Sunday, 27 April 2025
ค้นหา พบ 47686 ที่เกี่ยวข้อง

‘วิว กุลวุฒิ’ ทะยานขึ้นมือ 2 โลก หลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์แบดฯ เอเชีย พร้อมตั้งเป้าภารกิจใหม่ซิวแชมป์ ‘ออลอิงแลนด์’

(21 เม.ย. 68) สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ประกาศอันดับโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีข่าวดีสำหรับวงการแบดมินตันไทยเมื่อ ‘วิว’ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2024 สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการคว้าแชมป์ แบดมินตัน “เอเชีย แชมเปียนชิพส์ 2025” ที่เมืองหนิงโป ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568

การคว้าแชมป์ในครั้งนี้ทำให้ วิว กุลวุฒิ กลายเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกจากประเทศไทยที่สามารถคว้าแชมป์เอเชียได้สำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจและความสุขให้กับคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ขยับอันดับโลกขึ้นมาถึง 3 อันดับ จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ขึ้นมาเป็นมือ 2 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว ซึ่งถือเป็นอันดับโลกที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา โดยก่อนหน้านี้ ‘วิว’ เคยทำได้สูงสุดที่อันดับ 3 ของโลก

“เป้าหมายต่อไปของผมคือการคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ให้ได้ ผมเคยได้แชมป์โลกและเหรียญเงินโอลิมปิกมาแล้ว แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จที่ออลอิงแลนด์เลย หวังว่าปีหน้าผมจะทำได้ดีขึ้นครับ” สุดยอดนักตบลูกขนไก่ไทยวัย 23 ปีกล่าว

สำหรับ 5 อันดับ นักแบดมินตันมือวางระดับโลก ประเภทชายเดี่ยว ประกอบด้วย

1. ฉือ หยู่ฉี (Shi Yuqi)  อายุ 29 ปี / จีน / 99,435 คะแนน

2. กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (Kunlavut Vitidsarn) อายุ 23 ปี / ไทย / 89,138 คะแนน

3. อันเดรส แอนทอนเซ่น (Anders Antonsen) อายุ 27 ปี / เดนมาร์ก / 87,693 คะแนน

4. วิคเตอร์ แอ็กเซลเซ่น (Viktor Axelsen) อายุ 31 ปี / เดนมาร์ก / 87,610 คะแนน

5. หลี่ ซือเฟิง (Li Shifeng) อายุ 25 ปี / จีน / 81,656 คะแนน

การยึดกิจการ ‘Glavprodukt’ ของรัสเซีย สู่หมุดหมายการจัดเสบียงในสงครามอย่างเพียงพอ

(21 เม.ย. 68) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซีย โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศยึดกิจการของบริษัท Glavprodukt «Главпродукт» ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยให้เหตุผลด้าน "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ" ในบริบทของสงครามยูเครนและการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศตะวันตก แม้ว่า Glavprodukt จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในรัสเซียและดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี แต่บริษัทถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลรัสเซียจึงอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของ "รัฐที่ไม่เป็นมิตร" (unfriendly states) ซึ่งผ่านการแก้ไขในช่วงหลังปี ค.ศ. 2022 เพื่อยึดกิจการและทรัพย์สินของต่างชาติที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้ Glavprodukt เป็นฐานการจัดหาเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าโดยเฉพาะในยูเครนตะวันออก การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่รูปแบบ “เศรษฐกิจสงคราม” ที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมการผลิตสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินของนักลงทุน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้นในระดับพหุภาคี

Glavprodukt «Главпродукт» เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปรายใหญ่ของรัสเซียก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยสืบทอดโรงงานและสายการผลิตจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางเดิมของโซเวียต บริษัทมีฐานการผลิตหลักอยู่ในกรุงมอสโกและแคว้นใกล้เคียง และได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรัสเซียและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียต โดย Glavprodukt มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อกระป๋อง (Stewed meat) «тушёнка»  นมข้นหวาน (Condensed milk) «сгущёнка» และอาหารประเภทซุป (Soups) อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) รวมถึงซีเรียล (cereals) ในช่วงทศวรรษที่ 2000 บริษัทเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศผ่านกองทุนที่มีความเชื่อมโยงกับนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการแทรกแซงการบริหารกิจการ

หลังการรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2022 และมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลุ่มธุรกิจอาหารรวมถึง Glavprodukt ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดหาเสบียงให้กับหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพรัสเซีย รัฐจึงเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2023 ที่มีการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจแห่งอธิปไตย” «суверенная экономика» ในปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศยึดกิจการของ Glavprodukt อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร"«недружественные государства»  

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การยึดกิจการของบริษัทเอกชนที่มีประวัติยาวนานในรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสงครามที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาสินค้าสำคัญสำหรับการเสริมสร้างเสบียงกองทัพรัสเซียในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่าน เช่น แดเนียล ฟรีดริช ลิสต์ (Daniel Friedrich List, 1841) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มองว่า “รัฐควรปกป้องเศรษฐกิจในยามวิกฤตเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” โดยเฉพาะมุมมองของเคนเนธ เอ็น. วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz, 1979) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดสัจนิยมใหม่ (Neorealism) ที่มองว่าความมั่นคงไม่อาจแยกออกจากเศรษฐกิจ — เศรษฐกิจที่ถูกควบคุมได้ คือ “อาวุธเชิงยุทธศาสตร์” ในทฤษฎี Neorealism ของวอลทซ์ รัฐถือเป็นผู้เล่นหลัก (primary actors) ในระบบระหว่างประเทศที่ไร้ศูนย์กลาง (anarchic structure) ซึ่งการอยู่รอด (survival) คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐทุกแห่ง นั่นหมายความว่า ทุกกลไกภายในรัฐต้องถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุน “อำนาจแห่งรัฐ” (power of the state) ในกรอบนี้เศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นระบบอิสระเชิงตลาดเท่านั้น แต่สามารถเป็น “เครื่องมือของอำนาจรัฐ” (instrument of state power) ได้ หากรัฐสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่รัสเซียเข้ายึดครองกิจการของ Glavprodukt ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกิจการเอกชน (และเคยมีการลงทุนหรือถือหุ้นโดยนักธุรกิจต่างชาติหรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ) ถือเป็นตัวอย่างของการ "ทำให้รัฐควบคุมห่วงโซ่อุปทานอาหารเชิงยุทธศาสตร์" อย่างสมบูรณ์ การยึดกิจการเช่น Glavprodukt เป็นหนึ่งในแนวทางการ “ระดมทรัพยากรพลเรือนเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม” หรือที่ในรัสเซียเรียกว่า “การวางแผนการระดมกำลังในยามสงคราม” «военное мобилизационное планирование» แนวโน้มของการทหารควบคุมพลเรือน (military-civilian fusion) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามยืดเยื้อที่รัฐต้องอาศัยทรัพยากรของภาคเอกชน เช่น โรงงานอาหาร, คลังสินค้า, ระบบขนส่งเพื่อหนุนภารกิจของกองทัพ ในขณะที่การควบคุมทรัพย์สินภาคเอกชนในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” กลายเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกและสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” ภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์รัฐนิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงกิจการอาหารรายใหญ่เข้าสู่การควบคุมโดยรัฐสะท้อนแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ “รัฐควบคุมยุทธศาสตร์หลัก” โดยเฉพาะในช่วงสงคราม โดยหลังการยึดครองมีรายงานว่า Glavprodukt อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ «Минобороны» หรืออาจอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกับกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ «ОПК» 
ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยมีระบบโรงงานอาหาร “รัฐวิสาหกิจ” ที่ผลิตอาหารเฉพาะสำหรับทหาร เช่น в/ч 83130  หรือจีนที่มีระบบ “บริษัทอาหารกึ่งทหาร” ภายใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ในขณะที่สหรัฐฯ การผลิต MRE (Meals Ready to Eat) มีบริษัทเอกชนเช่น Sopakco, Wornick Group แต่สัญญาผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ในยูเครนยูเครนมีการประสานงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อผลิตอาหารให้ทหารแนวหน้าโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

Glavprodukt มีสายการผลิตอาหารกระป๋องประเภทโปรตีน เช่น เนื้อวัวกระป๋อง, สตูว์, ซุป และอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) ซึ่งเหมาะสมกับระบบโลจิสติกส์ของกองทัพรัสเซียที่ต้องการอาหารคงทนและสะดวกในสนามรบ โดยมีการปรับสูตรหรือบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานทหาร เช่น บรรจุในภาชนะทนแรงกระแทกหรือพร้อมเปิดในภาคสนาม โรงงานของ Glavprodukt กลายเป็นฐานผลิตเสบียงหลักให้กับกองทัพรัสเซียในแนวรบยูเครน โดยมีรายงานว่ามีคำสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อสำรองเป็นคลังยุทธปัจจัย (mobilization reserve)

การยึด Glavprodukt จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) จากการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปสู่การเสริมสร้างเสบียงทางทหาร
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมกิจการของ Glavprodukt บริษัทที่เดิมเน้นการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปกลับต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ผลิตภัณฑ์ของ Glavprodukt เช่น stewed meat «тушёнка»  และซุปกระป๋อง «консервы» ซึ่งเป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานได้กลายเป็นเสบียงหลักสำหรับทหารในพื้นที่สงคราม การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปสู่การผลิตเสบียงทางทหารเป็นการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในสงคราม

2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเอง
การเข้ามาควบคุมกิจการของ Glavprodukt โดยรัฐบาลรัสเซียไม่เพียงแค่การสนับสนุนการผลิตเสบียงสำหรับกองทัพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารและเสบียงทหารในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศให้เป็นระบบภายในประเทศ โดย Glavprodukt กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของเสบียงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก

3) การป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร
การยึด Glavprodukt ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญสำหรับภาคทหารและภาคการผลิตทั่วไป การลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทำให้ Glavprodukt สามารถพัฒนาการผลิตอาหารภายในประเทศได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพา
ซัพพลายเออร์จากประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

4) การควบคุมเศรษฐกิจสงครามและการจัดหาทรัพยากร
การยึด Glavprodukt ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงสงครามที่รัฐบาลรัสเซียพยายามจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สำคัญที่สุด เช่น กองทัพและการสนับสนุนการดำเนินการทางทหาร โดย Glavprodukt ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตเสบียงทหาร จึงได้รับความสำคัญสูงสุดในแผนการจัดหาทรัพยากรของรัฐ

5) มุมมองในระดับภูมิรัฐศาสตร์
การยึดกิจการของ Glavprodukt ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ท่ามกลางการปะทะกับประเทศตะวันตก การควบคุมกิจการสำคัญ เช่น Glavprodukt ที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับการทำสงคราม กลายเป็นการแสดงออกถึงการสร้างอำนาจของรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการคว่ำบาตรจากภายนอก

ผลกระทบของการยึดกิจการของ Glavprodukt
1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ การเข้ายึดกิจการ Glavprodukt ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงให้กับกองทัพ แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ได้แก่ 1) การควบรวมทรัพยากร การที่รัฐเข้ายึดโรงงานอาหารรายใหญ่ทำให้เกิดการควบคุมห่วงโซ่อุปทานในระดับสูง ตั้งแต่วัตถุดิบ (เนื้อสัตว์ พืชผัก) ไปจนถึงกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า 
2) กระทบการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมอาหารอาจเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหนือกว่า 3) อุปสงค์พิเศษในช่วงสงครามเมื่ออุปสงค์สำหรับการจัดหาอาหารกองทัพพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารภาคพลเรือนอาจถูกเบียด ส่งผลต่อราคาสินค้าและความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน

4) ผลกระทบต่อการจัดการกับบริษัทต่างชาติในบริบทสงคราม Glavprodukt เคยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอเมริกันหรือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก การยึดครองกิจการจึงสะท้อนกลยุทธ์ของรัสเซียในการจัดการ “ทรัพย์สินศัตรู” หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่เป็นมิตร” «недружественные активы» รัสเซียได้วางหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน (เช่น «Указ Президента РФ №302/2023»)   รัฐสามารถเข้ายึดกิจการของบริษัทต่างชาติที่ “ถอนตัว” จากรัสเซีย หรือที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติ”นอกจากนี้รัสเซียยังมีการตอบโต้การคว่ำบาตรซึ่งเป็นการ “ตอบโต้กลับ” ทางเศรษฐกิจต่อการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยใช้วิธี mirror sanctions หรือการยึดทรัพย์สินบริษัทต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนในรัสเซียยิ่งตึงเครียด นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในรัสเซียอาจต้องเลือก “ทำงานร่วมกับรัฐ” หรือยอม “ถอนตัวโดยเสียทรัพย์สิน”

5) เป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้รัฐเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจในภาวะสงคราม
การยึดกิจการอาหารกระป๋องอย่าง Glavprodukt ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่เป็นการส่ง “สัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์” อย่างชัดเจนไปยังตะวันตก แสดงให้เห็นถึงรัฐเป็นเครื่องมือสงครามทางเศรษฐกิจ (Economic Warfare) โดยรัสเซียใช้รัฐเป็นกลไกควบคุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ ตอบโต้การคว่ำบาตร และสร้าง “เศรษฐกิจแบบปิดล้อม” (Autarky) เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐ โดยรัสเซียมีแนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ยึดกิจการต่างชาติและเปลี่ยนการควบคุมไปสู่รัฐ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศแทนสินค้าเทคโนโลยีตะวันตก และ 3) ใช้ระบบการเงินทางเลือก เช่น การซื้อขายพลังงานด้วยรูเบิลหรือเงินหยวน 
การยึดบริษัท Glavprodukt ยังบ่งชี้ว่า รัสเซียพร้อม “ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ” เช่นเดียวกับที่ตะวันตกใช้ระบบการเงินและการค้าเป็นเครื่องมือควบคุมนอกจากนี้ยังการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่โดยรัสเซียอาจเชื่อมต่อ Glavprodukt กับตลาดในกลุ่ม BRICS หรือ SCO เช่น ส่งอาหารให้จีน อิหร่าน หรือประเทศแอฟริกาเพื่อลดการพึ่งพาตะวันตก

บทสรุป
กรณีการเข้ายึดกิจการบริษัท Glavprodukt โดยรัฐรัสเซียมิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในเชิงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ในบริบทของสงครามยืดเยื้อกับตะวันตก ในระดับภายในการผนวกกิจการของภาคเอกชนเข้าสู่โครงสร้างของรัฐช่วยให้รัสเซียสามารถควบคุมระบบเสบียงของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อตลาดภาคพลเรือน ทั้งในแง่การแข่งขันและเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ในระดับระหว่างประเทศการเข้ายึด Glavprodukt เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตอบโต้ตะวันตกผ่านการใช้ “เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นการพึ่งตนเอง การตัดขาดจากทุนต่างชาติ และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ตะวันตก กล่าวโดยสรุป กรณีของ Glavprodukt ชี้ให้เห็นว่า “อาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยสี่สำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ในการต่อรอง สู้รบ และรักษาอธิปไตยในยุคที่สงครามถูกขยายออกจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจและการทูต

ยานอวกาศรัสเซีย ‘ซายุซ MS-26’ ลงจอดในคาซัคสถาน นำลูกเรือกลับสู่โลกตามกำหนด หลังทำภารกิจบน ISS กว่า 7 เดือน

(21 เม.ย. 68) ยานอวกาศ ซายุซ MS-26 ของรัสเซียประสบความสำเร็จในการพานักบินอวกาศ 3 นายเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนอกโลกนานกว่า 7 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ลูกเรือประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซีย์ ออฟชินิน และ อีวาน วากเนอร์ รวมถึงนักบินอวกาศชาวอเมริกันจากนาซา โดนัลด์ เพ็ตติต ซึ่งการเดินทางกลับของเขาในครั้งนี้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวอีกด้วย

องค์การนาซาระบุผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (อดีต Twitter) ว่า “นักบินอวกาศโดนัลด์ เพ็ตติต กลับสู่โลกในวันเกิดของเขาเอง อายุครบ 70 ปี ในวันเดียวกับที่เขาใช้ร่มชูชีพเหินฟ้ากลับบ้าน”

สำหรับภารกิจครั้งนี้เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักและเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยระยะยาวนอกโลก โดยทั้งสามคนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นทันทีที่ลงจอด และอยู่ในสภาพร่างกายแข็งแรงดี

ด้านองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) รายงานว่า ยานซายุซ MS-26 ได้แยกตัวออกจากสถานีอวกาศในช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดอย่างปลอดภัยในเขตคาซัคสถานตามกำหนดการในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่เข้าดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

การเดินทางกลับสู่โลกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากภารกิจสำคัญบนอวกาศ แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ในยามที่โลกเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ภารกิจของ ซายุซ MS-26 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ

นราธิวาส-แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่สุคิริน เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลร่มไทร กำชับปฏิบัติหน้าที่ด้วยสติ มุ่งบูรณาการดูแลประชาชนทุกมิติ

(20 เม.ย. 68) พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะผู้บังคับบัญชา เดินทางลงพื้นที่ฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลร่มไทร อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใกล้ชิด

ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้พบปะกับกำลังพล และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49, หัวหน้าส่วนราชการ, หัวหน้าชุดคุ้มครองตำบล รวมถึงสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

พลโท ไพศาล ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมเน้นย้ำว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีความพยายามจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างความปั่นป่วน และบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติงานด้วยสติ มีความรอบคอบ และไม่ประมาทอยู่เสมอ

แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวชื่นชมในความเสียสละของกำลังพลที่ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่อย่างเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็ง พร้อมทั้งย้ำถึงหัวใจสำคัญในการดูแลพื้นที่ คือ “การบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน” ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และภาคประชาชน เพื่อรวมพลังสร้างความสงบสุขให้กับบ้านเกิดของตนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ท่านแม่ทัพยังได้ร่วมพักแรมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางรับมือสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และในช่วงเช้าวันถัดมา ยังได้ร่วมเดินเท้าลาดตระเวนตรวจสภาพภูมิประเทศรอบฐานปฏิบัติการ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ

ขณะเดียวกัน หนึ่งในสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนฯ ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลพี่น้องประชาชนในบ้านเกิดของตนเอง แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทาย แต่ยังคงมีกำลังใจดีจากครอบครัวและคนรอบข้าง พร้อมขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อพาความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

เชียงใหม่-เปิดประวัติศาสตร์บันทึกสถิติโลกสำเร็จ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ฟ้อนเล็บมากที่สุดในโลก 

(20 เม.ย. 68) “สุดาวรรณ” รวมใจชาวเชียงใหม่ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ “ฟ้อนเล็บอัตลักษณ์แบบคุ้มเจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีลงใน "กินเนสส์เวิลด์ เรคคอร์ดส์" เนื่องในโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่จะก้าวสู่ 730 ปี สำเร็จ 7,218 คน ทุบสถิติเดิมที่เคยบันทึกไว้ 5,255 คน ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 729 ปี แห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ปูทางสร้างการรับรู้และผลักดันเมืองเชียงใหม่ก้าวสู่เมืองมรดกโลก 

วันที่ 19 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดการบันทึกการฟ้อนเล็บอัตลักษณ์แบบคุ้มเจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีลงใน "กินเนสส์บุ๊ก" หรือ "กินเนสส์เวิลด์ เรคคอร์ดส์" (Guinness Book of World Records)"Guinness world record The largest Thai dance" โดยมีนางเทียบจุฑา ขาวขำ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ผู้แทน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มาดามหยก กชพร เวโรจน์ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และ ประธานคณะทำงาน บันทึก World Records งานสมโภช 729 ปีเมืองเชียงใหม่  นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วมจำนวนมาก

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นสักขีพยานในการบันทึกการฟ้อนเล็บ อัตลักษณ์แบบคุ้มเจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ลงใน "กินเนสส์บุ๊ก" หรือ "กินเนสส์เวิลด์ เรคคอร์ดส์" "Guinness world record The largest Thai dance" ในวันนี้ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่น ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความรักความสามัคคี มีความสุข และร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน รักษา และต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ได้อย่างดียิ่ง

จึงมีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และเนื่องในโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่จะก้าวสู่  730 ปี จึงขอถือโอกาสนี้สร้างการรับรู้ให้เด็ก เยาวชน ประชาชนมีจิตสำนึกแสดงกตเวทิตาต่อบูรพกษัตริย์ล้านนา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และผลักดันให้เมืองเชียงใหม่ก้าวสู่เมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก 

“กระทรวงวัฒนธรรมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดงาน พิธีสมโภชเชียงใหม่๗๒๙ ปี "นครเชียงใหม่เมืองแห่งความสุขด้วยวิถีวัฒนธรรมอย่าง ยั่งยืน" ถือเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทำให้มีความโด่นเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประเพณีที่มีเอกลักษณ์ล้านนา สืบสานเสน่ห์ความเป็นล้านนาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จัก จังหวัดเชียงใหม่ในนามเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของประเทศไทย เป็นไปตามที่รัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม 

ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ นำเศรษฐกิจวัฒนธรรม ผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกระดับการ ท่องเที่ยว และเทศกาสสู่เวทีโลก โดยมีเป้าหมาย "ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศ ที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมาเที่ยวในมิติด้านศาสนา ศิลปะและ วัฒนธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top