นับถอยหลัง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ในประเทศไทย สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านพลังงาน ใต้การผลักดันของ 'พีระพันธุ์'
ปัจจุบัน สถาบันการศึกษามากมาย ต่างพยายามแข่งขันกันเปิดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศอย่างถึงที่สุด
นั่นก็เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาการผลิต ‘บุคลากร’ ให้ตรงกับงาน โดยเฉพาะงานที่มีความเป็น ‘เฉพาะด้าน’ ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้สถาบันการศึกษา ‘เฉพาะด้าน’ ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เฉพาะด้าน’ เป็นแรงหนุนสำคัญ
ตัวอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ อาทิ คณะวิชาด้านการสาธารณสุขทั้งแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์ และพยาบาล ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต่างมีโรงพยาบาล เพื่อให้การศึกษาและฝึกฝน หรือแม้แต่ด้านทหาร ก็มีโรงเรียนนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของเหล่าทัพต่าง ๆ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฯลฯ
ในส่วนของพลังงาน ภายหลังจาก ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลดราคาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า แก๊ส ให้ได้ราคาที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม และเหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด
แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ตระหนักควบคู่กันนั้นคือ การบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ ‘รู้จริง’ และ ‘ทำเป็น’ อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่อง ‘พลังงาน’ โดยตรง สมควรจะเป็นหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้น
ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ ‘พีระพันธุ์’ มีโอกาสได้เจรจาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนต่างชาติ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเป็นประเด็นในการเจรจาหารืออยู่เสมอ อาทิ เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ ‘พีระพันธุ์’
ครั้งนั้น ทางฉางอาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ ในการตั้งวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน โดยทางบริษัทจะร่วมให้การสนับสนุนด้วยการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต และร่วมผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub ของอาเซียนต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นาย Sergey Mochalnikov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ‘พีระพันธุ์’ ก็มีการหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือเช่นกัน โดยรัสเซียมีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นถึงเรื่องของ ‘พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy)’ ด้วยแนวคิดที่ว่า...
“ความยั่งยืนของพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบเหล่านี้ มีตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงความขาดแคลนด้านพลังงาน และของเสียที่เป็นพิษ จึงต้องเริ่มคำนึงถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พร้อม ๆ ไปกับแนวคิดในการอนุรักษ์พลังงานด้วย”
แม้กระทั่ง ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของ ‘พีระพันธุ์’ และคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทย ก็ได้หยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือด้วย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ เช่นกัน
ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งพลังงานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การศึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งทรัพยากรของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ รวมถึงหมุนเวียนในระดับชาติได้ อันจะช่วยสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่อไป
แม้ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ อาจแลดูเหมือนเป็นการแข่งขันกับสถาบันศึกษาทั่วไป แต่เพื่อภารกิจการบริหารจัดการเรื่องของ ‘พลังงาน’ ให้ดีที่สุด จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่นอกเหนือ ‘นักคิด-นักทฤษฎี’ แต่จะได้ ‘นักปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อไทย
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่ไทยจำเป็นต้องมี ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ โดย ‘กระทรวงพลังงาน’ เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผลิตบุคลากรด้านพลังงานทั้งระบบให้ได้ทั้ง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ แบบ ‘ทันเวลา’ สามารถรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศ และการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป
เรื่อง: บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES