Saturday, 5 July 2025
กระทรวงพลังงาน

‘พีระพันธุ์’ ยืนยัน!! ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ขอบคุณ ‘กกพ.-กฟผ.-ปตท.’ ช่วยทำเพื่อประชาชน

(19 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวกรณีมีกระแสข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วย ว่า "จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อยุติว่า จะตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 โดยในวันนี้ได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาหารือร่วมกัน

"ส่วนจะตรึงต่อไปอีกกี่เดือนนั้น ต้องพิจารณาตามราคาตามค่าเอฟทีที่ปรับทุก 4 เดือน ซึ่งต้องมาดูตรงนี้ด้วย ถ้ามีการปรับลดลงราคาไฟก็ลดลง อย่างไรก็ตามสำหรับการตรึงค่าไฟรอบนี้ ต้องขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปตท.ที่ยินดีไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อช่วยเหลือประชาชน"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากระแสข่าวที่ออกมาเกิดจากอะไร? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ก็เป็นเหมือนทุกครั้ง ที่พยายามทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สื่อก็ต้องช่วยทำความเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดในสิ่งที่ควรจะเป็นจริง ก่อนที่สุดท้ายจะต้องมาดูด้วยว่า นโยบายจะสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง" 

"การที่จะช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานพยายามตรึงไว้ที่ราคาเดิมที่ 33 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนับวันเป็นภาระหนี้สินมากขึ้น การจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ต้องปรับลดภาษีด้วย ซึ่งตนพยายามปรับปรุงกฎหมายอยู่ ขณะนี้การยกร่างกฎหมายฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันประจำวันเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทบทวนความถูกต้อง จากนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป" นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘อัครเดช รวมไทยสร้างชาติ’ ชม ‘พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค.67 เคาะราคา 4.18 บ./หน่วยเท่าเดิม ช่วยลดภาระประชาชนยาวถึงปลายปี

(19 ก.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะคงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 ไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม ว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติต้องขอชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ตระหนักถึงภาระและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ ซึ่งที่ผ่านมาท่านพีระพันธุ์ได้ไปต่อสู้ให้กับประชาชนด้วยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อตรึงราคาค่าไฟฟ้าต่อไปอีกในงวด ก.ย.-ธ.ค. 67 

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า  สส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ผ่านมาหลายครั้งในการประชุมพรรคก็ได้สะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องค่าครองชีพ โดยอยากให้รัฐบาลตรึงราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรค ท่านก็รับทราบปัญหาและพยายามหาวิธีแก้ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน วันนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ใช้ทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าต่อไปจนถึงปลายปีให้กับประชาชน

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังกล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาว ว่า เรื่องนี้ทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการจัดทำแผนและวางแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวไว้แล้ว และจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร คาดว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะได้มีการชี้แจงอีกครั้ง ดังนั้นการตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ขอยืนยันว่าเป็นความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต่อสู้หาวิธีแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด โดยเฉพาะเรื่องของจัดหาแก๊ส LNG จากต่างประเทศ ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า และปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นจากภาวะสงครามอีกด้วย 

”การตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ขอยืนยันว่าเป็นความสามารถและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของท่านพีระพันธุ์ ที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ซึ่งต้องขอชื่นชม และต้องบอกว่าถ้าไม่ใช่ท่านพีระพันธุ์ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ราคาค่าไฟฟ้าคงไม่ใช่เท่านี้แน่นอน“ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ นักการเมืองผู้พยายามรักษาคำพูด 'ค่าไฟฟ้า' ยังคงที่ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง

ปัญหาราคาพลังงานเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสสำหรับสังคมบ้านเรามาก ๆ เพราะเราต้องนำเข้าพลังงานเรียกว่า 'แทบทุกชนิด' แม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจนทุกวันนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะแต่ก่อนใช้ถ่านหินซึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต่อมาเมื่อมีการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบ้านเราได้ใช้ LNG จากแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา 

ปัจจุบันปริมาณ LNG จากแหล่งอ่าวไทยมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ทั้งเมียนมาเองก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่าย LNG เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงต้องเพิ่มการนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งเคยนำเข้า LNG จากรัสเซียเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ยกเลิกการซื้อ LNG จากรัสเซีย จึงทำให้ LNG ในแหล่งผลิตต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่นั้นมา 

การที่ราคา LNG ในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขี้นนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน แต่จนถึงทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ที่กำหนดราคาค่ากระแสไฟฟ้า 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด นับตั้งแต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้เมื่อ 1 กันยายน 2566 สิ่งที่ 'รองพีร์' ใช้ความพยายามมากที่สุดคือ 'การใช้กลไกและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่งจะทำให้สามารถตรีงหรือลดค่า Ft ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยให้ได้มากที่สุด'

ดังนั้น จึงทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. สามารถปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย และในต่อมาเป็นอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยจนกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567 ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาร่วมกันหารือกรณีค่าไฟฟ้างวดใหม่ กันยายน - ธันวาคม 2567 สืบเนื่องจากการที่กกพ.มีมติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 6 บาทกว่า การหารือได้ข้อยุติที่จะตรึงค่าไฟงวดใหม่ไว้ในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยตามเดิม โดยปตท.จะไม่รับเงินตอบแทนใด ๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย

โดยที่การช่วยเหลือพี่ประชาชนคนไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าหรือราคาน้ำมัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่กระทรวงพลังงานต้องประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินการำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง อีกทั้งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย เพราะการสำรองเชื้อเพลิงเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน ซึ่งหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงที่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศได้ถึง 50-90 วัน ปริมาณน้ำมันสำรองจำนวนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐจึงรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG และ LNG ที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

การตรึงหรือลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นับว่าเป็นภารกิจที่ยากมาก ๆ แต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ก็ทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเต็มใจ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ง่ายเลย และอาจจะขัดผลประโยชน์ของคนบางพวกบางกลุ่ม จึงต้องใช้เวลาดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ตามความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

'ธนกร' ชื่นชม!! 'นายกฯ-พีระพันธุ์' คงมาตรการตรึงค่าไฟ-ดีเซล ช่วย 'กลุ่มเปราะบาง-ประชาชน' ได้มากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

(24 ก.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ว่า ประชาชนฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานที่เสนอ ครม.ให้มีมติขยายมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยที่หน่วยละ 4.18 บาท โดยเฉพาะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน อยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท และค่าน้ำมันดีเซล ที่ลิตรละ 33 บาท ออกไปอีก 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค.67 นี้

โดยต้องขอชื่นชมและขอบคุณนายพีระพันธุ์ ที่มุ่งมั่นสานต่อแนวทางและมาตรการเดิมตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ให้เป็นมาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของพี่น้องประชาชน นอกจากนั้นทราบว่ากำลังร่างกฎหมายออกมาเพื่อปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศแบบระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน ตามแนวทาง 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานของไทย ซึ่งเชื่อว่า จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุน จากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนโดยตรง

“การจะรื้อโครงสร้างพลังงานของไทยที่ใช้ระบบเก่าทำกันมายาวนานเกือบ 50 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างมาก จึงขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ และนายพีระพันธุ์ รวมถึงรัฐบาล โดยพรรครวมไทยสร้างชาติในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมร่วมมือผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาพลังงานของบ้านเราให้เกิดความเป็นธรรม ช่วยเหลือประชาชนมากก่อนกลุ่มทุนภาคเอกชน“ นายธนกรกล่าว

‘ก.พลังงาน-หน่วยงานเกี่ยวข้อง’ จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(24 ก.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูงส่วนราชการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมกันถวายราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับแถลงข่าว กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บ้านพิบูลธรรม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรุงเทพฯ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจในสังกัด และ กกพ. น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในการจะ ‘สร้างประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลากหลายด้าน
ได้แก่ ด้านส่งเสริมสุขภาพประชาชน กกพ. ในฐานะหน่วยงานในกำกับฯ ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าติดตั้งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับสถานพยาบาล 73 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าและนำงบประมาณที่เหลือใช้ไปดูแลประชาชนให้เข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนองพระบรมราโชบายที่ทรงต้องการสืบสาน ต่อยอด โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงริเริ่มการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์อีกด้วย

ด้านส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ทั้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กฟผ. และ ปตท. ได้เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ 10 โครงการสืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน ของ กฟผ. และกิจกรรมปลูกป่า จำนวน 72,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนำมาซึ่งอากาศสะอาดและความชุ่มชื้นให้กับประเทศอย่างกว้างขวาง

ด้านเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ปตท. ได้การจัดทำหนังสือที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะรวบรวมพระราชประวัติพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ภาพถ่ายอันทรงคุณค่าจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชกรณียกิจการพัฒนาด้านพลังงาน พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ทรงมีแก่ประชาชนชาวไทย รวมทั้งการดำเนินโครงการต่าง ๆ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลฯ ซึ่งจัดพิมพ์จำนวน 1,072 เล่มด้วย

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กกพ. และสำนักงาน กกพ.ได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 73 แห่ง เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 73 แห่ง ในวงเงินงบประมาณ จำนวน 457,192,500 บาท มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 15,597 กิโลวัตต์พีค โดยมุ่งหวังลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและคาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลของรัฐได้ถึง 86,213,686 บาทต่อปี อีกทั้งโรงพยาบาลสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ดังกล่าวไปสนับสนุนภารกิจในการดูแลประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขกับโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 11,872 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“กกพ. และสำนักงาน กกพ. มีความมุ่งมั่นที่จะน้อมนำแนวทางพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข โดยจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และจะขยายการสนับสนุนไปยังหน่วยงานของรัฐด้านการศึกษา และด้านการคุ้มครองทางสังคมและมีความมั่นคงให้กับประชาชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นายเสมอใจ กล่าว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. จัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 10 โครงการ ภายใต้ชื่อ ‘10 โครงการ สืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน’ ประกอบด้วย

1) โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ
โดยล้างเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ (City Tree)
สร้างอากาศที่ดีให้ผู้ป่วย พร้อมสนับสนุนเลนส์ตาเทียมสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 
2) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 ในพื้นที่โครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก ขนาด 16 กิโลวัตต์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ ขนาด 72 กิโลวัตต์
3) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่
ขนาด 72 กิโลวัตต์
4) โครงการออกหน่วยให้บริการแว่นตาในพื้นที่เป้าหมาย 43 แห่ง รวมถึงมอบแว่นตาแก่
กลุ่มเปราะบาง จำนวนรวมทั้งสิ้น 72,000 แว่นตา
5) โครงการโคก หนอง นา ต่อยอด 72 แปลง ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

6) โครงการจัดตั้งห้องเรียนสีเขียว Smart Green Learning Room และปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ณ โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม จ.นครราชสีมา 
7) โครงการสนับสนุนชุดนักเรียนเบอร์ 5 จำนวน 72,000 ชุด ในกลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ และกลุ่มโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา
8) โครงการสนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิกาญจนบารมี สนับสนุนรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวชพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 1 คัน
9) โครงการสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ 72 ไร่ ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี  
โดยปรับพื้นที่เพื่อสร้างสนามแข่งขันจักรยาน พื้นที่ทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ  
10) โครงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 
25 - 28 กรกฎาคม 2567  

คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2,800 ตันต่อปี ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 5.3 หน่วยต่อปี ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 26.6 ล้านบาทต่อปี

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมพิเศษเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่

1) โครงการพัฒนาพื้นที่กำแพงเพชร 6 ขนานแนวโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรเฉลิมพระเกียรติที่ ปตท. จัดสรรพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ติดคลองเปรมประชากร เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและอาคารนิทรรศการ รวมถึงท่าเรือและพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน เพื่อสืบสาน และขยายผลต่อยอดพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ

2) ผลิตและเผยแพร่ หนังสั้นเฉลิมพระเกียรติฯ 2 เรื่อง คือ เรื่องรูปวาดจากอนาคต และ เรื่องคาเฟ่ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน ตามพระบรมราโชบาย จำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ เผยแพร่ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 สิงหาคม 2567 ทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์

3) กิจกรรมแสดง แสง สี เสียง เฉลิมพระเกียรติ 'ลำนำนที วารีสมโภช' ณ สวนสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) เพื่อให้ประชาชนได้รับชมหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติ พร้อมร่วมกิจกรรม อาทิ การแสดงแสง สี เสียงและ 3D Mapping ที่ป้อมพระสุเมรุ การละเล่นจากชุมชนบางลำพู ดนตรีในสวน กิจกรรม workshop ร้านค้าชุมชน และนิทรรศการโครงการตามพระบรมราโชบาย พระราชกรณียกิจและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งล่องเรือในเส้นทางสุดพิเศษจากป้อมพระสุเมรุไปยังป้อมมหากาฬ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์

4) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่ง ปตท. โออาร์ และโครงการหลวง ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร  

5) กิจกรรมปลูกป่า จำนวน 72,000 ไร่ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ แหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คาดว่าจะสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 68,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โครงการและกิจกรรมพิเศษที่ กลุ่ม ปตท. ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการตามพระบรมราโชบายของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณีย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็มีโครงการประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน เพื่อพัฒนานักออกแบบนวัตกรรมด้านพลังงานภาคประชาชน พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่ใช้งานได้จริง และเชิดชูประชาชนผู้มีแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นการช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนั้น จะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเชิงพาณิชย์ เพื่อการต่อยอดและขยายผลอย่างยั่งยืน ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 คาดว่าผลลัพธ์จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานของไทยอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพระราชกรณียกิจด้านพลังงานและคัดสรรภาพประกอบเพื่อนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ เชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า และสมพระเกียรติ

“จะเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของกระทรวงพลังงานมีครบทั้งมิติด้านพลังงาน มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมไม่ได้จัดแค่ช่วงเดือนกรกฎาคมเท่านั้น จะมีการจัดกิจกรรมไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 ประชาชนสามารถติดตามโครงการต่าง ๆ ผ่านทั้งหน้าเว็บไซต์ และ Facebook ของหน่วยงานต่าง ๆ สุดท้ายนี้ ดิฉันก็ขอขอบคุณอีกครั้ง ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกระดับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันผลักดันโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในโอกาส มหามงคลในครั้งนี้” นางสาวนันธิกา กล่าว

'พีระพันธุ์' เผย!! ร่าง กม.คุมราคาน้ำมัน เสร็จแล้ว เตรียมปิดฉาก ผู้ค้า 'ขึ้น-ลง' ราคาตามอำเภอใจ

เมื่อวานนี้ (24 ก.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการดูแลราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้ ว่า ตอนนี้องค์ประกอบต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันขึ้น-ลง ตามอำเภอใจ ทุกวันนี้ไม่มีใครคุมได้ ผู้ค้าคิดจะขึ้นก็ขึ้น คิดจะลงก็ลง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ คือ การแก้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจ ได้แต่ขอความร่วมมือ 

โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้ ร่างเสร็จแล้ว ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยหลังจากนี้ จะส่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งก่อนประกาศใช้ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะทันปีใหม่หรือไม่ แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด

สำหรับแต่เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง 

แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนจึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบเป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษีซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนไม่มีแล้ว 

ทั้งนี้ ตนได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยที่ผ่านมามีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คือ ไทย เก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.51 บาท รวมเป็นภาษีน้ำมัน 6.50 บาทต่อลิตร เวียดนามเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 1.70 บาท สิงคโปร์เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 5.54 บาท แต่สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยประมาณ 10 เท่า

ส่วนอีกคำถามที่พบเจอบ่อย คือ ทำไมราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซียจึงมีราคาถูกเพียงลิตรละ 10 กว่าบาทเท่านั้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันในมาเลเซียมีราคาถูกเนื่องจากรัฐบาลมาเลเซีย มีรายได้จากปิโตรเลียม จึงนำเงินรายได้ตรงนี้มาอุดหนุนชดเชยปีละ 3-4 แสนล้านบาท ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซียมีราคาถูกแต่หลังจากนี้ไปการอุดหนุนชดเชยเริ่มลดลง จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซีย เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของไทย ราคาต้นทุนน้ำมันจริง ๆ จะอยู่ที่ราคาประมาณ 21 บาท แต่เราต้องจ่ายจริง 30-40 บาท ก็เพราะมีเรื่องภาษีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นายพีระพันธุ์ ย้ำด้วยว่า การช่วยเหลือประชาชน คือ การเอาปัญหาของประชาชนมาเป็นปัญหาของเราแทน เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ส่วนเรื่องการชำระหนี้กับ กฟผ. ถ้าต่อไปมีปัญหา รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล

'พีระพันธุ์' เยือนซาอุดีอาระเบีย ปิดดีลใหญ่!! ยกระดับความร่วมมือด้านพลังงาน ‘ไทย-ซาอุฯ’

ไม่นานมานี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภารกิจภายหลังการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะทำงาน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ในการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย

ส่วนที่สองเป็นการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการทำความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2565  โดยคณะของกระทรวงพลังงานไทยได้มีการหารือกับคณะเจรจาของกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย  และยังมีหน่วยงานชั้นนำของประเทศซาอุดีอาระเบียและของโลกเข้าร่วมหารือด้วย เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก บริษัท SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก บริษัท ACWA Power  ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในด้านภารกิจกระชับความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบียหลังจากที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในรอบ 32 ปีนั้น ได้มีการพูดคุยกันในกรอบการค้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์โดยภาพรวมต่อทั้งสองประเทศ ส่วนภารกิจด้านการติดตามความร่วมมือด้านพลังงานตาม MOU เดิมทั้ง 8 ข้อนั้น ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางซาอุดีอาระเบียในทุกข้อตกลง โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป

นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยถึงข้อตกลงสำคัญๆ ในการหารือว่า ขณะนี้ทางซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต รวมถึงเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

"เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนาไฮโดรเจนจนได้ต้นทุนที่ถูกลง ก็จะสามารถนำพลังงานส่วนนี้มาชดเชยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และลดค่าไฟแก่พี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทางซาอุฯ ก็รับปากที่จะมาลงทุนในไทยในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยถือเป็นความร่วมมือระดับ 'บิ๊กดีล' ระหว่างไทยและซาอุฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศต่างก็มีเป้าหมายจะพัฒนาและลงทุนในด้านนี้

นอกเหนือจากข้อตกลงทั้ง 8 ข้อใน MOU เดิม นายพีระพันธุ์ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของไทย  ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่ 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคลากรพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน ในฐานะ รมว.พลังงานซาอุฯ รวมถึงบุคลากรระดับสูงของภาครัฐ และผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในซาอุดีอาระเบียต่างให้การต้อนรับคณะของกระทรวงพลังงานไทยเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน

"การเยือนซาอุฯ ครั้งนี้ เราได้รับการตอบสนองอย่างดีในทุกๆ เรื่อง และเราได้รับการต้อนรับที่ดีจริงๆ เราได้ชมกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงของบริษัทด้านพลังงานระดับโลก และทางซาอุฯ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับประเทศไทย เหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นความตกลงข้อที่ 9 ที่เราได้มา นอกเหนือจาก MOU ทั้ง 8 ข้อ ซึ่งล่าสุดทั้งสองประเทศก็ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกๆ ประเด็นความร่วมมือที่มีการพูดคุยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบียพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยทาง ซาอุฯ ได้ให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินระบบ SPR ของไทยทันทีเมื่อไทยมีความพร้อม

ขณะเดียวกัน ทางซาอุดีอาระเบียก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องของการผลิตพลังงานสะอาด และเน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานที่ต้องการผลักดันเพื่อไปสู่เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

สำหรับโอกาสการลงทุนในซาอุดีอาระเบียนั้น นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซาอุฯ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงส่งสัญญาณผ่านทางกระทรวงพลังงานของไทยไปถึงนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนโรงไฟฟ้าให้ที่ซาอุฯ ด้วย

"การไปเยือนและเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญของสองฝ่าย หลังจากที่ทาง ซาอุฯ เอง ก็รอไทยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเกือบสองปีเต็มนั้นยังไม่มีอะไร แต่วันนี้ความคืบหน้าของ 'ไทย-ซาอุฯ' เกิดขึ้นแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมก็จะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป นี่คือสัญญาณที่ดีมากๆ เพราะทุกการเจรจา ทุกความร่วมมือที่กล่าวถึง ทาง ซาอุฯ ไม่ได้มาเพียงเพื่อพูดคุยเล่นๆ แต่เขาเอาจริง" นายพีระพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย

Saudi Aramco บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก วิสาหกิจของซาอุฯ ที่ ‘พีระพันธุ์’ นำคณะไปสานความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้นำคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทยไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อ...

(1) กระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ 

(2) หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่สำคัญ ตามที่มีความตกลงร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยโดยกระทรวงพลังและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานเพื่ออนาคตคือ ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบันได้ริเริ่มความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hydrogen) ในไทย รวมทั้งโครงการ Downstream partnership ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ Saudi Aramco บริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสํารวจศักยภาพความร่วมมือด้านพลังงานและการลดคาร์บอน ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีร่วมกันในภูมิภาค

นอกจากนั้นแล้ว ‘รองพีร์’ ยังได้หารือกับซาอุดีอาระเบียในเรื่องของราคาน้ำมัน โดยหลังจากระบบการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของไทยเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะสามารถจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงราคามิตรภาพจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเก็บสำรองไว้ในคลัง SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50-90 วันต่อไป 

ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับคณะของ ‘รองพีร์’ เป็นอย่างดียิ่ง พร้อมทั้งจัดเครื่องบินพิเศษให้ ‘รองพีร์’ และคณะได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘Saudi Aramco’ บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เมือง Dhahran จังหวัดตะวันออก (Eastern Province) ซึ่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (90.19%) กองทุนการลงทุนมหาชน (Public Investment Fund) 4% และ Sanabil 4% 

Saudi Aramco มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Saudi Arabian Oil Group หรือเรียกสั้นๆ ว่า Aramco (ชื่อเดิมคือ Arabian-American Oil Company) เป็น บริษัทปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าของ ถือเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ในปี 2022 Saudi Aramco เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อวัดจากรายได้ โดย Saudi Aramco ถือครองน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณมากกว่า 270 พันล้านบาร์เรล (43 พันล้านลูกบาศก์เมตร) และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายวันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั้งโลก 

นอกจากนี้ Saudi Aramco ยังมีการดำเนินธุรกิจมากมายทั่วโลก ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย การสำรวจ การผลิต การกลั่น ปิโตรเคมีภัณฑ์ การจัดจำหน่าย และการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงพลังงาน โดยกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทจะถูกกำกับดูแลและตรวจสอบโดยกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียร่วมกับสภาสูงสุดด้านปิโตรเลียมและเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ก็มีบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบใน Saudi Aramco มากกว่าสภาฯ 

Saudi Aramco มีมูลค่าบริษัทกว่า 7.6 ล้านล้านริยาล (หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท) และติดอันดับ 4 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นรองเพียงบริษัทอเมริกันอย่าง Microsoft, Apple และ Nvidia ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2024 เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 90 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1933 ที่ซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญาให้สัมปทานบ่อน้ำมันกับบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ Standard Oil Company of California (SOCAL) หรือ Chevron ในปัจจุบัน 

ด้วยต้นทุนการผลิตน้ำมัน 1 บาร์เรลของ Saudi Aramco นั้นอยู่ที่ประมาณ 5-6 USD ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกที่ส่งออกน้ำมันปริมาณมหาศาล จึงแตกต่างไปจากบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดราคาจำหน่ายที่อิงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สามารถคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ด้วยการเพิ่มหรือลดอุปทานอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในปี 2023 Saudi Aramco ได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ว่าเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุดในโลก

ในปี 2022 ยอดเงินในการลงทุน Saudi Aramco อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2021 โดยประมาณการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2023 อยู่ที่ราว 4.5-5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.6-1.9 ล้านล้านบาท) รวมการลงทุนนอกประเทศแล้ว 

ด้วยความแข็งแกร่งและมั่งคั่ง รวมทั้ง Saudi Aramco เอง ก็มีความสนใจในการลงทุนนอกประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กอปรกับมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียจนกลับมาสู่สภาวะปกติ จึงทำให้ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ใช้ความพยายามโน้มน้าวและชักจูงอย่างเต็มที่เพื่อให้ Saudi Aramco ได้เพิ่มการลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในด้านพลังงานใหม่ 

โดยการหารือพูดคุยระหว่าง ‘รองพีร์’ กับเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ได้รับการสนองตอบด้วยท่าที และมิตรภาพอันดียิ่ง 

ดังนั้นการเยือนซาอุฯ ของ 'รองพีร์' ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากของไทย ทั้งในด้านความร่วมมือระหว่างกัน และด้านการลงทุนในไทยจากนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวที่ดีมากๆ สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในอนาคต

นับถอยหลัง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ในประเทศไทย สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านพลังงาน ใต้การผลักดันของ 'พีระพันธุ์'

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษามากมาย ต่างพยายามแข่งขันกันเปิดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศอย่างถึงที่สุด

นั่นก็เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาการผลิต ‘บุคลากร’ ให้ตรงกับงาน โดยเฉพาะงานที่มีความเป็น ‘เฉพาะด้าน’ ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้สถาบันการศึกษา ‘เฉพาะด้าน’ ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เฉพาะด้าน’ เป็นแรงหนุนสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ อาทิ คณะวิชาด้านการสาธารณสุขทั้งแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์ และพยาบาล ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต่างมีโรงพยาบาล เพื่อให้การศึกษาและฝึกฝน หรือแม้แต่ด้านทหาร ก็มีโรงเรียนนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของเหล่าทัพต่าง ๆ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

ในส่วนของพลังงาน ภายหลังจาก ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลดราคาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า แก๊ส ให้ได้ราคาที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม และเหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด 

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ตระหนักควบคู่กันนั้นคือ การบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ ‘รู้จริง’ และ ‘ทำเป็น’ อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่อง ‘พลังงาน’ โดยตรง สมควรจะเป็นหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ ‘พีระพันธุ์’ มีโอกาสได้เจรจาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนต่างชาติ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเป็นประเด็นในการเจรจาหารืออยู่เสมอ อาทิ เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ ‘พีระพันธุ์’

ครั้งนั้น ทางฉางอาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ ในการตั้งวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน โดยทางบริษัทจะร่วมให้การสนับสนุนด้วยการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต และร่วมผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub ของอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นาย Sergey Mochalnikov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ‘พีระพันธุ์’ ก็มีการหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือเช่นกัน โดยรัสเซียมีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นถึงเรื่องของ ‘พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy)’ ด้วยแนวคิดที่ว่า...

“ความยั่งยืนของพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบเหล่านี้ มีตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงความขาดแคลนด้านพลังงาน และของเสียที่เป็นพิษ จึงต้องเริ่มคำนึงถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พร้อม ๆ ไปกับแนวคิดในการอนุรักษ์พลังงานด้วย”

แม้กระทั่ง ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของ ‘พีระพันธุ์’ และคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทย ก็ได้หยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือด้วย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ เช่นกัน 

ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งพลังงานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การศึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งทรัพยากรของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ รวมถึงหมุนเวียนในระดับชาติได้ อันจะช่วยสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่อไป

แม้ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ อาจแลดูเหมือนเป็นการแข่งขันกับสถาบันศึกษาทั่วไป แต่เพื่อภารกิจการบริหารจัดการเรื่องของ ‘พลังงาน’ ให้ดีที่สุด จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่นอกเหนือ ‘นักคิด-นักทฤษฎี’ แต่จะได้ ‘นักปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อไทย

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่ไทยจำเป็นต้องมี ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ โดย ‘กระทรวงพลังงาน’ เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผลิตบุคลากรด้านพลังงานทั้งระบบให้ได้ทั้ง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ แบบ ‘ทันเวลา’ สามารถรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศ และการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป 

'กกพ.' เคาะค่าไฟใหม่เป็นทางการ 4.18 บาท กลุ่มเปราะบาง 3.99 บาท หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงราคา จบตัวเลขก่อนหน้าที่จ่อพุ่งแตะ 6 บาท

(31 ก.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.-ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top