‘พีระพันธุ์’ นักการเมืองผู้พยายามรักษาคำพูด 'ค่าไฟฟ้า' ยังคงที่ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง
ปัญหาราคาพลังงานเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสสำหรับสังคมบ้านเรามาก ๆ เพราะเราต้องนำเข้าพลังงานเรียกว่า 'แทบทุกชนิด' แม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจนทุกวันนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะแต่ก่อนใช้ถ่านหินซึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต่อมาเมื่อมีการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบ้านเราได้ใช้ LNG จากแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา
ปัจจุบันปริมาณ LNG จากแหล่งอ่าวไทยมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ทั้งเมียนมาเองก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่าย LNG เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงต้องเพิ่มการนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งเคยนำเข้า LNG จากรัสเซียเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ยกเลิกการซื้อ LNG จากรัสเซีย จึงทำให้ LNG ในแหล่งผลิตต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่นั้นมา
การที่ราคา LNG ในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขี้นนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน แต่จนถึงทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ที่กำหนดราคาค่ากระแสไฟฟ้า
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด นับตั้งแต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้เมื่อ 1 กันยายน 2566 สิ่งที่ 'รองพีร์' ใช้ความพยายามมากที่สุดคือ 'การใช้กลไกและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่งจะทำให้สามารถตรีงหรือลดค่า Ft ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยให้ได้มากที่สุด'
ดังนั้น จึงทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. สามารถปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย และในต่อมาเป็นอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยจนกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567 ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาร่วมกันหารือกรณีค่าไฟฟ้างวดใหม่ กันยายน - ธันวาคม 2567 สืบเนื่องจากการที่กกพ.มีมติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 6 บาทกว่า การหารือได้ข้อยุติที่จะตรึงค่าไฟงวดใหม่ไว้ในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยตามเดิม โดยปตท.จะไม่รับเงินตอบแทนใด ๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย
โดยที่การช่วยเหลือพี่ประชาชนคนไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าหรือราคาน้ำมัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่กระทรวงพลังงานต้องประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินการำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง อีกทั้งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย เพราะการสำรองเชื้อเพลิงเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน ซึ่งหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงที่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศได้ถึง 50-90 วัน ปริมาณน้ำมันสำรองจำนวนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐจึงรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG และ LNG ที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด
การตรึงหรือลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นับว่าเป็นภารกิจที่ยากมาก ๆ แต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ก็ทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเต็มใจ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ง่ายเลย และอาจจะขัดผลประโยชน์ของคนบางพวกบางกลุ่ม จึงต้องใช้เวลาดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ตามความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES