Sunday, 27 April 2025
ค้นหา พบ 47686 ที่เกี่ยวข้อง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#11 พันธมิตรของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : “ไทย” (2)

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ไห้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไทยยืนยันว่า การช่วยเหลือเวียตนามใต้เป็นการหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหรัฐฯ จากการสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรโลกเสรีของสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง

คำร้องขอของประธานาธิบดีจอห์นสัน ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในปี 1964 : “ข้าพเจ้าตระหนักดีและซาบซึ้งอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่านกับรัฐบาลของท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าประเทศไทยจะหาวิธีเพิ่มขอบเขตและขนาดของความช่วยเหลือแก่เวียตนามใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโลกเสรีที่จะร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์” และ “แถลงการณ์ของรัฐบาลไทย 3 มกราคม 1967” ความว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเวียตนามใต้ และจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งหน่วยทหารไปช่วยต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เมื่อยังอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรา รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งหน่วยรบหนึ่งกองพันเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในเวียดนามใต้ในอนาคตอันใกล้”

ปัจจัยที่โดดเด่นหลายประการทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ประการแรก รัฐบาลไทยเชื่ออย่างยิ่งว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามไม่เพียงแต่ต่อประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย พวกเขาตั้งใจที่จะปราบปรามภัยคุกคามนี้ก่อนที่มันจะทำลายล้างพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอเมริกาในภูมิภาคนี้
ประการที่สอง ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของไทย ลัทธิอาณานิคมไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจของคนไทยแต่อย่างใด เพราะไทยไม่เคยถูกปกครองโดยมหาอำนาจชาติเจ้าอาณานิคม และแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอังกฤษในพม่าทางด้านตะวันตก และจากฝรั่งเศสในอินโดจีนทางด้านตะวันออก แต่ไทยก็ไม่เคยยอมสละอำนาจอธิปไตยของชาติไป ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านและความไม่ไว้วางใจชาวยุโรปและอเมริกาน้อยกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด 
ประการที่สาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางอากาศในเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ (รวมทั้งลาวและกัมพูชาด้วย) อาทิ สามารถลดค่าใช้จ่ายของเครื่องบิน B-52 ที่ต้องบินจากฐานทัพอากาศในเกาะกวมถึงเที่ยวบินละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มทำการบินจากฐานทัพต่าง ๆ 7 แห่งในประเทศไทย (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา (โคราช) นครสวรรค์ (ตาคลี) นครพนม อู่ตะเภา และดอนเมือง (กรุงเทพฯ))  ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 สหรัฐฯ ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วงสงคราม ในเดือนตุลาคม 1967 กำลังรบชุดแรกของไทยเดินทางมาถึงเวียตนามใต้เพื่อร่วมรบกับทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ โดยได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 9 สหรัฐฯประจำการอยู่ที่ค่ายแบร์แคท ใกล้เมืองเบียนฮัว กองกำลังเหล่านี้ได้แก่ กรมทหารอาสาสมัคร (กองกำลังจงอางศึก) ซึ่งเป็นกำลังรบชุดแรก ในปี 1968 กองกำลังจงอางศึกถูกแทนที่ด้วยกองพลทหารอาสาสมัครของกองทัพบกไทย (กองพลเสือดำ) ผู้สังเกตการณ์ทางทหารในเวียตนามใต้ส่วนใหญ่ระบุในรายงานว่า กองกำลังของไทยทำการรบในเวียตนามใต้อย่างองอาจและกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชอบของกองทัพอเมริกัน ทหารไทยหลายนายได้นำเครื่องรางมากมายหลายชนิดติดตัวมาเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน ซึ่งทหารอเมริกันหลายนายที่ได้รับการแบ่งปันเครื่องรางเหล่านั้นต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้นด้วย

วีรกรรมสำคัญของทหารไทยในเวียตนามใต้ อาทิ (1)สมรภูมิฟุกโถ (Phuoc Tho) ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 1967 เวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่กำลังพลของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารอาสาสมัคร จำนวน 3 หมวด (ประมาณ 90 นาย) กำลังตั้งฐานปฏิบัติการควบคุมเส้นทาง ถนนสายสมเกียรติ (สาย 319) ซึ่งเป็นถนนยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายเวียตกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง และเข้าไปมีอิทธิพลในหมู่บ้านฟุกโถ ปรากฏว่าฝ่ายเวียตกงได้ส่งกำลังจำนวน 11 กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง) เข้ามาในบริเวณที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และเริ่มการโจมตีโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ไปทางตะวันตกประมาณ 3.5 ก.ม. เพื่อตรึงมิให้ปืนใหญ่ฝ่ายไทยยิงสนับสนุนกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ระดมยิงฐานที่ตั้งของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 อย่างรุนแรง

หลังจากนั้นข้าศึกได้ส่งหน่วย ทหารราบจำนวน 1 กองพันบุกเข้าโจมตีรอบฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 โดยเข้าตี 3 ทิศทาง คือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ฝ่ายไทยได้ใช้อาวุธทุกชนิดที่มีเข้าสนับสนุน เพื่อผลักดันการเข้าตีของข้าศึก แต่เนื่องจากข้าศึกมีจำนวนมากกว่า จึงสามารถฝ่าแนวลวดหนามเข้ามาได้ ทหารไทยในแนวรบได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตลอดเวลา โดยไม่ยอมผละจากที่มั่น ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของฝ่ายไทยพยายามยิงสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา การรบได้ดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. ข้าศึกเห็นว่าคงไม่สามารถยึดที่มั่นของไทยได้จึงเริ่มถอนกำลังกลับ การรบได้ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ภายหลังการสู้รบยุติลง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 23 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 48 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 95 ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ 90 ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก สรุปแล้วสามารถสังหารเวียตกงได้กว่า 185 ศพ) และบาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 2 คน พร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

(2)การรบที่บินห์สัน (Binh Son) ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กันยายน 1968 เวลาประมาณ 03.15 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ 2 และ 3 ของกองพันทหารราบที่ 3 ของไทย โดยเข้าตี 5 ทิศทางเป็น 2 ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียตกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายไทยเพียง 180 – 200 หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บสาหัส 11 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 15 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 65 ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ 30 ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 01.35 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 ของไทย เป็น 2 ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียตกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา 03.00 น. ผลปรากฏว่า ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 4 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 41 ศพ ยึดอาวุธยุโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 3 คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 00.25 น. เวียตกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่3 กองพันทหารราบที่ 3 โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน 3 ทิศทาง กรมทหารราบที่ 31 ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียตกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 87 ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นกองกำลังของไทยได้ทำการรบในอีกหลาย ๆ สมรภูมิ และในทุกสมรภูมินั้นทหารไทยทำการรบจนประสบชัยชนะด้วยดีสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงกันข้ามมากมาย 

ในช่วงสงครามเวียตนาม รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับทหารเวียตนามใต้ ทหารไทยได้รับการฝึกฝนและจัดเตรียมอุปกรณ์โดยสหรัฐฯ ขนส่งด้วยเรือและเครื่องบินของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน แต่ไทยก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเวียตนามใต้ ลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา แม้ว่าในที่สุดแล้วทั้งสามประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ยุทธศาสตร์ของไทยในการควบคุมภัยคุกคามนอกประเทศก็นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของกองทัพไทยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศของตนเป็นผลสำเร็จ สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไประหว่างเดือนกันยายน 1967 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1972 มีทหารไทยเกือบ 40,000 นายหมุนเวียนประจำการในเวียตนามใต้ ในจำนวนนี้ 351 นายเสียชีวิต และอีก 1,358 นายได้รับบาดเจ็บ แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพไทยผูกติดกับระบบอาวุธยุทโธปกรณืของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี การรบตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ นั้นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ให้เป็นไปตามบริบทของไทยเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่า ยังต้องมีการซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พึ่งพิงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว และยังมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ อีกด้วย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

วิเคราะห์เชิงตัวเลข ศึกชิง สส.เขต 8 นครศรีฯ นับถอยหลังโค้งสุดท้ายใครจะเข้าวิน อีก 7 วันรู้ผล

(21 เม.ย. 68) ศึกชิงเก้าอี้ สส.เขต 8 นครศรีฯเกิดจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8 นครศรีฯ พรรคภูมิใจไทย ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พูดง่ายๆคือให้ใบแดงนั้นเอง

กกต.กำหนดให้เลือกตั้งวันที่ 27 เมษายน 2568 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 6 คน จาก 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย
หมายเลข 1 : ไสว เลื่องสีนิล จากพรรคภูมิใจไทย สามีของมุกดาวรรณนั้นเอง
หมายเลข 2 : ชินวรณ์ บุณยเกียรติ จากพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สส.เขตนี้ 9 สมัย
หมายเลข 3 : ณัฐกิตติ์ อยู่ด้วง จากพรรคประชาชน
หมายเลข 4 : ว่าที่พันตรี กวี ไกรทอง จากพรรคพร้อม
หมายเลข 5 : ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ จากพรรคกล้าธรรม ลูกเขยของชินวรณ์
หมายเลข 6 : พิษณุ รสมาลี จากพรรคทางเลือกใหม่

อาจกล่าวได้ว่า สนามเลือกตั้งนี้ สูสีกันมาก ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ใครจะเข้าวิน มีแต่พูดกันในแวดวง หรือโต๊ะกาแฟ แต่ภาพกว้างๆ คือ มีผู้สมัครจากพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ กล้าธรรม และภูมิใจไทย และซีกฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน ส่วนพรรคพร้อม และพรรคทางเลือกใหม่ ยังไม่มี สส.ในสภา บางคนอาจจะมองว่า พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคแย่งคะแนนกันเอง อาจจะกอดคอกันแพ้ และทำให้ตาอยู่อย่างพรรคประชาชนคว้าพุงปลามันไปกิน แต่ในทางการเมืองไม่ง่ายขนาดนั้น ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า คนใต้ยังไม่ให้โอกาสกับพรรคประชาชนในทุกสนามเลือกตั้ง ยังติดภาพของ ม.112 และการหาเสียงครั้งนี้การพยายามสร้างกระแสนั้น กระแสยังไม่ขึ้น ไม่เหมือนครั้งการเลือกตั้งที่ราชบุรี หรือพิษณุโลก

ส่วนพรรคซีกรัฐบาล 3 พรรค น่าจะคนละฐานเสียงกัน ต่างพรรคต่างคนต่างก็มีฐานของตัวเอง งานนี้ใครจัดตั้งได้ดี มีเครือข่ายเหนียวแน่นจึงมีโอกาสชนะ ผมคงไม่วิเคราะห์ในเชิงของการใช้ปัจจัยชี้นำ

ขออนุญาตที่จะวิเคราะห์ในเชิงตัวเลข โดยภาพรวมประชากร 150,000 คน จะมี สส.ได้ 1 คน กล่าวสำหรับเขต 8 นครศรีฯ อันประกอบด้วย ฉวาง ช้างกลาง นาบอน และพิปูน และฐานใหญ่อยู่ที่ฉวาง

อ.ฉวาง ถิ่นของชินวรณ์ และก้องเกียรติ มีประชากร 64,749 คน อ.ช้างกลาง ถิ่นของไสว มีประชากร 28133 คน พิปูน ถิ่นของณัฐกิตติ์ มีประชากร 28808 และนาบอน มีประชากร 26046 คน โดยรวมแล้วมีประชากร 147,735 คน น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ 2265 คน

ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เอาตัวเลขกลมๆ ประมาณ 120,000 คน สมมุติว่า มาใช้สิทธิ์ 60% ก็น่าจะมีตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์ 72,000 กว่าคน ประมาณการณ์ได้ว่า ผู้สมัครคนใดทำคะแนนได้เกิน 20,000 ต้นๆ ก็จะมีสิทธิ์คว้าชัยชนะ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” ที่เคยชนะก็มีคะแนน 20,000 ต้นๆ ตามด้วย สุนทร รักษ์รงค์ จากพรรคพลังประชารัฐ เกือบ 18.000 คะแนน

ชินวรณ์ ก้องเกียรติ และไสว มีโอกาสที่จะทำคะแนนถึง 20.000 ใกล้เคียงกัน ส่วนฐานเดิมของพรรคประชาชน ก็อยู่ในหลักหมื่นต้นๆ ด้วยชินวรณ์เคยเป็น สส.เขตนี้มายาวนานโครงสร้างเครือข่ายยังมีอยู่ แต่ประมาทไสวไม่ได้กับการเป็น สส.มาสองปีของภรรยา และยังเคยเป็น ส.อบจ.มาก่อนด้วย ย่อมจะสร้างเครือข่าย สร้างฐานมวลชนไว้ไม่น้อย ประกอบกับไสวเคยเป็นครูในย่านนี้ลูกศิษย์ลูกหามีอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับก้องเกียรติ ที่เคยเป็น ส.อบจ.ฉวางมาก่อน ย่อมจะมีเครือข่าย ฐานมวลชนอยู่ในมือเป็นกอบเป็นกรรม เพียงแต่ว่าช่วง 20 กว่าวันของการหาเสียงกับอีก 7 วันสุดท้าย ใครจะทำอะไรได้มากกว่ากัน มากกว่าการที่ใจถึงควักจ่ายมากกว่ากัน

พรรคภูมิใจไทยอย่าได้คิดว่า จะเอาคะแนนของมุกดาวรรณ กับคะแนนของสุนทรมารวมกันแล้ว มีคะแนนเกือบ 40,000 แล้วจะชนะ เพราะไม่ควรลืมว่า คราวนี้สุนทรไม่ได้ลงสมัครเอง คะแนนเดิมของสุนทรอาจจะแกว่งไปไหนก็ได้ เช่นกันคะแนนที่เคยเลือกมุกดาวรรณ อาจจะแปลเปลี่ยนไปเลือกใครก็ไม่รู้ กับบาดแผล “ใบแดง” หรือว่าใบแดงอาจจะแปรเป็นคะแนนสงสารก็ได้

โค้งสุดท้ายแล้ว หรือมวยยกสุดท้าย สำหรับศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯ เขาจึงได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ของแต่ละพรรคลงไปเต็มพื้นที่แล้ว 27 เมษายน วันพิพากษาของประชาชน ใครจะเดินเข้าวิน กองเชียร์ระทึกครับ

จีนยกเลิกดีล ‘โบอิ้ง’ 179 ลำ มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมส่งคืนรัวๆ ยักษ์บินอเมริกันเครื่อง ‘737 MAX’

(21 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกคำสั่ง “ล้มโต๊ะ” ข้อตกลงซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าพุ่งสูงถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 24 ล้านล้านบาทไทย) โดยในวันนี้ มีรายงานว่า เครื่องบิน ‘โบอิ้ง 737 MAX’ อย่างน้อย 2 ลำ ได้ถูกส่งคืนให้แก่โบอิ้งอย่างเป็นทางการแล้ว

ดีลนี้ถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ทว่าการยกเลิกในครั้งนี้กำลังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบินโลก

แหล่งข่าวจากรัฐบาลจีนระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโบอิ้งด้วย

ล่าสุด แรงสะเทือนจากสถานการณ์ดังกล่าวยังลุกลามไปยังสายการบินอื่นๆ นอกเหนือจากจีน โดย ไมเคิล โอเลียรี (Michael O'Leary) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของสายการบินต้นทุนต่ำชื่อดัง Ryanair กล่าวกับ Financial Times ว่า บริษัทของเขาอาจ เลื่อนการรับมอบเครื่องบินจาก Boeing หากราคายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราอาจจะเลื่อนการรับมอบออกไป และหวังว่าสามัญสำนึกจะเข้ามาแทนที่” O'Leary ระบุ พร้อมชี้ว่า Ryanair มีกำหนดรับเครื่องบินอีก 25 ลำตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้งานจนกว่าจะถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2026

การระงับการรับมอบเครื่องบินและการส่งคืนเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วกลับสู่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโบอิ้ง ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงินและการแข่งขันจากผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น เช่น แอร์บัส (Airbus) และ โคแม็ค (COMAC) ของจีน

ขณะเดียวกัน จีนมีแนวโน้มจะหันไปหนุน COMAC (ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติจีน) อย่างเต็มตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า เครื่องบินรุ่น C919 จะเข้ามาทดแทนการนำเข้าเครื่องจากตะวันตกในอนาคตอันใกล้ 787
.
ด้าน Airbus คู่แข่งจากฝั่งยุโรปก็ไม่ได้รอดพ้นจากแรงกระแทกของห่วงโซ่อุปทานที่สั่นคลอน โดย กิลเลียม โฟรี (Guillaume Faury) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Airbus กล่าวกับผู้ถือหุ้นเมื่อวันอังคารว่า บริษัทกำลังเผชิญปัญหาในการรับชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์สัญชาติอเมริกันอย่าง Spirit AeroSystems ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการผลิตเครื่องบินรุ่น A350 และ A220

“เรากำลังจับตาดูสถานการณ์ภาษีและความผันผวนทางการค้าอย่างใกล้ชิด” โฟรีระบุ

ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกคำสั่งซื้อครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อยอดขายของโบอิ้ง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่นับวันยิ่งห่างไกลจากคำว่า “พันธมิตร” มากขึ้นทุกที

‘รศ.ดร.ปิติ’ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เสนอ 10 ข้อรับมือระเบียบโลกใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

(21 เม.ย. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทย เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก

ในจดหมายดังกล่าว รศ.ดร.ปิติชี้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ “สามห่วงโซ่มูลค่า” (Global Value Chains – GVCs) นำโดยสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศอย่างถาวร ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนจึงควรมีบทบาทเชิงรุกในการวางยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจ และผลักดันผลประโยชน์ของชาติในเวทีระหว่างประเทศ

10 ข้อเสนอสำคัญของ รศ.ดร.ปิติ ประกอบด้วย

1. เปิดรับแนวคิดใหม่ (New Mindset) ต่อระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป

2. บูรณาการความรู้แบบสหสาขาวิชา โดยยึดผลประโยชน์ของชาติ

3. วางยุทธศาสตร์เชิงลึกต่อสหรัฐฯ จีน และบทบาทนำในอาเซียน

4. ใช้มิติความมั่นคง-การเมืองเป็นอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ

5. ขยายตลาดสินค้าไทยในจีน พร้อมเจรจาควบคุมสินค้านำเข้าจากจีน

6. ใช้อาเซียนเป็นกลไกเพิ่มอำนาจต่อรองในระดับภูมิภาค

7. มองหาโอกาสในขั้วโลกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโลกมุสลิม

8. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยยกระดับการบริโภคภายใน

9. เสริมเสถียรภาพการเงิน การคลัง และทุนสำรองของประเทศ

10. ใช้ Soft Power ทางวัฒนธรรม มนุษยธรรม และความร่วมมือพหุภาคี

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิติ ยังเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนากลไก “Friends of Thailand” เพื่อสร้างเครือข่ายสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก พร้อมแนบลิงก์บทความฉบับเต็มจาก The Standard สำหรับการศึกษารายละเอียดเชิงลึกของแต่ละข้อเสนอ (https://thestandard.co/new-world-order-thailand-strategy/)

ท้ายจดหมาย รศ.ดร.ปิติ ระบุว่า เนื่องจากเป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่ง จึงไม่มีช่องทางสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแชร์เนื้อหานี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้พิจารณา

ปักกิ่งลั่น…ขอไม่ทนกับการกลั่นแกล้งจากสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายเลือกข้างเป็นอาวุธ หวังตัดจีนพ้นเวทีเศรษฐกิจ

(21 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศคู่ค้าไม่ให้ยอมรับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยระบุว่าจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากผลประโยชน์ของตนถูกละเมิด 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนกลไกการค้าสากลและทำลายหลักการของการค้าเสรีอย่างร้ายแรง 

“การประนีประนอมไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ และการประนีประนอมไม่ได้สร้างความเคารพ” โฆษกกล่าว พร้อมย้ำว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าข้อยกเว้น เปรียบเสมือนการขอหนังเสือ สุดท้ายแล้วเสือจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง”

“จีนจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่ไม่เคารพต่อผลประโยชน์ของจีน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามแนวทางนี้ จีนพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg และ Financial Times รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อชักจูงประเทศคู่ค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม หรือชาติอาเซียน ให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีหรือสินค้าจากจีน รวมถึงจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในภาคส่วนยุทธศาสตร์

ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านวิธีการ “แยกเศรษฐกิจ” (Decoupling) ซึ่งทำลายหลักความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคนี้ ขณะที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค 

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียน การรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top