่อนจะถูกลบทิ้งในเวลาต่อมา 

โดย ดร.หิมาลัย ได้ระบุว่า รู้กฎหมาย และสำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ

ตามที่เป็นข่าวฮือฮา ในเรื่องของการลงบทความ โจมตี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในหัวข้อ “ รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่อง พลังงาน” โดยผู้เขียนบทความ ผ่านเพจพลังงานจังหวัดลำปางนั้น เป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เมื่อคุณ สายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยว่า โพสต์ดังกล่าว มาจากทีมงานประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง ยิ่งน่ากังวลเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนบทความ อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงานที่อึดอัดกับการทำงานของ ท่านรัฐมนตรีพลังงานเป็นอย่างมาก ใช้คำพูดค่อนข้างรุนแรง ว่านโยบายของท่าน เป็นคำพูดสวยหรู ดันทุรัง เป็นการสร้างภาพ แสดงว่าผู้เขียนบทความ ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างแท้จริง กับนโยบาย ของนายพีรพันธุ์ฯ ที่ทำเพื่อประชาชน

ผมเคยเขียน บทความ และพูด ให้กลุ่มคนเล็กๆที่สนใจในเรื่องนี้ฟังหลายครั้ง ซึ่งหลังจากอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ แต่อาจจะยากสำหรับท่านผู้เขียนบทความท่านนี้ ท่านน่าจะมีการศึกษาที่สูงส่ง จนไม่เข้าใจ คำอธิบายง่ายๆ ของท่านรัฐมนตรีพลังงาน ผมใคร่ขอชี้แจง อีกสักครั้ง

การสำรองน้ำมัน 90 วันนั้น เป็นไปเพื่อความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่านอย่าคิดว่า สถานการณ์ที่จำเป็นจะไม่เกิดขึ้น ให้ย้อนไปดูสถานการณ์ของโลก ในปัจจุบันนี้ ที่มีความขัดแย้งอยู่ทั่วไปในภูมิภาค หากเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคแถวนี้ และการขนส่งน้ำมันไม่สามารถจะทำได้ นั่นหมายความว่าธุรกิจภายในประเทศจะต้องหยุดชะงักหลังจากพ้น 30 วันไปแล้ว

การที่ประเทศมหาอำนาจ และประเทศที่ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กำหนดให้ระยะเวลา 90 วันนั้น ได้มีการคำนวนตามหลักวิชาการและประสบการณ์ อย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขบวนการขนส่ง การเจรจาคู่ขัดแย้ง การเปิดน่านน้ำ การบริโภคภายในประเทศ ตัวเลข 90 วัน จึงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ ภาระในการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ของประชาชน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับ แต่หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง เขาก็สามารถ มีน้ำมันที่จะขาย สร้างรายได้ให้บริษัทฯ ในช่วงนั้นอยู่แล้ว ทีนี้เรามาตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้เขียนบทความอ้างว่าหากใช้ระบบนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจจะถึงขั้นแบกรับไม่ไหวต้องถอนตัวออกจากธุรกิจไป ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วที่เขาไปทำธุรกิจน้ำมัน กับหลายประเทศ ที่กำหนดไว้ 90 วัน ทำไมเขาถึงทำได้ ก็เห็นข่าวว่ามีแหล่งน้ำมันที่ไหน บริษัทที่ท่านเป็นห่วงก็ไปแย่งประมูลทุกที่ไป อย่าไปกังวลแทนเขาเลยครับ

ผู้เขียนบทความ ยังเหวี่ยงแหระหว่างการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ที่บริษัทผู้ค้า ต้องเป็นผู้สำรองเพื่อเป็นหลักประกันว่าท่านจะมีน้ำมันขายให้กับประชาชนในประเทศนี้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน ไปพูดขยายความว่า รัฐจะต้องนำเงินจากภาษีประชาชนมาซื้อน้ำมันส่วนนี้ หากกระทรวงพลังงานมีข้าราชการแบบนี้อยู่ น่าเป็นห่วงนะครับ เพราะท่านนี้หากเป็นนักเรียนก็เป็นประเภทไม่สนใจเรียน เวลาครูสอนก็ไม่ฟัง ผลสอบมาก็ตก แล้วยังหน้าด้านไปติวเพื่อนอีก ถ้าไม่เข้าใจก็ย้อนกลับไปอ่านซ้ำๆหลายทีนะครับ ส่วนที่ท่านพูดถึงว่าอาจจะต้องใช้เงินภาษีประชาชนซื้อ น่าจะเป็น น้ำมันเพื่อความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ชาติ ท่านพีรพันธุ์ ท่านก็มาคิดว่าเมื่อสำรองน้ำมันให้ประชาชนใช้ 90 วันแล้ว หากมีสถานการณ์เกิดขึ้น รัฐจะเอาน้ำมันที่ไหนมาบริหารด้านความมั่นคง เช่น ให้ทหารใช้เพื่อการป้องกันประเทศ ให้ตำรวจใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ให้หน่วยราชการต่าง ๆ ใช้ เพื่อให้บริการประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้การใช้น้ำมันของภาครัฐไปเบียดบังประชาชนในสถานการณ์วิกฤต ท่านจึงคิดระบบสำรองน้ำมันเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อไหมครับว่า ระบบของท่าน ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ทำอย่างไรหรอครับ ท่านก็ใช้วิธีเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมันครับ น้ำมันส่วนนี้แหละครับ ที่ที่รัฐจะใช้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และยังใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันด้วย ทำได้อย่างไรหรอครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง

เรามาดูที่มาของกองทุนน้ำมันก่อนครับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในช่วง วันที่ 5 ม.ย. 2510 - 10 มิ.ย. 2510 ได้เกิดสงคราม 6 วัน ระหว่าง อิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แก่ จอร์แดน ซีเรีย และอียิปต์ ผลของสงครามทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคนน้ำมันในตลาดโลกทำให้ราคาน้ำมันขึ้นสูงมาก ประเทศต่างๆจึงได้คิดระบบกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพ ของราคาน้ำมันในประเทศตัวเองขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรปใช้วิธีตั้งกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน คือเก็บน้ำมันเข้าคลังสำรองน้ำมันของประเทศ หากราคาน้ำมันขึ้นราคา ก็ใช้วิธีนำน้ำมันจากกองทุนน้ำมัน ออกสู่ท้องตลาด ทำให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการ ราคาน้ำมันก็จะลดระดับลง ท่านพีรพันธุ์ก็นำความคิดนี้แหละครับ มาใช้ในประเทศเรา ระบบนี้มีข้อดีอย่างไรผมขอชี้แจงอย่างนี้นะครับ

ในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันที่ตั้งขึ้นมาที่ประเทศอื่นเขาเก็บเป็นน้ำมัน แต่เราเก็บเป็นเงิน สภาพกองทุน ติดลบตลอดเวลา เพราะอะไรรู้มั้ยครับ เพราะมันผิดธรรมชาติครับ เจตนาการตั้งกองทุน เพื่อแบ่งกำไรจากผู้ประกอบการมาเข้ากองทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกลดราคาลงและนำเงินส่วนที่เก็บไว้นี้จ่ายคืนให้ผู้ประกอบการในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกขึ้นราคา เพื่อเป็นการชดเชยให้ผู้ประกอบการสามารถขายน้ำมันในราคาที่ถูกลงได้ แต่มันผิดธรรมชาติอย่างไรรู้มั้ยครับ กองทุนน้ำมันที่เราตั้งใจเก็บจากกำไรของผู้ประกอบการกลับถูกนำไปบวก เพิ่มในราคาน้ำมันของเรา แสดงว่ากองทุนนี้โดนผลักภาระมาเป็นของประชาชน เท่านั้นยังไม่พอนะครับ สมมุติว่า วันนี้ ต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 20 บาท รัฐให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆได้ 10 บาท ราคาขายจะเป็น 30 บาท รัฐแจ้งว่า ต้องการให้ลดราคาน้ำมันเหลือ 25 บาท นั่นหมายความว่ารัฐต้องชดเชยต้นทุนน้ำมันลิตรละ 5 บาทเพื่อให้ราคาลงมาที่ 25 บาท ประเด็นอยู่ตรงนี้นะครับ ที่ผ่านมารัฐไม่เคยทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงเลย เมื่อรัฐ แจ้งให้ขายในราคา 25 บาท แล้วผู้ประกอบการแจ้งว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองอยู่ที่ 30 บาท ราคาขายจะต้องเป็น 40 บาท เมื่อรัฐต้องการให้ขาย ที่ 25 บาท นั่นหมายความว่า รัฐต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการ 15 บาท ท่านเห็นอะไรไหมครับ เป็นเรื่องตลกสิ้นดี ถ้าเราไม่รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ครั้งแรก กองทุนน้ำมันผู้ประกอบการก็ไม่ได้ควักกระเป๋า มาบวกเอากับผู้บริโภคเอาดื้อๆ เท่านั้นยังไม่พอเมื่อรับแจ้งควบคุมราคาน้ำมันก็มาเอาเงินของประชาชนกลับเข้ากระเป๋าของตัวเองอย่างหน้าตาเฉย ทีนี้เรามาดูนะครับ น้ำปลา มาม่า เนื้อหมู เนื้อไก่ ผู้ประกอบการยังต้องแจ้งต้นทุน จะขึ้นราคายังต้องขออนุญาต ที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้ำมันขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าต้นทุนมีราคาสูงแล้วเมื่อรัฐขอดูก็ไม่ให้ นี่คือเหตุผลที่ท่านพีรพันธุ์ ต้องออกกฎหมายให้แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เพื่อใช้คำนวณและหาค่าเฉลี่ยนำไปสู่การควบคุมราคาน้ำมันให้ขึ้นลงได้เดือนละ 1 ครั้ง สิ่งนี้มีผลในทางธุรกิจสูงมากนะครับ เพราะต้นทุนราคาน้ำมันนั้น เป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต อย่างน้อยราคาน้ำมันปรับเดือนละครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ก็จะสามารถทราบต้นทุนการผลิตของตนเองในส่วนนี้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อรัฐแจ้งนโยบายราคาน้ำมัน รัฐก็จะรู้ต้นทุนที่แท้จริง ว่าจะต้องเอากองทุนอุดหนุนกลับไปให้กับผู้ค้าน้ำมันเป็นเงินเท่าไหร่ จึงจะเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ทีนี้มาดูต่อครับ ถ้าเราเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน เวลารัฐจะอุดหนุน ก็จะอุดหนุนกลับไปเป็นน้ำมันใช่ไหมครับ ทีนี้ลองมาดูนะครับ ถ้ารับสั่งให้คงราคาน้ำมันที่ 25 บาท บริษัท A แจ้งว่า ต้นทุนเขาอยู่ที่ 20 + ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ราคาขายของเขา ก็จะเป็น 30 บาท รัฐต้องชดเชยให้เขา 5 บาทสมมุติเค้าขายไป 100 ลิตร รัฐต้องชดเชยเขา 500 บาท ราคาน้ำมันของเขา 30 บาท เขาจะได้น้ำมันกลับไปเท่าไร ก็เอา 500 หาร 30 บริษัท A ก็จะได้ นำมันกลับไป 16.667 ลิตร 

ที่นี้มาดู บริษัท B เจ้าเล่ห์หน่อย แจ้งต้นทุน 30+ ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ค้าขายของเขา ก็จะเป็น 40 บาท เมื่อรัฐสั่ง ให้ราคานโยบาย อยู่ที่ 25 บาท ถ้ารับเป็นเงินแบบเดิม และไม่มีการพิสูจน์ต้นทุนราคาน้ำมันเหมือนที่ผ่านมา บริษัท B ก็จะได้รับชดเชย 15 บาท ถ้าขายไป 100 ลิตร เขาจะได้รับชดเชยเป็นเงิน ถึง 1500 บาท แต่ถ้ากองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน ก็เอา 1500 หารด้วยราคาน้ำมัน 40 บาท ตามที่เขาแจ้ง เขาจะได้น้ำมันกลับไป 37.5 ลิตร 

เห็นหรือยังครับว่า การแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน สำคัญอย่างไร เพราะหาก บริษัท B แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน มาสูงกว่าราคากลางที่รัฐกำหนด บริษัท B จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร หากชี้แจงไม่ได้ก็ต้องใช้ราคากลางที่รัฐกำหนด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

ท่านผู้เขียนบทความที่อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงาน ยังพยายามที่จะใส่ร้ายท่านพีรพันธุ์ต่อไปอีกว่า ระบบ Cost Plus จะทำให้ประชาชนต้องมาแบกรับความเสี่ยง ผมว่าท่านน่ะเพ้อเจ้อ ท่านเขียนบทความนี้รู้สึกละอายบ้างไหมครับ วันนี้ประชาชนไม่ได้โง่นะครับ ทุกวันนี้น้ำมันที่ขายในประเทศถามจริงๆนะครับ เรือน้ำมันเข้ามาส่งที่ไหนครับ ที่แหลมฉบัง เกาะสีชังกับท่าเรือต่างๆในประเทศใช่ไหมครับ แล้วการไปอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ มีการเอาค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยบวกเข้าไปในต้นทุนราคาน้ำมัน ในฐานะที่ท่านเป็นข้าราชการกินเงินเดือนภาษีจากประชาชนท่านปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไรครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน เอาค่าขนส่งไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน ทำไมท่านไม่ค้านเขาครับ แล้วไปห่วงเรื่องค่าการตลาดของเขาอีก ค่าการตลาดก็ไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมันอีก การตลาดของธุรกิจที่ไหนก็ตามก็ต้องเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งนั้นแหละครับ แล้วค่าการตลาดของบริษัทน้ำมัน มันมีอยู่จริงหรอครับ มันต้องโฆษณาต้องจัดอีเวนท์ ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ทำปั๊มน้ำมันหรอครับ ที่ผมสงสัยเนี่ยประชาชนหลายคนก็สงสัยท่านช่วยตอบผมด้วยนะครับ

และการที่ท่านพีรพันธุ์ มีแนวคิดให้ผู้ประกอบการเฉพาะด้านเฉพาะกลุ่ม สามารถรวมตัวกันจัดซื้อน้ำมันได้เอง ก็เพื่อลดภาระของประชาชน เช่นกลุ่มขนส่ง กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมง เมื่อเค้าซื้อน้ำมันได้ถูก ต้นทุนสินค้าจากกลุ่มพวกนี้ก็จะถูกลงไปด้วย เรื่องแบบนี้ท่านคิดไม่ออกจริง ๆ หรอครับ

ท่านรู้มั้ยครับ ว่าพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำงานหนักเพื่อประชาชนขนาดไหน ตีสองตีสามท่านยังส่งข้อความสั่งงานผมอยู่เลยครับ พอตอนเช้า ก่อน 8 โมงเช้าท่านถึงกระทรวงหรือทำเนียบแล้วครับ ท่านบอกผมว่าท่านต้องเร่งทำงานทุกวันเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ทำงานได้ถึงวันไหนท่านต้องการให้ทุก ๆ วันท่านได้ตอบแทนประชาชน ไม่ใช่คำพูดสวยหรูครับ พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ใช่พรรคที่มีทุนหนา แต่อยู่ได้ด้วยศรัทธาและความรักจากประชาชน เราได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี 2568 เป็นอันดับ 1 เป็นจำนวนถึง 17,934,107.84 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคให้พรรคการเมืองของประชาชน ดังนั้น ทุกสิ่งอย่างที่พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำนั้น เป็นเพราะรู้สำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ สำหรับท่านผู้เขียนบทความ ในฐานะคนในกระทรวงพลังงานแต่ลงท้ายบทความว่า “ในฐานะผู้ผลิต” ผมขอแนะนำให้ท่านลาออกจากราชการ และไปรับเงินเดือนจากบริษัทผู้ค้าน้ำมันน่าจะถูกต้องกว่า

'พีระพันธุ์' แจงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป ลดภาระประชาชน ลั่นไม่สนใจนายทุนพลังงาน เหตุไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร

เมื่อวันที่ (6 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ ที่ถามโดยนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา ที่ถามถึงเรื่องมาตรการสนับสนุนตลาดพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ว่าการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันปล่อยมลพิษมากที่สุด ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไฟฟ้าไปเป็นพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมาถูกเอื้อให้กับกลุ่มทุน ที่รัฐบาลซื้อพลังงานหมุนเวียน ที่เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลาที่รัฐบาลจะซื้อก็อ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซี่งตนตั้งคำถามทุกครั้งว่าเป็นความมั่นคงของประเทศหรือของใครกันแน่ เพราะปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการหรือหลักการสำรองไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟให้กับประชาชนทั่วประเทศ มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเลย แต่ยังได้เงินจากประชาชนผ่านค่า FT ที่สำคัญคือการรับซื้อนั้น ไม่มีการประมูล ตนเห็นด้วยกับความกล้าหาญของนายพีระพันธุ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับซื้อไฟฟ้าและให้ชะลอการรับออกไป แต่เรายังต้องติดตามว่าจะกลับมาดำเนินการต่อหรือไม่ 

นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีบารมีนอกรัฐบาลที่ไปถ่ายรูปในสนามกอล์ฟใช่หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ เรื่องนี้ท่านมองเห็นถึงโครงสร้างการรับซื้อพลังงานสะอาดหรือไม่ เช่น โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop)จะมีการขยายการรับซื้อจากภาคประชาชนเหมือนกับกลุ่มทุนหรือไม่ รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้การขออนุญาตใช้เวลานาน ท่านจะทำอย่างไร จะมีมาตรการจูงใจภาคครัวเรือนเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น และจะมีวิธีลดภาระอย่างไร

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้ชี้แจงว่า ตนยืนยันว่าส่วนตัวไม่ทราบมาก่อนว่ามีการผูกขาดพลังงาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง จึงยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ในทันทีทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ยอมรับว่าตนหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง ยังมีข้อผูกพันทางกฎหมาย มันไม่ใช่ทันใจที่เราอยากทำ  ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมามีความชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดย 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีนโยบายขึ้นค่าไฟฟ้าและตรึงราคาค่าแก๊สไว้ตลอด ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถลดราคาได้ แต่ได้พยายามไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้ ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นปัญหานี้ ถ้าติดตามการทำงานของตน มันมีคำตอบอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

“ส่วนตัวผมไม่ชอบเรื่องความไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้อง และไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้น นโยบายเรื่องนี้ ตนขออนุญาตกราบเรียนว่าเรามีความคิด ผมกับท่าน ตรงกันอยู่แล้วที่จะดำเนินการ สำหรับประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ผมเห็นด้วยกับท่าน ผมคิดอีกแบบ  ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่เพียงแค่การทำให้มีพลังงานในปริมาณที่มากขึ้น แต่ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงต้องทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในการมีไฟฟ้าใช้ได้ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ประเทศเราที่เหมาะสมที่สุดคือแสงอาทิตย์ ดังนั้น จึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน อย่าพูดถึงขายเลยครับ เอาแค่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ ไม่ต้องพะวงว่าอีก 4 เดือน ค่าไฟจะปรับเท่าไหร่ ปัจจุบันที่ต้องปรับเพราะไฟฟ้าผลิตจากแก๊ส เราเจอภาวะราคาตลาดโลก ทำให้กำหนดราคาไม่ได้คงที่ ผมก็พยายามศึกษา เพราะเป็นสัญญาที่ทำข้อตกลงไว้แล้ว” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่าตนไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องแยกส่วนการไฟฟ้าไปอยู่ในกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย เพราะเมื่อมีการแยกระหว่างการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องรับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตแต่ไม่ได้เป็นฝ่ายขาย ทุกขั้นตอนต้องมีกำไร หากไม่มีกำไรก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ตนอยากจะหาทางแก้ปัญหา แต่ทั้งหมดนี้ สว. และ สส. เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย รู้หรือไม่ กฎหมายไฟฟ้าฝ่ายผลิตกำหนดตั้งแต่ปี 2511 ดังนั้น ควรมีการปรับแก้ ปัญหาพลังงาน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเห็น แต่ประเด็นคือใครจะเป็นคนทำ

“ท่านนายกฯ แพทองธารก็กำชับผมด้วยซ้ำไป ผมไม่อยากให้เข้าใจผิด ท่านนายกฯเศรษฐามาถึงนายกฯแพทองธารได้กำชับผมมาโดยตลอดให้ช่วยแก้ปัญหา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ชี้แจงรายละเอียดว่า เวลาประชาชนจะขอติดแผงโซลาร์ต้องขออนุญาตถึง 5 หน่วยงาน ซ้ำซ้อน และยุ่งยากมาก รวมถึงต้องรอเป็นปี ตนในฐานะกำกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานก็ได้สั่งการแก้ระเบียบไปแล้ว วันนี้การแก้กฎหมายไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน อีกนานกว่าจะเข้า ครม. รวมถึงเรื่องการหาเงินทุน

“ผมไม่ทราบหรอก เพราะผมไม่ใช่นายทุน  แต่วันนี้มันเกิดกับพี่น้องประชาชน ผมต้องแก้ไข แล้วถ้าหากว่าท่านติดตามข่าวสารเหมือนที่ท่านพูด ท่านจะเห็นเลยว่าอะไรที่ส่อไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ผมสั่งระงับทั้งนั้น เพราะผมไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรกับใคร ผมมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เหมือนกับท่านครับ เรามาเป็นผู้แทนมาทำงานให้กับประชาชน ครั้งหนึ่งในชีวิตทำตรงนี้ทำให้ดีที่สุด ผมทำทุกอย่างภายใต้นโยบายรัฐบาลและตามแนวทางคือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้กับประชาชน” นายพีระพันธุ์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top