มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#11 พันธมิตรของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : “ไทย” (2)

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ไห้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไทยยืนยันว่า การช่วยเหลือเวียตนามใต้เป็นการหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหรัฐฯ จากการสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรโลกเสรีของสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง

คำร้องขอของประธานาธิบดีจอห์นสัน ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในปี 1964 : “ข้าพเจ้าตระหนักดีและซาบซึ้งอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่านกับรัฐบาลของท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าประเทศไทยจะหาวิธีเพิ่มขอบเขตและขนาดของความช่วยเหลือแก่เวียตนามใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโลกเสรีที่จะร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์” และ “แถลงการณ์ของรัฐบาลไทย 3 มกราคม 1967” ความว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเวียตนามใต้ และจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งหน่วยทหารไปช่วยต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เมื่อยังอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรา รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งหน่วยรบหนึ่งกองพันเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในเวียดนามใต้ในอนาคตอันใกล้”

ปัจจัยที่โดดเด่นหลายประการทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ประการแรก รัฐบาลไทยเชื่ออย่างยิ่งว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามไม่เพียงแต่ต่อประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย พวกเขาตั้งใจที่จะปราบปรามภัยคุกคามนี้ก่อนที่มันจะทำลายล้างพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอเมริกาในภูมิภาคนี้
ประการที่สอง ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของไทย ลัทธิอาณานิคมไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจของคนไทยแต่อย่างใด เพราะไทยไม่เคยถูกปกครองโดยมหาอำนาจชาติเจ้าอาณานิคม และแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอังกฤษในพม่าทางด้านตะวันตก และจากฝรั่งเศสในอินโดจีนทางด้านตะวันออก แต่ไทยก็ไม่เคยยอมสละอำนาจอธิปไตยของชาติไป ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านและความไม่ไว้วางใจชาวยุโรปและอเมริกาน้อยกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด 
ประการที่สาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางอากาศในเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ (รวมทั้งลาวและกัมพูชาด้วย) อาทิ สามารถลดค่าใช้จ่ายของเครื่องบิน B-52 ที่ต้องบินจากฐานทัพอากาศในเกาะกวมถึงเที่ยวบินละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มทำการบินจากฐานทัพต่าง ๆ 7 แห่งในประเทศไทย (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา (โคราช) นครสวรรค์ (ตาคลี) นครพนม อู่ตะเภา และดอนเมือง (กรุงเทพฯ))  ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 สหรัฐฯ ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วงสงคราม ในเดือนตุลาคม 1967 กำลังรบชุดแรกของไทยเดินทางมาถึงเวียตนามใต้เพื่อร่วมรบกับทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ โดยได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 9 สหรัฐฯประจำการอยู่ที่ค่ายแบร์แคท ใกล้เมืองเบียนฮัว กองกำลังเหล่านี้ได้แก่ กรมทหารอาสาสมัคร (กองกำลังจงอางศึก) ซึ่งเป็นกำลังรบชุดแรก ในปี 1968 กองกำลังจงอางศึกถูกแทนที่ด้วยกองพลทหารอาสาสมัครของกองทัพบกไทย (กองพลเสือดำ) ผู้สังเกตการณ์ทางทหารในเวียตนามใต้ส่วนใหญ่ระบุในรายงานว่า กองกำลังของไทยทำการรบในเวียตนามใต้อย่างองอาจและกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชอบของกองทัพอเมริกัน ทหารไทยหลายนายได้นำเครื่องรางมากมายหลายชนิดติดตัวมาเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน ซึ่งทหารอเมริกันหลายนายที่ได้รับการแบ่งปันเครื่องรางเหล่านั้นต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้นด้วย

วีรกรรมสำคัญของทหารไทยในเวียตนามใต้ อาทิ (1)สมรภูมิฟุกโถ (Phuoc Tho) ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 1967 เวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่กำลังพลของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารอาสาสมัคร จำนวน 3 หมวด (ประมาณ 90 นาย) กำลังตั้งฐานปฏิบัติการควบคุมเส้นทาง ถนนสายสมเกียรติ (สาย 319) ซึ่งเป็นถนนยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายเวียตกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง และเข้าไปมีอิทธิพลในหมู่บ้านฟุกโถ ปรากฏว่าฝ่ายเวียตกงได้ส่งกำลังจำนวน 11 กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง) เข้ามาในบริเวณที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และเริ่มการโจมตีโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ไปทางตะวันตกประมาณ 3.5 ก.ม. เพื่อตรึงมิให้ปืนใหญ่ฝ่ายไทยยิงสนับสนุนกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ระดมยิงฐานที่ตั้งของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 อย่างรุนแรง

หลังจากนั้นข้าศึกได้ส่งหน่วย ทหารราบจำนวน 1 กองพันบุกเข้าโจมตีรอบฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 โดยเข้าตี 3 ทิศทาง คือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ฝ่ายไทยได้ใช้อาวุธทุกชนิดที่มีเข้าสนับสนุน เพื่อผลักดันการเข้าตีของข้าศึก แต่เนื่องจากข้าศึกมีจำนวนมากกว่า จึงสามารถฝ่าแนวลวดหนามเข้ามาได้ ทหารไทยในแนวรบได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตลอดเวลา โดยไม่ยอมผละจากที่มั่น ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของฝ่ายไทยพยายามยิงสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา การรบได้ดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. ข้าศึกเห็นว่าคงไม่สามารถยึดที่มั่นของไทยได้จึงเริ่มถอนกำลังกลับ การรบได้ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ภายหลังการสู้รบยุติลง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 23 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 48 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 95 ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ 90 ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก สรุปแล้วสามารถสังหารเวียตกงได้กว่า 185 ศพ) และบาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 2 คน พร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

(2)การรบที่บินห์สัน (Binh Son) ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กันยายน 1968 เวลาประมาณ 03.15 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ 2 และ 3 ของกองพันทหารราบที่ 3 ของไทย โดยเข้าตี 5 ทิศทางเป็น 2 ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียตกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายไทยเพียง 180 – 200 หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บสาหัส 11 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 15 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 65 ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ 30 ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 01.35 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 ของไทย เป็น 2 ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียตกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา 03.00 น. ผลปรากฏว่า ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 4 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 41 ศพ ยึดอาวุธยุโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 3 คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 00.25 น. เวียตกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่3 กองพันทหารราบที่ 3 โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน 3 ทิศทาง กรมทหารราบที่ 31 ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียตกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 87 ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นกองกำลังของไทยได้ทำการรบในอีกหลาย ๆ สมรภูมิ และในทุกสมรภูมินั้นทหารไทยทำการรบจนประสบชัยชนะด้วยดีสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงกันข้ามมากมาย 

ในช่วงสงครามเวียตนาม รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับทหารเวียตนามใต้ ทหารไทยได้รับการฝึกฝนและจัดเตรียมอุปกรณ์โดยสหรัฐฯ ขนส่งด้วยเรือและเครื่องบินของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน แต่ไทยก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเวียตนามใต้ ลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา แม้ว่าในที่สุดแล้วทั้งสามประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ยุทธศาสตร์ของไทยในการควบคุมภัยคุกคามนอกประเทศก็นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของกองทัพไทยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศของตนเป็นผลสำเร็จ สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไประหว่างเดือนกันยายน 1967 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1972 มีทหารไทยเกือบ 40,000 นายหมุนเวียนประจำการในเวียตนามใต้ ในจำนวนนี้ 351 นายเสียชีวิต และอีก 1,358 นายได้รับบาดเจ็บ แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพไทยผูกติดกับระบบอาวุธยุทโธปกรณืของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี การรบตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ นั้นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ให้เป็นไปตามบริบทของไทยเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่า ยังต้องมีการซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พึ่งพิงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว และยังมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ อีกด้วย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล