Friday, 4 July 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พลังงาน’ ชี้ โรงไฟฟ้าสำรองมีความจำเป็นแม้ไม่ได้เดินเครื่อง ย้ำ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าไทยก็อยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน

(14 ม.ค.68) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลดลงด้วย

นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ

“ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1) ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริง ๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน”

“และ 2) ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘ดร.หิมาลัย’ แจงปม ‘พีระพันธุ์’ เร่งลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ หวังดึงนักลงทุนกลับไทย ย้ำ! ลดค่าไฟต่ำกว่า 4 บาท คิดไว้อยู่แล้ว

เร่งเดินหน้าเพื่อเศรษฐกิจไทย ‘หิมาลัย’ แจงปม ‘พีระพันธุ์’ เร่งลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ เหตุหวังดึงนักลงทุนกลับไทย 

เมื่อวันที่ (22 ม.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายถึงสาเหตุที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเร่งดำเนินนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้างพลังงานไทย” โดยเฉพาะการลดราคาด้านพลังงานลงหลายประเภท ทั้งราคาน้ำมันและค่าไฟว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่าการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ คือ สิ่งสำคัญของประเทศไทยในทุกวันนี้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทุกวันนี้นักลงทุนต่างชาติกลับถอนตัวการลงทุนในไทยออกไป ทั้งที่ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของไทยก็มีความเพียบพร้อมและตอบโจทย์ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจาก 2 ประการหลัก ๆ ประกอบด้วย

ประการแรก คือ เรื่องต้นทุนการขนส่ง ที่การขนส่งมีต้นทุนหลัก ๆ คือน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินของไทยอยู่ที่ประมาณลิตรละ 40.35 บาท แตกต่างจากเวียดนามและมาเลเซีย ที่ราคาอยู่ที่ลิตรละ 36.42 บาท และ 15.31 บาท ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30.94 บาท ส่วนเวียดนามและมาเลเซีย ราคาอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30.28 บาท และ 16.69 บาท ตามลำดับ เช่นนี้จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันในไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นเหตุให้นักลงทุนถอนการลงทุนในไทยแล้วย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

ประการต่อมา คือ เรื่องค่าไฟ ค่าไฟในไทยช่วงปลายปี 67 ราคาหน่วยละ 4.18 บาท ส่วนช่วงระหว่างม.ค.- เม.ย. 68 ราคาหน่วยละ 4.15 บาทซึ่งแพงกว่าเวียดนามและมาเลเซียที่ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 3.57 บาท และ 1.80 บาท ปัจจัยนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้นายพีระพันธุ์ เร่งรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันควบคู่ไปกับการลดราคาน้ำมัน และหาทางลดค่าไฟฟ้าในไทยลง โดยหวังลดค่าไฟให้เหลือต่ำกว่าหน่วยละ 4 บาท เพื่อหวังดึงนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตนเองก็ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนแนวคิดของนายพีระพันธุ์ ด้วย

ดร.หิมาลัย ระบุด้วยว่า นายพีระพันธุ์ เคยย้ำว่า การเข้ามาทำงานในฐานะฝ่ายบริหาร ในตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องทำงานทุกวินาทีให้ดีที่สุด

“นายพีระพันธุ์ เคยบอกว่า ได้เข้ามาทำงานเพื่อประเทศแล้วต้องพยายามทำงานให้เต็มที่ ทำงานทุกวินาที ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” ดร.หิมาลัย ระบุ

‘พลังงาน’ เดินหน้าตั้งทีมดูแลค่าไฟฟ้า ชี้ 2-3 เดือนได้แนวทางลดราคาค่าไฟที่เหมาะสม

ปลัดกระทรวงพลังงาน จับมือผู้บริหารระดับสูง โชว์ผลงานสำคัญ ปี 2567 พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 2568 เน้นมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเร่งเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด พร้อมระบุกระทรวงพลังงานตั้งทีมพิจารณาแนวทางลดค่าไฟฟ้า คาด 2-3 เดือน จะได้เห็นหลากหลายแนวทาง เพื่อนำมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดค่าไฟฟ้าต่อไป  

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค. 68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2567 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ 'New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด'

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง  (FiT)  

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยพิจารณาและหารือกับผู้ประกอบการมาก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้คาดว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะมีหลากหลายแนวทางออกมาภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนี้จะนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป  

สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ตอนนี้ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยังคงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผ่านมาตรการการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ราคาพลังงานภายในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลาย ๆ มาตรการก็เกิดจากการบริหารจัดการและระดมสมองจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2. พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3. พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกพยายามมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์

3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2

“จากผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินทุกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน ส่วนในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานจะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ 'ภาพฉาย กลายเป็น ภาพชัด' ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาคพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ การพัฒนาและปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต การทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นนโยบายที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และจะปฏิบัติตามแผนในปี 2568 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่เป้าหมายพลังงานสะอาดต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สนพ. ได้ปฏิบัติภารกิจงานด้านการวางแผนนโยบายพลังงานภายใต้หลักคิด (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) สนพ. ได้จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พัฒนา EV Data Platform และส่งเสริมการใช้ EV ในภาคราชการ โดยในเดือน มิ.ย. 2567 สนพ. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan2024) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความเห็นที่ได้จากการ Public hearing ไปปรับปรุงเพื่อเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สนพ. ยังได้เสนอข้อสรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand response (DR) ปี 2566 และแนวทางพัฒนาแหล่งทรัพยากร DR ในระยะแรกปี 2567 – 2569 เพื่อตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (2) ด้านการดูแลราคาพลังงาน (Economics) สนพ. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กำหนดราคา Pool Gas ราคาเดียว (Single Pool) และทบทวนค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซ) ซึ่งช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ลดลง

ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย และนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน ได้แก่ การรักษาระดับค่าไฟฟ้าปี 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง การคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร สำหรับ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) สนพ. มีนโยบายที่คำนึงถึงพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ไม่เกิน 2,000 MW สำหรับธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2567 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ติดตั้งโซลาร์ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร รวม 595 แห่ง 1,588 ระบบ,ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำกว่า 235 ครัวเรือน, กำกับและส่งเสริมให้มีการลดใช้พลังงานในโรงงานอาคารได้กว่า 7,583 ล้านบาท, ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระดับครัวเรือน ชุมชน กว่า 24,606 คน และพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานเพื่อสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน

และในปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันดิบ จาก 5% เป็น 6% ควบคู่กับการศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขับเคลื่อนการออกกฎหมายรับแจ้งข้อมูลนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน ประสานความร่วมมือกับ กกพ. กฟน. และ กฟภ. ในการกำหนดกรอบระยะเวลาการอนุมัติอนุญาตและมาตรฐานการติดตั้ง Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน (B7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

อีกทั้งได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นโลจิสติกส์หลักของประเทศ และได้แก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ให้เอื้อต่อการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงบัตรประจำตัวสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้ขับเคลื่อนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมถึงน้ำมันเตาชีวภาพกำมะถันต่ำมาก

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคือการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เรียบร้อยแล้ว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งสามารถกำกับ ดูแล สนับสนุนให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแปลง G1/61 และ G2/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับ

นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีการดำเนินงานให้ได้มีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลง B8/38 ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 4,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการต่อระยะเวลาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ด้วยแล้ว นอกจากการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน CCS เพื่อสนับสนุนนโยบายในการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยการจัดทำโครงการศึกษากฎระเบียบและโครงการนำร่อง CCS ในแหล่งอาทิตย์ ทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานด้าน CCS ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน พร้อมเร่งรัดการทำงานเตรียมรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล ปี 69

(6 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า วานนี้(5 กุมภาพันธ์ 2568) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก ตามที่ตนได้เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น แต่เนื่องจากมีการเสนอกฎหมายในทำนองเดียวกันจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษากฎหมายฉบับดังกล่าวเสียก่อนว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่จะยกร่างหรือไม่ จึงทำให้เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง 

บทสรุปในวันนี้คือทางเราจะเร่งเดินหน้ายกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นโดยมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการในการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ และเพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้นในการทำงาน จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายอีก 1 คณะ เพื่อให้การยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว 

ตนเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยทําให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีหลักประกันในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในด้านรายได้ และจะทําให้วงจรของการนําน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นสินค้า หรือว่าเพิ่มมูลค่าเป็นระบบและครบวงจร 

สำหรับรูปแบบของร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำรูปแบบของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาปรับใช้ โดยกฎหมายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มก็จะออกมาในทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2569 ที่จะถึงนี้ เงินจากกองทุนน้ำมันที่ต้องไปสนับสนุน ตรึงราคาน้ำมันปาล์มจากการที่เอาน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลจะถูกหยุดลง เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ต้องรีบเตรียมการเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีตลาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากการลดการสนับสนุนให้ผสมกับน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมัน ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการจะเกิดปัญหาต่อไป

ดังนั้นตนพร้อมทั้งกระทรวงพลังงาน รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งนำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก็ได้ช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาและรองรับกับสถานการณ์ใน พ.ศ. 2569 ตนเชื่อว่าการเตรียมการนี้จะแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้ลุล่วงไปด้วยดี 

‘พีระพันธุ์’ แจงละเอียดยิบภารกิจดูแลพลังงานเพื่อคนไทย คืบหน้าร่าง กม.กํากับน้ำมัน-ก๊าซ วิธีลดค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เผยแจงความคืบหน้าร่างกฎหมายกํากับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เผยวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาท  เตรียมเร่งผลิตระบบโซลาร์ราคาถูกวางจำหน่ายในปีนี้ 10,000 เครื่อง

เมื่อวันที่ (13 ก.พ.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษโดยเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายกํากับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีช่องโหว่ในเรื่องของการกำหนดราคาก๊าซ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะดูแลประชาชนไปถึงเรื่องของก๊าซด้วย นั่นคือ กรณีของก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซที่ใช้สำหรับรถยนต์ ตนจึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมทั้งผู้ชำนาญการช่วยกันทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนของก๊าซ เพื่อดูแลการกำหนดราคาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่สภาฯ ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้กำลังรอให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างฯ ของกระทรวงพลังงานแล้วเสร็จ และจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนนำส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาประกอบกับร่างฯ ที่เสนอจากพรรคการเมือง

ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เผอิญว่าต้นปี 2568 มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องจะให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และสํานักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟ ก็ออกมาบอกว่าสามารถลดได้ ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ตนในฐานะรัฐมนตรีพลังงานต้องพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟทุก 4 เดือน  จนสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดของ กกพ. ก็มีประเด็นที่อาจทำไม่ได้

“ทุก 4 เดือน ผมต้องพยายามบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟ เพราะถ้าลดยังไม่ได้ ก็อย่าขึ้น เพราะฉะนั้นปี 67 ทั้งปีเราได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์มาตลอด ส่วนงวดปัจจุบันนี้ คือตั้งแต่ มกราคม-เมษายน 68 ผมก็ดําเนินการปรับลงมาที่ 4 บาท 15 สตางค์ แต่ก็ยังมีดราม่าบอกลดอะไร 3 สตางค์ ความจริงถ้าผมไม่ดําเนินการวันนั้น เขาบอกเขาจะขึ้นไป 5 บาทกว่า หรือไม่ก็ 4 บาทปลาย ๆ แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเหนื่อยต่อแล้ว เพราะค่าไฟงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 68) จะมาแล้ว ทุกทีผมต้องเป็นคนไปขอให้ลด แต่อย่างน้อยคราวนี้ ทาง กกพ. บอกว่าลดได้ ผมก็ใจชื้น แต่ประเด็นคือ เขาบอกว่าการลดนี้ให้เป็นนโยบายรัฐบาล ให้ไปเลิกสัญญา Adder กับสัญญาที่เป็นปัญหา ที่เราเรียกว่า สัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะไปเซ็นสัญญากันไว้ตั้งแต่ยุคไหนว่า สัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุกห้าปี ไม่มีวันหมด แล้วก็ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทําไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ได้โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากําลังศึกษาว่ามีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทําไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ได้มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป

“ปัญหาเรื่องค่าไฟต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันเยอะมากและมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเยอะมาก น้ำมันคือน้ำมัน แต่ค่าไฟ มันไม่ใช่แค่ค่าไฟ มันคือค่าแก๊ส ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่าง ๆ ที่บวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ และที่สําคัญ ผมคิดว่าทํายังไงจะให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงแล้วก็เป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับกรณีที่มีกระแสว่าการทำงานของ รมว.พลังงาน จะไปขัดผลประโยชน์และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้ทําเพื่อจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด


“เราไม่ได้เจตนาไปทําอะไรใคร คนเขาพูดไปเอง สื่อก็พูดไปเรื่อยนะครับ จริง ๆ ผมก็ทํางานในสิ่งที่ต้องทํา เมื่อมาเห็นอะไรต้องปรับปรุงก็ต้องทํา และที่สําคัญก็คือว่ามันไม่ใช่เราคนเดียว มันเป็นนโยบายรัฐบาล และถ้าหากจําได้นะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ NBT เรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และท่านก็มอบหมายให้ผมเป็นคนทํา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทํา ทั้งนโยบายส่วนตัว ทั้งนโยบายของพรรคของผมรวมถึงนโยบายรัฐบาลมันตรงกันในเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาทํา เราก็ต้องทํานะครับ เราไม่ได้ทําเพราะว่า มันจะกระทบใคร หรือจะเกิดอะไร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด และผมพูดเสมอว่านายทุนหลักคือประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่อง Inverter สำหรับติดตั้งกับระบบโซลาร์เซลล์สิทธิบัตรของคนไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนจะนำออกจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนในปีนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขั้นตอนที่ 2 และ 3 หลังจากผ่านการทดสอบขั้นตอนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) โดยทางผู้ออกแบบกำลังนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบที่ห้องแล็บในประเทศจีนภายใต้การรับรองของ สวทช. ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและความสะดวกในการปรับปรุงอุปกรณ์ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะร่วมกับบริษัทในเครือของ กฟผ. และ ปตท. ในการผลิตและจําหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยจะเตรียมการผลิตเบื้องต้นประมาณ 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 60% อีกทั้งยังมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งและการลดหย่อนภาษีด้วย

“ผมได้คุยกับท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ท่านดูแลเอสเอ็มอีแบงค์ ก็จะให้ทางเอสเอ็มอีแบงค์มาช่วย สําหรับคนที่ไม่มีเงินทุนพอ ก็จะสามารถไปกู้ยืมเงินจากเอสเอ็มอี แล้วผมก็จะสนับสนุนอีกบางส่วนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และส่วนที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าไปแล้วก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะให้กระทรวงการคลังช่วยหักลดหย่อนภาษีด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่พัทลุง-สงขลา เร่งแก้ปัญหาน้ำ ‘ทะเลน้อย’ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนพัฒนาท่องเที่ยว - การค้า - การลงทุน

เมื่อวันที่(17 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง เพื่อเตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดพัทลุง และได้ต้อนรับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบริเวณ “ทะเลน้อย” ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพัทลุง 

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า  จากตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำบริเวณ “ทะเลน้อย” ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราชเพื่อระบายออกไปยังทะเลสาบสงขลานั้น พบว่าปัจจุบันทะเลน้อยอยู่ในสภาพตื้นเขิน อีกทั้งยังเต็มไปด้วยวัชพืชน้ำ ผักตบชวา จอก แหน ทําให้เกิดน้ำท่วมขัง ระบายน้ำได้ช้า เรือกสวนไร่นาของพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหาย   ตนในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบไปด้วย ชุมพร สุราษฎร์ นคร พัทลุง สงขลา ก็รับแนวทางมาเพื่อที่จะดําเนินการแก้ไปปัญหาต่อไป  โดยเบื้องต้นได้ให้จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสําหรับเก็บกวาดวัชพืชน้ำ เพื่อนำไปต่อยอดทําเป็นปุ๋ยให้กับชาวบ้าน  และจะมีการขุดลอกพื้นที่เพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการเลี้ยง “ควายน้ำ” ซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลน้อยตามความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

จากนั้น  นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง)  หรือ กรอ.  ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่สําหรับการแก้ไขปัญหาบูรณาการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว การค้า การลงทุน

“ผมดีใจที่มีน้อง ๆ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม และได้นำเสนอแนวความคิดดี ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ผมจึงมอบหมายให้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือหอการค้า ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ ช่วยกันทำงานกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่  และให้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด หรือ ทางสภาพัฒน์ฯ ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมและดูแลให้โครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้บางส่วนที่สามารถนําเข้า ครม. ได้ ก็จะนำเข้าสู่การประชุม ครม. สัญจรในวันพรุ่งนี้  ซึ่งผมจะเรียนให้ทราบความคืบหน้าต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เร่งหาวิธีปรับลดค่าไฟรอบใหม่ หลังหารือฝ่ายกฎหมายชี้ชัดแนวทาง กกพ. ทำไม่ได้

วันนี้ (19 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานการประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟ  รวมทั้งกรณีที่ กกพ. เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) รวมทั้งมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อจะให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้อีก 17 สตางค์  โดยที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ. ซึ่งเลขาธิการ กกพ. รับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายแล้ว โดยจะนำไปแจ้งให้คณะกรรมการ กกพ. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปจากผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกาว่า ข้อเสนอของ กกพ. เพื่อปรับลดค่าไฟในแนวทางนี้ไม่สามารถทำได้ และ รมว.พลังงาน ได้ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ได้เกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบ Pool Gas ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน

“รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานไทย” เปิด 10 ผลงานเด่น ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในรอบปี 2567 มีอะไรบ้าง ไปส่องกันเลย

“รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานไทย” เปิด 10 ผลงานเด่น ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในรอบปี 2567 มีอะไรบ้าง ไปส่องกันเลย

รทสช. ผลักดันเต็มที่ ‘กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรี’ ขณะที่ ‘พีระพันธุ์’ เล็งใช้กลไกกองทุนฯ หนุนผ่อนจ่ายปลอดดอกเบี้ย

รทสช. เผย กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรีอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน สัญญาเร่งติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องขออนุญาต 4 หน่วยงาน ข่าวดี! ‘พีระพันธุ์’ เตรียมใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงาน อุดหนุนให้ผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ ปลอดดอกเบี้ย

(25 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า 

การประชุมในวันนี้นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติต่างเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้มีกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 ของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติเห็นชอบในทั้งสองวาระ

และการพิจารณาในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติ รับหลักการในวาระที่ 1 ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ในการประชุมได้มีบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ซึ่งขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภามีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินจึงจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการพิจารณา ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าราคาถูก และอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 

สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ กับ 4 หน่วยงาน อันได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.),องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) อีกต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งในอดีตการขออนุญาตจากหลายหน่วยงานทำให้เกิดความล่าช้าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟของประชาชน และมีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เตรียมกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟได้ง่ายขึ้นผ่านการผ่อนจ่ายโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนในส่วนของดอกเบี้ยดังกล่าว 

และการผลักดันการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ได้ผลักดันให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน และไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

การแก้ไขให้ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการทั้ง 4 หน่วยงานของกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี จะทำให้ต่อจากนี้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันว่าจะเร่งรัดและผลักดันเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดในราคาถูกลงได้

‘พีระพันธุ์’ ยันไม่ทิ้งโครงการสูบน้ำด้วยแสงอาทิตย์จากเหมืองเก่าลำพูน เผยบรรจุไว้ในงบปี 69 แล้ว - เพิ่มพื้นที่เกษตรใช้ประโยชน์เป็น 600 ไร่

(27 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามทั่วไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเรื่อง ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โครงการเหมืองถ่านหินเก่า ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ว่า

ในลำดับแรก ตนขอนำเรียนว่าสำหรับโครงการก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โครงการเหมืองถ่านหินเก่า ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ควรเป็นโครงการที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ต่อปี 2565 ในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้นได้รับการติดต่อขอความร่วมมือจากสำนักงานประสานงานโครงการพระราชดำริ เนื่องจากมีราษฎรได้ยื่นฎีกาเพราะต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสำรวจพื้นที่ ตรวจข้อเท็จจริงและปัญหาต่าง ๆ และนำมาสู่การที่จะต้องบรรจุในเล่มงบประมาณ ในส่วนของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีปัญหาหรือข้อขัดข้องแต่อย่างใด ซึ่งได้มีการนำมาบรรจุงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 

แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้เริ่มต้นจากกระทรวง เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ ฯลฯ ทำให้ไม่ทันที่จะบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ต่อมาเมื่อทำใหม่ในปีงบประมาณปี 2567 ซึ่งเกิดการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขาดช่วงและล่าช้ามาจนถึงปลายปี ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจัดทำงบประมาณปี 2568 ต่อกันไป เมื่อได้มีการบรรจุโครงการในงบประมาณปี 2567 เรียบร้อยแล้วจึงไม่มีการบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อีกต่อไป ปรากฏว่าในชั้นกรรมาธิการงบประมาณได้มีการตัดลดงบประมาณของกระทรวงพลังงานและได้มีการตัดโครงการนี้ออกไป 

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากการตัดลดงบประมาณที่เกิดขึ้น จึงได้มีการบรรจุโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2569 เรียบร้อยแล้วและยังได้มีการขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จาก 533 ไร่ เป็น 600 ไร่ อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top